'เพื่อไทย' ออกโรงเตือนรัฐบาล ศึกษาข้อตกลง IPEF ให้ดี ให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุด

'เพื่อไทย' ออกโรงเตือนรัฐบาล ศึกษาข้อตกลง IPEF ให้ดี ให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุด หวั่นรัฐบาล 3ป. จัดประชุม APEC ไม่สมศักดิ์ศรี ทำไทยเสียงบประมาณเปล่าประโยชน์ จี้ 'ประวิตร' เร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ไทยที่ย่ำแย่หนัก ชี้ 9 ปัญหา ส่งผลกระทบการค้าการลงทุนทำไทยเสื่อมถอย จวกคนละครึ่ง 'สุดพัง' วงเงินไม่พอยาไส้ ร้านค้าแห่หนีเหตุโดนภาษีอ่วม 

13 ก.ย. 2565 นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีความเป็นห่วงกรณีที่ไทย จะเข้าร่วมใน ‘กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก’ (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่โดยสหรัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา และไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF เมื่อวันที่ 8-9 ก.ย. 2565 ที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา สาระสำคัญมี 4 เสาหลัก ได้แก่ ด้านการค้า ,ด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain),ด้านพลังงานสะอาด, ด้านภาษีและการต่อต้านการทุจริต ซึ่งจะส่งผลต่อการค้า การลงทุน ระหว่างประเทศสมาชิกในอนาคต กรอบความร่วมมือนี้ไม่ใช่ข้อตกลงทางการค้า อาจไม่ได้รับการผ่อนปรนทางการค้า เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐ ประเทศภาคีในกรอบ IPEF สามารถเลือกที่จะเข้าร่วมการเจรจาในเรื่องไหนก็ได้ โดยที่สมาชิกยังต้องทำตามมาตรฐานการค้าที่สูงของสหรัฐ หลายฝ่ายจึงมองว่า IPEF ดูเปิดกว้างแต่อาจเป็นเพียงกรอบความรอบมือที่สหรัฐต้องการรักษาบทบาทนำในการค้าโลกหรือไม่

นางสาวจิราพร กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลไทยมีกึ๋นมากพอ จะเป็นโอกาสของไทยในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐได้ โดยต้องจับมือกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลผลการเจรจาอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมากับคนไทย บอกถึงข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบต่างๆและแผนการเตรียมรองรับในอนาคต และขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจามากที่สุด มิเช่นนั้นจะเหมือนกับที่รัฐบาลพยายามจะพาไทยเข้าร่วม ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP ที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถอธิบายข้อมูลให้กับคนไทยได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ภายใต้บริบทการฟื้นตัวจากโควิด ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤติอาหารโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความท้าทายอีกหลายประการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไทยในฐานะที่อยู่ระหว่างจีนและสหรัฐ ต้องวางบทบาทตัวเองอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาสมดุลทางการเมืองและการค้ากับประเทศมหาอำนาจที่เป็นคู่ค้าคนสำคัญของไทยอื่นๆ ด้วย

“สหรัฐฯ คาดว่าจะเจรจากรอบ IPEF แล้วเสร็จภายใน 12-18 เดือน หากยังเป็นการเจรจาภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ ดิฉันไม่อาจมั่นใจในฝีมือการเจรจาทางการค้าเพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดแต่อย่างใด เพราะภาพลักษณ์การเป็นรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ ทำให้แทบไม่เหลือเครดิตในการต่อรองเจรจาทางการค้ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว”

นางสาวจิราพร ยังมีความเป็นห่วงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิค หรือ APEC ในเดือนพฤศจิกายน 2565 หลังจากในการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าเอเปค เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ไทยไม่สามารถควบคุมการประชุมให้อยู่ในเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจการค้าได้ และในการประชุมรัฐมนตรีเอเปควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ APEC Small and Medium Enterprises Ministerial Meeting ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 9-10 กันยายน ที่จังหวัดภูเก็ต ที่ผ่านมา ประสบปัญหาเดียวกัน ประเทศสมาชิกหยิบยกประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นในที่ประชุม จนทำให้ประเทศพันธมิตรจำนวน 6 ประเทศ ได้รวมตัวกันออกแถลง
การณ์แสดงจุดยืนที่ต่อต้านรัสเซียซึ่งเป็นชาติสมาชิกเอเปค อย่างต่อเนื่อง เป็นการกดดันกลายๆ ให้ไทยในฐานะประธานต้องแสดงจุดยืนในประเด็นความขัดแย้ง และหากไทยไม่มีความพยายามที่จะป้องกันหรือแก้ไขความขัดแย้งไม่ให้ที่ประชุม APEC กลายเป็นสนามประลองกำลังทางการเมืองของชาติสมาชิกซ้ำๆ ทุกการประชุมเช่นนี้ จึงคาดการณ์ได้ว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่จะเกิดขึ้นเดือนพฤศจิกายนนี้อาจจะเกิดปัญหา และอาจทำให้ APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพล้มเหลว ไม่สามารถผลักดันให้เกิดฉันทามติในประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยให้ความสำคัญได้

“เห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรอบความตกลง IPEF หรือ การประชุม APEC ผู้นำประเทศต้องมีวิสัยทัศน์ แต่เมื่อมองไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาก็เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ มือไม่ถึงในเรื่องเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้แสดงภาวะผู้นำ บริหารจัดการประชุม APEC กลับสู่กลไกปกติให้ได้ และทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้คุ้มกับเงินภาษีของประชาชนที่ใช้ไป การที่ไทยได้โอกาสในการเป็นประธานในการจัดเอเปค เป็นโอกาสที่จะทำให้ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพของไทยที่มีอยู่ ต้องเกิดประโยชน์กับประเทศไทยและคนไทยมากที่สุด แต่หากทำไม่ได้ก็ขอให้พิจารณาตัวเองว่าเหมาะสมจะเป็นรัฐบาลต่อหรือไม่ ทางที่ดีที่สุด หากเห็นแก่ประเทศชาติและประชาชนจริง พลเอกประยุทธ์ ไม่ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีหรือไม่ ควรลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาแทน” นางสาวจิราพร กล่าว

ชี้เป็นเจ้าภาพเอเปค ไม่ได้ช่วยลบภาพ 8 ปี 'ประยุทธ์' ที่ล้มเหลว มีปัญหา

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 เพื่อต้อนรับผู้นำนานาชาติที่จะเดินทางมาประชุม ท่ามกลางกระแสกดดันให้ลาออกในขณะที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะคิด จะฝันอยากมีภาพเป็นเกียรติประวัติกับวงศ์ตระกูลอย่างไรก็เป็นสิทธิ แต่ก่อนมองไปข้างหน้า ต้องเหลียวหลังไปมองวิกฤต 8 ปีที่ผ่านมาของพล.อ.ประยุทธ์ด้วยว่า มีภาพลักษณ์ติดลบอย่างไรในสายตาของประเทศต่างๆ เริ่มตั้งแต่การทำปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญที่คนในพรรคพลังประชารัฐบอกว่ารัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา การถ่ายโอนอำนาจกองทัพและเพิ่มอำนาจรัฐราชการไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำลายหลักนิติธรรม นิติรัฐ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกของประชาชน การจำกัดสิทธิเสรีภาพเรียกคนไปควบคุมตัวโดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ไม่ระบุจำนวนวันเวลาในการควบคุมตัว แล้วเรียกสิ่งที่ละเมิดประชาชนนั้นว่าการปรับทัศนคติ วิกฤตในประเทศไทยอยู่ในระดับที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลต้องจับตามองด้วยความห่วงใย ในอดีตประเทศชั้นนำหลายประเทศฝากปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศให้ประเทศไทยช่วยประสานงานการดูแล แต่ 8 ปี ที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใครสร้างปัญหาวิกฤตมากกว่าใคร จนถูกตั้งคำถามว่ารัฐประหารในประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนความตกต่ำทางการทูตไทย

พล.อ.ประยุทธ์ ชิงออกถ้อยแถลง ประกาศตัวพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ก่อนถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่ไม่พร้อมลาออก จนประชาชนลุกขึ้นมาขับไล่ “พล.อ.ประยุทธ์ คิดถึงแต่ตัวเองก่อนประเทศชาติและประชาชนหรือไม่ แม้จะได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ก็ไม่ได้ช่วยให้ภาพลักษณ์ที่ติดลบตลอด 8 ปี ดีขึ้น” นายอนุสรณ์ กล่าว

จี้ 'ประวิตร' เร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ไทยที่ย่ำแย่หนัก ชี้ 9 ปัญหา ส่งผลกระทบการค้าการลงทุนทำไทยเสื่อมถอย แนะไม่เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปต่อยาก

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จะเข้าหน้าหนาวของประเทศฝั่งตะวันตก และ น้ำท่วมส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างมากและยังจะมีผลต่อจีดีพีทำให้ลดลง โดยในประเด็น 8 ปี พลเอกประยุทธ์ ยังสร้างความสับสนอย่างมาก การปล่อยข้อมูลของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ออกมาทั้งที่ตนได้เรียกร้องให้นายมีชัยแถลงนานแล้ว กลับไม่แถลงแต่พอพลเอกประยุทธ์ทำท่าจะเพลี่ยงพล้ำกลับมีเอกสารนายมีชัย ออกมาแก้ตัวและแก้ต่างให้กับพลเอกประยุทธ์ซึ่งหลายข้อมูลอาจจะไม่เป็นตามข้อเท็จจริง และแตกต่างกันกับอาจารย์เธียรชัยให้ข้อมูลไว้ ขนาดศาลรัฐธรรมนูญยังต้องขอข้อมูลการประชุมทั้งหมดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อนำไปพิจารณา ซึ่งหวังว่าจะออกมาตามความตั้งใจและจุดประสงค์ที่แท้จริงของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้ผู้ใดผู้หนึ่งอยู่ในตำแหน่งนานเกินไป และยึดติดอำนาจเหมือนที่เห็นๆกันอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาหลังการทำปฏิวัติรัฐประหาร ภาพลักษณ์ของประเทศไทยได้เสื่อมลงอย่างมาก และส่งผลต่อการค้า การลงทุน และ ความเจริญทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาตลอด แม้กระทั่งหลังการเลือกตั้งแล้วก็ยังมีการสืบทอดอำนาจ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่สามารถที่จะหลอกลวงสื่อต่างประเทศได้ สื่อหลักแทบทั้งหมดได้วิพากษ์วิจารณ์พลเอกประยุทธ์และประเทศไว้อย่างเสียหายมาก หากย้อนไปดูจะพบดังนี้ บอกประเทศไทยย้อนหลังไป 30 ปี มีพรรคเล็กพรรคน้อยและจะเป็นปัญหาซึ่งก็เป็นจริงๆ บอกพลเอกประยุทธ์ทำได้ทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจ ซึ่งก็เป็นจริง และบอกว่าไทยเป็นคนป่วยของเอเชียและจะยิ่งป่วยหนัก ซึ่งเขาหมายถึงเศรษฐกิจที่ทรุดหนัก ซึ่งก็ทรุดหนักจริงๆ ทั้งนี้ภาพลักษณ์ของไทยเสื่อมถอยมาตลอด ซึ่งในปัจจุบันภาพลักษณ์ของไทยที่มี 9 ปัญหามีดังนี้

1. ประเทศไทยยังมีโอกาสเกิดการปฏิวัติได้อีก ซึ่งต่างประเทศเห็นเป็นปัญหาอย่างมาก ในอนาคตต้องไม่มีการปฏิวัติอีกแล้ว

2. ขาด Rule of Law ต้องยอมรับความจริงว่าระบบยุติธรรมของไทยในสายตาต่างประเทศยังดูย่ำแย่ จากหลายๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ความน่าเชื่อถือของไทยลดต่ำ ต้องหาทางปรับแก้เรื่องนี้

3. เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำสุด จนกลายเป็นคนป่วยของเอเชีย ตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของไวรัสโควิด และป่วยหนักยิ่งขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ไวรัสโควิด ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่น่าสนใจของต่างประเทศ อีกทั้งความเหลื่อมล้ำของไทยยังสูงสุด

4. เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าที่สุด หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤติโควิด เศรษฐกิจของประเทศต่างๆฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่ตกลงมา แต่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ายังไม่ถึงที่ตกลงมา

5. ระบบราชการล้าสมัย เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ ควรต้องเปลี่ยนเป็น digital transformation

6. การคอรัปชั่นเพิ่มขึ้นมาก ทำให้นักลงทุนต่างประเทศเอือมระอา ต้องกำจัดการคอรัปชั่นให้ได้

7. โครงสร้างพื้นฐานไม่ได้มีการพัฒนา โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล ทำให้อันดับโครงสร้างพื้นฐานของไทยตกลง รถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน-ลาว แต่ไม่ถึงไทย ต้องรีบแก้ไขปรับปรุง

8. อุตสาหกรรมที่มีอยู่เริ่มล้าสมัย ไม่มีอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญสำ
หรับอนาคต เช่น ไมโครชิพ และ แบตเตอรี่ ต้องรีบเร่งให้เกิดขึ้นจริง

9. ผู้นำขาดวิสัยทัศน์ ไม่สามารถนำพาประเทศให้พัฒนาต่อไปนี้ อีกทั้งยังเป็นผู้นำสืบทอดอำนาจจากการปฏิวัติ

นี่เป็น 9 ปัญหาในสายตาต่างประเทศที่มองเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขเพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ เพื่อประเทศไทยจะพัฒนาต่อไปได้ หากยังย่ำอยู่ที่เดิมเหมือนในปัจจุบันจะถูกประเทศเพื่อนบ้านแซงแน่ โดยเฉพาะประเทศ เวียดนาม ที่การส่งออกเวียดนามแซงไทยไปไกลมากแล้ว

จวกคนละครึ่ง 'สุดพัง' วงเงินไม่พอยาไส้ ร้านค้าแห่หนีเหตุโดนภาษีอ่วม จี้ ‘ธนกร’ ลงพื้นที่บ้าง อย่าหลับหูหลับตาเชียร์เกินจริง

ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย และว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ กล่าวถึงกรณีที่นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ วิพากษ์วิจารณ์การหาเสียงของพรรคเพื่อไทย และคุยโวถึงผลงานของพรรคพลังประชารัฐว่า ทุกวันนี้ประชาชนทุกคนเข้าใจและเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมดแล้ว ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐไปต่อไม่ไหว ประเทศตกต่ำจมก้นเหว ผลโพลทุกสำนักก็ออกมาในทิศทางเดียวกัน ว่าอยากเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศ และมองเห็นว่าพรรคเพื่อไทยเป็นความหวังในการพลิกฟื้นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากฝีมือของรัฐบาลชุดนี้ อยากได้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกหมักหมมซุกไว้ใต้พรมเป็นเวลานาน

ชนินทร์ กล่าวว่า นายธนกรต้องลงพื้นที่และฟังเสียงประชาชนบ้าง นโยบายหลายอย่างที่โอ้อวดอยู่ตอนนี้เริ่มส่อเค้าลางพังไม่เป็นท่า โครงการคนละครึ่งรอบล่าสุดล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ประชาชนบ่นระงมว่าวงเงินที่ได้น้อยเกินไปไม่พอยาไส้ ร้านค้าจำนวนมากแห่ไม่ขอเข้าร่วมโครงการ เพราะโดนรีดเก็บภาษีจากการเข้าร่วมในครั้งก่อน บางร้านที่เข้าร่วมครั้งนี้ก็ปรับราคาขึ้นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ โดยให้เหตุผลว่าต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเสียภาษีที่จะเพิ่มขึ้น หากรัฐบาล ‘เข้าถึงใจ’ ประชาชนดีอย่างที่อวดอ้าง ต้องรู้จักผ่อนคลายมาตรการทางภาษี ให้เศรษฐกิจเดินไปได้ และดึงผู้ค้าเข้าระบบเป็นหลัก อย่ารังแกประชาชนที่ตกอยู่ในภาวะอ่อนแอ อย่าเพิ่งฉวยโอกาสรีดเลือดกับปู จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่ไปมากกว่าเดิมจากที่พังไม่เป็นท่าอยู่แล้วในปัจจุบัน

นอกจากนี้ในส่วนมาตรการที่จะเข้ามาช่วยเหลือค่าไฟฟ้าประชาชน หลังจากที่ประกาศปรับราคาค่าไฟ เพิ่มภาระค่าครองชีพมาตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2565 ก็ยังไม่อนุมัติงบประมาณในโครงการออกมาเสียที ทั้งที่ควรคิดให้เป็นระบบและปล่อยออกมาพร้อมกันตั้งแต่ประกาศขึ้นราคา เพื่อบรรเทาความทุกข์ใจของผู้มีรายได้น้อย ไม่ใช่ปล่อยประชาชนลอยแพตามยถากรรม ต้องลุ้นกันเองว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาหรือไม่ ทั้งนี้หากรัฐมีการปล่อยมาตรการช่วยเหลือค่าไฟออกมาจริง ก็ขอให้มีการคิดที่รอบคอบ และครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยทุกกลุ่มด้วย อย่าใช้เกณฑ์ช่วยเฉพาะครัวเรือนที่ใช้ไฟน้อยเหมือนที่เคยทำมาตลอด เพราะชาวบ้านที่รายได้น้อยจำนวนมากอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นในครัวเรือนเดียว รวมทั้งผู้เช่าหอพักต่างๆ ก็จะตกเกณฑ์เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ และต้องรับกรรมจากการบริหารที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจประชาชน

“การบริหารของพลเอกประยุทธ์ ที่ทำประเทศพังต่อเนื่องมา 8 ปี ส่งผลเสียต่อพี่น้องประชาชนอย่างแสนสาหัส แม้ปัจจุบันพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเข้ามารับไม้ต่อในช่วงสุญญากาศระหว่างรอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนยังต้องเผชิญกับปัญหาเดิมๆทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง คนตกงาน ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข การที่คนในพรรคแกนนำรัฐบาลเองหลับหูหลับตายกยอผลงานของรัฐบาลทั้งที่ความจริงสวนทางกันโดยสิ้นเชิง ยิ่งย่ำยีหัวจิตหัวใจประชาชนเหลือเกิน” ชนินทร์กล่าว

อัด “วิษณุ” เลิกตะแบงทิ้งหลักกฎหมาย อุ้ม “ประยุทธ์” ซัดคำชี้แจง “ประยุทธ์” ไม่เคารพรัฐธรรมนูญไม่ให้ความสำคัญกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม

นางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ การที่ศาล รัฐธรรมนูญกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาวาระครบ 8 ปี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องหยุดการปฎิบัติหน้าที่ เป็นประเด็นที่ ภาคประชาสังคมให้ความสนใจมากว่าสุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นไร จะให้กลับมาทำหน้าที่ต่อหรือไปแล้วไปลับ

ในขณะเดียวกันหนังสือชี้แจงของพลเอกประยุทธ์ ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญเห็นชัดว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด การที่พลเอกประยุทธ์ ระบุว่า ข้าพเจ้าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ ตราบใด ที่ข้าพเจ้าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตนในลักษณะที่เป็นเหตุให้เสียหายต่อประโยชน์ของประเทศ ประโยชน์สาธารณะของประชาชน แล้วระยะเวลาการดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าก็ไม่ได้ขัดต่อ หลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่อย่างใด การเขียนเช่นนี้คือการแสดงตัวตนอย่างชัดเจนว่า พลเอก ประยุทธ์ ไม่ได้เคารพหลักการแห่งกฎหมายและไม่ให้ความสำคัญกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
นางสาว ทัศนีย์ กล่าวด้วยว่าทั้งนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. นายสุพจน์ ไข่มุก อดีตกรรมการกรธ. นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัญธรรมนูญ รวมไปถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งบรรดานักกฎหมาย ที่ได้ดิบได้ดีจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. แสดงออกถึงการ ออกมาอุ้มพลเอกประยุทธ์ ชี้นำสังคม ชี้นำศาล ว่า ต้องนับหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีผลบังคับใช้ ไม่ให้นับย้อนหลังไปจนถึงปี 2557 เพื่อตอบแทนพลเอกประยุทธ์ อุ้มให้มีตำแหน่งทางการเมือง

“อยากถามนายวิษณุ และบรรดาองครักษ์พิทักษ์ประยุทธ์ ว่าหากนับเริ่มต้นปี 2560 แล้ว ในปี2557-2560 ตัวอะไรนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ไม่เข้าใจว่านายวิษณุถึงยอมทิ้งหลักการกฎหมายอุ้มศพพลเอกประยุทธ์ ต่อไปเพื่ออะไร เมื่อพลเอกประยุทธ์ พยายามทำตัวเหนือกฎหมาย เสพติดอำนาจไม่ยอมลงจากตำแหน่ง ในสายตานายวิษณุ ยังไม่เห็นคนไทยทั้งประเทศว่ากำลังลำบากแค่ไหนหรืออย่างไร การทำลายหลักนิติรัฐ ทิ้งหลักการกฎหมายเพื่อคนๆเดียวมันคุ้มกันหรือไม่ ”นางสาวทัศนีย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท