สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 21-27 พ.ค. 2565

กมธ.สาธารณสุข ดึงทุกภาคส่วนถก "ปฏิรูปกำลังคนด้านสุขภาพ" แก้ปัญหาขาดแคลนสาขาจำเป็น

27 พ.ค. 2565 เฟซบุ๊กเพจ "วุฒิสภา" ได้มีการเผยแพร่การสัมมนาเรื่อง “การปฏิรูปกำลังคนด้านสุขภาพ (Health Workforce) ภายใต้หลักการและแนวคิดของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล พ.ศ. 2565” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสาธารณสุข วุฒิสภา มี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข คนที่สอง และประธานคณะอนุกรรมาธิการ ตสร. ด้านสาธารณสุข พร้อมด้วย คณะกรรมาธิการ สมาชิกวุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้จะทำให้ได้รับทราบถึงหลักการ เหตุผลและแนวคิดของกฎ ก.พ.ว่าด้วยการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล พ.ศ. 2565 รวมทั้งสถานการณ์กำลังคนด้านสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นในด้านทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการให้ความสำคัญ โดยมีการติดตามและขับเคลื่อนด้วยการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ.เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกำลังคนด้านสุขภาพที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหากำลังคนด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการกระจายตามภูมิศาสตร์ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร มักจะประสบปัญหาการขาดแคลนสาขาที่จำเป็นและเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่งผลกระทบต่อการจัดและให้บริการด้านสาธารณสุขต่อประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเกิดภาวะสมองไหล ไม่สามารถธำรงรักษาบุคลากรไว้ในระบบได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน

โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขพยายามแก้ไขปัญหา แสวงหาความร่วมมือและทางออกในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา มีภารกิจสำคัญในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิรูปกำลังคนสุขภาพ

ที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกับเลขาธิการ ก.พ.และผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นความเป็นไปได้ในการบริหารบุคคลรูปแบบใหม่ เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการสาธารณสุข

โดยมีข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การทดลองดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนำร่อง ระยะเวลาดำเนินการ 2-3 ปี ซึ่งต่อมา ก.พ.ได้จัดทำและประกาศใช้กฎ ก.พ.ว่าด้วยการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล พ.ศ. 2565 โดยมีเจตนารมณ์สำคัญเพื่อพัฒนาการบริหารทรัพยากรบุคคลของส่วนราชการต่าง ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับภารกิจของส่วนราชการแต่ละแห่งที่แตกต่างกันต่อไป

ที่มา: Hfocus, 27/5/2565

มอบรางวัลแรงงานนอกระบบดีเด่น จ.เพชรบุรี หนุนเครือข่ายเข้าถึงสิทธิ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อิงกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งชมรมแรงงานนอกระบบ รุ่นที่ 3 และมอบรางวัลการเป็นผู้จ้างงานผู้รับงานไปทำที่บ้านในกิจกรรมคัดเลือกบุคคลและเครือข่ายแรงงานนอกระบบดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565 โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบ ซึ่งถือว่าเป็นแรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ กระทรวงแรงงาน ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงาน เพื่อให้แรงงานนอกระบบ เครือข่ายการทำงาน และประชาชน ได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริมพัฒนา และสามารถเข้าถึงบริการที่ดีจากภาครัฐภายใต้วิสัยทัศน์ "แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึงและยั่งยืน" และสร้างเสริมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการทำงานที่มีคุณค่า ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างเสริมภาคีเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ให้ร่วมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงแรงงาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในระดับพื้นที่ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาการทำงานที่มีคุณค่า สามารถเข้าถึงสิทธิและบริการทางสังคม พร้อมทั้งได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมุ่งหวังให้ชมรมแรงงานนอกระบบในส่วนภูมิภาคมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับนโยบายและทิศทางการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมร่วมเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกการทำงานในระดับพื้นที่แบบคู่ขนานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนส่งเสริมชมรมแรงงานนอกระบบให้มีศักยภาพและองค์ความรู้ในการบริหารจัดการชมรมอย่างเป็นระบบ ได้รับทราบถึงสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นคง ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการฯในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง และเครือข่ายแรงงานนอกระบบในพื้นที่นอกจากนี้ ภายในงานได้มีพิธีมอบรางวัลในกิจกรรมคัดเลือกบุคคล และเครือข่ายแรงงานนอกระบบดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565 เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจในการดำเนินงานด้านแรงงานนอกระบบที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมด้วย

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 26/5/2565

กรมการจัดหางานเปิดรับสมัคร นักศึกษาจบใหม่ คนหางานที่มีทักษะภาษาอังกฤษ ทำงานบนเรือสำราญมากกว่า 1,000 อัตรา รายได้เดือนละ 30,000-100,000 บาทต่อเดือน

25 พ.ค. 2565 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้การต้อนรับผู้บริหารสายการเดินเรือสำราญ Princess Cruise และHalland America Line ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือ เรื่องการสรรหาพนักงานสัญชาติไทยเข้าประจำการบนเรือสำราญ จำนวนมากกว่า1,000 อัตรา เพื่อตอบรับความต้องการการบริการเดินเรือที่กำลังจะเริ่มต้นช่วงกลางปี 2565

โดยนายไพโรจน์ กล่าวว่า บริษัทจัดหางาน ทีเอสทีซี ไทย จำกัด ได้แจ้งต่อกรมการจัดหางานว่ามีความต้องการคนไทยไปทำงานบนเรือสำราญในตำแหน่งต่างๆ อาทิ กุ๊ก/ผู้ช่วยกุ๊ก พนักงานเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์ พนักงานบริการห้องพัก พนักงานต้อนรับ ช่างภาพ เวทีแสงสีเสียง เป็นต้น โดยมีระยะเวลาการทำงานบนเรือ ครั้งละ 9 เดือน รายได้เดือนละ 30,000 – 100,000 บาทต่อเดือน ตามอัตราค่าจ้างแต่ละตำแหน่ง ไม่รวมค่าตอบแทนพิเศษ โดยนายจ้างจะออกค่าใช้จ่ายในส่วนของตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ที่พักและอาหารตลอดระยะเวลาการทำงาน

ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของนักศึกษาจบใหม่ ผู้มีประสบการณ์ทำงานบนเรือสำราญ ผู้ที่จบการศึกษาในสาขาการโรงแรม และคนหางานที่มีทักษะภาษาอังกฤษ โดยผู้ที่สนใจทำงานสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 02 245 6712-3

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ท่านสุชาติ ชมกลิ่น มุ่งมั่น ผลักดันการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างยิ่ง เพราะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้แรงงานไทยมีงาน มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และนำเงินตราจากต่างประเทศเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจประเทศไทย” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ด้าน Mr. Prem Kannan ผู้บริหารฮอลแลนด์ อเมริกา กรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจุบันเรือสำราญเริ่มกลับมาเดินเรือในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น เส้นทางท่องเที่ยวแถบอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง ยุโรป และสายเดินเรือในแถบเอเชีย ทำให้นักท่องเที่ยวเรือสำราญมีจำนวนเพิ่มขึ้น

โดยในปีนี้ คาดว่าจะเกิดการจ้างแรงงานในตลาดประเทศไทยมากถึง 2,000 คน เนื่องจาก คนไทย มีอัธยาศัยที่ดี มีพื้นฐานการบริการที่สุภาพ และมีบุคลิกภาพที่ยิ้มแย้มแจ่มใส รวมถึงมีความรู้ความสามารถที่ดีอยู่ในมาตรฐานสากล

“เราสามารถสอนให้พนักงานของเราเสิร์ฟอาหาร ทำอาหาร หรือเป็นบาร์เทนเดอร์ได้ แต่การสอนให้ใครยิ้มเป็นเรื่องยากกว่า คนไทยจึงเป็นที่ต้องการในงานด้านการบริการ” Mr. Prem Kannan กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 25/5/2565

สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย ยื่น กมธ.แรงงาน แก้ไขปัญหาหนี้สินผู้ประกอบการรถยนต์สาธารณะ (แท็กซี่) เหตุได้รับผลกระทบจากโควิด-19

25 พ.ค.2565 นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะ กมธ.การแรงงาน และคณะ รับยื่นหนังสือจากนายเกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทยและคณะ เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาหนี้สินผู้ประกอบการรถยนต์สาธารณะ (แท็กซี่) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่รุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาและมีแนวโน้มว่าจะมีการแพร่กระจายของเชื้อได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิม

ประกอบกับผลกระทบจากรถยนต์รับจ้างป้ายดำที่ไม่จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย นำรถเข้ามารับผู้โดยสารเป็นจำนวนมากทำให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่หาเงินลำบากมากขึ้นและรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย

ปัจจุบันสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย มีจำนวนสมาชิกประมาณ 3,000 กว่าคนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่ต้องการรีไฟแนนซ์กับทางภาครัฐเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ สามารถส่งค่างวดรถได้ มีเงินเหลือใช้ในการหมุนเวียนในครอบครัว และสามารถลดปัญหาหนี้เสียได้ในอนาคต ซึ่งผู้ขับขี่สาธารณะทุกคนถือว่าเป็นผู้ประกอบการเนื่องจากทางกรมการขนส่งทางบก ได้ให้ผู้ขับขี่สาธารณะที่นำรถเข้าจดทะเบียนจะต้องยื่นขอใบประกอบการก่อนนำเข้าไปจดทะเบียนให้ถูกต้อง

ทั้งนี้ จึงขอให้ภาครัฐนำเงินมาช่วยเหลือในการรีไฟแนนซ์โดยผ่านธนาคารของภาครัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมทั้งกำกับดูแลโครงการรีไฟแนนซ์ให้สำเร็จลุล่วงและปรับลดกฎเกณฑ์เงื่อนไขให้สมาชิกผู้ขับขี่รถแท็กซี่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน

ด้านนายสุเทพ อู่อ้น กล่าวว่า มีความเข้าใจในความรู้สึกของพี่น้องผู้ขับขี่รถแท็กซี่ โดยคณะ กมธ. ได้นำปัญหาเรื่องร้องเรียนเหล่านี้มาพิจารณา และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อรับเรื่องเหล่านี้ไปดำเนินการแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหา จึงขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการทำงานที่เร่งรัดและจัดระบบโครงสร้างในการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม คณะ กมธ. จะดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ต่อไป

ที่มา: Thai PBS, 25/5/2565

อิสราเอลเพิ่มโควตารับแรงงานไทย 30% รายได้เดือนละ 53,000 บาท

24 พ.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเผยว่า ภาพรวมการจัดส่งแรงงาน ปี 2565 สามารถส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศทุกประเทศ รวมกันกว่า 17,512 คน ส่งรายได้กลับประเทศมากถึง 82,506 ล้านบาท

และวันนี้มีการจัดส่ง 24 พ.ค. 2565 โดยแรงงานส่วนหนึ่งเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารเที่ยวบินที่ LY 082 ของสายการบินแอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ จำนวน 91 คน และวันนี้มีแรงงาน 117 คน เดินทางไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (Thailand-srael Cooperation on the Placement of Workers: TIC) โดยเที่ยวบินที่ EY407 และ EY598 ของสายการบิน เอทิฮัด แอร์เวย์

นายสุชาติกล่าวว่า เดิมทีประเทศไทยได้รับโควตาในการจัดส่งปีละ 5,000 คน แต่ในปี 2565 ตนได้เจรจากับเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย สามารถเพิ่มโควตาในการจัดส่งได้เพิ่มอีก 1,800 คน คิดเป็น 30% รวมเป็นจำนวน 6,800 คน แต่ละคนจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 53,000 บาท ทำงานเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับคนงานเหล่านี้ เพราะแรงงานเหล่านี้ถือเป็นบุคคลสำคัญที่สามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้ปีละกว่า 2,000 ล้านบาท

นายสุชาติยังกล่าวมอบโอวาทแก่แรงงานไทยว่า ขอขอบคุณพี่น้องแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศทุกท่านที่เป็นกำลังสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทย ขอฝากความห่วงใยถึงทุกท่าน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ขอให้ดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตนตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย และขอให้มีความขยัน อดทนตั้งใจทำงาน ปฏิบัติตนตามกฎหมายของอิสราเอล ประหยัดเก็บออม เพื่ออนาคต และขอให้พรุ่งนี้เดินทางโดยสวัสดิภาพ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/5/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท