Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน เร่งรัดสถานประกอบการ ยื่นให้สิทธิผู้พิการ ภายใน 3 ม.ค. 2566 นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการทั้งเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องรับผู้พิการที่สามารถทำงานได้เข้าทำงาน ในอัตราส่วนลูกจ้างที่ไม่ใช่คนพิการ 100 คน ต่อผู้พิการ 1 คน เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งหากนายจ้าง/สถานประกอบการ หรือหน่วยงานของรัฐ ไม่ประสงค์จะจ้างงานคนพิการ หรือส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถเลือกให้สิทธิตามมาตรา 35 แทนได้ โดยมูลค่าของสัญญาต้องไม่น้อยว่า 114,245 บาทต่อปี แบ่งเป็น 7 ประเภทสิทธิ ได้แก่ 1.การให้สัมปทาน 2.จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ 3.จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือ จ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ 4.ฝึกงาน 5.จัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก 6.ล่ามภาษามือ และ7.การให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ โดยต้องขออนุญาตจากกรมการจัดหางานก่อนดำเนินการ ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม ของแต่ละปี ดังนั้น ฝากถึงนายจ้าง สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป เร่งดำเนินการให้สิทธิผู้พิการ ภายในวันที่ 3 มกราคม 2566

สามารถติดต่อขอรับบริการได้ 2 ช่องทาง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านระบบออนไลน์ e-Services กรมการจัดหางาน e-service.doe.go.th

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 23/12/2565

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้โควิดซ้ำเติมเด็กจบใหม่ให้ว่างงานเพิ่มขึ้น ไตรมาส 2/2564 เด็กไทยตกงานราว 2.9 แสนคน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานผ่านบทความ  "Youth unemployment : ส่องตลาดแรงงานเด็กจบใหม่ยุค COVID-19" โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ตลาดแรงงานของเด็กจบใหม่ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมาระยะหนึ่งแล้ว และยังถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของโควิด โดยตัวเลขการว่างงานของเด็กจบใหม่ หรือการว่างงานของกลุ่มเยาวชนในช่วงอายุ 15-24 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากภาวะปกติเกือบแสนคน สะท้อนถึงปัญหาของตลาดแรงงานเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่จะเป็นแรงงานมีฝีมือในระยะข้างหน้า

สำหรับสาเหตุที่ทำให้การวางงานในกลุ่มเด็กจบใหม่ของไทยอยู่ในระดับสูง อาทิ

1. เกิดจากตำแหน่งงานว่างไม่สอดคล้องกับทักษะ วุฒิการศึกษา ค่าธรรมเนียม 

(1.) ความต้องการแรงงานส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคเป็นกลุ่มอาชีพพื้นฐาน อาทิ แรงงานทั่วไป แม่บ้าน และเน้นวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี สะท้อนปัญหา คนมีระดับวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับงาน

(2) บางบริษัทขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี อาทิ โปรแกรมเมอร์ Data Scientist ซึ่งค่อนข้างหายากในภูมิภาค โดยเป็นสาขาที่คนจบมาน้อย

(3.) เด็กจบใหม่บางส่วนจึงนิยมออกไปประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการค้า และบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4.6 หมื่นคนในปี 2562 เป็น 5.6 หมื่นคนในปี 2564

2. ธุรกิจมีแนวโน้มลดการพึ่งพาการใช้คน และลงทุนในเทคโนโลยี ดิจิทัลมากขึ้น

(1.) บางบริษัทมีการปรับลดจำนวนพนักงาน โดยบางส่วนให้พนักงานทำหลายหน้าที่มากขึ้น และนำเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน

(2.) ตลาดแรงงานมีการแข่งขันเข้มข้นมากขึ้น ส่งผลให้เด็กจบใหม่มีโอกาสได้รับการเข้าทำงานยากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่เคยมีประสบการณ์ทำงาน

การว่างงานของเด็กจบใหม่ มีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบในระยะยาว โดยเฉพาะการเกิดช่องว่างของทักษะการทำงาน  หากคนกลุ่มนี้ว่างงานยาวนาน 2-3 ปี จะยิ่งส่งผลให้เข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น ประกอบกับยังมีกลุ่ม เด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานราวอีก 4-5 แสนคนในแต่ละปี 3 ทำให้ตลาดแรงงานในอนาคตยิ่งน่ากังวลมากขึ้น

นอกจากนี้ การระบาดของโควิด กระทบต่อตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กจบใหม่ โดยจำนวนเด็กจบใหม่ว่างงานเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ของปี 2564  ที่มีจำนวนถึง 2.9 แสนคน โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา แม้ปัจจุบันการว่างงานโดยรวม จะทุเลาลงบ้าง แต่ยังสูงกว่าระดับเฉลี่ยก่อนการระบาดของโควิด

ทั้งนี้ จากข้อมูล Google trend ยังพบว่า ความสนใจในการค้นหางานของเด็กจบใหม่ซึ่งยังไม่สามารถหางานทำได้ หรือตกงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในช่วงที่โควิดระบาดหนัก โดนหากมองในสาขาที่ยังมีจำนวนผู้ว่างงานสูงที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด ได้แก่ ภาคบริการและการค้า โดยเฉพาะในกทม. ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เด็กจบใหม่ไทยเลือกศึกษา จึงอาจซ้ำเติมปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่มากขึ้น อีกทั้งแต่ละสาขา โดยเฉพาะภาคการค้าและบริการยังจำเป็นต้องใช้เวลาฟื้นตัว จึงยิ่งมีแนวโน้มหางานได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การว่างงานของเด็กจบใหม่ไม่ได้เป็นปัญหาที่พบแค่ในไทย แต่หลายประเทศเกิดขึ้นก่อนไทย อาทิ สิงคโปร์ เยอรมนี และเกาหลีใต้

สำหรับไทย ภาครัฐมีมาตรการแก้ปัญหาการว่างงานในกลุ่มเด็กจบใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาคุณภาพแรงงาน และการจัดหางานและในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด รวมทั้งได้ออกมาตรการเพิ่มเติม อย่างโครงการ Co-payment ที่มีการสนับสนุนค่าจ้างไม่เกิน 50% ให้กับนายจ้างที่จ้างเด็กจบใหม่ตามวุฒิการศึกษา และการจ้างงานจากหน่วยงานภาครัฐในลักษณะสัญญาชั่วคราว 1 ปี 6 ซึ่งมีส่วนช่วยให้ปัญหาดังกล่าวของไทยปรับดีขึ้น สอดรับกับช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม หากมองไปข้างหน้า ประสบการณ์จากต่างประเทศที่ได้เผชิญกับปัญหาดังกล่าวก่อนไทย สะท้อนว่า การว่างงานของเด็กจบใหม่จะยังคงเป็นประเด็นของตลาดแรงงานไทยไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งภาครัฐได้เตรียมรับมือโดยมีมาตรการระยะยาว อย่างการผลักดันการพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC และขยายผลโครงการ E-Workforce Ecosystem  รวมทั้งนำแนวทางการแก้ปัญหาของหลายประเทศมาปรับใช้ เพื่อช่วยเสริมสร้างให้แรงงานไทยพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกใหม่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 23/12/2565

เมื่อเทรนด์จ้างงานเปลี่ยนไป 'เด็กจบใหม่' กำลังมีโอกาสสดใสใน 'ตลาดแรงงาน'

เศรษฐกิจทุกวันนี้ไม่ค่อยดี, จบไปแล้วจะหางานได้ไหม, ไม่มีประสบการณ์จะไปสู้เขาได้ไง และอีก ฯลฯ คือคำพูดที่ส่งผลด้านลบต่อความมั่นใจของเด็กจบใหม่ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงานมาทุกยุคทุกสมัย

ในอดีตเรามักคิดว่าเด็กจบใหม่หางานได้ยาก ต้องเตะฝุ่นสักระยะถึงจะหางานได้ ซึ่งสาเหตุหลักๆของความเชื่อนี้ก็หนีไม่พ้นความคิดที่ว่า องค์กรส่วนใหญ่มักเลือกพนักงานจากประสบการณ์ และการเคยผ่านงานมาบ้างก็น่าจะเป็นแต้มต่อหากต้องแข่งขันในตลาดแรงงานใหม่

ถึงเช่นนั้น ความคิดแบบที่ว่าก็ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป เพราะแนวโน้มของทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการเปลี่ยนไปตลอดเวลา และล่าสุด “จ๊อบส์ดีบี” (JobsDB) แพลตฟอร์ม หางานที่หลายคนคุ้นเคยได้สำรวจความคิดเห็นบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กในประเทศไทยจำนวน 429 บริษัท ถึงแนวโน้มการจ้างงาน ผลตอบแทน และสวัสดิการ ปี 2565-2566 ซึ่งพบอินไซด์ของการจ้างงาน ที่เปลี่ยนมุมมองสำหรับ “เด็กจบใหม่”

ผลสำรวจ JobsDB  ระบุว่า เมื่อโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้คนจึงกลับมาใช้ชีวิตปกติ และทำให้สถานการณ์การจ้างงานของผู้ประกอบการเริ่มกลับมาคึกคักขึ้น โดยปัจจุบันนี้ 48% ขององค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 160 คน เริ่มกลับมาจ้างงาน และต้องการจ้างงานพนักงานแบบเต็มเวลามากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 ซึ่งในช่วงนั้น องค์กรต่างๆ ปรับกลยุทธ์การจ้างงานมาเป็นแบบการจ้างพนักงานชั่วคราวเพื่อลดภาระในด้านสวัสดิการ

ที่ชัดเจนคือข้อมูลการจ้างงานในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า 45% ของบริษัทที่ทำการสำรวจ แสดงความต้องการจ้างพนักงานจบใหม่โดยเฉพาะ โดยในจำนวนนี้มีถึง 7 ใน 10 ที่มีการจ้างพนักงานจบใหม่ และมากกว่าครึ่งของบริษัทขนาดใหญ่จ้างนักศึกษาฝึกงานเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว

ทำไมบัณฑิตจบใหม่ถึงกลายเป็นที่นิยมในตลาดแรงงาน?  นั่นก็วิเคราะห์ได้ไม่ยากว่า เป็นเพราะเด็กจบใหม่มีค่าจ้างที่ต่ำกว่าพนักงานที่มีประสบการณ์ ซึ่งเมื่อเป้าหมายหลักของธุรกิจส่วนใหญ่คือการทำกำไร การประหยัดเงินเดือนของพนักงานจึงเป็นประโยชน์ทางการเงินแก่บริษัท ขณะที่เมื่อพิจารณารายละเอียดเฉพาะตัวก็จะพบว่า ผู้จบการศึกษาใหม่มักมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ไม่มาก มีความคล่องตัวสูง ซึ่งองค์กรมองว่าเป็นจุดดีมากกว่าหนักงานที่มีประสบการณ์

ในบางสายงานที่ต้องการพลังงานขับเคลื่อนสูง เช่น ฝ่ายขาย งานโปรดักส์ชั่น งานสร้างสรรค์ เด็กจบใหม่ยังมีไฟในการทำงานเต็มเปี่ยม มีความ Active ที่อยากจะทำงาน อยากเรียนรู้ อยากพัฒนาตัวเอง และเมื่อมีการมอบหมายงาน คนกลุ่มนี้จะทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองนั้นมีความสามารถมากพอ

จุดแข็งของกลุ่มคนเริ่มทำงาน หรือ First Jobber ในปัจจุบัน คือการที่ส่วนใหญ่อยู่ในเจเนอเรชั่น  Z (พ.ศ. 2540 – 2555) โดยคนเจนฯ นี้ เกิดและเติบโตมาในยุคดิจิทัล มาพร้อมกับเทคโนโลยี และอินเตอร์เน็ต พวกเขากล้าแสดงออกและกล้าตั้งคำถาม แม้กับผู้ที่อาวุโสกว่า ซึ่งการเอาความคิดของคนกลุ่มนี้มาเป็นพลังงานใหม่ๆในองค์กรย่อมช่วยสร้างความสมดุลในการทำงาน และแม้อุปนิสัยของเจนฯ Z จะมีบางอย่างที่คนเจนฯ X หรือ เจนฯ Y ไม่ถูกใจบ้าง แต่คนกลุ่มนี้มีความเข้าใจพฤติกรรมของยุคสมัย ทำให้เห็นข้อบกพร่องของบริษัท ซึ่งคนที่ทำงานอยู่เดิมไม่เคยเห็นมาก่อน (หรือเห็นแล้วแต่ไม่กล้าพูด)

ยิ่งเมื่อมองในเรื่องทักษะทางเทคโนโลยี ต้องยอมรับว่าหลังโควิด-19 นี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแทบจะเป็นไฟต์บังคับของการทำงาน การที่มีบัณฑิตจบใหม่จึงเปรียบเสมือนการนำบุคลากร ที่เป็น Digital Native เข้ามาเป็นส่วนผสม พนักงานกลุ่มนี้สามารถทำงานออนไลน์ได้ทั้งกระบวนการ มีตรรกะและวิธีคิดที่ถูกปรับให้เข้ากับสังคมดิจิทัลโดยธารรมชาติ แตกต่างจากคนจากเจนฯ ก่อนหน้า ที่เป็น Digital Immigrant ซึ่งแม้จะเรียนรู้พื้นฐานการใช้เทคโนโลยี แต่ก็อาจมีพื้นฐานวิธีคิดที่ยังไม่พ้นจากโลกใบเดิม

ถึงตรงนี้ แม้เนื้อหาจะบอกว่า ทิศทางของตลาดแรงงานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่มีแนวโน้มสดใส แต่ก็เป็นเฉพาะผู้จบใหม่ที่เตรียมพร้อมแล้วเท่านั้น เพราะผลสำรวจข้างต้นได้ระบุว่า เมื่อนักศึกษาจบใหม่มีประสบการณ์ทํางานน้อยหรือไม่มีเลย บริษัทจึงมุ่งเน้นไปที่การสัมภาษณ์เพื่อให้เห็นถึงทัศนคติ ศักยภาพ และความตรงต่อเวลา  โดยหลักเกณฑ์ที่บริษัทพิจารณามากที่สุด 3 อันดับแรกในการรับเด็กจบใหม่คือการสัมภาษณ์ 52% ,ทัศนคติ ความตรงต่อเวลา 50% , สาขาที่จบ 42% ซึ่งไม่ต่างจากปัจจัยทั่วไปในการรับบุคคลเข้าทำงานซึ่งองค์กรจะพิจารณาจาก ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง 69%, คุณสมบัติสำหรับตำแหน่งงาน 55%, บุคลิกภาพ  33%

อันหมายความว่า ผู้ที่ทัศนคติดี บุคลิกภาพเหมาะสม พูดจารู้เรื่อง มีโอกาสถูกจ้างงานได้มากกว่านี่เอง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 22/12/2565

ผู้ประกันตน ม.33 แห่ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยฯ ธอส.

กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ฉัตรชัย ศิริไล ระบุ จากที่ ธอส. และ สำนักงานประกันสังคม เปิดให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ใช้สิทธิในการไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดจากสถาบันการเงินอื่น รวมถึงลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในบัญชีเงินกู้ที่กู้อยู่กับ ธอส. “โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน”  ปรากฏว่ามีผู้ประกันตนกดรับรหัสแล้วกว่า 15,000 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อเกินกว่ากรอบวงเงินโครงการ 30,000 ล้านบาท และมีผู้ประกันตนยื่นกู้กับ ธอส. แล้ว 88 ราย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 22/12/2565

"ภูเก็ต-หาดใหญ่" ขาดแรงงานกว่า 2 หมื่นคน โรงแรมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทำสัญญาระยะสั้น 3-6 เดือน ค่าแรง “แม่บ้าน” สูงถึง 800-1,500 บาท/วัน

นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตในช่วงไฮซีซั่นในปีนี้ค่อนข้างคึกคัก โดยในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 100,000 คน ส่งผลให้สถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก รวมแล้วร่วม 2 หมื่นตำแหน่ง โดยหลายโรงแรมในภูเก็ตอยากกลับมาเปิดกิจการให้ได้ 100% แต่ไม่สามารถทำได้ ทั้งที่มีดีมานด์ของลูกค้า เพราะมีแรงงานไม่เพียงพอให้บริการลูกค้า

ปัจจุบันโรงแรมในภูเก็ตแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่ม 1 กลับมาเติบโต มีนักท่องเที่ยวเท่ากับก่อนเกิดโควิด กลุ่ม 2 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 80% กลุ่ม 3 กลับมา 50-60% และกลุ่ม 4 ยังไม่เปิดกิจการ เพราะติดปัญหาหลายเรื่อง โดยหลัก ๆ คือขาดแหล่งเงินทุนเพื่อกลับมาเปิดกิจการ และขาดแคลนแรงงาน ซึ่งปัญหาขาดแคลนแรงงานไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดทั่วโลก เช่น ตอนยุโรปเปิดประเทศใหม่ ๆ 4-5 เดือนก่อน มีปัญหากระเป๋าโดนกองทิ้งในสนามบิน เพราะหาคนทำงานไม่ได้

นอกจากนี้ หลายโรงแรมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตั้งแต่ 1.ให้พนักงานมีทักษะการทำงานได้หลายอย่าง (Multitasking skills) 2.เพิ่มชั่วโมงการทำงานนานขึ้น (take work hours long) โดยจ่ายค่าล่วงเวลา เพื่อให้ธุรกิจเดินไปได้ 3.จ้างพนักงานชั่วคราว (casual) โดยยอมจ่ายอัตราสูง เช่น ตำแหน่งงานแม่บ้านจ่ายสูง 1-2 เท่า เช่น 1,000-1,200 บาทต่อวัน มีอาหารฟรีให้ 2 มื้อ จากก่อนโควิดจ่ายค่าจ้างแม่บ้าน พนักงานเก็บผ้า 400-500 บาท

รวมถึงพนักงานยกกระเป๋า (BellBoy) บางครั้งมีลูกค้าเข้าจำนวนมากจ่ายให้ 1,000 บาท/วัน และ 4.โรงแรมเปิดรับสมัครพนักงานโดยตรงกับสถานศึกษา หรือทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ให้เรียนไปทำงานไป และเสนอผลประโยชน์ที่มากกว่าเงินเดือน เช่น ที่พักฟรี เป็นต้น

แหล่งข่าวจากโรงแรมหาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดเผยว่าขณะนี้หลายโรงแรมที่กลับมาเปิดกิจการใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีปัญหาขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ขณะที่นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีพนักงานไม่เพียงพอ บางแห่งพนักงาน 1 คนทำหลายหน้าที่ เนื่องจากเดิมก่อนเกิดโควิด บางโรงแรมมีพนักงาน 130 คน ปัจจุบันเหลือ 30 คน โดยพนักงานโรงแรมส่วนใหญ่ในหาดใหญ่เป็นคนในท้องถิ่น และจากจังหวัดใกล้เคียง มีจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงเล็กน้อย ส่วนแรงงานต่างด้าวยังไม่ปรากฏ

ดร.สิทธิพงศ์ สิทธิภัทรประภา นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่สงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงแรม จ.สงขลา เข้าสู่ภาวะขาดแคลนแรงงานหลายพันคน ตอนนี้หากมาสมัคร 100 คนจะรับทั้งหมด สาเหตุเพราะในช่วงโควิด พนักงานไปประกอบอาชีพอื่น โดยตำแหน่งที่ต้องการมาก เช่น แม่บ้าน พนักงานต้อนรับ ฯลฯ ทางสมาคมจึงทำเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา (มทร.ศรีวิชัย) รับนักศึกษาระดับหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาบริหารธุรกิจ เข้าฝึก และทำงานกับโรงแรมในชั้นปีที่ 4 มีเงินเดือนประจำ สวัสดิการเหมือนพนักงานประจำ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 21/12/2565

ครม.ไฟเขียว 6 กิจกรรม "ให้ ฟรี ลด แรงงานสุขใจ” มาตรการของขวัญปีใหม่ 2566

20 ธ.ค. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 เห็นชอบและรับทราบมาตรการของขวัญปีใหม่ 2566 “ให้ ฟรี ลด แรงงานสุขใจ” ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ จำนวน 6 กิจกรรม

1. ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ตาม ม.33 ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 15,000 ราย ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท ตั้งแต่ ม.ค. 2566 เป็นต้นไป

2. ให้เข้าถึงสิทธิการรักษา 5 โรค ตามโรงพยาบาลที่กำหนด 7,500 คน ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม ก้อนเนื้อที่มดลูก โรคนิ่ว โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 30 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป

3. ให้งานทำ “ต้องการทำงาน ต้องได้งานทำ” โดยมีตำแหน่งงานว่าง ที่หลากหลายไว้ให้บริการ รวม 613,754 อัตรา แบ่งเป็นต่างประเทศ 50,000 อัตราและในประเทศ 563,784 อัตรา

4. ฟรี ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการสำหรับผู้ประกันตน 300,000 คน ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จ.สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ให้ได้รับการตรวจสุขภาพ โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตนต่อหัว เฉลี่ยรายละ 910 บาท (กลุ่มเสี่ยง) และ 340 บาท (กลุ่มไม่เสี่ยง) ตั้งแต่ ม.ค. 66 เป็นต้นไป

5. ฟรี อบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ 10,000 คน โดยมีหลักสูตรการอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัย ในการทำงาน เช่น กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทักษะการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย ในการทำงาน ตั้งแต่ ม.ค. - มี.ค. 2566

และ 6. ลดอัตราค่าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ คงเหลือ 1-3 บาท นาน 3 เดือน มีผู้เข้าร่วมทดสอบ 5,000 คน ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 2566

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 20/12/2565

กรมการจัดหางานยันแรงงานข้ามชาติกว่า 7 แสนคน เข้าระบบจ้างงานทันเวลา

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่มีการเสวนา เรื่อง เช็กคะแนนกระทรวงแรงงาน เดินหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลัง กับการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ หลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีการแสดงความกังวลถึงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของ กกจ. ว่าจะทำให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนกว่า 700,000 แสนราย หลุดจากระบบการจ้างงานอย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายเรื่องการเปลี่ยนนายจ้าง ระบบขึ้นทะเบียนมีความซับซ้อน เปิดช่องแสวงหาประโยชน์ นั้น กกจ. ขอชี้แจงว่า

ประเด็นที่ 1 สาเหตุที่กระทรวงแรงงานเปิดให้ขึ้นทะเบียนและดึงแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบถึง 4 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา มีการปิดสถานประกอบการชั่วคราวแรงงานต่างด้าวจำนวนมากต่างทยอยเดินทางกลับบ้าน และส่วนหนึ่งไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาได้ อีกทั้งไม่สามารถเดินทางกลับประเทศเพื่อดำเนินการขออนุญาตเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามขั้นตอนปกติ เพราะนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างประเทศขณะนั้น ต่อมาเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลมีนโยบายเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายจ้าง สถานประกอบการกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง และมีความต้องการแรงงานข้ามชาติ   กกจ.จึงเปิดให้มีการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานกับนายจ้าง ตามเอ็มโอยู (MOU) และการนำเข้าแรงงานตามมาตรา 64 พร้อมกับผ่อนผันกฎ ระเบียบ ข้อบังคับให้ยืดหยุ่นสอดคล้องตามสถานการณ์จริง โดยต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และเปิดขึ้นทะเบียนใหม่ เพราะมุ่งหวังให้นายจ้าง สถานประกอบการ มีแรงงานในการขับเคลื่อนกิจการ และแรงงานข้ามชาติ สามารถปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวต่างๆ เพื่อนำไปสู่การจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างถูกต้อง

ประเด็นที่ 2 การเปิดให้ยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติเพียง 15 วัน เพราะเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ หากกำหนดระยะเวลาการดำเนินการยาวเกินไป อาจเป็นการดึงดูดแรงงานข้ามชาติให้ลักลอบเข้าเมืองเพิ่มขึ้น และด้วยการขึ้นทะเบียนครั้งนี้เปิดขึ้นทะเบียนด้วยระบบออนไลน์ มีกลุ่มเป้าหมายคือ แรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่ทำงานอยู่กับนายจ้างก่อนวันที่ ครม.มีมติเห็นชอบ (วันที่ 5 กรกฎาคม 2565) เวลา 15 วันจึงถือว่าเพียงพอ

ประเด็นที่ 3 ระบบขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติผ่านระบบออนไลน์ที่ถูกกล่าวถึงว่ามีความซับซ้อน เปิดช่องแสวงหาประโยชน์ นั้น ไม่เป็นความจริง นายจ้าง-สถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ชื่นชอบการการขึ้นทะเบียนด้วยระบบออนไลน์ เพราะมีความสะดวก ลดการใช้เอกสารข้อเท็จจริง ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องเดินทางมาติดต่อ ณ สำนักงาน และในส่วนนายจ้างบุคคลธรรมดา ที่ไม่เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยี กกจ.มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ และพร้อมช่วยเหลือในการดำเนินการ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ และการอนุมัติคำขอจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว สามารถทำได้ทันเวลา เนื่องจากเป็นการอนุมัติผ่านระบบออนไลน์

ประเด็นที่ 4 แรงงานข้ามชาติกว่า 700,000 คน จะไม่หลุดออกจากระบบการจ้างงานถูกกฎหมาย เนื่องจากขณะนี้ทางการเมียนมาสามารถออกสารรับรองบุคคลให้แก่แรงงานแล้ว จำนวน 492,923 คน และยังเจรจาให้ประเทศต้นทางเพิ่มขีดความสามารถในการออกเอกสารให้แก่แรงงาน ทั้ง 4 ศูนย์ 3 รถโมบาย โดยเพิ่มการดำเนินการจากวันละ 850 คนต่อศูนย์ เป็น 1,200 คนต่อศูนย์ ซึ่งเชื่อมั่นว่าแรงงานเมียนมาอีกประมาณ 200,000 คน จะได้รับเอกสารจนครบตามเป้าหมาย (700,000 คน) ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566

“กกจ.ดำเนินการตามระเบียบ ขั้นตอน อย่างโปร่งใสภายใต้ความเห็นชอบจากมติ ครม. โดยมีเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนนายจ้าง/สถานประกอบการ และภาคการผลิตให้สามารถจ้างแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประสงค์จะทำงานให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานต่อไปได้ ให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนอย่างมีเสถียรภาพ และเร่งฟื้นฟูประเทศภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 คลี่คลาย ในมิติต่างๆ อย่างเร่งด่วน” นายไพโรจน์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 19/12/2565

สื่อนอกแฉโรงงานในแม่สอดบังคับใช้แรงงาน 99 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

เดอะ การ์เดียน สื่อดังระดับโลกออกมาแฉการบังคับใช้แรงงานเมียนมาของโรงงานแห่งหนึ่งใน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกางเกงยีนส์ F&F ส่งให้กับ เทสโก (Tesco) ระหว่างปี 2017-2020

ขณะนี้ บริษัทเทสโกในสหราชอาณาจักรกำลังถูกฟ้องคดีโดยอดีตพนักงานโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปดังกล่าวกว่า 130 คน ในข้อหาประมาทเลินเล่อและให้ค่าจ้างไม่เป็นธรรม

โรงงานแห่งนี้ผลิตกางเกงยีนส์ แจ็กเก็ตเดนิม และเสื้อผ้าของ F&F อื่น ๆ สำหรับผู้ใหญ่และเด็ก ให้กับธุรกิจของเทสโกสาขาในประเทศไทยระหว่างปี 2560-2563

สื่อยักษ์รายงานว่า ได้พูดคุยกับอดีตแรงงานของโรงงานดังกล่าว 21 คน และได้ข้อมูลมาว่า ที่โรงงานแห่งนี้ บังคับใช้แรงงานวันละ 15 ชั่วโมง ตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนถึง 5 ทุ่ม และมีวันหยุดให้แค่เดือนละ 1 วัน ตกแล้วแรงงานต้องทำงานกว่า 99 ชั่วโมงต่อสัปดาห์!

นอกจากนี้ แรงงานยังได้ค่าจ้างแค่ราว 130-170 บาทต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายอย่างมาก นอกจากนี้ค่าจ้างยังไม่แน่ไม่นอน เพราะขึ้นอยู่กับจำนวนงานที่ทำได้ในวันนั้น ๆ

อดีตพนักงานยังบอกกับ เดอะ การ์เดียน ว่า ในทุก ๆ เดือน จะต้องมีอย่างน้อย 1 วันที่แรงงานต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ 24 ชั่วโมงติด เพื่อทำงานให้ทันกับยอดออเดอร์ และบ่อยครั้งต้องฟุบหลับอยู่กับจักรเย็บผ้า

พนักงานบางคนยังได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยอดีตพนักงานชายรายหนึ่งเล่าว่า เขาเคยประสบอุบัติเหตุขณะใช้งานเครื่องจักรจนต้องเย็บ 13 เข็ม พนักงานอีกรายหนึ่งกล่าวว่า เขาเสียปลายนิ้วชี้ไปหลังจากใช้เครื่องทำกระดุมขณะทำเสื้อแจ็กเก็ตเดนิม F&F

อดีตพนักงานหลายคนให้ข้อมูลตรงกันว่า พวกเขาถูกตะโกนและข่มขู่โดยผู้จัดการภายในโรงงานหากพวกเขาไม่ทำงานล่วงเวลาและผลิตสินค้าให้ได้ตามเป้าหมาย

อดีตแรงงานมากกว่าสิบคนที่ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า โรงงานเปิดบัญชีธนาคารให้พวกเขา แล้วยึดบัตรและรหัสผ่านไปด้วย เพื่อนำเงินเข้าบัญชีเหล่านั้นเสมือนว่าแรงงานได้ค่าจ้างตามกฎหมาย แต่จริง ๆ แล้วแรงงานได้ค่าจ้างเป็นเงินสดที่น้อยกว่านั้นมาก

คนงานส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาโรงงานแห่งนี้สำหรับสถานะการเข้าเมืองของพวกเขา และบางคนกล่าวว่าเอกสารการเข้าเมืองของพวกเขาถูกโรงงานยึดไว้

ในส่วนของที่พักพนักงาน เป็นห้องขนาดเล็กแออัดที่มีพื้นคอนกรีตสำหรับนอนและน้ำบ่อสกปรกในถังสำหรับชำระล้าง ห้องส่วนใหญ่ยังไม่มีประตู มีแต่ผ้าม่านเท่านั้น

ด้านบริษัทเทสโกออกมาเปิดเผยว่า เสื้อผ้าที่ผลิตในโรงงานดังกล่าวมีจำหน่ายเฉพาะในตลาดไทยเท่านั้น แม้ว่าเดอะ การ์เดียน จะมีหลักฐานภาพป้ายที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษบนเสื้อผ้าด้วยก็ตาม มีรายงานว่า กำไรจากการขายสินค้าในประเทศไทยจะถูกส่งกลับไปยังบริษัทแม่ที่สหราชอาณาจักร

นี่เป็นครั้งแรกที่บริษัทเทสโกในสหราชอาณาจักรถูกฟ้องร้องในชั้นศาลจากประเด็นเกี่ยวกับโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าต่างประเทศที่บริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของโดยตรง

เทสโกกล่าวว่า การปกป้องสิทธิของทุกคนในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และจากปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นนี้ เทสโกจะยุติความสัมพันธ์กับโรงงานดังกล่าวแล้วในทันที

เทสโกไม่ได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงงาน นอกเหนือไปจากการกำหนดและตรวจสอบมาตรฐานและออเดอร์สินค้าเท่านั้น

วิน วิน เมีย วัย 53 ปี เล่าว่า เธอได้รับค่าจ้างประมาณ 130 บาทต่อวันในการเก็บเศษผ้าออกจากโรงงาน กล่าวว่า “พวกเขาเอากำไรนั้นไปจากเรา พวกเขาได้กำไรอยู่แล้ว แต่เราไม่มีกำไรเลย”

ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานกล่าวว่า แบรนด์เสื้อผ้าขนาดใหญ่ เช่น F&F จงใจว่าจ้างบุคคลภายนอกในการผลิตเสื้อผ้าและการตรวจสอบโรงงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดและความเสียหายต่อชื่อเสียง ในขณะเดียวกันก็เพื่อรักษาราคาต้นทุนให้ถูกและเก็บเกี่ยวผลกำไรมหาศาล โดย F&F มีกำไรมากกว่า 9 หมื่นล้านบาทเฉพาะในปี 2563

โอลิเวอร์ ฮอลแลนด์ ทนายความของอดีตแรงงาน กล่าวว่า “เทสโกเป็นหนึ่งในบริษัทที่ทำกำไรได้มากที่สุดของสหราชอาณาจักร และลูกความของผมกล่าวหาว่า บริษัททำกำไรได้มหาศาลจากการจ้างผลิต โดยคนงานได้รับค่าจ้างต่ำมาก ทำงานเกินชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด และต้องทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่แย่มาก”

เขาเสริมว่า “เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อผลกำไรของบริษัทในสหราชอาณาจักรเท่านั้น และเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อเสื้อผ้าราคาถูกได้ เสื้อผ้าที่มีราคาพอ ๆ กับเสื้อผ้าของ F&F มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดอันตรายในห่วงโซ่อุปทาน และนั่นคือสิ่งที่เราได้เห็นในกรณีนี้”

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทลูกของเทสโกในไทยอีก 1 แห่งที่น่าจะถูกดำเนินคดีด้วย

ทั้งนี้ เดอะ การ์เดียน เน้นย้ำว่า คดีความและการกระทำละเมิดกฎหมายแรงงานที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นระหว่างปี 2560-2563 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) จะควบรวมกิจการเทสโกในไทย

ในเดือนสิงหาคม 2563 พนักงาน 136 คนของโรงงานถูกเลิกจ้าง ซึ่งพวกเขากล่าวว่า เกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาขอค่าจ้างและเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้น พวกเขาพยายามเรียกค่าชดเชยจากโรงงานโดยตรง

ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน แรงงานได้ยื่นฟ้องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานของไทย เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ได้รับค่าจ้างค้างชำระ ซึ่งประกอบด้วยค่าจ้าง 2 ปี ค่าจ้างทำงานในวันหยุดตามประเพณี ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าวันหยุดประจำสัปดาห์ แต่กรมฯ สั่งจ่ายเฉพาะค่าชดเชยเลิกจ้างและค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่านั้น

คดีจึงขึ้นสู่ศาลแรงงานไทย ซึ่งก็ได้ข้อยุติเช่นเดียวกัน โดยยังไม่มีการจ่ายเงินใด ๆ และคาดว่าคนงานจะยื่นอุทธรณ์ในไม่ช้านี้ ส่วนใหญ่กำลังฝากความหวังไว้กับการฟ้องร้องคดีในสหราชอาณาจักร

ผู้เชี่ยวชาญและนักกฎหมายด้านแรงงานของไทยเชื่อว่า การฟ้องร้องคดีในไทยล้มเหลว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงงานแห่งนี้อาศัยรายงานการตรวจสอบที่จัดทำโดยบริษัทตรวจสอบซึ่งรายงานว่าโรงงานได้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานจนถึงปี 2020 ซึ่งความจริงแล้วถือเป็นหลักฐานที่บกพร่อง

เดวิด เวลช์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของ Solidarity Center Thailand กล่าวว่า ศาลมีแนวโน้มที่จะเข้าข้างนายจ้าง และแม่สอดเป็นพื้นที่ที่หลักนิติธรรมอ่อนแอ ค่าจ้างและสภาพการทำงานย่ำแย่ ไม่มีสหภาพแรงงานเข้าถึงพื้นที่ได้ และแรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้รับความคุ้มครองเลย

ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ ทนายความที่เป็นตัวแทนของแรงงานที่สู้คดีในศาลไทย กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พวกเขาเมินเฉย ศาลในประเทศไทยจำเป็นต้องก้าวขึ้นไปและทำมากกว่านี้ สิ่งที่ผมเห็นมาช้านานคือนายจ้างใช้ระบบในทางที่ผิด”

ที่มา: PPTV, 19/12/2565

ก.แรงงาน พร้อมผลักดัน มวยไทย ไปสู่อาชีพมาตรฐานสากล หลังเห็นช่องต่างประเทศต้องการครูมวยไทยจำนวนมาก ที่สำคัญเงินดี รายได้งาม

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าการจัดกิจกรรม Thai Fight Tournament in Geneva  ณ นครเจนีวา เข้าร่วมพิธีเปิด ณ ศูนย์ประชุม Palexpo นครเจนีวา นั้น รัฐบาล มีนโยบายผลักดันกิจกรรมซอฟต์พาวเวอร์ และได้ส่งเสริม และสนับสนุนอย่างจริงจังให้มวยไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลบรรจุในการแข่งขันกีฬาระดับเอเชี่ยนเกมส์-โอลิมปิก และผลักดันมวยไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการจัดมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย เพื่อส่งเสริมให้อาชีพครูฝึกมวยไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลอย่างเป็นมาตรฐานและในการการจัด Thai Fight Tournament in Geneva ครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมการอาชีพการชกมวยไทย ส่งเสริมอาชีพผู้ฝึกสอนมวยไทย และประชาสัมพันธ์เรื่องการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาผู้ฝึกสอนมวยไทยของกระทรวงแรงงานอีกด้วย

“ปัจจุบันมวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ยังคงได้รับความสนใจในระดับโลก ในส่วนของกระทรวงแรงงานพร้อมที่จะผลักดันการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อให้มวยไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป” นายสุชาติ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 18/12/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net