สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 29 ม.ค.-4 ก.พ. 2566

‘ก.แรงงาน’ เปิดรับฟังความเห็น ‘ร่างกฎทรวงฯ’ เพิ่มเพดานค่าจ้าง ‘ประกันสังคม’ เผย ม.ค.2567 ปรับ 'ค่าจ้างขั้นสูง' เป็น 17,500 บาท ก่อนเพิ่มเป็น 23,000 บาท ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ... ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย law.go.th ทั้งนี้ หลังจากปิดการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 28 ก.พ.2566 แล้ว กระทรวงฯจะนำความเห็นต่างๆไปพิจารณาปรับปรุงร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

สำหรับร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยจะมีการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้

(1) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท

(2) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2570 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท

(3) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท

รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า ที่ผ่านมา กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ที่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.2538 จนถึงปัจจุบัน แต่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

จึงเห็นสมควรให้ปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ และเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น รวมทั้งเพื่อการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อยภายในระบบประกันสังคม เป็นต้น

ทั้งนี้ การปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงดังกล่าว จะทำให้ทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนี้

(1) เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

(2) เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 70% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

(3) เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

(4) เงินสงเคราะห์กรณีตาย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

(5) เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

(6) เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน

สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ

รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า การปรับค่าจ้างขั้นสูงภายใต้ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จะทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567-31 ธ.ค.2569 ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนมากกว่า 17,500 บาท จะส่งเงินสมทบเพิ่มเป็นเดือนละ 875 บาท จากเดิม 750 บาท (ฐานค่าจ้าง 15,000 บาท) แต่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น เงินทดแทนขาดรายได้กรณีว่างงานจะเพิ่มเป็นเดือนละ 8,750 บาท จากเดิม 7,500 บาท เป็นต้น

นอกจากนี้ การปรับค่าจ้างขั้นสูงดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นด้วย เช่น กรณีปรับฐานค่าจ้างเป็น 17,500 บาท และส่งเงินเข้ากองทุนฯ 15 ปี ผู้ประกันตนจะได้เงินบำนาญชราภาพ 20% ของค่าจ้าง หรือ 3,500 บาท/เดือน แต่หากส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกๆ 1 ปี เช่น หากส่งเงินสมทบเป็นเวลา 30 ปี จะได้เงินบำนาญชราภาพ คิดเป็น 42.5% ของค่าจ้าง หรือ 7,437.5 บาท/เดือน

หรือกรณีการปรับฐานค่าจ้างเป็น 23,000 บาท ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบเพิ่มเป็นเดือน 1,150 บาท นั้น ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ 15 ปี จะได้เงินบำนาญชราภาพ 20% ของค่าจ้าง หรือ 4,600 บาท/เดือน แต่หากส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกๆ 1 ปี เช่น หากส่งเงินสมทบเป็นเวลา 30 ปี จะได้เงินบำนาญชราภาพ คิดเป็น 42.5% ของค่าจ้าง หรือ 9,775 บาท/เดือน เป็นต้น

ทั้งนี้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคมในช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา จากนั้นกระทรวงแรงงานได้ยกร่างกฎกระทรวงฯ และนำร่างกฎกระทรวงฯไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกันตน พบว่าผู้ประกันไม่น้อยกว่า 70% เห็นด้วยกับการปรับฐานค่าจ้างดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการประกันสังคมยอมรับว่า การปรับฐานค่าจ้างครั้งนี้ จะทำให้นายจ้างได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้องส่งเงินสมทบในส่วนนายจ้างเพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงทยอยปรับฐานค่าจ้างแบบขั้นบันได เพื่อให้นายจ้างได้มีเวลาปรับตัว

ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุว่า ณ เดือน พ.ค.2565 มีผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 หรือ ลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีนายจ้างฯในระบบทั้งหมด 11,250,428 ราย โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี ได้แก่ ประสบอันตราย หรือ เจ็บป่วย ,คลอดบุตร ,ทุพพลภาพ ,ตาย ,สงเคราะห์บุตร ,ชราภาพ และว่างงาน

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 4/2/2566

เตือนแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ให้รีบกลับไทยถึง 28 ก.พ.นี้ หากไม่ไปรายงานตัว เจอค่าปรับ 30 ล้านวอน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้ พบว่า ปัจจุบันแรงงานไทยที่ลักลอบทำงานในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย มีจำนวนกว่าแสนคน

กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จึงแจ้งเตือนคนไทยในเกาหลีใต้ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ให้ไปรายงานตัวกลับไทยโดยสมัครใจถึง 28 ก.พ.2566 นี้ หลังทางการเกาหลีใต้เปิดให้รายงานตัวมาตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.2565 เป็นต้นมา โดยสามารถรายงานตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือผ่านออนไลน์ที่ www.hikorea.go.kr พร้อมกับเอกสารประกอบ คือ พาสปอร์ต ใบแจ้งการเดินทาง และบัตรโดยสารเครื่องบิน

สำหรับผู้ที่ไปรายงานตัวภายในระยะเวลาที่กำหนด จะได้รับการยกเว้นค่าปรับ 30 ล้านวอน หรือประมาณ 800,000 บาท และอาจเดินทางกลับเข้าเกาหลีใต้ได้อีก หากไม่ไปรายงานตัวภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องชำระค่าปรับ และจะถูกเพิ่มความเข้มงวด ในการเดินทางกลับเข้าเกาหลีใต้

สอบถามข้อมูลได้ที่ Immigration Contact Center โทร.1345 หรือติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล โทร. +82 10 6747 0095/ +82 10 3099 2955 หรือ Facebook: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล/ Royal Thai Embassy, Seoul หรือ E-mail : kumkrong.sel@mfa.go.th

น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า สำหรับคนไทยที่ต้องการไปทำงานในเกาหลีใต้ ขอให้เดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านกรมการจัดหางาน อย่าหลงเชื่อคำชักชวนเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย เพราะจะทำให้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการทำได้ยาก ไม่มีประกันสุขภาพ ถูกเอาเปรียบในเรื่องของค่าจ้างและต้องอยู่อย่างหลบซ่อน

ที่มา: Thai PBS, 3/2/2566

เผยสถิติคนต่างชาติทำผิดกฎหมาย ทำอาชีพสงวนไว้สำหรับคนไทย ปีงบฯ 66 ตรวจสอบกว่า 156,000 คน ดำเนินคดี 922 คน

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงกรณีต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย

ซึ่ง กรมการจัดหางาน ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการปกครอง ลงพื้นที่ตรวจสอบทั่วประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย และพัทยา

ล่าสุดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตรวจสอบคนต่างชาติไปแล้วกว่า 156,000 คน ดำเนินคดีคนต่างชาติทำผิดกฎหมาย 922 คน ในจำนวนนี้เป็นคนต่างชาติที่แย่งอาชีพคนไทยเกือบ 500 คน ซึ่งอาชีพห้ามที่พบแรงงานต่างด้าวทำงานมากที่สุด ได้แก่ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานนวดไทย และงานขับขี่ยานพาหนะ ส่วนการตรวจสอบคนต่างชาติไม่ได้เน้นตรวจเฉพาะแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา กัมพูชา ลาว) แต่ยังตรวจสอบทุกสัญชาติ เช่น เวียดนาม จีน และจากยุโรปด้วย

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่ามีกลุ่มคนต่างชาติใช้นอมินีคนไทยเป็นเจ้าของกิจการ แต่การประกอบธุรกิจเป็นคนต่างชาติลงทุน ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดตรวจสอบเข้มข้นทุกรายก่อนออกใบอนุญาตทำงานให้กับคนต่างชาติ โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบในสถานประกอบการต้องชัดเจนว่ามีการจ้างคนต่างด้าวทำงานจริงในตำแหน่งงานและอาชีพที่ไม่เป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำ

กฎหมายกำหนดงานห้ามคนต่างด้าวทำงาน 40 งาน ซึ่ง 27 งานเป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด เช่น ช่างตัดผม , ช่างทำเครื่องเงิน , งานเร่ขายสินค้า , งานมัคคุเทศก์ , ขายอาหาร และนวดแผนไทย

ส่วนงานที่มีเงื่อนไขตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานได้แต่ต้องขออนุญาต จำนวน 3 งาน ได้แก่ วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม และวิชาชาชีพสถาปัตยกรรม

และงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือที่คนต่างด้าวทำได้ แต่ต้องมีนายจ้างเป็นคนไทย มีจำนวน 8 งาน อาทิ งานกสิกรรม , งานทำที่นอน , งานทำรองเท้า , งานปั้นดินเผา ส่วนงานที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานได้เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานตาม MOU จำนวน 2 งาน ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการจ้างคนต่างชาติทำงานโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ได้ที่เบอร์โทร 02 354 1729 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 หรือโทร 1694

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 1/2/2566

ครม.เห็นชอบค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ 3 ระดับ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี   เห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 3 สาขาอาชีพ รวม 17 สาขา ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง  สำหรับ กลุ่มสาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรม   ประกอบด้วย 1.สาขาช่างระบบส่งถ่ายกำลัง ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ระดับ 1) 495 บาทต่อวัน  2.สาขาช่างระบบปั๊มและวาล์ว 515 บาทต่อวัน 3.สาขาช่างประกอบโครงสร้างเหล็ก 500 บาทต่อวัน4.สาขาช่างปรับ 500 บาทต่อวัน 5.สาขาผู้ควบคุมระบบงานเชื่อมมิก – แม็ก ด้วยหุ่นยนต์ 520 บาทต่อวัน และ6.สาขาช่างเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม  (ระดับ 1) 545 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 635 บาทต่อวัน (ระดับ 3) 715 บาทต่อวัน

กลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล  ประกอบด้วย 1.สาขาช่างซ่อมรถแทรกเตอร์การเกษตร  ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ(ระดับ 1) 465 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 535 บาทต่อวัน (ระดับ 3) 620 บาทต่อวัน 2.สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตักหน้าขุดหลัง 585 บาทต่อวัน 3.สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถขุด 570 บาทต่อวัน 4.สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถลากจูง 555 บาทต่อวัน (โดยปรับขึ้นจากเดิม 550 บาทต่อวัน) และ 5.สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตัก 520 บาทต่อวัน

กลุ่มสาขาอาชีพภาคบริการ  ประกอบด้วย 1.สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (โภชนบำบัด) ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ระดับ 1) 500 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 600 บาทต่อวัน 2.สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมไทยสัปปายะ (วารีบำบัด) (ระดับ 1) 500 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 600 บาทต่อวัน 3.สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (สุคนธบำบัด) (ระดับ 1) 500 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 600 บาทต่อวัน 4.สาขาพนักงานผสมเครื่องดื่ม  (ระดับ 1) 475 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 525 บาทต่อวัน (ระดับ 3) 600 บาทต่อวัน 5.สาขาการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย 530 บาทต่อวัน และ 6.สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ (ระดับ 1) 520 บาทต่อวัน (ระดับ 2) 600 บาทต่อวัน

 โดยค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ  มีผลใช้บังคับ 90 วันหลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อมีผลใช้บังคับแล้ว  นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ  ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 31/1/2566

ข้าราชการ-ลูกจ้างที่เกษียณ 1 ต.ค. 66 ยื่นขอรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองผ่านออนไลน์ได้ล่วงหน้า 8 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ.นี้ เป็นต้นไป

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวติของประชาชน โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงการบริการภาครัฐมากยิ่งขึ้นผ่านระบบรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับริบทและก้าวทันเทคโนโลยีในปัจจุบัน ได้มีการยกระดับปรับเปลี่ยนการให้บริการผ่านระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้นตามลำดับ

นางสาวรัชดา กล่าวว่า รัฐบาลโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้อำนวยความสะดวกให้กับข้าราชการและลูกจ้างประจำที่พ้นจากราชการเพราะเกษียณอายุในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 สามารถยื่นคำขอรับบำเหน็จบำนาญล่วงหน้าผ่านออนไลน์ ก่อนวันครบเกษียณอายุได้ 8 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป โดยสามารถยื่นขอรับบำเหน็จบำนาญต่อส่วนราชการเจ้าสังกัดหรือยื่นขอรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Pensions’ Electronic Filing) หรือ ระบบ e-Filing ผ่านเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง หรือผ่านแอปพลิเคชั่น “Digital Pension” ได้ เพื่อให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุได้รับบำเหน็จบำนาญและสิทธิสวัสดิการอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับบำเหน็จบำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน สามารถขอรับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้แล้ววันนี้ ผ่าน 4 ช่องทาง คือ 

1. แอปพลิเคชั่น“Digital Pension” ทั้งระบบ iOS และ Andriod  

2. เว็บไซต์ https://dps.cgd.go.th/efiling-pension 

3. ส่วนราชการผู้เบิก โดยให้ติดต่อส่วนราชการผู้เบิกเพื่อขอให้ส่งหนังสือฯ ตามที่อยู่ปัจจุบัน หรือไปรับได้ที่ส่วนราชการผู้เบิก 

4. กรมบัญชีกลาง หรือสำนักงานคลังเขต/สำนักงานคลังจังหวัด ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมบัญชีกลาง โทร.02-270-6400 ในวัน เวลาราชการ

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 31/1/2566

สทท. ตั้งเป้าต่างชาติเที่ยวไทย 30 ล้าน ดัชนีเชื่อมั่น Q1 ฟื้น ขาดแรงงาน 5 แสนคน

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า โดย สทท.ตั้งเป้าหมายภาคท่องเที่ยวไทยปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาทะลุ 30 ล้านคน สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและต่างประเทศตลอดปีนี้สูงกว่า 3 ล้านล้านบาทที่เคยทำได้ในปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

แต่ความท้าทายคือการเร่ง “ฟื้นฟูซัพพลาย” สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการกลับมามีความสามารถในการต้อนรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังบอบช้ำ ขาดสภาพคล่อง ขาดความรู้ ขาดเทคนิคการตลาดสมัยใหม่ และขาดแคลนบุคลากร ทาง สทท.ได้เร่งประสานกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ สทท.ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคการท่องเที่ยวที่เน้นการเติมลูกค้า พัฒนาสินค้าให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว และยังมีหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ ที่มาช่วยเติมทุน เติมนวัตกรรม และแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เช่น “สํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” (สสว.) ที่ดูแลเรื่องธุรกิจเอสเอ็มอี ได้สนับสนุน เช่น โครงการ SME Restart เพื่อทรานส์ฟอร์มผู้ประกอบการให้มีความพร้อมต่อนวัตกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป เช่น เทรนด์ BCG เทรนด์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และเทรนด์ Metaverse Tourism

“ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” (ธ.ก.ส.) และ “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล”  (DEPA) ในปีนี้จะมีการสานต่อโครงการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชนและการประยุกต์ใช้นวัตกรรมดิจิทัลอีก 9 ภาคทั่วประเทศ ด้าน “ธนาคารออมสิน” ได้ปรับเกณฑ์การปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ภายใต้งบประมาณ 5,000 ล้านบาทสำหรับภาคการท่องเที่ยวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ขณะที่ “เครดิตบูโร” ได้มีการปลดล็อคสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้ผู้ที่มีประวัติการชำระดี ถึงสิ้นปี 2562 ให้ถือว่าอยู่ในสถานะที่สามารถขอสินเชื่อได้ นอกจากนี้ “สสว.” ได้อนุมัติงบประมาณสำหรับการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกันในวงเงินกู้ 3,500 ล้านบาท ผ่าน “บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม” (บสย.) เป็นต้น

“เรื่องการขาดแคลนแรงงาน สทท. ได้จับมือกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เร่งปั้นคนแบบระยะสั้น (Short Course) ใช้โรงแรมเป็นโรงเรียน เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเติมคนเข้าสู่ระบบได้ทันที”

ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวเสริมว่า สำหรับ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาส 4/2565” อยู่ที่ระดับ 72 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวดีขึ้นกว่าไตรมาส 3/2565 และมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยผู้ประกอบการคาดว่าในไตรมาส 1/2566 สถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้น ค่าดัชนีคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวอยู่ที่ระดับ 77

“สถานประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีแรงงานกลับมา 86% ของภาวะปกติ กล่าวคือจำนวนแรงงานขาดอยู่ประมาณ 14% ของภาวะปกติ หรือคิดเป็นจำนวนแรงงานอย่างน้อย 560,000 คน แต่จากการสำรวจพบว่ามีสถานประกอบการอย่างน้อย 13% เท่านั้นที่มีแผนการจ้างงานเพิ่มในไตรมาส 1/2566 หากคิดเป็นจำนวนแรงงานพบว่ามีอย่างน้อย 520,000 คน”

ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย มีแผนการจ้างงานเพิ่มมากที่สุด รองลงมาคือ สถานบันเทิง โดยพบว่าสถานประกอบการส่วนใหญ่มีวิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานบางตำแหน่ง ด้วยการเพิ่มชั่วโมงการทำงานกับพนักงาน และให้เงินเดือนเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็จ้างทำงานล่วงเวลา (OT) นอกจากนี้บางสถานประกอบการใช้วิธีจ้างฟรีแลนซ์หรือ “ดึงตัว” พนักงานมาจากที่อื่น โดยให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าหรือดึงดูดใจด้วยการให้สวัสดิการที่ดีกว่า

ทั้งนี้สถานประกอบการเกือบทุกประเภทมีแผนการ “ขึ้นราคาสินค้าและบริการ” ในไตรมาส 1/2566 โดยธุรกิจ “ร้านอาหาร” มีแผนการขึ้นราคาสินค้ามากที่สุด รองลงมาเป็น “ธุรกิจนำเที่ยว”

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) และกรรมการ สทท. กล่าวว่า ด้านภาพรวมตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคนตามที่ สทท.ตั้งเป้า ถือว่าเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ในส่วนของตลาดจีน ประเทศไทยนับเป็นจุดหมายอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวจีน สะท้อนได้จากที่ทางการจีนได้อนุญาตให้บริษัททัวร์สามารถดำเนินการมายังประเทศไทยได้เป็นกลุ่มแรก

"แต่จากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ยาวนาน ได้สร้างความบอบช้ำให้กับเศรษฐกิจจีนอย่างมาก การประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะต้องดูกันเป็นระยะทีละไตรมาส ขึ้นกับจำนวนเที่ยวบินที่กำลังทยอยเพิ่มขึ้นด้วย และคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้"

ศิษฎิวัชร กล่าวว่า จากกรณีข่าวดาราสาวชาวไต้หวันถูกรีดเงิน และกรณีนักท่องเที่ยวชาวจีนใช้บริการรถตำรวจนำขบวน ส่งผลกระทบต่อ “ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย” ในสายตาชาวโลก ตอนนี้อยากให้รัฐบาลโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข ให้เรื่องจบลงโดยเร็วที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าข่าวที่ออกมา เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี กระทบต่อความเชื่อมั่นและศักดิ์ศรีของคนไทย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศ

ทั้งนี้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาความแออัดหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวให้ผ่านด่านได้อย่างรวดเร็วขึ้น หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติสะท้อนปัญหามายังแอตต้าว่าใช้เวลานาน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 31/1/2566

ผู้ประกันตนขอสินเชื่อบ้านกว่า 6 หมื่นราย ล่าสุด ธอส. อนุมัติแล้ว 3.9 พันล้าน

30 ม.ค. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานตระหนักถึงภารกิจสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ ท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งผมพร้อมร่วมผลักดันให้บรรลุความสำเร็จทุกกลุ่มเป้าหมาย

โดยอีกหนึ่งโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ระหว่างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมมือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกันตน มาตรา 33 ซึ่งได้ดำเนินการเปิดให้ผู้ประกันตนขอรับรหัสเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด ทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ปิดรับจองคิวแล้ว มียอดผู้ประกันตนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 60,937 ราย โดยผู้ประกันตนที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 3,339 ราย คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,955 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 27 ม.ค. 66) ซึ่งขณะนี้ทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ดำเนินการทยอยอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกันตนที่ได้จองคิวที่เหลืออยู่ตามลำดับอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม พร้อมเดินหน้าให้การสนับสนุนโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน ภายใต้กรอบวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท อย่างเต็มที่

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า มีความเชื่อมั่นว่า “โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อผู้ประกันตน” จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งให้กับผู้ประกันตนที่ต้องการใช้สิทธิในการไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดจากสถาบันการเงินอื่น รวมถึงเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในบัญชีเงินกู้ที่กู้อยู่กับ ธอส. อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีที่ 1-5 เท่ากับ 1.99% ต่อปี วงเงินให้กู้สูงสุดตามจำนวนเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกันตน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในเรื่องของการมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้ผู้ใช้แรงงาน ได้อย่างยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 30/1/2566

สกสว.เปิดเวทีสะท้อนปัญหาอีอีซี จี้แก้ "ยากจน-แรงงานขาดทักษะ"

30 ม.ค.2566 ที่โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท จ.ฉะเชิงเทรา โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อคืนข้อมูลผลการศึกษาความต้องการระดับพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออก เพื่อนำเสนอข้อมูลความต้องการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระดับพื้นที่ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

นางชลนภา ชื่นชมรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์แผนและงบประมาณ สกสว. กล่าวถึงแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2567-2570 ที่มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ว่า จะเน้นการมีส่วนร่วมและสานพลังกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม พัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอนาคต และพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ซึ่ง สกสว.จะนำข้อมูลในพื้นที่มาออกแบบแผน ววน. ด้านต่าง ๆ ให้ตรงเป้าหมายความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ การศึกษาความต้องการในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออก 1 ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และกลุ่มภาคตะวันออก 2 ประกอบด้วย จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว

ผลการศึกษาจากโครงการปีที่ 1 พบว่าปัญหาสำคัญในภาคตะวันออก คือ ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ รวมถึงขาดทักษะแรงงานที่ตรงกับความต้องการ โดย จ.ระยอง มีอัตราการว่างงานค่อนข้างสูง แม้เศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกจะสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงถึงร้อยละ 21.14 ของรายได้ของประเทศ และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ เนื่องจากขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่รายได้ของเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารรายเล็กกลับลดลง ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีความผันผวนทั้งในประเทศและทั่วโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตผันแปรตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ภาคตะวันออกยังมีอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อไม่เรื้อรังสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดของคนไทย และยังมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตร้อยละ 26 ของทั้งประเทศในปี 2562

ขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมพบว่า ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำและคุณภาพน้ำไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังประสบภัยแล้ง อุทกภัย เนื่องจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงขยะทะเล กากของเสียอุตสาหกรรม และปัญหาป่าชายเลนที่กำลังสูญหายและถูกทำลายจากกิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก

ส่วนอัตราการเกิดวามรุนแรงในครอบครัว พบว่าอยู่ในระดับสูงกว่าใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งและความเครียดภายในครอบครัว สภาะทางการเงิน สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการก่ออาชญากรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การดื่มสุราและเสพสิ่งเสพติด การลอกเลียนแบบจากสื่อหรือเห็นตัวอย่างความรุนแรง สภาพจิตใจและร่างกายของคนนครอบครัว การก่ออาชญากรรมและการทำร้ายร่างกายและทรัพย์สิน ความก้าวร้าวในเด็ก โดยภาคตะวันออกนับเป็นพื้นที่ที่อาชญากรรมคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากภาคใต้

สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหานี้ คือ การยึดหลักยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึง “บวร บ้าน วัด โรงเรียน” จากการศึกษาปัญหาและความต้องการข้างต้นนำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะสามารถยกระดับของสังคม, การส่งเสริมอุตสาหกรรมสะอาด หุ่นยนต์, การส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า พลังงานชีวภาพ และนวัตกรรมพลังงานทดแทน, การสนับสนุนนวัตกรรมการจัดการขยะ, การมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการปกป้องและดูแลทรัพย์สินด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสารสนเทศ, การสนับสนุนด้านนวัตกรรมเครื่องจักรหุ่นยนต์ในสถานศึกษาให้มีความเข้มข้นและจริงจัง, การนําเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในด้านการศึกษา และการจัดตั้งศูนย์กลางความรู้ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางเรียนรู้แลกเปลี่ยนข้อมูล

ที่มา: Thai PBS, 30/1/2566

กระทรวงแรงงาน เตือนอาชีพ “ไกด์” สงวนสิทธิ์เฉพาะคนไทย ฝ่าฝืนส่งกลับประเทศ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ส่วนใหญ่เดินทางมาในรูปแบบของกรุ๊ปทัวร์หรือผ่านบริษัทนำเที่ยว ทำให้มีผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจำนวนหนึ่ง ใช้บริการ ไกด์ หรือมัคคุเทศก์ชาวต่างชาติที่ลักลอบประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ในประเทศไทย ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย เพราะอาชีพมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยว เป็นงานที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น และเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด ซึ่งระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดคลี่คลาย ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเลือกจ้างไกด์ต่างชาติแทนคนไทย นอกจากมีความผิดตามกฎหมายแล้วยังทำให้เกิดการแย่งอาชีพคนไทย ซึ่งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรายได้หลักทางหนึ่งของไทยมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงและธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อม

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว นายจ้าง สถานประกอบการ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาแย่งอาชีพของคนไทย เพื่อเป็นการควบคุม ตรวจสอบและดำเนินคดีคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง สถานประกอบการ และคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยผู้ที่พบเห็นการจ้างคนต่างชาติทำงานโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 02 354 1729 หรือ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

สำหรับ งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำมีทั้งสิ้น 40 งาน โดยงานมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยว เป็นงานที่กฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีที่ 1 ห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาดในจำนวน 27 งาน เพราะเป็นอาชีพสงวนของไทย คนต่างด้าวจึงไม่สามารถขอใบอนุญาตทำงานต่อนายทะเบียนเพื่อทำงานดังกล่าวได้ รวมทั้งหากได้รับใบอนุญาตทำงานแล้วแต่ภายหลังลักลอบทำงานมัคคุเทศก์ จะมีความผิดตามพรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ปรับตั้งแต่ 5,000 –50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศ และในส่วนนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีความผิดเช่นเดียวกัน ปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน

หากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 –200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีการตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการแล้ว จำนวน 10,174 แห่ง ดำเนินคดี 360 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 156,471 คน ดำเนินคดี 808 คน ในจำนวนนี้เป็นคนต่างชาติที่แย่งอาชีพคนไทย จำนวน 435 คน

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 30/1/2566

ท่องเที่ยวฟื้น ประชาชนมีงานทำเพิ่ม 6.2 แสนคน ว่างงานลดลง 9.5 หมื่นคน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับการติดตามการมีงานทำของประชาชน เพื่อให้มั่นใจว่าสถานการณ์ได้กลับเข้าใกล้ภาวะปกติหลังการแพร่ระบาดของโควิด19 โดยข้อมูลล่าสุด ณ เดือน พ.ย. 65 สำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.) ได้รายงานให้เห็นภาวะมีงานทำและการว่างที่ดีขึ้นต่อเนื่องต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรีพอใจกับสถานการณ์การมีงานทำของประชาชนในภาพรวม ที่ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนพ.ย. 65 พบว่าประชาชนมีงานทำ 39.82 ล้านคน การว่างงานที่ร้อยละ 1.2 ถือว่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด19 ในปี 2562 ที่ร้อยละ 0.9 และมั่นใจว่าเศรษฐกิจที่กำลังดีขึ้นโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะส่งผลบวกต่อการมีงานทำของไทยมากขึ้นอีก โดยนายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการผลักดันการยกระดับขีดความสามารถของคนไทยเพื่อนำไปสู่การได้ค่าจ้างและรายได้ที่สูงขึ้นตามความสามารถ”น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  สสช. รายงานข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำของคนไทย ณ เดือนพ.ย. 65 ทั่วประเทศพบผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป  58.73 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน 40.36 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 39.82 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.6 แสนล้านคน และผู้ที่รอฤดูกาล 8 หมื่นคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน เช่นแม่บ้าน นักเรียน คนชรา มีจำนวน 18.37 ล้านคน

สำหรับผู้มีงานทำ 39.82 ล้านคน ในเดือน พ.ย.นั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้น 6.2 แสนคน จากเดือน ต.ค. 65 แยกเป็นผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม 12.34 ล้านคน และและนอกภาคเกษตรกรรม(เช่น อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและบริการ) 27.48 ล้านคน

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากชั่วโมงการทำงานซึ่งสะท้อนความมั่นคงของงานและรายได้ก็พบว่ากลุ่มที่ทำงานในเกณฑ์ (มากกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวนมากขึ้น โดยเดือน พ.ย. 65 กลุ่มผู้มีงานทำ 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ มีจำนวน 6.67 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 5.98 ล้านคนในดือนต.ค.,  ทำงานตั้งแต่ 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มี 26.90 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 26.69 ล้านคนในเดือน ต.ค. ส่วนกลุ่มที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 6.25 ล้านคน ลดลงจาก 6.53 ล้านคนในเดือน ต.ค.

ในส่วนผู้ว่างงานเดือน พ.ย. 4.65 แสนคน ลดลง 9.5 หมื่นคนจากเดือน ต.ค. คิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.2 จาก ร้อยละ 1.4 ในเดือนต.ค. และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า เกือบทุกภาคมีจำนวน ผู้ว่างงานลดลง ยกเว้นภาคใต้เพิ่มขึ้น 3.3 หมื่นคน

ที่มา: TNN, 29/1/2566

ธุรกิจขนส่งพัสดุในภูเก็ตและอีกหลายจังหวัดท่องเที่ยวทางใต้ระส่ำหนักเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธุรกิจขนส่งพัสดุในภูเก็ตและอีกหลายจังหวัดท่องเที่ยวทางใต้ระส่ำหนักเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หลังธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ทำให้แรงงานส่วนใหญ่กลับเข้าไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพราะมีรายได้ที่สูงกว่า ทำให้หลายธุรกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งพัสดุเกิดปัญหาหนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการจ้าง outsource บริษัทหรือพนักงานจากภายนอก ให้ขนส่งพัสดุในพื้นที่ เมื่อแรงงานขาดแคลน จึงมีการขอปรับขึ้นค่าแรง ส่งผลผู้ประกอบการหลายราย ประกาศขึ้นราคาค่าขนส่งที่ส่งมายังพื้นที่ปลายทางเหล่านี้ เช่น FLASH Express ได้ประกาศปรับขึ้นราคาค่าขนส่งพัสดุไปยังเกาะสมุย, เกาะพะงัน, จังหวัดกระบี่และจังหวัดภูเก็ต โดยพัสดุที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 30 กิโลกรัม จะบวกราคาค่าขนส่งเพิ่ม 50 บาท พัสดุที่มีน้ำหนัก 30-50 กิโลกรัม จะบวกค่าขนส่งเพิ่ม 100 บาท และพัสดุที่มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป จะบวกค่าขนส่งเพิ่ม 150 บาท มีผลตั้งแต่ 1 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลว่าตั้งแต่ เดือน ธ.ค. 2565 เป็นต้นมา การท่องเที่ยวได้รับความนิยมมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ท่องเที่ยวเติบโตขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ท่องเที่ยวขาดแคลนแรงงาน รวมถึงต้นทุนด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาบริการให้ดีต่อไป จึงปรับขึ้นค่าขนส่งพื้นที่ดังกล่าว

ขณะที่ J&T Express ออกประกาศแจ้งว่า พัสดุที่จัดส่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จะคิดค่าธรรมเนียมการจัดส่งเพิ่มเติมจากค่าจัดส่งมาตรฐาน 200 บาทต่อพัสดุ มีผลตั้งแต่ 18 ม.ค.66 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง และยังระบุด้วยว่า การนำจ่ายพัสดุในพื้นที่ดังกล่าว อาจเกิดความล่าช้า ส่วน Kerry Express ออกประกาศแจ้งลูกค้าว่า บริษัทของดส่งพัสดุไปปลายทางดังนี้ ตามรหัสไปรษณีย์ พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ 84280, 84310, 84320 รหัสไปรษณีย์ พื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ 83000, 83150 รหัสไปรษณีย์ พื้นที่จังหวัดพังงา ได้แก่ 83000 มีผลตั้งแต่ 27 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 28/1/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท