สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 17-23 ก.ย. 2565

'ก้าวไกล' หนุนประกันอุบัติเหตุให้พนักงานภาคสนาม กทม. ชี้ ต้องมุ่งสร้างสวัสดิการ พื้นฐานความมั่นคงชีวิต

นายสิริน สงวนสิน ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล กรุงเทพมหานคร เขต 27 (ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน หนองแขม) เปิดเผยถึงความห่วงใยต่อสวัสดิภาพในการทำงานและความมั่นคงในชีวิตของพนักงานด่านหน้าของ กทม. โดยระบุว่า ข่าวการสูญเสียบุคลากรด่านหน้าของ กทม. เช่น พนักงานทำความสะอาด และพนักงานดูแลสวน ในช่วงหลายเดือนมานี้พบได้บ่อยขึ้น อาจเพราะชีวิตในเมืองมีการขยับขับเคลื่อนหลังจากที่หยุดนิ่งมานานเพราะวิกฤตการณ์ COVID-19 ทำให้ปริมาณการจราจรหนาแน่นขึ้น ความเสี่ยงในชีวิตของบุคลากรด่านหน้าก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย เพราะสถานที่ทำงานส่วนใหญ่เป็นเกาะกลางถนน บาทวิถี หรือแม้แต่พื้นผิวถนนบางส่วน

นายสิริน กล่าวต่อว่า นอกจากการเสี่ยงภัยที่เกิดจาการใช้รถใช้ถนนของประชาชนแล้ว บุคลากรด่านหน้าของ กทม.ยังต้องเผชิญกับการสูดดมฝุ่นและควันพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ จนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ แม้ว่าสวัสดิการบางอย่างของพนักงาน กทม.อาจจะน่าดึงดูดใจสำหรับผู้ที่ต้องการความมั่นคงในชีวิต แต่ถ้าเทียบกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้น สวัสดิการที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นภาครัฐหรือ กทม.ควรมีการพิจารณาค่าตอบแทน สวัสดิการ และเงินพิเศษอื่น ๆ เช่น เบี้ยเสี่ยงภัยที่เหมาะสม รวมทั้งหลักประกันความเสี่ยงด้านคุณภาพชีวิต สุขภาพ และหลักกันความมั่นคงแก่ครอบครัวหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขณะปฏิบัติหน้าที่

นายสิริน ยังกล่าวต่อว่า เรื่องสวัสดิการเป็นสิ่งที่พูดคุยกันมานาน แต่กลับถูกนำไปปฏิบัติแบบฉาบฉวย ไม่ยั่งยืน หลายครั้งเป็นเพียงการหาเสียงทางการเมืองเพื่อให้เกิดความนิยม ตนเห็นว่าถึงเวลาที่พรรคการเมืองควรมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งตนและพรรคก้าวไกล เล็งเห็นความสำคัญกับทุก ๆ ฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนสังคม จึงขออาสาเข้ามาแก้ปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาวเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตกับพี่น้องประชาชนทุกคน

“ที่ผ่านมา ผมเข้าใจหัวอกพนักงานกวาดและพนักงานทำสวนที่ต้องอยู่หน้างานโดยมีความเสี่ยงสูงตลอดเวลา ซึ่งสวัสดิการที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอที่จะเป็นหลักประกันความมั่นคงให้คนที่อยู่ข้างหลัง หากพวกเขาต้องเผชิญกับเหตุไม่คาดฝันขณะปฏิบัติงาน ผมจึงขออาสาเป็นกำลังใจให้ทุกท่านในเบื้องต้น โดยการต่อประกันอุบัติเหตุประจำปีให้พนักงานเขตตลิ่งชันภาคสนาม ทุนประกันรายละ 50,000 บาท จำนวน 537 ราย ซึ่งได้ทำมาติดต่อกันมาเป็น 10 ปีแล้ว เพื่อเป็นการตอบแทนในความเสียสละ เพราะเราเชื่อว่าสังคมที่ดี คือสังคมที่ดูแลสวัสดิการพื้นฐาน และสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับทุกคนได้อย่างเท่าเทียม นั่นคือปณิธานที่ผมตั้งใจทำให้สังคมได้เห็น และมั่งมุ่นจะผลักดันให้เกิดโครงสร้างทางการเมืองที่เอื้อให้ชีวิตเราดีขึ้นจริง” นายสิริน กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 23/9/2565

ก.แรงงาน ส่งทีมเฉพาะกิจตรวจสอบสารเคมีรั่วไหล

22 ก.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยถึง กรณีเหตุสารเคมีอันตรายรั่วไหลจากโรงงานใน ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ส่งกลิ่นกระจายเป็นวงกว้าง ว่า หลังจากที่ทราบข่าวดังกล่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความห่วงใยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมสั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการตรวจสอบถึงสาเหตุในครั้งนี้ ตนจึงได้ส่งทีมเฉพาะกิจตรวจสอบอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือการประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีร้ายแรง ลงพื้นที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงทันที พบว่า สถานที่เกิดเหตุ คือ บริษัท อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการอุตสาหกรรมการผลิตเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้น มีลูกจ้างทั้งหมด 582 คน ขณะเกิดเหตุเวลา 06.00 น. วันที่ 22 ก.ย.65 มีลูกจ้างทำงาน 2 คน ได้พบว่ามีสารเคมีรั่วไหลบริเวณระบบการผลิตเม็ดพลาสติกภายในบริษัทจึงรีบปิดวาล์ว ระยะเวลาการรั่วไหลประมาณ 10 นาที คาดว่าไม่เกิน 30 ลิตร แต่เกิดกลุ่มควันจำนวนมากเนื่องจากสัมผัสกับฝนจึงลอยไปได้ไกล แต่มีความเป็นพิษน้อยไม่ทำให้เกิดระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ เบื้องต้น ผมได้รับรายงานจากพนักงานตรวจความปลอดภัยว่าไม่มีลูกจ้างได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทั้งนี้ ทางโรงงานยินดีเยียวยาและให้ความช่วยเหลือหากมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน หัวหน้าคณะทำงานทีมเฉพาะกิจตรวจสอบอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือการประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีร้ายแรง ลงพื้นที่พร้อมกับ นายสมพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 7 (ราชบุรี) สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเชิญนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ในวันที่ 27 ก.ย.65 นี้ เพื่อตรวจสอบว่านายจ้างได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 หรือไม่ เพราะอุบัติเหตุจากการทำงานนั้นสามารถป้องกันได้ หากทุกฝ่ายตระหนักและคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน จึงอยากเน้นย้ำให้นายจ้างและลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย และนำมาใช้เป็นแนวปฏิบัติในสถานประกอบกิจการอย่างเคร่งครัด และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 02-4489128-39

ที่มา: New18, 22/9/2565

รักษาการนายกถกทูตอิสราเอล สานต่อความร่วมมือด้านแรงงาน-เทคโนโลยี

22 ก.ย. 2565 เวลา 09.30 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางออร์นา ซากิฟ (H.E. Ms. Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร กล่าวต้อนรับและยินดีที่ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศราบรื่น และความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ มีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการค้า แรงงาน การพัฒนา กลาโหมและความมั่นคง โดย พลเอก ประวิตร ได้แสดงความยินดีที่ทั้งสองประเทศจะได้เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 70 ปี ในปี 2567 และหวังว่าจะได้ต้อนรับการเยือนไทยของประธานาธิบดีอิสราเอลอย่างเป็นทางการในอนาคตเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิสราเอลให้แน่นแฟ้นใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ด้านเอกอัครราชทูตอิสราเอลได้แสดงความยินดีที่ได้พบปะรองนายกรัฐมนตรีในวันนี้ โดยแสดงความพร้อมในการกระชับความร่วมมือในเรื่องการค้า แรงงาน เทคโนโลยี และความมั่นคง ทั้งนี้ ยังได้เน้นย้ำว่าอิสราเอลให้ความสำคัญกับไทยในฐานะประเทศที่มีบทบาทนำ และเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของชาวอิสราเอล โดยมีชาวอิสราเอลเดินทางมาไทยเฉลี่ยปีละเกือบ 2 แสนคน สะท้อนถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดในระดับประชาชน ซึ่งเป็นรากฐานที่ดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ผลการหารือในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จ ทางด้านเอกอัครราชทูตอิสราเอลยืนยันที่จะสานต่อความร่วมมือทุกด้าน พร้อมส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ไทยและอิสราเอลแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะสานต่อแนวทางการส่งเสริมการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างกัน เพื่อนำมาพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการผลิตน้ำจืดจากทะเล และความร่วมมือในด้าน start-up และ SMEs ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยประสงค์จะเรียนรู้จากฝ่ายอิสราเอล ในขณะเดียวกันอิสราเอลประสงค์รับแรงงานภาคการก่อสร้างจากไทยเพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขอบคุณรัฐบาลอิสราเอลที่ดูแลสวัสดิภาพของแรงงานไทยภาคการเกษตรในอิสราเอล ซึ่งแรงงานไทยถือเป็นแรงงานสำคัญในภาคการเกษตรของอิสราเอล

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 22/9/2565

ก.แรงงาน ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม มีงานทำ มีรายได้ สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเน้นประเด็นความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคมให้กับประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งคนพิการเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมการมีงานทำให้กับผู้พิการ ได้จัดทำโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม พร้อมทั้งเข้าไปทำความเข้าใจกับสถานประกอบการในการจ้างงานคนพิการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้พิการได้มีงานทำ มีรายได้สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว

โดยประชาสัมพันธ์เชิญชวนนายจ้างและสถานประกอบการ ให้เปลี่ยนมาใช้สิทธิ์ตามมาตรา 35 ประเภทการจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการได้มีงานทำ บริเวณพื้นที่ชุมชนใกล้บ้าน ในหน่วยบริการสาธารณประโยชน์ โดยมีผลการดำเนินการตามโครงการฯ ปี 2565 จากเป้าหมาย 1,000 คน มีนายจ้างหรือสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 196 แห่ง มีหน่วยบริการสาธารณะที่เข้าร่วมโครงการ 861 แห่ง

ส่วนคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่เข้าร่วมโครงการ 1,673 คน ในจำนวนมีผู้พิการมีงานทำ 1,499 คน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ 499 คน ก่อให้เกิดรายได้คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 170 ล้านบาท นับเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวถึงแผนการขยายโอกาสให้คนพิการมีงานทำว่า กรมการจัดหางานมีเป้าหมายในการขยายการมีงานทำให้คนพิการเพิ่มขึ้นปีละ 20% จากโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความเสมอภาค สร้างโอกาสให้คนพิการ หรือผู้ดูแลคนพิการมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โอกาสนี้ขอขอบคุณความร่วมมือของสถานประกอบการที่ได้ให้สิทธิคนพิการมีงานทำ สำหรับสถานประกอบการที่สนใจร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม มาตรา 35 ติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 21/9/2565

อาชีพวิศวะยังมาแรง ตลาดต้องการแรงงานมากสุด รองลงมากลุ่มบริหารธุรกิจ

21 ก.ย. 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม - มิถุนายน 2565) ว่ามีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) จำนวน 750 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 375,670 ล้านบาท โดยเป็นการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 309 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 41 ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งสิ้น โดยมีมูลค่ารวม 131,580 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าการอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด ซึ่งอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหารมีจำนวนโครงการมากที่สุด และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 สามารถสร้างงานให้คนไทย 43,833 ตำแหน่ง โดยโครงการในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการจ้างงานมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 31 ของการจ้างแรงงานไทย ซึ่งมีการจ้างงานประมาณ 13,575 ตำแหน่ง ตามมาด้วยหมวดอุตสาหกรรมเบา คิดเป็นร้อยละ 19 หรือประมาณ 8,261 ตำแหน่ง และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง คิดเป็นร้อยละ 17 ของการจ้างแรงงานไทย หรือประมาณ 7,363 ตำแหน่ง

นายอนุชายังกล่าวด้วยว่า ขณะที่ผลการสำรวจความต้องการแรงงานของโครงการที่ออกบัตรส่งเสริมในเดือนมกราคม - มิถุนายน 2565 พบว่ามีความต้องการแรงงานทั้งหมด 104,314 คน โดยหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือ 42,308 คน หรือร้อยละ 41 ของความต้องการแรงงานทั้งหมด รองลงมา คือหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง โดยหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปมากที่สุด คือ 4,500 คน หรือร้อยละ 29 ของความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปทั้งหมด รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปประมาณร้อยละ 22 ขณะที่หมวดอุตสาหกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และบริการและสาธารณูปโภค มีร้อยละความต้องการแรงงาน ระดับปริญญาตรี สูงกว่าการศึกษาระดับอื่น โดยมีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรี ร้อยละ 86 และ 72 ของความต้องการแรงงานรวม ตามลำดับ ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่น มีร้อยละความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรี เฉลี่ยร้อยละ 13 ของความต้องการแรงงานรวม

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 21/9/2565

เลขาธิการ สปส.ชี้แจง กรณี กทม.เตรียมยกเลิก รพ.ประกันสังคม 9 แห่ง ยันยกเลิก รพ.เอกชน เฉพาะสิทธิ สปสช. เท่านั้น

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณี กทม. หารือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมยกเลิกสัญญา รพ.ประกันสังคม 9 แห่ง ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป นั้น สำนักงานประกันสังคมได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า เป็นการยกเลิกการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการของโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 9 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานพยาบาลประกันสังคม 8 แห่ง ได้แก่ รพ.มเหสักข์ รพ.บางนา 1 รพ.ประชาพัฒน์ รพ.นวมินทร์ รพ.เพชรเวช รพ.แพทย์ปัญญา รพ.บางมด และรพ.กล้วยน้ำไท ส่วน รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2 ไม่ใช่ รพ.ในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นการยกเลิกสัญญากับสิทธิ จาก สปสช. (สิทธิ 30 บาท) ไม่ได้กระทบสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนแต่อย่างใด ในการนี้ เลขาธิการ สปส. ขอให้ผู้ประกันตนเชื่อมั่นการให้บริการทางการแพทย์ของ รพ.ในโครงการประกันสังคม ซึ่งในปี 2565 สำนักงานประกันสังคมมีสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน จำนวน 254 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล 165 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 89 แห่ง ไว้คอยให้บริการผู้ประกันตนได้อย่างทั่วถึง

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า สำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมมีคุณภาพ พร้อมรับคำแนะนำเพื่อไปปรับปรุง การให้บริการ และพัฒนางานประกันสังคม ให้ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครองดูแล เปรียบเสมือน คนในครอบครัวเดียวกัน หากผู้ประกันตนมีปัญหาข้อร้องเรียนสถานพยาบาลประกันสังคมรักษาไม่ดี สามารถแจ้งมาได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/9/2565

พัฒนาฝีมือแรงงานศรีสะเกษ จัดอบรมส่งเสริมอาชีพ ‘ไรเดอร์-ผู้ว่างงาน’ ต่อยอดรายได้

นางทัศนี ขจัดมลทิน ผอ.สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานศรีสะเกษ เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานศรีสะเกษ ได้จัดทำกิจกรรมฝึกอบรมโครงการส่งเสริมอาชีพผู้ประกอบอาชีพผู้ขับขับขี่รถจักรยานยนต์ในการขนส่งสินค้า (Rider) สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ประกอบอาชีพ เป็น ไรเดอร์อยู่แล้ว เลือกสมัครได้เพียง 1 หลักสูตร มีให้เลือก 2 ช่าง คือ 1.ช่างซ่อมบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ เพื่อเพิ่มทักษะในการบำรุงรักษารถ จยย. ตนเองที่ใช้ส่งสินค้าช่วยลดรายจ่าย และ 2.หลักสูตรการตัดผมบุรุษ (ต้นทุนไม่แพง) ไว้เป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักได้กรณีไม่ขับรถส่งสินค้าแล้ว หรือยังคงประกอบอาชีพขับรถส่งสินค้า และขยันเพิ่ม รับตัดผมบุรุษด้วย จะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น (เลือกได้เพียง 1 สาขา)

ส่วนกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน ตกงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติโควิด มีหลักสูตรเดียว คือ การส่งสินค้าด้วยรถจักรยานยนต์ ฝึก 3 วัน คือ วันที 27-29 ก.ย.นี้ ระยะเวลาฝึก 18 ชั่วโมง ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานศรีสะเกษ ทั้งนี้ ระหว่างฝึกมีเงินค่าอาหารวันละ 160 บาท รวม 3 วัน รับเงินคนละ 480 บาท จบฝึกมีวุฒิบัตรพัฒนาฝีมือแรงงาน และสามารถนำวุฒิบัตรฯ เป็นเอกสารประกอบการยื่นกู้เงินกับธนาคารออมสินได้ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้บันทึกความร่วมมือ (MOU) กับธนาคารออมสินไว้แล้ว สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานศรีสะเกษ เลขที่ 320 หมู่ 9 ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-4561-5864-6

ที่มา: เดลินิวส์, 21/9/2565

ครม.ไฟเขียวลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ม.33 ม.39 เป็นเวลา 3 เดือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในมาตรา 33 ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.65) จากเดิมที่จัดเก็บในอัตรา 5% เหลือ 3% และสำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 จะปรับลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนจาก 432 บาท เหลือ 240 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือนเช่นเดียวกัน เพื่อบรรเทาภาระนายจ้างและผู้ประกันตนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ

สำหรับการลดอัตราเงินสมทบตามมาตรา 33 โดยให้นายจ้าง และผู้ประกันตนแต่ละฝ่าย จ่ายเงิน 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน จากเดิมที่จ่ายอยู่ในอัตรา 5% ในขณะที่กำหนดให้รัฐบาล จ่ายเงินในอัตราเท่าเดิมที่ 2.75% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จากเดิมในอัตราเดือนละ 432 บาทเป็นอัตราเดือนละ 240 บาท

นายอนุชา กล่าวว่า การปรับลดอัตราเงินสมทบงวดเดือน ต.ค. - ธ.ค. 65 นี้ จะส่งผลให้กองทุนประกันสังคม จัดเก็บเงินสมทบได้ลดลง 17,044 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบลดลง 9,080 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายลดลง 7,964 ล้านบาท เป็นการบรรเทาภาระของนายจ้างจากสภาวะเศรษฐกิจ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ให้นายจ้างมีสภาพคล่องเพิ่ม และลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 20/9/2565

KTB ชี้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำช่วยหนุนการบริโภคในประเทศ แต่อาจดึงเงินเฟ้อขยับขึ้น

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ระบุว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 13 ก.ย. 65 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 นี้ ถือเป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี หลังจากประกาศครั้งล่าสุดที่มีผลเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 63 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ การปรับรอบนี้ถือเป็นการปรับขึ้นสูงสุดในช่วงเกือบ 10 ปีนับตั้งแต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันเมื่อปี 55 แต่การปรับในครั้งนั้นถือเป็นการปรับแบบก้าวกระโดด ที่ส่งผลให้ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินเพิ่มถึง 39.5% ขณะที่การปรับอีก 2 ครั้งในปี 60 และ 61 จะปรับขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า 5%

Krungthai COMPASS ประเมินว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 8-22 บาท ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของประเทศ โดยปรับจากเดิมที่อยู่ในช่วง 313-328 บาทต่อวัน เป็น 336-354 บาทต่อวัน จะส่งผลให้ค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 4.5-6.6% และจะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 0.17-0.25% กระทบต่อเงินเฟ้อประมาณ 0.03-0.04% ในปี 65

ส่วนในปี 66 คาดว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตจะปรับตัวขึ้นประมาณ 0.69-1.01% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.13-0.20% ทั้งนี้ อาจส่งผลกระทบจีดีพีไม่มากนัก เนื่องจากปัจจัยลบจะถูกชดเชยด้วยปัจจัยบวกจากผลทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าจ้างอาจหนุนการปรับโครงสร้างในตลาดแรงงาน โดยจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มแรงงานที่ขาดทักษะกับกลุ่มแรงงานมีฝีมือและแรงงานวิชาชีพในระยะยาว และสนับสนุนให้แต่ละภาคส่วนได้รับผลพวงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

Krungthai COMPASS มีข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการ ที่จะต้องเผชิญกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้บางภาคการผลิตที่พึ่งพาแรงงานค่าจ้างต่ำมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานโดยภาพรวม จากผลแพร่กระจาย (Spillover) ในการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นของลูกจ้างกลุ่มที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าขั้นต่ำ

“ผู้ประกอบการควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาศักยภาพแรงงาน ทั้งการยกระดับทักษะให้ดีขึ้นกว่าเดิม (Upskill) และการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) ซึ่งจะเอื้อต่อสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การปฏิรูปด้านดิจิทัล การพัฒนาทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ การเพิ่มความสามารถของลูกจ้างดังกล่าวจะช่วยเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต ยอดขาย ทั้งยังจะช่วยลดต้นทุนต่อหน่วย และชดเชยผลกระทบจากค่าจ้างที่สูงขึ้น” บทวิเคราะห์ ระบุ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรปรับระบบการผลิตให้มีความยืดหยุ่น ตามสภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญกับความผันผวนมากขึ้น ปรับลดขั้นตอนในการทำงานและใช้ระบบการผลิตที่กระชับ (Streamline) รวมถึงการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีกำลังแรงงานที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น

Krungthai COMPASS ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างที่เป็นตัวเงินโดยเฉลี่ยในตลาดแรงงาน จะถูกกำหนดโดยกลไกตลาดตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในการจ้าง ปัจจัยที่หนุนให้ค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 64 คือ การทยอยฟื้นตัวของตลาดแรงงาน หลังจากที่ต้องเผชิญปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดในช่วงปี 63 ถึง 64 ที่ส่งผลให้อัตราการว่างงานแตะระดับ 2.2% เมื่อเดือนก.ค. 64 สูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินทั่วโลกเมื่อปี 51 (แต่ยังน้อยกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 ที่แตะระดับสูงถึง 5%)

ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ รวมทั้งอานิสงส์จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ผ่านระบบไทยแลนด์พาสเมื่อเดือนพ.ย. 64 หนุนให้ภาคการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานล่าสุดเดือนมิ.ย. 65 กลับมาอยู่ในระดับที่เกือบเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาด

ส่วนอัตราการว่างงาน ล่าสุดเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับตัวเลขต่ำสุดหลังการแพร่ระบาดเมื่อเดือนมี.ค. 65 ตลาดแรงงานจึงกำลังทยอยปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการกำลังคน เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ขณะที่ลูกจ้างซึ่งส่วนหนึ่งเคยประสบปัญหาถูกเลิกจ้างหรือพักงานในช่วงการแพร่ระบาด ได้เริ่มกลับไปทำงาน

“พัฒนาการที่ดีขึ้นของตลาดแรงงานดังกล่าว ถือเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นค่าแรง การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงเป็นตอกย้ำถึงแรงกดดันในการปรับเพิ่มค่าแรง ซึ่งได้ทยอยเพิ่มขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว” บทวิเคราะห์ ระบุ

ทั้งนี้ ในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ค่าตอบแทนของแรงงานทั้งระบบปรับตัวเพิ่มจากเดิม และยังหนุนให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย เมื่อเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของค่าจ้างที่เป็นตัวเงินโดยเฉลี่ยต่อเดือน กับการบริโภคภาคเอกชนย้อนหลังในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าการบริโภคมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวสูงขึ้นของค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ย

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดและมาตรการล็อคดาวน์ในปี 63 กดดันการบริโภคภาคเอกชนให้ปรับตัวลดลง และมีผลเชิงลบต่อค่าจ้างเฉลี่ย การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงเป็นมาตรการหนึ่ง ที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

Krungthai COMPASS คาดว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 4.5-6.6% จะส่งผลให้รายได้จากค่าจ้างที่เป็นตัวเงินโดยเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้นประมาณ 0.36-0.53% และสามารถกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนได้ประมาณ 0.27-0.39% ในปี 65 นี้ มาตรการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผลในวันที่ 1 ต.ค. นี้ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะหนุนการบริโภค ทั้งยังจะช่วยเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะหนุนให้ค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่สูงขึ้น แต่ในทางกลับกันรายจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ประกอบกับแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มอาจดึงเงินเฟ้อขึ้น

สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการนั้น คาดว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะกระทบต่อภาคการผลิตที่พึ่งพาแรงงานค่าจ้างต่ำ และมีภาระรายจ่ายค่าจ้างต่อต้นทุนในสัดส่วนที่สูง การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้กิจการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

จากข้อมูลในการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรรอบล่าสุด ในไตรมาสที่ 2/65 พบว่าภาคการผลิตที่มีสัดส่วนแรงงาน ซึ่งได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าหรือเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ก่อสร้าง โรงแรม สันทนาการ และค้าปลีก ขณะเดียวกัน หากประเมินจากตัวเลขสัดส่วนค่าจ้างต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมด ที่อ้างอิงจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตปี 58 นั้นพบว่า ภาคการผลิตกลุ่มข้างต้นต้องแบกรับภาระค่าจ้างต่อต้นทุนการผลิตสูงถึงประมาณ 10-20%

Krungthai COMPASS ประเมินว่า การผลิตภาคเกษตรกรรม ซึ่งลูกจ้างในสาขาการผลิตเหล่านี้ มักเป็นกลุ่มเปราะบางและเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ขณะที่สาขาโรงแรมและสันทนาการ เป็นกลุ่มซึ่งได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ และเพิ่งจะได้รับสัญญาณบวกจากการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว

ส่วนสาขาก่อสร้างนั้นเคยเผชิญการระบาดในไซต์งาน และกำลังประสบปัญหาต้นทุนวัสดุแพงขึ้น รวมถึงธุรกิจค้าปลีกซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME ที่มีทุนหมุนเวียนจำกัด กิจกรรมการผลิตเหล่านี้จะต้องแบกต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น ซึ่งจะซ้ำเติมการฟื้นตัวให้มีความยากลำบากท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีหลายสาขาที่เน้นการใช้ปัจจัยแรงงานอย่างเข้มข้น (Labour-intensive industry) และมีภาระรายจ่ายค่าจ้างต่อต้นทุนในสัดส่วนที่สูง การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น และอาจส่งผลให้ธุรกิจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางสภาวะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับกำไรต่อหน่วยที่บางลง

ขณะที่ยังต้องแบกรับภาระต้นทุนหลายด้านที่แพงขึ้น โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบ ราคาสินค้าขั้นกลาง ค่าขนส่ง รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้นภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

จากการประเมินสัดส่วนค่าจ้างต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด พบว่า มีหลายสาขาอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานในการผลิต ซึ่งมีภาระค่าตอบแทนแรงงานเทียบจากต้นทุนทั้งหมดสูงกว่า 10-20% เช่น ยาสูบ เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า เซรามิก และการพิมพ์ เป็นต้น สาขาอุตสาหกรรมเหล่านี้จะแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

Krungthai COMPASS มีข้อสังเกตว่า อุตสาหกรรมแบกรับต้นทุนค่าจ้างสูง มักเป็นกลุ่มที่เน้นการใช้แรงงานในการผลิต หลายอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มดั้งเดิมที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งจำนวนมาก กำไรต่อหน่วยลดน้อยถอยลง ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่มุ่งจำหน่ายสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ยังอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับผู้ผลิตจากประเทศอื่นที่มีค่าแรงต่ำกว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จึงอาจเพิ่มอุปสรรคให้แก่ผู้ประกอบการเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

สำหรับการปรับเพิ่มค่าตอบแทนแก่กลุ่มแรงงานที่ขาดทักษะและได้รับเงินค่าจ้างต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป บริการงานบ้าน ก่อสร้าง และโรงแรม Krungthai COMPASS ประเมินว่า ผู้ประกอบการจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 4.7-5.1 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 0.29-0.32% ของ GDP ส่วนผลกระทบในภาพกว้าง ซึ่งได้ประเมินทั้งปัจจัยบวกจากผลทางรายได้ที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะหนุนการบริโภค และปัจจัยลบจากการขึ้นค่าจ้างที่มีต่อต้นทุนการผลิต และอาจกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 19/9/2565

"ราชกิจจาฯ" ประกาศ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่ 5% ใน 9 อัตรา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ฉบับที่ 11 โดยมีรายละเอียดการ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่มีการประกาศจากเว็บไซต์ "ราชกิจจาฯ" ซึ่งได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ประกาศ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ฉบับดังกล่าวระบุว่า ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2565และมีมติเห็นชอบให้ก่าหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่่าเพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79 (3) และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 คณะกรรมการค่าจ้าง จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สาระสำคัญของประกาศ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) นี้ กำหนดอัตราการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งแบ่งเป็น 9 อัตรา ได้แก่

1.ค่าจ้าง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต

2.ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

3. ค่าจ้าง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา

4. ค่าจ้าง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา

5. ค่าจ้าง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี

6. ค่าจ้าง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก

7. ค่าจ้าง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยาสุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี

8.ค่าจ้าง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร

9. ค่าจ้าง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี

สำหรับ "วัน" หมายถึง เวลาทำงานปกติ ของลูกจ้าง ซึ่งไม่เกินชั่วโมงทำงานดังต่อไปนี้ แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติเพียงใดก็ตาม

(1) เจ็ดชั่วโมง สำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

(2) แปดชั่วโมง สำหรับงานอื่นซึ่งไม่ใช่งานตาม (1)

ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

สำหรับประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

ลงนามโดยนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการค่าจ้าง

ที่มา: คมชัดลึก, 20/9/2565

สมยศ ซัด ‘พ.ร.ก.ฉกฉวย’ โวย สน.นางเลิ้งสร้างตราบาป แจ้งข้อหา ‘5 แรงงาน’ ไม่สมเหตุ แค่ไปวอนขึ้นค่าจ้างกับบิ๊กตู่

19 ก.ย. 2565 ที่หน้า สน.นางเลิ้ง มีการจัดชุมนุมเพื่อร่วมเป็นกำลังใจให้กับแรงงาน 5 คน ผู้ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้แก่ น.ส.ธนพร วิจันทร์ หรือ ไหม เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย น.ส.สุธิลา ลืนคำ ผู้จัดการโครงการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม, แซม สนธยา และ เซีย จำปาทอง เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ชุมนุมได้ชูป้ายกระดาษ พร้อมเขียนข้อความด้วยปากกา อาทิ “เผด็จการชั่วกลัวเสียงแรงงาน” , “เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน รัฐเผด็จการยัดข้อหา ปิดปากประชาชน ” และ “ค่าแรงไม่ขยับ ส่วนหมายจับออกอย่างไว” เป็นต้น

น.ส.ธนพร หรือ ไหม เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า เราไปชุมนุมเรื่องของนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่หาเสียงไว้ การประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาท ที่ไม่ได้มีการทำตามที่ได้หาเสียงไว้ พวกเราไปเรียกร้องในเรื่องของปัญหาราคาสินค้าแพง ซึ่งผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบ รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย เรากำลังพูดถึงการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย ที่ทำให้เศรษฐกิจพัง และทำให้พวกเราผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบ สังคมนี้ได้รับผลกระทบจากการบริหาร 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของ สน.นางเลิ้ง ให้ข้อกล่าวหากับพวกเรา 5 คน ที่เป็นผู้ใช้แรงงานและคนงานที่ได้รับผลกระทบ เราจึงอยากบอกว่าสมควรแล้วหรือไม่ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อ้างถึงสถานการณ์โควิด และให้ข้อกล่าวหาพวกเราด้วยข้อกล่าวหา ชุมนุมภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศเรื่องของโรคระบาดโควิด

“แต่วันนี้ เราคิดว่าโควิดที่เกิดขึ้นเกิดจากการบริหารผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นของ ศบค.ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา หรือหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องสถานการณ์โควิดได้ พวกเราก็ออกมาเรียกร้อง แต่การชุมนุมของพวกเรา ชุมนุมในที่โล่งแจ้ง มีแสงแดด เราสวมหน้ากากอนามัย มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เราไม่เคยมีปรากฎสักครั้งเดียวว่าการชุมนุมจะมีการที่ติดเชื้อโรคโควิด แต่การติดเชื้อโควิดที่มีการระบาดทุกรอบที่ผ่านมา 3-4 ครั้ง เกิดจากการบริหารผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัคซีนมียี่ห้อเดียว เราก็พยายามเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพ มันไม่สมเหตุสมผลเลย กับการให้ข้อกล่าวหากับพวกเราแบบนี้ เราเป็นคนที่มีปัญหาแต่คนที่สร้างปัญหาให้พวกเราออกมาคือรัฐบาล และทำไมต้องมาแจ้งข้อกล่าวหาพวกเรา เราคิดว่าตำรวจน่าจะทำได้มากกว่านี้” น.ส.ธนพรกล่าว

ด้าน แซม สนธยา หนึ่งในผู้ถูกหมายเรียก กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ถูกหมายเรียก ถือว่าเป็นการสร้างตราบาปให้แรงงานตัวเล็กคนหนึ่งที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เรียกร้องให้ผู้ปกครองดูแลโดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน ซึ่งแน่นอนว่าที่ถูกหมายเรียกตนรู้สึกผิดหวัง น้อยใจด้วย เพราะการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาก็ได้ แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้งกลับแจ้งข้อกล่าวหาอย่างจริงจัง เราเรียกร้องแค่ให้ควบคุมราคาสินค้า ให้รัฐบาลปฏิบัติตามนโยบายที่ประกาศไว้ โดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลกระทบต่อเราโดยตรง

ขณะที่ เซีย จำปาทอง เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า วันนี้เรายืนยันว่าเราจะปฏิเสธข้อกล่าวหาและการชุมนุมการเรียกร้องของพวกเรา แต่ละครั้ง ไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับการแพร่เชื้อโรคระบาดแต่อย่างใดในแต่ละครั้งที่ผ่านมา แต่ละครั้งเกิดจากการบริหารของประเทศของรัฐบาลทุกครั้ง

“อยากให้ผู้บริหารพิจารณาและทบทวนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิทธิพื้นฐานของพี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชน ขอให้ดำเนินการยกเลิกเรื่องนี้เสีย” เซียกล่าว

น.ส.สุธิลา ลืนคำ ผู้จัดการโครงการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม กล่าวว่า แปลกใจว่าเหตุไฉนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้งถึงได้ออกหมายเรียกพวกเรา ค่อนข้างผิดหวัง และปัญหาทีเรามาเรียกร้องก็เป็นปัญหาที่รัฐสร้างไว้

ด้าน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่า วันนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็น พ.ร.ก.ฉกฉวย หวังที่จะใช้กฎหมายนี้ มากดขี่ประชาชน แล้วทำให้ปัญหาของบ้านเมืองยังคงอยู่ เพราะความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

“การที่ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ชื่อสมยศ ชื่อเดียวกับผม ทำคดีนี้ ผมเข้าใจว่าคนสั่งการไม่ใช่ท่านแน่นอน เพราะวันนั้นเราจะไปไล่ประยุทธ์ ไปเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ คนที่เดือดร้อนคือคุณประยุทธ์ เพราะฉะนั้น เราถือว่าคุณประยุทธ์เป็นผู้ทำการคดีนี้ เพียงแต่ผู้กำกับและรองผู้กำกับ สน.นี้ มารับจ็อบนี้แทน ผมบอกเลยว่าหมดอนาคต เพราะอย่างไรรัฐบาลชุดนี้ก็ต้องไป ประยุทธ์ยังไงก็อยู่ไม่ได้ ขั้วอำนาจทางการเมืองเปลี่ยนหลังการเลือกตั้ง” นายสมยศกล่าว

จากนั้นผู้ถูกกล่าวทั้ง 5 คนได้ยืนเรียงกันกล่าวคำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์ จงเจริญ” พร้อมชู 3 นิ้ว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 19/9/2565

คนงานเมียนมาตกผาแกรนด์แคนยอน จ.ชลบุรี ก.แรงงาน ตรวจสอบ

18 ก.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุคนงานก่อสร้างพลัดตกหน้าผาแกรนด์แคนยอนเมืองไทยเสียชีวิตที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2565 เวลา 09.00 น.ที่ผ่านมาว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้สั่งให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต ตนจึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี (สสค.ชลบุรี) ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 2 ชลบุรี (ศปข. 2) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที

เบื้องต้นพบว่าเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2565 เวลา 09.00 น. พบคนตกหน้าผาสูง บริเวณแหล่งท่องเที่ยวชื่อแกรนด์แคนยอนเมืองไทย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังพัฒนาพื้นที่ มีการสร้างเป็นทางลงลักษณะบันไดหิน ลาดลงไปที่พื้นด้านล่างสุดลึกกว่า 30 เมตร

พบผู้เสียชีวิตทราบชื่อ คือ นายคิง หง่วย อายุ 41 ปี สัญชาติเมียนมา โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้สอบถามเพื่อนร่วมงานเผยว่า วันเกิดเหตุเป็นวันหยุดไม่มีการทำงาน ผู้เสียชีวิตได้เดินลงไปเอาข้าวที่ลืมไว้ด้านล่างตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 แล้วพลัดตกลงไปพร้อมกับมีก้อนหินกลิ้งตามลงไปกระแทกร่างทำให้เสียชีวิต

ทั้งนี้ พนักงานตรวจความปลอดภัย สสค.ชลบุรี ศปข.2 และหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้เข้าช่วยเหลือครอบครัวลูกจ้างที่เสียชีวิตจากเหตุพลัดตกหน้าผา พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่าได้มอบหมายให้พนักงานตรวจความปลอดภัย สสค.ชลบุรี 2 และ ศปข. 2 ดำเนินการตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสั่งการ และ กสร.จะเชิญนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

“อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอความร่วมมือนายจ้างและลูกจ้าง ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างเคร่งครัดด้วย หากนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบกิจการใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 0-2448-9128-39 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 และ 1546”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/9/2022

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท