Skip to main content
sharethis

กองทัพพม่าเผย โทรุ คุโบตะ ผู้กำกับสารคดีชาวญี่ปุ่น วัย 26 ปี จะถูกตั้งข้อหา ยุยงปลุกปั่น และละเมิดกฎหมายวีซ่า หลังเขาถูกจับในนครย่างกุ้งเมื่อปลาย ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะถ่ายทำการประท้วงต่อต้านการประหาร 4 นักกิจกรรม 

 

5 ส.ค. 2565 สำนักข่าว ‘อิรวดี’ รายงานวันนี้ (5 ส.ค.) อ้างอิงจากกระทรวงการข้อมูลของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) โทรุ คุโบตะ ผู้กำกับสารคดีชาวญี่ปุ่น ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น และละเมิดกฎหมายวีซ่าและการเข้าประเทศ เหตุมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร 

ผู้กำกับสารคดีวัย 26 ปีจากแดนอาทิตย์อุทัย ถูกจับกุมเมื่อ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่เขตเทศบาลดะโก่งใต้ นครย่างกุ้ง พร้อมกับผู้ประท้วงต่อต้านกองทัพอีก 2 คน ขณะที่กำลังถ่ายทำสารคดีการประท้วงต่อต้านการประหารนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย 4 คน  

(ซ้าย) โทรุ คุโบตะ ผู้กำกับสารคดี และ (ขวา) ยูกิ คิตะซูมิ นักข่าวอิสระ (ที่มา: ทวิตเตอร์ @torukubota23)

แถลงการณ์กองทัพพม่า เผยว่า คุโบตะเดินทางเข้ามาในพม่าผ่านทางประเทศไทย โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว เมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา และเริ่มติดต่อกับผู้ประท้วงเมื่อ 29 ก.ค. 2565 

ทั้งนี้ คุโบตะ จะถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 505(a) หรือยุยงปลุกปั่น และการละเมิดกฎหมายวีซ่า ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มาตรา 13 สำหรับมาตรา 505(a) มีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี และสำหรับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี 

สำหรับกฎหมายอาญาพม่า มาตรา 505(a) ระบุว่า ใครก็ตามที่ให้ความคิดเห็น อันจะก่อให้เกิดความหวาดกลัว หรือเผยแพร่ ‘ข่าวลวง’ หรือ ‘ปลุกปั่นทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้กระทำอาชญากรรมต่อต้านเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล’ ถือว่ามีความผิด อาจถูกจำคุกสูงสุด 3 ปี 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่าปผู้ประท้วง 2 รายสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง 

ขณะที่ตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นออกมาแถลงที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2565 เรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัวคุโบตะ 

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวหน้ากระทรวงต่างประเทศ ที่กรุงโตเกียว เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้กำกับสารคดีวัย 26 ปี 

ปัจจุบัน มีนักข่าวมากกว่า 130 รายถูกกองทัพพม่าจับกุมตั้งแต่หลังรัฐประหาร 1 ก.พ. 2564 หลายคนถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น และติดต่อกับองค์กรผิดกฎหมาย คุโบตะ เป็นนักข่าวต่างชาติรายที่ 7 ที่ถูกจับกุมโดยกองทัพพม่า ก่อนหน้านี้ กองทัพพม่าเคยปล่อยนักข่าวต่างชาติไปแล้ว 4 ราย  

ย้อนไปเมื่อปี 2564 ยูกิ คิตะซูมิ นักข่าวอิสระสัญชาติญี่ปุ่น ถูกทางการพม่าควบคุมตัวขณะทำข่าวการประท้วงเมื่อ ก.พ. 2564 และถูกตั้งข้อหาเดียวกับคุโบตะ คือ มาตรา 505(a) ก่อนที่เขาจะได้รับการปล่อยตัว และเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดเมื่อ พ.ค. 2564 หลังเขาถูกควบคุมตัวมานาน 25 วัน 

เมื่อการปฏิวัติผ้าเหลือง หรือ การปฏิวัติหญ้าฝรั่น นำโดยพระสงฆ์พม่า เมื่อปี 2550 เคนจิ นากาอิ นักข่าวจากญี่ปุ่น ถูกทางการพม่าใช้อาวุธปืนยิงระยะเผาขน ขณะที่เขากำลังทำข่าวการประท้วงดังกล่าว 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net