Skip to main content
sharethis

อดีตพนักงานของรัฐ จ่อร้องศาลปกครองสูงสุด ขอความเป็นธรรมปมนับอายุราชการ-ไร้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

จากกรณีชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ทำเรื่องถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอให้พิจารณาทบทวนสิทธิประโยชน์ของพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญจำนวน 22,335 ตำแหน่งในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. 2547 โดยขอให้นับอายุราชการในการบรรจุเป็นข้าราชการตั้งแต่วันที่บรรจุเป็นพนักงานของรัฐ(ปี 2543-2547) ปรากฎว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 ว่าไม่สามารถนับอายุราชการได้ เนื่องจากการนับอายุราชการจะทำได้เฉพาะเป็นข้าราชการเท่านั้น

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2565 นายมานพ ผสม ประธานชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า รู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะประเด็นที่ออกมาเรียกร้อง หากคนไม่เข้าใจจะคิดว่ามาเรียกร้องขอคืนอายุราชการในช่วงที่ไม่ได้เป็นข้าราชการได้อย่างไร ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ใช่ แต่เป็นเพราะพวกตนถูกสื่อสารให้เข้าใจผิด ให้หลงเชื่อ โดยเดิมมีบางส่วนเป็นลูกจ้างประจำ ซึ่งสมัยนั้นมีสิทธิเทียบเท่าข้าราชการ แต่ด้วยนโยบายรัฐบาล มีการกำหนดข้าราชการสายพันธุ์ใหม่ โดยได้มีสัญญาให้ลูกจ้างประจำลาออก และศึกษาต่อเพื่อให้ได้บรรจุราชการวุฒิสูงขึ้น กลุ่มนี้อายุมากแล้วประมาณ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ปรากฎว่า กลับได้เป็นพนักงานของรัฐในช่วงปี 2543 เป็นเวลา 4 ปี จนปี 2547 ถึงได้รับการบรรจุ กลายเป็นว่า ช่วง 4 ปีนั้นอายุราชการหายไป เพราะจำใจลาออก เหตุหลงเชื่อว่าจะได้บรรจุข้าราชการจริงๆ

“ปัญหาคือ มีคนอายุมากอีก 1-2 ปีจะเกษียณแล้ว แต่เมื่อสละสิทธิจากการเป็นลูกจ้างประจำ มาเป็นพนักงานของรัฐแต่ปรากฎว่า ไม่ใช่ราชการจึงนับรวมไม่ได้ ปัญหาคือ ช่วงปี 2543-2547 เป็นช่วงของการบุกเบิก พวกตนนับเป็นรุ่นแรกที่บุกเบิกข้าราชการพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า พนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนั้นก็ไม่มีอีก แต่กลายเป็นว่าเราต้องเสียสิทธิข้าราชการไป 4 ปี หนำซ้ำที่ก่อนหน้านี้บอกว่า จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ ก็ไม่มีอีกเช่นกัน” นายมานพ กล่าว

นายมานพ กล่าวว่า ที่สำคัญช่วงปี 2543 -2546 ที่เป็นพนักงานของรัฐ บางแห่งมีการเก็บเงินส่งเข้ากองทุน กบข. ทำให้คนที่ถูกเก็บคิดว่า เป็นข้าราชการ และน่าจะมีการนับอายุย้อนหลังได้ แต่จนบัดนี้ก็ไม่ได้ หนำซ้ำไม่รู้ด้วยว่า เงินที่ถูกเก็บไปอยู่ไหน

“ขณะนี้สิ่งที่เราจะช่วยเหลือตัวเองได้ คือ การยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยร้องที่ศาลปกครองกลาง แต่แนะนำให้เราร้องศาลปกครองสูงสุดเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าจะพึ่งพาทางไหนแล้ว” นายมานพ กล่าว

เมื่อถามว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเป็นวิชาชีพใด นายมานพ กล่าวว่า มีทุกวิชาชีพ ทั้งแบคออฟฟิศ แพทย์แผนไทย เทคนิคการแพทย์ เจ้าพนักงานสาธารณสุขทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือกระทรวงสาธารณสุขตอบกลับเรื่องนี้ ลงนามโดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในหนังสือที่ สธ 0208.09/19159 ลงวันที่ 24 ส.ค. 2565 เรื่อง ขอนับอายุราชการพนักงานของรัฐในการบรรจุข้าราชการ ส่งถึงประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ระบุถึงกรณีดังกล่าว ใจความว่า

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอเรียนว่า ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการบัญญัติให้ข้าราชการมีสิทธินับเวลาราชการ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ ดังนี้

1.ให้นับเวลาราชการแต่เฉพาะเวลาราชการขณะเป็นข้าราชการเท่านั้น ซึ่งพนักงานราชการลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ต่อมาได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ได้รับสิทธินำระยะเวลาขณะดำรงตำแหน่งพนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข มานับรวมเป็นเวลาราชการ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีข้าราชการกลุ่มใดที่จะมีสิทธินำระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งประเภทอื่นมานับรวมเป็นเวลาราชการ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญได้

2.ให้นับเวลาราชการ แต่เฉพาะเวลาราชการขณะเป็นข้าราชการเท่านั้น ประกอบการบรรจุพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2543 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปฏิบัติของพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเดียวกับที่ใช้กับข้าราชการพลเรือนสามัญโดยอนุโลม เช่น คุณสมบัติและเงินเดือน ระดับบรรจุ และอื่นๆ เว้นแต่การรับบำเหน็จบำนาญจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่จะจัดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นมาแทน พนักงานของรัฐ จึงมิได้มีสถานะเหมือนข้าราชการ และไม่มีสิทธินำระยะเวลาขณะที่เป็นพนักงานของรัฐ นับรวมเป็นเวลาราชการ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ

ทั้งนี้ หลักการนับระยะเวลาราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการดังกล่าวใช้บังคับแก่ข้าราชการทุกประเภท โดยได้รับสิทธิในการเริ่มนับเวลาราชการ สำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ แต่เฉพาะเวลาราชการขณะเป็นข้าราชการเช่นเดียวกันทุกประเภท ดังนั้นหลักการนับเวลาราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการปัจจุบัน จึงมีความเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว

ที่มา: Hfocus, 2/9/2565

เอกชนภูเก็ตชี้ค่าแรงใหม่ไม่กระทบธุรกิจ

จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 เห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั่วประเทศ 8 - 22 บาท โดยปรับขึ้นสูงสุด ที่ 354 บาท และต่ำสุด 328 บาท สำหรับพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จะมีการปรับขึ้น 18 บาท ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่อยู่ที่ 354 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นั้น ทางประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ผู้ประกอบการ นายจ้างในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะภาคบริการต่างบอกว่า การปรับค่าแรงครั้งนี้ ไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากค่าจ้างภาคบริการปกติจ่ายสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำมาตลอด เนื่องจากแรงงานภาคบริการในจังหวัดภูเก็ต เป็นแรงงานมีฝีมือที่มีความต้องการมาก และปัจจุบันยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอีกด้วย

นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า สามารถมองได้ทั้งบวกและลบ ในแง่ลบ คือ ภูเก็ตยังลำบากอยู่เพราะเศรษฐกิจท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นเต็มที่ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม ซึ่งยังมีกำลังไม่มากและอยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่อีกครั้งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้น จะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนในการจ้างงานให้สูงตามไปด้วย แต่ในแง่บวกก็มีเช่นกัน โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดใหญ่หรือโรงแรมที่พักระดับ 4-5 ดาว ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการแรงงานค่อนมาก และหากมีกำลังในการจ่ายค่าจ้างจะทำให้มีผู้เข้ามาทำงานมากขึ้น

ทางด้านนายกิตติชัย ลีลาอนันตวงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ผู้ประกอบการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พรพิชัยการช่าง กล่าวว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีค่าครองชีพสูง การปรับขึ้นค่าแรงถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม ซึ่งบริษัทของตนจ่ายค่าแรงอยู่ที่ 600-1,200 บาท เพราะเป็นงานที่ต้องมีความชำนาญและเป็นแรงงานที่หายาก ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงไม่มีผลกระทบกับภาคบริการ ซึ่งยังมีความต้องการแรงงานในภาคบริการค่อนข้างสูง เพราะแรงงานส่วนหนึ่งอพยพกลับภูมิลำเนาในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 และบางส่วนก็ไม่กลับมาอีก จึงทำให้ธุรกิจภาคบริการขาดแคลนแรงงาน เพราะปัจจุบันการท่องเที่ยวเริ่มจะฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตามการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศครั้งนี้ ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานมีการใช้จ่ายสอดรับกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจปรับตัว และคาดว่าภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต จะดีขึ้นจากเปิดให้บริการเต็มรูปแบบหลังจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านมา

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 1/9/2565

5 นิคมฯ อยุธยา ผนึกตั้งวอร์รูมรับมือสถานการณ์น้ำ ห่วง ‘แรงงาน’ บ้านน้ำท่วม มาทำงานลำบาก

น.ส.บงกช แจ่มทวี ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากกณีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบ้าง ซึ่งทั้งจังหวัดมีโรงงานตั้งอยู่มากกว่า 2,134 โรงงาน ใน 5 นิคมอุสาหกรรม ประกอบด้วย สังกัดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 3 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 2.นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า-ไฮเทค และ 3.นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง ส่วนของภาคเอกชนมี 2 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และ 2.นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์-วังน้อย

ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดได้จัดตั้งวอร์รูมระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม มุ่งเน้นการป้องกันที่ระบบการผลิต ระบบขนส่งสินค้า รวมถึงวางแผนแก้ไขปัญหาการเดินทางของคนงาน ซึ่งบ้านถูกน้ำท่วม พร้อมประสานซัพพลายเออร์สำรองวัตถุดิบ สินค้า และให้ติดตามสถานการณ์ รวมถึงจัดทำแผนเผชิญเหตุ พร้อมแจ้งข้อมูลไปทุกโรงงานเพื่อประเมินสถานการณ์แบบรายวัน

ขณะที่นักลงทุนและโรงงานยังไม่กังวลว่าน้ำจะท่วมหนักเหมือนปี 2554 เพราะแต่ละนิคมอุตสาหกรรมมีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมอย่างแข็งแรง ความสูง 6 เมตร สร้างความมั่นใจให้แต่ละโรงงานเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการโรงงานกังวลคือ “แรงงาน” เนื่องจากพนักงานที่ทำงานในโรงงานพักอาศัยกระจายอยู่ทั่ว จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 300,000 คน โดยเฉพาะพื้นที่ท่วมซ้ำซาก เช่น อ.ผักไห่ เสนา บางบาล เดินทางมาทำงานลำบากมากยิ่งขึ้น

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/9/2565

เผยอดีต พนง. JSL ที่ถูกเลิกจ้าง ได้ค่าชดเชยครบแล้ว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 (สรพ. 4) เพื่อแสดงความยินดีกับลูกจ้างบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด (JSL) กรณีนายจ้างนำเงินมาวางตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สรพ.4 และชดใช้คืนเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้แก่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) พร้อมดอกเบี้ย

นายสุชาติ เปิดเผยว่า กรณีบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด (JSL) เลิกจ้างลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 ตนเองสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ร่วมกันช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ซึ่ง กสร.มอบหมายพนักงานตรวจแรงงาน สรพ. 4 ดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้าง JSL อย่างเต็มที่ โดยมีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพราะขณะนั้นนายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดหรือเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้ รวมทั้งนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ลูกจ้าง JSL ยื่นเอกสารคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ ซึ่ง กสร.จ่ายเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างจำนวน 74 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,310,760 บาท เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ให้แก่ลูกจ้าง JSL ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่นายจ้างเลิกจ้างไปเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2565

ขณะที่กรมการจัดหางานหางานตามตำแหน่งงานว่างให้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานหาอาชีพ พร้อมด้วยการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานหลักสูตรบาริสต้าและการทำเบเกอรี่ เพื่อให้ลูกจ้าง JSL มีงานทำ มีอาชีพ ซึ่งตนเองตระหนักถึงคุณภาพชีวิตลูกจ้างทุกคนจะต้องดีกว่าวันนี้ การสร้างงานสร้างรายได้ เพื่ออนาคตที่สดใสในการดำรงชีพ ในส่วนสำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินประกันการว่างงานให้กับลูกจ้างไปแล้ว 1 เดือน เป็นเงิน 636,376.50 บาท ซึ่งพนักงานเหล่านี้จะได้รับเงินประกันการว่างงานไปจนกว่าจะได้งานใหม่ เป็นเวลา 6 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,818,259 บาท นายสุชาติ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานช่วยเหลือลูกจ้างอย่างเต็มที่ และได้มอบหมายให้พนักงานตรวจแรงงาน สรพ.4 เร่งดำเนินการตามระเบียบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่าด้วยการรับคำร้องและการพิจารณาคำร้องของพนักงานตรวจแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และ พ.ศ. 2554 จนสามารถออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน พร้อมจ่ายเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างได้ทันสถานการณ์ ซึ่งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ตัวแทนนายจ้างนำเงินมาจ่ายตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน สรพ.4 ในอัตราร้อยละ 60 จ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้ร้องทั้งหมด จำนวน 83 คน รวมเป็นเงิน 16,894,684.50 บาท แล้ว และในวันนี้ (31 สิงหาคม 2565) ตัวแทนนายจ้างนำเงินมาวางตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานในอัตราร้อยละ 40 (ส่วนที่เหลือ) รวมเป็นเงิน 11,263,123 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้ร้อง รวมเป็นเงินที่ลูกจ้างผู้ร้องทั้ง 83 คน ได้รับตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน เป็นเงินทั้งสิ้น 28,157,807.50 บาท ครบถ้วนตามคำสั่ง พร้อมทั้งนำเงินจ่ายชดใช้คืนเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ให้แก่ กสร. จำนวน 1,310,760 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้ร้องด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 31/8/2565

โรงงานบรรจุก๊าซระเบิด แรงงานทุกคนขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย พร้อมดูแลตามสิทธิ

จากเหตุระทึกกลางดึกโรงบรรจุก๊าซหุงต้มระเบิด กลางชุมชนย่านบางเสาธง คนงานมีบาดแผลไฟไหม้ บาดเจ็บ 5 คน ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 3 คน ล่าสุด (30 ส.ค. 2565) นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหาย พร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม

นางสาวกาญจนา เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 5 คนในจำนวนนี้เป็นแรงงานชาวเมียนมา 3 คน คนงานชาวไทย 2 คน ส่วนใหญ่ถูกไฟคลอกตามร่างกาย 70 เปอร์เซ็นต์

โดยขณะนี้กระจายรักษาอาการอยู่ที่ รพ.จังหวัดสมุทรปราการ 1 คน รพ.รามาจักรีนฤบดินทร์ 2 คน รพ.บางนา 2 จำนวน 1 คน และรพ.ใกล้เคียงอีก 1 คน

ทั้งนี้ ทุกคนจะได้รับสิทธิการรักษาจาก สำนักงานกองทุนเงินทดแทน พร้อมได้เงินชดเชยจากนายจ้างตามสิทธิเนื่องจากประสบเหตุจากการทำงาน และขึ้นทะเบียนแรงงานถูกต้องตามกฎหมายทุกคน ต่อจากนี้จะเดินทางไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่อไป

ที่มา: ข่าวช่อง7HD, 30/8/2565

ประชุมคณะกรรมการ สกสค. เคาะมอบเงิน 34 ล้านบาท สวัสดิการดูแลครูอาวุโสกว่า 17,000 คน

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ว่า คณะกรรมการ สกสค.ได้พิจารณาการจัดสวัสดิการและสวัสดิภาพให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของกิจการการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษากรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) ที่เป็นการช่วยเหลือระหว่างครูด้วยกันมานานและมีสมาชิกประมาณ 1.3 ล้านคน ซึ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2565 สำนักงาน สกสค.มีรายได้เพิ่มเติมจากการดำเนินกิจการฯ ประกอบกับวันที่ 9 กันยายนนี้ จะครบรอบการก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ในการสถาปนาสำนักงาน สกสค. ทางคณะกรรมการ สกสค.จึงอนุมัติให้สำนักงาน สกสค.มอบเงินรายได้เพิ่มเติมในช่วงไตรมาสที่ 4 เพื่อเป็นสวัสดิการช่วยเหลือดูแลครูอาวุโสมีอายุ 85-104 ปี ที่เป็นสมาชิก ช.พ.ค.- ช.พ.ส. คนละ 2,000 บาท

“ครูอาวุโสอายุ 85-104 ปี เป็นสมาชิก ช.พ.ค.- ช.พ.ส. ขณะนี้มี 17,349 คน จะได้รับเงินสวัสดิการคนละ 2,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 34,698,000 บาท กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยจังหวัดที่มีครูอาวุโสตั้งแต่อายุ 85 ปีมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ 3,095 คน และน้อยที่สุด คือ บึงกาฬ 14 คน โดยครูอาวุโสที่มีอายุสูงสุด คือ 104 ปี จำนวน 4 คน อยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ชลบุรี บุรีรัมย์ และฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 1 คน” นางสาวตรีนุช กล่าว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการ สกสค.อนุมัติมอบเงินดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าสมาชิก ช.พ.ค.- ช.พ.ส. อาวุโสเหล่านี้ เป็นกลุ่มเปราะบาง มีรายได้น้อย เงินบำนาญก็ได้รับไม่มาก จึงควรดูแลให้ขวัญกำลังใจ ซึ่งเป็นผู้ที่เคยสร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการศึกษา และก็เป็นสมาชิก ช.พ.ค.-ช.พ.ส.ที่ชำระเงินช่วยเหลือเพื่อนครูทุกเดือน

นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า ได้กำชับให้สำนักงาน สกสค.ดำเนินการมอบเงินสวัสดิการช่วยเหลือให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายนนี้ โดยโอนเงินให้สำนักงาน สกสค.จังหวัด ประสานงานกับเครือข่ายในพื้นที่ในการวางแผนและจ่ายเงินเหล่านี้ให้ครูอาวุโสด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงสุขภาพของครูอาวุโส และให้มีหลักฐานการรับจ่ายเงินอย่างถูกต้องด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 29/8/2565

ปรับลดการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน จากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.5

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ส.ค.65 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน มีมติเห็นชอบเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่ม กำหนดให้ต้องพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่พนักงานของตนเองไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพนักงานทั้งหมดนั้น ด้วยรอบปี พ.ศ. 2565 สถานประกอบกิจการหลายแห่งยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 บางแห่งเริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถจัดอบรมให้แก่พนักงานได้เต็มที่ เนื่องจากต้องเร่งการผลิตและปรับปรุงกระบวนการทำงาน ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว คณะกรรมการจึงกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ ปรับลดสัดส่วนการพัฒนาพนักงานจากไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เหลือเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพนักงานทั้งหมด พร้อมกับการปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ประจำปี 2565 จากร้อยละ 1 เหลือเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น

นายประทีป กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้คณะกรรมการส่งเสริม ยังเห็นชอบจำนวนผู้เข้าอบรมผ่านการฝึกอบรมออนไลน์ จากเดิมที่กำหนดให้ 1 ห้อง ต้องมีผู้เข้าอบรมไม่เกิน 30 คน ปรับเพิ่มให้เป็นไม่เกิน 50 คน ซึ่งยังสามารถควบคุมคุณภาพในการฝึกอบรมได้ แต่ทั้งนี้ ต้องรอประกาศอีกครั้งจึงจะมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่กำหนดขึ้นเป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด- 19 และอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ แต่สำหรับผู้ประกอบกิจการที่สามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริม เช่น จัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาพนักงานได้เกินกว่าร้อยละ 70 ในส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 70 มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนให้รายละ 200 บาท และมีเงินอุดหนุนให้อีกหลายกรณี อาทิ การจัดทำมาตรฐานฝีมือสำหรับผู้ประกอบอาชีพสำหรับใช้เฉพาะในสถานประกอบกิจการของตนเอง การส่งเสริมและสนับสนุนจัดส่งพนักงานเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 02 2643 6039

"การรับรองหลักสูตรภายใต้พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเริ่มคลายล็อกหลายกรณีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรับรองการจัดฝึกในรูปแบบออนไลน์ก็สามารถทำได้แล้ว นอกจากนี้ยังยื่นเอกสารต่างๆ ผ่านระบบ PRB e-Service โดยไม่ต้องเดินทางอีกด้วย ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานพยายามพัฒนาและปรับปรุงระบบเพื่อให้บริการสถานประกอบกิจการและแรงงานอย่างเต็มที่" นายประทีปกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 28/8/2565

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานในสัดส่วนสูง คาดอาจมีกำไรลดลง 5%-15% จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานไทยจะถูกปรับขึ้นในรอบกว่า 2 ปีจากครั้งหลังสุดเมื่อ 1 ม.ค. 2563 หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอของมติคณะกรรมการค่าจ้าง ที่พิจารณาให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันปรับขึ้นมาที่ 328-354 บาท หรือเฉลี่ยทั้งประเทศ (77 จังหวัด) อยู่ที่ 337 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 5% จากอัตราเดิม

การมีผลบังคับใช้ของอัตราใหม่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ทำให้ในปี 2565 ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศจะอยู่ที่ 325 บาท/วัน (9 เดือนแรก อยู่ที่ 321 บาท) เพิ่มขึ้นราว 1.3% จากในปี 2564 ขณะที่ ในปี 2566 ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 337 บาท/วันเต็มปี หรือเพิ่มขึ้น 3.7% จากปี 2565 ในกรณีที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกระหว่างทาง

การเพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัดในอัตราที่ไม่เท่ากัน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่มีแหล่งที่ตั้งของกิจการต่างกัน จะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน โดยเบื้องต้นกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าหากเทียบกับพื้นที่อื่น

นอกจากความแตกต่างด้านพื้นที่แล้ว โครงสร้างต้นทุนและความยืดหยุ่นในการปรับตัวที่ต่างกัน ก็มีผลทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบไม่เท่ากันจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตรากำไรจากการดำเนินงานหรือ Operating Profit Margin (OPM) ของภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยโดยรวมอาจถูกกระทบราว 4.6% จากสัดส่วนต้นทุนแรงงานที่อยู่ที่ราว 10.2% ของต้นทุนรวม ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลทำให้ต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นราว 0.5% ภายใต้สมมติฐานที่กำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่ และธุรกิจต้องปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานในอัตราเดียวกันนี้ แม้บางส่วนอาจจะไม่ได้จ้างแรงงานโดยอิงกับค่าจ้างขั้นต่ำก็ตาม

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานในสัดส่วนสูง ไม่ว่าจะเป็น การทำเกษตร (กสิกรรม ประมง เป็นต้น) ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ก่อสร้าง จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากกำไรที่อาจลดลงราว 5%-15% หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ขณะที่บางกิจการในอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหาร เป็นกลุ่มที่เผชิญความท้าทายสูง เนื่องจากจังหวะเวลาของการพลิกกลับมาทำกำไรอาจถูกเลื่อนออกไปจากเดิมจากประเด็นด้านต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ในความเป็นจริง ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนที่ปรับขึ้นหลายด้าน แต่อาจสามารถขยับราคาสินค้าขึ้นได้จำกัด ซึ่งตัวเลขข้างต้น เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นโดยเน้นไปที่ต้นทุนแรงงาน ภายใต้สมมติฐานว่าปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือคงที่ และกำไรจะลดลงหากธุรกิจไม่สามารถขยับราคาขายได้

ที่มา: การเงินการธนาคาร, 29/8/2565

รมว.แรงงาน ห่วงสาวไทยถูกลอยแพที่ดูไบ กำชับทูตแรงงานช่วยเหลือ

จากกรณีเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายประสิทธิ์ ศรีบุญจันทร์ พร้อมด้วย นายกอบโชคชีพ โพธิ์สอน รองประธานสภา อบต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ เข้าร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อช่วยเหลือติดตามตัว น.ส.อภิญญา อายุ 41 ปี ซึ่งเป็นน้องสาวของนายประสิทธิ์ กลับประเทศไทย หลังถูกนายหน้าชักชวนทำงานนวดแผนไทยที่ดูไบ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 โดยเดินทางกับเพื่อนหญิงจากพื้นที่ใกล้เคียง 3 คน และจากต่างจังหวัด 8 คน แต่ติดต่อไม่ได้นานกว่า 15 วัน หวั่นถูกหลอกขายบริการและไม่ได้รับความปลอดภัย นั้น

ในกรณีนี้ผมได้รับรายงานจากนางปลิดา ร่วมคำ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่า น.ส.อภิญญา ได้เดินทางด้วยวีซ่าท่องเที่ยว แต่ลักลอบเข้าไปทำงาน เนื่องจากหลงเชื่อนายหน้าที่ชักชวนให้ไปทำงานนวดแผนไทย จึงถูกจับกุมในข้อหาค้าประเวณี ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางเมืองอาบูดาบี เบื้องต้นจากการตรวจสอบของทูตแรงงาน ทราบว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี ได้รับการติดต่อจากสถานีตำรวจ Khalifah ให้ไปเป็นล่ามให้หญิงไทย จำนวน 6 คน ที่ถูกจับกุมคดีค้าประเวณี จากเขตซาบียาห์ เมืองอาบูดาบี โดย 1 ใน 6 คน คือ น.ส.อภิญญา ขณะนี้ น.ส.อภิญญา ได้ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำกลางเมืองอาบูดาบี เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งทันทีที่ทราบข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยแรงงานไทยทุกกลุ่มที่ไปทำงานในต่างประเทศ จึงกำชับให้กระทรวงแรงงานเร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทันที ผมจึงได้กำชับให้ทูตแรงงานประสานสถานทูตกรุงอาบูดาบีอย่างใกล้ชิด

ด้านนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการแรงงานจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของแรงงานไทยรายดังกล่าว เพื่อแจ้งให้ญาติทราบและให้กำลังใจกับครอบครัวในทันที ซึ่งเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา นางพนิดา เสถียรจิต แรงงานจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของ น.ส.อภิญญา ในพื้นที่ ต.หนองช้าง อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์

จากการลงพื้นที่ น.ส.สุภนิดา ซึ่งเป็นลูกสาวของ น.ส.อภิญญา และนายประสิทธิ์ ซึ่งเป็นพี่ชายของ น.ส.อภิญญา ให้การว่า น.ส.อภิญญา ได้เดินทางไปประเทศดูไบ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2565 โดยได้รับการชักชวนจากสาย/นายหน้า เป็นการเดินทางไปในรูปแบบนักท่องเที่ยว และทำงานร้านนวดแผนไทย กำหนด 3 เดือน ค่าเดินทาง ค่าทำวีซ่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 60,000 บาท แต่สาย/นายหน้าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ก่อน เมื่อได้ทำงานแล้วจะได้หักค่าจ้างเป็นค่าดำเนินการ เมื่อ น.ส.อภิญญา ถึงดูไบ ได้แจ้งทางไลน์กับ น.ส.สุภนิดา เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 ว่าได้งานที่ไม่ตรงกับสัญญา และถูกบังคับ กักขัง รวมทั้งให้ค้าประเวณี แต่ น.ส.อภิญญา ไม่ยินยอม จึงขอกลับประเทศไทย พร้อมบอกว่า ถ้าอยากจะกลับบ้าน ก็ให้ญาติส่งเงินเป็นจำนวน 130,000 บาท โดยให้โอนเงินเข้าบัญชีของ น.ส.อภิญญา นายประสิทธิ์จึงโอนเงินไปให้ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 12-13 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากโอนเงินไปให้แล้ว จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถติดต่อ น.ส.อภิญญา ได้เลย เกรงว่าจะได้รับอันตราย จึงไปร้องทุกข์กับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อขอความช่วยเหลือในการติดตามตัว น.ส.อภิญญา กลับประเทศไทย

นายบุญชอบ ยังได้เน้นย้ำให้แรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ ขอให้เดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมี 5 วิธี ได้แก่ กรมการจัดหางานจัดส่ง บริษัทจัดหางานจัดส่ง นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานต่างประเทศ และคนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง จึงขอแจ้งเตือนไปยังคนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศไปทำงานด้วยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่าหลงเชื่อนายหน้า และสมัครเป็นสมาชิกเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จะได้รับสิทธิประโยชน์การคุ้มครอง หากประสบอันตราย เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ หรือประสบปัญหาในต่างประเทศ โดยสามารถศึกษาข้อมูลการเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas ลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th เมื่อประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 28/8/2565

ก.ต่างประเทศ เตือนคนไทย ระมัดระวังการหางานผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อไปทำงานในต่างประเทศ

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงสุล และสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา ได้รับแจ้งการขอรับความช่วยเหลือกรณี คนไทยถูกหลอกไปทำงานในต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นกรณีตำแหน่งหน้าที่ รายได้ สวัสดิการที่ไม่ตรงกับที่ประกาศหรือโฆษณาไว้ก่อนเดินทาง รวมทั้งมีการถูกกักขัง ทำร้ายร่างกาย และบีบบังคับให้ทำงานโดยมิได้สมัครใจ และมีหลายรายถูกนายจ้าง หรือผู้ชักชวนเรียกเงินจำนวนมากเพื่อแลกกับการปล่อยตัว

กระทรวงการต่างประเทศจึงขอแจ้งเตือนผู้ที่ประสงค์ไปทำงานในต่างประเทศ ที่กำลังหางานผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและไลน์กลุ่ม ให้พึงระวังและอย่าหลงเชื่อขบวนการหลอกลวงคนไทยไปทำงานในต่างประเทศ ดังนี้

การไปทำงานในเมียนมา

ขอให้ระวังและอย่าหลงเชื่อประกาศรับสมัครคนไทย เพศหญิง บุคลิกดี ทำงานตำแหน่งพนักงานต้อนรับในสถานบันเทิง โรงแรม หรือคาสิโน มีเงินเดือนสูง พร้อมที่พัก อาหารและสวัสดิการต่าง ๆ โดยนายหน้าคนไทยมักจะนัดแนะให้เหยื่อเดินทางข้ามแม่น้ำสายที่ อ. แม่สาย จ. เชียงราย ซึ่งถือเป็นการหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย เมื่อเดินทางถึงเมียนมา จะถูกส่งตัวไปในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกของเมียนมาติดกับชายแดนประเทศจีน (เมืองลา เมืองป๊อก เมืองเล้าไก่ เขตปาซาง และเขตมูเซ) และถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศ หากไม่ยินยอมจะถูกกักขัง ทำร้ายร่างกาย หรือส่งขายต่อให้นายจ้างรายอื่น หากต้องการกลับไทยต้องนำเงินมาไถ่ตัว ขอเรียนว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังทหารชนกลุ่มน้อย ซึ่งยากต่อการติดต่อและเข้าถึงพื้นที่ และมีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง การให้ความช่วยเหลือจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังและรอบคอบ จึงไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีหรือในเวลาอันรวดเร็ว จะสามารถเดินทางกลับไทยได้ก็ต่อเมื่อชำระค่าปรับหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเมียนมาแล้ว และเมื่อเดินทางกลับเข้าไทยอาจต้องชำระค่าปรับหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทยอีกด้วย

การไปทำงานในกัมพูชา

ขอให้ระวังและอย่าหลงเชื่อประกาศรับสมัครงานตำแหน่งแอดมินออนไลน์ หรือเจ้าหน้าที่การตลาด ที่ไม่ต้องมีประสบการณ์การทำงาน รายได้ดี มีที่พัก อาหารและสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อไปทำงานใน จ. พระสีหนุ (สีหนุวิลล์) กรุงพนมเปญ เมืองปอยเปต และ จ. สเวเรียง โดยนายหน้าคนไทยจะนัดแนะให้เหยื่อเดินทางไป จ. สระแก้ว เพื่อเดินเท้าเข้ากัมพูชาตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชาในเวลากลางคืน โดยไม่ใช้หนังสือเดินทางและไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นการหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายและสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายจากการเหยียบกับระเบิด เมื่อเดินทางถึงกัมพูชา นายจ้างจะบังคับให้ทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงคนไทย หรือชักชวนให้เล่นพนันออนไลน์ หากทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือไม่ยินยอมทำงาน จะถูกกักขัง ทำร้ายร่างกาย ส่งขายต่อให้นายจ้างรายอื่น หรือถูกบังคับให้ต้องนำเงินมาไถ่ตัว ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือกลับไทยไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีหรือในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่กัมพูชามีจำนวนจำกัด และจะต้องเป็นไปตามกระบวนการของทางการกัมพูชา เมื่อได้รับการช่วยเหลือแล้ว เหยื่อจะต้องพักรอในสถานกักกันเพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวนและรอการเนรเทศ อาจต้องชำระค่าปรับหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายกัมพูชา และเมื่อเดินทางกลับเข้าไทยอาจต้องชำระค่าปรับหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทยด้วย

การไปทำงานในฟิลิปปินส์

ขอให้ระวังและอย่าหลงเชื่อประกาศรับสมัครงานตำแหน่งต่างๆ อาทิ แอดมินออนไลน์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่การตลาด โดยไม่ต้องมีประสบการณ์ทำงาน รายได้ดีตั้งแต่ ๒๕,๐๐๐ – ๕๐,๐๐๐ บาท/เดือน พร้อมค่าล่วงเวลา โดยนายจ้างจะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง พร้อมที่พัก อาหาร สวัสดิการต่าง ๆ และจะดำเนินการเรื่องวีซ่าให้เมื่อเดินทางถึงฟิลิปปินส์ เมื่อเหยื่อเดินทางถึงฟิลิปปินส์แล้ว จะถูกบังคับให้เซ็นสัญญาทำงานที่ไม่เป็นธรรม ถูกยึดหนังสือเดินทาง ให้ทำงานหนัก ไม่ได้รับค่าตอบแทนตามที่ตกลงไว้ และถูกบังคับให้หาลูกค้ามาเล่นพนันออนไลน์ หรือหลอกให้ลงทุน รวมทั้งชักชวนคนที่รู้จักมาร่วมทำงานเป็นเครือข่าย หากทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายหรือไม่ยินยอมทำงาน จะถูกกักขัง ขู่ทำร้าย หรือส่งขายต่อให้นายจ้างรายอื่น รวมทั้งถูกบังคับให้ต้องนำเงินจำนวนหลักแสนบาทมาไถ่ตัวเป็นค่าผิดสัญญาการทำงานหรือค่าใช้จ่ายในการพาเหยื่อเดินทางมาฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือกลับไทยไม่สามารถดำเนินการได้ในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากจะต้องเป็นไปตามกระบวนการของทางการฟิลิปปินส์ เมื่อได้รับการช่วยเหลือแล้ว เหยื่อจะยังไม่สามารถกลับไทยได้เนื่องจากตำรวจต้องการสอบสวนในฐานะเหยื่อหรือพยานคดีการค้ามนุษย์ และอาจต้องเข้ากระบวนการศาลของฟิลิปปินส์

สำหรับผู้ที่สนใจไปทำงานในต่างประเทศ ควรพิจารณาสมัครงานจากประกาศรับสมัครงานของหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือ มีการประกาศรับสมัครงานอย่างเป็นทางการ โดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้สมัคร ตำแหน่งงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ รายได้ สวัสดิการ ช่องทางการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ชัดเจน ทั้งนี้ หากต้องการขอรับข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงานในต่างประเทศ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่หมายเลข ๐ ๒๒๔๗ ๙๔๒๓ ๐ ๒๒๔๘ ๔๗๔๓ หรือสายด่วน ๑๕๐๖ กด ๒ และ ๑๖๙๔ หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกแห่ง

หากประสบปัญหาในต่างประเทศ ท่านสามารถติดต่อ Call Center กรมการกงสุล หมายเลข ๐๒ ๕๗๒ ๘๔๔๒ ได้ตลอด 24 ชม.

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 28/8/2565

ก.แรงงาน เปิดรับสมัครคนไทยฝึกงานญี่ปุ่น 3 ปี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน โดยคณะอนุกรรมการจัดส่งผู้ฝึกงานเทคนิคคนไทยไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น มีประกาศรับสมัครคัดเลือกผู้ฝึกงานเทคนิคคนไทยไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นผ่านองค์กร IM Japan ปี 2565 ครั้งที่ 2 (เพศชาย)

ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 2 กันยายน 2565 โดยผู้สมัครสามารถสมัครด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th ในตำแหน่งผู้ฝึกปฏิบัติงานทางเทคนิค ประเภทงานอุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้าง โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือก เป็นผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคฯ

จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 80,000 เยน หรือประมาณ 21,200 บาท ค่าที่พัก ค่าน้ำ-ค่าไฟ ฟรี และเดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 จะได้ค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด เมื่อฝึกครบตามกำหนด จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน

และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพจำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ 158,764บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2565) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับการฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น ผ่านองค์กร IM Japan ปี 2565 ครั้งที่ 2 มีระยะเวลาฝึกปฏิบัติงานฯ สูงสุด 3 ปี (36 เดือน) ในตำแหน่งงานผู้ฝึกปฏิบัติงานทางเทคนิคประเภทอุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้าง โดยจะมีการคัดเลือกด้วยวิธีสอบภาคความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์และด้านช่าง ภาคความรู้ความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่น ทดสอบสรรถภาพร่างกาย และสอบสัมภาษณ์

“ผู้ที่ประสงค์จะสมัครคัดเลือกผู้ฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น สามารถสมัครสอบได้ที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th ลงทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนคนหางาน และตรวจสอบสถานะการสมัคร

ในหัวข้อ “ดูรายการสมัครไปทำงานโดยรัฐจัดส่ง” หรือตรวจสอบที่ E-Mail ของตนเอง ทั้งนี้ จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ ศูนย์สอบและสถานที่สอบ ในวันที่ 9 กันยายน 2565 ทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/prd , www.doe.go.th/overseas และเพจ facebook : IMthailand กรณีต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ติดต่อที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 9428 สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694″ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 27/8/2565

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net