Skip to main content
sharethis

รายงานข่าวการเมืองพม่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่าง 29 ส.ค.-4 ก.ย. 2565 มีรายละเอียดดังนี้

  • นายพลโซวิน เบอร์ 2 แห่งกองทัพพม่า เข้าร่วมพิธีปิดงานแข่งขันกีฬาทหารนานาชาติ ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย คาดมีการหารือเรื่องการซื้อ-ขายอาวุธ และดึงการลงทุนเข้าประเทศเมียนมา
  • มินอ่องหล่าย เยือนรัสเซียสัปดาห์นี้เพื่อเข้าร่วมประชุม 'Eastern Economic Forum' ครั้งที่ 7 ที่เมืองวลาดีวอสตอค กระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
  • ศาลพม่าตัดสินจำคุก 1 ปี วิกกี โบว์แมน อดีตนักการทูตอังกฤษ และสามี ข้อหาละเมิดกฎหมายคนเข้าเมือง ด้านอิรวดี มองตั้งใจใช้เป็นตัวประกัน ตอบโต้การคว่ำบาตรของประเทศอังกฤษ
  • กระทรวงข้อมูลพม่า จ่อเปิดตัวแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ใหม่ ชื่อ ‘Mtube’ มีลักษณะเหมือนกับยูทูบ 
  • ราคาทองคำดีดตัวสูง สวนทางกับค่าเงินจ๊าตที่ร่วงอีกครั้ง แม้กองทัพพม่าพยายามแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่สำเร็จ 

5 ก.ย. 2565 สำนักข่าว ประชาไท ประมวลสถานการณ์การเมืองพม่ารอบสัปดาห์ ตั้งแต่ 29 ส.ค.-4 ก.ย. 2565 

‘โซวิน’ เยือนรัสเซีย สานสัมพันธ์แน่นแฟ้น

ขณะที่เผด็จการกองทัพพม่ากำลังติดพันกับความตึงเครียดที่พุ่งสูงขึ้นในรัฐยะไข่ แนวรบฝั่งตะวันตกของเมียนมา การสู้รบกันหลายครั้งในพื้นที่ต่างๆ และวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรง ในเวลาเดียวกันนี้ ‘โซวิน’ รองหัวหน้าสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และรองผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า เดินทางเยือนกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อ 26-28 ส.ค. 2565

โซวิน รองผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า และเป็นรองประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (ชายใส่สูท) ถูกพบเห็นที่สนามบิน เมื่อ 25 ส.ค. 2565 (ที่มา: GNLM)

หนังสือพิมพ์ทางการของพม่า รายงานว่า ระหว่างการเยือนของโซวิน เพื่อเข้าร่วมพิธีปิดการแข่งขันกีฬาทหารนานาชาติ ประจำปี 2022 หรือ 2565 ซึ่งจัดขึ้นกรุงมอสโก โซวินได้พบปะกับนายพล อเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งสองประเทศมีการหารือแผนการสำหรับความร่วมมือในอนาคต และสานสัมพันธ์ระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ 

นอกจากนี้ สำนักข่าว อิรวดี รายงานด้วยว่า มีการหารือเรื่องการซื้อ-ขายอาวุธสงคราม และความเป็นไปได้ที่นักลงทุนจากหมีขาวจะเข้ามาลงทุนในประเทศพม่า เช่นเดียวกับการนำเข้าเชื้อเพลิงจากรัสเซียที่ พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า และหัวหน้าสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) เคยกล่าวไว้ว่ากำลังเกิดขึ้น เพื่อรับมือวิกฤตเชื้อเพลิง และค่าน้ำมันที่แพงขึ้น เมื่อ ส.ค.ที่ผ่านมา เผด็จการทหารพม่าก่อตั้งคณะกรรมการเพื่อนำเข้าเชื้อเพลิงจากรัสเซีย และมินอ่องหล่าย บอกกับประชาชนเมียนมาว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดแคลนเชื้อเพลิง พร้อมยืนยันว่า จะมีการนำเข้าน้ำมันล็อตใหญ่จากรัสเซียในเดือน ก.ย.นี้ 

ด้านสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลวอชิงตันแสดงจุดยืนต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย และเมียนมา และใช้มาตราการคว่ำบาตรต่อบริษัทน้ำมันและก๊าซของกองทัพพม่า ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของกองทัพพม่า 

ทั้งนี้ โซวิน เดินทางเยือนรัสเซียครั้งสุดท้ายเมื่อ ก.ย.ปีที่แล้ว (2564) เพื่อเข้าร่วมพิธีปิดการแข่งขันกีฬาทหารนานาชาติ ประจำปี 2564

'มินอ่องหล่าย' เยือนหมีขาว ร่วมงาน 'Eastern Economic Forum'

เมื่อ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์สำนักงานผู้บัญชาการกองทัพเมียนมา รายงานเมื่อ 5 ก.ย. 2565 ว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า เดินทางถึงเมืองวลาดีวอสตอค ทางตะวันออกของประเทศรัสเซียแล้ว เพื่อเข้าร่วมการประชุม Eastern Economic Forum ครั้งที่ 7  

ภาพการเยือนของมินอ่องหล่าย ที่ประเทศรัสเซีย ถ่ายเมื่อ 5 ก.ย. 2565 (ที่มา: สำนักงานผู้บัญชาการกองทัพ แห่งกระทรวงกลาโหม สภาบริหารแห่งรัฐ)

ด้านสำนักข่าวตะวันออกกลางจาก 'อัลจาซีรา' เผยว่างานนี้จะมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น คาซัคสถาน เป็นต้น

เว็บไซต์สำนักงานผู้บัญชาการกองทัพ แห่งกระทรวงกลาโหม สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ระบุแผนการเยือนรัสเซียของมินอ่องหล่าย นอกจากเข้าร่วมการประชุมด้านเศรษฐกิจแล้ว จะมีการประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเครมลิน และเยือนสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัย และโรงงาน รัฐมนตรีกระทรวงแห่งสหภาพ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแห่งสหภาพ ของคณะผู้แทนจาก SAC จะมีการหารือกับเจ้าหน้าที่รัสเซียในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง การหารือมุ่งเน้นกระชับมิตรภาพระหว่างรัฐต่อรัฐ และประชาชนต่อประชาชน และความร่วมมือหลายภาคส่วน รวมถึงด้านเศรษฐกิจระหว่างรัสเซีย และกองทัพพม่า 

ตั้งแต่ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลพลเรือนจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD เมื่อ ก.พ.ปีที่แล้ว พม่าต้องเผชิญการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตจากประเทศตะวันตกหลายประเทศ 

นอกจากนี้ มินอ่องหล่ายยังไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมผู้นำสูงสุดของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อ พ.ย.ปีที่แล้ว เหตุจากกองทัพพม่าไม่มีความคืบหน้าการแก้วิกฤตการเมืองภายในประเทศ

นอกจากวิกฤตการเมือง พม่ายังเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร และสงครามกลางเมืองในหลายพื้นที่ ขณะที่รัสเซียก็เผชิญการคว่ำบาตรหลายรูปแบบ หลังเปิดฉากบุกยูเครน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กองทัพพม่าพยายามสานความสัมพันธ์กับรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้จัดหาอาวุธสงครามจำนวนมากให้กับกองทัพพม่าอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ มินอ่องหล่าย เดินทางเยือนรัสเซียเป็นการส่วนตัว เมื่อ ก.ค. 2565 ซึ่งมีรายงานข่าวว่า เขาได้เข้าพบเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านอวกาศ หรือ รอสคอสมอส (Roscosmos) และหน่วยงานด้านนิวเคลียร์ ของรัฐบาลรัสเซีย

เมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เซอร์เก ลาฟ์ลอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของหมีขาว เดินทางเยือนกรุงเนปิดอ ออกตัวสนับสนุนความพยายามฟื้นคืนเสถียรภาพภายในประเทศเมียนมาของกองทัพพม่า และความพยายามต่อการจัดการเลือกตั้งภายในปีหน้า (2566)

แต่อย่างไรก็ตาม แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แห่งสหรัฐฯ เตือนประชาคมโลกให้ปฏิเสธการเลือกตั้งทั่วไปของพม่า โดยเรียกว่าเป็น 'การเลือกตั้งของปลอม' หรือนัยหนึ่งคือการเลือกตั้งที่ไม่มีความชอบธรรม

อดีตทูตอังกฤษถูกศาลพม่าตัดสินจำคุก 1 ปี

เมื่อ 2 ก.ย. 2565 เผด็จการพม่าตัดสินจำคุก วิกกี โบว์แมน อดีตทูตอังกฤษ และสามีของเธอ ‘โกเต่งลิน’ ศิลปินต่อต้านเผด็จการ 1 ปีในเรือนจำ จากข้อหาละเมิดกฎหมายคนเข้าเมือง 

อิรวดี ระบุว่า กองทัพพม่าตัดสินเช่นนี้ เพื่อตอบโต้นานาชาติที่พยายามคว่ำบาตรกองทัพพม่า ทั้งนี้ อดีตนักการทูตอังกฤษถูกกล่าวหาว่ามีความผิด เนื่องจากไม่ได้อาศัยตามที่อยู่ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับทางการ ขณะที่สามีของเธอถูกจำคุก เนื่องจากไม่ได้แจ้งให้ทางการทราบว่าโบว์แมน พักอาศัยที่ไหน  

วิกกี โบว์แมน อดีตนักการทูตอังกฤษ

โบว์แมน ถูกจับกุมอย่างกะทันหันในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายหลังอาศัยในเมียนมา เกือบ 10 ปีนั้นเป็นเรื่องที่น่าสงสัย คู่สามีภรรยาถูกจับกุมในช่วงที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างพม่าและอังกฤษอยู่ในช่วงตกต่ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมา กองทัพพม่าขับไล่ พีท โววเลส ผู้แทนทางการทูตระดับสูงของอังกฤษประจำพม่า เมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา หลังโววเลสปฏิเสธไม่ยื่นสาส์นตราตั้ง และแสดงจุดยืนวิจารณ์การรัฐประหารของกองทัพพม่าอย่างเนื่อง เหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับที่อังกฤษคว่ำบาตรบริษัทของลูกชายของมินอ่องหล่าย นอกจากนี้ การคว่ำบาตรมีเจตนาใช้ช่วงที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ จะมีคำตัดสินว่ากองทัพพม่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาหรือไม่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก่อนหน้าการจับกุม มินอ่องหล่ายเคยตอบข้อเรียกร้องของทูตพิเศษแห่งสหประชาชาติ หรือ UN ให้มีการปล่อยตัว 'ณอน เทิร์นเนล' (Sean Turnell) นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย และอดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของอองซานซูจี โดยการบอกว่า หากรัฐบาลออสเตรเลีย ทำตัวดีกว่านี้ กรณีของเทิร์นเนล คงไม่ต้องกลายเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งก่อนหน้านี้กองทัพพม่ากับรัฐบาลออสเตรเลียเคยมีเรื่องระหองระแหงกัน เนื่องจากรัฐบาลแดนจิงโจ้เคยเปลี่ยนตัวนักการทูตออสเตรเลีย ประจำการที่เมียนมา เป็นตัวแทนที่ระดับตำแหน่งต่ำกว่า เพื่อลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต และเป็นการเลี่ยงการให้ความชอบธรรมกับกองทัพพม่า

เผด็จการพม่าจับกุมนักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย หลังการทำรัฐประหาร และดำเนินคดีในข้อหาครอบครองความลับทางราชการ หัวหน้าเผด็จการ ระบุว่า "บทลงโทษที่รุนแรงจะบังคับใช้" ในคดีของเทิร์นเนล 

กองทัพพม่าจ่อเปิดตัวแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ 'Mtube'

หม่องหม่องโอง รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูล แห่ง SAC ประกาศเมื่อ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา มีแผนตัวเปิดแพลตฟอร์มอัปโหลดวิดีโอ แชร์ และถ่ายทอดสดสตรีมมิ่ง ใหม่ในพม่า ลักษณะเดียวกับช่องยูทูบ ชื่อว่า ‘เอ็มทูบ (Mtube)’ 

ทั้งนี้ รมต.กระทรวงข้อมูล คิดค้น 'Mtube' ขึ้นมา โดยอ้างว่าเนื่องจากเผด็จการทหาร “ถูกรังแกโดยผู้มีอำนาจทางเทคโนโลยี” โดยเอ็มทูบ ถูกคิดค้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของเมียนมา และจะมีการเปิดตัวเร็วๆ นี้

สำนักข่าวอิรวดี ระบุว่า ก่อนหน้านี้ทหารพม่าถูกแบนจากโลกอินเทอร์เน็ต เผด็จการทหารจึงกระเสือกกระสนที่จะหาแพลตฟอร์มทางเลือก เพื่อเผยแพร่การโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขา

เมื่อเดือน ส.ค. 2565 ซอมินทุน โฆษกกองทัพพม่า เปิดเผยว่า กองทัพพม่ามีแผนจะแบนเฟซบุ๊ก และแทนที่ด้วยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของกองทัพพม่าแทน  

ก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก เคยแบนมินอ่องหล่าย เมื่อปี 2561 และนับตั้งแต่ทำรัฐประหาร 2564 เฟซบุ๊กเคยแบนเพจทางการของกองทัพพม่า และบัญชีเฟซบุ๊กของผู้นำระดับสูงของกองทัพ และสื่อที่เป็นกระบอกเสียงของกองทัพพม่า

เผด็จการทหารกำลังแก้ไขกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งรวมถึงการกำหนดบทลงโทษ 3 ปีให้กับใครก็ตามที่ใช้ VPN หรือ Virtual Private Network เข้าอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก

เมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา เผด็จการทหารเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘MRTV’ หรือ Myanmar Radio and Television โดยมีเป้าหมายเพื่อลงคอนเทนต์ถ่ายทอดสดของกองทัพพม่าผ่านระบบดาวเทียมนานาชาติ และเผยแพร่บทความข้อเขียนของกองทัพพม่า แต่แอปฯ อยู่บนโลกออนไลน์ได้ไม่นาน และถูกถอดออกจากร้านค้าแอปพลิเคชันอย่าง ‘แอปเปิลสโตร์’ และ ‘กูเกิลเพลย์สโตร์’ ในวันถัดมา อิรวดีระบุต่อว่าเป็นเรื่องน่าสนใจว่า ‘Mtube’ จะอยู่ได้นานขนาดไหนบนโลกออนไลน์

ราคาทองคำดีด เงินจ๊าตร่วง

สำนักข่าว อิรวดี รายงานว่า เพื่อลดราคาทองคำสำหรับตลาดในประเทศ เผด็จการทหารประกาศเมื่อ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า กองทัพพม่าจะเริ่มขายเหรียญทองให้กับสาธารณชนในวันถัดมา แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ 2 ก.ย. 2565 มีประชาชนกว่า 400 รายต่อแถวที่ศูนย์การค้าอัญมณี แต่กลับได้รับคำตอบว่า SAC ยังไม่ได้อนุญาตให้ขายเหรียญทองคำ

เผด็จการทหารประกาศเมื่อช่วงเย็น 1 ก.ย. 2565 ถึงแผนการขายเหรียญทองคำ น้ำหนัก 1 บาท และ 0.5 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนของทางการซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2.2 ล้านจ๊าตต่อบาท หรือคิดเป็น 38,353 บาท หลังราคาทองคำขึ้นไปแตะที่ 3.7 ล้านจ๊าตต่อบาท หรือคิดเป็นเงินไทย 64,503 บาท สำหรับทองคำ 24k เมื่อ 31 ส.ค. 2565 

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 2 ก.ย. 2565 ราคาทองคำลงตกมาอยู่ที่ 2.9 ล้านจ๊าตต่อบาท หรือคิดเป็นเงินไทย 50,556 บาท ก่อนที่ราคาทองคำจะกลับมาอยู่ที่ 3.1 ล้านจ๊าตต่อบาท ในช่วงเย็นวันเดียวกัน (2 ก.ย.)   

ราคาทองคำในเมียนมาพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2564 ย้อนไปเมื่อเดือน ม.ค. 2564 หรือช่วงก่อนทำรัฐประหาร ราคาทองคำในพม่า ราคาเพียง 1.3 ล้านจ๊าตต่อ 1 บาท หรือ 22,663 บาทเท่านั้น 

ทั้งนี้ ยุทธวิธีการขายเหรียญทองคำเคยถูกใช้เมื่อตอนที่ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นในสมัยรัฐบาลเผด็จการที่ผ่านมา แต่ราคาทองคำตกลงมาช่วงหนึ่งหลังมีการขายเหรียญทองคำทั้งหมดให้กับผู้ซื้อแต่ละราย แต่ไม่นานราคาทองคำก็จะดีดกลับขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งสะท้อนว่ายุทธวิธีนี้อาจใช้ไม่ได้ผล 

ในเวลาเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าตอ่อนค่าลงเหลือเพียง 4,000 จ๊าตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังเผด็จการทหารระบุว่า จะอัดฉีดเงินจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดเงินตราระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เงินจ๊าตของพม่าอ่อนค่าลงมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการทำรัฐประหาร ซึ่งขณะนั้นค่าเงินจ๊าตมีมูลค่าอยู่ที่ 1,300 จ๊าตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ 

ตั้งแต่ทำรัฐประหารเมื่อ 2564 เผด็จการทหารขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ไปแล้วทั้งสิ้น 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ล้มเลวที่จะป้องกันไม่ให้เงินจ๊าตของเมียนมา อ่อนค่าลงเหลือเพียง 4,000 จ๊าตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ประชาชนพม่าวิจารณ์ยุทธวิธีแก้ปัญหาล่าสุดของกองทัพพม่าว่าเป็นแค่การแก้ไขระยะสั้นเท่านั้น

 

แปลและเรียบเรียง

Junta Watch: Yet Another Top-Level Trip to Russia; ex-UK Envoy Becomes a ‘Hostage’; and More 

‘Friendly ties’: Myanmar’s top general to visit Russia

High-level delegation led by Chairman of State Administration Council Prime Minister Senior General Min Aung Hlaing arrives in Russian Federation to attend 7th Eastern Economic Forum-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net