Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจแรงงานทั่วโลกส่งสัญญาณเตือนสมองไหล-ต่างชาติอยากมาทำงานที่ไทย

“ดวงพร พรหมอ่อน” กรรมการผู้จัดการ Jobsdb by SEEK กล่าวว่า Global Talent Survey 2024 จัดทำโดย JobStreet และ Jobsdb ภายใต้กลุ่มบริษัท SEEK ร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) และ The Network เพื่อสรุปข้อมูลเกี่ยวกับการทํางานและความสมัครใจในการโยกย้ายงานระดับโลกและระดับประเทศ

“ผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับบุคลากรระดับมืออาชีพจากทั่วโลก ที่สนใจโอกาสงานและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันความสนใจของชาวไทยในการไปทำงานต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้น องค์กรในไทยต้องปรับกลยุทธ์ในการดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ”

ประเทศไทยถูกยกให้เป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นที่ต้องการของผู้หางานจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ขยับขึ้นมาลำดับที่ 31 จากลำดับที่ 39 ในการจัดอันดับโลกนับจากปี 2561 ประเทศไทยดึงดูดผู้ที่มีความสามารถหลากหลายจากทั่วโลกถึง 62% ให้เข้ามาทำงาน

เนื่องจากชื่นชอบในคุณภาพชีวิต วัฒนธรรมที่เป็นมิตรและการไม่แบ่งแยก ควบคู่ไปกับการพิจารณาเรื่องค่าครองชีพที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย โดยผลสำรวจในเดือนมีนาคมปี 2566 ได้เปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีพนักงานต่างชาติกว่า 2.7 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 7% ของแรงงานในประเทศ

“เหตุผลที่ต่างชาติเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายอันดับต้น ๆ คือ คุณภาพชีวิต 62%, วัฒนธรรมที่เปิดรับและการไม่แบ่งแยก 59%, รายได้ ภาษี และค่าครองชีพ 50%, คุณภาพของโอกาสในการทํางาน 39%, สภาพแวดล้อมที่เหมาะสําหรับครอบครัว 35%, ความปลอดภัย ความมั่นคง และความมั่นใจ 25%, กระบวนการขอวีซ่าและใบอนุญาตทํางาน 21%, นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล 17%, ระบบสาธารณสุข 16% และโอกาสในการเป็นพลเมือง 13%”

คนจาก 10 ประเทศนี้ เป็นประเทศที่อยากมาทำงานที่ไทยมากที่สุด อันดับ 1 สิงคโปร์, อันดับ 2 มาเลเซีย, อันดับ 3 ฮ่องกง, อันดับ 4 ฟิลิปปินส์, อันดับ 5 อินโดนีเซีย, อันดับ 6 เยอรมนี, อันดับ 7 เดนมาร์ก, อันดับ 8 แอฟริกาใต้, อันดับ 9 สหรัฐอเมริกา และอันดับ 10 ฝรั่งเศส

“ดวงพร” อธิบายว่า ถึงแม้ตัวเลขที่คนไทยสนใจไปทำงานต่างประเทศจะยังไม่ถึงจุดสูงสุดเท่าก่อนเกิดโรคระบาดปี 2561 แต่ความสนใจถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2566 ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึง ปรากฏการณ์สมองไหล

ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามคนไทยกว่า 66% ที่มีความสนใจในการโยกย้ายไปทำงานต่างประเทศ ส่วนมากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (79%) ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงความมุ่งมั่นในความก้าวหน้าในอาชีพ ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ตลอดจนโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์ในระดับนานาชาติ

ตัวอย่างสาขาอาชีพที่คนไทยมีความพร้อมในการโยกย้าย คือ การศึกษาและการฝึกอบรม 85% อาจารย์เเละผู้สอนในประเทศไทยนั้นเชื่อว่าจะได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายเเละเติบโตในหน้าที่จากการสอนระหว่างประเทศ

กฎหมาย 73% นักกฎหมายชาวไทยกำลังมองหาบทบาทระดับนานาชาติ เพื่อขยายความเชี่ยวชาญทางกฎหมายและสร้างเครือข่ายระดับโลก

การจัดการธุรกิจ 73% นักบริหารธุรกิจมีความต้องการที่จะมองหาโอกาสการทำงานในต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ และฮ่องกง เพื่อการเติบโตด้านการตลาด สื่อดิจิทัล และอุตสาหกรรมเอไอ

ไอที 72% ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีมีความมุ่งมั่นที่จะไปทำงานในประเทศที่มีการพัฒนาในด้านเทค อย่าง สหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะเสริมสร้างความรู้ในแง่ของการพัฒนาซอฟต์แวร์ วิทยาศาสตร์ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการพัฒนาและปฏิบัติการร่วมกัน

วิศวกรรมและเทคนิค 69% วิศวกรมีความต้องการที่จะทำงานในองค์กรขนาดใหญ่เเละครบวงจร

ทั้งนี้ 10 ประเทศที่คนไทยอยากไปทำงานมากที่สุด คือ อันดับ 1 สิงคโปร์ อันดับ 2 ออสเตรเลีย อันดับ 3 สหรัฐอเมริกา อันดับ 4 ญี่ปุ่น อันดับ 5 แคนาดา อันดับ 6 จีน อันดับ 7 สหราชอาณาจักร อันดับ 8 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 9 เยอรมนี อันดับ 10 นิวซีแลนด์

“ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของคนไทยอันดับต้น ๆ อาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความสัมพันธ์ระดับภูมิภาค ศักยภาพทางการตลาด และการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม 60% ของผู้ที่ได้ไปทำงานในต่างประเทศมีความตั้งใจที่จะกลับมายังประเทศไทยในท้ายที่สุด เเละอีก 18% ที่ต้องการอยู่ต่ออย่างไม่มีกำหนด”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/8/2567

เตือนแรงงานไทยชะลอเดินทางไปอิสราเอล-เลบานอน

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้รับรายงานจากกรมการจัดหางาน ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย เกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดในอิสราเอล และเลบานอน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้น จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 ในอิหร่าน

โดยกระทรวงแรงงานได้ประเมินสถานการณ์แล้ว จึงขอแจ้งให้แรงงานไทยชะลอการเดินทางไปทำงานในอิสราเอล และเลบานอนทุกวิธีการเดินทางเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

สำหรับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายไว้ 100,000 คน ซึ่งตัวเลข ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2567 ได้จัดส่งแรงงานไทยไปแล้ว 77,918 คน หรือคิดเป็น 77.92% ของเป้าหมาย

ที่มา: RYT9, 17/8/2567

กรมการจัดหางาน แจงปฏิบัติการ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” 71 วัน ตรวจสอบ แรงงานข้ามชาติ 1.9 แสนคน เอาผิดกว่า 1.3 พันคน

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2567 นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานปฏิบัติการ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ตามนโยบายนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอย่างเคร่งครัด ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กำลังพลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ

เพื่อตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างชาติ ที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างชาติ มีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว และมติครม.ในคราวต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เป็นระยะเวลา 120 วัน

ล่าสุดผลการดำเนินการ ระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2567 รวม 71 วัน มีการตรวจสอบตามที่พลเมืองดีแจ้งเบาะแสและการสุ่มตรวจในสถานประกอบการ และย่านการค้าแหล่งเศรษฐกิจสำคัญที่พบเห็นแรงงานข้ามชาติทำงานจำนวนมาก อย่างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิ ย่านเพชรบุรีตัดใหม่ สุวินทวงศ์ สะพานสูง ลาดกระบัง ตลิ่งชัน และจังหวัดในส่วนภูมิภาค อาทิ อุทัยธานี อ่างทอง ระยอง เพชรบุรี

จากการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศ 14,734 แห่ง ดำเนินคดี 503 แห่ง และตรวจสอบแรงงานต่างชาติ จำนวน 192,280 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 144,261 คน กัมพูชา 29,448 คน ลาว 12,258 คน เวียดนาม 117 คน และสัญชาติอื่น ๆ 6,196 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,314 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 818 คน กัมพูชา 201 คน ลาว 180 คน เวียดนาม 24 คน และสัญชาติอื่น ๆ 91 คน

นายสมชาย กล่าวย้ำว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง

รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน

หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งหากพบการกระทำความผิดกรมการจัดหางานจะดำเนินคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น

ทั้งนี้ หากพบเห็นการจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย หรือพบเห็นคนต่างชาติทำงานนอกเหนือสิทธิที่ทำได้ขอความร่วมมือทุกท่านแจ้งเบาะแสมาที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน ชั้น 4 โทร. 02354-1729 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร 1694

ที่มา: ข่าวสด, 17/8/2567

แรงงานพม่า 700 คน ฮือปิดโรงงานจีน ในนิคมโรจนะ ทำงาน 2 เดือนไม่จ่ายค่าแรง ไม่มีเงินซื้อข้าว

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 ส.ค. 2567 เจ้าหน้าที่สายตรวจ สภ.ระเบาะไผ่ อ.ศรีมหาโพธิ รับแจ้งมีแรงงานพม่า ประมาณ 700 คน รวมตัวกันประท้วงนายทุนชาวจีน ที่ไม่ยอมจ่ายค่าแรงงานมาประมาณ 2 เดือนแล้ว คิดเป็นเงินประมาณ 10 ล้านบาท ในนิคมโรจนะ หมู่ที่ 13 ต.หัวหว้า อ.ศรีมหาโพธิ

หลังจากรับแจ้ง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกำลังจำนวนหนึ่ง เดินทางไปยังจุดเกิดเหตุ พบแรงงานชาวพม่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นคนงานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมของนายทุนจีน ในเขตอุตสาหกรรมโรจนะ โดยกลุ่มคนงานที่รวมตัวประท้วงในครั้งนี้ เนื่องจากนายทุนชาวจีนไม่ยอมจ่ายเงินเดือนมาแล้ว 2 เดือน แต่บังคับให้ทำงานทุกวัน จนแรงงานพม่าไม่มีเงินซื้ออาหารกินกันแล้ว ทำให้ต้องอดๆอยากๆ มานาน

จากการเจรจาเบื้องต้น นายทุนชาวจีนจะขอจ่ายเงินให้กับแรงงานชาวพม่าไปก่อนคนละ 500 บาท แต่ว่าทางแรงงานไม่ยอมก็ให้จ่ายเงินเดือนที่ค้างอยู่ทั้งหมด และยังคงปิดทางเข้าออกพื้นที่ก่อสร้างไม่ยอมให้นายทุนชาวจีนและหัวหน้าคนงานออกไปด้านนอกแต่อย่างใด จะอนุญาติเฉพาะคนไทยเท่านั้น

นายซู (หมวกสีขาว) อายุ 33 ปี หัวหน้าไซส์ชาวพม่า กล่าวว่า คนงานเรามีหลายชุด ประมาณ 700 คน เงินค่าแรงไม่ออกมา 2 เดือนแล้ว คนงานบางคนไม่มีเงินกินข้าว วันนี้ก็เจรจากันยังไม่ลงตัวและไม่ได้คำตอบจากโรงงาน ก็ยังคงประท้วงกันต่อไป พนักงานมี 700-800 คน ทุกคนไม่ได้ค่าแรงแต่ต้องทำงานทุกวัน

ที่มา: ข่าวสด, 17/8/2567

กิจการร่วมค้า UJV ยอมจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้ลูกจ้าง ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน

จากกรณีกลุ่มผู้ใช้แรงงานรวมตัวชุมนุมริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 2567 เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างจากผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า UJV นั้น โดยเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และผู้แทนกิจการร่วมค้า UJV - Samsung Petrofac และ Saipem ได้ร่วมประชุมหารือเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับชำระค่าจ้าง

โดยมีไทยออยล์เข้าร่วมสังเกตการณ์ ณ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ข้อสรุปว่า UJV - Samsung Petrofac และ Saipem ตกลงจะนำเงินไปจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้ลูกจ้างในวันที่ 14 ส.ค. 2567 ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน 2 ฉบับ (ที่ 20/2567 และ 21/2567) โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเข้าไปกำกับดูแลกลไกและเงื่อนไขการจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้ครบถ้วน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ไทยออยล์ได้รับรายงานว่า บริษัท เอสทีพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (STP) และบริษัท เอสซีไอ สยาม โคเรีย อินดัสเตรียล จำกัด (SCI) ได้ชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างแล้ว ส่งผลให้กลุ่มลูกจ้างได้ยุติการรวมตัวชุมนุมหน้าโรงกลั่นไทยออยล์เมื่อเวลา 18.15 น.

ไทยออยล์ขอขอบคุณหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ที่ช่วยประสานและผลักดันให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่รวมตัวชุมนุมดังกล่าวได้รับค่าจ้างค้างจ่าย ทำให้สถานการณ์คลี่คลาย บรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 15/8/2567

เผยไทย-กัมพูชา เห็นชอบใช้ระบบออนไลน์ในการดำเนินการนำแรงงานกัมพูชามาทำงานในประเทศตาม MOU

นางสาวอารยา ชัญถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 รักษาราชการแทน จัดหางานจังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า ทางการไทย-กัมพูชา เห็นชอบใช้ระบบออนไลน์ในการดำเนินการนำแรงงานกัมพูชามาทำงานในประเทศตาม MOU ผ่าน www.cambodia-doe.com ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

1. นายจ้าง/สถานประกอบการ และผู้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงาน ลงทะเบียนใช้งานผ่าน www.cambodia-doe.com เพื่อยื่นความต้องการจ้างแรงงานกัมพูชา

2. ทางการกัมพูชาจะจัดส่งบัญขีรายชื่อ (Name list) ที่ได้รับการอนุมัติผ่านระบบออนไลน์

3. นายจ้าง/สถานประกอบการ และผู้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงาน

นำบัญชีรายชื่อ (Name list) ที่ผ่านการอนุมัติตามข้อ 2 พร้อมหลักฐานประกอบการยื่นคำขออนุญาตทำงาน ดังต่อไปนี้

– บัญชีรายชื่อ (Name list) ที่ได้รับการอนุมัติผ่านระบบออนไลน์

– แบบข้อมูลความต้องการนำเข้าแรงงานต่างด้าว

– แบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ (นจ.2)

– หนังสือแต่งตั้ง

– สัญญาจ้างแรงงาน

– แบบคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (บต.31 หรือ บต.33)

– เอกสารนายจ้าง

ให้ยื่นคำขออนุญาตทำงานพร้อมชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการของนายจ้าง

4. กรมการจัดหางานมีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว /สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ

5. แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง และรับใบอนุญาตทำงาน ณ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง จังหวัดสระแก้ว

สำนักงานจัดหางานจังหวัดลพบุรี ขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และผู้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงาน ได้รับทราบแนวทางการดำเนินการยื่นความต้องการจ้างแรงงานกัมพูชามาทำงานในประเทศตาม MOU จะต้องดำเนินการผ่าน www.cambodia-doe.com เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดลพบุรี เลขที่ 114 หมู่ 1 ถ.พระปิยะ ต.ป่าตาล อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี โทร.0-3642-2906 ต่อ 13 , 08-6322-8113 หรือ Facebook: สำนักงานจัดหางานจังหวัดลพบุรี

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 15/8/2567

“พิพัฒน์” สั่งกสร. ติดตามการจ่ายเงินลูกจ้างซับคอนแทรก “UJV” ข่าวดี นายจ้างเริ่มทยอยจ่ายแล้ว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่ชลบุรี ติดตามการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างบริษัท Subcontract ของกิจการร่วมค้า UJV พร้อมเผยข่าวดีทยอยจ่ายเงินลูกจ้างทุกคนให้ครบถ้วน นายพิพัฒน์ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีปัญหาการค้างจ่ายค่าจ้างลูกจ้างบริษัท Subcontract ของกิจการร่วมค้า UJV ว่า จากการที่ได้มีการประชุมหารือร่วมกันถึงแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างจนได้ข้อสรุปว่า กลุ่มกิจการ ร่วมค้า UJV รับปากจะนำเงินมาจ่ายให้กับลูกจ้างในวันที่ 14 สิงหาคมนั้น ผมได้กำชับให้อธิบดีกรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรีเพื่อติดตามการจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง และกำกับดูแลให้บริษัท UJV ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้ลูกจ้างได้รับเงินอย่างครบถ้วน

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2567 ผู้แทนบริษัท UJV ได้เข้ามาพบตนเองและเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เพื่อร่วมหารือถึงขั้นตอนการปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งในช่วงบ่าย UJV ได้จ่ายเงินให้กับบริษัท Subcontract จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอสซีไอ สยาม โคเรีย อินดัสเตรียล จำกัด และบริษัท เอสทีพีคอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นเงินประมาณ 81 ล้านบาท และในวันนี้ (14 ส.ค. 2567) บริษัทฯ ทั้ง 2 ได้นำเงินจ่ายให้กับบริษัทนายจ้างผู้รับเหมาค่าแรง จำนวน 12 บริษัท เพื่อนำไปจ่ายให้กับลูกจ้าง จำนวน 1,507 คน ซึ่งกสร. จะติดตามให้นายจ้างจ่ายเงินให้กับลูกจ้างครบถ้วนตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี “รัฐบาลให้ความสำคัญกับสิทธิของแรงงานและพร้อมที่จะสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างอย่างเต็มที่ พร้อมเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้แรงงานได้รับการดูแลที่เหมาะสมและยุติธรรม หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ้างงาน สามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดและกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3”

ที่มา: MCOT News FM 100.5, 15/8/2567

“พิพัฒน์” หนุนแรงงานอิสระวงการบันเทิง เข้าประกันสังคม คุ้มครองสวัสดิการคนทำงานกองถ่าย

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าว “คนกองถ่าย” ไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงาน ว่า ในเรื่องนี้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีนโยบายสำคัญที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานอิสระให้มีสวัสดิการและหลักประกันทางสังคม ซึ่งแรงงานอิสระเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศที่มีจำนวนกว่า 20 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้รับจ้างทั่วไปพ่อค้า แม่ค้า ศิลปินนักแสดง ยูทูปเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ หรือไรเดอร์ รวมถึงอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวงการบันเทิงและคนทำงานกองถ่ายด้วย

นายภูมิพัฒน์ กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่า การจ้างงานในกองถ่ายนั้นมีหลากหลายรูปแบบทั้งการจ้างแรงงานในระบบ และบางส่วนก็เป็นการจ้างเหมาและฟรีแลนซ์ เช่น ผู้กำกับ ช่างภาพ ช่างไฟ ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ นักแสดง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะได้รับเงินเรียกเก็บจากบริษัทที่ว่าจ้าง และการจ้างแบบรายวัน เช่น ช่างแต่งหน้า ฝ่ายสวัสดิการต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาว่าลูกจ้างแต่ละรูปแบบ มีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้าง ลูกจ้าง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ หากพิสูจน์ได้ว่ามีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้าง ลูกจ้างจริง ลูกจ้างก็จะได้รับการคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างทำงานทั่วไปไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันหรือตามที่ตกลงกันแต่ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ถ้าลูกจ้างทำงานเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลา และต้องมีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่น้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ มีวันหยุดประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นต้น แต่หากเป็นการจ้างทำของก็สามารถบังคับใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีไป อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำงาน หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

“ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างหลักประกันทางสังคมสู่พี่น้องแรงงานภาคอิสระ ให้มีความมั่นคงในชีวิต จึงได้เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่มีอาชีพอิสระทุกเพศทุกวัย สมัครเข้ามาเป็นผู้ประกันตน ม.40 ได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯต่อคณะรัฐมนตรี

ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่ท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานอิสระให้มีหลักประกันทางสังคม มีความปลอดภัยในการทำงาน สามารถรวมกลุ่มปกป้องสิทธิของตัวเองได้ ที่สำคัญแรงงานอิสระทุกคนจะมีโอกาสได้ขึ้นทะเบียน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมีฐานข้อมูลกำหนดนโยบาย แผนงาน และงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือ เยียวยาได้อย่างตรงจุด รวมทั้งจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับแรงงานอิสระด้วย” นายภูมิพัฒน์ กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 14/8/2567

รัฐดันกฎหมายขึ้นทะเบียน 'อินฟลู-ยูทูปเบอร์' ช่วยเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2565 พบว่าประชากรรวมของประเทศไทย จำนวน 66.09 ล้านคน มีจำนวนผู้มีงานทำ จำนวน 39.60 ล้านคน จำแนกออกเป็นแรงงานในระบบ จำนวน 19.40 ล้านคน และแรงงานนอกระบบ จำนวน 20.20 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 51 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

โดยปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานนอกระบบอย่างชัดเจน ทำให้แรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน หรือการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่ม หรือรวมตัวได้

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิต "แรงงานอิสระ"  ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร ผู้รับจ้างทั่วไป พ่อค้าแม่ค้า ศิลปินนักแสดง ยูทูปเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ หรือ ไรเดอร์

แต่ที่ผ่านมาแรงงานเหล่านี้ไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ที่สำคัญแรงงานอิสระทุกคนจะมีโอกาสได้ขึ้นทะเบียน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมีฐานข้อมูลกำหนดนโยบาย แผนงาน และงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างตรงจุด รวมทั้งจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับแรงงานอิสระด้วย

ร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นภายใต้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยปรับปรุงโครงสร้างของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

ซึ่งจำแนก “แรงงานอิสระ” ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “ผู้ประกอบอาชีพอิสระ” และ “ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ” เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมและคุ้มครองให้เหมาะสมกับแรงงานอิสระแต่ละประเภท ตามหลักการของพระราชบัญญัติแรงงานรับจ้างอิสระ (Estatuto del Trabajo Autónomo) (พระราชบัญญัติฉบับที่ 20/2007 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2007) ของประเทศสเปน ที่บัญญัติให้ “แรงงานรับจ้างอิสระที่ต้องพึ่งพา” เป็นแรงงานรับจ้างอิสระอีกประเภทหนึ่งแยกต่างหากจาก “แรงงานรับจ้างอิสระโดยแท้”

สำหรับ ประเภทที่ 1 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพซึ่งไม่มีนายจ้าง ดังต่อไปนี้

ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย

ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการ

ผู้รับงานไปทำที่บ้าน

ผู้ผลิตเนื้อหาเรื่องใดที่ไม่ใช่การโฆษณาเพื่อเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือบริการอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน

ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระตามที่มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพนั้น

ผู้ประกอบอาชีพอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ประเภทที่ 2 ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพ ดังต่อไปนี้

รับจ้างหรือให้บริการขนส่งคนโดยสาร สิ่งของ หรืออาหาร ทำความสะอาดหรือบริการอื่นๆ ซึ่งยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการตามที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนดไว้ โดยได้รับค่าตอบแทนผ่านผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

รับจ้างหรือให้บริการตาม ข้อ1 ซึ่งยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการตามที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนดไว้ โดยได้รับค่าตอบแทนผ่านผู้ประกอบธุรกิจนั้น

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติ

เมื่อพิจารณาตามตัวเนื้อหาของบทบัญญัติ จะพบว่าได้ครอบคลุมในประเด็น ทั้งเรื่องสิทธิในการรวมกลุ่มของแรงงานอิสระ สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ การจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ การจัดตั้งกองทุน หน้าที่ของพนักงานตรวจแรงงานอิสระ โทษอาญาและมาตรการปรับเป็นพินัย รวมทั้งกำหนดให้มีบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับการดำเนินการในวาระเริ่มแรกและการเร่งรัดให้มีการดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัตินี้ นอกจากนี้ยังมีกำหนดห้ามผู้ประกอบธุรกิจรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้าทำข้อตกลงในการทำอาชีพในลักษณะผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระอีกด้วย

สร้าง 'ครู ข' เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของแรงงานอิสระตามกฎหมายดังกล่าว

ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังสนับสนุนการจัดฝึกอบรม “ครู ข” หรือเครือข่ายแรงงานอิสระระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบโดยเครือข่ายชุมชน ผ่านการขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ ที่ดำเนินการในช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค. 67 นี้ พร้อมกันทุกจังหวัด เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของประชาชนตามร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .. และขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระ แก่อาสาสมัครแรงงาน กทม. และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนันในส่วนภูมิภาค รวม 75,249 คน

เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมแล้ว ครู ข ทั้งหมดจะลงพื้นที่เชิญชวนให้ประชาชนขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระผ่านแอปพลิเคชันของกระทรวงแรงงาน ตั้งเป้าหมายครู ข 1 คนต่อประชาชน 120 คน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ที่ขึ้นทะเบียนในปีแรก 9,029,880 คน โดยกระทรวงแรงงานจะดึงแรงงานอิสระเข้าสู่ระบบให้มากที่สุดเพื่อการดูแลอย่างทั่วถึง

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 14/8/2567

เอกอัครราชทูตธานี เสนอกระทรวงแรงงานฯ เกาหลีขยายสาขาการจ้างงานและจัดทำประกันสุขภาพระดับชาติสำหรับแรงงานไทยและต่างชาติในเกาหลีใต้

นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล นางศิริรัตน์ ศรีชาติ ผู้ช่วยทูตฝ่ายแรงงานและเจ้าหน้าที่ได้เข้าร่วมงานวันสถาปนา Employment Permit System (EPS)กระทรวงแรงงานและการจ้างงานสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีนายจอง ซิก ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ เป็นประธานนายจองฯ กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิ ความปลอดภัยในการทำงาน สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานต่างชาติเทียบเท่ากับแรงงานเกาหลี กระทรวงแรงงานฯ เกาหลีใต้ได้จัดตั้งศูนย์สนับสนุนแรงงานต่างชาติในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวในนามรัฐบาลไทยและแรงงานไทยในเกาหลีใต้ โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการคุ้มครองและส่งเสริมแรงงานไทยในเกาหลีใต้ โดยเสนอให้รัฐบาลเกาหลี(1) ขยายสาขาการจ้างงานสำหรับแรงงานไทยให้ครอบคลุมกิจการป่าไม้ เหมืองแร่และงานบ้าน และ (2) จัดทำระบบประกันสุขภาพระดับชาติสำหรับแรงงานต่างชาติฝ่ายเกาหลีได้รับความเห็นและคำถามต่าง ๆ ของผู้แทนประเทศผู้ส่งแรงงานเพื่อนำไปพิจารณาต่อไป

ในงานวันสถาปนาฯ นี้ ฝ่ายเกาหลีได้เชิญอดีตแรงงานต่างชาติที่เคยทำงานในเกาหลีรวมทั้งนายสุชิน รอดคูณจากไทย ถ่ายทอดการนำประสบการณ์การทำงานในเกาหลีกลับไปใช้ในประเทศไทยด้วย นับถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2567 มีแรงงานไทยในระบบ EPS จำนวน 20,731 คน ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาอุตสาหกรรม ก่อสร้างและการเกษตรกระจายอยู่ทั่วเกาหลีใต้

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 13/8/2567

ผลสำรวจแรงงานไทยไตรมาส 2/2567 พบ ยังว่างงานสูงต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งจำนวน 1 ใน 4 ของแรงงานกลุ่มที่ว่างงานนั้น มีสาเหตุจากบริษัทปิดกิจการ-โดนเลย์ออฟ

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับภาวะการทำงานของประชากรไทย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ซึ่งในภาพรวมพบว่าแรงงานไทยมีอัตราการจ้างงานลดลง และอัตราการว่างเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ที่น่ากังวลคือ อัตราการว่างงานส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทปิดกิจการ (15%) รวมถึงโดนเลย์ออฟ (11.7%) รวมๆ แล้วก็ประมาณ 25% ของจำนวนแรงงานที่ว่างงานทั้งหมด

สำหรับสถิติภาคแรงงานโดยรวมในไทยมีข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

- ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 40.18 ล้านคน

- เป็นผู้มีงานทำ 39.50 ล้านคน

- เป็นผู้ว่างงานประมาณ 0.43 ล้านคน (430,000 คน)

- เป็นผู้รอฤดูกาล 0.25 ล้านคน

- เป็นผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.99 ล้านคน (ส่วนใหญ่เป็นเด็ก คนชรา ผู้ป่วยหรือพิการจนไม่สามารถทำงานได้ แม่บ้าน ผู้ที่ยังเรียนหนังสือ)

โดยเฉพาะในส่วนของจำนวนผู้ว่างงานในไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2567 มีทั้งสิ้น 4.29 แสนคน เพิ่มขึ้นจากเดิม 0.19 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาส 1 พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.1%

โดยในกลุ่มผู้ที่เคยทำงานมาก่อนแต่ปัจจุบันเป็นผู้ว่างงานนั้น พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในสายงานภาคการบริการและการค้า จำนวนมากถึง 122,000 คน คิดเป็น 65.9% ขณะที่ผู้ว่างงานสายการผลิตมีจำนวน 51,000 คน คิดเป็น 27.6% โดยเหตุผลที่ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ออกจากงานหรือกลายเป็นผู้ว่างงาน ได้แก่

- ลาออกเอง 57.20%

- เลิก/หยุด/ปิดกิจการ  15.07%

- หมดสัญญาจ้าง 14.33%

- ถูกให้ออก/ไล่ออก/ปลดออก 11.70%

- อื่นๆ (หมดฤดูกาล, ปัญหาสุขภาพ) 1.14%

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 13/8/2567

หนุนสถานประกอบการ-รัฐวิสาหกิจ ใช้โมเดล 'Happy Workplace' ลดความขัดแย้งนายจ้าง-ลูกจ้างในองค์กร

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2567 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดพิธีมอบรางวัลสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจดีเด่นด้านสุขภาวะในองค์กร 29 แห่ง ประจำปี 2567 ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแรงงานสัมพันธ์ด้านสุขภาวะในองค์กร หนุนการใช้แนวคิดองค์กรสุขภาวะ (Happy workplace) มุ่งเน้นให้บุคลากรทุกคนในองค์กรมีความสุขในการทำงาน

นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 การทำสงครามในภูมิภาคยุโรปตะวันออก และภาวะเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่ต้องโดนเลิกจ้าง ขาดรายได้ และความมั่นคงในการทำงาน นำมาสู่ปัญหาข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานสถานการณ์ด้านแรงงาน ไตรมาสที่ 1 เดือน ม.ค.-มี.ค. 2567 โดยสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน พบว่าอัตราการเกิดข้อขัดแย้งต่อสถานประกอบการ 100,000 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น 7.76% จาก 5.86% ในไตรมาสสุดท้าย ปี 2566 สาเหตุเกิดจากความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ขาดการสื่อสารระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง รวมถึงขาดทัศนคติและความจริงใจต่อกัน

“กระทรวงแรงงาน สานพลัง สสส. ริเริ่มโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแรงงานสัมพันธ์ด้านสุขภาวะในองค์กร เน้นให้เครือข่ายแรงงานสัมพันธ์ทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ในสถานประกอบการและรัฐวิสาหกิจ ร่วมพัฒนานโยบายสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรทุกมิติ รวมถึงพัฒนาศักยภาพแกนนำแรงงานร่วมขับเคลื่อนระบบสุขภาวะในองค์กร ช่วยให้คนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี สถานประกอบการและรัฐวิสาหกิจดีเด่นด้านสุขภาวะในองค์กร ทั้ง 29 แห่ง ที่ขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะในองค์กรได้อย่างเป็นระบบ จะมาเป็นพลังสำคัญร่วมขับเคลื่อนให้สถานประกอบการทั่วประเทศพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักคิด ร่วมสร้าง ร่วมมี ร่วมธำรงไว้ ต่อไป” นายอารี กล่าว

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแรงงานสัมพันธ์ด้านสุขภาวะในองค์กร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการทำงานของวัยแรงงาน เปิดโอกาสให้สถานประกอบการและรัฐวิสาหกิจที่มีการบริหารจัดการด้านสุขภาวะด้านสุขภาวะในองค์กร มีผลการดำเนินงานโดดเด่น เป็นรูปธรรม สอดคล้องกับมาตรฐานข้อกำหนด และตัวชี้วัดของ สสส. ในการเป็นองค์กรสุขภาวะ เข้าร่วมประกวด มีสถานประกอบการได้รับรางวัลในระดับดีเลิศ 23 แห่ง ระดับก้าวหน้า 1 แห่ง และระดับพื้นฐาน 5 แห่ง มีการพัฒนาหลักสูตรพัฒนาคน เสริมศักยภาพทีมเพื่อองค์กรแห่งความสุข ชุดกิจกรรมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาวะ และนักสร้างสุของค์กร นำไปสู่การยกระดับเป็นสถานประกอบกิจการต้นแบบที่เข้มแข็งและยั่งยืน

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนให้สถานประกอบการนำแนวคิดองค์กรสุขภาวะ หรือ Happy Workplace มุ่งพัฒนาสุขภาวะคนทำงานทุกคน ซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคม ภายใต้การดำเนินงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน สสส. ได้สนับสนุนทั้งมาตรการสุขภาวะองค์รวมของวัยทำงาน ชุดความรู้สุขภาพ และนวัตกรรม HAPPINOMETER เครื่องมือวัดค่าความสุข 8 มิติ ของพนักงานผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์ จากรายงานผลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความผูกพันองค์กร และความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน ของคนทำงาน 7,989 คน จากสถานประกอบการ 30 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการฯ ปี 2567 พบหลังเข้าร่วมโครงการคนทำงานมีสุขภาวะในมิติจิตวิญญาณดีสูงถึง 73.1% รองลงมาคือมีน้ำใจดี 70.6% ใฝ่รู้ดี 69.5% ครอบครัวดี 65.8% และสุขภาพร่างกายดี 62.5% สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิด Happy Workplace ช่วยส่งเสริมให้องค์กรมีสุขภาวะที่ดี คนทำงานมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ครอบครัวอบอุ่น และร่วมสร้างสังคมที่น่าอยู่ ปลอดภัย ไร้ความขัดแย้งด้วยกัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 12/8/2567

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยสถิติการปิดโรงงานในรอบ 5 ปี เฉลี่ยปีละ 1,254 โรง เปิดโรงงานใหม่เฉลี่ยปีละ 2,360 โรง ปี 2567 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 25,663 คน

จากกรณี การนำเสนอข่าวที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องภาคการผลิตที่ลดลงของไทย จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นกว่า 667 แห่ง และถึงจะมีการเปิดโรงงานใหม่เพิ่มขึ้นถึง 122.67% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติผ่านการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าโรงงานต่อโรงที่ปิดตัว พบว่ามีเงินทุนลดลงเหลือเฉลี่ย 27.12 ล้านบาทต่อโรงงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือ SMEs โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีจำนวนโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นรวมกันถึง 271 แห่ง แบ่งออกเป็น จังหวัดชลบุรี 118 แห่ง จังหวัดสมุทรปราการ 45 แห่ง กรุงเทพมหานคร 44 แห่ง จังหวัดปทุมธานี 36 แห่ง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 28 แห่ง

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถิติการปิดโรงงาน (เลิกประกอบกิจการ) ในรอบ 5 ปี (ปี 25562-2566) ที่ผ่านมา มีโรงงานที่เลิกประกอบกิจการ เฉลี่ยปีละ 1,254 โรง ขณะที่ มีการเปิดโรงงานใหม่ (รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบแล้ว) เฉลี่ยปีละ 2,360 โรง คิดเป็นอัตราส่วนเฉลี่ยร้อยละ 53

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 กรกฎาคม 2567 พบว่า มีโรงงานเลิกประกอบกิจการ จำนวน 667 โรง และมีโรงงานเปิดใหม่ และแจ้งประกอบกิจการแล้ว จำนวน 1,260 โรง คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 54 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อหักลบโรงงานที่ปิดตัวลง ใน 7 เดือนแรกของปีนี้ จากยอดโรงงานใหม่ มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 167,691 ล้านบาท และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 25,663 คน

ที่มา: NBT Connext, 12/8/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net