เมื่อโรงงานคือท้องถนน (11) : “ความอิสระ” ในงานแพลตฟอร์ม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ทำอาชีพนี้เพราะมันอิสระ จัดการเวลาได้ กำหนดได้ว่าจะทำที่ไหน เมื่อไร มันตอบโจทย์ชีวิตเรา”

“....อาจไม่ใช่อาชีพในฝัน แต่อย่างน้อยก็ได้เป็นนายตัวเอง”

การสนทนากับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหารภายใต้แพลตฟอร์ม หรือไรเดอร์ หลายคนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่า ความอิสระ คือแรงจูงใจสำคัญให้มาประกอบอาชีพไรเดอร์ ความอิสระในที่นี้ หมายถึง ความสามารถเป็นผู้กำหนดเวลา สถานที่ และวิธีทำงานด้วยตัวเอง พูดอีกอย่างคือ อาชีพนี้เป็นงานที่ยืดหยุ่น ตามเงื่อนไขความจำเป็นของแต่ละคน อีกทั้งไม่ต้องเผชิญหน้ากับเจ้านายที่คอยแต่สั่งงานบงการชีวิต   

ไม่น่าประหลาดใจที่ไรเดอร์ รวมทั้งคนทำงานทั่วไปในยุคนี้ ให้น้ำหนักกับความอิสระเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกอาชีพ เพราะความอิสระเป็นค่านิยมของคนยุคใหม่ สอดคล้องกับเงื่อนไขชีวิตที่ต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกัน อีกทั้งทางฝ่ายผู้จ้างงานมักเสนอความอิสระเป็นสิ่งดึงดูดใจ เมื่อประกอบกับวัฒนธรรมองค์กรแบบไทยๆ ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศอำนาจนิยม ยิ่งทำให้ความอิสระแทบจะเป็นอุดมคติที่คนทำงานใฝ่ฝันหา   

ด้วยเหตุที่ความอิสระ (autonomy) มีความสำคัญมากเช่นนี้ จึงน่าตั้งคำถามว่า ความอิสระที่ว่านี้มีอยู่จริงหรือ หรือมีอยู่มากน้อยแค่ไหน ? เหตุใดผู้จ้างงานนิยมเสนอความอิสระเป็นสิ่งดึงดูดใจแรงงาน ? และเพื่อจะได้ความอิสระ แรงงานต้องแลกกับอะไรบ้าง ?

ในระบบทุนนิยม กฎพื้นฐานในการสร้างผลกำไรของนายจ้างคือ การควบคุมให้คนงานทำอย่างสุดกำลังความสามารถ การบีบเค้นให้แรงงานสร้างผลกำไร กระทำผ่านการควบคุม  2 รูปแบบ คือ การควบคุมภายใต้องค์กรการผลิต และการควบคุมโดยตลาด[1]

พิจารณาการควบคุมรูปแบบแรก ในระบบโรงงานอุตสาหกรรมดั้งเดิม คนงานขายแรงงานในตลาดแรงงาน ทุนซื้อกำลังแรงงาน และควบคุมแรงงานผ่านสภาพการจ้างและระบบการผลิตในโรงงาน ภายใต้หลังคาโรงงาน การควบคุมแรงงานเห็นได้ชัด จากการสั่งงานและกำกับงานโดยผู้ควบคุมงาน อย่างไรก็ตาม แม้ทุนมีอำนาจเหนือแรงงานโดยตรง แต่การจ้างแบบนี้ อยู่ภายใต้การกฎหมายซึ่งมีเจตนาถ่วงดุลอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างทุนกับแรงงาน กฎหมายจึงคุ้มครองแรงงานให้ทำงานและได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมจากนายจ้าง

การควบคุมแรงงานแบบที่สอง เป็นการควบคุมโดยตลาด ดังงานจ้างเหมาต่างๆ และงานแพลตฟอร์มที่แพร่หลายในปัจจุบัน โดยสภาพที่ปรากฏ ดูเหมือนว่าผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจเหนือผู้รับจ้างโดยตรง และผู้รับจ้างมีอิสระในการทำงาน แต่ในความจริง ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายถูกควบคุมโดยอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงาน และภายใต้กลไกตลาด ในสถานการณ์ที่มีอุปทานแรงงานจำนวนมาก ความอิสระยิ่งลดน้อยลง “ดูเหมือนว่าแรงงานเป็นผู้ทำงานอิสระ แต่ที่จริงพวกเขามีทางเลือกไม่มากนัก สิ่งที่แรงงานทำได้คือทำตามเงื่อนไขที่ผู้จ้างงานต้องการ ในราคาที่ผู้จ้างยินดีจ่าย ขณะที่ต้องแข่งขันกับแรงงานจำนวนมหาศาลที่พร้อมแข่งขันเสนอขายแรงงาน”[2]

ในมุมของผู้จ้างงาน การควบคุมโดยตลาด สามารถควบคุมผู้รับจ้างได้ในระดับหนึ่ง แต่ในภาวะที่ไม่ได้ควบคุมโดยตรงเหมือนในโรงงาน ผู้จ้างจึงต้องสร้างหลักประกันว่าจะกำกับการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดความไม่แน่นอนให้ต่ำสุด ดังนั้นผู้จ้างงานจึงพยายามถ่ายทอดการควบคุมในระบบโรงงาน ไปสู่ผู้รับจ้างให้มากที่สุด หลักการสำคัญที่ใช้คือ การสร้างข้อผูกมัดว่าด้วย “ความรับผิดชอบ” และผลักภาระให้ไปตกไปอยู่บนหลังไหล่ของผู้รับจ้าง (อุปกรณ์ทำงาน ปริมาณและคุณภาพของผลงาน กำหนดส่งงาน ฯลฯ)[3] อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน และสัญญาจ้างงานที่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้จ้างมากกว่า จึงมักควบคู่มากับการจ้างงานประเภทนี้

จะเห็นได้ว่า เอาเข้าจริงแล้ว การควบคุมแรงงาน 2 รูปแบบ ทำงานสอดประสานกัน อาจกล่าวได้ว่า ในโรงงานซึ่งเป็นการควบคุมโดยตรง ตลาดได้ตัวฝังอยู่ในโรงงาน และในการควบคุมโดยตลาด ผู้จ้างก็ส่งผ่านการควบคุมโดยตรงเข้าไปในเงื่อนไขการจ้างด้วย[4] ดังนั้น เมื่อโฟกัสไปที่การจ้างงานที่ควบคุมแรงงานโดยตลาด ที่นำเสนอความอิสระดึงดูดใจแรงงาน อาจกล่าวได้ว่า ความอิสระในที่นี้ หมายถึง ความเป็นอิสระจากการถูกควบคุมสั่งการโดยตรงเหมือนระบบโรงงาน (แต่ถูกควบคุมผ่านกลไกตลาด และการถูกควบคุมโดยตรงที่ถูกส่งผ่านมาในรูปแบบอื่นๆอยู่ดี)

ปัจจุบัน ภายใต้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้การควบคุมโดยตลาดมีพัฒนาการอีกขั้น แทนที่จะควบคุมผ่านข้อกำหนดในสัญญาจ้างงานเท่านั้น อัลกอริทึม ซึ่งเป็นระบบบันทึกข้อมูลและสั่งการอัตโนมัติ ได้ทำหน้าที่ “ผู้ควบคุมงาน” ที่ไม่ต้องเป็นบุคคลไปปรากฏตัวให้เห็น  

กรณีของไรเดอร์ ความสัมพันธ์การจ้างงาน เกิดขึ้นในขั้นตอนสมัครเข้าใช้แอปพลิเคชั่นของบริษัทแพลตฟอร์ม ซึ่งผู้สมัครต้องให้การยินยอมใน “ข้อตกลงการให้บริการ” (terms of service) หรือในบางแอปฯเป็นสัญญาในลักษณะ “การจ้างทำของ” นิติกรรมดังกล่าว ได้ระบุอำนาจและการคุ้มครองประโยชน์ของบริษัทไว้อย่างรัดกุม รวมทั้งข้อกำหนดที่ผู้ใช้บริการ (ไรเดอร์) ต้องปฏิบัติตาม และการให้คุณให้โทษต่างๆ     

ในฐานะผู้ใช้บริการแอปพลิเคชั่น เมื่อลงชื่อเข้าใช้งาน หรือ log in เข้าระบบในแต่ละวัน อัลกอริทึมจะทำหน้าที่สั่งงาน กำกับงาน ประเมินงาน คำนวณค่าตอบแทน ตลอดจนโบนัสอินเซนทีฟตามเงื่อนไขที่กำหนด ดังนั้นอัลกอริทึมคือคนคุมงานที่ไม่ปรากฏตัวให้เห็น แต่ติดตามการทำงานทุกลมหายใจ แม้กระทั่งในยามที่ไม่ลงชื่อเข้าทำงานในระบบ อัลกอริทึมยังบันทึกข้อมูล เพราะการไม่ log in มีความหมายว่าไม่ทำงาน เมื่อไม่ขยันทำงาน ย่อมมีผลต่อคะแนนการทำงาน ซึ่งส่งผลให้โอกาสได้รับงานลดลงเมื่อลงชื่อทำงานครั้งต่อไป

คำถามต่อไปคือ เหตุใดผู้จ้างงานนิยมใช้ความเป็นอิสระเป็นสิ่งดึงดูดใจแรงงาน คำตอบเห็นได้ชัดตั้งแต่แรก เพราะการควบคุมโดยตลาด ทำให้กฎหมายกำหนดให้คนทำงานเป็น ผู้ทำงานส่วนตัว (self-employed) หรือผู้รับจ้างอิสระ (independent contractor) ผู้จ้างงานกับผู้รับจ้างไม่มีความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้าง-ลูกจ้าง ผู้จ้างจึงปลอดจากความรับผิดชอบตามกฎหมายคุ้มครองแรงาน และสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ทำงาน การฝึกงาน และการจัดสวัสดิการแรงงาน  

เหตุผลต่อมา งานจำนวนหนึ่งต้องการทักษะและความคิดสร้างสรรค์ การให้ความอิสระในระดับหนึ่ง ทำให้แรงงานสามารถใช้ทักษะและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน เช่น งานในกลุ่มการออกแบบสถาปัตย์ ออกแบบเวปไซต์ เขียนคอนเทนต์ (มักเรียกกันว่างานฟรีแลนซ์) ในแงนี้ความอิสระที่ผู้จ้างมอบให้ คือเครื่องมือในการดึงทักษะเฉพาะตัวที่สร้างสมมา และความคิดสร้างสรรค์ของแรงงานออกมาใช้[5]     

งานของไรเดอร์ก็เช่นกัน การขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารต้องการทักษะการขับขี่ ความชำนาญเส้นทาง อีกทั้งอาชีพไรเดอร์เป็นงานบริการ ที่ต้องรับมือกับความต้องการของลูกค้า(ผู้สั่งอาหาร) ร้านอาหาร และผู้ใช้รถใช้ถนน อาชีพนี้ต้องใช้ทั้งความอดทน การรับมือกับความไม่แน่นอน และการควบคุมอารมณ์ การให้ความอิสระจึงหมายถึงการเปิดให้ไรเดอร์ใช้ความสามารถส่วนบุคคลทั้งมวล แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่พบเจอบนท้องถนนในแต่ละวัน  

ในอีกแง่หนึ่ง ความอิสระยังเป็นโอกาสของ “การทำให้งานเป็นเกม” (gamification of work)[6] บริษัทแพลตฟอร์มต่างนำเสนอโบนัส ให้กับไรเดอร์ที่ทำคะแนนจากการทำงานได้ตามยอดที่กำหนดในแต่ละวัน เพื่อแลกกับได้เงินเพิ่มเป็นพิเศษ การทำงานล่าแต้มเพื่อเพิ่มเงินเหมือนเล่นเกม เปลี่ยนความน่าเบื่อของการทำงาน ให้เป็นเรื่องสนุก และในเงื่อนไขความเป็นอิสระในระดับหนึ่ง ทำให้ไรเดอร์สามารถออกแบบกลยุทธ์การทำงานเฉพาะตน เลือกเวลาออกวิ่ง ย่านที่วิ่ง ใช้ทางลัด ใช้ความสามารถเฉพาะตัว ฯลฯ การทำงานให้เป็นเกม ทำให้ไรเดอร์ยินยอมพร้อมใจทำงานหนัก เหนื่อยและเสี่ยง เพื่อเพิ่มเงินพิเศษอีกเล็กน้อย แต่เพิ่มกำไรให้ผู้จ้างอีกมากโข         

แล้วความอิสระที่ได้มา แรงงานต้องแลกกับอะไรบ้าง สำหรับแรงงานแพลตฟอร์มโดยทั่วไป ความอิสระ – สามารถทำงานที่บ้าน ทำงานที่มุมไหนของโลกก็ได้ เลือกงานได้ตามต้องการ – ดูเหมือนเป็นอภิสิทธิ์สำหรับผู้มีทักษะสูงและมีชื่อเสียงเท่านั้น หากไม่อยู่ในฐานะเช่นนั้น ฟรีแลนซ์ทั้งหลายต้องพบกับคู่แข่งจำนวนมาก และต้องจำใจรับเงื่อนไขการจ้างสุดโหด

การทำงานค่าตอบแทนต่ำ เร่งรีบ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ จึงเป็นลักษณะทั่วไปของงานฟรีแลนซ์ นอกจากนั้น การทำงานในสถานที่ของตัวเอง ทำให้หลายคนทำงานในภาวะแยกตัวจากสังคม การอดหลับอดนอน เคร่งเครียดกับงาน การอยู่คนเดียว นำไปสู่ปัญหาสุขภาพ และสุขภาพจิต และอีกหลายคน คำว่างานอิสระ ได้ทำลายเส้นแบ่งของเวลาทำงานกับการใช้ชีวิต งานทำให้เวลาพักผ่อน ออกกำลังกาย หาความรู้ พบปะเพื่อนฝูงเลือนหายไป[7]

กล่าวสำหรับไรเดอร์โดยเฉพาะ ความอิสระกลับทำให้ต้องทำงานในชั่วโมงทำงานสูงกว่าปกติ ไม่มีวันหยุด การบีบเค้นตัวเองจนนำไปสู่อุบัติเหตุ การทำงานจนเกินขีดจำกัดของร่างกาย ปัญหาสุขภาพทรุดโทรม ความเคร่งเครียดจาการทำงาน สุขภาพจิต และเมื่อวันใดพลาดพลั้งเกิดอุบัติเหตุ ต้องรับผิดชอบร่างกายและทรัพย์สินของตัวเอง เมื่อหยุดงาน ต้องขาดรายได้อย่างสิ้นเชิง และเมื่อหมดประโยชน์ก็ถูกปลดทิ้ง เหมือนชิ้นส่วนของเครื่องจักร

ในยุคที่แพลตฟอร์มแรงงาน เชื่อมโยงแรงงานจากทุกมุมโลกเข้าหากัน จึงเกิดอุปทานแรงงานล้นเกินจำนวนมหาศาล ในตลาดแรงงานเช่นนี้ แรงงานจึงมีสภาวะเหมือนกับ “แรงงานตามสั่ง” (just-in-time workforce)[8]กรณีไรเดอร์ในประเทศไทยก็เช่นกัน ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา สืบเนื่องถึงปัจจุบัน ในภาวะที่มีคนว่างงาน หรือรายได้จากงานประจำไม่พอเพียง จึงมีผู้สมัครและพร้อมสมัครเป็นไรเดอร์จำนวนมาก เกิดเป็นอุปทานแรงงานล้นเกิน ภาวะเช่นนี้ ทำให้ไรเดอร์กลายเป็น “แรงงานตามสั่ง” กลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง

ข้อความที่จะอธิบาย ความอิสระ ในความหมายของบริษัทแพลตฟอร์มได้ดี คือคำกล่าวของซีอีโอ CrowdFlower บริษัทแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง

“ก่อนยุคอินเตอร์เน็ต เป็นเรื่องยากที่จะหาใครสักคนหนึ่ง จับพวกเขามานั่งลงสัก 10 นาที แล้วสั่งให้พวกเขาออกไปทำงานให้คุณ และจากนั้นก็ไล่พวกเขาออกใน 10 นาทีให้หลัง แต่ด้วยเทคโนโลยี คุณสามารถไล่พวกเขาออก จ่ายพวกเขาด้วยเงินเพียงเล็กน้อย และกำจัดพวกเขาทิ้งเมื่อคุณไม่ต้องการพวกเขาอีกต่อไป”[9]

สำหรับแรงงาน ทุกระดับของความอิสระ มีราคาที่ต้องจ่าย ราคาของตั๋วเที่ยวเดียวสู่ปลายทาง ความเสี่ยง ความไม่แน่นอน และความไม่มั่นคง ของชีวิตและการทำงาน.

  

อ้างอิง

[1]Ivanova M, Bronowicka J, Kocher E and Degner A (2018) The App as a Boss? Control and Autonomy in Application-Based Management. Europa Universität Viadrina.

[2] Huws, U. (2014). Labor in the Global Digital Economy: The Cybertariat Comes of Age. NYU Press.

[3] Fleming, P. (2017). The Human Capital Hoax: Work, Debt and Insecurity in the Era of Uberization. Organization Studies, 38(5), 691–709.

[4] Kalleberg. A.L. (2011). Good Jobs, Bad Jobs: The Rise of Polarized and Precarious Employment Systems in the United States, 1970s-2000s. New York: Russell Sage Foundation, American Sociological Association Rose Series in Sociology.

[5] Huws, U. (2014)...

[6] Woodcock, J. & Johnson, M R. (2018). Gamification: What it is, and how to fight it. The Sociology Review. 66(3), 542-558.

[7] Wood, A. J., Graham, M., Lehdonvirta, V., & Hjorth, I. (2019). Good Gig, Bad Gig: Autonomy and Algorithmic Control in the Global Gig Economy. Work, Employment and Society, 33(1), 56–75.

[8] De Stefano, V. (2016). The Rise of the "Just-in-Time Workforce": On-Demand Work, Crowdwork, and Labor Protection in the "Gig Economy". Comparative labor law journal: a publication of the U.S. National Branch of the International Society for Labor Law and Social Security and the Wharton School, and the Law School of the University of Pennsylvania. 37, 471-504.

[9] quoted by. Marvit, M.Z. (2014). “How Crowdworkers Became the Ghosts in the Digital Machine,” The Nation (5 February), available at https://www.thenation.com/article/archive/how-crowdworkers-became-ghosts-digital-machine/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท