Skip to main content
sharethis

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ค้านขึ้นเงินเดือน อบต. 5,300 แห่ง หวั่นทำท้องถิ่นขนาดเล็กมีแต่งบเงินเดือน ไม่มีเงินพัฒนาพื้นที่ - รองโฆษก รบ. แจงเล็งแก้ข้อร้องเรียน "เงินเดือนไม่ขึ้นมา10 ปี" จากสมาคม อบต. ตั้งแต่ปี 62 หลังปรับขึ้นเงินเดือนกำนันและผู้ใหญ่บ้านไปก่อนแล้ว ย้ำปี 66 โควิดคลี่คลายจึงอนุมัติขึ้นเงินเดือน หวังบุคคลากร-ท้องถิ่นพัฒนาขึ้น ไม่เกี่ยวหาเสียงการเมือง - 'เพื่อไทย' ค้านปรับค่าตอบแทน อบต. ถ้าเป็นรัฐบาลปรับมานานแล้ว ย้ำให้ความสำคัญ อปท. ด้วยแนวคิดการมุ่งปรับงบอุดหนุนไปสู่สัดส่วน 35% เร็วที่สุด

11 ก.พ. 2566 เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่านายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กล่าวถึงความเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการขึ้นเงินเดือน-ค่าตอบแทน ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลหรืออบต.ทั่วประเทศว่าเรื่องนี้เป็นกระแสที่เข้าใจว่าฝ่ายการเมืองไปจุดพลุ โยนหินถามทาง จะหาเสียงมากกว่า เพราะการจะให้ขึ้นเงินเดือนค่าตอบแทนให้กับคนที่ทำงานให้กับภาครัฐ ซึ่งคนที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มหนึ่ง มันต้องมองเทียบกับกลุ่มข้าราชการกลุ่มอื่นๆด้วยทั้งหมด มองแบบเทียบกระดาน รวมถึงปัจจัยอื่นเช่น อัตราเงินเฟ้อ เรื่องเกี่ยวกับการคลังของภาครัฐและท้องถิ่น รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศแต่ละช่วงด้วย ว่ามันมีโอกาส มันมีความเหมาะสมหรือไม่

หากดูจากข้อเท็จจริงวันนี้จะพบว่า ยังไม่เห็นเลยว่าอัตราเงินเดือนของท้องถิ่นมันต่ำจนกระทั่งอยู่ไม่ได้ อยู่ไม่ไหว เพราะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ยังไม่เห็นสัญญาณแบบนั้น โดยเฉพาะหากเทียบกับคนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำงานในภาครัฐ ก็ยังมองว่าคนที่อยู่ภาคราชการ ยังไงก็ยังอยู่อย่างมั่นคง สบายกว่าเยอะ ยิ่งข้าราชการท้องถิ่น ก็ยังมีโบนัสด้วย แต่ข้าราชการประเภทอื่นเขาไม่มี

"องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในความเห็นผม ยังไม่มีข้อมูล ไม่มีหลักฐานอะไร ที่จะให้ขึ้นเงินเดือน แต่เท่าที่ได้ยินข่าวมาประปรายกลายเป็นว่าเป็นเรื่องการให้สัญญาทางการเมืองอะไรมากกว่า ที่ก็อาจไม่ได้ผลอะไรเพราะของแบบนี้มันต้องมองทั้งระบบ ที่สำคัญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ที่มีร่วม 7,800 แห่งทั่วประเทศ จะพบว่า ท้องถิ่นแต่ละแห่งจะมีความสามารถทางการเงินการคลังแตกต่างกัน การจะให้ไปขึ้นเงินเดือนค่าตอบแทนเขาแล้วแบบนี้ ท้องถิ่นเล็กๆ ที่ไม่ได้มีเงินงบประมาณเยอะ จะทำอย่างไร เพราะหากขึ้นเงินเดือน เขาก็ต้องนำเงินของท้องถิ่นมาจ่ายให้ หากทำท้องถิ่นจะเหลือเงินแต่ละปีสักเท่าไหร่ในการนำงบมาพัฒนาบ้านเมือง ถ้าเป็นอบต.ราชาเทวะ รวยจนซื้อเสาไฟฟ้ามาปักจนไม่รู้จะปักที่ไหนแล้ว แบบนั้นก็ขึ้นเงินเดือนกันได้ แต่หากเป็นอบต. ห้วยปูลิง ที่แม่ฮ่องสอน เงินยังไม่มีทำงบราดถนน ต้องราดทีละข้าง ปีนี้ราดข้างซ้าย ปีหน้าราดข้างขวา แล้วเขาจะเงินที่ไหนมาขึ้นเงินเดือนให้อบต. “นายชาติชายกล่าว

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา แม้จะมีเรื่องของวินัยการเงินการคลังของท้องถิ่นคือ เงินเดือนค่าจ้างของท้องถิ่นต้องไม่เกินร้อยละสี่สิบของงบประมาณในการจ่ายแต่ละปี แต่ปัจจุบัน ก็ใช้งบเกินกันอยู่โดยใช้วิธีนำไปแฝงไว้ในการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานโครงการของท้องถิ่น เรื่องการขึ้นเงินเดือนที่พูดกัน เห็นว่า ต้องดูให้ดี ในความเห็นผม จึงเห็นว่ามันยังไม่ถึงเวลาต้องขึ้นเงินเดือนให้อบต. เพราะหากไปขึ้นเงินเดือนโดยไม่ดูให้รอบคอบ ต่อไปจะไม่มีงบทำงานกัน จะมีแต่เงินเดือนคอยจ่ายให้แต่ละเดือน

นายชาติชาย กล่าวด้วยว่า กระบวนการขึ้นเงินเดือนให้ท้องถิ่น หากจะทำมีขั้นตอนอีกเยอะ เพื่อรองรับการขึ้นเงินเดือนดังกล่าว ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะต้องมีการถามความเห็นกระทรวงการคลังด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่ รวมถึงท่าทีของฝ่ายรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน อัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนของนายก อบต. และสมาชิกสภา อบต.ทั่วประเทศ ที่มีร่วม 5,300 แห่ง โดยมีสมาชิกอบต.ทั่วประเทศร่วมสี่แสนคน พบว่าอัตราเงินเดือนดังกล่าว อยู่ใน ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 โดยมีการวางเกณฑ์ไว้โดยใช้ฐานเรื่องของรายได้ที่จัดเก็บได้แต่ละปีของอบต.แต่ละแห่งเป็นเกณฑ์

ทั้งนี้หากอบต.ที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท นายกฯอบต.มีเงินเดือนและค่าประจำตำแหน่งรวม 26,080 บาทต่อเดือน สมาชิกอบต.มีเงินเดือน 7,920 บาท

อบต.ที่มีรายได้ระหว่าง 25-50 ล้านบาท ตัวนายกฯอบต.ได้ เงินเดือนรวมค่าประจำตำแหน่ง เดือนละ 24,920 บาท ส่วนสมาชิกอบต.ได้ 7,560 บาทต่อเดือน

สำหรับ อบต. ที่มีรายได้น้อยสุดคือ มีรายได้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อปี ตัวนายกฯ อบต.ได้เงินเดือน 21,860 บาท ส่วนสมาชิกอบต.ได้ 6,630 บาทต่อเดือน เป็นต้น

รองโฆษก รบ. แจงขึ้น "เงินเดือน อบต." ตามขั้นตอนไม่เกี่ยวหาเสียง

TNN รายงานว่า น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีขึ้นเงินเดือนให้กับผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ว่าเป็นเรื่องที่มีการดำเนินการตามกระบวนการอย่างเป็นขั้นตอน โดยสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอต่อ กระทรวงมหาดไทยมาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากไม่ได้มีการปรับค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมานานกว่า 10 ปี และได้มีการติดตามความคืบหน้ามาเป็นลำดับ  

"ในข้อเรียกร้องสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2562 นั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นด้วยในหลักการ ทั้งบรรเทาความเดือดร้อน และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และก่อนหน้านี้ได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนของกำนันและผู้ใหญ่บ้านไปแล้วก่อนปี 2562 ดังนั้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และหลักธรรมาภิบาล จึงเห็นควรปรับขึ้นเงินเดือนให้  เพื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้รวดเร็วที่สุด แต่ขณะนั้นมีสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงต้องชะลอไปก่อน" น.ส.ทิพานัน  กล่าว 

เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ทางสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย จึงได้มีการติดตามเรื่องดังกล่าวมายัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกครั้ง เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565  ในงาน"การพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นสู่ความเป็นเมือง ตามหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไทย" จ.เชียงใหม่ อีกครั้งโดยมี ผู้บริหาร อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมการสัมมนา  ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์  ได้มอบให้ผู้บริหารท้องถิ่น ทำหนังสือราชการ  พร้อมร่างหลักเกณฑ์การพิจารณาค่าตอบแทนต่างๆ  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อกฎหมายต่างๆ ในทันทีและเร่งติดตามเสมอมา เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่น มาโดยตลอด

และเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ทางสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย ได้เข้าหารือกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  เพื่อให้ข้อมูลถึงหลักเกณฑ์และความจำเป็นของ อบต.  ซึ่งนายพีระพันธุ์ ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการอำนวยการความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ  จึงได้นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยผ่านความเห็นชอบในวันที่ 8 ก.พ. 2566 ตามลำดับ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับเรื่องตั้งแต่ปี 62 และได้พยายามดำเนินการทันที แต่ติดปัญหาวิกฤตโควิด เมื่อสถาการณ์คลี่คลายก็เดินหน้าแก้ไขปรับปรุง ส่วนที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นำเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา ก็เป็นไปตามขั้นตอนการแก้ไขปกติไม่ได้มีนัยยะทางการเมืองใดๆหรือเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้งที่จะหยิบยกมาโจมตีกัน  

"ในส่วนการบริหารของ "พล.อ.ประยุทธ์" สะท้อนให้เห็นว่า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นทุกหน่วยงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน  ซึ่งการปรับขึ้นเงินเดือนจะเป็นขวัญและกำลังใจของคนทำงานและลดความเหลื่อมล้ำได้ส่วนหนึ่งด้วย" น.ส.ทิพานัน กล่าว 

'เพื่อไทย' โต้ข่าว ยันไม่ค้านปรับค่าตอบแทน อบต.

สำนักข่าวไทย รายงานว่านายนพดล ปัทมะ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย มากล่าวว่าตามที่มีการเสนอข่าวว่าพรรคเพื่อไทยคัดค้านการที่จะปรับค่าตอบแทนสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นั้น ตนขอปฏิเสธข่าวดังกล่าว และยืนยันว่าพรรคไม่คัดค้านการปรับค่าตอบแทนสมาชิก อบต. ตามกฎหมายและถ้าหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลคงจะปรับค่าตอบแทนมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ต้องรอ 8 ปี เนื่องจาก อบต.ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ทำงานใกล้ชิดประชาชน และเสมือนเป็นประชาธิปไตยในระดับฐานราก ยิ่งอบต.เข้มแข็ง ประชาชนยิ่งได้ประโยชน์

นายนพดลกล่าวต่อว่า นอกจากจะไม่คัดค้านการปรับค่าตอบแทนของ อบต.แล้ว พรรคให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจอย่างมาก ในขณะนี้มีผลการศึกษาและแนวคิดเบื้องต้นของคณะทำงานที่จะผลักดันให้คณะกรรมการบริหารพรรคเห็นชอบนโยบายที่สำคัญที่จะสร้างความเข้มแข็งและพลิกโฉมการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อทำให้ชีวิตของพี่น้องดีขึ้น เช่น 1)แนวคิดการพิจารณายกฐานะ อบต.เป็นเทศบาลตำบล แต่ยังคงให้มีกำนันและผู้ใหญ่บ้าน 2)แนวคิดการผลักดันการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณให้อปท. เป็นร้อยละ 35 ให้เร็วที่สุดที่ฐานะการเงินการคลังของประเทศเอื้อให้ทำได้ และถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตและสร้างรายได้ให้ประเทศมากขึ้นเร็วขึ้น และ3)แนวคิดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีความพร้อม โดยทันทีที่คณะกรรมการบริหารพรรคเห็นชอบนโยบายเหล่านี้ก็จะประกาศเป็นนโยบายหาเสียงต่อไปตามกฎหมาย

“ประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ล้วนมีการกระจายอำนาจที่เหมาะสม และประชาชนในท้องถิ่นมีความสุข พรรคยังมีนโยบายอีกมากที่รอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพรรค และมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนให้ชนะแลนด์สไลด์เพื่อเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องให้ประชาชนต่อไป” นายนพดล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net