Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถ้าการเมืองหมายถึง “ความสัมพันธ์ทางอำนาจ” (power relations) ร่างกายผู้หญิงก็มีความเป็นการเมืองตั้งแต่แรก กล่าวคือ ร่างกายผู้หญิงกลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางความคิดเห็นตั้งแต่แรกว่า ร่างกายเป็นของตัวเธอเองหรือของใครอีกบ้าง

ศาสนาคริสต์บอกว่า พระเจ้าสร้างอีฟจากซี่โครงอาดัม บ่งนัยว่าร่างกายผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของชาย หรือเป็นสมบัติของชาย ศาสนาโบราณมากกว่าอย่างพราหมณ์-ฮินดูบอกชัดเจนว่าภรรยาเป็นสมบัติของสามี ลูกสาวเป็นสมบัติของพ่อ มารดาหม้ายต้องอยู่ในความดูแลของบุตรชาย ผู้หญิงที่ดีต้องภักดีต่อสามี เมื่อสามีตาย จึงมีพิธีกรรมเผาตัวเองตายตามสามีในศาสนาโบราณ

พุทธศาสนาไม่เห็นแย้งในเรื่องหญิงเป็นสมบัติของชาย ไม่เช่นนั้นคงไม่สร้างเรื่องเล่าเวสสันดรชาดกให้ทานลูกเมียเป็นทาสเพื่อบำเพ็ญบารมี ในคัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า ภรรยาคือ “ปาทปริจาริกา” ซึ่งพจนานุกรมไทย แปลว่า “หญิงบำเรอแทบเท้า หมายถึง หญิงมีหน้าที่ปฏิบัติพระเจ้าแผ่นดิน, เมีย” คำสอนพุทธศาสนาบอกว่า “สามี” (แปลว่า “เจ้านาย”) ควรมอบ “ความเป็นใหญ่ในบ้าน” ให้ภรรยา หมายถึง งานบ้านทุกอย่างเป็นหน้าที่ผู้หญิง ภาพที่เห็นในสังคมชาวพุทธยุคเกษตรกรรม คือภาพชาย-หญิงทำงานกรำแดดกลางไร่นาเสมอกัน แต่กลับบ้านตอนเย็น ชายนอนไขว่ห้างสูบบุหรี่ ขณะที่หญิงง่วนอยู่กับงานครัวและเลี้ยงลูก

ศาสนาหลักๆ ของโลกคือจ้าวลัทธิปิตาธิปไตย (patriarchy) ขนานแท้และดั้งเดิม บรรดาผู้รู้ทางศาสนา “แนวก้าวหน้า” ในปัจจุบันโฆษณาชวนเชื่อด้วยน้ำเสียงเปื้อนยิ้มว่า ศาสนาของพวกเขาให้ความเสมอภาคแก่สตรี เช่น พุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกๆ ที่ให้สตรีบวชได้ แต่ข้อเท็จจริงคือ การอนุญาตให้ผู้หญิงบวชก็มากด้วยเงื่อนไขที่จงใจทำให้การบวชของผู้หญิงนั้นแสนยาก ต้องผ่านพิธีกรรมหลายขั้นตอนกว่านักบวชชาย และต้องอยู่ภายใต้กฎเข้มงวดที่นักบวชหญิงต้องมีสถานะต่ำกว่านักบวชชาย เนื่องจากความคิดพื้นฐานหนึ่งคือ “สตรีเป็นมลทินแห่งพรหมจรรย์ (ของนักบวชชาย)” ดังนั้น การไม่มีผู้หญิงเป็นนักบวชร่วมอาราม จะรักษาความหมดจดของพรหมจรรย์นักบวชชายได้ดีกว่า แน่นอนว่าวิถีชีวิตถือพรหมจรรย์แบบศาสนาชายเป็นใหญ่ ย่อมเป็นวิถีชีวิตประเสริฐสูงส่งกว่าวิถีชีวิตแบบทางโลก

มุมมองที่ว่าผู้หญิงเป็นสมบัติของคนอื่น (นอกเหนือจากตัวเธอเอง) ของศาสนาชายเป็นใหญ่นั้นซับซ้อน นอกจากจะถือว่าพระเจ้าสร้างหญิงขึ้นจากซี่โครงของชาย และถือว่าหญิงเป็นสมบัติของชายในโลกมนุษย์แล้ว ภาพความสุขบนสวรรค์ตามความเชื่อศาสนาต่างๆ ก็คือภาพฮาเร็มของเทพเพศชายที่มีเทพธิดาหรือนางอัปสรสวรรค์เป็นบริวารรับใช้ ซึ่งสอดรับกับฮาเร็มของกษัตริย์และบรรดาเจ้าขุนมูลนายในรัฐศาสนายุคศักดินา

ทั้งหมดนั้น ล้วนมีที่มาจาก “ร่างกาย” (body) ของผู้หญิงที่ถูกทำให้ลึกลับ คลุมเครือ แต่มากด้วยคำอธิบายเกินกว่าแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ เนื่องจากอรรถาธิบายเกี่ยวกับร่างกายผู้หญิงไม่ใช่พวกเธอได้อธิบายตัวเองเป็นด้านหลัก แต่มากด้วยอรรถาธิบายจากมุมมองของเพศชายที่ตีขลุมว่าตนเองเป็นเจ้าของผู้หญิง และเป็นผู้นิยามความหมายและกำหนดคุณค่าของพวกเธอ ดังคำกล่าวที่ว่า “คนเรามิได้เกิดมาเป็นผู้หญิง หากแต่กลายเป็นผู้หญิงในภายหลัง” ของซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir)

ในความคิดปรัชญากรีกโบราณก็มองว่าผู้หญิงไม่ใช่ “เสรีชน” จึงไม่มีสิทธิเป็น “พลเมือง” ที่มีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ เป็นเวลาหลายพันปีที่ผู้หญิงไม่สามารถเป็นเสรีชนในอารยธรรมตะวันตก (และทุกสังคมในโลกที่ล้วนเป็นสังคมปิตาธิปไตย) กระทั่งยุคแสงสว่างทางปัญญา (the Enlightenment) นักปรัชญาที่เสนอแนวคิดเสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์อย่างอิมมานุเอล คานท์ (Immanuel Kant) ก็ยังเห็นว่าผู้หญิงไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพราะผู้หญิงด้อยความสามารถในการใช้วิจารณญาณเลือกตัวแทนของตน ในความคิดคานท์ภายใต้การปกครองแบบสาธารณรัฐที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ ถือว่าผู้หญิงมีเสรีภาพตามกฎหมายอยู่แล้ว แม้ไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ต่อมาบรรดาสาวกคานท์ไม่เห็นด้วยกับความคิดเช่นนี้

ในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงชาวอังกฤษ ช่วงต้นศตวรรษที่ 18 มีข้อโต้แย้งว่า “ผู้หญิงไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพราะความสามารถทางสมองของพวกเธอขาดวิจารณญาณที่มีเหตุผลในการเลือกตัวแทน อีกอย่าง บิดา สามี พี่ชาย น้องชายของพวกเธอก็เป็นปากเป็นเสียงแทนพวกเธอได้อยู่แล้ว” ภายหลังการต่อสู้ที่สูญเสียอิสรภาพและชีวิตของผู้หญิงจำนวนหนึ่ง หญิงชาวอังกฤษจึงได้สิทธิเลือกตั้ง

หนึ่งในถ้อยแถลงโด่งดังในการรณรงค์เรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงคือ “พวกเราไม่ต้องการเป็นเพียงผู้ทำตามกฎ แต่ต้องการเป็นผู้บัญญัติกฎด้วยตนเอง” ซึ่งตรงกับวลีของคานท์ที่ว่า “ความสง่างามของมนุษย์ ก็คือการที่เขาเป็นผู้บัญญัติกฎขึ้นมาใช้กับตนเองและใช้ร่วมกันอย่างสากลกับทุกคน” และบรรดาผู้หญิงก็ต้องการจะบอกว่าพวกเธอก็คือ “มนุษย์” เฉกเช่นกัน

ความจริงทางประวัติศาสตร์บอกเราว่า สิทธิและเสรีภาพด้านใดๆ ที่ผู้หญิงสามารถจะมีได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ล้วนแต่เกิดจากเสียงเรียกร้องและการรวมกลุ่มลุกขึ้นต่อสู้กับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ดำเนินต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

ปัจจุบันร่างกายของผู้หญิงยังเป็นประเด็นการเมืองไม่สิ้นสุด เมื่อคำพิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาที่เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบในการปฏิเสธสิทธิทำแท้งเสรีของผู้หญิงชาวอเมริกัน เมื่อ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา

การต่อสู้เรื่องสิทธิทำแท้งในอเมริกา เป็นการเมืองระหว่างฝ่าย “เพื่อทางเลือก” (pro-choice) ที่เรียกร้องสิทธิทำแท้งบนหลักการพื้นฐานว่า “ผู้หญิงมีสิทธิเหนือร่างกายของตนเอง” หรือ “my body - my choice” กับฝ่าย “เพื่อชีวิต” (pro-life) ที่ออกมาปกป้องชีวิตของเด็กในครรภ์ หรือสิทธิที่จะมีชีวิตรอดของเด็กในครรภ์ โดยมีพรรคเดโมแครตสนับสนุนฝ่ายแรก และพรรครีพับลิกันสนับสนุนฝ่ายหลัง (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ “ใครควบคุมสิทธิการทำแท้ง สิทธิในตัวของสตรี” https://www.the101.world/us-abortion-rights/?fbclid=IwAR2vH-GTiIHbUhPtVKQ5E-qFUGrIHMTQaaWkigF4YhYEKrRyEYF2joYBWzg)   

ฝ่ายเพื่อชีวิตซึ่งดูเหมือนจะมีความเชื่อทางศาสนามองว่า ผู้หญิงไม่ได้เป็นเจ้าของร่างกายเธออย่างสมบูรณ์ที่จะมีอำนาจตัดสินใจในการทำลายอีกชีวิตในร่างกายของตนเองได้ เท่ากับว่าการที่ธรรมชาติออกแบบร่างกายผู้หญิงให้ตั้งครรภ์ได้ ย่อมตามมาด้วยภาระผูกพันทางศีลธรรมว่าผู้หญิงมีหน้าที่แบกรับความรับผิดชอบต่อชีวิตในครรภ์ของเธออย่างไม่อาจปฏิเสธได้ การมีภาระทางศีลธรรมเช่นนี้ เท่ากับว่าร่างกายผู้หญิงเป็นของสังคมส่วนรวมด้วย เพราะสังคมส่วนรวมหรือรัฐคือผู้มีอำนาจตัดสินว่าเธอจะเอาสิ่งที่อยู่ในร่างกายตนเองออกไปได้หรือไม่

ประเด็นคือ ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ถือว่า ทารกในครรภ์เริ่มมีชีวิตเป็นมนุษย์เมื่อตั้งครรภ์ครบ 3 เดือนแล้ว แต่ฝ่ายเพื่อชีวิตยืนยันว่า “ชีวิตเริ่มต้นเมื่อวินาทีแรกที่เกิดการปฏิสนธิในครรภ์” การทำแท้งแม้ในช่วงที่ยังไม่มีรูปร่างเป็นทารก ก็คือ “การฆ่ามนุษย์” เพราะเป็นการตัดโอกาสที่สิ่งซึ่งยังไม่ได้เป็นรูปร่างมนุษย์จะพัฒนาการกลายมาเป็นร่างมนุษย์ และได้คลอดออกมามีชีวิตรอด ดังนั้น สิทธิในร่างกายของผู้หญิงจึงถูกยับยั้งด้วยนิยามหรือ “ความหมาย” ของการเริ่มต้นเป็นมนุษย์ของทารกในครรภ์ ซึ่งยังเป็นนิยามหรือความหมายที่คลุมเครือและเป็นที่ถกเถียง พอๆ กับความผิดศีลธรรมหรือความผิดบาปตามความเชื่อทางศาสนาซึ่งเป็นที่ถกเถียงอย่างปราศจากข้อยุติ

ขณะที่ข้อเสนอของฝ่ายเพื่อทางเลือก คือการยืนยันการเป็นเจ้าของร่างกายตนเองของผู้หญิง ด้วยการให้สิทธิแก่ผู้หญิงแต่ละคนได้เลือกเองว่า เธอจะจัดการอย่างไรกับร่างกายของตนเอง จะอนุญาตให้สิ่งที่ปฏิสนธิในครรภ์ช่วงที่ยังไม่ครบ 3 เดือนได้เติบโตเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าตัดสินใจทำแท้งก็ต้องมีกระบวนการทางกฎหมาย การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา ทางการแพทย์ที่ปลอดภัย และสวัสดิการพื้นฐานอื่นๆ รองรับ

ที่จริงแล้ว “ประเด็นทางศีลธรรม” ระหว่างการห้ามทำแท้งเด็ดขาด แต่ยังมีปัญหาการทำแท้งเถื่อนที่แก้ไม่ตก กับการอนุญาตทำแท้งถูกกฎหมาย ภายใต้การดูแลความปลอดภัยและสวัสดิการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ทางเลือกไหนกันแน่ที่ “มีศีลธรรม” มากกว่า ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะฟันธงได้ง่ายๆ เพราะเรื่องศีลธรรมเป็นเรื่องความเชื่อทางศาสนาและปรัชญาต่างๆ ที่มีบรรทัดฐานตัดสินแตกต่างกัน

ในที่สุดก็ต้องสู้กันด้วยวิถีทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย โดยมีพรรคตัวแทนยืนยันสิทธิทำแท้งกับพรรคตัวแทนปฏิเสธสิทธิการทำแท้งเป็นตัวแทนของประชาชนที่เห็นต่างแต่ละฝ่าย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ตัดสินกันที่เสียงข้างมาก แต่ความผันแปรก็คือ เมื่อพรรคพรรคเดโมแครตชนะด้วยเสียงข้างมากก็สามารถบัญญัติกฎหมายรับรองสิทธิทำแท้งได้สำเร็จ แต่เมื่อพรรครีพับลิกันชนะด้วยเสียงข้างมากก็รื้อสิ่งที่เดโมแครตสร้างไว้ แล้วก็กลายเป็นประเด็นรณรงค์ต่อสู้ทางสังคมและนโยบายหาเสียงทางการเมืองระหว่างฝ่ายที่เห็นต่างกันต่อไป 

แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ไม่ว่าประเด็นทางศีลธรรม การเมืองบนท้องถนน และการเมืองในสภาเกี่ยวกับสิทธิทำแท้ง ก็คือประเด็นทางศีลธรรมและการเมืองบนคำถามพื้นฐานว่า ผู้หญิงสิทธิเป็นเจ้าของร่างกายของเธอเองหรือไม่ เป็นได้แค่ไหนเพียงใด ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายเรื่องราวที่มีคำถามทำนองเดียวกันมาตลอดประวัติศาสตร์ยาวนานว่า ใครคือเจ้าของชีวิตและร่างกายของผู้หญิงกันแน่ หรือผู้หญิงควรมีสิทธิอำนาจเหนือชีวิตและร่างกายของตัวเธอเองได้ภายในขอบเขตแค่ไหน เพียงใด ซึ่งสิทธิอำนาจที่มากขึ้นของผู้หญิง ย่อมเกิดจากการต่อสู้ของบรรดาผู้หญิงเป็นด้านหลัก

แต่ที่จริงผู้หญิงก็ต่อสู้ทางการเมืองเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการต่อต้านรัฐประหาร-เผด็จการทรราช ไปจนถึงการปฏิวัติประชาธิปไตย-สังคมนิยม แต่ทำไมสิทธิอำนาจของพวกเธอในด้านต่างๆ ยังด้อยกว่าชาย แม้แต่สิทธิและอำนาจเหนือร่างกายของตนเอง!

 

ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/thai/thailand-55940721

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net