ครม.เลื่อนใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย อ้างยังไม่พร้อมต้องซื้อกล้องเพิ่มและฝึกเจ้าหน้าที่เพิ่ม

ครม.ออกพ.ร.ก.เลื่อนใช้บางมาตราของ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกภาพการควบคุมตัวไปเริ่มใช้ 1 ต.ค.2566 อ้างยังต้องจัดซื้อกล้องเพิ่มอีกประมาณ 1.7 แสนตัว และฝึกเจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่หลายยี่ห้อ

14ก.พ.2566 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล เผยแพร่มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้เลื่อนการบังคับใช้เฉพาะมาตรา 22-25 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคล โดยเป็นการออกพระราชกำหนด

รายงานระบุว่า รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ. ....(พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานอุ้มหาย) เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ของพ.ร.บ.ออกไปบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.2566 เป็นต้นไป (จากเดิมที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566)

สำหรับสำระสำคัญของมาตราที่ถูกเลื่อนใช้คือ

  • มาตรา 22 การควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
  • มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

รัชดา กล่าวด้วยว่า ความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาบังใช้มาตรา 22 - 25 เนื่องจากจะต้องมีการปรับปรุงการดำเนินการ บทบาท และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมระดับหน่วยปฏิบัติ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น

รองโฆษกระบุถึงข้อขัดข้องไว้เช่น

  • การจัดซื้อกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม 1.71 แสนตัว กล้องติตรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6 พันกว่าตัว รวมถึงการจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูล หน่วยความจำ ระบบ Cloud โดยต้องดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา และ
  • การเตรียมความพร้อมของบุคลากร ที่ต้องฝึกอบรมบุคลากรในใช้งานอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อและวิธีการใช้งานแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในการใช้งานและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ครม.จึงเห็นชอบการขยายเวลาการบังคับใช้ในมาตราดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และป้องกันการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการจับกุมไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินคดีในชั้นศาลได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท