Skip to main content
sharethis

กรมการจัดหางาน แจงผลปฏิบัติการ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” 2 เดือน ตรวจสอบแรงงานข้ามชาติ 1.6 แสนราย ย้ำบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด ทำผิดมีโทษทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า  นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ เพื่อแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างเหมาะสมและได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมี ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปในทิศทางดังกล่าว กรมการจัดหางานจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากกรมการจัดหางาน  สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ ที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ มีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว และมติครม.ในคราวต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ล่าสุดผลการดำเนินการระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน –1 สิงหาคม 2567 รวม 57 วัน มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติ  ทั่วประเทศแล้ว 12,983 แห่ง ดำเนินคดี 438 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 162,130 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 121,285 คน กัมพูชา 24,484 คน ลาว 10,769 คน เวียดนาม 104 คน และสัญชาติอื่น ๆ 5,516 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,179 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 724 คน กัมพูชา 190 คน ลาว 162 คน เวียดนาม 22 คน และสัญชาติอื่น ๆ 81 คน

กรมการจัดหางานขอย้ำเตือนว่า ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งหากพบการกระทำความผิดกรมการจัดหางานจะดำเนินคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น

ทั้งนี้ หากพบเห็นการจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย หรือพบเห็นคนต่างชาติทำงานนอกเหนือสิทธิที่ทำได้ขอความร่วมมือทุกท่านแจ้งเบาะแสมาที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน ชั้น 4 โทร. 0 2354 1729 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร 1694

ที่มา: บ้านเมือง, 3/8/2567

พนักงานไทยมากกว่า 3 ใน 4 กำลังมองหา “แผนสำรอง” ในอาชีพการงาน

กว่า 70% ของพนักงานในประเทศไทยกำลังวางแผนเปลี่ยนงาน จากผลสำรวจล่าสุดโดยโรเบิร์ต วอลเทอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก พบว่า 62% ของพนักงานเหล่านี้เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการเตรียมตัวเพื่อยกระดับความสามารถของตัวเองจะช่วยให้ได้งานใหม่เร็วขึ้น แนวโน้มดังกล่าวกำลังเป็นที่นิยมในหมู่พนักงานในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการแสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพ

การเตรียมตัวเพื่อยกระดับความสามารถของตัวเองถือเป็นกลยุทธ์เชิงรุกที่พนักงานใช้เพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นกับงานในปัจจุบันของตน  โดยถือเป็นการแสวงหาโอกาสในการพัฒนาทักษะ เพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ๆ และได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้จะเสริมสร้างความสามารถในรับมือกับความไม่แน่นอนในตลาดงานและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม

“การพัฒนาและยกระดับทักษะในปัจจุบันไม่เพียงแต่จะช่วยด้านการพัฒนาตนเองและการเติบโตทางอาชีพ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการเรียนรู้ การเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง มันเป็นทั้งการต่อยอดทักษะปัจจุบันและการแสวงหาทักษะใหม่ ซึ่งทำให้การเตรียมตัวเพื่อยกระดับความสามารถเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและตอบโจทย์ในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง" คุณวรัปสร พงษ์ศิริบัญญัติ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน กฎหมาย และ เทคโนโลยีและทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย กล่าว

ผลสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดยโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย พบข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้:

แรงจูงใจที่ทำให้พนักงานเริ่มหางานใหม่ ได้แก่ วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ตอบโจทย์ (55%), ความพึงพอใจในการทำงานต่ำ (20%) และความไม่มั่นคงในงาน (16%)

กลยุทธ์การเตรียมตัวเพื่อยกระดับความสามารถของตัวเองที่เป็นที่นิยม ได้แก่ การพัฒนาทักษะ/การฝึกอบรม (33%), การทำอาชีพเสริมควบคู่กับงานประจำ (17%) และการขอคำปรึกษาจากโค้ชด้านอาชีพ (6%)

คุณวรัปสรยังเน้นว่าการพัฒนาทักษะและความสามารถไม่เพียงแต่สร้างความมั่นใจให้กับตนเองแต่ยังเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับองค์กร ทำให้ตนเองเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญสำหรับองค์กร ส่งผลให้พนักงานมีความรู้สึกมั่นคงในงานรวมถึงความภาคภูมิใจงาน ซึ่งส่งผลดีต่อขวัญและกำลังใจโดยรวม

บริษัทส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการให้พนักงานเตรียมตัวเพื่อยกระดับความสามารถ ซึ่งมากกว่า 50% ของบริษัทมองว่ามันเป็นหนึ่งในแนวทางที่พนักงานจะแสวงหาความก้าวหน้าทางอาชีพ ในขณะที่ 35% เชื่อว่าจะกระตุ้นให้เกิดแนวคิดใหม่ในบริษัท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะให้การสนับสนุนแนวทางนี้ แต่บริษัทยังจำเป็นต้องมุ่งเน้นการรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัท เพื่อลดโอกาสที่พวกเขาจะลาออกไปเริ่มงานใหม่ ซึ่งทำได้โดยการสื่อสารแนวทางที่ชัดเจนแก่พนักงาน ประเมินผลการทำงานอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการให้ฟีดแบคเชิงสร้างสรรค์ และลงทุนในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พนักงานมีทักษะที่พร้อม

คุณวรัปสรสรุปว่า “ด้วยแรงสนับสนุนและการเตรียมพร้อมจากองค์กร การเตรียมตัวเพื่อยกระดับความสามารถของตัวเองมีผลกระทบสำคัญต่อการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร โดยการเสริมสร้างทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ที่พนักงานต้องการ เพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จ องค์กรต้องรับรู้แนวโน้มและทิศทางในอุตสาหกรรม และให้การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องแก่พนักงาน กลยุทธ์เหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการสนับสนุนโอกาสทางอาชีพแก่พนักงาน แต่ยังให้ประโยชน์ทั้งพนักงานและนายจ้างเช่นเดียวกัน”

ที่มา: โรเบิร์ต วอลเทอร์ส, 2/8/2567

กสร.ลงพื้นที่ชลบุรีเจรจา UJV บริษัทผู้รับเหมาโครงการฯ ของไทยออยล์ เร่งหาทางออกช่วยลูกจ้างชุมนุมประท้วงหน้าโรงกลั่นไทยออยล์

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลงพื้นที่ชลบุรี เร่งเจรจาให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง กรณีกลุ่มกิจการร่วมค้า UJV ค้างจ่ายค่าจ้างบริษัทรับเหมาช่วงจำนวนหลายราย จนทำให้ผู้รับเหมาช่วงไม่มีเงินจ่ายให้ลูกจ้าง ซึ่งทาง UJV จะส่งงานตามงวดงานและนำเงินค่างวดงานที่จะได้รับจากไทยออยล์ภายในเดือน ส.ค. 2567 มาจ่ายให้แก่ผู้รับเหมาช่วง เพื่อให้มีเงินจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเพื่อให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแรง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2567 ลูกจ้างของบริษัทผู้รับเหมาของบริษัท ชิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า UJV ที่เป็นผู้รับเหมาโครงการฯ (สัญญาจ้างทำของ) จากไทยออยล์ ได้ชุมนุมประท้วงเนื่องจากไม่พอใจที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามกำหนดมาเป็นระยะเวลา 2-4 เดือนมาแล้ว จนรวมตัวชุมนุมประท้วงหน้าโรงกลั่นไทยออยล์และอาจทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

จึงนำคณะผู้บริหารลงพื้นที่เร่งเจราจากับนายจ้าง, บริษัท ชิโนเพคฯ และกิจการร่วมค้า UJV ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสัญญากับผู้รับเหมาช่วงอื่นอีกจำนวนมาก และได้ค้างจ่ายเงินให้กับ Sub contract หลายงวด ทั้ง ๆ ที่ บมจ.ไทยออยล์ได้จ่ายเงินค่างวดตามสัญญาจ้างทำของให้กับ UJV ตรงตามกำหนดมาโดยตลอด เหตุการณ์ดังกล่าวจึงทำให้บริษัทรับเหมาช่วงไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างของตนจนเป็นเหตุให้เกิดการชุมนุมของลูกจ้างดังกล่าว

อย่างไรก็ตามจากการร่วมเจรจาหารือเพื่อหาข้อสรุป และทางออกในการช่วยเหลือลูกจ้างกับนายจ้าง, บริษัท ซิโนเพคฯ, ผู้แทน UJV, ผู้แทน บมจ.ไทยออยล์ และตัวแทนลูกจ้าง ทราบว่า UJV ตกลงที่จะจ่ายเงินที่ UJV ได้รับตามเงื่อนไขสัญญาจากไทยออยล์สำหรับงวดงานที่จะถึงตามกำหนดสัญญาจ้างทำของให้กับให้กับบริษัทผู้รับเหมาช่วงรายย่อยแต่ละราย เพื่อผู้รับเหมาช่วงจะได้นำเงินดังกล่าวไปจ่ายเป็นค่าจ้างค้างจ่ายแก่ลูกจ้างของตนต่อไป

ที่มา: PPTV, 1/8/2567

กสร. เดินหน้าส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก ดันนิคมลาดกระบัง เป็น “นิคมอุตสาหกรรมสมานฉันท์”

1 ส.ค. 2567 นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานเปิดงานนิคมอุตสาหกรรมสมานฉันท์ พร้อมมอบป้าย “นิคมอุตสาหกรรมสมานฉันท์” และป้าย “สถานประกอบกิจการแห่งนี้ นำการบริหารแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคี อยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์” ให้แก่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และสถานประกอบกิจการ จำนวน 93 แห่ง โดยมี นางสาวอิศริยา แสงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นางสาวรัดเกล้า เชาวลิต ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรมเมเปิล ถนนศรีนครินทร์ บางนา กรุงเทพมหานคร

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิกาและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อมุ่งมั่นสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมสมานฉันท์ โดยมุ่งเน้นแนวคิดในเรื่องการส่งเสริมความสัมพันธ์ ความเข้าใจอันดีระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างให้สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์แบบทวิภาคี เพื่อป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งด้านแรงงาน ข้อพิพาทแรงงาน รวมถึงกลไกในการระงับปัญหากรณีเกิดข้อพิพาทด้านแรงงานให้ยุติโดยเร็ว โดยได้ส่งเสริม สนับสนุนให้สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ร้อยละ 80 ของจำนวนสถานประกอบกิจการในพื้นที่ แสดงความมุ่งมั่นนำการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคีไปใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงานเพื่ออยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์ ซึ่งในวันนี้มีสถานประกอบกิจการเข้ารับป้ายสัญลักษณ์ จำนวน 93 แห่ง โดยความร่วมมือจากสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ชมรมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กลุ่มสหภาพแรงงานลาดกระบังสัมพันธ์ ที่ร่วมดำเนินงานและขับเคลื่อนโครงการฯ จนนำไปสู่เป้าหมายการเป็นนิคมอุตสาหกรรมสมานฉันท์ต้นแบบด้านแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มุ่งหวังว่าสถานประกอบกิจการที่รับป้ายสัญลักษณ์ในวันนี้ จะนำแนวทางการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคีไปใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงาน และธำรงรักษานิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังสมานฉันท์ที่ได้เป็นต้นแบบด้านแรงงานสัมพันธ์ให้เกิดความสมานฉันท์อย่างยั่งยืนตลอดไป

นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะกำกับดูแลงานด้านแรงงานสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อมุ่งมั่นสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมสมานฉันท์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โดยได้ประกาศให้นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบแรงงานสัมพันธ์สมานฉันท์แห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินการส่งเสริมต่อเนื่องในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ และในปี พ.ศ. 2567 นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ 3 ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “นิคมอุตสาหกรรมต้นแบบแรงงานสัมพันธ์สมานฉันท์” จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมแสดงความมุ่งมั่นนำการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคีไปใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงานแล้ว จำนวน 274 แห่ง และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา พบว่า ไม่มีข้อพิพาทแรงงานหรือข้อขัดแย้งเกิดขึ้นภายในสถานประกอบกิจการและนิคมอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 1/8/2567

กรมจัดหางานแนะแรงงานไทยใน ‘ยูเออี’ ถูกนายจ้างทำร้าย กักขัง ต้องติดต่อตำรวจโดยตรง

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้รับการประสานจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี ประชาสัมพันธ์แนวทางขอความช่วยเหลือขณะทำงานอยู่ในยูเออี เนื่องจากปัจจุบันมีคนไทยลักลอบไปทำงานในยูเออีอย่างผิดกฎหมาย โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว/เยี่ยมเยือน (Tourist visa or Visa) จำนวนมาก ผ่านการชักชวนทางโซเชียลมีเดีย นายหน้า หรือคนรู้จัก โดยแจ้งอัตราค่าจ้างสูงเพื่อจูงใจ ไปทำงานนวดสปา ร้านอาหาร งานเว็บพนันออนไลน์ (Call Center) หรืองานปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน แต่เมื่อเดินทางมาถึงปรากฎว่า สภาพการทำงาน และค่าจ้างไม่ตรงตามที่คาดหวัง บางรายถูกนายหน้ายึดหนังสือเดินทาง ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ บังคับเซ็นสัญญารับสภาพหนี้ หรือถูกบังคับให้ค้าประเวณี ซึ่งแรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับแนวทางการขอรับความช่วยเหลือจากตำรวจในยูเออีที่แตกต่างจากประเทศไทย

“จึงขอฝากถึงแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หากต้องการความช่วยเหลือจากตำรวจ แรงงานไทยจำเป็นต้องติดต่อกับตำรวจด้วยตนเอง เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถเข้าตรวจค้นและดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้ทันที และยังสามารถทราบพิกัดปัจจุบันของผู้ร้องจากสัญญานโทรศัพท์มือถือด้วย แต่หากเป็นผู้อื่น หรือหน่วยงานอื่นเป็นผู้ติดต่อแจ้งไป ตำรวจจะต้องขอหมายศาลเพื่อเข้าตรวจค้นสถานที่ก่อนจึงจะเข้าตรวจค้นได้ เมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้ว ระหว่างรอดำเนินการเรื่องเอกสารเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ จะเป็นผู้ดูแลให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น การจัดหาอาหารแห้ง ยา และสิ่งของ รวมถึงการแนะนำที่พักราคาถูก โดยแรงงานไทยที่ต้องการขอความช่วยเหลือสามารถติดต่อผ่านสายด่วน (+971) 506525945 เพจ Facebook : Royal Thai Consulate-General, Dubai ไลน์ไอดี (Line ID) : thaiconsulatedubai” นายสมชาย กล่าว

อธิบดี กกจ. กล่าวว่า การลักลอบไปทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง การไม่ได้เงินเดือนและไม่ได้ทำงานตามข้อตกลง โดยเฉพาะในยูเออี ที่หน่วยงานภาครัฐไม่มีอำนาจในการให้ความช่วยเหลือในเคหสถาน ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รับแจ้งความและให้ความช่วยเหลือเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้ร้องทุกข์ส่วนใหญ่ไม่ต้องการแจ้งความ เพราะเกรงว่าจะถูกจับกุมเนื่องจากเดินทางเข้ามาโดยวีซ่าท่องเที่ยวและลักลอบทำงาน อย่างไรก็ตาม หากถูกกักขัง ทำร้ายร่างกาย หรือเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่ตนเอง ขอให้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทันที

“ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านระบบ e – Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตให้จัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ doe.go.th/ipd และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2245 6763 และ 0 2245 6708 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694” นายสมชาย กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/8/2567

แรงงานไทย-เวียดนาม หลั่งน้ำตาครวญไม่เป็นธรรม บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติเบี้ยวค่าแรงกว่า 8 พันชีวิต

จากกรณีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนหนึ่งได้รวมตัวชุมนุมริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างจากผู้รับเหมาตามกำหนด จากการสอบถามของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (บริษัท) เข้าใจว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานดังกล่าวเป็นพนักงานชาวไทยและเวียดนาม ของบริษัท วัน เทิร์น เท็น จำกัด (One Turn Ten)บริษัท เอ็มโก้ แอลทีดี (ไทยแลนด์) จำกัด (EMCO) และบริษัท ไทยฟง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (Thai Fong)

ทั้ง 3 บริษัทเป็นนายจ้างและเป็นผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่งของบริษัท ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (Sinopec) ที่เป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า UJV: Unincorporated Joint Venture of Petrofac South East Asia Pte. Ltd.(Petrofac), Saipem Singapore Pte. Ltd.(Saipem) และ Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (ชื่อเดิม Samsung Engineering (Thailand) Co., Ltd.) (Samsung) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักในการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ให้บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

นายประนมพร มาตรสมบัติ พนักงานบริษัทไทฟง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เล่าว่า ตนเป็นชาวสกลนคร มาหางานที่จังหวัดชลบุรี โดยก่อนหน้าที่เคยทำงานอยู่ บริษัท scc มาก่อน และย้ายทำบริษัทไทฟง ซึ่งเป็นบริษัทซับคอนเทรคของบริษัทซัมชุง ที่ได้งานก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาดของบริษัทไทยออยล์ ไม่ได้รับเงินค่าแรงงานมานาน 2 เดือน ส่วนเพื่อนแรงงานชาวเวียดนาม ไม่ได้รับค่าแรงมา 6 เดือนแล้ว ขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะต้องดูแลครอบครัวด้วย เงินที่มีใช้อยู่ทุกวันนี้ต้องโทร.ไปขอเงินพ่อมามาใช้ก่อน เพราะคิดว่า บริษัทจะจ่ายเงินเดือนให้

สำหรับปัญหาค่าแรงงานจ่ายล่าช้ามีมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 67 แล้ว หลังจากนั้นมีการทยอยจ่าย ตนต้องทนทำ เพราะมีภาระและอยากได้เงินที่ค้างคืน จนล่าสุดบริษัทไม่จ่ายเลย เมื่อมีการสอบถามไปได้รับคำตอบว่าไม่มีเงินจ่าย พวกเราจึงต้องมารวมตัวประท้วง เพราะอยากได้เงินค่าค่าแรงของตน พวกเราทำงานต้องได้เงิน เขาได้งานไปแล้ว และทราบว่าบริษัทไทยออยล์ได้จ่ายเงินค่างวดงานให้บริษัทไปหมดแล้ว แต่ทำไมบริษัทถึงไม่จ่ายเงินเรา ทั้งที่เป็นบริษัทใหญ่โต มีชื่อเสียง จึงขอวอนให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือ

น.ส.จิตรลัดดา หมอนทอง เป็นพนักงานของบริษัท วัน เทิร์น เท็น จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่งของบริษัทซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า UJV เผยว่า บริษัทค้างจ่ายค่าแรงเดือนที่ 2 แล้ว โดยที่ผ่านมา เลื่อนจ่ายเป็นงวดมาตั้งแต่เดือนเมษายน เมื่อมีการท้วงถามบริษัทแจ้งว่าไม่มีเงิน

ล่าสุดที่ค้างจ่ายคือของเดือนมิถุนายน กรกฎาคม ขณะนี้เดือดร้อนหนักมาก จึงมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง อยากได้เงินค่าแรง ซึ่งมีผลกระทบการใช้ชีวิต ซึ่งตนต้องมีค่าใช้จ่ายประจำเดือนทุกเดือน คือ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ และต้องเลี้ยงดูลูกๆ อีก ล่าสุดต้องเอาทองไปจำนำเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายไปก่อนในระหว่างรอเงินที่ค้างจ่าย เราจะปักหลักประท้วงจนกว่าจะได้เงินคืน

ด้าน น.ส.ดารณี ธรรมนู อายุ 27 ปี เป็นพนักงานของบริษัทสามพล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่งของบริษัท ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ทำงานมา 2-3 ปี ไม่ได้เงินเดือนมา 2 เดือน โดยตนได้ค่าแรงวันละ 450 บาท ที่ต้องออกประท้วงในครั้งนี้คือไม่ไหวแล้ว เดือดร้อนมาก ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้องเดือนละ 2,500 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารการกิน และตอนนี้ลูกไม่สบาย ไม่มีเงินค่ารักษา และใช้จ่ายภายในบ้าน เพราะทำงานแต่ไม่ได้เงินมันช้ำใจมาก

"ล่าสุดต้องไปกู้เงินนอกระบบมาใช้ก่อนเพื่อรอเงินเดือน ดอกเบี้ยร้อยละ 20 บาท ซึ่งแพงเราต้องยอม เพราะไม่มีเงินใช้แล้ว อยากให้นายจ้างเห็นเห็นใจพวกพนักงานชั้นล่างที่ต้องอยู่กันอย่างลำบาก"

ด้านนายประสิทธิ์ ปาตังคะโร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ให้ความรู้เกี่ยวกับการเข้าทำงาน เพื่อป้องการรักษาสิทธิของตนเอง ป้องกันปัญหาการเอาเปรียบจากนายจ้าง ซึ่งๆ จริงแล้วการทำงานเราไม่สามารถจะรู้ว่าในอนาคตจะต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง แต่เมื่อเจอแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป ในกรณีที่ทำงานแล้วไม่ได้ค่าจ้างหรือถูกเลิกจ้างโดยที่ไม่มีความผิด กระบวนการแก้ปัญหาคือจะต้องยื่นคำร้อง ทร 7 ในท้องที่เกิดเหตุจังหวัดนั้นๆ

เจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และดำเนินการให้นายจ้างปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติ เช่น กรณีที่มีการวินิจฉัยแล้วให้นายจ้างต้องจ่าย แล้วนายจ้างไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง นายจ้างไปฟ้องเพิกถอนกับศาลแรงงาน แต่ถ้านายจ้างรับคำสั่งแล้ว ไม่จ่ายเงิน พนักงานตรวจแรงงานจะดำเนินคดีอาญากับนายจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องแพ่งต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งบังคับจ่าย ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เราไม่สามารถคาดเดาได้ในระหว่างการทำงานว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่หรือไม่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่เมื่อเกิดแล้วมันจะมีกระบวนการ

พนักงานคุ้มครองแรงงานจังหวัดจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ตัวลูกจ้างเองต้องรักษาสิทธิของตัวเอง ด้วย เช่น ในเรื่องของสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิอื่นๆ ของตนเองตามกฎหมาย อย่างแรกที่ควรศึกษาคือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ว่าตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่าไหร่ ในพื้นที่นั้นๆ การจ่ายโอทีเวลาทำงานในวันหยุด อะไรต่างๆ คนทำงานควรศึกษาสิทธิของตนเองให้ครบถ้วนตามกฎหมายก่อน เมื่อไปทำงานที่ไหนก็ตรวจสอบได้ เมื่อไปทำงานแล้วไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดสามารถแจ้งสำนักงานสวัสดิการและแรงงานจังหวัดได้

ส่วนกรณีของพนักงานลูกจ้างที่กำลังมีปัญหาอยู่ในในขณะนี้ ลูกจ้างสามารถลงชื่อยื่นคำร้องที่สำนักงานเพื่อเรียกร้องตามกระบวนการของกฎหมายได้ตามสิทธิของตนเอง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 31/7/2567

ม็อบแรงงานไม่จบ กิจการร่วมค้า UJV ยังนิ่งไม่จ่ายเงินบริษัทซับฯ

30 ก.ค. 2567 ที่ปากทางเข้าโรงกลั่นน้ำมันชื่อดังในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีกลุ่มพนักงานของบริษัทรับเหมาหลายบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทซับคอนแทรคของกิจการร่วมค้า Unincorporated Joint Venture of Petrofac, Saipem, Samsung (UJV) ก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาดของโรงกลั่นน้ำมันดังกล่าว มารวมตัวถือป้ายเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดรับผิดชอบปัญหาที่เรื้อรังมานาน คือไม่ยอมจ่ายเงินค่าแรงให้พนักงานหลายร้อยชีวิต ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 จนถึงปัจจุบันนี้ พนักงานทุกคนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะมีภาระค่าใช้จ่าย

การชุมนุมประท้วงครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอศรีราชา และตำรวจ สภ.แหลมฉบัง เข้าดูแลความสงบเรียบร้อย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบให้ผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่นๆ

ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มแรงานที่ได้รับความเดือดร้อนได้รวมไปชุมชนที่ประตูทางเข้าโรงกลั่นจำนวนหลายร้อยคนด้วยความสงบโดยไม่มีความรุนแรง

จากการสอบถามผู้ประท้วง กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเจรจายืดยื้อมานานหลายเดือน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา และยังไม่จ่ายค่าแรงให้กลุ่มพนักงาน โดยทางบริษัทแจ้งว่ายังเบิกเงินจากบริษัท UJV ไม่ได้ จึงทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายพนักงาน

ด้าน น ส.ดารณี ธรรมนูญ คนงานของบริษัท สามผล กล่าวว่า ตนและเพื่อนๆ เกิดปัญหาเช่นกัน ซึ่งบริษัทผู้รับเหมาได้รับเงินมา แต่ไม่ยอมจ่ายเงินให้พนักงาน เลื่อนจ่ายมาตั้งแต่เดือน เม.ย.67 จนถึงปัจจุบัน แม้พนักงานจะรวมตัวเจรจามาหลายครั้งแล้วแต่ไม่เป็นผล

สำหรับปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว เกิดจากบริษัทผู้รับเหมาที่ได้โปรเจกต์งานของโรงกลั่นน้ำมันมา ซึ่งทางโรงกลั่นน้ำมันได้จ่ายเงินให้บริษัทผู้รับเหมาไปแล้ว แต่บริษัทผู้รับเหมาไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่พนักงานของตัวเอง และบริษัทผู้รับเหมาอื่น 1-2 บริษัทที่จ้างมาทำงานต่ออีกที โดยเลื่อนจ่ายมาตั้งแต่เดือน เม.ย.67 จนถึงปัจจุบัน ถึงแม้พนักงานจะรวมตัวเจรจามาหลายครั้งแล้วแต่ไม่เป็นผล

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 30/7/2567

หวังดูดแรงงานหัวกะทิ กลับไทย ลดภาษีเหลือ 17% นายจ้างหักค่าจ้างได้อีก 1.5 เท่า

วันที่ 30 ก.ค. 2567 ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โจทย์อีกข้อหนึ่งคือการดูดแรงงานศักยภาพสูงทั่วโลกเข้าไทย รวมทั้งคนไทยศักยภาพสูง (หัวกะทิไทย) ที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ คนกลุ่มนี้เก่ง แต่ปัจจุบันทำงานต่างประเทศ ไม่ได้ช่วยสร้างเศรษฐกิจไทย ถ้าดึงกลับมาจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และยังสร้างรายได้ภาษีที่แต่ก่อนไทยไม่เคยได้รับอีกด้วย

วันนี้ ครม.อนุมัติมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการด้านภาษีดูดหัวกะทิไทยที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้กลับบ้าน มาทำงานในไทย ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งผู้ถูกจ้างเองและนายจ้าง ดังนี้

สิทธิประโยชน์

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง)

สำหรับลูกจ้างตามคุณสมบัติที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายสูงกว่าร้อยละ 17 ให้ลดเหลือร้อยละ 17 ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด โดยต้องเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึง 31 ธันวาคม 72

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (นายจ้าง)

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด สามารถหักรายจ่ายที่จ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างตามคุณสมบัติ ระหว่างวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 72 ได้จำนวน 1.5 เท่า

คุณสมบัติ

1. สัญชาติไทย มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี

2. ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี

3. กลับเข้าไทยตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึง วันที่ 31 ธันวาคม 68

4. เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

5. ไม่เคยทำงานในไทยในปีภาษีที่มีการเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้

6. ต้องไม่ได้เข้ามาอยู่ไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธิอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าอยู่ต้องอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้นๆ

7. ในปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น ต้องอยู่ไทยรวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วัน เว้นแต่ปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้าย ที่ใช้สิทธิจะอยู่ในไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 30/7/2567

สถานทูตไทย สั่งอพยพด่วน แรงงานติดชายแดนเลบานอน อิสราเอลจ่อโจมตีกลับ

กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า ตามที่เกิดเหตุโจมตีอิสราเอลจากฝั่งเลบานอน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ที่เมืองมัจดาล ชามส์ (Majdal Shams) ส่งผลให้เด็กเสียชีวิต 12 ราย นั้น กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟ ว่า อิสราเอลมีแนวโน้มที่จะตอบโต้เร็ว ๆ นี้ ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์การสู้รบทางตอนเหนือของอิสราเอลติดชายแดนเลบานอนทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สถานทูตจึงขอให้แรงงานในบริเวณดังกล่าวออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด โดยสามารถติดต่อขอย้ายพื้นที่ได้จากฝ่ายแรงงานของสถานเอกอัครราชทูต ได้ที่ โทร. +972 9-954-8431 หรือ +972 54-469-3476 ไลน์ (Line ID) : 0544693476

นอกจากนี้ สถานทูตขอให้ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านความปลอดภัยของทางการท้องถิ่นในพื้นที่อย่างเคร่งครัด และพยายามอยู่ใกล้ห้องนิรภัยเพื่อสามารถเข้าที่หลบภัยได้ทันทีเมื่อได้ยินเสียงไซเรน ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะแจ้งความคืบหน้าของสถานการณ์ให้ทราบเป็นระยะต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 29/7/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net