Skip to main content
sharethis

ขณะที่การจัดหาอาวุธโดยรัฐบาลต่อต้านเผด็จการของพม่าหรือ NUG ยังไม่คืบหน้า ที่ภาคสะกาย ทางตอนเหนือของพม่า กองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าเสี่ยงชีวิตจากการทำหน้าที่เก็บรวบรวมซากเหล็กและโลหะเพื่อนำมาสร้างอาวุธและกระสุนด้วยตัวเอง โดยมีความหวังว่าจะใช้ในการพลิกสถานการณ์สงครามต่อต้านกองทัพพม่า

ค่ายฝึกกองกำลัง PDF ที่ภาคสะกาย ทางตอนเหนือของพม่า ภาพเผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Myanmar Now)

 

กลุ่มกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ในพม่า ซึ่งเป็นกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ากำลังผลิตอาวุธด้วยตนเองเพื่อใช้ในการสู้รบกับเผด็จการ

ผู้สื่อข่าวของฟรอนเทียร์เมียนมาระบุว่าเขารู้สึกถึงบรรยากาศแบบตื่นเต้นชวนให้ระทึกเมื่อตอนที่นักรบ PDF คนหนึ่งเดินนำทางเขาไปที่ทุ่งนาที่เต็มไปด้วยตอข้าว ที่นั่นมีนักรบหนุ่มคนหนึ่งกำลังนำเครื่องยิงลูกระเบิดที่ผลิตเสร็จใหม่ๆ จัดท่าวางประทับบ่าของตัวเอง เตรียมพร้อมรับแรงสะท้อนจากเครื่องยิงระเบิด จากนั้นเขาก็สับไก มีเสียงระเบิดดังสนั่น ควันและประกายแสงปะทุจากปากกระบอกในตอนที่ระเบิดพุ่งออกมาจากตัวเครื่องยิง

จากนั้น คนที่ทดสอบเครื่องยิงระเบิดก็ยิ้มแล้วพูดว่า "วันนี้ผมยังไม่ตาย นั่นหมายความว่าอาวุธอันนี้พร้อมที่จะใช้สังหารพวกหมาเลียเผด็จการพวกนั้นแล้ว" ฝ่ายกองกำลังต่อต้านเผด็จการพม่ามักจะเรียนทหารฝ่ายเผด็จการว่าเป็น "หมา"

คนที่คอยดูการทดสอบอาวุธรู้สึกคลายกังวล เครื่องยิงระเบิดแบบประทับบ่าที่ผลิตเองเช่นนี้ถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในสงครามต่อต้านเผด็จการทหารพม่า แต่ไม่ใช่แค่ข้าศึกอย่างฝ่ายเผด็จการทหารเท่านั้นที่จะถูกฆ่าจากอาวุธเช่นนี้ ทุกครั้งที่คนสร้างอาวุธและนักรบ PDF ทดสอบอาวุธใหม่ของพวกเขา พวกเขาก็เสี่ยงชีวิตของตัวเองไปด้วย

หลังจากที่กองทัพพม่ารัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประเทศพม่าก็เผชิญกับวิกฤตทางการเมือง การที่รัฐบาลสังหารประชาชนที่ประท้วงอย่างสันติจำนวนมากผลักดันให้เกิดการลุกฮือต่อสู้กับเผด็จการด้วยอาวุธ ในภูมิภาคซะไกง์ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ปลอดการสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับกองทัพพม่ามาก่อน ตอนนี้ได้กลายเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังติดอาวุธต่อต้านเผด็จการกลุ่มใหม่ที่เพิ่งจะมีการฟอร์มตัวกัน ในขณะที่รัฐโดยรอบมีการสู้รบเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำระหว่างกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีอยู่มานานกว่า

มันเป็นเรื่องยากที่จะวัดได้ชัดเจนว่า มีคนจำนวนเท่าไหร่ที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บในขณะที่มีการทดลองอาวุธ กลุ่ม PDF ในเมืองดีบะหยิ่น ในภาคสะกาย โดยในเมืองนี้แห่งเดียวก็มีกลุ่ม PDF ที่เสียชีวิตเพราะการทดลองอาวุธสิบกว่าคนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 20 คนแล้ว

ผู้สื่อข่าวฟรอนเทียร์เมียนมาได้ไปเยือนดีบะหยิ่น เมื่อเดือนมกราคมถึงมีนาคมปีนี้ พวกเขาได้เห็นโกส่วยมิน หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม PDF นอนอยู่บนเตียงเพราะต้องพักฟื้นจากบาดแผลที่มือซ้ายและขาซ้ายของเขาหลังจากที่ประสบอุบัติเหตุในช่วงที่ผลิตระเบิดแสวงเครื่อง

เพื่อนของโกส่วยมินสองคนในทีมผลิตอาวุธของ PDF ก็บาดเจ็บแบบสูญเสียอวัยวะถาวรเช่นกัน โกส่วยมินเล่าว่ามีเพื่อนของเขาสูญเสียหูหนึ่งข้างตอนทดสอบยิงอาวุธประทับบ่า เพื่อนอีกคนหนึ่งสูญเสียนิ้วมือ 4 นิ้วในตอนที่ทำระเบิดแสวงเครื่อง โกส่วยมินบอกว่าเขาโชคดีที่เขาไม่สูญเสียอวัยวะไปจากการบาดเจ็บเพราะทำอาวุธ เขาหัวเราะตอนที่พูดเรื่องนี้แล้วก็บอกอีกว่าเขาจะกลับไปทำงานผลิตและทดลองให้เร็วที่สุดหลังจากที่เขารักษาอาการบาดเจ็บหายแล้ว

นักข่าวฟรอนเทียร์เมียนมาได้เดินทางไปที่เมืองอังยะ สองครั้งหลังเกิดรัฐประหาร เมืองนี้เคยเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลอดการสู้รบที่ชาวพม่ามักเรียกว่า "Dry zone" หรือ "พื้นที่แห้ง" มาก่อน ถึงแม้ว่าจะเคยเป็นพื้นที่ๆ ไม่ต้องเผชิญการสู้รบแบบเดียวกับเมืองรอบๆ มาเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ประชาชนในภาคสะกายและมะเกวก็ต่อสู้ต้านทานการยึดครองของเผด็จการทหารอย่างดุเดือด

ในตอนที่ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังพื้นที่เหล่านี้เป็นครั้งแรกในช่วงเดือนมีนาคมปี 2564 ในตอนนั้นกองทัพพม่าได้สังหารผู้ประท้วงจำนวนมากอย่างโหดเหี้ยม และเป็นช่วงที่เพิ่งจะเริ่มต้นส่งสัญญาณว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธ

แต่พื้นที่ตอนกลางของพม่าการได้มาซึ่งอาวุธเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะเป็นพื้นที่ๆ  ค่อนข้างห่างไกลจากเส้นทางการลอบขนอาวุธตามเขตชายแดน และอยู่ห่างจากพื้นที่ปฏิบัติการของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่มีการติดอาวุธอย่างดี ในช่วงที่นักข่าวไปเยือนครั้งแรกพวกเขาพบว่ากลุ่มติดอาวุธในตอนกลางของพม่าใช้ปืนยาวแบบยิงทีละนัดที่เรียกว่า "ทูมี" และปืนลูกซองอินเดีย ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มักจะใช้กับการล่าสัตว์ นอกจากนี้กลุ่มติดอาวุธยังพยายามลอบขนดินปืนจากอินเดียเข้ามาเพื่อทำระเบิดด้วย

แต่พอผู้สื่อข่าวกลับไปยังสถานที่เดิมอีกครั้งในเดือนมกราคม 2565 พื้นที่เหล่านี้ก็กลายเป็นพื้นที่สงครามที่มีกลุ่มคนพลัดถิ่นจำนวนหลายพันคน มีการปะทะกับกองทัพ และมีการกวาดล้างโดยกองทัพเกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การผลิตอาวุธก็ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย โดยที่มีกลุ่มติดอาวุธอยู่เป็นจำนวนมากที่ตอนนี้หันมาใช้อาวุธที่ทรงพลังมากขึ้น


การผลิตอาวุธที่ราวกับเป็นกิจการชุมชน

ฟรอนเทียร์เมียนมาได้ไปเยือนแหล่งผลิตอาวุธอย่างน้อย 5 แห่งใน มงยวะ, อะยาดอ, ดีบะหยิ่น และยินมะบิ่น ในภาคสะกาย

ไม่ว่าจะเป็นในหมู่บ้าน หรือตามค่ายกลางป่าทึบ กลุ่มคนที่ก่อนหน้านี้เคยทำงานเป็นชาวนาหรือพ่อค้าแม่ค้ามาก่อน แต่ในตอนนี้กลายมาเป็นผู้ใช้เหล็กเอามาทำเป็นอาวุธ ตั้งแต่เครื่องมือขนาดเท่าปากกาที่เหมาะแก่การลอบสังหารไปจนถึงปืนครก 60 มม. อย่างไรก็ตามอาวุธที่มีความน่าเกรงขามมากที่สุดก็คืออาวุธแบบยิงประทับบ่าที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกับเครื่องยิงลูกระเบิด

อาวุธเหล่านี้สามารถพกพาได้ง่ายด้วยคนๆ เดียว และมีสมรรถนะทำลายล้างสูงในระยะไกล

อาวุธที่ได้รับความนิยมอีกอย่างหนึ่งคืออาวุธที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก "เครื่องยิงลูกระเบิดติดปืนเล็กยาว" ที่เรียกว่า "เอเนกา" ซึ่งเป็นอาวุธที่แรกเริ่มเดิมทีแล้วได้รับการผลิตในเบลเยียมตั้งแต่ราวปี 2493-2503 มันคือเครื่องยิงลูกระเบิดแบบที่เอาไว้ติดปืนเล็กยาวหรือไรเฟิล สามารถยิงลูกระเบิดโดยอาศัยกำลังส่งจากปลอกกระสุนปืนที่บรรจุตัวส่งแรงแบบไม่มีควันทำมาจากตัวจุดระเบิดสองลูก

อาวุธนี้เป็นที่นิยมมากจนถึงขั้นทำให้กลุ่ม PDF เมืองอะยาดอ ประกาศให้เดือน ต.ค. เป็นเดือนแห่ง "ปฏิบัติการเอเนกา" และกำลังทำการผลิตกระสุนโดยอาศัยโรงงานผลิตอาวุธชั่วคราวที่สร้างมาจากเงินบริจาค ทาง PDF บอกว่าการกระสุนที่ใช้ยิงอาวุธนี้มีต้นทุนราว 40,000 จ๊าด (ราว 700 บาท) แล้วพวกเขาก็เรียกร้องขอเงินบริจาคจากประชาชนมากขึ้น

โกโมเว นักรบ PDF Tabayin บอกว่าการเปลี่ยนจากปืนทูมีมาใช้อาวุธประทับบ่ายิงสามารถทำให้พวกเขาสามารถปฏิบัติการโจมตีในเชิงรุกหนักได้มากกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่นกรณีเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีกลุ่ม PDF จากเมืองอะยาดอ และดีบะหยิ่น บุกถล่มค่ายทหารพม่า  ในขณะเดียวกันกับที่พวกเขายิงปืนครกทำเองกับเครื่องยิงระเบิดแบบประทับบ่าใส่ค่ายทหารนี้ซ้ำๆ กองกำลัง PDF อะยาด่อ แถลงว่าทหารฝ่ายศัตรูถูกบีบให้เคลื่อนพลไปไหนไม่ได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง มีทหารถูกสังหารไป 10 รายรวมถึงระดับเจ้าหน้าที่ด้วยหนึ่งราย

โกโมเว บอกว่าสาเหตุที่อาวุธของพวกเขามีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นเพราะว่ามีโรงงานผลิตอาวุธที่ทำงานหนัก แต่ก็ยอมรับว่าพวกเขายังทำได้ไม่ดีพอในการโต้ตอบอาวุธฝั่งทหาร ดังนั้นแล้วพวกเขาถึงได้ใช้วิธีการรบแบบกองโจรและดักซุ่มโจมตีเป็นส่วนใหญ่แทนที่จะทำการประจัญหน้าอย่างเปิดเผย

กองกำลังป้องกันตนเองเมืองยอว์ (Yaw PDF) ในภาคมะเกว กล่าวไว้เมื่อเดือนสิงหาคมว่าการพัฒนาอาวุธยิงจรวดแบบประทับบ่าอาจจะสามารถทำให้พวกเขายิงเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพตกได้ โดยมีการเรียกร้องเงินบริจาคจากประชาชน อย่างไรก็ตามกองทัพพม่ามีการใช้เครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธปืน จึงทำให้พวกเขามีความได้เปรียบเหนือกลุ่มกองกำลังต่อต้านรัฐบาล และกองทัพพม่าก็มักจะใช้เครื่องบินรบในรูปแบบที่สร้างความเสียหายรุนแรงต่อพลเรือน

อูลินโฆษกของกลุ่ม Yaw PDF กล่าวว่าพวกเขาไม่มีโรงงานผลิตอาวุธในระดับสูง แต่พวกเขาก็มีเทคโนโลยีในระดับพื้นฐานอยู่บ้าง จากการทดสอบแล้วพวกเขาเชื่อว่าอาวุธใหม่ของพวกเขาจะสามารถยิงเฮลิคอปเตอร์ของเผด็จการทหารตกได้ อย่างไรก็ตามจากข้อเท็จจริงในตอนนี้ PDF ยังไม่สามารถยิงเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายกองทัพพม่าตกได้เลยสักลำ

หนึ่งในปัญหาท้าทายโรงงานผลิตอาวุธของกลุ่มกบฏต่อต้านเผด็จการพม่าคือการเข้าถึงวัตถุดิบ การที่กองทัพพม่าสั่งจำกัดการคมนาคมทำให้กลุ่มต่อต้านเผด็จการต้องปรับตัวด้วยการหาวิธีการในแบบของตนเอง พวกเขาใช้วัตถุดิบเหล็กกล้าโดยอาศัยท่อเก่าๆ ที่ได้จากบึงบ้าง จากรถแทรกเตอร์เก่าๆ บ้าง จากรถจักรยานยนต์เก่าบ้าง หรือแม้กระทั่งจากคันไถ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ากลุ่มต่อต้านรัฐบาลได้อาศัยเสาโทรศัพท์มาหลอมเป็นวัตถุดิบเหล็กเพื่อทำอาวุธ ซึ่งเป็นเสาโทรศัพท์ที่พวกเขาก่อวินาศกรรมเนื่องจากเป็นเสาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพเผด็จการทหาร

ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ดีบะหยิ่น การผลิตอาวุธกลายเป็นกิจการชุมชน มีกลุ่มคนในท้องถิ่นรวมถึงผู้หญิงและเด็กพากันเสาะหาเหล็กจากที่ต่างๆ ของหมู่บ้านเพื่อมาเป็นวัตถุดิบทำขีปนาวุธและกระสุนดาวกระจาย หลังจากที่ทำการค้นหาวัตถุดิบแล้ว พวกเขาก็จะมานั่งรื้อเหล็กเหล่านี้ด้วยกันทำให้มันกลายเป็นเศษเหล็กเล็กๆ และจับมันยัดใส่ในปลอกกระสุนปืนและใส่ในลูกจรวด พวกเขาทำสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับการนั่งดื่มกาแฟแล้วก็ทานละเพ็ดโตะหรือยำใบชาเป็นของว่าง

ชาวบ้านรายหนึ่งบอกว่า พวกเขาใช้เหล็กจากทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่จะหามาได้ไปในการผลิตอาวุธเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กจาก กระป๋อง, ช้อน, สปริงที่แตกหัก ในหมู่บ้านเหล่านี้แร่เหล็กดิบนั้นหายากยิ่งกว่าทองคำ ในระดับที่ทำให้เด็กรู้ว่า พวกเขาควรจะทำอย่างไรเมื่อเห็นเหล็กบนท้องถนน พวกเขาจะเก็บมันแล้วเอาไปให้กับกลุ่ม PDF

ชาวบ้านจำนวนมากมักจะเรียกเศษเหล็กเล็กๆ ที่ใช้ทำอาวุธว่าเป็น "ข้าวหมา" เพื่อเล่นล้อไปกับการที่พวกเขามักจะเรียนทหารของเผด็จการพม่าว่าเป็น "หมา"

มีชาวบ้านอีกคนหนึ่งบอกว่า บางครั้งเขาก็รู้สึกสงสารทหารที่ถูกระเบิดจากอาวุธที่พวกเขาทำ ทหารเหล่านี้คงไม่รู้ว่าเศษเหล็กที่ทะลุเข้าไปในตัวพวกเขามีที่มาจากอะไรบ้าง


ได้รับการสนับสนุนจากภายนอกน้อยมาก เลยต้องทำเอง

กลุ่มต่อต้านเผด็จการในเมืองอังยะ ไม่ได้อาศัยแค่อาวุธทำเองแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น มีอาวุธจำนวนหนึ่งที่มาจากกองทัพสหรัฐว้า (USWA) และกองทัพแห่งอิสรภาพกะฉิ่น (KIA) สองกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีกำลังรบมากที่สุด ซึ่งการรับอาวุธจากสองกองกำลังนี้ยังคงดำเนินอยู่แต่ก็ไม่มากพอที่จะติดอาวุธให้กับนักรบต่อต้านเผด็จการทหารหลายพันคน

กองกำลัง USWA ไม่ได้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านเผด็จการทหารกลุ่มหลักในพม่า ดังนั้นแล้วอาวุธที่มาจากกองทัพว้าจึงนับได้ว่าเป็นอาวุธที่มาจากกลุ่มภายนอก ส่วน KIA นั้นมีการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลคู่ขนานฝ่ายต่อต้านเผด็จการที่เรียกว่า "รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ" (NUG) มากกว่า ถึงแม้ว่าจะมีนักรบ KIA จำนวนมากที่ปฏิบัติการภาคพื้นดินด้วยตัวเองโดยไม่ขึ้นกับฝ่ายการเมืองของกลุ่มต้านเผด็จการ

กลุ่ม KIA ได้บริจาคอาวุธส่วนหนึ่งโดยตรงให้กับ PDF แต่อาวุธส่วนใหญ่เหล่านี้มักจะส่งต่อให้กับกลุ่มที่ปฏิบัติการใกล้ๆ กับชายแดนระหว่างภาคสะกายกับรัฐคะฉิ่น โดยเฉพาะในเมืองกะตา กอลิน และจุนหล้า

โป่นากะผู้นำกลุ่มต่อต้านเผด็จการพม่าที่มีชื่อเสียงในเมืองปะเล ของภูมิภาคสะกาย ผู้ที่เป็นผู้นำกองกำลังเมียนมารอยัลดรากอนอาร์มี (MRDA) เคยกล่าวในเชิงตัดพ้อเอาไว้เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า มีความล่าช้าในการส่งอาวุธให้กับกลุ่มของพวกเขา จากที่พวกเขาขอสั่งอาวุธมาจากกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลเงา NUG

แถลงการณ์ของโป่นากะระบุว่าทางกองกำลัง MRDA เคยจ่ายเงินสั่งซื้อ "อาวุธหนัก" จาก NUG เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ในนั้นมีระบบต่อต้านอากาศยานแบบพกพาได้ (MANPADS) ซึ่งเป็นเครื่องยิงขีปนาวุธจากพื้นดินสู่ท้องฟ้าซึ่งจะลดประสิทธิภาพการรบทางอากาศของกองทัพพม่าลงได้ โดยที่ในพม่านั้นมีกองทัพว้า UWSA ที่สามารถเข้าถึง FN-6 MANPADS ซึ่งผลิตในจีนได้ จุดนี้มักจะถูกมองว่าเป็นเหตุผลใหญ่ๆ ที่ว้าสามารถแบ่งแยกพื้นที่ปกครองตัวเองออกไปได้อย่างเต็มที่ในพื้นที่ของรัฐฉาน

ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ยีมน รัฐมนตรีกลาโหมของรัฐบาล NUG แถลงยอมรับว่ารัฐบาลคู่ขนานของ NUG ประสบความยากลำบากในการติดอาวุธให้กับนักรบต่อต้านเผด็จการ "ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะช่วยเหลือติดอาวุธให้กับกองกำลัง PDFs พวกเราได้รับการสนับสนุนแต่เพียงจากประชาชนชาวพม่าเท่านั้น" รัฐมนตรีกลาโหมรัฐบาล NUG ยังบอกอีกว่าถ้าหากมีการจัดตั้งสายการบังคับบัญชาอย่างเป็นทางการแล้ว "อาวุธจะตามมาเอง"

สิ่งที่กลุ่มต่อต้านเผด็จการพม่าพอจะฝากความหวังเอาไว้ได้ในตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้นโรงงานเล็กๆ ของพวกเขาที่ทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน อาศัยเครื่องปั่นไฟที่ส่งเสียงอยู่ภายใต้กระท่อมเล็กๆ ในหมู่บ้าน

อูลินจากกลุ่ม Yaw PDF กล่าวว่า "ผมอยากจะพนันว่าเราจะใช้อาวุธไหนยิงเฮลิคอปเตอร์ตกได้ก่อนกัน ระหว่าง FN-6 กับ จรวดทำมือของพวกผม"

เรียบเรียงจาก

‘Ready to kill’: Inside the weapons factories of the resistance, Frontier Myanmar, 26-10-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net