Skip to main content
sharethis

7 ม.ค. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่าข้อเข่าเสื่อมเป็นหนึ่งในโรคที่คนไทยต้องประสบจำนวนมาก โดยข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าในปี 2561 มีคนไทยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมสูงกว่า 6 ล้านคน และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะทุพพลภาพ 

ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากเกิดความเสื่อมของร่างกาย เช่น กระดูกอ่อน น้ำไขข้อ ฯลฯ และจะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นไปอีกในกรณีผู้ที่เป็นเกษตรกร หรือผู้ใช้แรงงานที่ต้องยกของหนัก 

นอกจากนี้ การผ่าตัดรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมก็มีราคาที่ค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ 5-7 หมื่นบาทต่อหนึ่งข้อ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความกังวลที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไม่รับการรักษา


เกษม กันทะเนตร

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อ เกษม กันทะเนตร ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม วัย 59 ปี จาก อ.เชียงคำ จ.พะเยา เท่าไหร่นัก เนื่องจากได้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมผ่านสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่โรงพยาบาลเชียงคำ ซึ่งทำให้เขาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลยในการเข้ารับการรักษา

เกษม เป็นชายวัยใกล้เกษียณที่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร และทำนาตามฤดูกาล ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต้องประสบกับอาการปวดข้อเข่าทั้งสองข้างที่เป็นๆ หายๆ จากการเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และเมื่อปลายปี 2564 ความเจ็บปวดคุกคามอย่างหนักไปในทุกการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะนั่ง ลุก ยืน หรือเดิน ตลอดจนเข่ามีลักษณะโก่งผิดปกติ 

กระทั่ง เดือน เม.ย. 2565 ที่อาการปวดรุนแรงจนเขาไม่สามารถออกไปทำงานเต็มเวลาได้ดังเดิม จากที่เคยทำ 7 วัน ก็ลดลงเหลือเพียง 3-4 วัน ซึ่งภายหลังไปรับการตรวจแพทย์ได้วินิจฉัยว่าสาเหตุที่ทำให้เขาปวดมากขึ้น มาจากการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมร่วมด้วย จึงต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป โดยต้องผ่านทั้งหมด 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1. เข้ารับการตรวจ ประเมินโรค 2. การเอกซเรย์จุดที่ปวด 3. ซักประวัติและโรคประจำตัว 4. ประเมินการรักษา หากรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การทานยา กายภาพบำบัด แต่อาการยังไม่ดีขึ้น จะได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่กระบวนการผ่าตัด

“คุณลุงได้รับการประเมินให้เข้ารับการผ่าตัด ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนั้น เพราะว่าได้ใช้วิธีการรักษาด้วยการกินยา และการกายภาพแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น รวมถึงผลเอกซเรย์ก็ชี้ชัดว่าข้อเข่าสึกค่อนข้างมาก” นพ.ชวพล ชัยเมือง นายแพทย์ชำนาญการ และหัวหน้าหน่วยศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาลเชียงคำ ผู้ทำการผ่าตัดให้กับ เกษม

ในส่วนระยะเวลาในการผ่าตัดรักษา รวมกระบวนการพักรักษาในโรงพยาบาลจะราวๆ 1 สัปดาห์ เพราะหลังการผ่าตัดจำเป็นต้องติดตาม และประเมินอาการอย่างใกล้ชิด เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ กายภาพบำบัด ฯลฯ จากนั้นหลังจากผู้ป่วยสามารถกลับบ้านจะเป็นการติดตามอาการเป็นระยะตั้งแต่ 1-2 เดือน และ 3-6 เดือน

นพ.ชวพล อธิบายว่า ความซับซ้อนในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าจะขึ้นอยู่พยาธิสภาพของข้อกระดูกว่ามีความตีบ และส่วนที่เป็นกระดูกเหลือมากน้อยขนาดไหน โดยสังเกตได้จากภายนอกหากผู้ป่วยรายใดเข่าโก่งจนไม่สามารถเหยียดเข่าได้สุดนั่นหมายความว่ารอยต่อของข้อเข่ามีความแคบมาก ซึ่งจะทำให้การผ่าตัดความยากมากขึ้น

“ในช่วง 1 ปีจะมีผู้ป่วยเข้ามารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าค่อนข้างเยอะ ซึ่งที่โรงพยาบาลเชียงคำเองด้วยศักยภาพแพทย์ที่สามารถผ่าตัดได้ทั้งหมด 3 คน ได้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าไปกว่า 100 ข้อ จากจำนวนนี้กว่า 2 ใน 3 เป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง” นพ.ชวพล กล่าว

หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเพียง 2 เดือนทำให้ เกษม สามารถกลับไปทำงานได้สะดวกดังเดิม คุณภาพชีวิตดีขึ้น “ตอนนี้เข่าข้างที่ผ่าตัดมาเวลาเดิน เวลาลุก เวลานั่งไม่รู้สึกปวดเลย” เขาเผย รวมถึงได้วางแผนการผ่าตัดข้อเข่าอีกข้างร่วมกับ นพ.ชวพล ในต้นปี 2566 เพื่อให้เขาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุดทั้งภายใน และภายนอก

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคข้อนับเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพ โดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อมที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม” เป็นสิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเข้าถึงการรักษา และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจากที่ผู้ป่วยและแพทย์ที่ทำการรักษา ได้ยืนยันว่าอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมที่ สปสช.จัดหานั้นมีคุณภาพที่ดี เมื่อผ่าตัดแล้วสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าส่วนต่างหรือต้องจ่ายเงินเพิ่มแต่อย่างใด ทุกอย่างอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์

นอกจากการสนับสนุนในส่วนค่าบริการผ่าตัดแล้ว สปสช.ได้มีการบริหารจัดการในรูปแบบการเบิกจ่ายอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ามาอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 -2564 มีผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมทั้งกรณีผ่าตัด 1 ข้าง และ 2 ข้างรวมจำนวน 9,559 ครั้ง 10,434 ครั้ง 10,864 ครั้ง 10,052 ครั้ง และ 8,090 ครั้ง ล่าสุดปี 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้วจำนวน 9,408 ครั้ง ภาพรวมเฉลี่ยผู้ป่วยรับบริการ 9,735 ครั้งต่อปี โดยมีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และสังกัดหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศร่วมให้บริการ 232 แห่ง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand

หมายเหตุ: คุณเกษม กันทะเนตร ยินยอมให้เผยแพร่ข้อมูลและภาพถ่ายได้ตามกฎหมาย PDPA 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net