Skip to main content
sharethis

เผยโครงการจ้างงานสร้างรายได้เสริมของกรมชลฯ ยอดทะลุกว่า 4 หมื่นคน

21 ก.ค. 2567 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้เกษตรกรทั่วประเทศมีรายได้ทดแทนจากการว่างเว้นการทำการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการจ้างแรงงานชลประทาน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีแผนจ้างแรงงาน 95,875 คน ระยะเวลา 12 เดือน (ต.ค. 2566 - ก.ย. 2567)

โดยล่าสุด ข้อมูลจากกรมชลประทาน ระบุว่า ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานทั่วประเทศไปแล้ว 47,216 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของแผนฯ โดยจังหวัดที่มีผลการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ 3,280 คน จังหวัดอุบลราชธานี 2,599 คน และจังหวัดกาญจนบุรี 2,080 คน

"รัฐบาลจึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมหรือทดแทนจากการสูญเสียรายได้ด้านการเกษตร โดยกรมชลประทาน ยังคงเดินหน้ารับสมัครจ้างแรงงานอย่างต่อเนื่อง และยังมีตำแหน่งว่างก่อนครบตามเป้า หากเกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือทางสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทาน"น.ส.เกณิกา กล่าว

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 21/7/2567

ก.แรงงาน ผนึก ‘เทคโนปทุมวัน’ ทำธนาคารหน่วยกิต เพิ่มโอกาสค่าจ้างสูง

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2567 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเดินหน้าระบบธนาคารหน่วยกิตหนุนแรงงานมีวุฒิการศึกษาสูงขึ้น บูรณาการภารกิจร่วมกันในการจัดฝึกอบรมและจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาต่าง ๆ

โดยมีนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ รองศาสตราจารย์ เสถียร ธัญญศรีรัตน์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องประชุมสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ชั้น 7 อาคารเฉลิมพระเกียรติ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เดินหน้าระบบธนาคารหน่วยกิตหนุนแรงงานมีวุฒิการศึกษาสูงขึ้น

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานให้มีผลิตภาพสูงรองรับความต้องการของตลาดแรงงานสมัยใหม่ เป็นภารกิจเร่งด่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการพัฒนาคนให้เป็นคนดี คนเก่งและมีคุณภาพ พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพื่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือว่ามีเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการภารกิจร่วมกันในการจัดฝึกอบรมและจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ ช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC ระดับ 1 ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ระดับ 1 และช่างควบคุมด้วยระบบโปรแกรมเมเบิ้ลลอจิกคอนโทรลเลอร์ ระดับ 1

เพื่อรองรับการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่นักศึกษาหรือกำลังแรงงานให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือสูงขึ้น สอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงานและการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้กำลังแรงงานเข้าร่วมโครงการการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยระบบธนาคารหน่วยกิต ที่แรงงานสามารถนำผลการพัฒนาฝีมือแรงงานหรือผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มาใช้สะสมหน่วยกิตด้วยการใช้เทียบโอนเพื่อเข้าศึกษาต่อเป็นนักศึกษาของสถาบันได้

นางสาวบุปผากล่าวต่อไปว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและจัดฝึกอบรมร่วมกัน เช่น การประยุกต์ใช้งาน PLC หรือ SCADA ในงานอุตสาหกรรม การเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ CAD ช่างควบคุมเครื่องกัด CNC ช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC ช่างเชื่อม ช่างยนต์

ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาต่าง ๆ ได้แก่ ช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC ระดับ 1 ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ระดับ 1 และช่างควบคุมด้วยระบบโปรแกรมเมเบิ้ลลอจิกคอนโทรลเลอร์ ระดับ 1 และส่งเสริมให้กำลังแรงงานนำประสบการณ์จากการทำงานหรือผลการฝึกอบรม มาสะสมหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิตของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อประโยชน์ในการเข้าศึกษาในสถานศึกษาจากการเทียบวุฒิ หรือการรับรองคุณวุฒิทางการศึกษา โดยนำร่องเทียบโอนในระดับ ปวส.สาขาอาชีพต่าง ๆ ได้แก่ ไฟฟ้า เครื่องกล ไอที โลจิสติกส์ และเกษตร

“การพัฒนาทักษะฝีมือและวุฒิการศึกษา มีส่วนสำคัญต่อการพิจารณาค่าจ้าง ดังนั้น ความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานไทยให้ความสำคัญทั้งการพัฒนาทักษะฝีมือของตนเอง เพื่อนำไปสู่การนำประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ ไปใช้ในการสะสมและเทียบโอนให้ได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสให้ได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นด้วย” อธิบดีกล่าวในท้ายสุด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/7/2567

สอศ.นำร่องชุดทักษะที่จำเป็นให้เด็กและเยาวชนไทยในวิทยาลัย 10 แห่ง ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงาน

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้รับมอบหมายจากนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ให้ประชุมชี้แจงและสร้างความเข้าใจแนวทางการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย โดยมีนายนิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวรายงาน ผู้อำนวยการสถานศึกษา ข้าราชการ ครู และบุคลากร ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าร่วม โดยมีดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผศ.ดร.รินรดี ปาปะใน อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และว่าที่ร้อยตรี อิทธิพัทธ์ สมจู นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา เป็นวิทยากร ณ ห้องประชุมเดซี่ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น

เรืออากาศโท สมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) ของเด็กและเยาวชนไทย เป็นการทำงานร่วมกัน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีสถานศึกษานำร่องที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10 แห่ง สอศ. ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินการในการนำชุดทักษะที่จำเป็น สำหรับเด็กและเยาวชนไทยมาบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการจัดการศึกษาของหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างความเข้าใจและกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรอาชีวศึกษา มุ่งเน้นการบูรณาการการใช้ชุดทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ส่งเสริมผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มีชุดทักษะที่จำเป็นโดยเน้นทักษะพื้นฐาน (Basics Skills) เพื่อตอบโจทย์ความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงาน สามารถพัฒนาแนวทาง วิธีการ กระบวนการ สื่อการเรียนการสอนหรือรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ภายใต้การใช้ชุดทักษะที่จำเป็น ตลอดจนเพื่อให้สถานศึกษาเป็นต้นแบบ และขยายผลการนำร่องโครงการไปยังสถานศึกษาอาชีวศึกษาอื่น ๆ ในอนาคต

ด้านนายนิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวว่า เพื่อขับเคลื่อนการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น ประกอบด้วย 2 กลุ่มทักษะ ได้แก่ ชุดทักษะขั้นพื้นฐาน (Basics Skills Set) เช่น ความฉลาดรู้ การคำนวณ ความฉลาดรู้ทางสังคม-วัฒนธรรมฯ และ ชุดทักษะขั้นสูง (advanced Skills Set) เช่น เรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติและกรอบความคิดแบบเติบโต ความฉลาดรู้ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารฯ ซึ่งระยะแรกจะเน้นการนำชุดทักษะขั้นพื้นฐาน (Basics Skills Set) ไปบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการจัดการศึกษาของสถานศึกษานำร่อง สังกัด สอศ. จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคแพร่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย วิทยาลัยการอาชีพไชยา วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย วิทยาลัยเทคนิคนครโคราช และวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัตน์ โดยในการจัดการประชุมครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่ 1 ของโครงการ ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษาร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคนครโคราชได้ดำเนินการจัดประชุม ให้แก่สถานศึกษานำร่อง ทั้ง 10 แห่ง โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ภาคการศึกษา ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การประชุมชี้แจงและสร้างความเข้าใจแนวทางการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย กิจกรรมที่ 2 การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สื่อการเรียนการสอน และรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทยของสถานศึกษา กิจกรรมที่ 3 การติดตามผลการดำเนินงานและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมาย และกิจกรรมที่ 4 การนำเสนอการวิจัยและนวัตกรรม สื่อการเรียนการสอน และรูปแบบการจัดการเรียนรู้จากการนำร่องชุดทักษะจำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทยของสถานศึกษานำร่อง

ที่มา: เดลินิวส์, 19/7/2567

แจ้งขอเอกสารประจำตัวแรงงานสัญชาติลาวตามมติ ครม.

นางสาวอารยา ชัญถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 รักษาราชการแทนจัดหางานจังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 กำหนดให้แรงงานต่างด้าวที่ยื่นคำขออนุญาตทำงาน (แบบ บต.50) ผ่านเว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th และชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานแล้ว สามารถทำงานได้ถึงวันที่ 13 ก.พ. 2568 โดยต้องดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล จัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเพื่อตีวีซ่า และจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ภายในวันที่ 31 ต.ค. 2567 ซึ่งทางการลาวได้แจ้งว่ามีความพร้อมในการออกเอกสารประจำตัวของแรงงานสัญชาติลาว โดยเปิดช่องทางพิเศษ เพื่อความรวดเร็วในการจัดทำและออกเอกสารประจำตัว ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป และขอให้ทางการไทยประชาสัมพันธ์แนวทางการดำเนินการให้นายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานสัญชาติลาวทราบ

สำหรับแรงงานสัญชาติลาว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ต้องการขอเอกสารประจำตัว มีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

1. การดำเนินการ ณ ประเทศไทย

แรงงานยื่นขอรับเอกสารเดินทางชั่วคราว (Laissez – Passer) ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า (walk-in) ณ สถานเอกอัครราชทูต สปป. ลาว ประจำประเทศไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ ประจำจังหวัดขอนแก่น เพื่อใช้เป็นเอกสารในการเดินทางออกจากประเทศไทย ทั้งนี้ แรงงานต้องจัดเตรียมเอกสารประจำตัว เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น

2. การดำเนินการ ณ สปป. ลาว

แรงงานต้องแจ้งความประสงค์กลับมาทำงานในประเทศไทยกับบริษัทจัดหางานลาว เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อ (Name List) เสนอให้กระทรวงแรงงานฯ สปป. ลาว อนุมัติ จากนั้นยื่นขอหนังสือเดินทาง (Passport) โดยเตรียมเอกสาร ได้แก่ ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน บัญชีรายชื่อ (Name List) ที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงแรงงานฯ สปป. ลาว และเอกสารการอนุญาตทำงานจากทางการไทย ซึ่งหากเอกสารครบถ้วน จะมีระยะเวลาดำเนินการ 1-10 วัน

ทั้งนี้ แรงงานต้องเดินทางผ่านจุดผ่านแดนถาวรจุดเดียวกับที่เดินทางออก (ด่านตรวจคนเข้าเมืองของแต่ละประเทศ) โดยแสดงหลักฐานเอกสาร Laissez – Passer ฉบับเดิมที่ได้รับการประทับตรา พร้อมหนังสือเดินทางเล่มใหม่ เพื่อรับการประทับตราอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยถึงวันที่ 13 ก.พ. 2568 โดยเน้นย้ำว่า การเดินทางเข้ามาในประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 ต้องไม่เกินวันที่ 31 ต.ค. 2567

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 19/7/2567

MOU 3 หน่วยงาน ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพนักเรียน-นักศึกษา-คนทุกช่วงวัย สอดรับตลาดแรงงานทันต่อเทคโนโลยีในอนาคต

วันที่ 18 ก.ค.2567 ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษาและกำลังคนทุกช่วงวัย ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน และมีนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และน.ส.จุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมลงนาม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมพิธี   

นายอนุทิน เปิดเผยว่า ในฐานะที่กำกับดูแล 4 กระทรวงหลัก ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนของประเทศทั้งระบบในทุกช่วงวัย ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลเน้นการสร้างโอกาสและความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ ส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะให้กับนักเรียน นักศึกษา และกำลังคนทุกช่วงวัยผ่านการพัฒนาทักษะอาชีพ การฝึกอบรม ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งเสริมการสะสมประสบการณ์ทางอาชีพทั้งในระหว่างเรียนและการทำงานเพื่อให้เป็นกำลังคนสมรรถนะสูง ทำให้เกิดความร่วมมือกันของทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา และกำลังคนทุกช่วงวัยในวันนี้ เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์และยกระดับกำลังแรงงานของประเทศในทุกมิติ

ด้านพล.ต.อ. กล่าวในนามกระทรวงศึกษาธิการ ว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกท่าน รวมทั้งนำนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อน เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาเต็มกำลังความสามารถอย่างเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน จึงได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีเป้าหมายร่วมกัน ในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาสมรรถนะกำลังคนระดับเทคนิค มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคน  ในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ   ที่มีเป้าหมายการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต เน้นมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) ธนาคารหน่วยกิต  (Credit Bank) ระดับอาชีวศึกษา ทำให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ  รองรับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ (IGNITE THAILAND) จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง “ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก”

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือในการผลิตกำลังคนในภาคการศึกษา และภาคแรงงาน Up - Skill for More Earn เพื่อการมีงานทำรองรับเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกำลังแรงงานรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งระบบ ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่ามีเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการภารกิจร่วมกันของทั้งสามหน่วยงาน จะร่วมกันพัฒนาศักยภาพกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทันต่ออุตสาหกรรม และเทคโนโลยีในอนาคต สนับสนุนให้มีจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ สนับสนุนการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติไปจนถึงระดับนานาชาติ การเทียบโอนหน่วยกิตเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อแรงงานจะได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคน และการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem : EWE) เพื่อใช้ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

“โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการภารกิจร่วมกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา  และกำลังคนทุกช่วงวัย ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทันต่ออุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในอนาคต  และสร้างความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ และจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติไปจนถึงระดับนานาชาติ และการเทียบโอนหน่วยกิตเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อให้แรงงานได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น มีงานทำ มีรายได้ที่สูงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติต่อไป”รมว.แรงงาน กล่าว

ที่มา: สยามรัฐ, 18/7/2567

KKP เผยผลวิจัย "วัยแรงงานลด -สูงวัยทะลัก" ฉุด GDP ไทยโตต่ำ

เกียรตินาคินภัทร หรือ KKP Research ประเมินศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ว่า อาจจะลดลงมาอยู่ที่เพียงต่ำกว่า 2% หากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง โดยปัจจัยการผลิตที่เป็นแรงฉุดสำคัญ คือ แรงงาน ที่ลดลง ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการเติบโต (GDP Potential) ลดลงประมาณ 0.5 จุด ต่อปี จนถึงปี 2573 และลดลง 0.8 จุดต่อปีในปี 2583 ทำให้ศักยภาพ GDP ไทยเหลือต่ำเพียงราว 2% ต่อปี โดยที่คงสมมติฐานให้การสะสมทุนและผลิตภาพเท่าเดิม

ปัจจัยด้านแรงงาน สำหรับไทย นอกจากจะเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged society) ที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่า 20% พบ ตลาดแรงงานในวัยทำงาน อายุ ตั้งแต่15-60 ปี ลดลงด้วยเช่นกัน จากประมาณการของสหประชาชาติ(UN) คาดว่า ประชากรไทยจะถึงจุดสูงสุดภายในปี 2573

โดยประชากรวัยทำงานได้ผ่านจุดสูงสุดไปล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่ปี 2555 และจะหดตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 0.7% จนลดลงเหลือสัดส่วนเพียง 60% ของประชาการทั้งหมดในปี 2573 จาก 70% ในปี 2555 ขณะที่ประชากรวัยเด็ก มีแนวโน้มลดลง เฉลี่ยปีละ 1.8% ต่อปีจนถึง 2573 สวนทางกับประชากรผู้สูงอายุกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2555 เป็น 20% ในปี 2566

ขณะที่ประชากรวัยทำงานและวัยเด็กที่ลดลง ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ถือสร้างความท้าทายกับเศรษฐกิจไทยอย่างน้อยใน 2 ด้านหลัก คือ กำลังซื้อในประเทศจะลดลง และจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังซื้อสินค้าคงทนอย่างรถยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ จะหดตัวลง

แต่สินค้าประเภท บริการด้านสุขภาพและสินค้าจำเป็นจะเติบโตมากขึ้น นอกจากกำลังแรงงานลดลงแล้ว ผลิตภาพแรงงานก็ลดลงด้วย และจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ สะท้อนความสามารถในการทำงานของแรงงานไทยก็ชะงักงันหรือเติบโตเล็กน้อยมาก ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันจนถึงปัจจุบันเช่นเดียวกัน

กำลังงานแรงงานกำลังหดตัว การสะสมทุนหรือเทคโนโลยีควรจะเพิ่มขึ้น เพื่อมาชดเชยความสามารถในการผลิตที่จะหายไป แต่การลงทุนในเศรษฐกิจไทยกลับหายไปนับตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จากที่มีการสะสมทุนเฉลี่ยปีละ 6.6% ต่อปี ลดลงเหลือ 2.1% ตั้งแต่ปี 2555

KKP Research มองว่า ฐานผู้บริโภคที่หดตัวลง การค้าโลกที่ผ่านยุคทองไปแล้ว ความสามารถในการแข่งขันโดยรวมที่ลดลง และการขาดการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน มีส่วนทำให้การสะสมทุนในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งลดลง

ขณะที่แนวโน้มในอนาคต ความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์และห่วงโซ่อุปทาน การค้าและการลงทุนโลกที่กำลังเปลี่ยนไปจะสร้างความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคเอกชนโดยรวมที่สูงขึ้น คุณภาพของหนี้ที่ลดลง นโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ และการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในระยะหลัง ทำให้โอกาสที่จะขยายการลงทุนในเศรษฐกิจไทยโดยรวมลดลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางหนึ่งที่สามารถชดเชยกำลังแรงงานได้คือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อทำให้แรงงาน 1 คน หรือ ทุน 1 หน่วยสามารถผลิตสินค้าและบริการได้มากขึ้น หรือคือมี ผลิตภาพ หรือ productivity มากขึ้น

KKP Research เสนอรัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปใน 4 ด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพ GDP อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลิตภาพ ดึงดูดแรงงานทักษะสูง เพื่อเพิ่มแรงงานทักษะสูงที่จะมาพร้อมกับการลงทุนใหม่ ๆ นอกจากนี้ การทบทวนนโยบายนำเข้าแรงงานทักษะสูงจะต้องคิดใหม่ เพื่อให้สามารถดึงดูดแรงงานที่ไทยยังขาด

และที่สำคัญคือนโยบายส่งเสริมการแข่งขันและต่อด้านการผูกขาด การเปิดเสรีภาคบริการ เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีผลต่อศักยภาพของเศรษฐกิจ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคอื่น ๆ ในการทำธุรกิจ ที่สำคัญเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร เพระภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำสุด แต่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจมากในแง่ของสัดส่วนแรงงาน

ดังนั้นการเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตรและแรงงานในภาคเกษตร และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร จะช่วยเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้อีกมาก สุดท้าย คือ ปฏิรูปภาคการคลัง ความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุนำไปสู่ความเสี่ยงทางด้านการคลังของประเทศโดยตรง

การที่ฐานภาษีที่อยู่ในระดับต่ำ สัดส่วนรายได้ต่อ GDP อยู่ที่เพียงไม่ถึง 15% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหลายประเทศ และรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ยากที่ภาครัฐจะสามารถลงทุนขนาดใหญ่เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยได้อย่างจริงจัง หากไม่จัดการปัญหาด้านภาระทางการคลังเสียก่อน

ที่มา: Thai PBS, 18/7/2567

คนไทยแก่ก่อนรวย เหตุขาดวินัยการออม แนะเร่งกระตุ้น-ปรับรูปแบบตอบโจทย์วัยทำงาน

สังคมไทยกำลังเผชิญความไม่พร้อมหลังวัยเกษียณ สะท้อนจากข้อมูลครัวเรือนไทยส่วนใหญ่คนที่มีรายได้มากที่สุดในครัวเรือนมีอายุเกิน 50 ปี และรายได้ต่ำ (ราว 42% ของครัวเรือนไทย) จึงต้องพึ่งพารายได้นอกครัวเรือน เช่น เงินช่วยเหลือภาครัฐ และรายได้ไม่เป็นตัวเงิน (หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้รับมา) ส่งผลให้กันชนทางการเงินต่ำหากมีเหตุฉุกเฉินหรือมีรายได้ลดลง นับเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ทั้งในด้านความเปราะบางของครัวเรือนและภาระการคลัง

ผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 ชี้ว่า ในระยะสั้นปัญหาแก่ก่อนรวยของสังคมไทยยังน่าห่วง โดยพบว่า กลุ่มวัยทำงานใกล้เกษียณ (51-60 ปี) ส่วนใหญ่ยังมีสินทรัพย์น้อย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายหลังเกษียณ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการสะสมสินทรัพย์ของกลุ่มนี้ คือ ปัญหาภาระหนี้ โดย 56% ของครัวเรือนที่มีหนี้พบว่ามีสินทรัพย์รวมไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนสูง

ในระยะยาว SCB EIC มองว่าปัญหาการออมนับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อความพร้อมหลังเกษียณ ผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 พบว่า ในภาพรวมคนวัยทำงานที่สามารถออมเงินได้ทุกเดือนยังมีไม่ถึงครึ่ง และอีกราว 1 ใน 4 ที่ไม่สามารถออมได้เลย โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเหลือเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถออมได้สม่ำเสมอ สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาภาระรายจ่ายสูงแต่รายได้ต่ำ โดยเฉพาะวัยทำงานอายุ 31 - 50 ปี ที่มีปัญหาภาระหนี้มากกว่ากลุ่มอื่น เพราะได้เริ่มก่อหนี้ก้อนใหญ่เอาไว้

SCB EIC ประเมินว่า พฤติกรรมการออมจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาแก่ก่อนรวยของคนไทย โดยเฉพาะคนอายุมากและรายได้ต่ำ ซึ่งผลสำรวจพบว่ามีวินัยการออมน้อยที่สุด ขณะที่คนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี พบว่าสามารถเริ่มออมสม่ำเสมอได้ตั้งแต่ช่วงรายได้ต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ได้ตั้งแต่รายได้ 30,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน กลับพบว่ายังขาดวินัยการออม ส่วนหนึ่งเพราะใช้จ่ายตามกระแสสังคมมาก ซึ่งจะต่างจากคนอายุมากกว่าที่ส่วนใหญ่เริ่มมีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ตั้งแต่มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป

สำหรับผลสำรวจด้านการลงทุน พบว่าคนอายุน้อยที่มีเงินลงทุนมีสัดส่วนต่ำกว่าคนอายุมากกว่า และยังไม่ค่อยมีสินทรัพย์อื่นนอกจากเงินสดหรือเงินฝาก แม้ว่าคนรุ่นใหม่ดูจะสนใจและต้องการลงทุนมากกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่า แต่ปัญหาขาดแคลนเงินลงทุนและความรู้ความเข้าใจในการลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินยังเป็นอุปสรรคสำคัญของคนรุ่นใหม่

นโยบายช่วยเหลือและกระตุ้นการออมจึงต้องออกแบบให้เหมาะสมกับคนทำงานต่างวัยในแต่ละกลุ่มรายได้ เพื่อให้ปรับการออม พร้อมนับถอยหลังใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ดีขึ้น

กลุ่มที่ต้องดูแลเร่งด่วน

1.1. กลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปี รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เริ่มออมเร็วที่สุด ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการออมตามระดับรายได้ในการออมภาคบังคับ พร้อมส่งเสริมความรู้ทางการเงินการลงทุนด้วยการสอดแทรกเข้าไปในช่องทาง Social media ต่าง ๆ

1.2. กลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี รายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐควรช่วยออมและลดภาระผ่านช่องทางภาษีที่จูงใจ เช่น สิทธิลดหย่อนภาษี รวมถึงการต่ออายุเกษียณจาก 60 ปี เพื่อให้มีระยะเวลาหารายได้นานขึ้น

กลุ่มที่ต้องเพิ่มแรงจูงใจในการออม

2.1. กลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี รายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐและภาคการเงินควรเพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพราะมีความเข้าใจการลงทุนสูงกว่าและรับความเสี่ยงได้มากกว่า

2.2. กลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี รายได้สูงกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐควรส่งเสริมพฤติกรรมออมต่อเนื่องได้ถึงเป้าหมาย และเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินที่ให้ผลตอบแทนเพียงพอกับรายจ่ายที่สูงขึ้น สำหรับวัยใกล้เกษียณ ภาครัฐควรช่วยลดความเสี่ยงฉุกเฉินให้เพิ่มเติม โดยช่วยจ่ายเบี้ยประกันความเสี่ยงที่จำเป็น

ที่มา: RYT9, 17/7/2567

ค่าแรงแพง แรงงานขาด กดดันอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยปีนี้โตแค่ 2%

นายจักรพันธ์ ลีลาพร อนุกรรมการ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ปี 2567-2568 นี้ คาดการณ์ ภาคงานก่อสร้างในไทยจะมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.9-2% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน หรือปี 2557 พบว่า ภาคก่อสร้างเติบโต 4% ต่อปี สะท้อนได้ว่าขณะนี้อุตสาหกรรมก่อสร้างเข้าสู่ภาวะเติบโตแบบถดถอย

ขณะที่แรงงานก่อสร้างก็มีแนวโน้มลดลง โดยแรงงานต่างด้าวเข้าไทยจำนวน 3 ล้านคน เป็นแรงงานป้อนสู่อุตสาหกรรมก่อสร้างเพียง 30% เท่านั้น เท่ากับว่าถดถอยทั้งในแง่การเติบโตภาพรวม และแรงงาน

นางสาวฐิติรัตน์ ปฐวีวรากิตติ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็มบี โกลบอล มาร์เก็ตติ้งส์ จำกัด กล่าวถึงว่า ภาพรวมประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างไทยเติบโตขึ้น ด้วยมีโครงการการก่อสร้างทั้งจากภาครัฐ และการก่อสร้างจากภาคเอกชน ซึ่งมีการคาดการณ์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 1.4 พันล้านบาท แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย มีความท้าทายมากมาย เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การขาดแคลนแรงงาน ราคาวัสดุก่อสร้างแพงขึ้น จึงต้องมองหาเครื่องจักรและเทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง เข้ามาปรับ ประยุกต์ใช้เพื่อความรวดเร็วและให้ประสิทธิภาพสูงที่สุด

ตอบรับกับปัจจัยดังกล่าว ทางบริษัทฯ จึงเตรียมจัดงาน ConsBuild ASIA หรือ CBA Expo 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2และในปีนี้ได้ขยายพื้นที่จัดงาน Concrete Expo Asia 2024 เพิ่มเข้ามา เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านการก่อสร้าง รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาชมและสัมผัสกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการก่อสร้าง เหมืองแร่ และคอนกรีต ซึ่งรวมไว้อย่างครบถ้วนภายในงานเดียว เพื่อให้ผู้ประกอบการ ผู้เข้าร่วมแสดงงานได้มีโอกาสเจรจาธุรกิจโดยตรงต่อผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจสั่งซื้อทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งได้ได้ศึกษา เรียนรู้ และอัพเดทข้อมูลต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมในงานนี้ด้วย

ที่มา: เดลินิวส์, 16/7/2567

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจับมือโรงเรียนชายแดนใต้ ร่วมพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต

15 ก.ค. 2567 ที่ห้องประชุมบางนรา สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)ในครั้งนี้ โดยมี น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายมูหัมมัดนาสีรูดดีน เล๊ะนุ๊ รองประธานเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้

พร้อมด้วยนายชาติวุฒิ ทองกัน ผู้ตรวจกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายมะสุขรี ซีเดะ นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีนายวีรพัฒน์ บุณฑริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายนัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน น.ส.ประภัสสร ประจันตะเสน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนราธิวาส สังกัดกระทรวงแรงงาน เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนแขกผู้ทรงเกียรติ และแขกผู้มีเกียรติร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีภารกิจหลักในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และพัฒนาแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มแรงงานที่มีคุณวุฒิและทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในภาคส่วนต่างๆที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้แรงงานมีงานทำมีรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้บูรณาการภารกิจร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมุ่งเน้นให้กำลังแรงงานในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล ได้รับการฝึกอบรมอาชีพและพัฒนาฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดฝึกอบรมนำร่องหลักสูตรช่างเดินสายไฟฟ้าในอาคาร ภายใต้โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อ หลังจบการศึกษาภาคบังคับประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ในระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม-26 กรกฎาคม 2567 มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 24 คน ณ โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส

นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกรทรวงแรงงาน กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่ามีเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการภารกิจร่วมกันอย่างชัดเจน ระหว่างกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเจตนารมณ์เดียวกันในการจัดการ ฝึกอบรมฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพต่างๆ ให้กำลังแรงงานในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต ให้มีความรู้ ความสามารถ และให้มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น ได้มาตรฐานฝีมือแรงงาน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดแรงงาน สามารถนำไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว และส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เป็นการสร้างกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ รองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคตและการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ ตามนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายให้นักเรียน นักศึกษาที่เรียนด้านช่างไฟฟ้าผลักดันให้ 1 ช่างไฟฟ้า 1 หมู่บ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ จังหวัดนราธิวาสได้เกิดภัยพิบัติและขาดช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ในการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและหลายอย่าง ซึ่งวันนี้ทางสถาบันของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีศูนย์ของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส ได้ส่งเสริมในส่วนของช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ โดยจะขับเคลื่อนให้เด็กและเยาวชนได้มีอาชีพมีงานทำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภาคเอกชนส่งเสริมในส่วนของช่างเชื่อมที่มีฝีมือในการอัปสกิลให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น มีสถาบันรองรับ และจะมีในส่วนของช่างเชื่อมใต้น้ำเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 16/7/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net