Skip to main content
sharethis

กรมจัดหางานเผย 64 วัน ตรวจแรงงานข้ามชาติ 1.7 แสนราย ดำเนินคดี 1,259 คน

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กกจ.รับข้อสั่งการจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส่งชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ กกจ. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)

ลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ ที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ มีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง

“ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวจะปฏิบัติการอย่างเข้มข้น เจอ จับ ปรับ ผลักดัน เป็นระยะเวลา 120 วัน ล่าสุดได้รับรายงานผลการดำเนินการระหว่างวันที่ 5 มิ.ย. – วันที่ 8 ส.ค. 2567 รวม 64 วัน มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติ ทั่วประเทศแล้ว 13,958 แห่ง ดำเนินคดี 469 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 177,203 คน แยกเป็น เมียนมา 133,366 คน กัมพูชา 26,466 คน ลาว 11,366 คน เวียดนาม 107 คน และ สัญชาติอื่นๆ 5,898 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,259 คน แยกเป็น เมียนมา 777 คน กัมพูชา 197 คน ลาว 174 คน เวียดนาม 24 คน และ สัญชาติอื่นๆ 87 คน” นายสมชาย กล่าว

อธิบดี กกจ. กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งหากพบการกระทำความผิดกรมการจัดหางานจะดำเนินคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น

“หากพบเห็นการจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย หรือพบเห็นคนต่างชาติทำงานนอกเหนือสิทธิที่ทำได้ขอความร่วมมือแจ้งเบาะแสที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน ชั้น 4 โทร.0 2354 1729 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694” นายสมชาย กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/8/2567

ก.แรงงาน ประสานความช่วยเหลือลูกจ้างกิจการร่วมค้า UJV ในชลบุรี ได้รับเงินสัปดาห์หน้า

กรณีที่กลุ่มลูกจ้างบริษัท Subcontract ของกิจการร่วมค้า UJV ร่วมการชุมนุมประท้วงที่จังหวัดชลบุรี เนื่องจากบริษัทค้างจ่ายค่าจ้าง ซึ่งเมื่อวานนี้ (9 ส.ค.67) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า UJV และผู้แทน บมจ.ไทยออยล์ ได้ข้อสรุปว่า ในวันอังคารที่ 13 สิงหาคมนี้ ผู้แทนของกิจการร่วมค้า UJV จะเข้าพบเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เพื่อสอบถามรายละเอียดและรับทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายโดยจะนำเงินมาชำระให้ลูกจ้างในวันพุธที่ 14 ส.ค. 2567 นี้

นางโสภา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เน้นย้ำให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ได้จัดเตรียมข้อมูล รายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่ผู้แทน UJV ร้องขอ และกำชับให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ งดูแลการจ่ายเงินให้ครบถ้วนถูกต้องในวันเวลาที่ UJV ได้รับปากไว้

ที่มา: จส.100, 10/8/2567

กต.เตรียมเยี่ยม 6 ครอบครัวตัวประกันไทย ย้ำรัฐบาลยังเร่งช่วยเหลือ ขออย่าหมดวัง แจง 'อิสราเอล-ฮามาส' ยังไม่บรรลุข้อตกลงหยุดยิง ปล่อยตัวประกันไม่ได้

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงการและการเจรจา เพื่อช่วยเหลือตัวประกันไทย จำนวน 6 คน ที่ถูกจับในเหตุความรุนแรงในตะวันออกกลางอิสราเอล-ฮามาสนานกว่า 10 เดือนแล้วว่า รัฐบาล ได้มอบหมายให้นายดุสิต เมนะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เดินทางไปเยี่ยมเยียนครอบครัวของตัวประกันชาวไทย ทั้ง 6 ราย เพื่อชี้แจงถึงขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และการช่วยเหลือตัวประกันไทยกลุ่มนี้ ให้ได้กลับมาสู่ประเทศไทย และย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งคนไทย และยังพยายามเร่งดำเนินการช่วยเหลือให้คนไทยทั้ง 6 คนออกจากฉนวนกาซา และขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งหมดหวัง

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำว่า รัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญ และกำชับให้เร่งรัดการดำเนินการเจรจา เพื่อช่วยเหลือคนไทยดังกล่าวโดยเร็ว ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนเอง และนายดุสิต เมนะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งอียิปต์ อิสราเอล และการ์ตา เพื่อหารือกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอการสนับสนุนการเจรจาช่วยเหลือตัวประกัน 6 คนสุดท้าย ซึ่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทั้ง 3 ประเทศ ได้ให้คำมั่นว่า ยังคงหาทางช่วยเจรจา เพื่อให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวคนไทยออกมาให้หมด แต่ยังมีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันของประเทศคู่กรณี และจำเป็นต้องให้มีการหยุดยิงตอบโต้กันโดยทันทีก่อน ระหว่างกองทัพอิสราเอล กับกลุ่มฮามาสก่อน เพราะหากยังไม่มีการหยุดยิง และมีการปล่อยตัวประกันออกมา ก็จะทำให้ตัวประกันเหล่านั้นได้รับอันตรายได้ ซึ่งทั้งอิสราเอล และฮามาส ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าวนี้ได้

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 10/8/2567

ผู้ช่วยรัฐมนตรีแรงงาน นำทีมเจรจา รมว.เศรษฐกิจฯ มาเก๊า กระชับความสัมพันธ์สองประเทศ ขยายตลาดแรงงานภาคบริการและโรงแรม

9 ส.ค. 2567 นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เดินทางเยือนมาเก๊า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงาน กับ นายเล่ย ไหว นอง (Lei Wai Nong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน มาเก๊า เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านแรงงาน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านแรงงาน รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติ ระหว่างไทยกับมาเก๊า ณ Avenida Doutor

นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าการมาเยือนมาเก๊าในครั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านแรงงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านแรงงาน รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติ ระหว่างไทยกับมาเก๊า ซึ่งกระทรวงแรงงานไทย มีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานตั้งแต่ก่อนเดินทางมาทำงานตลอดจนดูแลคนไทยระหว่างการมาทำงานต่างประเทศ และหลังจากเดินทางมาทำงานต่างประเทศ

“การหารือเป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสที่แรงงานไทยจะมาทำงานที่มาเก๊าในสาขาที่ขาดแคลน สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงาน ที่จะส่งเสริมให้แรงงานไทยมีโอกาสมีงานทำ โดยเฉพาะการทำงานในต่างประเทศ และขอขอบคุณรัฐบาลมาเก๊า ที่ให้มีการจ้างงานแรงงานไทยภาคบริการและการโรงแรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังให้ความดูแล และใส่ใจแรงงานต่างชาติ ให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานตามมาตตรฐานสากล”

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า มาเก๊าเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญ มีแรงงานไทยทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น พนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟ พนักงานทำความสะอาด พ่อครัว พนักงานนวดสปา และอื่น ๆ เป็นต้น

กระทรวงแรงงาน มีสำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ทำหน้าที่ในการขยายตลาดแรงงาน และคุ้มครองดูแลแรงงานไทยในพื้นที่ฮ่องกง มาเก๊า รวมถึงประสานงานกับกรมแรงงานมาเก๊า และกรมตรวจคนเข้าเมืองมาเก๊า ในการดำเนินงานแบบ One stop Services ในด้านการจ้างแรงงานไทย และ After Service การดูแลแรงงานไทยเมื่อมาทำงานครบสัญญาจ้าง

“นายจ้างภาคบริการที่มาเก๊าหลายรายชื่นชมแรงงานไทย ว่ามีความขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ มีน้ำใจ เรียนรู้งานได้รวดเร็ว มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเหมาะกับงานบริการ ซึ่งปัจจุบันสถานประกอบการต่าง ๆ ในมาเก๊าได้ขยายกิจการ และมีแนวโน้มความต้องการจ้างแรงงานภาคบริการเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานได้เร่งพัฒนาแรงงานไทยให้มีคุณสมบัติ ทั้งทักษะอาชีพ และทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ตามที่นายจ้างมาเก๊ากำหนด เพื่อให้แรงงานไทยมีโอกาสได้รับการจ้างงานกับสถานประกอบการที่มีมาตรฐานสากล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการยกระดับฝีมือและส่งต่อภาคธุรกิจให้เกิดการจ้างงาน เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งสองประเทศร่วมกันต่อไป” นายไพโรจน์กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/8/2567

สส.ตั้งกระทู้สดถามรัฐบาลกรณีแรงงาน-ทุนจีนทะลัก จากนโยบาย BOI

นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี อดีตพรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้สดด้วยวาจา ถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงกรณีการทะลักเข้ามาของการลงทุน สินค้า และแรงงานจากประเทศจีน โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ตอบกระทู้แทน

นายสหัสวัต ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2567 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อนุมัติการลงทุนกว่า 1,300 โครงการ เป็นมูลค่าการลงทุนถึง 4.3 แสนล้านบาท หากดูเพียงตัวเลขอาจมองได้ว่าเป็นผลกระทบเชิงบวกต่อประชาชนที่จะมีการส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานเกิดขึ้น แต่ผลในความเป็นจริง คือ การจ้างงานบุคลากรที่เป็นคนไทย ตามโครงการมีเพียง 1.5 แสนคนเท่านั้น เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีถึง 3.7 แสนคน ทั้งที่ยอดส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่าร้อยละ 90 นอกจากการหลั่งไหลเข้ามาของทุนแล้ว ยังมีการขนแรงงานเข้ามาด้วย โดยเฉพาะการลงทุนจากประเทศจีน แม้ตัวเลขจากกรมการจัดหางาน จังหวัดระยอง จะเพิ่มขึ้นเพียง 2-3 พันคน แต่จากการคำนวณตามข้อเท็จจริง ยอดเข้าจองหอพักทั้งในอำเภอศรีราชาและอำเภอปลวกแดง มีจำนวนแรงงานชาวจีนทะลักเข้ามาไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคน ยังไม่นับร้านค้าจีนที่ไม่มี มอก. หรือ อย. เปิดใหม่จำนวนมาก โดยนำทุกอย่างมาจากจีน พนักงานในร้านเป็นคนจีน อีกทั้งยังมีแรงงานจีนจำนวนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในกลุ่มอาชีพสงวนสำหรับคนไทยด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน BOI ทั้งสิ้น

นายสหัสวัต อภิปรายต่อไปว่า คำถามสำคัญ คือ เมื่อรัฐบาลมีการส่งเสริมการลงทุนมากขนาดนี้ ทำไมไทยยังขาดดุลการค้าจีนถึง 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้วประเทศไทยได้อะไรจริง ๆ จากการส่งเสริมการลงทุนนี้บ้าง ถ้านำไฟนำน้ำมาเองได้ก็คงนำมาแล้ว ทำไม BOI ไม่ทำหน้าที่กลั่นกรองให้มากกว่านี้ ให้สิทธิประโยชน์โดยดูเพียงตัวเลขการลงทุน แต่ไม่ดูบริบทแวดล้อมว่าประเทศไทยและคนไทยจะได้อะไรและเสียอะไรบ้าง และถึงเวลาหรือยังที่ BOI ต้องทบทวนสิทธิประโยชน์การลงทุนที่ใช้เงินปีละ 4-5 แสนล้านบาทนี้

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอบชี้แจงว่า การลงทุนจากต่างประเทศมีรูปแบบที่ช่วงแรกต้องนำของเข้ามาเพื่อสร้างโรงงาน จากนั้นค่อยมาดูเรื่องการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (local content) ตามข้อตกลง ทั้งนี้ การลงทุนรุ่นใหม่ที่เข้ามา ส่วนใหญ่เรื่องอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ ยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะวัตถุ เคมี ปิโตรเคมี สาธารณูปโภค ดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่มีมูลค่าสูง ทุกคนที่เข้ามาต้องการแรงงานทักษะสูง ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งต้องการคนที่เข้าใจ การจ้างแรงงานจึงยังไม่เกิดขึ้น ช่วงแรกจะไม่มาก เพราะประเภทอุตสาหกรรมต่างจากเมื่อก่อน ในแง่ของจำนวนคนที่จะใช้ ดังนั้น ยอดวันนี้ที่เข้ามาเยอะจึงเป็นเพียงช่วงแรกในการก่อสร้างโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักร แต่เมื่อมีการเร่งและมีตัวเลขการลงทุนเกิดขึ้นจริง การลงทุนในเฟส 2-3 จะมีการจ้างงานหรือมีบริษัทไทยร่วมเป็นหุ้นส่วนตามมาอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ นายสหัสวัต ได้อภิปรายถามต่อว่า สิ่งที่ถามไป คือ เรื่องของความคุ้มค่าและผลกระทบ ซึ่งจากที่รัฐมนตรีฯ ตอบมา ตนยังมีความกังวลอยู่ว่าจะมีการส่งไปถึงเฟส 2-3 จริงหรือไม่ หรือจะเป็นการรีบมารีบถอนกลับ เพราะการลงทุนไม่ได้มีแค่เม็ดเงินที่จะต้องคำนึงถึงเท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องติดตาม คือ กระบวนการทำงานของนายทุนว่าถูกกฎหมายหรือไม่ด้วย

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, 8/8/2567

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย กรณีปัญหาโรงงานวินโพรเสส

8 ส.ค. 2567 นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในการหารือข้อห่วงใยการแก้ไขปัญหากรณีโรงงานวินโพเสสระเบิดที่บ้านหนองพะวา ร่วมกับนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงาน และคณะ และมีนายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิเชียร ทองด้วง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง นายสมชัย เอมบำรุง ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมด้วย ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

นายดนัยณัฏฐ์ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้ลงพื้นที่ติดตามประเมินสถานการณ์ เพื่อวางแผนบริหารจัดการของเสียและวัตถุอันตรายในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุเพลิงไหม้จนถึงปัจจุบัน โดยตอนนี้ได้มีการดำเนินการกำจัดบำบัดของเสียและผิวดิน ที่ปนเปื้อนวัตถุอันตรายทั้งหมด และได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนเพื่อบรรเทาเหตุและลดความเสี่ยงให้แก่ชาวบ้านในชุมชนข้างเคียง โดยการผันน้ำฝนภายนอกไม่ให้ไหลผ่านพื้นที่โรงงานซึ่งเป็นพื้นที่ปนเปื้อน โดยใช้พื้นที่แก้มลิงเป็นจุดรวบรวมน้ำและทำการเบี่ยงทำงน้ำฝน (Bypass) ที่ไม่ปนเปื้อนระบายไปสู่ลำรางสาธารณะ พร้อมกับป้องกันไม่ให้น้ำปนเปื้อนในพื้นที่โรงงานรั่วไหลออกสู่ภายนอก โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองได้เสริมคันดินรอบบ่อ 1 และขุดลอกลำรางในโรงงานพร้อมกับใช้หินปูนปรับลดความเป็นกรดของน้ำเสียในเบื้องต้น ควบคู่ไปกับการจัดการของเสียและกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ถูกเพลิงไหม้เพื่อป้องกันการชะล้างจากน้ำฝนเพื่อลดปริมาณน้ำเสียปนเปื้อนที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าว อีกทั้ง จะเร่งดำเนินการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ทั้งหมดเพื่อบรรเทาเหตุการณ์และลดผลกระทบให้ชุมชนโดยรอบโรงงานโดยเร็วที่สุด

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 8/8/2567

ผลสำรวจชี้คนไทยกว่า 66% มีความสนใจในการโยกย้ายไปทำงานต่างประเทศ

Jobsdb by SEEK ได้เปิดเผยข้อมูลตลาดแรงงานทั่วโลกและในประเทศไทยจากบทสรุปข้อมูลเชิงสำรวจเกี่ยวกับการทํางานและความสมัครใจในการโยกย้าย ซึ่งนําเสนอข้อมูลระดับโลกพร้อมข้อมูลเชิงลึกในระดับประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในผลสํารวจ ชุด Global Talent Survey 2024 จัดทำโดย JobStreet และ Jobsdb ภายใต้กลุ่มบริษัท SEEK ร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) (บริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด) และ The Network (เดอะ เน็ตเวิร์ค) พันธมิตรระดับโลก จัดทำร่วมกัน ซึ่งการสำรวจนี้ได้สํารวจความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของสถานที่ทํางานและวิธีการทํางานที่ผู้หางานทั่วโลกต้องการจากผู้ทำแบบสำรวจกว่า 150,000 คน จากกว่า 180 ประเทศ โดยผลการสํารวจระดับโลกนี้อ้างอิงตามกลุ่มตัวอย่างจํานวนมากที่มีความหลากหลายและครอบคลุมถึงตลาดผู้หางานหลักที่สําคัญ

บทสรุปสำคัญ

- แนวโน้มการโยกย้าย: 63% ของผู้หางานทั่วโลกเปิดรับการย้ายถิ่นฐานเพื่อทำงาน โดยมีสัดส่วนลดลงเมื่อเทียบกับก่อนโควิดที่มีอัตราเปิดรับการย้ายถิ่นฐานที่ 71%

- ความกระตือรือร้นในการหางาน: 25% ของผู้หางาน กำลังมองหางานในต่างประเทศเพราะมีความคาดหวังโอกาสในการทำงาน คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรายได้ที่มากขึ้น

- แนวโน้มการทำงานทางไกลระหว่างประเทศ: ภาพรวมผู้หางานจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กว่า 66% สนใจที่จะทำงานในต่างประเทศโดยที่ไม่ต้องมีการย้ายถิ่นฐาน แสดงให้เห็นถึงการโยกย้ายแบบเสมือน หรือ Virtual Mobility ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย ตอบรับการทำงานทางไกลระหว่างประเทศสูงถึง 76% เทียบกับปี 2563 ที่มีสัดส่วนเพียง 50%

- ผู้หางานชาวไทยสนใจในการทำงานต่างประเทศมากขึ้น: ผู้ตอบแบบสอบถามคนไทยกว่า 66% มีความสนใจในการโยกย้ายไปทำงานต่างประเทศ และ 79% ของกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มคนที่มีอายุน้อย ที่แสดงความสนใจในการไปทำงานต่างประเทศ ปัจจัยของความสนใจโยกย้ายถิ่นฐานนี้มาจาก ความมุ่งมั่นเกี่ยวกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ตลอดจนโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์ในระดับนานาชาติ และถึงแม้ตัวเลขจะยังไม่ถึง  จุดสูงสุดก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2561 แต่ความสนใจถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2566 ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึง ปรากฏการณ์สมองไหล โดยเฉพาะคนทำงานในกลุ่มการศึกษาและการฝึกอบรม กฎหมาย การจัดการธุรกิจ และไอที

- การพัฒนากลยุทธ์สำหรับบริษัทจ้างงาน เพื่อดึงดูดผู้หางานระดับโลก: การสร้างมาตรฐานองค์กรสากลเพื่อดึงดูด ผู้หางานระดับโลกด้วยข้อเสนอที่ตอบสนองกับความต้องการของชาวต่างชาติอย่างการสนับสนุนในการย้ายถิ่นฐานพร้อมกับการจัดการเรื่องวีซ่าเเละที่อยู่อาศัย และการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เปิดกว้าง ไม่แบ่งแยก เพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานคุณภาพระดับโลก

ที่มา: Positioning, 8/7/2567

“ไทยออยล์” เผย “UJV” ผู้รับเหมาหลักยังนิ่ง ไม่จ่ายค่าจ้างให้กลุ่มแรงงานประท้วง

ไทยออยล์ ยืนยันจ่ายค่าตอบแทนให้ “ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem “ ผู้รับเหมาหลักแล้วแต่ยังนิ่ง ไม่ยอมรับข้อตกลง – จ่ายค่าจ้างให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานรวมตัวชุมนุมหน้าโรงกลั่นไทยออยล์

จากกรณีกลุ่มผู้ใช้แรงงานรวมตัวชุมนุมบริเวณริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 2567 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างจากผู้รับเหมาตามกำหนดนั้น

โดยในช่วงสัปดาห์แรกของการชุมนุม กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง คือ บริษัท วัน เทิร์น เท็น จำกัด, บริษัท เอ็มโก้ แอลทีดี (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ไทยฟง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งนายจ้างทั้ง 3 บริษัท  เป็นผู้รับเหมาช่วงของ บริษัท ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (“Sinopec”)

ต่อมาในช่วงสัปดาห์ที่สอง มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงรายอื่นเข้าร่วมการชุมนุมเพิ่มเติม  คือ บริษัท หิมวันต์ การช่าง 2009 จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงของบริษัท เอสทีพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (“STP”) บริษัท ศิวกฤต คอนสตรัคชั่นแอนด์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคยูเอ็น ซัพพลาย คอนสตรัคชั่น และห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี.วาย.กรุ๊ป ซึ่งทั้ง 3 บริษัท เป็นผู้รับเหมาช่วงของบริษัท เอสซีไอ สยาม โคเรีย อินดันเตรียล จำกัด (“SCI”)

โดย Sinopec, STP และ SCI เป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า Unincorporated Joint Venture (“UJV”) of Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (ชื่อเดิม Samsung Engineering (Thailand) Co., Ltd.) (“Samsung”), Petrofac South East Asia Pte. Ltd. (“Petrofac”) และ Saipem Singapore Pte. Ltd. (“Saipem”) ซึ่งเป็นคู่สัญญาจ้างทำของในการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ให้กับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (“ไทยออยล์”)

ไทยออยล์ ขอชี้แจงว่า ไทยออยล์ ได้จ่ายค่าตอบแทนให้ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักในการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาจ้างเหมาทำของ ออกแบบวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (EPC: Engineering, Procurement and Construction) อย่างครบถ้วนถูกต้องแล้ว แต่ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ไม่ได้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาให้  Sinopec, STP และ SCI ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงของ UJV – Samsung,Petrofac และ Saipem ส่งผลให้ Sinopec, STP

และ SCI ยังไม่ได้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างเหมาให้กับผู้รับเหมาช่วงของตน อันได้แก่ บริษัท วัน เทิร์นเท็น จำกัด, บริษัท เอ็มโก้ แอลทีดี (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท ไทยฟง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด, บริษัท หิมวันต์ การช่าง 2009 จำกัด, บริษัท ศิวกฤต คอนสตรัคชั่นแอนด์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคยูเอ็น ซัพพลาย คอนสตรัคชั่น และห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี.วาย.กรุ๊ป ดังนั้น การที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานของผู้รับเหมาช่วงมารวมตัวชุมนุมที่หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ จึงเป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาช่วงและ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ที่จะต้องรับผิดชอบในการชำระค่าจ้างให้แก่กลุ่มผู้ใช้แรงงานตามกฎหมาย

ไทยออยล์ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มมาโดยตลอด ซึ่งรวมถึง UJV – Samsung, Petrofac และSaipem ไทยออยล์ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem และ Sinopec, STP รวมถึง SCI หาข้อตกลงร่วมกันและจ่ายค่าจ้างให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยเร็วที่สุด

โดยตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยออยล์ได้ประสานให้มีการหารือร่วมกันระหว่างผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนของนายจ้าง ผู้แทนของ Sinopec, STP และ SCI และผู้แทนของ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานกลับไปทำงานได้ตามปกติ

อย่างไรก็ดี ไทยออยล์ได้ทราบว่า UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ยังไม่ยอมรับที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกับ Sinopec, STP และ SCI จึงทำให้ระยะเวลาและกระบวนการจ่ายค่าจ้างให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังไม่มีความชัดเจนและยังคงล่าช้าต่อไป ทั้งนี้ ไทยออยล์ หวังว่า UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem, Sinopec, STP และ SCI จะยืนยันที่จะรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยเร็วที่สุด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 7/8/2567

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับสมัครเข้าอบรมหลักสูตรออนไลน์ EDC Plus สร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต สำหรับวัยเริ่มทำงาน เสริมทักษะ 5 ด้านภายใน 3 ชั่วโมง ได้วุฒิบัตรรับรอง

7 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมกับ ETDA ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพื่อให้เหมาะกับน้อง ๆ ที่เพิ่งจบการศึกษา และกำลังเข้าสู่การทำงาน เพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลเป็นทักษะที่จำเป็นและสามารถเปิดโอกาสให้แรงงานกลุ่มนี้ใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสื่อสารกับสถานประกอบการในการพิจารณารับเข้าทำงานได้ด้วย

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมกับ ETDA ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพื่อเพิ่มทักษะดิจิทัล เพราะเป็นทักษะที่จำเป็นและสามารถเปิดโอกาสให้แรงงานใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสื่อสารกับสถานประกอบการในการพิจารณารับเข้าทำงานได้ด้วย

เช่น สร้างตัวตนอย่างไรให้น่าสนใจ อะไรที่ควรอยู่บนโซเชียล อะไรที่ไม่ควรแสดงให้เห็นในโซเชียล เพื่อให้เด็กๆ รู้เท่าทัน สามารถเผชิญกับความท้าทายบนเส้นทางของชีวิตในยุคดิจิทัล เป็นต้น ในหลักสูตร EDC Plus หรือ การสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต แบ่งทักษะการเรียนรู้ทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่

- ด้านอัตลักษณ์ดิจิทัล (Digital Identity)

- ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม (Digital Use)

- ด้านการจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล (Digital Security)

- ด้านการสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication)

- ด้านการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy)

ผู้ฝึกอบรมสามารถออกแบบรูปแบบการเรียนเองได้และจบภายในรวม 3 ชั่วโมง เมื่อเรียนจบสามารถดาวโหลดวุฒิบัตรทางออนไลน์ได้ทันที ทั้งสะดวก และรวดเร็ว

นางสาวบุปผา กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็ก ๆ ในยุคนี้เติบโตมากับอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต เป็นการรับรู้ข้อมูลผ่านโลกดิจิทัล ซึ่งแตกต่างกับยุคสมัยก่อนมาก เด็กในยุคนี้คุ้นเคยกับการรับส่งข้อมูลโดยไม่ต้องเห็นหน้า DQ หรือ Digital Intelligence Quotient ความฉลาดทางดิจิทัล จึงเป็นทักษะที่จำเป็นที่ต้องเพิ่มเติมเข้ามา ทั้งทักษะการใช้สื่อ และการเข้าสังคมในโลกออนไลน์

ตลอดจนสามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลในการใช้ชีวิตประจำวัน สิ่งสำคัญคือใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างไรให้เหมาะสมและปลอดภัย หลักสูตรดังกล่าวจึงมีการพัฒนาและปรับปรุงให้เหมาะกับน้อง ๆ ที่กำลังเข้าสู่การทำงาน เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ทักษะดิจิทัลอย่างชาญฉลาด

หากท่านใดสนใจสามารถเข้าฝึกอบรมฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงาน เบอร์โทร 02643 4981 คลิกสมัครที่ www.dsd.go.th เลือก DSD Online Training หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 1506 กด 4 นางสาวบุปผา กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 7/8/2567

รบ.เมียนมาบังคับใช้กฎ แรงงานพม่าในไทย โอนเงินรายได้ 25% กลับบ้านผ่านธนาคาร

6 ส.ค.2567 เว็บไซต์อิรวดี สื่อภาษาอังกฤษในประเทศเมียนมา หรือพม่า รายงานว่า กฎข้อบังคับให้แรงงานชาวพม่าซึ่งมาทำงานในประเทศไทย ต้องโอนเงินรายได้อย่างน้อย 1 ใน 4 หรือ 25% กลับบ้าน เข้าบัญชีสมาชิกในครอบครัว ผ่านระบบธนาคารของประเทศ เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากรัฐบาลทหารพม่าภายใต้การนำของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ออกกฎข้อบังคับนี้เมื่อ ก.ย. 2566

กระทรวงแรงงานของเมียนมา ออกแถลงการณ์ว่า แรงงานชาวพม่าซึ่งไปทำงานในประเทศไทย ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ซึ่งวาระจ้างงานครบ 4 ปี ต้องโอนเงินรายได้อย่างน้อย 25% ของรายได้ ซึ่งเป็นเงินสกุลต่างประเทศ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเข้าบัญชีสมาชิกในครอบครัว ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ของพม่า ซึ่งได้การรับรองจากรัฐบาลพม่า หากต้องการจะต่อใบอนุญาตทำงานแบบถูกกฎหมาย หลังจากครบวาระสัญญาจ้าง ทำงานในประเทศไทย 4 ปี

กระทรวงแรงงานของพม่า ยังแจ้งว่า แรงงานชาวพม่าจะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตทำงานไนไทยเป็นเวลา 2 ปี ภายใต้บันทึกความเข้าใจ ซึ่งเรียกกันว่า หรือ MOU-Return ถ้าแรงงานชาวพม่าไม่โอนเงิน 6,000 บาท หรือ 25% ของรายได้พื้นฐานจากการทำงานที่ประเทศไทย ในช่วง 3 เดือน กลับบ้าน ผ่านระบบธนาคาร ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐบาลเมียนมา

กระทรวงแรงงานพม่า ยังแจ้งด้วยว่า แรงงานชาวพม่าที่จะไปยื่นเรื่องขอต่อใบอนุญาตทำงานในต่างประเทศ  ที่สำนักงาน 2 แห่ง ในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และ Kawthaung หรือคนไทยเรียกเกาะสอง จะต้องแสดงเอกสารการโอนเงินรายได้อย่างน้อย 25% ผ่านระบบธนาคาร หากต้องการต่อใบอนุญาตทำงานในต่างแดน

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์เรดิโอฟรีเอเชีย รายงานเมื่อกันยายน 2566 ว่า กระทรวงแรงงานพม่าได้ออกกฎข้อบังคับ เมื่อต้นเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา ให้ชาวพม่าซึ่งไปทำงานในต่างประเทศต้องเปิดบัญชีพิเศษที่ธนาคาร CB Bank ในเมียนมา โดยใช้ชื่อบัญชีเป็นสมาชิกในครอบครัว และต้องโอนเงินรายได้ 25% จากการทำงานเข้ามาในบัญชี ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ของพม่าอย่างเป็นทางการเท่านั้น หากต้องการต่อใบอนุญาตทำงานในต่างประเทศ

รัฐบาลทหารพม่าออกกฎข้อบังคับนี้ ทำให้ชาวพม่าที่มาทำงานในต่างแดนและประเทศไทย ต่างไม่พอใจอย่างมาก มีความเห็นว่าข้อบังคับนี้เป็นการปล้นเงินประชาชน เพราะเชื่อว่ารัฐบาลทหารต้องการกดดันให้แรงงานชาวพม่าต้องจ่ายภาษีจากเงินเดือนและรายได้ให้แก่รัฐบาลพม่า ในขณะที่แรงงานชาวพม่าได้เสียภาษีให้กับรัฐบาลประเทศที่ไปทำงานอยู่แล้ว และไม่ควรต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลพม่าอีก เพราะพลเมืองจากประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน ได้รับการยกเว้นการจ่ายภาษีซ้อน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 7/8/2567

ผช.รัฐมนตรีแรงงานนำทีมเจรจาทางการมาเก๊า ขยายตลาดภาคบริการและโรงแรม

7 ส.ค. 2567 นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เดินทางเยือนมาเก๊า เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงาน กับ Mr. Lei Wai Nong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน มาเก๊า เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านแรงงาน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านแรงงาน รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติ ระหว่างไทยกับมาเก๊า ณ Avenida Doutor

นายสิรภพ กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ และการเงิน มาเก๊า ที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีในนามของกระทรวงแรงงานไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเยือนมาเก๊า ซึ่งการมาเยือนมาเก๊าในครั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านแรงงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านแรงงาน รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติ ระหว่างไทยกับมาเก๊า ซึ่งกระทรวงแรงงานไทย มีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานตั้งแต่ก่อนเดินทางมาทำงานตลอดจนดูแลคนไทยระหว่างการมาทำงานต่างประเทศ และหลังจากเดินทางมาทำงานต่างประเทศ

“การหารือในวันนี้ จะเป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสที่แรงงานไทยจะมาทำงานที่มาเก๊าในสาขาที่ขาดแคลน สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงาน ที่จะส่งเสริมให้แรงงานไทยมีโอกาสมีงานทำ โดยเฉพาะการทำงานในต่างประเทศ และขอขอบคุณรัฐบาลมาเก๊า ที่ให้มีการจ้างงานแรงงานไทยภาคบริการและการโรงแรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังให้ความดูแล และใส่ใจแรงงานต่างชาติ ให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานตามมาตตรฐานสากล” นายสิรภพ กล่าว

ด้าน นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาเก๊า เป็นตลาดแรงงานที่สำคัญ มีแรงงานไทยทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น พนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟ พนักงานทำความสะอาด พ่อครัว พนักงานนวดสปา และอื่นๆ เป็นต้น โดยกระทรวงแรงงาน มีสำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ทำหน้าที่ในการขยายตลาดแรงงาน และคุ้มครองดูแลแรงงานไทยในพื้นที่ฮ่องกง มาเก๊า รวมถึงประสานงานกับกรมแรงงานมาเก๊า และกรมตรวจคนเข้าเมืองมาเก๊า ในการดำเนินงานแบบ One stop Services ในด้านการจ้างแรงงานไทย และ After Service การดูแลแรงงานไทยเมื่อมาทำงานครบสัญญาจ้าง

“นายจ้างภาคบริการที่มาเก๊าหลายรายชื่นชมแรงงานไทย ว่ามีความขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ มีน้ำใจ เรียนรู้งานได้รวดเร็ว มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเหมาะกับงานบริการ ซึ่งปัจจุบันสถานประกอบการต่างๆ ในมาเก๊าได้ขยายกิจการ และมีแนวโน้มความต้องการจ้างแรงงานภาคบริการเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานได้เร่งพัฒนาแรงงานไทยให้มีคุณสมบัติ ทั้งทักษะอาชีพ และทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ตามที่นายจ้างมาเก๊ากำหนด เพื่อให้แรงงานไทยมีโอกาสได้รับการจ้างงานกับสถานประกอบการที่มีมาตรฐานสากล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการยกระดับฝีมือและส่งต่อภาคธุรกิจให้เกิดการจ้างงาน เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งสองประเทศร่วมกันต่อไป” นายไพโรจน์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 7/8/2567

สภาอุตฯ ร้อง 'ทุนจีน' กินรวบ ขนแรงงาน-อุปกรณ์ตั้งโรงงานในไทย ไม้ม็อบถูพื้นยังเอามาเอง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นทุนจีนหลั่งไหลเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยในช่วงนี้ จากผลกระทบสงครามการค้าจีน-อเมริกา เป็นความจริงที่ว่า ไทยได้ประโยชน์แค่จากการขาย หรือ เช่าที่ดิน บวกกับการรับจ้างลงเสาเข็ม เทพื้นปูนเท่านั้น

เพราะนายทุนจีน นำเข้าอุปกรณ์ วัสดุก่อสร้าง รวมถึงบุคคลากร วิศวกร คนคุมงาน และแรงงาน โดยใช้คนไทยเป็นส่วนน้อย ตลอดจนอุปกรณ์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์ และแม้กระทั่ง ไม้ม็อบถูพื้น น้ำยาทำความสะอาด ก็จัดเตรียมมาเป็นแพ็กใหญ่ เพื่อให้โรงงานสามารถเปิดเดินเครื่องการผลิตได้อย่างรวดเร็ว โดยยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย ที่ต้องการคว้าโอกาสเร่งดึงทุนจีนเข้ามาไทย จึงยังไม่ได้กำหนดเงื่อนไขรายละเอียด และยังกังวลว่า หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไทยจะโดนร่างแหถูกเหมาเข่งในการสำแดงที่มาของสินค้าที่ส่งออกสหรัฐฯไปด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นนโยบายของพรรครีพลับลิกันหรือเดโมแครต ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีน และอาจโยงมาที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตของจีน

นอกจากนี้ ไทยยังมีความเสี่ยงจากแอปพลิเคชัน Temu (เทมู) ที่เข้ามาตีตลาด ด้วยโมเดลธุรกิจจากโรงงานถึงลูกค้า เน้นขายถูก กระหน่ำทำการตลาด ประกันความพึงพอใจ คืนสินค้าได้ ซึ่งกระทบกับสินค้า SME ไทย ที่อาจต้องล้มหายตายจาก ในขณะที่การแก้ปัญหาของรัฐบาลยังล่าช้า เรียกว่าความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไทยถูกตลาดจีนทุ่มจากสินค้าอีคอมเมิร์ซ และมาตรการด้านภาษีของไทยที่ออกมาก็ขับเคลื่อนได้ช้า โดยเรียกร้องให้รัฐบาลนำทั้ง 2 เรื่องนี้ ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางป้องกันโดยเร่งด่วน

ที่มา: 3Plus, 6/8/2567

ทีดีอาร์ไอ ชี้ตลาดแรงงาน ทักษะ AI มาแรง ประกาศรับเกือบ 5 พันตำแหน่ง ใน 3 เดือน

ทีม Big Data สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยผลวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงาน และทักษะของแรงงานที่นายจ้างต้องการ ภายใต้ “โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Large Language Models (LLMs) เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงฯ” สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

โดยรวบรวมประกาศรับสมัครงานออนไลน์จาก 23 เว็บไซต์รับสมัครงาน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. ปี 2567 (ไตรมาส 2 ปี 2567) และวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งมีความแม่นยำสูง และพบประกาศรับสมัครงานทั้งสิ้น 238,129 ตำแหน่ง

ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ประกาศรับสมัครงานเพื่อสำรวจทิศทางของตลาดแรงงานหลังจากที่มีการใช้ AI กันอย่างแพร่หลาย พบว่า มีประกาศรับสมัครงานที่ต้องการทักษะด้าน AI จำนวน 4,276 ตำแหน่ง คิดเป็นสัดส่วน 1.8% ของจำนวนการประกาศรับสมัครงานในเว็บไซต์ออนไลน์ทั้งหมด โดยได้กำหนดทักษะด้าน AI ไว้ในประกาศรับสมัครงาน เช่น Artificial intelligence, ChatGPT, Chatbot, Artificial Neural Networks, Deep Learning, Feature Engineering และLanguage Model

โดยอุตสาหกรรมที่ต้องการทักษะ AI มากที่สุดใน 3 อันดับแรก คือ 1. อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 483 ตำแหน่ง 2. อุตสาหกรรมการเงินและการประกันภัย 398 ตำแหน่ง และ 3. อุตสาหกรรมการกิจกรรม การบริหาร และบริการสนับสนุน 394 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกันเมื่อนำข้อมูลชุดเดียวกันไปจำแนกตามกลุ่มอาชีพพบว่า กลุ่มอาชีพ 3 อันดับแรกที่ต้องการทักษะ AI มากที่สุด ประกอบด้วย 1. งานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ 1,098 ตำแหน่ง 2. งานด้านการจัดการ 906 ตำแหน่ง และ 3. งานธุรกิจและการเงิน 584 ตำแหน่ง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/8/2567

รัฐบาลตั้งเป้าผลิต “บัณฑิตแรงงาน” ครบ 878 อำเภอทั่วประเทศในปี 2569 เป็นที่พึ่งพาของประชาชนในพื้นที่

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายมุ่งเน้นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงาน และประชาชนทุกกลุ่มในทุกพื้นที่ พร้อมสนับสนุนการผลิตและพัฒนาศักยภาพบัณฑิตแรงงาน เพื่อเป็นตัวแทนของกระทรวงแรงงานภาคประชาชนเชื่อมโยงกับประชาชนในพื้นที่ ให้ข้อมูลข่าวสาร และให้บริการด้านแรงงาน รวมถึงส่งเสริมอาชีพและการจ้างงาน โดยนำร่องจ้างงานบัณฑิตแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องได้ พร้อมต่อยอดขยายผลทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมายผลิตบัณฑิตแรงงานให้ครบ 878 อำเภอทั่วประเทศ ภายในปี 2569

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงแรงงานขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี เดินหน้าผลิตบัณฑิตแรงงาน โดยที่ผ่านมาได้นำร่องจ้างงานบัณฑิตที่จบปริญญาตรีและเติบโตมาจากในท้องถิ่น เข้ามาเป็นบัณฑิตอาสาแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย) จำนวน 380 คน เป็นกลไกการดำเนินการเชิงรุก ขับเคลื่อน ช่วยเหลือการดำเนินภารกิจในระดับพื้นที่ อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อให้แรงงานทุกคนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ตอบโจทย์ส่งเสริมการมีงานทำ แก้ไขปัญหาเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา และการจ้างงาน ปัญหาการค้ามนุษย์ พัฒนาศักยภาพของกลุ่มแรงงานอิสระ และช่วยสร้างสันติสุขในพื้นที่อย่างยั่งยืน สำหรับในปี 2567 กระทรวงแรงงานได้จ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 113 คนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 493 คน พร้อมตั้งเป้าหมายผลิตบัณฑิตแรงงานให้ครอบคลุม 878 อำเภอทั่วประเทศไทย ภายใน 2 ปี หรือภายในปี 2569 เพื่อเป็นกลไกพัฒนาแรงงานอย่างยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังเสริมความแข็งแกร่ง ผ่านการจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพการให้บริการด้านแรงงานในพื้นที่ โดยบัณฑิตแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาศักยภาพบัณฑิตแรงงาน ผลักดันให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น สนับสนุนการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร และอธิบายข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งกลุ่มอาชีพอิสระ กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เดินทางลงพื้นที่หลายครั้ง เน้นย้ำให้เกิดการพัฒนาเพื่อความเจริญรุ่งเรือง เน้นย้ำส่งเสริมความเชื่อมโยง พัฒนาเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ซึ่งการพัฒนาตามแนวทางของนายกรัฐมนตรีจะสร้างโอกาสให้แรงงานในพื้นที่มีงานทำ จะเป็นอีกหนึ่งกลไกเชิงรุกที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานและประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน” นายชัย กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 6/8/2567

คบต. เห็นชอบ นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวเก็บผลผลิตเกษตรได้ทั่วประเทศ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 3/2567 โดยมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นสากล คำนึงถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติ สอดคล้องตามบริบทการจ้างงาน และความต้องการแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ โดยเฉพาะผลผลิตทางเกษตรที่เป็นสินค้าส่งออกสร้างรายได้ของประเทศไทย

วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 3/2567 จึงพิจารณาเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติเพื่อคลี่คลายปัญหา และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทย ใน 4 วาระ ดังนี้

1. เห็นชอบให้แรงงานเก็บผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับอนุญาตทำงานอยู่แล้วตาม ม. 64 ทำงานเก็บผลผลิตทางการเกษตรในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวได้ทั่วประเทศ โดยก่อนออก–เข้าพื้นที่ต้องดำเนินการขออนุญาตก่อนทุกครั้ง

2. แก้ไขข้อขัดข้องให้คนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้รับความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวนอกท้องที่ทำงาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย

3. เห็นชอบให้สามารถตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ให้แรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานตาม MoU ณ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองได้ เช่นเดียวกับแรงงานที่เดินทางเข้ามาทำงานผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองบริเวณชายแดน

4. เห็นชอบให้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อให้บริการแรงงานต่างชาติที่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทย สามารถยื่นขออนุญาตทำงานผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้จากต่างประเทศก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หลังจากนี้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และดำเนินการออกกฎหมายรองรับต่อไป ระหว่างนี้ขอให้ติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน doe.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/7/2567

บางจากปฏิเสธข่าว "สำนักงานประกันสังคม" ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ขายหุ้นออก ชี้ยังไม่ได้รับแจ้งข้อมูลใดๆ

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อเกี่ยวกับการจำหน่ายหุ้นบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยสำนักงานประกันสังคม บริษัทขอเรียนว่าขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับแจ้งข้อมูลใดๆ จากผู้ถือหุ้นรายดังกล่าว หากบริษัทฯ ได้รับแจ้งข้อมูลใดๆ จากผู้ถือหุ้นรายดังกล่าว หรือมีข้อมูลเพิ่มเติม บริษัทจะรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยทันที

ที่มา: การเงินการธนาคาร, 5/8/2567

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net