Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศล่าสุด ห้ามชุมนุม ทำกิจกรรม มั่วสุม ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วประเทศ ฝ่าฝืนจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ มีผล 1 ส.ค.นี้ และมีประกาศที่ให้อำนาจ ผบ.ตร. กำหนดมาตรการควบคุมการชุมนุม และขอการสนับสนุนจาก 3 เหล่าทัพได้

 

2 ส.ค. 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา วานนี้ (1 ส.ค.) เผยแพร่ประกาศความว่า หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ โรคโควิด-19 ฉบับที่ 15 ลงนามโดย พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิยในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง 

โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งในทวีปเอเชียมีแนวโน้มพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในลักษณะที่เป็นการระบาดระลอกเล็กๆ (Small Wave) สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย แม้ว่าประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับวัคซีนกระตุ้น (Booster Dose) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงปรากฏการระบาดลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่เสี่ยงส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เพิ่มจำนวนขึ้น 

เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปิดประเทศ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจดำเนินไปควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างเข้มแข็ง และสมดุล ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระยะ Post-Pandemic รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุข จึงปรับมาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคที่จำเป็นสำหรับการดำเนินกิจกรรมบางประการ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ย่อยใหม่ต่างๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านอันจะทำให้การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

อาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความให้มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37) ข้อ 2 ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จึงให้ปฏิบัติ ดังนี้ 

1. ให้ยกเลิกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563 ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง

เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) (ฉบับที่ 14) ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

2. ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาส ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร

3. ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น โดยให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564

4. การชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 46) ลงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565

5. ให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุม ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีที่มีการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับใหม่ ให้ประกาศฉบับนี้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับข้อกำหนดฉบับใหม่ดังกล่าว

ให้ ผบ.ตร. กำหนดมาตรการชุมนุม-ขอกำลังเสริมจาก 3 เหล่าทัพได้

วันเดียวกัน ยังมีประกาศราชกิจจานุเบกษาอีกฉบับ เรื่อง คำสั่งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงที่ 7/2565 เรื่อง การปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 13) ระบุข้อความตอนหนึ่งด้วยว่ามอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปม.ตร.) เป็นหน่วยปฏิบัติหลักมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 

1. กำหนดมาตรการเป็นการเฉพาะเพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม 

2. กำหนดมาตรการและดำเนินการ ตามความจำเป็น เหมาะสม และเป็นไปตามกฎหมายโดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลอดจนการนำเครื่องมือควบคุมฝูงชนมาใช้ เพื่อตรวจสอบ ระงับยับยั้ง หรือยุติการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ที่ฝ่าฝืนรวมถึงให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเข้าดำเนินการอย่างทันท่วงที 

3. การปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณาความเหมาะสมของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรกว่าเหตุ

4. ในกรณีที่เห็นสมควร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สามารถประสานร้องขอการสนับสนุนเพิ่มเติม จากกองบัญชาการ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (บก.ศปม.) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กองทัพบก (ศปม.ทบ.) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงกองทัพเรือ (ศปม.ทร.) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงกองทัพอากาศ (ศปม.ทอ.) ได้

ทั้งนี้ มีผลใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2565 เป็นต้นไป

ย้อนดู 7 พื้นที่กทม.ประกาศให้ชุมนุมได้

เว็บไซต์ข่าว ‘มติชนสุดสัปดาห์’ รายงานข้อมูลเพิ่มเติม ระบุว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชนหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

โดยผู้จัดการชุมนุมที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะในสถานที่ตามประกาศนี้ ต้องแจ้งการใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ตามแบบหนังสือแจ้งใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะแนบท้ายประกาศนี้ พร้อมทั้งเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ก่อนจัดการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง เพื่อที่สำนักงานเขตพื้นที่จะได้แจ้งให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะทราบ และมีเวลาเตรียมการเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้พื้นที่ให้กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมตามความเหมาะสม โดยกำหนดสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ 7 แห่งด้วยกัน ประกอบด้วย

1. ลานคนเมือง เขตพระนคร

2. ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง

3. ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา (ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36) เขตจตุจักร

4. ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง เขตพระโขนง

5. ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี

6. ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ

7. สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน

หมายเหตุ ประชาไทมีการปรับพาดหัวจากเดิม 'ประกาศ ห้ามชุมนุม มั่วสุมที่ทำให้โรคแพร่ระบาด ฝ่าฝืนจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่น-ผบ.ตร.กำหนดมาตรการชุมนุม ' เป็น 'ประกาศ หน.แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ให้ใช้หลักเกณฑ์ตาม กม.ชุมนุมฯ  หากฝืนรับโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน' เมื่อ 2 ส.ค. 2565 เวลา 18.07 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net