Skip to main content
sharethis

ดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคแรงงาน เร่งสร้างงาน ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มทักษะ

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การย้ายฐานการผลิต และการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกระทรวงแรงงานเร่งสร้างงานในประเทศ จัดมหกรรม Job Expo Thailand 2024 มียอดสมัครงานกว่า 110,000 คน จับคู่การจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม “คนทำงาน” เพื่อรองรับผู้ถูกเลิกจ้างที่ต้องการทำงานแบบฟรีแลนซ์ จับคู่การจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” มีตำแหน่งงานรองรับทั่วประเทศกว่า 177,000 อัตรา และจัดตลาดนัดแรงงานทุกจังหวัด รวมทั้งขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ จอร์แดน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และเปิดตลาดใหม่ในอิตาลี เพื่อส่งแรงงานไปทำงานภาคเกษตร โดยปีนี้มีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ 100,000 คน คาดว่าจะนำรายได้กลับสู่ประเทศ 385,617 ล้านบาท

โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงาน มีทั้งการสนับสนุนทางการเงินและสวัสดิการ เช่น จ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ครั้งละไม่เกิน 180 วันต่อปีปฏิทิน จ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าชดเชย การลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตนที่ผ่อนชำระค่าที่อยู่อาศัยกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้สามารถใช้สิทธิลดดอกเบี้ยเงินกู้หรือรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินอื่น การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินแก่ผู้ประกันตนตามโครงการ Micro Finance ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุขแรงงาน และนำไปลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสถาบันเฉพาะทางด้านเทคนิคอัจฉริยะ เช่น การผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เทคโนโลยีอัตโนมัติและเทคคาทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งลดหย่อนภาษีให้กับสถานประกอบการที่ดำเนินการพัฒนาทักษะลูกจ้างในองค์กรด้วย

“นายพิพัฒน์ต้องการให้กระทรวงแรงงานมีบทบาทสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเราดูแลแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบมากกว่า 10 ล้านคน โดยจะทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันมาตรการเหล่านี้ให้สำเร็จ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการก้าวข้ามผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้ด้วยดีและสนองนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายภูมิพัฒน์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 14/7/2567 https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4680287

ครบจบที่เดียวผู้ประกันตนประกันสังคม ตรวจสุขภาพฟรี 14 รายการผ่านแอปเป๋าตัง

เรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ สุขภาพดีเรื่องอื่นๆก็จะดีตามเราไปด้วย ทั้งการเงิน การงาน อาชีพที่ทำ เชิญมาทางนี้ ครบจบที่เดียว ผู้ประกันตน "ประกันสังคม ตรวจสุขภาพฟรี" 14 รายการ ผ่าน "กระเป๋าสุขภาพ" บนแอปฯ "เป๋าตัง" นัดตรวจสุขภาพ นัดหมายล่วงหน้าได้ เข้ารับบริการ แพ็กเกจสุขภาพ

"แพ็กเกจ ตรวจสุขภาพฟรี 14 รายการ" สำหรับผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคม ซึ่งสามารถตรวจสอบสิทธิและนัดหมายเพื่อเข้ารับบริการ ผ่าน "กระเป๋าสุขภาพ" บนแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" โดยไม่ต้องแยกนัดหมายตามรายการ เริ่มที่เครือโรงพยาบาลจุฬารัตน์ เป็นแห่งแรก

โดยโครงการ Smart Hospital ที่ ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับ เครือโรงพยาบาลจุฬารัตน์ เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่ทางธนาคารนำ Total Solution ช่วยยกระดับการบริหารจัดการทางการเงินของโรงพยาบาลแบบครบวงจร เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตน

โดยธนาคารได้พัฒนาระบบเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกันตนที่ต้องการรับบริการตรวจสุขภาพตามสิทธิตรวจสุขภาพประกันสังคม ฟรี 14 รายการ ได้ครบ จบในครั้งเดียว

จากเดิมที่ต้องเลือกโรงพยาบาล เพื่อแยกตรวจตามรายการ ซึ่งในวันนี้ ผู้ประกันตนสามารถนัดหมาย รวมถึงเช็กผลการตรวจ ได้ที่เครือโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ผ่านกระเป๋าสุขภาพ บนแอปฯ เป๋าตัง

รายการตรวจสุขภาพพื้นฐานประกันสังคม 14 รายการ

- การตรวจไขมันในเส้นเลือด

- น้ำตาลในเลือด

- การทำงานของไต

- ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

- ตรวจปัสสาวะ

- การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง (FIT TEST)

- การตรวจวัดความดันของเหลวภายในลูกตา

- เพิ่มความถี่การถ่ายภาพรังสีทรวงอก เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ประกันตน สามารถนัดหมาย วันเวลา เพื่อเข้ารับบริการ รวมทั้งทราบผลการตรวจรักษา โดยเข้าใช้งานผ่าน "กระเป๋าสุขภาพ" บนแอปฯ "เป๋าตัง" ก็สามารถเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของตนเองได้ทันที

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 13/7/2567

กรมจัดหางานเผย 36 วัน ตรวจสอบแรงงานข้ามชาติกว่าแสนราย ดำเนินคดี 280 แห่ง 726 คน

12 ก.ค. 2567 นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน โดยกกจ. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กำลังพลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้ออกปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ ที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ มีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง

โดย ล่าสุด ได้รายงานผลการดำเนินการระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน – 11 กรกฎาคม 2567 รวม 36 วัน มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศแล้ว 8,776 แห่ง ดำเนินคดี 280 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ 108,875 คน แยกเป็น เมียนมา 80,913 คน กัมพูชา 16,507 คน ลาว 7,804 คน เวียดนาม 104 คน และสัญชาติอื่นๆ 3,547 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 726 คน แยกเป็น เมียนมา 473 คน กัมพูชา 74 คน ลาว 101 คน เวียดนาม 14 คน และสัญชาติอื่นๆ 64 คน โดยเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวจะปฏิบัติการต่อไปอย่างเข้มข้น “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” จนครบระยะเวลา 120 วัน

นายสมชาย กล่าวว่า แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องเคารพกฎหมายของเรา เช่นเดียวกับที่เวลาคนไทยไปทำงานในต่างประเทศก็ต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้นๆ โดยแรงงานต่างชาติต้องมีเอกสารประจำตัวบุคคลและใบอนุญาตทำงานถูกต้อง และทำงานตามสิทธิ ที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (มีทั้งสิ้น 40 งาน) รวมทั้งปฏิบัติตามขั้นตอนที่มติ ครม.ในคราวต่างๆ กำหนดไว้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้สามารถทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องหลบซ่อนและได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่พึงมี

“ทั้งนี้ ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อ คนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี” นายสมชาย กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 12/7/2567

บริษัทฮอนด้าจ่อลดกำลังการผลิตรถยนต์ในไทยลงครึ่งหนึ่ง

บริษัทฮอนด้ามอเตอร์ของญี่ปุ่นระบุว่า กำลังวางแผนที่จะลดกำลังการผลิตในประเทศไทยลงกว่าร้อยละ 50

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการแข่งขันที่ดุเดือดกับคู่แข่งจากจีน ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นต้องปรับกลยุทธ์ของตน

ฮอนด้ามีโรงงานประกอบรถยนต์สองแห่งในประเทศไทย โดยกล่าวว่าโรงงานในจังหวัดปราจีนบุรีจะยังคงผลิตรถยนต์ต่อไปหลังสิ้นปีหน้า แต่ทางบริษัทระบุว่า โรงงานที่จังหวัดอยุธยาจะหยุดประกอบรถยนต์ภายในสิ้นปี 2568 และจากนั้นจะผลิตเฉพาะชิ้นส่วนประกอบเท่านั้น

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้กำลังการผลิตของฮอนด้าในประเทศไทยลดลงจาก 270,000 คัน เหลือ 120,000 คันต่อปี

ผู้บริหารของฮอนด้ากล่าวว่าพวกเขาคาดการณ์ว่ายอดขายจะไม่ฟื้นตัว

ฮอนด้าเริ่มผลิตรถยนต์ในประเทศไทยในปี 2535 ยอดการผลิตต่อปีพุ่งขึ้นสูงสุดในปี 2556 อยู่ที่มากกว่า 270,000 คัน ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือประมาณ 140,000 คันเมื่อปีที่แล้ว

รถยนต์ญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 80 ของยอดขายรถยนต์ในประเทศไทย แต่บริษัทของจีนที่รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่อย่าง BYD กำลังเป็นที่รู้จักมากขึ้นในไทย และกำลังแย่งส่วนแบ่งการตลาดของผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น

ที่มา: NHK WORLD, 12/7/2567

'เนชั่น กรุ๊ป' ยัน มาตรการพักการจ่ายเงินเดือนบางส่วน มีผลกระทบเพียง 10% ของฐานเงินเดือน และ มีผลเฉพาะฝ่ายบริหาร องค์กรไม่ได้วิกฤต แต่เป็นการเตรียมพร้อมเพื่ออนาคต

จากกระแสข่าวที่ปรากฏบนสื่อต่างๆ พร้อมข้อความที่บิดเบือนและนำเสนอข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน สร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนและสังคมเป็นวงกว้าง อันนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ และทำให้องค์กรเสื่อมเสียชื่อเสียงนั้น

สืบเนื่องจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนทางเทคโนโลยี หรือ Digital Disruption ที่ส่งผลต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมสื่อทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้ เนชั่นกรุ๊ป ได้ออกแถลงการณ์ ดำเนินการปรับลดค่าใช้จ่ายในหลายด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต และเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยหนึ่งในนั้นคือ มาตรการ 'พักการจ่ายเงินเดือนบางส่วน' ซึ่งมีผลเฉพาะกับผู้บริหาร เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อองค์กรและพนักงาน และมีผลเพียง 10% ของฐานเงินเดือนทั้งบริษัท  โดยพนักงานที่เหลือกว่า 800 ชีวิต ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ

ฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เนชั่นกรุ๊ป เผยว่า “เนชั่นกรุ๊ป เป็นองค์กรสื่อสารมวลชนที่ยืนหยัดอยู่คู่กับสังคมไทยมากว่า 54 ปี เราเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีในโลกการสื่อสารที่เปลี่ยนไป และผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจตามแต่ยุคสมัย

นี่ไม่ใช่พายุลูกแรก และคงไม่ใช่ลูกสุดท้าย เรามองปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความท้าทายในเส้นทางของชีวิต และเราเองก็ไม่ใช่คนเดียวที่ได้รับผลกระทบ สื่อยักษ์ใหญ่ทั้งโลกและสื่อหลักหลายแห่งในประเทศไทย ก็มีการลดคน ลดค่าใช้จ่าย

ช่วงการระบาดโควิด-19 เราก็มีการพักการจ่ายเงินเดือนพนักงาน 10% เพื่อให้เป็นไปในเชิงสัญลักษณ์และความมั่นคงทางการเงิน พอหลังจากเหตุการณ์คลี่คลาย เราได้มีการคืนเงินให้พนักงานจนครบ จากมาตรการที่เราแถลงไปไม่มีอะไรต้องกังวลใจ นอกเหนือจากการประโคมข่าวเกินจริง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือเครือเนชั่นกรุ๊ป จากสื่อคู่แข่ง”

ทั้งนี้ เนชั่นกรุ๊ป ได้เดินหน้าลงทุนในหลากหลายโมเดลธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจภาพยนตร์ (Film)  ธุรกิจโชว์บิส (ShowBiz) และ ธุรกิจซื้อขายภาพและข้อมูลออนไลน์ (Archives) เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต และในส่วนธุรกิจสื่อสารมวลชน ได้นำเทคโนโลยี Generative Ai เข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถงานกองบรรณาธิการ และพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมาย

"ต้องขอขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งเข้ามา เนชั่นกรุ๊ป ขอยืนยันว่าองค์กรยังคงมีความมั่นคงและมีรายได้ที่เข้มแข็ง และจะยืนหยัดเป็นองค์กรที่มุ่งผลิตข่าวสาร และสร้างสรรค์คอนเทนต์อันเป็นประโยชน์สู่สังคมไทยสืบไป" ฉาย สรุป

ที่มา: Nation Group, 11/7/2567

ร้องบริษัทจัดหางานชื่อดังเชียงใหม่ หาแรงงานทำฟาร์มแกะต่างประเทศ ตุ๋นค่าหัวรายละแสน

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2567 ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นางเกศิณี อายุ 40 ปี พร้อมกลุ่มผู้เสียหายจำนวนหนึ่ง เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.ร้อยเอ็ด ตาลเลิศ รอง สว.(สอบสวน) กก.1.บก.ปคม. เพื่อแจ้งเอาผิดบริษัทจัดหางานต่างประเทศแห่งหนึ่งที่ จ.เชียงใหม่ ที่หลอกให้จ่ายเงินค่าดำเนินการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ แต่กลับไม่สามารถไปทำงานได้ตามที่กล่าวอ้าง

นางเกศิณีกล่าวว่า ก่อนหน้านี้พบบริษัทจัดหางานดังกล่าวโพสต์ประกาศรับสมัครแรงงานไปทำฟาร์มวัว ฟาร์มแกะ หรือไร่องุ่นที่ประเทศออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ จำนวนมาก แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องยอมเสียเงินค่าดำเนินการคนละแสนกว่าบาท อ้างเพื่อเป็นค่าจัดทำวีซ่า หนังสือตรวจโรค และเอกสารต่างๆ ประกอบกับเห็นว่าบริษัทดังกล่าวมีการนำแรงงานไปฝึกงานฟาร์มวัวที่ จ.นครราชสีมา ทำให้ดูน่าเชื่อถือ พวกตนจึงหลงเชื่อยอมจ่ายเงินเพื่อหวังจะได้ไปทำงานในต่างประเทศ แต่เมื่อถึงกำหนดกลับไม่สามารถไปทำงานได้จริง ทางบริษัทอ้างว่าถูกนายหน้าที่ต่างประเทศโกง เมื่อจะขอเงินคืนก็ถูกบ่ายเบี่ยง พบมีผู้ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกเช่นเดียวกับตนกว่า 100 ราย ต่างกระจายเข้าแจ้งความตำรวจท้องที่ต่างๆ แล้วแต่คดีไม่คืบหน้าจึงตัดสินใจเข้ามาร้องขอความช่วยเหลือกับตำรวจสอบสวนกลาง

เบื้องต้น พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบปากคำผู้เสียหายไว้เป็นหลักฐาน เพื่อเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/7/2567

ภาคประชาสังคมเสนอกมธ.ขยายเวลาลาคลอด เป็น 180 วัน

10 ก.ค. 2567 ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย เครือข่ายขับเคลื่อนแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ว่าด้วยการลาคลอด 180 วัน และการจ้างงานภาครัฐ นำโดย อรุณี ศรีโต ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ส.ส.สตูล พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. …

โดยมีข้อเสนอสำคัญ คือ

- ขอให้ขยายสิทธิลาคลอดเพิ่มขึ้นจาก 98 วันเป็น 180 วัน ได้ค่าจ้างเต็ม โดยยึดหลักองค์การอนามัยโลก หรือ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

- ขอให้คำนึงถึงสิทธิของมารดาในระหว่างก่อนและหลังคลอดบุตร

- ขอให้กำหนดเวลาที่ชัดเจนในการทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้จริง

- ขอให้นายจ้างไม่นำสิทธิลาคลอดที่เพิ่มขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการประเมินผลการทำงานของลูกจ้าง

- ขอให้แก้ไขให้การจ้างงานของลูกจ้างภาครัฐได้เข้าสู่ความคุ้มครองของกฎหมายด้วย

โดย วรศิษฎ์ ประธานกมธ. กล่าวว่า "กรรมาธิการจากทุกพรรคการเมืองมีความเห็นตรงกัน ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้นและต้องการขยายวันลาคลอด แต่มีความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงมีความราบเรียบในการปรับตัวของผู้ประกอบการและคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน"

ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีวันละคลอดมากกว่าประเทศไทย  เวียดนาม 180 วัน สิงคโปร์ 120 วัน และลาว 105 วัน ส่วนไทยมีแค่ 98 วัน

ที่มา: ไทยแอ็ค, 10/7/2567

ก.แรงงาน เปิดเวทีประชุมความร่วมมือสนับสนุนคุ้มครองสิทธิสวัสดิการ และประกันสังคมแรงงานข้ามชาติอย่างเท่าเทียม

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการการสนับสนุนสิทธิแรงงานข้ามชาติ ครั้งที่ 1 Project Advisory Committee (PAC) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 โดยมี คุณเสี่ยวเยี่ยน เฉียน ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สปป. ลาว เป็นผู้กล่าวต้อนรับ ผู้เข้าร่วมประชุมและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องดวงกมล ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร

นายสมาสภ์ กล่าวว่า โครงการสนับสนุนสิทธิแรงงานข้ามชาติ หรือ Migrant Advocacy for Rights (MARs) เป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา มีระยะเวลาการดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 - กันยายน 2569 โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการรับรู้สิทธิของแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรและภาคการผลิตนอกระบบทั้งในและนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย โดยมีแนวทางการดำเนินโครงการ คือ การสร้างการรับรู้ของแรงงานข้ามชาติเกี่ยวกับสิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพ และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพและเครือข่ายแรงงาน โดยใช้ยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงทุกกลุ่มและประเด็นด้านเพศสภาพ เพื่อให้โครงการสามารถเข้าถึงกลุ่มชายขอบ เช่น ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และผู้พิการ พร้อมทั้งส่งเสริมการรับฟังเสียงสะท้อนที่มีความหลากหลายโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมา

นายสมาสภ์ กล่าวต่อว่า การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการฯ ครั้งที่ 1 ในวันนี้เพื่อนำเสนอภาพรวมของโครงการฯ ผลลัพธ์ที่คาดหมายของการดำเนินการ โดยการประชุมในวันนี้ ขอให้ทุกท่านร่วมกันพิจารณาข้อเสนอการดำเนินโครงการฯ รวมถึงหารือเกี่ยวกับเทคนิค กลยุทธ์ หรือข้อห่วงกังวล พร้อมทั้งหาข้อสรุปร่วมกันว่าแนวการดำเนินโครงการฯ มีความสอดคล้องและตอบสนองต่อสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานจากกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรและภาคการผลิต และเป็นกำลังสำคัญที่มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศให้เจริญยิ่งขึ้น โดยแรงงานกลุ่มเหล่านี้ควรต้องได้รับสิทธิและการคุ้มครองทางสังคม และเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับทุกภาคส่วนในการร่วมมือกันในการขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุผล

"กระทรวงแรงงานพยายามที่จะดูแลแรงงานในทุกภาคส่วนให้ได้รับสิทธิและความคุ้มครองด้านแรงงาน สวัสดิการ และประกันสังคมอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และความพยายามนี้จะสัมฤทธิ์ผลได้ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานไตรภาคีทุกฝ่าย ความร่วมมือของทุกท่านจะเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการผลักดันนโยบายและการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการรับรู้สิทธิของแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่มต่อไป" นายสมาสภ์ กล่าว

ที่มา: RYT9, 10/7/2567

ตร.ฟินแลนด์และดีเอสไอ สอบแรงงานที่ถูกหลอกไปเก็บเบอร์รี่ในประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ พบมีผู้ได้รับความเดือดร้อนกว่า 1,000 คน

9 ก.ค.2567 ตำรวจสาธารณรัฐฟินแลนด์ ประสานกรมสอบสวนคดีพิเศษ สอบปากคำผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์ กรณีบริษัทจัดหางานหลอกแรงงานไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ เมื่อปี 2565 ขณะที่เครือข่ายเก็บเบอรี่ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ เรียกร้องรัฐบาลไทย ประเทศฟินแลนด์ และประเทศสวีเดน เร่งดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์ หลังพบว่า มีแรงงานได้รับความเดือดร้อน ตั้งแต่ปี 2553-2566 ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อน นำข้อความและภาพถ่าย ที่รวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของแรงงานไทย ในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ถูกหลอกให้ไปเก็บเบอร์รี่ และผลไม้ป่า ที่ประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ ถูกนำมาจัดแสดงที่บริเวณด้านหน้าศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 4 กรมสอบสวนคดีพิเศษ จ.ขอนแก่น

แรงงานเกือบ 200 คนที่เดินทางมาในวันนี้ ส่วนหนึ่งได้เข้าให้ปากคำในคดีค้ามนุษย์ กรณีบริษัทจัดหางานหลอกแรงงานไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์ เมื่อปี 2565 ในฐานะพยานและผู้เสียหาย โดยตำรวจสาธารณรัฐฟินแลนด์ ประสานกรมสอบสวนคดีพิเศษ สอบปากคำผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีล่ามแปลภาษา เบื้องต้นจะสอบปากคำแรงงานกว่า 50 คน ใช้เวลาประมาณ 5 วัน

ขณะที่แรงงานอีกส่วนหนึ่งรวมตัวโดยใช้ชื่อว่า เครือข่ายเก็บเบอรี่ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ฟินแลนด์ และสวีเดน เร่งดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งพบว่า เป็นกลุ่มบริษัทเดียวกัน มีพฤติกรรมหลอกลวงแรงงาน กดขี่ข่มเหง และโกงค่าแรง

พวกเขาเรียกร้องให้มีการสอบปากคำผู้เสียหายเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกหลอกให้ไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ เมื่อปี 2556 ที่มีการให้แรงงานกู้เงิน ธกส. โดยมีบริษัทจัดหางานเอกชนรับรอง แต่สุดท้ายไม่จ่ายค่าแรงตามสัญญา ทำให้ชาวบ้านต้องแบกรับหนี้สิน ที่ผ่านมาพยายามเรียกร้องให้เป็นคดีพิเศษ เข้าข่ายค้ามนุษย์ และได้รวบรวมข้อมูลผู้เสียหายยื่นต่อทางการฟินแลนด์ เพื่อนำไปสู่การสอบสวนดำเนินคดีแม้จะผ่านมาถึง 10 ปี แล้วก็ตาม

ที่มา: Thai PBS, 9/7/2567

ปลัดแรงงานชี้แจงการกำหนดสูตรค่าจ้าง หลังถูก 5 กรรมการค่าจ้างร้องมติบอร์ดชุดที่ 22 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีปรับสูตรคำนวณฯ ใหม่เป็น 400 บาท

กรณีคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 2 กับพวกรวม 5 คน จากสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของปลัดกระทรวงแรงงาน เนื่องจากเห็นว่ารายงานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 ไม่ชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพราะในรายงานการประชุมมีมติให้ปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เป็น 400 บาท และเห็นว่าการพิจารณาปรับสูตรอัตราค่าจ้างดังกล่าวเป็นการพิจารณาที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 นั้น

วันนี้ (9 ก.ค.2567) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น มีวาระการพิจารณากรอบแนวทางการทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เพื่อมีมติเห็นชอบกรอบแนวทางฯ ให้ทุกจังหวัดใช้เป็นแนวทางการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งได้นำเสนอแนวทางให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา 4 แนวทาง

เมื่อที่ประชุมพิจารณาแล้วได้มีมติเสียงส่วนใหญ่ 7 ต่อ 5 เสียง เห็นชอบแนวทางที่ 2 คือ ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดใช้สูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างฯ เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2567

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า สูตรเป็นแค่หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการไตรภาคีกำหนดขี้น ไม่มีบทบัญญัติใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในมาตรา 87 เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกจังหวัดพิจารณาเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดได้โดยอิสระ และในมาตรา 87 กำหนดให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

การกำหนดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเพียงการนำตัวแปรบางตัวที่เป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สามารถสะท้อนความเป็นจริงได้ใกล้เคียงทั้งนายจ้างและลูกจ้างมาพิจารณา สำหรับการประชุมที่ต้องมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 นั้น มาตรา 82 กำหนดว่าเป็นเรื่องของการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งในครั้งนี้ยังไม่ใช่การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมเป็นมติการประชุมได้

ทั้งนี้ เมื่อทุกจังหวัดพิจารณาเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดมายังคณะกรรมการค่าจ้างแล้ว คณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขันต่ำปี 2567 ในเดือน ส.ค.-ก.ย.2567 อีกครั้ง

ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า สำหรับความกังวลใจของหลายฝ่ายต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ กระทรวงแรงงานได้นำนโยบายรัฐบาลมาศึกษาและขยายผล ทั้งหมดจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ภายใต้อำนาจของไตรภาคีคือ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล โดยจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม เป็นธรรมต่อนายจ้างและลูกจ้าง

ที่มา: Thai PBS, 9/7/2567

รมว.แรงงาน เตรียมเสนอ ครม. ลด เงินสมทบประกันสังคม เหลือ 3% ทั้งฝั่งนายจ้าง-ลูกจ้าง 3 เดือน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงการคลัง ได้มีการหารือถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงาน เพื่อรองรับผลกระทบจากการปิดกิจการและเลิกจ้างในหลายบริษัทจนได้ข้อสรุปว่า จะใช้วิธีการปรับลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม คาดว่า จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ในการประชุม ครม. ครั้งถัดไป ในวันอังคารที่ 9 ก.ค. 2567

การปรับลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ปี พ.ศ.2567 นั้น การดำเนินการในครั้งนี้ กระทรวงแรงงาน จะมีการยกร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. ขึ้นมาหนึ่งฉบับ มีหลักการสำคัญใน การปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน

โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละ 5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละ 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับฝ่ายรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม 2.75% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

สำหรับการออกมาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานครั้งนี้ เป็นผลมาจากเห็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่เติบโตเท่าที่ควร ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน รวมถึงโรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้ต้องมีการเลิกจ้างพนักงานหรือจำเป็นต้องปิดตัวลง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/7/2567

5 กก.ค่าจ้างร้องผู้ตรวจฯ สอบปลัด รง.-มติปรับสูตรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไม่ชอบ

8 ก.ค. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย และพวกรวม 5 คน จากสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเป็นคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 และเจ้าหน้าที่งานวิชาการแรงงาน จัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 14 พ.ค 2567 เนื่องจากเห็นว่าการประชุมวันดังกล่าวที่มีมติให้ปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่และการจดรายงานการประชุมไม่ชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

นางเนาวรัตน์ กล่าวว่า พวกตนได้รับผลกระทบเนื่องจากการประชุมวันดังกล่าว ได้มีการพิจารณาข้อหารือแนวทางการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 36 คน และสรุปได้ว่า การพิจารณาปรับสูตรอัตราค่าจ้างดังกล่าวเป็นการพิจารณาที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม มาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ต่อมาได้มีการลงมติเห็นชอบโดยเสียงส่วนใหญ่ 7 ต่อ 5 เสียง ว่าให้ปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งพวกตนไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งมาตรา 82 กฎหมายเดียวกัน กำหนดให้ต้องมีมติที่ประชุมด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมและพิจารณา ดังนั้น มติการประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

"การที่จะขอเปลี่ยนแปลงสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ไม่ได้แจ้งวาระให้เราทราบก่อนล่วงหน้า มีแค่ว่าหารือในเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งสูตรคำนวณได้มีมติในคณะกรรมการในการปรับค่าจ้างไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ก.พ.2567 เรียบร้อยแล้ว เราจึงได้คัดค้านในที่ประชุมว่าถ้าหากจะมีการขอแก้ไขสูตรคำนวณจริง ควรจะต้องทำเป็นวาระแยกต่างหาก และตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมา เพื่อศึกษาสูตรที่จะขอปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แต่กลับไม่จดรายงานบันทึกการประชุมให้ถูกต้อง ดังนั้น การกระทำของนายไพโรจน์ เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้จดรายงานการประชุม และตรวจรายงานการประชุม จึงก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายให้แก่พวกตน ในฐานะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ที่ต้องผูกพันกับมติการประชุมที่เป็นเท็จ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชน และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ"

ที่มา: แนวหน้า, 8/7/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net