Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน ฝึก Gig Worker ต่อยอดอาชีพ สร้างรายได้สู่ชุมชน

วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจจำนวนหนึ่งต้องปิดตัวลง เลิกจ้างแรงงาน อัตราการว่างงานของไทยสูงขึ้น “กระทรวงแรงงาน” จึงต้องเข้ามามีบทบาทในการพยุงให้รอดทั้งในส่วนของสถานประกอบกิจการ และแก้ปัญหาคนตกงานให้มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงปากท้องต่อไปได้ ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดอบรมอาชีพให้กับประชาชน ได้มีวิชาติดตัว สามารถเผชิญกับทุกปัญหาทั้งในวันนี้ และวันหน้า

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมีอยู่มาก ล่าสุดก็เดินหน้า โครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 (Gig Worker) ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมมอบเครื่องมือทำมาหากินเป็นทุนในการทำมาหากินด้วย เมื่อคนไทยมีงานทำ มีรายได้สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ก้าวผ่านเส้นความยากจน สังคมก็จะดี ประเทศชาติในภาพรวมก็ดีขึ้นตามมา เพราะฉะนั้นการฝึกอาชีพให้คนไทย เป็นการลงทุนที่ถือว่ามีความคุ้มค่า

สำหรับรายละเอียดเชิงลึกของโครงการนี้ “นางสาวบุปผา เรืองสุด” รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบายว่า โครงการพัฒนาทักษะให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งชาติ จริง ๆ เป็นโครงการต่อเนื่อง แต่ในปีนี้กรมฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือสำหรับมอบให้แก่ผู้ที่ผ่านการอบรม เพื่อจะได้นำไปต่อยอดประกอบอาชีพด้วย และระหว่างการฝึกก็มีเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 120 บาท เพราะช่วงที่อบรมก็ต้องขาดรายได้ไป เช่น ที่จังหวัดชลบุรี โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากผ้าเพื่อการพาณิชย์ ณ กลุ่มสตรีผ้าบาติก ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งอบรมเมื่อวันที่ 27- 28 ก.พ. และ 3-5 มี.ค. ที่ผ่านมา 20 คน

“รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เมื่อได้รับความรู้แล้ว และมีรายได้น้อย การจะหาเงินไปลงทุนซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อนำความรู้ดังกล่าวไปประกอบอาชีพ จึงยากที่จะทำได้ จึงมอบหมายให้กรมฯ จัดทำโครงการฝึกอบรมพร้อมกับจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพให้ โดยหวังว่าช่วยให้สามารถประกอบอาชีพได้จริงโดยมีการติดตามผลเป็นระยะ”

อีกด้านหนึ่ง นางสาวทัศนีย์ เอี่ยมศรี หรือป้าเจี๊ยบ วัย 60 ปี ผู้ผ่านการอบรมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี หลักสูตรการประกอบขนมอบ เล่าว่า ปัจจุบันอาศัยอยู่คนเดียวในบ้านของตนเอง หาเลี้ยงชีพด้วยการขายข้าวเหนียวหมูปิ้งหน้าโรงเรียนในวันธรรมดา ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์จะขายในตลาดสด มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 3,500-4,000 บาท

ทั้งนี้ หากโรงเรียนปิดเทอมรายได้ก็ลดลง แม้จะเปลี่ยนมาขายในตลาดทุกวันแต่รายได้ก็ไม่เท่ากับที่ขายหน้าโรงเรียน โดยเฉพาะระยะหลัง ๆ ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น จากราคาเนื้อหมูที่ดีดตัวสูงขึ้น กำไรที่ได้ก็ลดลงกว่าครึ่ง จึงต้องหาอาชีพเสริม โดยเป็นตัวแทนขายเครื่องสำอาง ส่งแคตตาล็อกสินค้าเร่ขายในหมู่บ้าน แต่ก็มีรายได้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่แต่ละรอบที่มีคนสั่งและได้เปอร์เซ็นต์ในการขายต่อเดือนประมาณ 300-1,000 บาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้ารับการอบรมสูตรการประกอบขนม อบ ซึ่งใช้เวลากว่า 30 ชั่วโมง ตามโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 ซึ่งนอกจากจะทำให้ตนมีทักษะฝีมือที่เพิ่มขึ้นแล้ว หลังฝึกจบยังได้รับมอบอุปกรณ์ทำขนมให้ด้วย ทำให้ตนมีทางเลือกการทำมาหากินเพิ่มขึ้นอีก

“ขอขอบคุณกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มีโครงการดี ๆ แบบนี้ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย ได้มีความรู้ มีอุปกรณ์ต่อทุน มีอาชีพเสริม เลี้ยงดูตนเองได้ สร้างงานให้ชุมชนที่อยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน”

ที่มา: เดลินิวส์, 11/3/2566

โรงแรมยังวิกฤตแรงงาน หันจ้าง Part-time เพิ่ม OT เสริมทัพ

10 มี.ค. 2566 รายงานข่าวจากสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจโรงแรมไทยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า โรงแรมส่วนใหญ่หรือประมาณ 67% ยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานเดิมส่วนหนึ่งไปประกอบอาชีพอื่น และการแย่งแรงงานระหว่างโรงแรม โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งมองว่ากระทบคุณภาพบริการ และบางส่วนมองว่าอาจจะกระทบต่อจำนวนลูกค้าที่รองรับได้ หากปัญหาขาดแคลนแรงงานยังไม่คลี่คลาย

โดยที่ผ่านมาโรงแรมกว่า 50% ปรับตัวด้วยการจ้างพนักงาน Part-time และเพิ่มเวลาทำงานล่วงเวลา (OT) เพื่อบรรเทาปัญหา นอกจากนี้ บางส่วนยังเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน เช่น ฝึกอบรม, จ้างพนักงานเพิ่ม รวมถึงเพิ่มค่าจ้างเพื่อดึงดูดแรงงาน และปรับลดการให้บริการ

นอกจากนี้ ธุรกิจโรงแรมยังประสบปัญหาด้านต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ค่าไฟ ราคาวัตถุดิบ ทำให้โรงแรมต้องการมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงการควบคุมราคาสินค้าหรือวัตถุดิบ และมาตรการลดหย่อนภาษี (เช่น นำค่าใช้จ่ายค่าจ้างนักศึกษาฝึกใหม่ หรือปรับปรุงโรงแรมมาลดหย่อนภาษี)

รองลงมาคือ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น ประชาสัมพันธ์และนำเสนอการท่องเที่ยวไทยอย่างสม่ำเสมอ จัดกิจกรรมต่าง ๆ สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ อำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนการขอ Visa On Arrival (VOA) รวมถึงการเร่งปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว/โครงสร้างพื้นฐานให้มีความทั่วถึงมากขึ้น ฯลฯ

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel Business Operator Sentiment Index) เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สำรวจระหว่างวันที่ 8-22 กุมภาพันธ์ 2566 จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 120 แห่งนั้น พบว่าโรงแรมมีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการเข้าพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อโรงแรมในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคเหนือและภาคอีสานที่จำนวนนักท่องเที่ยวแผ่วลงหลังหมดฤดูกาลท่องเที่ยว

โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 66% เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2566 ที่ 64% ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (Free Individual Traveler : FIT) ทั้งนี้ คาดการณ์อัตราการเข้าพักโดยรวมในเดือนมีนาคม 2566 จะอยู่ที่ 61%

ทั้งนี้ ลูกค้าหลักของผู้ตอบส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างชาติ สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% คิดเป็น 70% ของผู้ตอบแบบสำรวจ และหากพิจารณากลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพักส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันตก ตามลำดับ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 10/3/2566

เผย 7 ปี คนงานไทยในเกาหลีใต้เสียชีวิต 695 คน เป็นแรงงานผิดกฎหมาย 86%

ข้อมูลจากสถานทูตไทยในเกาหลีใต้ที่บีบีซีไทยร้องขอ พบว่าตั้งแต่ปี 2559 แรงงานลักลอบเข้าผิดกฎหมายผิดกฎหมายชาวไทยในเกาหลีใต้ หรือที่เรียกกันว่า "ผีน้อย" เสียชีวิตหลายร้อยรายในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ส่วนมากเป็นแรงงานที่ไม่มีวีซ่าหรืออยู่อย่างผิดกฎหมาย พบสาเหตุเสียชีวิตไม่ชัดเจนมากเท่ากับการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย

ข่าวการเสียชีวิตของบุญชู ประวะเสนัง แรงงานไทยอายุ 67 ปี ที่ลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้มาเป็นเวลานับสิบปี เสียชีวิตโดยพบร่างบนเนินเขาหลังฟาร์มหมู ซึ่งนายจ้างถูกกล่าวหาว่าอำพรางศพ สร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทยที่ได้รับข่าวสาร

ตำรวจเกาหลีใต้เปิดเผยหลังชันสูตรศพว่า “ไม่มีข้อสงสัยว่าเป็นการฆาตกรรม สันนิษฐานว่าเสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพ และหัวใจผิดปกติ”

แต่บุญชูไม่ใช่แรงงานไทยเพียงคนเดียวจบชีวิตชีวิตในเกาหลีใต้ ที่อาจมีสาเหตุจากเรื่องปัญหาสุขภาพ

จากสถิติการเสียชีวิตของคนไทยในเกาหลีใต้ ระหว่างปี 2559 ถึงเดือน ก.ย. 2565 ที่บีบีซีไทยได้รับจาก ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล พบว่า มีแรงงานไทยเสียชีวิตจำนวน 695 คน เพิ่มขึ้นจากสิ้นสุดปี 2563 ถึง 240 คน หรือราว 34%

ที่มา: BBC Thai, 9/3/2566

สธ. เผยคืบหน้าดูแลพนักงานกระทรวงและลูกจ้างชั่วคราว กรณีค่าเสี่ยงภัย-โอที

นายสรรเสริญ นามพรม ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการดูแลกลุ่มพนักงานกระทรวงและลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุขและกลุ่มลูกจ้างได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารงานของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาแนวทางดำเนินการร่วมกัน สำหรับประเด็นที่อยู่ในอำนาจกระทรวงสาธารณสุข และดำเนินการแล้ว ได้แก่

1. การยกเลิกการจ้างลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมาบริการ (รายเดือน/รายวัน) และปรับเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข อ.ก.พ. ได้มีมติอนุมัติกรอบอัตรากำลังใหม่แล้ว จะให้หน่วยงานทยอยลดการจ้างงานประเภทลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมาบริการ (รายเดือน/รายวัน) และสนับสนุนเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่เป็นลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติเป็นการประจำต่อไป

2. การขอรับค่าเสี่ยงภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้กองยุทธศาสตร์และแผนงาน เสนอปรับปรุงข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 10) ต่อกระทรวงการคลังแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณา

3. การขอรับค่าเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 ได้เสนอขอรับการสนับสนุนสำหรับบุคลากรทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุน รวมถึงบุคลากรของหน่วยงานภายนอกสังกัดทั้งมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง จำนวนทั้งสิ้น 7,181,617,200 บาท ขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักงบประมาณ และอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

4. การปรับค่าทำงานนอกเวลา (OT) ขณะนี้ให้ดำเนินการตามหนังสือที่ สธ 0202.3.7/ว79 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ที่มีการปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทน โดยให้ได้รับค่าตอบแทนจากเดิมอัตรา 300 บาท เป็น 330 บาท ส่วนการปรับเพิ่มจาก 330 บาท เป็น 400 บาท จะรับไว้พิจารณาต่อไป

5. การช่วยเหลือเรื่องภาระหนี้สินและลดรายจ่ายของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับธนาคารออมสินในเบื้องต้นแล้ว อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือ

สำหรับพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่สามารถสมัครสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ เนื่องจากบางส่วนราชการไม่มีเงินบำรุงเพียงพอ นายสรรเสริญ ระบุว่า อยู่ระหว่างรอผู้แทนพนักงานกระทรวงสาธารณสุขสำรวจข้อมูลผู้ที่ไม่สามารถสมัครกองทุนได้ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 8/3/2566

กทม. ออก 4 มาตรการเข้ม ยกระดับความปลอดภัยคนงานกวาด-เก็บขยะ

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกรณีพนักงานกวาดกทม.ประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ ว่า จากอุบัติเหตุรถชนนางสาวครสวรรค์ ขุนนะลา ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) เขตธนบุรี เป็นเหตุให้เสียชีวิตขณะปฏิบัติงาน คดีอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลบางยี่เรือ โดยคู่กรณีพร้อมทั้งญาติผู้เสียชีวิตเข้าพบร้อยเวรแล้ว อยู่ระหว่างสรุปข้อเท็จจริงของสถานีตำรวจฯ

สำนักงานเขตธนบุรี ได้สรุปความช่วยเหลือเบื้องต้นตามสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอันพึงได้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,563,560 บาท ประกอบด้วย

1. ค่าจัดการศพ 3 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย (เงินเดือน 19,720 บาท) เป็นเงิน 59,160 บาท

2. บำเหน็จปกติลูกจ้างประจำ อายุราชการ 15 ปี เป็นเงิน 295,800 บาท

3. บำเหน็จพิเศษ 30 เท่า เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นเงิน 591,600 บาท

4. ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม (สำนักงานเขตธนบุรี) เป็นเงิน 100,000 บาท

5. ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มพนักงานกวาด (สำนักสิ่งแวดล้อม) เป็นเงิน 100,000 บาท

6. เงินช่วยเหลือค่าทำศพสหกรณ์ออมทรัพย์กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 15,000 บาท

7. เงินฌาปนกิจสงเคราะห์กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 380,000 บาท

8. เงินช่วยเหลือค่าทำศพ (จากการรวบรวมความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ) เป็นเงิน 12,000 บาท

9. เงินช่วยเหลือค่าทำศพจากกองทุนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นเงิน 10,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของการดำเนินคดีและการชดใช้จากคู่กรณี ประกอบด้วย 1. ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ของคู่กรณี วงเงิน 500,000 บาท 2. เงินชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 วงเงิน 500,000 บาท โดยสำนักงานเขตธนบุรีจะได้ประสานติดตามเรื่องเงินเยียวยาจากคู่กรณีอย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนกรณีอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนนางสาวภัสสริน วงค์เดือน ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) เขตสะพานสูง ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้บาดเจ็บได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง ตั้งแต่วันเกิดเหตุ โดยแพทย์ได้ตรวจรักษาและอนุญาตให้กลับบ้านได้เนื่องจากเป็นการบาดเจ็บที่หน้าแข้งเพียงเล็กน้อย ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง พร้อมคณะผู้บริหารเขตฯ ได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจและสอบถามอาการจากผู้ได้รับบาดเจ็บและจากแพทย์ผู้รักษา พร้อมทั้งมอบเงินช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว

สำหรับความคืบหน้าคดี อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลบางชันเพื่อติดตามคู่กรณีมาดำเนินคดีต่อไป ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยา สำนักงานเขตสะพานสูงได้ประสานโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย ซึ่งจะเบิกจ่ายจากกองทุนเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ในวงเงิน 50,000 บาท นอกจากนี้ผู้ประสบอุบัติเหตุจะได้รับเงินเยียวยาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม อีกกรณีหนึ่ง

โฆษกของ กทม. กล่าวด้วยว่า กรุงเทพมหานครตระหนักถึงปัญหาอุบัติเหตุและความปลอดภัยของพนักงานกวาด พนักงานเก็บขนมูลฝอย และพนักงานสวนสาธารณะ ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยได้ประชุมทำความเข้าใจกับหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะของสำนักงานเขตให้ดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ตามแนวทางการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ 4 มาตรการ ดังนี้

1. พื้นที่ชานเมือง ไม่มีทางเท้าหรือที่เปลี่ยว ให้ใช้รถกวาดดูดฝุ่นแทนคน หากจำเป็นต้องพัฒนา ให้ดำเนินการในเวลาราชการ 08.30 – 16.30 น. ยกเว้นแก้ปัญหาเร่งด่วน

2. กรณีการแก้ปัญหาในเวลาเร่งด่วน ตามข้อ 1. ต้องมีการตั้งกรวยยาง มีผู้ให้สัญญาณ หากดำเนินการเวลากลางคืนต้องมีสัญญาณไฟ มีรถที่มีสัญญาณไฟฉุกเฉินก่อนถึงจุดทำงาน (ลักษณะเดียวกับการทำงานบนทางด่วน)

3. การกำหนดเวลาทำงานพนักงานกวาด แบ่งเป็น 2 ย่าน คือ ย่านแออัด หรือถนนที่ทางเท้ามีปัญหาขยะ ฝุ่นละอองมาก คนเดินมาก จะเข้ากะทำงานในเวลา 05.30 – 13.30 น. และเวลา 13.30 – 21.30 น. ส่วนย่านไม่แออัด หรือทางเท้ามีฝุ่นละอองน้อย จะเข้าทำงานกะเดียว ในเวลา 08.00 – 16.00 น.

4. การกำหนดเวลาในการปฏิบัติงานของพนักงานกวาดถนน ควรพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุให้แก่กลุ่มพนักงานกวาดทั้ง 50 เขต โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทยและบริษัทสมาชิก เงินเอาประกันภัย 100,000 บาทต่อคน เป็นระยะเวลา 1 ปี อีกทั้งได้ดำเนินโครงการมือวิเศษกรุงเทพ แยกเพื่อให้…พี่ไม้กวาด ผลิตชุดสะท้อนแสงรีไซเคิลจากขวดพลาสติกใส เพื่อให้พนักงานสวมใส่ขณะปฏิบัติงาน ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการจำนวน 1,000 ชุด ระยะแรกได้นำร่องทดลองใช้ที่เขตดินแดง จำนวน 200 ชุด และได้ทยอยส่งมอบให้สำนักงานเขตเพิ่มเติมแล้ว 600 ชุด โดยได้มีการประเมินเป็นระยะ ๆ ก่อนที่จะนำมาเป็นแนวทางปรับปรุงเครื่องแบบใหม่ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและเป็นหลักประกันให้แก่พี่น้องพนักงานกวาดที่ทำงานเพื่อคนกรุงเทพฯ

ที่มา: Workpoint Today, 9/3/2566

ประกันสังคมเอ็มโอยู 35 รพ. ร่วมผ่าตัดรักษาผู้ประกันตนเจ็บป่วย ถึง 30 มิ.ย.66

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้รับมอบหมายจาก นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) การให้บริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม โดยมี ผู้บริหาร สปส. รวมทั้งผู้บริหารสถานพยาบาล 35 แห่ง พร้อมเจ้าหน้าที่ สปส. เข้าร่วม ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร

นายบุญสงค์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลและเข้าถึงการให้บริการ รักษาทางการแพทย์ของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายในเรื่องการจัดการและพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์และเข้าถึงการรักษาจากสถานพยาบาลในระบบประกันสังคมให้มากที่สุด โดยให้ สปส. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตน และมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาระบบบริการ ทางการแพทย์อย่างเป็นเลิศเสมอมา ดำเนินการจัดทำ “โครงการให้บริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ป่วยและมีความจำเป็น ต้องเข้ารักษา ด้วยการผ่าตัด หรือทำหัตถการ นำร่องในกลุ่มโรคที่มีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษามากที่สุด สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม เพื่อลดการรอคอยการผ่าตัด ลดระยะเวลาการพักฟื้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็วและดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

“โดย สปส.ได้ร่วมมือกับสถานพยาบาลที่มีศักยภาพตามมาตรฐานที่ สปส.กำหนด นำร่อง ในกลุ่ม 5 โรค ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม, ก้อนเนื้อที่มดลูก, โรคนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลเข้าร่วมทำเอ็มโอยูการให้บริการทางการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 แล้วจำนวน 10 แห่ง ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2566 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการ ทำหัตถการแล้ว จำนวน 692 ราย ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นไปได้ด้วยดี ผู้ประกันตนได้รับการรักษาเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่มีภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิต ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงการรักษา อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยคลอบคลุมมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการพิจารณาสถานพยาบาลที่สมัครเข้าร่วมเพิ่มเติมโดยมีสถานพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์ที่ สปส.กำหนด จำนวน 35 แห่ง พร้อมให้บริการรักษาให้กับผู้ประกันตนตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง” นายบุญสงค์ กล่าว

สำหรับบริการรักษาให้กับผู้ประกันตนตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีดังนี้

ด้านหัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาล (รพ.) วิภาราม กรุงเทพฯ, รพ.เกษมราษฎร์ประชาชื่น กรุงเทพฯ, รพ.พญาไท นวมินทร์กรุงเทพฯ, รพ.บางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงเทพฯ, รพ.เพชรเวช กรุงเทพฯ, รพ.ไทยนครินทร์ กรุงเทพฯ, รพ.กล้วยน้ำไท กรุงเทพฯ, รพ.เกษมราษฎร์รามคำแหง กรุงเทพ, รพ.แพทย์รังสิต ปทุมธานี, รพ.ราชธานี พระนครศรีอยุธยา, รพ.วิภารามปากเกร็ด นนทบุรี, รพ.ภัทร-ธนบุรี ปทุมธานี, รพ.เกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ เชียงราย,

บริการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ รพ.วิภาราม กรุงเทพฯ, รพ.เกษมราษฎร์รามคำแหง กรุงเทพฯ, รพ.พระนารายณ์มหาราช ลพบุรี

บริการผ่าตัดนิ่วในไตและถุงน้ำดี จำนวน 20 แห่ง ได้แก่ รพ.แพทย์รังสิต ปทุมธานี, รพ.ราชธานี พระนครศรีอยุธยา, รพ.ภัทร-ธนบุรี ปทุมธานี, รพ.เกษมราฎร์ ศรีบุรินทร์ เชียงราย, รพ.พระนารายณ์มหาราช ลพบุรี, รพ.ศิครินทร์ กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลหัวเฉียว กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 กรุงเทพฯ, รพ.ลาดพร้าว กรุงเทพฯ, รพ.การุญเวช ปทุมธานี, รพ.เกษมราษฎร์ สระบุรี, รพ.บางปะกอก 3 สมุทรปราการ, รพ.วิภาราม อมตะนคร ชลบุรี, รพ.เอกชล 2 ชลบุรี, รพ.หริภุญชัย เมโมเรียล ลำพูน, รพ.ร่มฉัตร นครสวรรค์, รพ.หนองคาย หนองคาย, รพ.เทพปัญญา เชียงใหม่, รพ.ลานนา เชียงใหม่

บริการผ่าตัดมะเร็งเต้านม จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ รพ.เกษมราษฎ์ ประชาชื่น กรุงเทพฯ, รพ.ภัทร-ธนบุรี ปทุมธานี, รพ.บางปะกอก 3 สมุทรปราการ, รพ.หนองคาย หนองคาย, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรุงเทพฯ, รพ.ลานนา เชียงใหม่

บริการผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก จำนวน 16 แห่ง ได้แก่ รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น กรุงเทพฯ, รพ.แพทย์รังสิต ปทุมธานี, รพ.ราชธานี พระนครศรีอยุธยา, รพ.ศิครินทร์ กรุงเทพฯ, รพ.เกษมราษฎร์ บางแค กรุงเทพฯ, รพ.ลาดพร้าว กรุงเทพฯ, รพ.วิภาราม อมตะนคร ชลบุรี, รพ.เอกชล 2 ชลบุรี, รพ.หริภุญชัย เมโมเรียล ลำพูน, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรุงเทพฯ รพ.ลานนา เชียงใหม่, รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย สมุทรสาคร, รพ.กรุงไทย นนทบุรี, รพ.ราชธานี โรจนะ พระนครศรีอยุธยา, รพ.สำโรงการแพทย์ สมุทรปราการ, รพ.เกษมราษฎ์ฉะเชิงเทรา ฉะเชิงเทรา

เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า สปส.จะจ่ายค่าบริการ ทางการแพทย์โดยตรงกับสถานพยาบาลที่ทำเอ็มโอยู โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการแต่อย่างใด สำหรับระยะเวลาดำเนินการถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการแล้ว สปส.จะติดตามและประเมินผล เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผู้ประกันตนต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 8/3/2566

กระทรวงต่างประเทศชี้แจง 3 ประเด็น กรณีแรงงานไทยเสียชีวิตในเกาหลีใต้

Thailand-South Korea: กรณีการเสียชีวิตของชายชาวไทยที่ทำงานในฟาร์มหมูเกาหลีใต้ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของนายบุญชู ชายชาวไทยที่ทำงานในฟาร์มหมูเกาหลีใต้ ตามที่ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ดังนี้ 

1.สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้ประสานกับตำรวจเมืองโพชอน และรับทราบว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภรรยาของผู้เสียชีวิตที่ไทยไม่สามารถติดต่อผู้เสียชีวิตได้ จึงแจ้งตำรวจเมืองโพชอนให้ช่วยค้นหาผู้เสียชีวิต ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ตำรวจเมืองโพชอนพบร่างของผู้เสียชีวิตที่เมืองโพชอน จังหวัดคยองกี ซึ่งขณะนี้ตำรวจกำลังสืบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิต

2. วันนี้ (8 มีนาคม) สถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถติดต่อภรรยาของผู้เสียชีวิตได้แล้ว โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ อยู่ระหว่างประสานกับภรรยาของผู้เสียชีวิต เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือตามความเหมาะสม และจะติดตามคดีของผู้ที่เสียชีวิตอย่างใกล้ชิดกับทางการเกาหลีใต้ต่อไป

3. กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความเสียใจกับญาติของผู้ที่เสียชีวิต และขอให้แรงงานไทยที่สนใจจะมาทำงานในเกาหลีใต้ปฏิบัติตามกฎและระเบียบการจ้างงานที่ถูกต้อง เพื่อจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในกรณีที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิต

ที่มา: TNN, 8/3/2566

แรงงานสตรี เดินขบวนเรียกร้องรัฐบาล ทำตามข้อเสนอ 9 ข้อ เนื่องในวันสตรีสากล หวังสร้างสังคมที่ไม่กดขี่แรงงานสตรี

8 มี.ค.2566 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พร้อมด้วย แรงงานหญิงหลายร้อยคน ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ ร่วมเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อไปยื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันสตรีสากล แก่นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับข้อเสนอ 9 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอเดิมที่แรงงานเคยเรียกร้องต่อรัฐบาลให้แก้ไขหลายครั้ง ได้แก่

1.รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับต่างๆ

ฉบับ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน

ฉบับ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา

ฉบับ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน

ฉบับ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการละเมิดในโลกของการทำงาน

2.การกำหนดสิทธิลาคลอด 180 วัน และให้ผู้ชายสามารถลาคลอดดูแลภรรยาได้ 30 วัน

3.รัฐต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบ

4.รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 3,000 บาท

5.รัฐต้องกำหนดสัดส่วนผู้หญิง ชาย และเพศสภาพ ในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3 เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม

6.กำหนดวันที่ 8 มี.ค. ของทุกปี เป็นวันหยุดตามประเพณี

7.การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว

8.ให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33

9.ขอให้รัฐบาลไทยเจรจากับทางการเมียนมาให้แรงงานสามารถต่อสัญญาในประเทศได้

ขณะที่นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ จากกลุ่มแรงงานสตรี ส่งให้นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขต่อไป

สำหรับการออกมาเรียกร้องในวันนี้ แรงงานสตรีทุกคนต่างหวังว่ารัฐบาลจะสามารถทำตามข้อเรียกร้องทั้งหมดได้ พร้อมฝากความหวังไปถึงพรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาลสมัยต่อไปด้วย

การถูกกดขี่และถูกเอาเปรียบของแรงงานสตรี ยังเป็นความกังวลใจที่ผู้หญิงทุกคนอยากจะให้มีระเบียบหรือกฎหมายมารองรับช่วยเหลือแรงงานทุกคน ซึ่งข้อเสนอ ทั้ง 9 ข้อ แรงงานสตรีทุกคน มองว่าจะช่วยคุ้มครองและป้องกันการถูกละเมิดสิทธิแก่แรงงานสตรีได้

ที่มา: Thai PBS, 8/3/2566

ที่ประชุม ครม.ขยายเวลามาตรการภาษีหนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษอีก 4 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่จ้างผู้พ้นโทษไม่เกิน 15,000 บาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษออกไปอีก 4 ปี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (4 ปีภาษี) จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการรับผู้พ้นโทษเข้าทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวเข้าทำงาน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้พ้นโทษเฉพาะที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2568

อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการทางภาษีดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 705 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษได้มีงานทำหลังได้รับการปล่อยตัว จำนวน 39,000 คน สามารถประกอบอาชีพโดยสุจริตหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 8/3/2566

แรงงานไทย เสียชีวิตที่เกาหลีใต้ เถ้าแก่ฟาร์มหมูกลัวความผิด ขนร่างไปทิ้งบนภูเขา

เพจเฟซบุ๊ก World Forum ข่าวสารต่างประเทศ รายงานพบศพแรงงานไทย วัย 60 ปี ในฟาร์มหมู ถูกนำไปทิ้งเชิงเขาตามรายงานของสถานีตำรวจโพชอนเมื่อวันที่ 6 และวันที่ 4.03.2023 คนงานไทยอายุ 60 ปี ถูกพบเสียชีวิตที่ฟาร์มหมูบนเนินเขาในยองบุก-มยอน เมืองโพชอน จุดที่พบศพอยู่บริเวณเชิงเขาห่างจากที่พักประมาณ 200 เมตร

ในวันที่ 4/03 ตำรวจได้รับแจ้งจากแรงงานไทยอีกคนว่าไม่พบเพื่อนคนไทยชื่อ นาย B (ชื่อสมมติ) ทำงานที่ฟาร์มหมูแห่งนี้มาเกือบ 10 ปี เป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย

ตำรวจพบศพชายสัญชาติไทยนาย B อายุ 60 ปี บนเนินเขาใกล้กับฟาร์มหมูในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน 4/03 ตำรวจได้ออกหมายจับเจ้าของฟาร์มหมููชื่อนาย A (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจกล้องที่เกิดเหตุพบรถไถของเจ้าของฟาร์ม A กำลังเคลื่อนที่อยู่ในบริเวณนั้นคาดว่านำศพไปทิ้ง

ตำรวจเชื่อว่านาย A อาจลงมือก่อเหตุเพราะกลัวว่าเขาจ้างคนเข้าเมืองผิดกฎหมายทำงาน กลัวถูกค้นพบ และกำลังสืบสวนค่าจ้างและสภาพการทำงานของฟาร์มต่าง ๆ

นอกจากนี้ ตำรวจยังได้สอบสวนลูกชายเจ้าของฟาร์มว่ามีส่วนร่วมในการก่อหตุหรือไม่ ข่าวในวันที่ 7/03 ผลการชันสูตรโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ไม่พบข้อสงสัยว่าเป็นการฆาตกรรมในร่างกายของแรงงานไทย องค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจและกระทรวงการจ้างงานและแรงงานกำลังตรวจสอบ สภาพแวดล้อมการทำงานโดยรวมและการค้างค่าจ้างของของฟาร์ม

ที่มา: ข่าวสด, 8/7/2566

นักท่องเที่ยวอาหรับ-อินเดีย หันเที่ยวไทย ธุรกิจการบินฟื้น แต่ขาดแคลนแรงงาน

นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ธุรกิจการบินหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้สายการบินต้องปลดพนักงาน และปรับเพื่อเอาตัวรอด แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย คาดว่าอีก 2 ปี ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งการฟื้นตัวครั้งนี้ ธุรกิจสนามบิน และสายการบินทั่วโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะขณะนี้หลายสนามบินต่างเผชิญสภาวะเดียวกันในการขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นการนำระบบดิจิทัลและหุ่นยนต์ มาช่วยในการทำงานแทนมนุษย์ จึงเป็นสิ่งท้าทายในอนาคต

“ตอนนี้ผู้โดยสารเริ่มกลับมาใช้บริการสนามบินประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ระบบการให้บริการยังไม่สามารถกู้กลับมาได้รวดเร็ว เช่น บริษัทรับขนกระเป๋า แรงงานบางส่วนหันไปประกอบอาชีพใหม่ โดยไม่กลับมาทำงานที่สนามบิน ดังนั้นธุรกิจการบินในปีนี้ ทุกหน่วยงานกำลังหาจุดกึ่งกลาง ที่สามารถรองรับกับปริมาณของผู้โดยสารที่กลับมาให้มากที่สุด”

สำหรับอุตสาหกรรมการบินในไทย คาดว่าปีหน้า บริษัทที่สามารถอยู่รอดได้จะต้องมีสายป่านลงทุนที่ยาว และมีการปรับตัวรวดเร็วในช่วงโควิด ขณะเดียวกันจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ ที่ตอบสนองกับความต้องการของผู้โดยสารที่มีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่นการจองตั๋วโดยสารแบบออนไลน์

แต่หลังจากไทยเปิดประเทศ แนวโน้มนักท่องเที่ยวอินเดีย และตะวันออกกลางมีเพิ่มมากขึ้น สิ่งนี้เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ประกอบการไทยเตรียมพร้อมรับกับกลุ่มนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ ที่อาจมาแทนนักท่องเที่ยวจีน โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง จะเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ไทยเปิดประเทศรอบนี้ ด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ทำให้นักท่องเที่ยวแถบตะวันออกกลางบินเข้ามามากขึ้น ขณะเดียวกันด้วยความที่ช่วงโควิด ทำให้เที่ยวบินที่จะมาต้องมีเครื่องขนาดเล็กลง แต่เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติแล้ว หากมีการบริหารจัดการช่องว่างของเที่ยวบินที่บินมาด้วยเครื่องขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้สายการบินนั้น ตัดสินใจบินมาไทยในระยะยาว และจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจากสายการบินนั้นเดินทางเข้ามาทำให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวได้เร็ว

ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด มีนักท่องเที่ยวจีน เดินทางเข้ามาผ่านสนามบินประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์ และไม่ใช่ชาวจีนอีกประมาณ 74 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้ ก่อนที่จีนจะเปิดประเทศ กลับมีปริมาณนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง และอินเดีย เพิ่มขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นสัดส่วนที่มีมากขึ้น เพิ่มเข้ามาแทนนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป

การปรับตัวของท่าอากาศยานไทย หลังจากเปิดประเทศ การมีสายการบินจากประเทศในตะวันออกกลางเข้ามามากขึ้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการบริการให้เข้ากับตัวเครื่องบิน ตัวอย่างเช่นการปรับเปลี่ยนทางเชื่อมต่อระหว่างอาคารสนามบินกับเครื่องบิน ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ได้กำหนดไว้

หากย้อนดูสถิติ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของท่าอากาศยานไทย ลดลงจาก 142 ล้านคนในปี 2561 เหลือเพียง 72 ล้านคนในปี 2562 โดยเฉลี่ยแล้วระหว่างปี 2563-2565 ปริมาณผู้โดยสารลดลงในอัตราร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้โดยสารรวมในปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์

ขณะเดียวกันการจัดงานประชุมเจรจาธุรกิจ The Route Development Forum for Asia 2023 ซึ่งเป็นงานประชุมเจรจาธุรกิจด้านการบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นเวทีเจรจาธุรกิจระหว่างท่าอากาศยาน สายการบิน หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำนวนกว่า 800 ราย ได้มีโอกาสพบปะ เจรจา แลกเปลี่ยนมุมมอง นำไปสู่การปรับปรุงเครือข่ายทางการบินและการดำเนินธุรกิจ ในระยะสั้น และระยะยาว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 7/3/2566

รัฐบาลแจงภาพรวมแรงงานไทย 65 อัตราว่างงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขอร่วมสร้างรากฐาน ศก.ไทยให้มั่นคง

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2565 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานพบความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับการจ้างงานในไตรมาสสี่ ปี 2565 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น การว่างงานลดลง มีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.15 ขณะที่ภาพรวมทั้งปีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.32 รวมทั้งสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสี่ ปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม โดยนายกรัฐมนตรีพอใจต่อสถานการณ์การจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง พร้อมย้ำให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลเรื่องการแก้ปัญหาการว่างงาน ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

“นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ติดตามภาวการณ์มีงานทำ หรือการว่างงานของประชาชนในภาพรวมทุกไตรมาส ซึ่งภาพรวมด้านแรงงานปี 65 อัตราการมีงานทำปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ในส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน นอกจากนี้ ผู้ว่างงานระยะยาวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และการว่างงานตามระดับการศึกษาลดลงในทุกระดับ ซึ่งทิศทางด้านการจ้างงานที่เป็นบวกนี้ เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จจากการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง รวมทั้งสะท้อนความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดีขึ้น หลังจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลเรื่องการแก้ปัญหาการว่างงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์การจ้างงานแรงงานของไทยดียิ่งขึ้น ให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ร่วมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงไปด้วยกัน” นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ประสานงานกับภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สนับสนุนให้ผู้ที่ต้องการหางาน และสถานประกอบการที่ต้องการรับสมัครคนทำงานมีโอกาสได้พบกัน เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงตำแหน่งงานและเกิดการจ้างงาน โดยทุกคนที่ต้องการมีงานทำ สามารถใช้บริการจัดหางานได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือเลือกหางานผ่านระบบออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ซึ่งให้บริการทั้ง Web Application ที่เว็บไซต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th และ Mobile Application หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

ทั้งนี้ สศช. ได้รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสี่ ปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม การจ้างงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการค้าส่งและค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาการผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต สำหรับภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัวร้อยละ 3.4 จากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และการย้ายสาขาของแรงงาน ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวมและภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 42.6 และ 46.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ ผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นโดยมีจำนวนกว่า 6.3 ล้านคน ขณะที่ผู้ว่างงานแฝงและผู้เสมือนว่างงานลดลงกว่าร้อยละ 28.0 และ 19.0 ตามลำดับ การว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.15 ซึ่งลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน สำหรับภาพรวม ปี 2565 อัตราการมีงานทำและชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อน COVID-19 สถานการณ์ด้านแรงงาน ปี 2565 ผู้มีงานทำมีจำนวน 39.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.0 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัวร้อยละ 1.2 จากผลกระทบของอุทกภัยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 และการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปสู่สาขาที่ฟื้นตัวได้ดี

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5/3/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net