Skip to main content
sharethis

ระหว่างที่ประชุมวุฒิสภากำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานอุ้มหายฯ ที่ กมธ.ของส.ว.มีการตัดแก้ร่างที่มีมติผ่านมาจากส.ส. องค์กรด้านสิทธิมนุษชนหลายองค์กรร่วมกันลงนามเรียกร้องให้ ส.ว.ผ่านร่างกฎหมายนี้โดยยืนยันไปตามหลักการของกฎหมายที่ผ่านมาจากชั้น ส.ส.เนื่องจากที่เนื้อหาที่ กมธ.ส.ว.ตัดแก้จะทำให้เกิดช่องซ้อมทรมาน

9 ส.ค.2565 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชนอีก 8 แห่งได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกวุฒิสภาที่กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…. ในที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อลงมติวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในวันนี้

ส.ว.ค้าน กมธ.วุฒิสภาตัดความผิด'ทำโหดร้าย-ย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษญ์' จากร่างพ.ร.บ.ซ้อมอุ้มหายฯ

ในจดหมายระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวที่ผ่านการแก้ไขจากชั้นคณะกรรมาธิการของวุฒิสภานั้น ทำให้สาระสำคัญหลายประการผิดไปจากเจตนารมณ์ของสภาผู้แทนราษฎรและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ที่มุ่งหมายให้มีกฎหมายฉบับนี้ เป็นการยกระดับปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนประเทศไทยให้เป็นไปตาม อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance : CED)

สาระสำคัญที่ถูกตัดออกไป เช่น

1. การตัดนิยามของ “การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ ที่มิใช่การกระทำความผิดตามมาตรา 5 ถือเป็นความผิดทางอาญา” ออกไป ส่งผลให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดทางอาญา

2. ตัดข้อบังคับให้ต้องบันทึกวีดีโอระหว่างควบคุมตัวซึ่งระบุให้เจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อควบคุมตัวแล้วจะต้องทำการบันทึกภาพและเสียงทั้งในขณะที่ทำการจับกุมและควบคุมตัวจนกระทั่งส่งไปถึงพนักงานสอบสวน การตัดข้อความดังกล่าวออกไปซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงว่าจะมีการซ้อมทรมานมากที่สุด จะทำให้เกิดการซ้อมทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายได้โดยง่าย

3. การกำหนดให้กฎหมายอื่นๆ ที่มีข้อยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้นำมาใช้กับกฎหมายนี้

4. การแก้ไขเรื่องอายุความสำหรับความผิดอันเกิดจากการกระทำให้สูญหาย เป็นอายุความ 20 ปี โดยมิให้เริ่มนับจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย

5. แก้ไขให้คดีความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ โดยตัดอำนาจ พนักงานสอบสวน พนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนคดีซ้อมทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายออกไป

6. การพิจารณาคดีตาม พ.ร.บ.นี้ให้เป็นการพิจารณาในศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบแต่ยังให้เจ้าหน้าที่ทหารที่กระทำความผิดขึ้นศาลทหารที่ล่าช้าและส่งผลถึงการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้เสียหาย เนื่องจากศาลทหารมีกระบวนพิจารณาที่มุ่งหมายตรวจสอบการกระทำผิดตามกฎหมายอาญาทหารเท่านั้น มิใช่มุ่งดำเนินกระบวนพิจารณากรณีที่ทหารกระทำผิดอาญาแผ่นดิน

“เราจึงขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา ได้โปรดยืนยันหลักการตามร่างกฎหมายฉบับเดิมที่ผ่านมติเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว เพื่อเป็นการยืนยันหลักการเจตนารมณ์ของการมีร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งการมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สอดคล้องกับที่ประเทศไทยต้องอนุวัติการกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับกฎหมายสากลที่รัฐไทยมีพันธกรณี ทั้งยังเป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนให้การยอมรับ นำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สามารถเกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง อันเป็นการยกระดับความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ให้ยืนหยัดอย่างสง่างามในเวทีประชาคมโลกต่อไป” ระบุในท้ายจดหมาย

จดหมายเปิดถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ….

 

ตามที่วุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…. ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2565 อันเป็นผลให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำลังจะถูกส่งมายังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา นั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชนดังรายนามข้างท้าย มีความเห็นร่วมกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ผ่านวาระที่ 3 มาจากวุฒิสภานั้นไม่ได้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับของสภาผู้แทนราษฎรในหลักการสำคัญ โดยวุฒิสภายังคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของสภาผู้แทนราษฎรและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่มุ่งหมายให้มีกฎหมายฉบับนี้เป็นการยกระดับปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนประเทศไทยให้เป็นไปตาม อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance : CED) แม้จะมีข้อกังวลเรื่องการไม่ยืดอายุความ ไม่ได้กำหนดชัดเจนเรื่องความผิดต่อเนื่องในกรณีการกระทำให้บุคคลสูญหาย และการไม่ให้มีคณะกรรมการตามพรบ.ฉบับนี้ด้วยการสรรหา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายรวมทั้งไม่ให้มีผู้เสียหายหรือผู้แทนผู้เสียหายในระบบการแต่งตั้งคณะกรรมการ ก็ตาม

ร่าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขโดยคณะกรรมาธิการ วุฒิสภา ได้ยืนยันสาระสำคัญตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหลายประการ เช่น การนิยามของ “การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ ที่มิใช่การทรมานเป็นความผิดทางอาญา” การกำหนดข้อบังคับให้ต้องบันทึกวีดีโอระหว่างควบคุมตัวซึ่งระบุให้เจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อควบคุมตัวแล้วจะต้องทำการบันทึกภาพและเสียงทั้งในขณะที่ทำการจับกุมและควบคุมตัวจนกระทั่งส่งไปถึงพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญในการป้องกันการซ้อมทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายได้โดยง่าย การกำหนดให้ห้ามทรมานในสถานการณ์สงครามและสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่ยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ การกำหนดอำนาจสอบสวนคดีความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ไว้กับหลายหน่วยงานทั้งพนักงานสอบสวน ฝ่ายปกครอง อัยการและเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ การเริ่มนับอายุความเมื่อทราบชะตากรรมของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย การยืนยันให้การพิจารณาคดีตาม พ.ร.บ.นี้ให้ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลพิจารณาการกระทำความผิด และให้ตัดอำนาจศาลทหารกรณีเจ้าหน้าที่ทหารที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

ด้วยเหตุนี้เราจึงขอเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้โปรดพิจารณารับรองร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…. ฉบับที่ทางวุฒิสภามีมติเห็นชอบและจะส่งกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ผ่านเป็นกฎหมายโดยเร็ว ทั้งนี้เพราะหากไม่เห็นชอบจะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่างวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำให้การพิจารณาผ่านกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ล่าช้าไปอีก จนอาจไม่ทันสมัยประชุมรัฐสภาที่เหลืออีกไม่นาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันหลักการเจตนารมณ์ของการมีร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งการมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สอดคล้องกับที่ประเทศไทยต้องอนุวัติการกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับกฎหมายสากลที่รัฐไทยมีพันธกรณี ทั้งยังเป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนให้การยอมรับ นำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สามารถเกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง อันเป็นการยกระดับความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ให้ยืนหยัดอย่างสง่างามในเวทีประชาคมโลกต่อไป

 

ด้วยความเชื่อมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

 

รายนามองค์กรที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องทั้ง 9 องค์กรได้แก่

1. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

2. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF)

3. กลุ่มด้วยใจ

4. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

5. กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย

6. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

7. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)

8. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD

9. เครือข่ายสิทธมนุษยชนปาตานี HAP

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net