Skip to main content
sharethis

อนุ กมธ. ด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน วุฒิสภา หารือแนวทางกำหนดมาตรฐานการเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกาย ตามหลักการยศาสตร์การปฏิบัติงานด้วยแรงกายฯ

พลเรือเอกพัลลภ  ตมิศานนท์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในคณะ กมธ.การแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธานการประชุม อนุ กมธ. โดยมีวาระพิจารณาศึกษา เรื่อง มาตรฐานการเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกาย ตามหลักการยศาสตร์การปฏิบัติงานด้วยแรงกาย การยก การวาง และการขนย้าย ตามมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้าร่วมประชุม

นายวีระศักดิ์  เพ้งหลัง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานแห่งชาติและคณะ กล่าวชี้แจงว่า สมอ. เกิดขึ้นมาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551 เป็นผู้แทนประเทศไทยในการเป็นสมาชิกขององค์กร International Organization for Standardization (ISO) เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และองค์การการค้าโลก (WTO) ก็สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกถือปฏิบัติตามมาตรฐานของ ISO ทั้งนี้ องค์กรที่เป็นสมาชิกของ ISO มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลมาตรฐานสากลที่ถูกกำหนดขึ้นโดย ISO ทั้งหมด และเลือกนำมาปรับใช้ (Adopt) กำหนดเป็นมาตรฐานภายในประเทศ แต่สมาชิกของ ISO ก็มีหน้าที่ต้องรักษาลิขสิทธิ์ของมาตรฐานแต่ละประเภทที่ ISO กำหนดขึ้นด้วย ซึ่งมาตรฐานสากลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และระบบการผลิตสินค้า มี 2 ลักษณะ คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ซึ่งมุ่งเน้นการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นหลัก และมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ.2551 ซึ่งมุ่งเน้นรับรองคุณภาพของระบบการผลิตเป็นสำคัญ

พลเรือเอกพัลลภ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานการเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกาย ตามหลักการยศาสตร์การปฏิบัติงานด้วยแรงกาย การยก การวาง และการขนย้าย ตามมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ นั้น ไม่ได้เป็นการบังคับเอกชน แต่หากเอกชนผู้ประกอบกิจการได้รับรองตามมาตรฐานดังกล่าว เท่ากับว่ากระบวนการผลิตของเอกชนรายนั้นมีความเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งมีคุณค่าต่อการยอมรับนับถือในเชิงพาณิชย์และการอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้มีสภาพบังคับ ภาครัฐก็อาจนำหลักการของมาตรฐานดังกล่าวไปกำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ต่อไป

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, 4/3/2566

สภาพัฒน์ฯ แนะให้แรงงานนอกระบบเข้าระบบภาษี จี้ทบทวน “หักลดหย่อน”

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สศช. ได้ศึกษาเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในมิติการเป็นแหล่งรายได้รัฐและเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ

ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากรายได้ภาษีในปัจจุบันมีสัดส่วนแค่กว่า 13% ต่อจีดีพีเท่านั้น ดังนั้นหากจำเป็นต้องมีการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน ก็ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีให้มากขึ้น

นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ภาษี เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ โดยในปี 2564 มีรายได้จากการเก็บภาษีทั้งสิ้น 2.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 88.5% ของรายได้รัฐทั้งหมด แต่หากย้อนกลับไปดูในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รายได้ภาษีต่อจีดีพีของไทยอยู่ระดับต่ำมาโดยตลอด ทำให้ต้องขาดดุลงบประมาณมาตลอด

ขณะที่รายจ่ายทางด้านสวัสดิการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดปี 2566 จะมีค่าใช้จ่ายสวัสดิการถึง 3 ล้านล้านบาท และปี 2585 จะสูงถึง 6.5 ล้านล้านบาท

โดยภาษี นอกจากเป็นแหล่งรายได้ ยังเป็นเครื่องมือรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย เช่น การปรับเพิ่มภาษี เพื่อช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ด้วย ซึ่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้

อย่างไรก็ดี หากดูสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปี 2564 เก็บได้ 3.38 แสนล้านบาท หรือ 12.2% ของรายได้ภาษีทั้งหมด แต่ถ้าไปดูอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ช่วงปี 2556-2564 จะพบว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยแค่ปีละ 1.6% เท่านั้น ซึ่งต่ำมาก

“ปี 2564 มีผู้ยื่นแบบฯ ทั้งสิ้น 10.8 ล้านคน แต่มีผู้จ่ายภาษีแค่ 4.2 ล้านคน คือจ่ายแค่ 38% เท่านั้น และส่วนใหญ่มาจาก ภ.ง.ด.91 คือผู้มีเงินได้ประจำถึง 2.8 ล้านคน อีก 1.4 ล้านคนมาจาก ภ.ง.ด.90”

ทั้งนี้ การเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย ถือว่าเก็บได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ใน OECD

“มีการศึกษาว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย ยังไม่ได้ช่วยในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำได้เท่าไหร่นัก ซึ่งปัญหาหนึ่งที่เราพบ ก็คือ แรงงานไทยเกือบ 3 ใน 4 อยู่นอกระบบภาษี ซึ่งจากการสำรวจแรงงานมีรายได้ที่ถึงเกณฑ์เสียภาษี 19 ล้านคน แต่ข้อมูลสรรพากรพบว่า ยื่นแบบฯ แค่ 10.8 ล้านคน”

นอกจากนี้ การหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนต่าง ๆ ก็พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้สูง หรือมีรายได้พึงประเมินตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับประโยชน์มากกว่า กลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลาง ทั้งในแง่การหักค่าใช้จ่าย และการหักลดหย่อนภาษี

นางสาววรวรรณ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของ สศช. คือ

1.ต้องมีมาตรการในการนำคนทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในระบบภาษี โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยปรับปรุงกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดในการเข้าระบบภาษีของคนบางกลุ่ม เพื่อให้ผู้มีเงินได้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี ทั้งนี้ นอกจากจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้มากขึ้นแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ให้รัฐมีฐานข้อมูลสำหรับจัดทำนโยบายและมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ อีกด้วย

2.ทบทวนการยกเว้นภาษีให้แก่รายได้บางประเภท เนื่องจากการกำหนดให้มีการยกเว้นในอดีตนั้นเป็นไปเพื่อหวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสังคมบางประการ ซึ่งควรมีการทบทวนถึงความจำเป็นที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและไม่เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม

3.ทบทวนสิทธิประโยชน์การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน พิจารณาทบทวนเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายและอัตราลดหย่อนให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยที่ยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้และไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้มากเกินจำเป็น อีกทั้งจะต้องทบทวนรายการลดหย่อนบางประการที่อาจเอื้อต่อผู้มีรายได้สูงมากเกินไป

และ 4.สื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี โดยการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากการใช้งบประมาณเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี อันจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 3/3/2566

สภาพัฒน์ฯ หวั่นส่งออกมีปัญหากระทบจ้างงาน-ท่องเที่ยวขาดแคลนแรงงาน 1 หมื่นตำแหน่ง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 การจ้างงาน และอัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.5% โดยมีผู้มีงานทำ 39.6 ล้านคน ซึ่งทั้งปี 2565 การจ้างงานเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1% ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่อง ทั้งปี 2565 อยู่ที่ 1.32%

“อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัตราการว่างงานในระบบที่ลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2565 ขณะนี้อัตราการว่างงานในระบบอยู่ที่ 1.69% และอัตราการว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 1.15% ซึ่งก็ลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2564 แล้ว” นายดนุชากล่าว

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4 ปี 2565 การจ้างงานที่ขยายตัว 1.5% พบว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้นประมาณ 27.4 ล้านคน ขณะที่แรงงานในภาคเกษตรปรับลดลง

แรงงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น จะอยู่ในส่วนของโรงแรม ภัตตาคาร ภาคการผลิต ภาคขนส่งและเก็บสินค้า ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปนอกภาคเกษตรมากขึ้น ต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว

ขณะที่ชั่วโมงการทำงานก็ปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของเอกชนในไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 46.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนทั้งปีอยู่ที่ 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว ส่วนผู้ที่ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นประมาณ 9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และผู้เสมือนว่างงาน ก็ปรับตัวลดลง โดยสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 19%

ด้านค่าจ้างแรงงานภาพรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 13,964 บาทต่อคนต่อเดือน โดยในส่วนของภาคเอกชน อยู่ที่เฉลี่ย 15,416 บาทต่อคนต่อเดือน

นอกจากนี้ หากดูอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษา ก็พบว่า ลดลงในทุกระดับการศึกษา แสดงให้เห็นว่าตอนนี้มาการจ้างงานเพิ่มขึ้น

เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญ 1.การจ้างงานในอุตสาหกรรมการส่งออก เนื่องจากมีสัญญาณว่าการส่งออกจะชะลอลง ก็ต้องเร่งขยายการส่งออก เพื่อให้แรงงานในภาคนี้ยังมีงานทำได้ต่อไป 2.ภาระค่าครองชีพ จากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปบ้างแล้วก็ตาม

และ 3.การขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ยังคงขาดแคลน

“ปี 2566 นี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 28 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันกิจการโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร และร้านค้ายังมีความต้องการแรงงานประมาณ 10,000 ตำแหน่ง ใน 60 จังหวัด” เลขาธิการ สศช.ระบุ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 2/3/2566

รมว.แรงงานเยือนออสเตรเลีย เร่งเจรจาส่งคนไทยไปทำภาคเกษตร

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าพบนางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศออสเตรเลีย

เพื่อประชุมหารือข้อราชการด้านแรงงาน ในประเด็นการให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยในภาคเกษตร และแนวโน้มการขยายตลาดแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรม ภาคการบริการ เช่น สาขานวดไทย สปา และพ่อครัว แม่ครัวไทย เพื่อเพิ่มโอกาสในการผลักดันให้แรงงานไทยไปทำงานในออสเตรเลียมากขึ้น ตลอดจนหารือในการจัดตั้งสำนักงานแรงงานในเครือรัฐออสเตรเลีย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อ และอำนวยความสะดวกให้แรงงานไทยที่ทำงาน ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย

นายสุชาติกล่าวว่า การหารือในคร้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขยายตลาดแรงงานให้แรงงานไทยสามารถเข้ามาทำงานในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น ในตำแหน่งงานที่เหมาะสม และได้รับค่าตอบแทนที่ดี รวมถึงการขยายตลาดแรงงานเพื่อให้ประเทศออสเตรเลียเปิดรับแรงงานในภาคเกษตรจากประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแรงงานไทยได้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ทำให้คนไทยมีงานทำ มีอาชีพ นำรายได้เข้าประเทศและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ส่วนการจัดตั้งสำนักงานแรงงานในออสเตรเลียนั้นขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างผลักดัน เพื่อให้เป็นหน่วยงานดูแล ประสาน ส่งเสริม และช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทยและออสเตรเลียในความร่วมมือด้านแรงงานมากขึ้นต่อไป

“ผมขอขอบคุณท่านเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา ที่ได้หารือในวันนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะช่วยสร้างโอกาสให้แรงงานไทยได้มาทำงานในออสเตรเลียมากขึ้น สามารถเพิ่มทักษะฝีมือ ยกระดับรายได้ให้กับตนเอง และครอบครัว ที่สำคัญจะช่วยสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย และขอขอบคุณที่ให้การดูแลแรงงานไทยเป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่และได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย การที่แรงงานไทยได้มีโอกาสมาทำงานที่ออสเตรเลียจะเป็นการช่วยพัฒนาทักษะฝีมือ สร้างรายได้ ช่วยยกระดับฐานะแก่ครอบครัว” นายสุชาติ

ด้านนางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า การมาเยือนออสเตรเลียของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่จะได้หารือเกี่ยวกับการขยายตลาดแรงงานให้คนไทยที่มีฝีมือ มีมาตรฐานได้มีโอกาสมาทำงานในออสเตรเลียเพิ่ม

เนื่องจากขณะนี้ออสเตรเลียก็มีความต้องการแรงงานโดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ เช่น ช่างเชื่อม ช่างเทคนิค วิศวกร และช่างทักษะฝีมือ นอกจากนี้ ทักษะภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่ฝ่ายออสเตรเลียกำหนดเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งในการเดินทางมาทำงานในออสเตรเลีย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 2/3/2566

ไฟเขียวเอาผิดเอเจนซี่เถื่อน ตุ๋นคนไทยทำงาน ‘ญี่ปุ่น-มัลดีฟส์’

1 มี.ค. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีผู้เสียหายจากหลายจังหวัดร่วม 20 คน ถูกเฟซบุ๊กรายหนึ่งแอบอ้างพาไปทำงานตำแหน่งพนักงานต้อนรับ ประเทศมัลดีฟส์ รายได้ 80,000-90,000 บาท และตำแหน่งคนงานสวน ประเทศญี่ปุ่น รายได้ 72,000 บาท โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยวเข้าประเทศ สุดท้ายถูกหลอกลวงสูญเงินรายละ 50,000-85,000 บาท และเลื่อนการเดินทางออกไปเรื่อยๆ พร้อมบ่ายเบี่ยงไม่คืนเงิน จึงรวมตัวกันเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน  บก.ปคม. เพื่อตรวจสอบดำเนินคดี ซึ่งตนทราบเรื่องแล้วไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการไปยังอธิบดีกรมการจัดหางาน เร่งติดตาม ช่วยเหลือ และร่วมฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนไทยไปทำงานต่างประเทศตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ล่าสุดกรมการจัดหางานตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ทางทะเบียนระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์แล้ว พบว่า สาย-นายหน้ากลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานของผู้รับอนุญาต ซึ่งมีความผิด ตามมาตรา 66 ข้อหา การโฆษณาการจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 91 ตรี ข้อหา “หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีความผิด ฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”

“การไปทำงานประเทศใดต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้น หากสาย-นายหน้ามีพฤติการณ์แนะนำให้ทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นชักชวนทำงานผิดกฎหมาย การลักลอบเข้าประเทศ ใช้วีซ่าท่องเที่ยวไปทำงาน หรือไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงาน ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง และโปรดอย่าหลงเชื่อ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมการจัดหางาน ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการหลอกลวงคนหางานในทุกช่องทางมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีคนไทยถูกหลอกลวงเรื่อยมา โดยปีงบประมาณ 2566 มีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 78 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 197 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 15,658,865 บาท จึงเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบโดยมอบหมายให้เวรประจำแต่ละวัน  จับตาสื่อสังคมออนไลน์ หากพบเห็นผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงบนสื่อสังคมออนไลน์ ชุดเฝ้าระวังจะนำข้อความแจ้งเตือนที่กรมการจัดหางานได้จัดทำขึ้น (แบนเนอร์โฆษณาสื่อออนไลน์) ไปโพสต์โต้ตอบใต้โพสต์ดังกล่าวทันที พร้อมกับประชาสัมพันธ์ข้อแนะนำก่อนตัดสินใจสมัครงาน วิธีการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมี 5 วิธี ได้แก่ บริษัทจัดหางานจัดส่ง กรมการจัดหางานจัดส่ง เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน และนายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านระบบ e – Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือที่ Facebook : ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: แนวหน้า, 1/3/2566

ภูเก็ต แรงงานขาดหนัก เตรียมดึงนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวะ มาฝึกงาน

นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก และคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน ทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ในจังหวัดมีความต้องการแรงงานกว่า 931 อัตรา ซึ่งในวันที่ 12 มีนาคม 2566 จะมีการลงนาม MOU กับ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต เพื่อแก้ปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน

ด้าน นายวิทยา เกตุชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากเติบโตแบบก้าวกระโดด ที่ผ่านมาประสบกับการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยวันที่ 12 มีนาคม 2566 วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ได้เชิญวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศจำนวน 70 วิทยาลัย ส่งนักศึกษามาฝึกประสบการณ์ หลักสูตร ทวิภาคี เป็นการเชื่อมระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษา ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดมาก

ซึ่งปีนี้มีนักศึกษาเข้ามาฝึกงานในภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามัน จำนวน 4,000-5,000 คน โดยเฉพาะของภูเก็ต ออกฝึกงานรอบละ 1,200 คน ปีนี้เพิ่มนักศึกษาประมาณ 300-400 คน ในระบบทวิภาคี และมีนักศึกษาสมัครเข้ามาจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน นักศึกษาที่สมัครเข้ามาทางโรงแรมจะมีการเซ็นสัญญาและมีเงินเดือนให้ประมาณ 10,000 บาท เป็นโมเดลเฉพาะสาขาเกี่ยวกับเรื่องอาหาร ปัจจุบันมีการทำกับเครือไมเนอร์ โรงแรมอนันตรา ไม้ขาว

“ก่อนหน้านี้ที่ทำกับเซ็นทรัล ระบบทวิภาคีเหมือนกัน นักศึกษาที่จบการศึกษาในปีนี้ได้ทำงานหมด 100% มีการทำกับโรงแรมระดับ 5 ดาวหลายแห่ง เชื่อมโยงนโยบายการศึกษา นโยบายชาติ ขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ต โดยการบูรณาการทุกภาคส่วนสามารถตอบโจทย์ได้ ในระยะสั้นที่ สามารถแก้ปัญหาได้เลย”

นอกจากนี้ กลุ่มโรงแรมแอคคอร์ ต้องการคนมากมาติดต่อที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ตจำนวนหลายครั้ง ส่วนวิทยาลัยต่าง ๆ ส่งนักศึกษามาจากร้อยเอ็ด ได้สัมภาษณ์นักศึกษาแล้ว และหลังจากวันที่ 12 มีนาคม นี้จะทยอยเข้ามาอีก เป็นการบูรณาการที่ดีมาก สามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็ว

ส่วนระยะยาว1จะมีการรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นในส่วนที่ต้องการกำลังคน เอาตลาดเป็นฐานโดยเฉพาะ สาขาอาหาร และท่องเที่ยว เป็นสาขาที่ตลาดมีความต้องการมาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันรายได้ท่องเที่ยวภูเก็ต เป็นอันดับหนึ่งของประเทศสิ่งที่สนับสนุนคือกำลังคนที่เข้าระบบแรงงาน จะบูรณาการการทำงานเชื่อมโยงกันต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 28/2/2566

ขีดเส้นผีน้อยที่เกาหลี รีบกลับภายใน 28 ก.พ. 2566

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ยังปรากฏกรณีแรงงานจากไทยลักลอบไปทำงานต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการเดินทางไปในลักษณะเป็นกรุ๊ปทัวร์ แล้วหนีทัวร์ไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศปลายทาง รัฐบาลขอย้ำเตือนอีกครั้ง ขอให้ผู้ที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศทุกคน ให้ไปอย่างถูกกฎหมาย เพื่อให้มีหลักประกัน ไม่ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ได้รับความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิต หรือประสบเหตุไม่คาดคิดซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ การเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย สามารถดำเนินการผ่านทั้งกรมการจัดหางาน หรือบริษัทจัดการหางานเอกชน ที่มีความน่าเชื่อถือ ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน และควรศึกษาสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองแรงงานในประเทศจุดหมายที่ต้องการไปทำงาน ซึ่งสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้จัดทำคู่มือให้คำแนะนำสำหรับแรงงานไทยในประเทศต่าง โดยผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้ตามลิงค์ https://bit.ly/41vRQn9

“การไปทำงานต่างประเทศมีโอกาสที่แรงงานจะประสบเหตุไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งหากเดินทางไปอย่างถูกกฎหมายก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ รวมถึงการช่วยเหลือจากทางการไทยเช่นสิทธิตามกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่คนไทยไปทำงานแบบผิดกฎหมายจำนวนมาก ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่กระทรวงยุติธรรม เกาหลีใต้ เปิดให้ชาวต่างชาติที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย สามารถรายงานตัวเพื่อออกจากเกาหลีใต้โดยสมัครใจ โดยสามารถรายงานตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือผ่านทางออนไลน์ที่ www.hikorea.go.kr พร้อมกับเอกสารประกอบ ได้แก่ พาสปอร์ต ใบแจ้งการเดินทาง และบัตรโดยสารเครื่องบิน หากเลยเวลาที่กำหนดแล้ว และทางการตรวจสอบพบการทำงานงานผิดกฎหมาย จะถูกปรับ 30 ล้านวอน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 800,000 บาท และจะถูกเพิ่มความเข้มงวดในการเดินทางกลับเข้าประเทศเกาหลีใต้

ทั้งนี้ ชาวไทยในเกาหลีใต้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Immigration Contact Center โทร.1345 (มีล่ามภาษาไทยบริการ) หรือเว็บไซต์ Korea Immigration Service ที่ www.immigration.go.kr

ที่มา: แนวหน้า, 27/2/2566

สกัดปัญหาค้ามนุษย์แรงงานต่างด้าว 22 จังหวัดชายทะเล กรมประมงจัดติวเข้ม

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พลตำรวจเอกจารุวัฒน์ ไวศยะ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมงและแรงงานในภาคประมง เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “โครงการปฏิบัติการคัดกรองแรงงานต่างด้าวในภาคประมงทะเล ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism-NRM)” แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มุ่งยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 22 จังหวัดติดชายทะเล

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่มุ่งมั่นและจริงจังในการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยบูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงานอย่างเข้มแข็งในทุกมิติ และมีนโยบายยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอนของกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism-NRM)

นับตั้งแต่การเผชิญเหตุ การคัดกรองเบื้องต้น การแสวงหาข้อเท็จจริง การคัดแยกผู้เสียหาย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองสำหรับผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้สามารถแก้ไขปัญหาและเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้อย่างยั่งยืน

กรมประมงหนึ่งในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ภายใต้คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จึงได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “โครงการปฏิบัติการคัดกรองแรงงานต่างด้าวในภาคประมงทะเล ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism-NRM)” ภายใต้แผนการปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติการบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จาก 4 หน่วยงาน จำนวน 278 ราย

ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สังกัดกรมประมง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมการจัดหางาน) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 อบรมระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2566 และรุ่นที่ 2 อบรมระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ราชพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี

สำหรับโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ด้วยการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานผ่านการบรรยายให้ความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อต่าง ๆ

อาทิ แนวทางการดำเนินงานตามโครงการ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ เทคนิคในการสัมภาษณ์คัดกรองแรงงานต่างด้าวภาคประมงทะเลเบื้องต้น การตรวจสอบเอกสารประจำตัวของคนต่างด้าวและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ พร้อมแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติการใช้เครื่องมือการจัดเก็บข้อมูลการคัดกรองแรงงานต่างด้าวในภาคประมงทะเล

โดยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจำนวน 50 ชุด สำหรับคัดกรองแรงงานในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล เพื่อควบคุมและป้องกันการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวของภาคประมงทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า กรมประมงมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในภาคการประมงทะเลอย่างจริงจัง สอดรับกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน นับเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 27/2/2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net