Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจบริษัท 1.2 ล้านแห่งทั่วญี่ปุ่น ณ เม.ย. 2565 พบมีประธานบริษัทที่เป็นผู้หญิง 8.2% ถือเป็นสถิติใหม่ แต่ยังน้อยกว่า 10% สะท้อนให้เห็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจของญี่ปุ่น


ที่มาภาพประกอบ: Igor Mróz (CC BY-NC 2.0)

17 ธ.ค. 2565 Teikoku Databank เปิดเผยผลสำรวจบริษัท 1.2 ล้านแห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่า ณ เม.ย. 2565 สัดส่วนของประธานบริษัทที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากปี 2564 เป็นร้อย 8.2 แม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่องรวมเป็นร้อยละ 3.5 ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา แต่อัตรานี้ยังคงน้อยกว่าร้อยละ 10

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลจาก Teikoku Databank  ชี้ว่าประธานบริษัทหญิงส่วนใหญ่ร้อยละ 50.7 ประสบความสำเร็จในบทบาทดังกล่าวในธุรกิจครอบครัว เทียบกับผู้ชายที่ร้อยละ 40, ผู้หญิงที่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นประธานจากการสรรหาภายในองค์กรคิดเป็นร้อยละ 8.4 ในขณะที่ตัวเลขนี้สำหรับผู้ชายอยู่ที่ร้อยละ 11.8 และการสรรหาจากภายนอกร้อยละ 1.4 ส่วยผู้ชายอยู่ที่ร้อยละ 2.2 แบบแผนนี้ได้บ่งชี้ว่าผู้หญิงระดับผู้บริหารเปลี่ยนงานน้อยกว่าผู้ชาย

ทั้งนี้ในรายงาน Global Gap Report ของ World Economic Forum ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ค. 2565 ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 116 จาก 146 ประเทศ และตกจากอันดับที่ 117 เป็น 121 ในหมวดเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังจัดอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกในด้านความเท่าเทียมกันของค่าจ้างและสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหาร แม้รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดวาระ "การส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของผู้หญิงในที่ทำงาน" เป็นนโยบายหลัก แต่ยังดูเหมือนว่ายังไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างเพียงพอในการผลักดันความก้าวหน้าของผู้หญิงในด้านเศรษฐกิจ

รายงานของ World Economic Forum ได้วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติต่างๆ เกี่ยวกับสถานะของผู้หญิงโดยใช้ข้อมูล 4 ประเภท ได้แก่ เศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ และการเมือง ดัชนีช่องว่างระหว่างเพศขึ้นอยู่กับค่าใดค่าหนึ่งซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดที่เป็นไปได้ ซึ่งบ่งชี้ว่าบรรลุความเท่าเทียมทางเพศแล้ว 

ในบรรดากลุ่มประเทศ G7 เยอรมนีอยู่ในอันดับที่ 10 ในด้านความเสมอภาคทางเพศ ตามมาด้วยฝรั่งเศส (15) อังกฤษ (22) แคนาดา (25) สหรัฐอเมริกา (27) และอิตาลี (63) ซึ่งมีเพียงญี่ปุ่นประเทศเดียวเท่านั้นในกลุ่ม G7 ที่ไม่ติด 100 อันดับแรก

ทั่วโลก ช่องว่าความเท่าเทียมทางเพศกว้างที่สุดอยู่ในหมวดการเมือง ซึ่งญี่ปุ่นรั้งอันดับ 139 จากทั้งหมด 146 อันดับ เนื่องจากมีสัดส่วนผู้หญิงในรัฐสภาเพียงร้อยละ 9.7 และตำแหน่งรัฐมนตรีร้อยละ 10 การที่ผู้หญิงไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาก็ส่งผลต่ออันดับนี้เช่นกัน

ในหมวดเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นตกจากอันดับที่ 117 มาอยู่ที่ 121  เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่รวมถึงความเท่าเทียมกันของค่าจ้าง สัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารที่มีน้อยมากในภาคธุรกิจ

 

ที่มา
A New High, But Still Only 8.2% of Japanese Companies Have Female Presidents (nippon.com, 12 December 2022)
Japan Ranks 116th in 2022 Global Gender Gap Report (nippon.com, 15 July 2022)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net