Skip to main content
sharethis

เมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว สีจิ้นผิง ขึ้นแท่นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อเป็นสมัยที่ 3 ทำให้มีความเป็นห่วงว่าลัทธิการนำเดี่ยวแบบ 'สตรองแมน' จะก่อปัญหาหรือไม่ทั้งในประเด็นเศรษฐกิจและกรณีไต้หวัน ขณะที่มีรายงานของผู้สื่อข่าวที่จับตาประเด็นจีนเสนอว่าว่าสีจิ้นผิงอาจจะไม่ได้ 'สตรอง' อย่างที่เห็น

พิธีเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 เมื่อ 16 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา (ที่มา: Wikipedia)

เฟลิม ไคน์ นักข่าว-นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญประเด็นจีนและคอยสังเกตการณ์จีนมาเป็นเวลามากกว่า 20 ปี เขียนบทความลงในส่วนไชนาวอทเชอร์ของสื่อโปลิติโค ระบุว่าในขณะที่สีจิ้นผิงจะยังคงอยู่ยาวไปอีก 5 ปีข้างหน้าในฐานะผู้นำจีนที่สามารถยึดกุมอำนาจของพรรครัฐบาลเอาไว้ได้และมีการประกาศว่าจะตอกย้ำสถานะความเป็นมหาอำนาจของจีนทั้งในบ้านตัวเองกับในต่างประเทศ แต่การแสดงออกว่าตัวเองเข้มแข็งเช่นนี้ก็อาจจะเพราะว่าเขากำลังปกปิดจุดอ่อนของตัวเองอยู่ก็เป็นไปได้

เคยมีบทวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าเศรษฐกิจของจีนกำลังชะลอตัวลง และมีนักวิเคราะห์รายอื่นๆ มองว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานโยบายของสีจิ้นผิงสร้างปัญหาหน้าปวดหัวให้กับเศรษฐกิจจีน ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย COVID เป็นศูนย์ หรือการปราบปรามภาคเอกชนของจีนตั้งแต่ปลายปี 2563 ก็ทำให้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน สงครามที่รัสเซียทำกับยูเครนจนส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกก็ยิ่งตอกย้ำปัญหานี้

ทำให้จากที่จีนเคยถูกประเมินว่าอาจจะกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดถึงระดับแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ในอีกราวสิบปีข้างหน้า ก็อาจจะกลายเป็นว่าพวกเขาต้องเผชิญปัญหาใหญ่แทน
 
ในตอนที่มีการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สีจิ้นผิงตอกย้ำการที่เขาจะดำรงตำแหน่งต่อไป ไปพร้อมๆ กับการจัดตั้งกลุ่มผู้นำระดับสูงของพรรคที่เต็มไปด้วยคนจงรักภักดีต่อเขาและกวาดล้างกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ เรื่องนี้อาจจะมองได้ว่าเป็นแสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นและความเข้มแข็งของพรรค แต่ในขณะเดียวกันปัญหาเศรษฐกิจของจีนที่เป็นจุดอ่อนอยู่ในตอนนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพวกเขา

ธนาคารโลกเคยประเมินไว้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่าคนรุ่นใหม่ในจีนตกงานประมาณร้อยละ 19 ซึ่งถือว่าสูงในระดับอันตรายสำหรับพรรคการเมืองที่โฆษณาตัวเองเรื่องการพัฒนามาตรฐานคุณภาพชีวิตเพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีการบริหารจัดการปกครองที่ดี

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าสงครามที่รัสเซียก่อกับยูเครนจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่สีจิ้นผิงก็ปฏิเสธไม่ยอมยกเลิกการเป็นพันธมิตร "อย่างไม่มีข้อจำกัด" กับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย และสีจิ้นผิงก็ยังคงยืนยันจะใช้นโยบาย COVID เป็นศูนย์ต่อไปด้วยถึงแม้ว่ามันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็ตาม นอกจากนี้ไคน์ยังมองว่าการที่รัฐบาลจีนจะใช้อำนาจในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจให้เป็นไปตามอุดมคติของสีจิ้นผิงเองซึ่งเน้นการแทรกแซงอย่างหนักแทนที่จะสนับสนุนการเติบโตของภาคส่วนเอกชนที่กำลังเบ่งบาน จะยิ่งทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนหยุดชะงักยิ่งกว่าเดิม

การที่สีจิ้นผิงประกาศอยู่ยาวเป็นสมัยที่สามส่งผลกระทบต่อตลาดการลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว หลังจากที่หุ้นของภาคส่วนเทคโนโลยีของจีนดิ่งลงอย่างหนัก เพราะความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจของสีจิ้นผิง

เกิดอะไรขึ้นกันแน่เมื่อ 'หูจินเทา' ถูกพาออกจากการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน, 24 ต.ค. 65

ประเมินความเป็นไปได้ 4 แบบ ที่จะเกิดกับการสืบทอดอำนาจผู้นำจีน 'สีจิ้นผิง', 17 ต.ค. 64

ไคน์ประเมินว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถกุมอำนาจไว้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าพวกเขามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างคงเส้นคงวามาเป็นเวลาหลายสิบปี ถ้าหากสีจิ้นผิงไม่สามารถทำได้ดีในเรื่องนี้ก็จะทำให้การกุมอำนาจของเขาเสี่ยงจะสั่นคลอนได้

อเล็กซ์ เกรย์ อดีตเสนาธิการของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และนักวิจัยอาวุโสของสภานโยบายต่างประเทศอเมริกันกล่าวว่าจีนจะเผชิญปัญหาภายใต้ "นโยบายทางเศรษฐกิจของสีจิ้นผิงที่ก่อหายนะและการเสียสมดุลเชิงโครงสร้างที่เป็นอันตรายในหลายเรื่อง เช่น อัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง, ตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่ไม่มากพอ และการตัดสินใจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อนานมาแล้วที่ผูกโยงมรดกทางการเมืองของพวกเขากับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน"

ไคน์มองว่าการที่สีจิ้นผิงเผชิญกับเรื่องเหล่านี้ อาจจะเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีไปได้หลากหลายแบบซึ่งจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับทั่วโลก เป็นไปได้ว่าสีจิ้นผิงอาจจะหันไปเน้นแก้ไขปัญหาในบ้านตัวเอง แต่ก็มีอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นไปได้คือสีจิ้นผิงจะหันมาเหวี่ยงใส่ประเทศอื่น

เกรย์บอกว่าปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศจีนทำให้ "มีความเป็นไปได้สูง" ที่สีจิ้นผิงจะหันมาใช้กองทัพท้าทายภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ซึ่งเป็นการพยายามปกปิดความอ่อนแอภายในบ้านตัวเอง

คริสเทน กันเนส อดีตผู้อำนวยการของกลุ่มที่ปรึกษากองทัพเรือเอเชียแปซิฟิกที่เพนทากอน ผู้ที่ปัจจุบันทำงานเป็นนักวิจัยที่องค์กรคลังสมองไม่แสวงหากำไรแรนด์คอร์เปอร์เรชันกล่าวว่า เป็นไปได้ที่จีนจะเพิ่มการโฆษณาชวนเชื่อทางการทหารและมีแถลงการณ์อย่างก้าวร้าวมากขึ้นต่อไต้หวัน หรืออาจจะมีการวางกำลังทัพเพิ่มมากขึ้นโดยรอบไต้หวัน

ไคน์มองว่าจีนยังคงเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจที่มีโอกาสนำหน้าสหรัฐฯ ได้ในราวสิบปีข้างหน้า ภาคส่วนการผลิตขนาดใหญ่ทำให้จีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก และการที่จีนต้องการวัตถุดิบจำนวนมากในการขับเคลื่อนฟันเฟืองทางเศรษฐกิจเช่นนี้ก็ทำให้พวกเขากลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 1 ของสหรัฐฯ, ของสหภาพยุโรป และประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสีจิ้นผิงก็ทำลายความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอื่นจากการที่เขาใช้ยุทธวิธีคุกคามทางเศรษฐกิจต่อประเทศที่มีนโยบายที่สร้างความขุ่นเคืองแก่จีน

ตัวอย่างเช่น กรณีที่จีนสั่งจำกัดการนำเข้าจากออสเตรเลียเมื่อปี 2563 เพื่อเป็นการโต้ตอบที่ออสเตรเลียเรียกร้องให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับต้นตอของ COVID-19 อีกกรณีหนึ่งคือการที่จีนโต้ตอบลิทัวเนีย เพราะลิทัวเนียไปสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไต้หวัน จีนทำการคว่ำบาตรสินค้าลิทัวเนียและทำการขู่ไม่ให้บริษัทจากจีนซื้อผลิตภัณฑ์จากลิทัวเนีย

นอกจากนี้ถึงแม้ว่าสีจิ้นผิงจะพยายามดำเนินโครงการในเชิงที่จะเอาเงินจากการลงทุนทางเทคโนโลยีไปเพิ่มให้กับโครงการสวัสดิการสังคม แต่วิธีการจัดการของโครงการนี้กลับจัดการได้ไม่ดีและเน้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่รัฐเป็นเจ้าของ ทำให้กลายเป็นการสร้างภาระทางเศรษฐกิจและเน้นพึ่งพิงเงินสนับสนุนจากภาครัฐมากเกินไป

เด็กซ์เตอร์ โรเบิร์ต นักวิจัยอาวุโสผู้เชี่ยวชาญเรื่องนโยบายเศรษฐกิจจีนจากองค์กรการริเริ่มด้านความมั่นคงเอเชียของสภาแอตแลนติกกล่าวว่า สีจิ้นผิงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเขาชอบใช้ระบบเศรษฐกิจแบบอาณัติสั่งการ มีการเน้นเรื่องการควบคุมและเรื่องการปกปิดความลับมากเกินไป

จีนภายใต้สีจิ้นผิงยังต้องเผชิญกับการบีบคั้นจากภายนอกมากขึ้นด้วย เช่นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้สกัดกั้นความพยายามของสีจิ้นผิง ที่ต้องการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านนโยบาย "การพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้นและการเน้นความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น" ด้วยการจำกัดการส่งออกที่จะส่งผลทำให้จีนขาดแคลนไมโครชิปที่จะนำไปใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ขั้นสูงและในยุทโธปกรณ์ทางการทหาร

ทั้งนี้ สีจิ้นผิงยังได้ทำให้จีนกลายเป็นรัฐสอดแนมประชาชนมากขึ้น และมีการควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนมากขึ้นเพื่อสกัดกั้นผู้ต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจของเขาภายในประเทศ แต่นโยบายนี้ก็ไปสร้างความบาดหมางกับผู้ที่มีอำนาจในพรรคของเขา ที่อาจจะกลายเป็นอันตรายต่อสีจิ้นผิงเอง

จอห์น ลี อดีตที่ปรึกษารัฐบาลออสเตรเลียเกี่ยวกับเอเชียผู้ที่ปัจจุบันทำงานให้สถาบันฮัดสันกล่าวว่า "จะมีการต่อต้านต่อนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมจัดของสีจิ้นผิงจากกลุ่มชนชั้นนำภายในพรรคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นชนวนให้เกิดการขาดเสถียรภาพทางการเมือง

ไคน์มองว่าถ้าหากจีนยังประสบปัญหาเศรษฐกิจหนักขึ้นกว่าเดิมจนส่งผลกระทบให้จีนหันไปหานโยบายการต่างประเทศแบบก้าวร้าว ไต้หวันก็อาจจะตกเป็นเหยื่อในเรื่องนี้ สีจิ้นผิงเคยกล่าวย้ำไว้เมื่อเดือนตุลาคม "จะไม่ให้สัญญาว่าพวกเขาจะไม่ใช้กำลังทหาร" ในการพยายามหาเรื่องรวมประเทศกับไต้หวัน

รัฐบาลไบเดนก็เล็งเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอันตรายมากขึ้น จากการที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน เคยเตือนไว้ว่าจีนอาจจะเร่งการพยายามรวมช่าติกับไต้หวันให้เร็วขึ้น ผู้บัญชาการฝ่ายยุทธการทหารเรือของสหรัฐฯ พลเรือเอก ไมค์ กิลเดย์ ก็เคยประเมินไว้ว่าจีนอาจจะเลื่อนเวลาทำการรุกรานไต้หวันมาเป็นภายในปีนี้หรือปีหน้า (2566)

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีผู้ไม่เห็นด้วย ลอนนี เฮนลีย์ อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯ ที่เชี่ยวชาญเรื่องการทหารของจีนบอกว่า การโจมตีไต้หวันนั้นสร้างความเสี่ยงมากเกินไปให้กับสีจิ้นผิง ทำให้เขาไม่น่าจะก่อเหตุรุกรานใดๆ ไม่ว่าสภาพในจีนจะเผชิญปัญหาย่ำแย่มากแค่ไหนก็ตาม

เฮนลีย์บอกว่า การทำสงครามกับไต้หวันจะกลายเป็นภัยต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนเอง ซึ่งมันจะเป็นทางเลือกลำดับสุดท้ายที่สีจิ้นผิงจะใช้เบี่ยงเบนความสนใจไปจากปัญหาในบ้านตัวเอง ทำให้ทฤษฎีที่ว่าสีจิ้นผิงจะเหวี่ยงใส่ไต้หวันเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาเศรษฐกิจในจีนนั้นเป็นทฤษฎีที่เฮนลีย์ไม่เห็นด้วย

ไคน์ตั้งข้อสังเกตว่า สีจิ้นผิงมักจะทำลายลักษณะดั้งเดิมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยการเพิ่มอำนาจให้ตัวเองและดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบสายเหยี่ยวคือเน้นใช้กำลังมากกว่าอำนาจอ่อนทางการทูต โดยมีการใช้โวหารปลุกปั่นชาตินิยมอย่าง "การฟื้นฟูชาติ" ซึ่งเชื่อมโยงกับ "บูรณภาพเขตแดน" ของจีน ซึ่งไม่ได้ตัดทางเลือกที่จะใช้กำลังทหารออกไปถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงมากก็ตาม

โรเบิร์ต แฮดดิก อดีตผู้รับเหมาให้กับหน่วยบัญชาการปฏิบัติการพิเศษสหรัฐฯ และนักวิจัยรับเชิญอาวุโสของสถาบันมิตเชลล์เพื่อการศึกษาอากาศยานและสมาคมกองทัพอากาศกับกองทัพอวกาศ กล่าวว่า สีจิ้นผิงเป็นคนที่ชอบเสี่ยงและมีความมั่นใจสูง หากแต่ว่าเขาเป็นคนที่ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด มีการตัดสินใจผิดพลาดและประเมินผิดพลาดว่าศัตรูของเขาอ่อนแอ นอกจากนี้ แฮดดิก ยังบอกอีกว่า ก่อนหน้านี้มีอยู่น้อยคนมากที่จะประเมินว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียจะไร้เหตุผลมากพอที่จะรุกรานยูเครนจริง แต่ปูตินก็ทำ จึงเป็นไปได้ที่สีจิ้นผิงอาจจะทำอะไรไร้เหตุผลเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน

เรียบเรียงจาก

China’s strongman is here to stay. And weaker than he looks., PHELIM KINE, Politico, 24-10-2022

China’s economy is ‘in deep trouble’ as Xi heads for next decade in power, CNN, 15-10-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net