Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อเนื่องสืบสานพระราชดำริในหลวงเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา

28 ก.ค. 2567 นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการตามพระราชดำริและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรไทยทุกคน ในปีนี้กระทรวงแรงงานได้จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เฉลิมพระเกียรติมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้สูงอายุ จัดรถโมบายเคลื่อนที่รับสมัครงานทั้งในและต่างประเทศ ให้บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้นฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ฝึกอาชีพระยะสั้น เช่น การทำกระเป๋าผ้าและพวงกุญแจจากผ้า รับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและตรวจสภาพรถจักรยานยนต์ ปล่อยปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ 72,000 ตัว ทำความสะอาดวัดและปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยมีประชาชนจิตอาสา เครือข่ายภาคแรงงาน และผู้ประกอบการ เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 5,000 คน นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานและเหล่าทัพ ออกหน่วยบริการตัดผมฟรี ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ตรวจสุขภาพ แจกหมวกกันน็อค และฝึกอาชีพระยะสั้นให้แก่ประชาชน เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 และจะจัดอีกครั้งในวันที่ 9 ส.ค.นี้

โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังได้ร่วมมือกับมูลนิธิพระดาบสลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อพัฒนาและรับรองทักษะฝีมือแรงงานให้แก่ศิษย์พระดาบสและลูกพระดาบส โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 122 คน มีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคารระดับ 1 และฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เช่น ช่างทำผลิตภัณฑ์จากไม้ ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ พ่นสีรถยนต์ ติดตั้งบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ ทำเครื่องเรือนโครงไม้จริง ในพื้นที่ จ. สมุทรปราการ และ จ.ยะลา โดยมีแผนไปจะขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

“นายพิพัฒน์ย้ำว่า ในหลวงทรงมีพระราชดำริฟื้นฟูป่า จัดสรรที่ดินทำกิน พัฒนาอาชีพสร้างรายได้แก่ชาวบ้าน ซึ่งกระทรวงแรงงานเรามีโครงการส่งเสริมการจ้างงานและพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริ และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ที่ 5 เสือแรงงานทุกจังหวัดบัณฑิตแรงงาน อาสาสมัครแรงงาน ดำเนินการ โดยเฉพาะการส่งเสริมอาชีพอิสระ ซึ่งขณะนี้กำลังคัดเลือกกลุ่มอาชีพอิสระต้นแบบจังหวัดละ 10 กลุ่ม รวมทั้งประเทศ 770 กลุ่ม เพื่อเข้าสู่กระบวนการส่งเสริมแบบครบวงจรให้มีความยั่งยืนต่อไป” นายภูมิพัฒน์ กล่าว

ที่มา: มติชน, 28/7/2567

เกือบ 2 เดือน พบแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย 1,037 คน กรมการจัดหางานคุมเข้ม เจอ-จับ-ปรับ-ผลักดันกลับประเทศ

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่าจากที่กรมการจัดหางานส่งชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ ที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ มีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว และมติ ครม.ในคราวต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ตามนโยบาย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กำลังพลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นเวลา 50 วันแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวจะปฏิบัติการอย่างเข้มข้น “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” เป็นระยะเวลา 120 วัน

โดยล่าสุดได้รายงานผลการดำเนินการระหว่างวันที่ 5 มิ.ย. – 25 ก.ค. 2567 รวม 50 วัน มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศแล้ว 11,729 แห่ง ดำเนินคดี 387 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 147,726 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 110,130 คน กัมพูชา 22,999 คน ลาว 9,675 คน เวียดนาม 104 คน และสัญชาติอื่น ๆ 4,818 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,037 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 658 คน กัมพูชา 141 คน ลาว 147 คน เวียดนาม 21 คน และสัญชาติอื่น ๆ 70 คน

นายสมชาย กล่าวย้ำว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งหากพบการกระทำความผิดกรมการจัดหางานจะดำเนินคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น

ทั้งนี้ หากพบเห็นการจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย หรือพบเห็นคนต่างชาติทำงานนอกเหนือสิทธิที่ทำได้ขอความร่วมมือทุกท่านแจ้งเบาะแสมาที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน ชั้น 4 โทร. 0 2354 1729 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร 1694

ที่มา: TNN, 27/7/2567

กมธ.แรงงานจี้รัฐตั้งศูนย์ภัยพิบัติรองรับแรงงาน หลังถูกเลิกจ้างเพียบ ชี้ค่าแรง 400 ทำ รง.ย้ายฐานผลิต

26 ก.ค. 2567 นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ที่ปรึกษากมธ.แรงงาน แถลงว่า กมธ.ฯได้รับเรื่องร้องเรียน จากกลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เป็นจำนวนมาก ดังนั้นทาง กมธ.ฯจึงเห็นว่า รัฐบาลควรจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เพราะทุกวันนี้มีการเลิกจ้างงานจากโรงงานต่างๆ จำนวนมาก แม้แต่บริษัทที่มั่นคง ก็ยังมีการเลิกจ้าง จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดภัยพิบัติรัฐบาลยังตั้งศูนย์ช่วยเหลือได้ ดังนั้นก็ควรที่จะตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานด้วยเช่นกัน

นายสามารถ กล่าวว่า ในศูนย์ดังกล่าวประกอบด้วยหลายหน่วยงานเข้ามาช่วย โดยกระทรวงแรงงานต้องเป็นเจ้าภาพในเรื่องของการจัดหางาน ชดเชย กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาช่วยเรื่องสุขภาพจิต กระทรวงยุติธรรม เข้ามาดูเรื่องข้อกฎหมายให้ความยุติธรรมในการฟ้องร้องคดี ในกรณีที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย ดังนั้นจึงควรจะตั้งศูนย์ภัยพิบัติเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

“การที่รัฐบาลจะออกนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเรื่องนี้จะเป็นผลกระทบที่ทำให้โรงงานหลายแห่งย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นหรือไม่ ผมไม่อยากเห็นใครต้องร้องไห้หรือต้องตายกับเรื่องนี้ ซึ่งกมธ.ฯทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือ แต่ด้วยอำนาจเป็นเพียงฝ่ายนิติบัญญัติจึงต้องส่งเสียงให้กับรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ”นายสามารถ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสามารถได้เปิดคลิปแรงงานที่ถูกเลิกจ้างที่ได้ระบายความรู้สึกต่อการถูกเลิกจ้างจากโรงงานใหญ่ ให้สื่อมวลชนดูด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 26/7/2567

กรมสวัสดิการฯแรงงาน เผยออกคำสั่งจี้ ‘ซิโนแพคฯ’ จ่ายค่าจ้างให้แรงงานไซต์ไทยออยล์แล้ว

25 ก.ค. 2567 นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีพนักงานรวมตัวประท้วงหลายร้อยรายที่พื้นที่โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ในข้อพิพาทบริษัทผู้รับเหมารายใหญ่รับเงินมาแล้วไม่จ่ายเงินให้แก่บริษัทผู้รับเหมารายอื่นที่จ้างมาทำงานอีกที รวมมูลค่าที่ค้างจ่ายราว 134 ล้านบาท ว่า ได้รับรายงานข้อมูลเบื้องต้น คือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) มีโครงการขนาดใหญ่โครงการหนึ่ง ซึ่งมีผู้รับเหมาชั้นต้น คือ กิจการร่วมค้าพีเอสอีเอแอล เอสเอสไอเอ็นจี เอสอีที (UJV) โดยเป็นบริษัทร่วมทุน 3 สัญชาติ จาก เกาหลีใต้ อินเดีย และอิตาลี จากนั้น บริษัท UJV ที่เป็นผู้รับเหมาชั้นต้น ได้รับงานมาก็กระจายแก่ผู้รับเหมาช่วงหลายบริษัท โดยหนึ่งในนั้น คือ บริษัท ซิโนแพค เอนจิเนียริ่งกรุ๊ป (ไทยแลนด์) เป็นบริษัทสัญชาติจีน ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้

“ทั้งนี้ จากข้อมูลของลูกจ้าง 350 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชาวเวียดนาม ที่ได้ออกมาเรียกร้องตั้งแต่เมื่อวานนี้ (24 ก.ค. 2567) ระบุว่า บริษัท ซิโนแพคฯ มีการค้างจ่ายเงินค่าจ้าง 2 เดือน ในเดือน พ.ค. และเดือน มิ.ย. เป็นเงินกว่า 134 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเงินค่าจ้างของลูกจ้างกว่า 2,000 คน ซึ่งมีหลายตำแหน่ง เงินค่าจ้างก็ต่างกันไป และส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ ค่าจ้างจึงสูง” นางโสภา กล่าวและว่า เมื่อวานวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา มีการส่งตัวแทนมาเจรจากัน แต่ในที่สุดก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะบริษัท ซิโนแพคฯ ซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงของลูกจ้าง ขอให้บริษัท ไทยออยล์ฯ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างชั้นต้น เป็นผู้จ่ายเงินให้ก่อน แต่ทางบริษัท ไทยออยล์ฯ ก็ยืนยันว่า ไม่ได้ทำผิดสัญญา และมีการจ่ายค่าจ้างครบถ้วนไปหมดแล้ว ฉะนั้น จึงขอให้บริษัท ซิโนแพคฯ พูดคุยกับลูกจ้างเอง ทำให้ข้อสรุปเบื้องต้น คือ บริษัท ซิโนแพคฯ จะทยอยจ้างค่าจ้างให้ลูกจ้าง ภายในวันที่ 20 ส.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างบางส่วนที่ไม่พอใจกับผลการเจรจาเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา ก็ออกมาชุมนุมในวันนี้ (25 ก.ค. 2567) อีกประมาณ 100 กว่าคน

นางโสภา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินงานของ กสร. ได้ให้ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(สคร.) จ.ชลบุรี ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเปิดรับคำร้องเรียนจากลูกจ้างในกรณีดังกล่าว ข้อมูลล่าสุด มีลูกจ้างร้อง 80 กว่าคน รวมเป็นเงินค่าจ้างประมาณ 3.8 ล้านบาท โดยสำนักงานฯ ก็จะออกคำสั่งไปยังนายจ้าง นั่นก็คือ บริษัท ซิโนแพคฯ ต้องดำเนินการจ่ายเงินตามเวลาที่กำหนดในกฎหมาย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ บริษัท ซิโนแพคฯ ได้ตกลงกับลูกจ้างว่าจะทยอยจ่ายภายในวันที่ 20 สิงหาคมนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทาง กสร.จะเข้าไปสอบสวนสาเหตุเรื่องนี้ได้หรือไม่ หรือต้องเรียกทางบริษัท UJV ที่เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นมาให้ข้อมูลหรือไม่ นางโสภา กล่าวว่า โดยอำนาจตามกฎหมายแล้ว กสร.จะต้องเรียกนายจ้างชั้นต้นของลูกจ้างก่อน นั่นคือ บริษัท ซิโนแพคฯ แต่เชื่อว่า ทางบริษัทรับช่วงก็น่าจะมีการเจรจาต่อรองกันอยู่ ส่วนการสอบสวนสาเหตุการค้างจ่ายค่าจ้าง ตามกฎหมายแล้ว กสร.จะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุที่ลูกจ้างเข้ามาร้องเรียน ซึ่งกรณีนี้ลูกจ้างได้มาร้องเรียนว่า บริษัท ซิโนแพคฯ ไม่จ้างค่าจ้างให้กับลูกจ้าง ดังนั้น กสร.จึงทำได้เพียงออกคำสั่งให้ บริษัท ซิโนแพคฯ ดำเนินการจ่ายค่าจ้าง และถ้าไม่ดำเนินการก็จะต้องส่งเรื่องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

เมื่อถามต่อไปว่า กรณีที่บริษัท ซิโนแพคฯ ให้ข้อมูลว่า ภายในวันที่ 20 ส.ค. นี้ จะเร่งทยอยจ่ายค่าจ้างนั้น กสร. สามารถเข้าไปดำเนินการอย่างไรได้หรือไม่ นางโสภา กล่าวว่า ในส่วนนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นการตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ดังนั้น เขาจะจ่ายอย่างไรขึ้นอยู่กับการตกลงกัน แต่ถ้าหากทางคู่กรณีอยากให้ กสร. เข้าไปช่วยดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรม ก็สามารถทำได้

ขณะที่ นายประสิทธิ์ ปาตังคะโร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า เบื้องต้นที่ลูกจ้างจากบริษัท ซิโนแพคฯ เข้ามายื่นคำร้องกับทางสำนักงานฯ ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ประมาณ 80 คน วันนี้ (25 ก.ค. 2567) สำนักงานฯ ได้ออกคำสั่งให้นายจ้างดำเนินการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งระบุให้บริษัท ซิโนแพคฯ พร้อมด้วย บริษัท UJV จ่ายค่าจ้างภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่ง.

ที่มา: มติชนออนไลน์, 25/7/2567

แรงงานรับเหมาก่อสร้าง CFP ไม่ได้ค่าแรง ชุมนุมหน้าโรงกลั่นไทยออยล์ ชลบุรี

ไทยออยล์แจง กลุ่มผู้ใช้แรงงานของซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป รับเหมาเช่าช่วงก่อสร้างโครงการ CFP จำนวนหนึ่งไม่ได้รับค่าจ้างตามกำหนดรวมตัวประท้วงบริเวณริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่น อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 แผนกประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ออกเอกสารชี้แจงตามที่มีข่าวปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ว่ามีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนหนึ่งไม่ได้รับค่าจ้างตามกำหนด รวมตัวประท้วงบริเวณริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

จากการตรวจสอบของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) พบว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานดังกล่าวเป็นพนักงานของ บริษัท ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (SINOPEC) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า Unincorporated Joint Venture of Petrofac, Saipem, Samsung (UJV) ที่เป็นผู้รับเหมาหลักและเป็นผู้ว่าจ้าง SINOPEC

ในการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ให้กับ บริษัทฯ ได้มารวมตัวกันเรียกร้องค่าจ้างจาก SINOPEC ทั้งนี้ เนื่องจาก SINOPEC อ้างว่าไม่ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาที่มีกับ UJV

โดยเมื่อเวลา 14:00 น. บริษัทฯ ได้ประสานให้มีการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานของ SINOPEC หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี สำนักงานปลัดอำเภอศรีราชา และ UJV แต่การเจรจายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ทำให้ขณะนี้การชุมนุมประท้วงยังคงมีต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการดูแลและมีบุคลากรที่มีความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยของโรงกลั่นฯ โดย บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า UJV และ SINOPEC จะสามารถบรรลุข้อตกลงและให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบทุกคน ในฐานะที่ UJV และ SINOPEC เป็นผู้ว่าจ้างกลุ่มผู้ใช้แรงงานดังกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/7/2567

กรมสวัสดิการฯแรงงาน เผยหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน มีผลบังคับใช้แล้ว

24 ก.ค. 2567 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2567 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. 2567 เพื่อให้เกิดความคุ้มครองที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้าน

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกสร. เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีนโยบายให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานได้รับการคุ้มครองแรงงานอย่างเป็นธรรมไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบต้องได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ดำเนินการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบในทุกมิติ เพื่อนำไปสู่แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยล่าสุด ได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2567 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. 2567

โดยประเด็นสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าว เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์หลักประกันความเสียหายในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 เพื่อให้เกิดความคุ้มครองที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้าน

ด้านว่าที่ ร.ต.สมศักดิ์ พรหมดำ รองอธิบดี กสร. ในฐานะกำกับดูแลงานด้านการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานตามประกาศฯ ได้กำหนดว่า ประเภท ปริมาณ หรือมูลค่าของงานที่รับไปทำที่บ้านที่อาจเรียกหรือรับหลักประกันจากผู้รับงานไปทำที่บ้านได้ ได้แก่ งานผลิตเครื่องประดับจากวัตถุมีค่า คือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำชาวและไข่มุก หรืองานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์โลหะ เช่น ทองแดง ทองเหลือง ไททาเนียม หรืองานอื่นนอกจากข้างต้น ที่มีมูลค่าของงานที่รับไป ทำที่บ้านในแต่ละงวดการจ้างเกินกว่า 500,000 บาท ขึ้นไป

ซึ่งหลักประกันมี 3 ประเภท ได้แก่ 1.เงินสด คือ ให้ผู้จ้างงานนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคาร หรือสถาบันการเงิน 2.ทรัพย์สิน คือ สมุดเงินฝากธนาคาร หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร 3.บุคคล คือ วงเงินค้ำประกันรับผิดชอบต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าของงานในแต่ละงวด

ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โทร. 0 2660 2068 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: มติชนออนไลน์, 24/7/2567

ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไปยังประเทศเกาหลี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพิจารณาตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเพื่อจัดบันทึกความเข้าใจว่าด้วย การจัดส่งแรงงานไปยังประเทศเกาหลีเพื่อรักษากรอบความร่วมมือชัดเจนระหว่างประเทศ ระหว่างประเทศไทยและประเทศเกาหลีตามกฎหมายและการจ้างแรงงานต่างชาติ รวมทั้งเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการขบวนการจัดส่งและรับรองคนงานจากไทยไปเกาหลีตั้งแต่กระบวนการจัดสรรหารายงานทดสอบภาษาทดสอบฝีมือแรงงานกำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานการตรวจลงตราและการเข้าเมืองการทำงานและการพำนัก

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 23/7/2567

กสร. ยกระดับศักยภาพนายจ้าง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องในงานประมงทะเล หวังช่วยลดอุบัติเหตุ สร้างความปลอดภัยในการทำงานบนเรือให้ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2567 นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน หนึ่งในความห่วงใยที่สำคัญคือ ความปลอดภัยในการทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานถือเป็นหน่วยงานในการกำกับของกระทรวงแรงงาน ที่รับผิดชอบดูแลงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของนายจ้าง และลูกจ้าง รวมทั้งพัฒนาและยกระดับมาตรฐาน ความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ รวมถึงในงานประมงทะเลด้วย โดยได้ดำเนินการ  พัฒนามาตรฐาน เพิ่มศักยภาพของบุคลากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยในมิติต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังว่าบุคลากรเหล่านั้นสามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยได้อย่าง   มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ ให้แรงงานมีความปลอดภัยในการทำงาน

ด้านนางวัชรี มากหวาน รองอธิบดี ในฐานะกำกับดูแลงานด้านความปลอดภัยแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดกรมได้จัดอบรมโครงการเร่งรัดการพัฒนา ส่งเสริม และป้องกันเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในงานประมงทะเลรุ่นที่ 1 ภายใต้การสนับสนุนโครงการส่งเสริมหรือป้องกันเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ประจำปี พ.ศ. 2567 จากสำนักงานประกันสังคม โดยได้เชิญนายจ้าง เจ้าของเรือ สมาชิกสมาคมประมงจังหวัด และลูกจ้างที่เกี่ยวข้องในงานประมงทะเล จำนวน 50 คน มาพัฒนาศักยภาพ ยกระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานประมงทะเล กฎหมายคุ้มครองแรงงานในประมงทะเลได้อย่างถูกต้อง รวมถึงกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และมี ทักษะในการแก้ไขสถานการณ์อันอาจจะเกิดความไม่ปลอดภัยบนเรือเมื่อประสบเหตุในเบื้องต้นได้ ณ สมาคมการประมงสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งผู้ที่ผ่านโครงการนี้ จะได้รับรู้และตระหนักถึงการ ดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงานไม่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด สามารถบริหารจัดการและ ดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานบนเรือประมงได้อย่างถูกต้อง อันจะนำไปสู่การลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานในงานประมงทะเล แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถลดอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานได้ตามเป้าหมายต่อไป

ที่มา: บ้านเมือง, 23/7/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net