เปิดความเห็นนักวิชาการ คดีปลด 'สุชาติ สวัสดิ์ศรี' จากศิลปินแห่งชาติ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ในฐานะนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ทำความเห็นทางวิชาการกรณีคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีมติปลด "สุชาติ สวัสดิ์ศรี" จากศิลปินแห่งชาติ ยื่นต่อตุลาการศาลปกครอง สมชาย ชี้ มติของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติกรณีสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน

มติของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กรณีปลดสุชาติ สวัสดิ์ศรี จากศิลปินแห่งชาติ

 

15 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำความเห็นทางวิชาการ "กรณีคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีมติยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติ สุชาติ สวัสดิ์ศรี จากศิลปินแห่งชาติ " ยื่นต่อตุลาการศาลปกครอง 

โดยรายละเอียดความเห็นดังกล่าว สมชาย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ดังนี้ 

1. ความหมายของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

เนื่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มีมติด้วยความเห็นว่านายสุชาติ สวัสดิ์ศรีได้กระทำการอันเป็นการหมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้รับรองไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” จึงได้มีมติยกเลิกการเชิดชูเกียรตินายสุชาติ จากการเป็นศิลปินแห่งชาติ

เพื่อให้การพิจารณาถึงขอบเขตและความหมายของบทบัญญัติดังกล่าวเป็นไปอย่างรอบด้านและสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงต้องทำความเข้าใจทั้งในด้านที่มาของบทบัญญัติและในเชิงหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1.1 ในด้านของที่มาของบทบัญญัติว่าด้วยสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์

บทบัญญัติที่รับรองสถานะอันเป็นที่เคารพสักของพระมหากษัตริย์ได้ปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ด้วยการบัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้อธิบายความหมายของมาตรานี้ไว้ว่า

“คำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้เราหมายความว่า ใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าอาจจะมีใครสงสัยว่าถ้าฟ้องร้องท่านไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรเมื่อมีใครได้รับความเสียหาย ประการหนึ่งเราต้องนึกว่าที่ว่าเป็นประมุขนั้นตามแบบเรียกว่ารัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงหลักกฎหมายในบางประเทศแล้ว ฟ้องร้องท่านไม่ได้ทั้งทางอาชญาและประทุษฐ์ร้ายส่วนแพ่ง”[1]

จากการอภิปรายของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัตินี้มุ่งหมายให้ความคุ้มกันพระมหากษัตริย์จากการถูกประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องคดีต่อศาล อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการอภิปรายว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายครอบคลุมกว้างขวางเพียงใด เป็นการฟ้องร้องไม่ได้เฉพาะในคดีอาญาหรือรวมถึงในคดีแพ่ง และเป็นการฟ้องร้องไม่ได้เฉพาะในการกระทำตามรัฐธรรมนูญหรือรวมไปถึงการกระทำที่ถือว่าเป็นการส่วนพระองค์

ความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวที่ต้องการไม่ให้ฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ปรากฏอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 โดยมีบทบัญญัติเพิ่มเติมจากการกำหนดให้ดำรงอยู่ในฐานะอันล่วงละเมิดอีกหนึ่งมาตราว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” การเพิ่มเติมถ้อยคำดังกล่าวเพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับการกำหนดสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะซึ่งผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ พระยาอรรถการีนิพนธ์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แสดงความเห็นย้ำในประเด็นนี้ว่า

“คือตามมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า ‘ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้’ ความจริงแม้ว่าจะไม่ได้บัญญัติไว้ เราก็มาใช้ความในมาตรา 5 ซึ่งมีความว่า ‘ผู้ใดจะละเมิดพระมหากษัตริย์มิได้’ นี่ก็เป็นการคุ้มครองที่ชัด ว่าจะไม่ให้บุคคลฟ้องร้องพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว”[2]

มีการถกเถียงต่อบทบัญญัตินี้โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีสมาชิกรัฐสภาได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้อาจไม่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่บางส่วนมีความเห็นว่าต้องมีการให้ความคุ้มกันต่อพระมหากษัตริย์แตกต่างไปจากประชาชนทั่วไป แม้จะมีความเห็นที่ต่างกันอย่างมากแต่ความหมายซึ่งเป็นที่เข้าใจร่วมกันก็คือ บทบัญญัตินี้เป็นไปเพื่อไม่ให้ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐทำการฟ้องคดีพระมหากษัตริย์ต่อศาล[3]

 ภายหลังจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา บทบัญญัติดังกล่าวก็ได้ปรากฏมาอย่างต่อเนื่องโดยในรัฐธรรมนูญบางฉบับอาจมีการแยกให้อยู่คนละมาตรา (เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492) หรืออยู่ในมาตราเดียว (เช่น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520), หรืออาจอยู่ในมาตราเดียวแต่คนละวรรค ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่ก็ล้วนมีความหมายในลักษณะเดียวกันคือเพื่อเป็นการป้องกันพระมหากษัตริย์จากการถูกประชาชนฟ้องคดี

1.2 ในเชิงหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย นักกฎหมายอันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมาอย่างยาวนานและถือเป็นปรมาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับความหมายเรื่องสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ที่รับรองไว้ ดังนี้[4]

หนึ่ง สถานะของพระมหากษัตริย์

บุคคลย่อมมีฐานะเสมอกันยกเว้นพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมีฐานะประมุขของประเทศ และเป็นหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องทำการเคารพเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ การไม่กระทำการเคารพนั้นอาจไม่มีโทษทางกฎหมายแต่อาจมีโทษทางสังคมได้ การกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นที่เคารพสักการะย่อมหมายถึงการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องดำรงอยู่เหนือการเมือง พระมหากษัตริย์จะไม่หารือกับนักการเมืองฝ่ายใดยกเว้นองคมนตรีและคณะรัฐมนตรี การเป็นคนกลางในทางการเมืองทำให้หยุดเห็นว่าพระมหากษัตริย์ถือเป็นผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นผู้ลงพระปรมาภิไธยเมื่อมีการกระทำที่สำคัญของรัฐ เช่น การยุบสภาฯ แต่หากมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามวิถีรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อกฎหมายกษัตริย์ก็จะไม่ลงพระปรมาภิไธย อย่างไรก็ตาม การสงเคราะห์ต่อประชาชนเป็นสิ่งที่ทำได้ ตามหลักพระมหากษัตริย์จะต้องไม่แยกตนเองออกจากประชาชน

สอง ความหมายของคำว่า “ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้”

คำว่า “ล่วงละเมิด” หมายถึงห้ามประชาชนกล่าวหาหรือฟ้องร้องต่อพระมหากษัตริย์ สำหรับผู้มีหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรหมายถึงการห้ามอภิปรายให้เสื่อมเสียเกียรติของพระมหากษัตริย์ หากมีการกล่าวหาหรือฟ้องร้องว่าพระมหากษัตริย์ได้กระทำความผิดไม่ทางแพ่งหรืออาญา พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานของรัฐ หรือศาลจะต้องไม่รับข้อกล่าวหา คำร้อง หรือคำฟ้องไว้พิจารณา

โดยการล่วงละเมิดนั้น พิจารณาได้เป็น 3 ทาง

หนึ่ง ในทางรัฐธรรมนูญ “ผู้ใดจะตำหนิติเตียนกษัตริย์ในทางรัฐธรรมนูญไม่ได้” ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาหรือผู้มีหน้าที่แทน จะต้องมีการห้ามอภิปรายในสภาซึ่งจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติของพระมหากษัตริย์ ห้ามมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีข้อความยกเลิกการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หยุด แสงอุทัทัย มีความเห็นว่าการยกเลิกการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นไม่สามารถทำโดยวิธีทางสภาผู้แทนราษฎร แต่อาจทำได้โดยการปฏิวัติหรือรัฐประหาร

สอง ในทางอาญา หยุด แสงอุทัย มีความเห็นว่าพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือกฎหมายธรรมดา (อ้างอิงโดยรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม) ดังนั้น แม้ว่ากษัตริย์จะทำผิดทางอาญา ไม่ว่าก่อนหรือหลังการเป็นกษัตริย์กฎหมายอาญาก็ไม่สามารถใช้บังคับกับกษัตริย์ได้ จะมีการจับกุม รับฟ้อง หรือพิพากษาในความผิดอาญาของกษัตริย์ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สามารถใช้กลไกทางสังคมบังคับให้กษัตริย์สละราชสมบัติได้เมื่อกระทำผิดทางอาญา

สาม ในทางแพ่ง ผู้ใดจะใช้สิทธิตามกฎหมายแพ่งฟ้องพระมหากษัตริย์โดยตรงไม่ได้ แต่ราษฎรอาจฟ้องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ได้ กรณีที่เป็นการกระทำละเมิดผู้เสียหายจะทำได้เพียงแต่ทูนเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระมหากรุณาธิคุณ หรือใช้อำนาจทางสังคมบังคับพระมหากษัตริย์ได้เช่นกัน

ดังนั้น ในการพิจารณาถึงสถานะอันล่วงละเมิดมิได้จึงเป็นการจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง หรือมีอีกความหมายหนึ่งก็คือ กษัตริย์มิอาจกระทำความผิด (King can do no wrong) จึงหมายถึงว่าในการดำเนินภารกิจต่าง ๆ ทางการเมืองมิได้เป็นการกระทำของพระมหากษัตริย์โดยตรง หากแต่เป็นการกระทำของสถาบันทางการเมืองที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น นายกรัฐมนตรี, ประธานรัฐสภา เป็นต้น เมื่อมิได้เป็นการกระทำโดยพระมหากษัตริย์แล้วจึงไม่ต้องมีความรับผิดติดตามมา เพราะถือว่ามิได้เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดำเนินการแต่อย่างใด

2. ความหมายและขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ นอกจากบทบัญญัติในมาตรา 6 แล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนเอาไว้

“มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”

เสรีภาพในการแสดงความเห็นถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย การให้การรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ย่อมถือเป็นการให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพดังกล่าวในฐานะที่เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ต้องได้รับการคุ้มครอง แม้อาจจะสามารถจำกัดการแสดงความคิดเห็นได้ภายใต้ข้อยกเว้นบางประการที่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่ก็ต้องดำเนินไปอย่างชัดแจ้งและไม่ปล่อยให้มีการตีความขยายออกอย่างกว้างขวาง เพราะมิฉะนั้น จะถือว่าเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้

สำหรับกรณีการแสดงความเห็นของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสถานะของพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 6 นั้น ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิที่เป็นหลักคุณค่าทางรัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบต่อหลักคุณค่าอื่นทางรัฐธรรมนูญ กรณีเช่นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “การปะทะกันแห่งคุณค่าในกฎหมายรัฐธรรมนูญ” การขัดแย้งกันระหว่างคุณค่าที่แตกต่างกันในกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ย่อมทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าจะมีแนวทางในการวินิจฉัยปมปัญหานี้อย่างไร

รศ. ดร. กิตติยานุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอความเห็นต่อแนวทางการพิจารณาประเด็นดังกล่าวว่ารัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย นอกจาก “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แล้วไม่อาจถือเอาคุณค่าใดเป็นคุณค่าสูงสุดหรือคุณค่าที่ “แตะต้องไม่ได้” โดยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือการยอมรับให้มนุษย์มีอิสระในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง และกลายเป็นหลักพื้นฐานในการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอื่น ๆ

นอกจากนั้นแล้ว การตีความกฎหมายมหาชนต้องไม่ให้คุณค่าใดมีลักษณะสัมบูรณ์เหนือกว่าคุณค่าอื่น ๆ แบบสิ้นเชิง เพราะจะเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพด้านอื่น ๆ ลง ในการตีความต้องรักษาคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์พร้อมกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากไม่ชัดเจนว่าการแสดงความเห็นกระทบหรือทำลายคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรงก็ย่อมจะต้องคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความเห็น[5] ดังนั้น การแสดงความเห็นที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองจึงต้องเป็นการแสดงความเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบของรัฐจากรัฐราชอาณาจักรสู่การปกครองในระบอบสาธารณรัฐ, การปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองจากประชาธิปไตยสู่สังคมนิยม เป็นต้น  

3. กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 19/2564 คดีระหว่างนายณฐพร โตประยูร ผู้ร้อง และนายอานนท์ นำภา กับพวกอีก 8 คน ผู้ถูกร้อง ศาลได้วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย และคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีได้มีความเห็นว่าการกระทำของนายสุชาติ สวัสดิ์ มีลักษณะเช่นเดียวกันกับผู้ถกร้อง และถือเป็น “กลุ่มองค์กรเครือข่าย” ตามคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีเป็นองค์กรของรัฐ จึงต้องผูกพันและยึดถือแนวทางการปฏิบัติต่อบุคคลภายนอกให้เป็นไปตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

การให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าวมีปัญหาในทางกฎหมายอย่างสำคัญ 2 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีผลไปถึง “กลุ่มองค์กรเครือข่าย” นั้นเป็นการวินิจฉัยที่มีความคลุมเครือเป็นอย่างมาก โดยคำวินิจฉัยที่ 19/2564 กล่าวแต่เพียง “กลุ่มองค์กรเครือข่าย” แต่ไม่ได้มีการระบุถึงลักษณะที่ถูกจัดว่าเป็นองค์กรเครือข่ายหรือมีการชี้ชัดว่าองค์กรประเภทใดอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “เครือข่าย” ว่ามีความหมายถึง

“น. ระบบ เส้นทาง หรือการปฏิบัติงานที่ติดต่อประสานกันเป็นโยงใย เช่น เครือข่ายโทรคมนาคม, เครือข่ายวิทยุชุมชน, กลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่มีความเห็นใกล้เคียงกัน ที่มีการติดต่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่น เครือข่ายนักวิจัย.”[6]

ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องอธิบายการกระทำของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผู้ถูกร้องในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเพียงการชี้ถึงการกระทำของบุคคลที่มีความเห็นหรือทรรศนะในทางการเมืองที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ไม่ได้มีการแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องหรือความสัมพันธ์ใดเป็นพิเศษจนกระทั่งจะสามารถกล่าวได้ว่าเป็น “กลุ่มองค์กรเครือข่าย” ความเห็นในทิศทางเดียวกันของบุคคลย่อมเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ได้เป็นกลุ่มองค์กรเครือข่ายแต่อย่างใด ดังเช่นบุคคลที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวนมากในสังคมไทยก็เป็นความเห็นร่วมกันของบุคคลหรือองค์กรกลุ่มหนึ่ง โดยที่ไม่ได้เป็นกลุ่มองค์กรเครือข่ายแต่อย่างใด กรณีการแสดงออกของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็เช่นเดียวกันเป็นแต่เพียงความเห็นพ้องกันของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ประการที่สอง การกระทำของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระจากผู้ถูกร้องในคำวินิจฉัยที่ 19/2564 รวมถึงเป็นการกระทำที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ดังจะเห็นได้จากหลักฐานที่นำมาสู่การยกเลิกเพิกถอนตำแหน่งศิลปินแห่งชาติของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี มาจากการแสดงความเห็นผ่านทางสื่อสังคมสมัยใหม่ ขณะที่การกระทำของผู้ถูกร้องในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ได้มีการปราศรัยและการชุมนุมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก การกระทำทั้งสองจึงมีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน การสรุปว่าการกระทำของทั้งสองกลุ่มดำเนินไปในลักษณะเดียวกันจึงเป็นการเหมารวมโดยไม่มีกระบวนการในการสอบสวนที่เปิดโอกาสให้นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี สามารถโต้แย้งและนำเสนอข้อมูลของตนเองก่อนการมีคำสั่งของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

 

บทสรุป

จากการพิจารณาถึง 3 ประเด็นสำคัญ กล่าวคือ ประเด็นที่หนึ่ง ความหมายของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”  ประเด็นที่สอง ความหมายและขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และประเด็นที่สาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ด้วยความเห็นในทางวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการกระทำของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี มิได้เป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นการละเมิดต่อมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่ได้มีรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 อีกทั้งการอ้างอิงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ก็ยังมีปัญหาต่อการนำมาปรับใช้กับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในกรณีนี้

มติของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติกรณีการยกเลิกการยกย่องการเชิดชูเกียรตินายสุชาติ สวัสดิ์ศรี จากการเป็นศิลปินแห่งชาติ จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแจ้งชัด

 

 

[1] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2475 วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม หน้า 376

[2] รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 14 พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2492 วันเสาร์ที่ 15 มกราคม 2492 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 184

[3] สมชาย ปรีชาศิลปกุล, นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง: ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 - 2550 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2561) หน้า 114 – 130

[4] หยุด แสงอุทัย, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่สอง (พระนคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2512) หน้า 211

[5] ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์, “การปะทะกันแห่งคุณค่าในกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย” นิติศาสตร์ ปีที่ 48 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2562) หน้า 439 – 466

[6] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน สืบค้นในเว็ปไซต์ https://dictionary.orst.go.th/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท