Skip to main content
sharethis

สปส.​ ขับเคลื่อนงานสร้างหลักประกันคุ้มครองอาชีพอิสระสู่เครือข่าย​ 'บวร' ​ จ.ตาก

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประกันสังคมสู่เครือข่าย “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน/โรงงาน) จังหวัดตาก ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดตาก พร้อมด้วย นายบุญช่วย หอมยามเย็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่ โดยมี เครือข่ายประกันสังคม และผู้ประกันตนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยถึงความรู้สึกในโอกาสการลงพื้นที่จังหวัดตากว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับเกียรติเป็นประธานเปิดโครงการ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประกันสังคมสู่เครือข่าย “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน/โรงงาน) จังหวัดตาก ในวันนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานประกันสังคมจัดทำขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายประกันสังคม ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภารกิจงานประกันสังคมกับประชาชนและกลุ่มเป้าหมาย ได้อย่างครอบคลุมในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และชุมชนอย่างทั่วถึง อีกทั้งเป็นการช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการคุ้มครอง สูงสุด 5 กรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีการขาดรายได้จากการเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร รวมถึงเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จ่ายเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง โดยภายในงานได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แก่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ เครือข่ายผู้นำชุมชน เกษตรกร พ่อค้า แม่ค้า ประชาชนทั่วไปที่มาร่วมโครงการ ให้สามารถรับรู้ถึงความสำคัญในสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 รวมถึงแนะนำวิธีการ และช่องทางให้กับกลุ่มเครือข่ายต่างๆ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ ของความคุ้มครองจากประกันสังคมมาตรา 40 ทั้ง 5 กรณี ให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่สนใจแต่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ได้ ปัจจุบันจังหวัดตาก มีผู้ประกันตนจำนวนทั้งสิ้น 193,838 คน โดยแบ่งเป็นแรงงานภาคอิสระ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวนทั้งสิ้น 151,621 คน ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้ความสำคัญในการสร้างหลักประกันการดำรงชีวิตของตนเองเป็นจำนวนมาก

ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวเสริมว่า สำนักงานประกันสังคมมีภารกิจสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือแรงงานนอกระบบก็ตาม และอยากขอเชิญชวนผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ยังไม่ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เข้ามาเป็นครอบครัวประกันสังคม เพื่อรับสิทธิการคุ้มครองกรณีต่างๆ ช่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอุ่นใจ ไม่มีความกังวล

ที่มา: ไทยโพสต์, 25/8/2567

ตรวจด่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ต่างด้าวลักลอบทำอาชีพสงวน

24 ส.ค. 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมด่านพรมแดนถาวรบ้านริมเมย สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 อ.แม่สอด จ.ตาก พร้อมด้วย นายบุญช่วย หอมยามเย็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จากผลการดำเนินการอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล (มาตรา64) มีความห่วงใยในประเด็นบัตรผ่านแดนที่มี 2 ประเภท คือ บัตรผ่านแดน และบัตรผ่านแดนชั่วคราว โดยจะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาพื้นที่ชายแดนมีวัตถุประสงค์ เยี่ยมญาติ การท่องเที่ยว ราชการ ธุรกิจ กีฬา การทำงานแบบไปกลับหรือแบบฤดูกาล

“ผมขอให้แต่ละบริษัทผู้ประกอบการ มีความรัดกุมเรื่องการจ้างงานประเภทอาชีพต้องห้ามที่สงวนไว้สำหรับคนไทย รวมถึงจะต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจ 6 โรคต้องห้าม ได้แก่ โรคซิฟิลิส วัณโรค สุราเรื้อรัง สารเสพติด เท้าช้าง และโรคเรื้อน พร้อมทั้งต้องมีหลักประกันคุ้มครองด้านสุขภาพให้ครอบคลุม เพราะเรื่องของการค้าชายแดนนั้นมีความสำคัญมาก เปรียบเหมือนส่วนหนึ่งของเส้นเลือดสายด้านเศรษฐกิจประเทศไทย จึงต้องเตรียมพร้อมด้านแรงงาน ทุกกลุ่มอย่าเท่าเทียม” พิพัฒน์กล่าว

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับคนต่างด้าว ตามมาตรา 64 หรือ คนสัญชาติเมียนมา และกัมพูชา ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) เพื่อเข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนของประเทศไทยภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา และกัมพูชา โดยสามารถขออนุญาตทำงานได้คราวละ 3 เดือน และสามารถทำงานในประเภทงาน กรรมกร และรับใช้ในบ้านเท่านั้น

โดยเป็นคนต่างด้าวประมาณ 5,100 คน และมีผลการดำเนินงานขอรับใบอนุญาตทำงาน ปีงบประมาณ 2565 จำนวน 16,014 ครั้ง ปี 2566 จำนวน 11,863 ครั้ง และปี 2567 จำนวน 17,266 ครั้ง ซึ่งประเภทกิจการจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานมากที่สุด ได้แก่ กิจการผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป กิจการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และกิจการผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากดิน (เซรามิก) ตามลำดับ

สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1–10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/8/2567

ซัมซุง ร่วมมือ กพร. พัฒนาทักษะแรงงานไทย เปิดหลักสูตรเสริมทักษะดิจิทัล

ซัมซุง (Samsung) และ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สานต่อความร่วมมือปีที่ 7 เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้เท่าทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หลังจากความร่วมมือที่ผ่านมา มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้วกว่า 315 คน

ล่าสุด เปิดตัวหลักสูตร 'การติดตั้งและซ่อมบำรุงจอแสดงผลเพื่อประชาสัมพันธ์' ตอบสนองตลาดแรงงานดิจิทัลที่เติบโต และมีการแข่งขันสูง หลังจากความร่วมมือที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการผลิตบุคลากรที่มีทักษะตรงตามความต้องการของตลาด เช่น หลักสูตรซ่อมบำรุงโทรศัพท์ซัมซุง และการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ

นายสมบัติ โพธิวัฒน์ ผู้ตรวจการราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เผยว่า “การร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรการติดตั้ง และซ่อมบำรุงรักษาจอแสดงผลเพื่อประชาสัมพันธ์นี้ เพื่อพัฒนาทักษะช่างเทคนิคให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐาน รองรับความต้องการบุคลากรในตลาดแรงงานยุคดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว”

หลักสูตรการติดตั้งและซ่อมบำรุงจอแสดงผลเพื่อประชาสัมพันธ์เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับทักษะของแรงงานไทย โดยเน้นการพัฒนาทักษะรอบด้าน ตั้งแต่เทคโนโลยีจอภาพชนิดต่างๆ เช่น Standalone, Indoor, Outdoor, Interactive และ Video wall ไปจนถึงการติดตั้ง การซ่อมบำรุง และการแก้ไขปัญหาทางเทคนิค

โดยผู้เข้าร่วมโครงการนี้ จะได้สัมผัสการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ฝึกฝนกับอุปกรณ์จริง พร้อมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของซัมซุง

นอกจากการพัฒนาทักษะให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลแล้ว โครงการนี้ยังมอบใบรับรองจากภาครัฐ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ตอบสนองความต้องการของตลาดที่ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทาง

หลักสูตรนี้จัดขึ้นสำหรับบุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานฯ และช่างจากศูนย์บริการซัมซุง รวม 30 คน ซึ่งจะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดต่อให้กับแรงงานในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ

นางสาวอภิรดา พัวพรพงษ์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์จอภาพ ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ กล่าวว่า “การลงทุนที่สำคัญที่สุด คือ การลงทุนในการให้การศึกษาพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศชาติ ดังนั้นโครงการนี้จะไม่หยุดเพียงเท่านี้แน่นอน เราจะร่วมมือกับทางภาครัฐเพื่อสร้างโครงการดีๆ ต่อไปในระยะยาว”

นายจอง ซุง ปาร์ค ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้า ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ กล่าวว่า “เราต้องเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญในการให้บริการลูกค้าเพื่อให้ได้มาตรฐาน ถึงจะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือของแบรนด์ Samsung ได้”

นอกจากนี้ ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ได้มอบอุปกรณ์ช่างเครื่องปรับอากาศจำนวน 6 ชุด (รวม 23 รายการต่อชุด) มูลค่ารวม 148,558 บาท ให้แก่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานฯ เพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะช่างเครื่องปรับอากาศ เพื่อเสริมสร้างความสามารถของช่างให้ทันสมัยและปลอดภัยในการทำงาน พร้อมรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

โดยความร่วมมือนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาแรงงานและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพ ตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนของซัมซุง ภายใต้แนวคิด ’Everyday Sustainability’

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อเร็วๆ นี้ นายเซยุน คิม ประธานไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ และ นายจอง ซุง ปาร์ค ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้า ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ร่วมกับ นายสมบัติ โพธิวัฒน์ ผู้ตรวจการราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดพิธีปิดการฝึกอบรมและมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการอบรมหลักสูตรการติดตั้งและซ่อมบำรุงจอแสดงผลเพื่อประชาสัมพันธ์ด้วย

ที่มา: Amarin TV, 23/8/2567

รมว.แรงงาน แจง 3 มาตรการอุ้มนายจ้างรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ในการหารือกับ JETRO

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และประธานหอการค้าญี่ปุ่น–กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok (JCC) และคณะในโอกาสเข้าพบเพื่อนำเสนอข้อมูลรายงานการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า JETRO Bangkok และ JCC Bangkok ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงแรงงาน หน่วยงานราชการ และองค์กรทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน และช่วยเหลือบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งในข้อกังวลของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย เกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้าง 400 บาท นั้น ทางกระทรวงแรงงานได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยเบื้องต้นดังนี้

1. ลดเงินสมทบประกันสังคมฝ่ายนายจ้างร้อยละ 1 ระยะเวลา 12 เดือน   

2. ลดภาษีค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการร้อยละ 1.5 โดยทางกระทรวงแรงงานจะหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป

3. สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป ขึ้นค่าแรงตามวันทำงานจริง และบริษัทขนาดเล็กไม่ถึง 200 คน ยังคงมาตรการค่าจ้างของสถานประกอบการเดิมระยะเวลา 12 เดือน

ซึ่งจากข้อมูลผลสำรวจที่รายงานมา กระทรวงแรงงานพร้อมนำไปเป็นแนวทางในการสร้างนโยบายด้านแรงงานเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยต่อไป

ด้าน ประธาน JETRO Bangkok กล่าวว่า ขอขอบคุณ รมว.แรงงาน ที่ให้โอกาสเข้าพบในวันนี้ และขอบคุณที่กระทรวงแรงงานมีมาตรการรองรับให้กับผู้ประกอบการหลังจากปรับขึ้นค่าจ้าง และมาตรการการขออนุญาตทำงานระยะสั้นในประเทศไทย

ที่มา: TNN, 23/8/2567

РСВТА จัดสัมมนาแรงงานต่างด้าว"เปลี่ยน "เถื่อน" ให้เป็น "ถูก" เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีมุมมองใหม่

ที่ โรงแรมชัมบาลา พัทยา สมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยาชลบุรี นำโดย นายบุญอนันต์ พัฒนาสิน นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยาชลบุรี พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมฯ จัดงานสัมมนาหัวข้อแรงงานต่างด้าวกับความท้าทายของผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน "เปลี่ยน "เถื่อน" ให้เป็น "ถูก" เพื่อความยั่งยืน" โดยได้รับเกียรติจาก นายวิบูลย์ ชึม ผู้ช่วยทูตฝ่ายแรงงาน สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำประเทศไทย พร้อมด้วย ร.ต.อ.หญิง ทิพย์มณี ทองเกิด รองสารวัตรตรวจคนเข้าเมือง จ.ชลบุรี นายภูวกร โตสิงห์ขร จัดหางานจังหวัดชลบุรี และน.ส.สุวิมล ตวงวุฒิกุล รองปรานหอการค้า จ.ชลบุรี มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ ผู้ประกอบการในพื้นที่เมืองพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียง ที่ เข้าร่วมสัมมนา

ด้วยปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว สมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยาชลบุรี ร่วมกับหอการค้าจังหวัดชลบุรี และ สถานทูตกัมพูชา จึงกำหนดจัดงานสัมมนาขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการและนักบริหารได้รับความรู้และมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานต่าง ด้าวอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านกฎหมาย กระบวนการจ้างงาน และการจ้างแรงงานที่ถูกกฎหมายและมีประสิทธิภาพต่องานของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว

โดยในการสัมมนานายภูวกร โตสิงห์ขร จัดหางานจังหวัดชลบุรี ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวปัจจัยการย้ายฐานของแรงงานต่างด้าวเข้ามาในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ว่า เนื่องจากจังหวัดชลบุรีเป็นเมืองที่มีการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งชลบุรีมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่มีสถานประกอบทั้งร้านอาหาร โรงแรม และอื่น ๆ จึงทำให้เป็นที่หมายปองของแรงงานต่างด้าวที่มีความต้องการเคลื่อนย้ายมาทำงานในพื้นที่จังหวัดชลบุรีเป็นอันดับต้น ๆของประเทศ และยังเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดค่าจ้างสำหรับแรงงานต่างด้าว ซึ่งสภาพปัญหามีแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายลักลอบเข้ามา ผ่านนายหน้ามีนายหน้าเปิดธุรกิจในการจัดหาแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ส่งผลทำให้ระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายพัง และก็พบว่ายังมีสถานประกอบการบ้างรายนิยมใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายอีกด้วย

ทั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดชลบุรียังมีความต้องการแรงงานต่างด้าวในด้านงาน อุตสาหกรรม อสังหา และภาคท่องเที่ยว มากกว่า 100,000 ราย เพื่อมาทดแทนตลาดแรงงานไทยที่ยังขาดแคลนในขระนี้ นอกจากนี้ปัจจุบันสำนักจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้เป็นแพลตฟอร์มในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการอีกด้วย

ที่มา: สยามรัฐ, 22/8/2567

สมาคมนักข่าวฯ เข้าพบ รมว.แรงงาน “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” หารือแนวทางเพิ่มทักษะอาชีพสื่อมวลชนหลังธุรกิจสื่อได้รับผลกระทบด้านการจ้างงาน

22 ส.ค. 2567 นางสาว น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อแนะนำตัว และหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างสมาคมฯ กับกระทรวงแรงงาน ในเพิ่มทักษะอาชีพให้กับสื่อมวลชนหลังธุรกิจสื่อได้รับผลกระทบด้านการจ้างงาน

นางสาว น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในนามสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารจากทุกหน่วยงานที่ให้การต้อนรับและเปิดโอกาสให้เข้าพบเพื่อหารือความร่วมมือกันในวันนี้

ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกกว่า 1,000 คน ทั้งที่ปฏิบัติงานอยู่และเกษียณอายุไปแล้ว การได้มาหารือกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่สมาคมและกระทรวงแรงงานจะเกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิด อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายร่วมกันต่อไป

ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงานยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคณะมาเยี่ยมเยียนถึงกระทรวงแรงงาน ทราบดีว่าปัจจุบันธุรกิจสื่อต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับการสื่อสารในปัจจุบัน เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้มีการปรับการจ้างงานในสื่อบางประเภท

การหารือร่วมกันในวันนี้ ซึ่งกระทรวงแรงงานเยินดีและทุกหน่วยงานก็มีความพร้อมที่จะดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่ทุกท่านในวงการสื่อสารมวลชนหากต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด

“กระทรวงแรงงานขอบคุณที่ได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกท่านมาโดยตลอดและมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี โดยสื่อมวลชนช่วยนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งนโยบายจากกระทรวงและข้อเรียกร้องจากพี่น้องแรงงานและประชาชน ซึ่งหากมีเรื่องอะไรเรายินดีที่จะช่วยประสานงานให้ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 มาได้ตลอด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/8/2567

'หัวเว่ย' ทุ่มทุนพัฒนาเทคโนฯ-แรงงาน พร้อมหนุนไทยเป็น ‘ฮับดิจิทัล’

เดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหารบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) เผยว่า ไทยเป็นหนึ่งในตลาดยุทธศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดของหัวเว่ย และเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยโอกาส ขณะที่เศรษฐกิจและสังคมของอาเซียนก็เติบโตอย่างรวดเร็ว

เมื่อประเทศเข้าสู่ยุค 5G ไทยจึงกลายเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมของโลก ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยมีส่วนช่วยขับเคลื่อนภาคโทรคมนาคมของไทยอย่างแข็งขัน และบริษัทยังเป็นพันธมิตรกับธุรกิจไทยหลายรายในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G  เช่น โรงพยาบาล 5G, เหมือง 5G และโรงงาน 5G เป็นต้น เพื่อหนุนประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัยของธุรกิจ

ซีอีโอหลี่เผยด้วยว่า หัวเว่ยเป็นธุรกิจเทคโนฯ แห่งแรกที่เข้ามาตั้งดาต้าเซนเซอร์ในไทย และลงทุนอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2561 รวมลงทุนด้านนี้แล้วมากกว่า 5.5 พันล้านบาท ปัจจุบันหัวเว่ยมีดาต้าเซนเตอร์ในไทยแล้ว 3 แห่ง

บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านอาร์แอนด์ดี ได้ลงทุนสร้าง “OpenLab” หรือศูนย์วิจัยในไทย มูลค่าราว 520 ล้านบาท และเปิดศูนย์ “Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC)” มูลค่าราว 475 ล้านบาท ซึ่งเป็นศูนย์ที่นำเทคโนโลยี 5G หรือคลาวด์ มาผสมผสานกับโซลูชันต่าง ๆ ของไทย เพื่อพัฒนาและช่วยยกระดับเทคโนโลยี 5G ในไทย โดยรวมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า (depa)

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิด “หัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี่” โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญชาวจีนเข้ามาอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีให้กับแรงงานไทย เช่น คลาวด์และเอไอ และร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในไทยกว่า 40 แห่ง เพื่อผสมผสานเทคโนโลยีหัวเว่ยเข้ากับเนื้อหาในบทเรียน ให้นักเรียน/นักศึกษามีความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเท่าทันโลก

อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยยังไม่มีโรงงานผลิตสินค้าในไทย บริษัทยังคงผลิตในจีนเป็นหลัก

ซีอีโอหัวเว่ย เสริมว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ช่วยฝึกอบรมแรงงานไปแล้วราว 96,200 คน อบรมผู้พัฒนาเอไอคลาวด์ราว 8,000 คน และช่วยอบรมวิศวกรโทรคมนาคมในไทยแล้วประมาณ 20,000 คน

"บริษัทไม่ได้โฟกัสแค่เม็ดเงินลงทุน แต่โฟกัสที่การสนับสนุนแรงงานให้มีความสามารถ ไม่ใช่แค่พัฒนาทักษะ แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการหางานของแรงงานไทย" หลี่ กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 22/8/2567

รมว.แรงงาน หารือทูตสิงคโปร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2 ประเทศ เล็งเปิดตลาดแรงงานรุ่นใหม่

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ น.ส.หว่อง เสี่ยว ผิง แคเทอริน (Ms.Wong Siow Ping Catherine) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ ประจำประเทศไทย และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อเยี่ยมคารวะและหารือแนวทางการออกวีซ่าให้ผู้ฝึกงานเทคนิคของสิงคโปร์เข้ามาฝึกงานในประเทศไทย และการพัฒนาทักษะเพื่อรองรับตลาดแรงงานในอนาคต โดยมี นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมที่กระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ขอขอบคุณเอกอัครราชทูตฯ สิงคโปร์ประจำประเทศไทย และคณะ ที่มาเยี่ยมเยียนกระทรวงแรงงาน และหารือร่วมกันในวันนี้ ในประเด็นที่ต้องการให้กระทรวงแรงงานช่วยประสานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อออกวีซ่าให้ผู้ฝึกงานระดับเทคนิคของสิงคโปร์เข้ามาฝึกงานในประเทศไทยจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน โดยไม่ต้องกลับประเทศต้นทาง

“ในเรื่องนี้ผมได้ให้ กกจ.ไปหารือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) หากเป็นไปได้ก็จะเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคส่วนต่างๆ ให้กับบริษัทในประเทศไทยได้ ที่สำคัญเราจะได้แรงงานรุ่นใหม่ๆ ที่มีคุณภาพและพร้อมทำงานได้ทันที ขณะเดียวกัน ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมทั้งสองประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงาน ที่มีศูนย์พัฒนาทักษะแรงงานอยู่ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมกำลังแรงงานโดยเฉพาะสาขานวดแผนไทย และเตรียมความพร้อมขยายตลาดแรงงานไปยังต่างประเทศ รวมถึงสิงคโปร์ก็เป็นประเทศเป้าหมายหนึ่งที่จะเพิ่มโควต้าการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมภาคท่องเที่ยวและบริการให้กับแรงงานไทยรุ่นใหม่ เพื่อรองรับตลาดแรงงานในอนาคตด้วย” นายพิพัฒน์กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลสิงคโปร์ที่ให้แรงงานไทยได้เข้าไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 4,000 คน และคาดว่าจะสูงขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีแรงงานชาวสิงคโปร์เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนกว่า 1,700 คน และขอบคุณรัฐบาลสิงคโปร์ที่ให้นักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทย และส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งการหารือร่วมกันนี้ หวังว่าจะเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายในการเพิ่มโควต้าจ้างงาน พัฒนาทักษะฝีมือเพื่อรองรับงานในอนาคตต่อไป

ด้าน น.ส.หว่อง เสี่ยว ผิง แคเทอริน กล่าวว่า สิงคโปร์และประเทศไทย มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน จะเห็นได้ว่า นักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด นิยมท่องเที่ยวในประเทศไทย และขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ช่วยประสาน ตม.เพื่อออกวีซ่าให้ผู้ฝึกงานของสิงคโปร์ได้เข้ามาฝึกงานในประเทศไทยจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน โดยไม่ต้องกลับประเทศ และว่า ทางการสิงคโปร์ยินดีต้อนรับทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และหวังว่าจะได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน หรือ ALMM ครั้งที่ 28 ที่สิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวในเดือนตุลาคมนี้ด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 21/8/2567

ปลัดแรงงาน-ฝ่ายนายจ้าง ขอฟังท่าทีนโยบาย “ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท” จากรัฐบาลก่อน

20 ส.ค. 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทภายในปี 2567 ซึ่งเป็นนโยบายเดิมสมัยที่ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้ ขอให้รอดูการประกาศนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันก่อน ตนยังตอบอะไรไม่ได้

เมื่อถามว่าหากจะต้องเดินหน้านโยบายเดิม จะสามารถทำให้ทันตามกำหนดที่วางไว้ว่าช่วงเดือนกันยายน จะมีตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่ชัดเจนหรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า ทัน เพราะตอนนี้อนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ได้ทยอยส่งตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดมาแล้ว ส่วนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ชุดที่ 22 ในเดือนสิงหาคมนี้ จะเลื่อนไปประชุมเดือนกันยายนแทน

ขณะที่ นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างฯ ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทนั้น ตนขอดูท่าทีจากฝ่ายรัฐบาลก่อน เพื่อให้ทราบชัดๆ ว่าจะมีแนวทางอย่างไร แต่ถ้าประกาศว่าต้องขึ้น 400 บาทในปีนี้ ฝ่ายนายจ้างก็ไม่เห็นด้วย แต่ตอนนี้ขอฟังนโยบายรัฐบาลก่อน

ที่มา: ข่าวสด, 20/8/2567

สวีเดน-ฟินแลนด์ เปิดรับแรงงานไทย เก็บผลไม้ป่า 2024 กรมการจัดหางาน อนุญาต แล้ว 1,129 คน ส่วนฟินแลนด์ ใช้วีซ่า Residence Permit ต้องมีนายจ้างอยู่ต่างประเทศ

19 ส.ค. 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน (กกจ.) จะเริ่มทยอยจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน ฤดูกาล 2024 แล้ว ล็อตแรกกว่า 1 พันคน จากที่หารือผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2567 กับ นายอาร์โต ซาโตเน็น (H.E.Arto Satonen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างแรงงานฟินแลนด์ ชี้แจงว่าด้านฟินแลนด์อนุมัติวีซ่า Residence Permit และแจ้งการเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า การอนุญาตให้แรงงานไทยสามารถเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนและฟินแลนด์ ฤดูกาล 2024 โดยมีเงื่อนไขว่า ‘สำหรับสวีเดน’ นายจ้างจะต้องยอมรับเงื่อนไขและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของลูกจ้างทั้งหมด โดยลูกจ้างจะจ่ายเพียงค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่จำเป็น ได้แก่ ค่าหนังสือเดินทาง ค่าตรวจลงตรา ค่าใบอนุญาตทำงาน ค่าอาหารวันละ 3 มื้อ และค่าที่พัก

โดยมีนายจ้างเป็นผู้จัดหา และสัญญาจ้างแรงงานต้องลงนามระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ลูกจ้างจะต้องได้รับการตรวจลงตราวีซ่าจากกรมตรวจคนเข้าเมืองสวีเดน เพื่อประกอบการพิจารณายื่นคำขออนุญาตพาลูกจ้างไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน

ล่าสุดกรมการจัดหางาน อนุญาตให้แรงงานไทยเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนตามฤดูกาล แล้ว 1,129 คน แบ่งเป็น ตำแหน่งแรงงานเก็บผลไม้ป่า 1,081 คน และตำแหน่งพนักงานสนับสนุน 48 คน

ส่วนของ ‘ฟินแลนด์’ นั้น ทางการฟินแลนด์ อนุมัติวีซ่าให้แรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในฤดูกาล 2024 เปลี่ยนจากวีซ่าท่องเที่ยวเป็นวีซ่า Residence Permit และเห็นชอบให้จัดส่งในรูปแบบแจ้งการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศด้วยตนเอง โดยแรงงานต้องมีนายจ้างอยู่ต่างประเทศ และสัญญาจ้างแรงงานต้องผ่านการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดี กกจ.กล่าวว่า กกจ. โดยตนจัดประชุมหารือประเด็นแรงงานไปเก็บผลไม้ป่าฯ ฤดูกาล 2024 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ร่วมกับผู้แทนกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงานผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องมติที่ประชุมเห็นชอบให้ ยกเลิกชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในสาธารณรัฐฟินแลนด์ ฤดูกาล 2024

โดยวิธีการจัดส่งเป็นรูปแบบแจ้งการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศด้วยตนเอง ตามมาตรา 48 ฯ โดยแรงงานมีนายจ้างอยู่ต่างประเทศ และสัญญาจ้างแรงงาน ต้องผ่านการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ

สำหรับผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านระบบ e – Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทย ไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: ข่าวสด, 19/8/2567

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net