Skip to main content
sharethis

ชี้นโยบายหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำ ขายฝัน-การตลาดชวนเชื่อ หวั่นกระทบห่วงโซ่เศรษฐกิจ

18 มี.ค. 2566 ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 11 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย นำโดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการหลักสูตร จัดการสัมมนาสาธารณะหัวข้อ “ค่าแรงขั้นต่ำ ขายฝันแรงงานไทย?” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณชนได้รับฟังข้อมูลและข้อเสนอแนะต่อนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ทั้งจากมุมมองของภาคแรงงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และนักวิชาการ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ในฐานะนายจ้าง เข้าใจว่าลูกจ้างต้องการค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ แต่ขอให้ลูกจ้างเข้าใจบริบทของประเทศไทย ที่การขายสินค้าบางกลุ่มยังขายได้ในมูลค่าที่ไม่สูงมากนัก ยืนยันว่าการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยจะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการค่าจ้าง 3 ฝ่าย โดยพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ ความสามารถของนายจ้างที่จะจ่าย และความเป็นอยู่ของลูกจ้าง เพื่อให้เกิดความสมดุลกับทุกฝ่ายตามหลักสากล

“ค่าจ้างขั้นต่ำเสมือนเป็นค่าจ้างแรกเข้าเป็นค่าจ้างตามกฎหมาย ที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับลูกจ้างอย่างเท่าเทียม การจ้างงานของไทยในขณะนี้อยู่ในภาวะตึงตัว ตลาดเป็นของลูกจ้าง หรืออยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานไปอีกอย่างน้อย 5 ปี โดยเฉพาะแรงงานในระดับกลางและระดับสูง เนื่องจากแรงงานยังไม่กลับเข้าสู่ระบบ หลังจากการระบาดของโควิด 19” นายธนิต กล่าว

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองต่างๆ ใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียง ด้วยการชูประเด็นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น นายธนิต กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าเป็นนโยบายชวนเชื่อทางการตลาด แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งทำได้จริง เพราะการขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องของนายจ้าง เป็นเรื่องของภาคเอกชนที่เป็นผู้จ่าย ไม่ได้ใช้งบประมาณของพรรคการเมือง หรืองบประมาณจากภาครัฐแต่อย่างใด หากค่าจ้างที่สูงขึ้นเกินจากความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ของการอุปโภคบริโภคทั้งหมด สุดท้ายภาระจะตกอยู่กับผู้บริโภค ทั้งนี้ ในฐานะนายจ้าง มองว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยควรจะเป็นค่าจ้างที่ขึ้นเป็นอัตโนมัติตามอัตราเงินเฟ้อ และต้องไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง

“เป้าหมายคือ นายจ้างลูกจ้างต้องอยู่ด้วยกันได้เหมือนปาท่องโก๋ ดังนั้นการขึ้นค่าจ้าง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ องค์กรไตรภาคี ที่ทำกันมาแล้วกว่า 30 ปี การเมืองอย่างเข้ามาแทรกแซงทำลายต้นทุนของชาติและประชาชน ประชาชนก็ต้องรู้เท่าทันว่า พรรคการเมืองต่างๆ ใช้การตลาด 100% เพื่อให้ได้เข้ามาในสภาฯ” นายธนิต กล่าว

นอกจากนี้ นายธนิต ยังกล่าวว่า ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ เจนแซด (GEN Z) ที่กำลังหางานทำ สิ่งที่ต้องมี คือทักษะด้านภาษา โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน บุคลิกภาพที่ดี แต่งกายที่เหมาะสม มีการเตรียมข้อมูลก่อนการสัมภาษณ์ และสุดท้ายอย่าเลือกงาน เพราะแม้ว่าเงินเดือนจะน้อยในตอนต้น แต่ประสบการทำงานจะทำให้เราสามารถเพิ่มค่าตอบแทนในอนาคตได้

ด้าน รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยถึงผลกระทบของการดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ว่า ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ระหว่าง 308-330 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด ต้องบอกว่ายังมีแรงงานที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 4 ล้านคน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ซึ่งการใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีประสิทธิภาพสูง และควรครอบคลุมถึงการเลี้ยงดูคู่สมรสและบุตรด้วย

ทั้งนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่ค่าจ้างเริ่มต้นของแรงงานมีฝีมือในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาจทำให้เกิดปัญหาการปลดแรงงาน ดังนั้น การเพิ่มค่าจ้างแรงงานควรเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน คือ ต้นทุนผู้ประกอบการที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากการรับภาระค่าแรง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า หากเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานได้มากขึ้น ต้นทุนค่าแรงอาจไม่เพิ่มขึ้น 30-40% เท่ากับค่าแรงที่ปรับขึ้นและด้านการใช้จ่ายของประชาชน การเพิ่มค่าแรงอาจไม่ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้จริงผลกระทบต่อเงินเฟ้ออาจไม่สูงมาก

“การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานได้มากพอสมควร และไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อสัดส่วนการจ้างงาน และสัดส่วนการเข้าร่วมแรงงานของแรงงานทักษะต่ำ แต่เป็นภาพลวงตาจากการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิต ผลกระทบการเคลื่อนย้ายที่น่ากังวลที่สุด อยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะต่ำในวัยหนุ่มสาวอายุ 15-24 มากกว่า” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงพบว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่เหมาะสม เช่น ไม่ทันกับค่าครองชีพ ไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี เช่น แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำให้แรงงานได้ประโยชน์ประมาณ 3.2 ล้านคน หรือประมาณ 30% ช่วยลดช่องว่างความเหลือมล้ำให้กับแรงงาน

ขณะที่นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำเป็นที่ถกเถียงกันมานาน ตนพยายามเสนอค่าจ้างที่เป็นธรรม แต่สถานการณ์วันนี้ ค่าจ้างปัจจุบันตั้งแต่ 333-354 บาท ถือว่าอยู่ได้หรือไม่ ปัญหาคือคนส่วนใหญ่รับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่หลักประกันในการทำงานไม่มี เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจะสอดรับหรือไม่ จึงไม่สามารถวางแผนอนาคตได้ สิ่งที่ทำได้วันนี้คือต้องกู้เงิน ต้องเป็นหนี้ จึงต้องทำงานใช้หนี้ คนงานส่วนใหญ่อยู่ได้ต้องทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ และประกันสังคมก็ไม่ตอบสนองด้านแรงงาน เพราะฉะนั้นโดยภาพรวมด้านแรงงานอยู่ในสภาวะที่ลำบาก เมื่อคนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชีวิตเช่นนี้ อนาคตของประเทศจะไปอย่างไร

ทั้งนี้ ตนเห็นว่าให้เลิกพูดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เสนอให้เป็นระบบโครงสร้างค่าจ้าง ทุกปีจะต้องมีเงินเดือนขึ้น ซึ่งต้องดูที่ดัชนีค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ เพื่อพิจารณาว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างเท่าไหร่ อีกประการหนึ่ง คือ สิทธิในการรวมกลุ่มรวมตัว เพราะการขึ้นค่าจ้างเป็นนโยบายหาเสียงทางการเมือง ที่เข้าไปแทรกแซงกลไกเจรจาต่อรอง แต่คนงานไม่มีสิทธิ์ในการรวมตัว วันนี้มีผู้ใช้แรงงานราว 40 ล้านคน แต่การรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานมีเพียง 6 แสนคน กลไกในการเจรจาต่อรองจึงไม่เกิดขึ้น จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องหาทางออกว่า ระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างแรงงานควรจะเป็นเท่าไหร่

นายสาวิทย์ กล่าวว่า มีงานวิจัยว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิต อีกทั้งประสิทธิภาพการทำงานออกมาดี แต่สำหรับประเทศไทยพบว่าแม้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น แต่ค่าแรงขั้นต่ำกลับปรับขึ้นเพียง 5-8% เท่านั้น คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นได้อย่างไร การชูนโยบายหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำ ย้อนกลับไปในอดีต สิ่งที่พรรคการเมืองหาเสียงนั้นความเป็นจริงไปถึงหรือไม่ ตนเสนอให้จัดทำโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการ และมีโครงสร้างการจ้าง เพื่อให้แรงงานมองเห็นอนาคต เพราะทุกคนอยู่อย่างหวาดระแวง อีกทั้งยังติดกับดักรายได้ปานกลาง แต่ไม่เคยแก้ไขปัญหานั้น และไม่คิดถึงเรื่องการบริโภคภายในประเทศ

ตัวเลขค่าจ้างให้เก็บเอาไว้ก่อน แต่ให้เริ่มจากความเป็นจริงว่า ค่าแรง 354 บาทอยู่ได้หรือไม่ แรงงานทั้งในและนอกระบบทุกคนต้องเท่าเทียมกัน และแรงงานนอกระบบต้องมีหลักประกันอย่างชัดเจน คนส่วนใหญ่หลุดจากการเจรจาต่อรองเพราะกฎหมายไม่คุ้มครอง ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อสร้างศักยภาพต่อรอง จะเป็นการต่อรองเรื่องค่าจ้างโดยอัตโนมัติ ดังนั้น การเมืองที่จะมากำหนดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ จึงต้องทบทวนและคิดใหม่ โดยทำลักษณะโครงสร้างค่าจ้างให้ชัด คำถามที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การเลือกตั้งเราต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้งว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำทำได้จริงหรือเป็นแค่เพียงฝันไปเรื่อย ตนเห็นว่าขายฝัน เพราะตัวเลขไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงต้องถกเถียงเรื่องภาวะเศรษฐกิจและสังคมให้จบ และกำหนดตัวเลขออกมาให้ครอบคลุมทั้งแรงงานในและนอกระบบ

ส่วนนางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แรงงานนอกระบบ คือ แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในภาคการจ้างงานที่เป็นทางการ ปี 2565 คนมีงานทำทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ 20.2 ล้านคน ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำไม่คุ้มครอง ที่เห็นได้ชัดคือ ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 กลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ต้องลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากไม่มีรายได้ประจำ ไม่สามารถที่จะฝันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำได้ อีกทั้งบางอาชีพของแรงงานนอกระบบขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ถ้าการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาก็ยากที่จะฟื้น แม้สถานการณ์โควิด 19 จะคลี่คลาย แต่หลายอาชีพที่เป็นแรงงานนอกระบบก็ยังไม่ได้กลับมาทั้งหมด

“คำถามว่า ค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทยหรือไม่ เราอยู่นอกระบบของการคิดค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ว่าจะประกาศอะไร จะเป็นฝันของใครไม่รู้ แต่ไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือ การคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างที่เป็นธรรม ต้องคุ้มครองถึงแรงงานนอกระบบกลุ่มที่มีผู้จ้างงานหรือนายจ้างด้วย และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องประกันรายได้กลุ่มคนเหล่านี้ ต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มีรายได้ให้เท่าเทียมกับค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในระบบ” นางสุนทรี กล่าว

นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีนโยบายที่จะพลิกโฉมตลาดแรงงานไทยในปีนี้ (2566) เช่น พัฒนาภาคแรงงานต้องสอดรับกับโลกยุคดิจิทัล สนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานนอกระบบ คำนึงถึงความต้องการของสถานประกอบการในประเทศและแรงงาน ได้รับการส่งเสริมด้านรายได้ แรงงานได้รับความคุ้มครองได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสุขอย่างยั่งยืน

“หากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ แน่นอนว่าส่งผลให้อุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในเขตปริมณฑล เพราะไม่มีแรงจูงใจที่จะกระจายการผลิตไปยังจังหวัดที่อยู่ห่างออกไป หากมีปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ก้าวกระโดดสูงเกินไป นอกจากนี้ ไทยอาจสูญเสียความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาสินค้าของไทยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และผู้ประกอบการอาจต้องปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิต ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า หากปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทุกจังหวัดและปรับแบบก้าวกระโดด ที่สำคัญ อาจจะมีผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจท้องถิ่นหรือกิจการขนาดเล็ก ส่งผลให้ต้องลดจำนวนคนงานลงหรือปิดกิจการ ส่วนแรงงานจะมีรายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น มีอำนาจซื้อน้อยลง และมีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง ทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ” นางนภสร กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 18/3/2566

แรงงานไทยเตรียมตัว ซาอุฯ รับผู้ช่วยดูแลงานบ้าน ชูค่าแรงสูง สวัสดิการดี

นายมุฮัมมัด อัลซัวอิกห์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เฮลเปอร์ลิงค์ โซลูชันส์ หรือ Helperlink Solutions กล่าวว่า ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแรงงานจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับแรงงานในไทยก็มีความต้องการออกไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อมีการเปิดประเทศภายหลังวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากมีได้ค่าแรงสูงกว่าการทำงานในประเทศ ช่วยเพิ่มโอกาสฟื้นฟูรายได้ให้กับครัวเรือนได้เร็วขึ้น Helperlink มองเห็นเป็นโอกาสในเชื่อมโยงนายจ้างและลูกจ้างด้วยเทคโนโลยีที่คนส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยกับการใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มอย่างเว็บไซต์ รวมทั้งการแชตและการวิดีโอคอล

ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม Helperlink รูปแบบออนไลน์จัดหางานในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ของ Holoul ที่มีความเชี่ยวชาญให้บริการโซลูชั่นต่างๆ แก่หน่วยงานภาครัฐฯ และภาคธุรกิจเอกชนในประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นเครื่องมือสำคัญเชื่อมโยงผู้สมัครงานหรือแรงงานที่มองหาโอกาสเข้าไปทำงานในซาอุดิอาระเบีย เข้ากับผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ หรือนายจ้างที่กำลังมองหาแรงงานคุณภาพไปเป็นผู้ช่วยทำงานบ้าน

โดยผู้สนใจเข้าไปทำงานในซาอุดิอาระเบีย สามารถลงทะเบียนผ่าน Helperlink ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเข้าระบบ โดยสามารถกรอกข้อมูลส่วนตัวและเลือกตำแหน่งงานที่สนใจ จากนั้นผู้สมัครสามารถสื่อสารกับว่าที่ผู้ว่าจ้างได้ด้วยตรงผ่านการแชต และยังสามารถนัดวันสัมภาษณ์งานผ่านวิดีโอคอล

ล่าสุดมีนายจ้างในระบบเปิดรับสมัครงานตำแหน่งผู้ช่วยดูแลงานบ้าน ทั้งแม่บ้าน แม่ครัว พ่อครัว คนขับรถ ผู้ดูแลเด็ก ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และผู้ดูแลสวน หลายร้อยตำแหน่ง ค่าตอบ 500 ดอลลาร์ต่อเดือน สูงกว่าค่าแรงในประเทศอื่นๆ ให้สวัสดิการดี มีตั๋วเครื่องบิน ชุดเสื้อผ้า อาหาร และที่พักให้อีกด้วย

ทั้งนี้ แรงงานที่สนใจสมัครงานบนแพลตฟอร์ม Helperlink นั้นเรามีบูธแนะนำการลงทะเบียนใน 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สมุทรปราการ ระยอง ราชบุรี ภูเก็ต สงขลา และยะลา เป็นต้น โดยเป้าหมายของกิจกรรมดังกล่าวคือการรวบรวมแรงงานที่สนใจลงทะเบียนในระบบจำนวน 10,000 คน ภายในสิ้นเดือน เม.ย. 66 นี้

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 17/3/2566

เกาะสมุยกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการท่องเที่ยวอย่างหนัก เที่ยวบินไม่เพียงพอหลังท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาคึกคัก

รองประธานหอการค้าสุราษฎร์ธานี เผยเศรษฐกิจและท่องเที่ยว 3 เกะฝั่งอ่าวไทย ทั้งเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า โตกว่าก่อนช่วงโควิด-19 บรรยากาศท่องเที่ยวคึกคัก ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก และเที่ยวบินไม่เพียงพอต่อความต้องการ

สถานการณ์ท่องเที่ยวใน 3 เกาะฝั่งอ่าวไทย ทั้งเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี สุดคึกคัก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่าวชาติเดินทางมาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเติมโตแบบก้าวกระโดด และโตกว่าในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งโดยรวมบรรยากาศการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทั้งที่พัก ร้านอาหาร และสถานบริการต่างๆ ทำให้มีเม็ดเงินกระจายไปในพื้นที่การท่องเที่ยว ชุมชน ห้องพักต่างๆ ถูกนักท่องเที่ยวจองยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม และมีแนวโน้มมีการคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเต็มยาวตลอดทั้งปี

ขณะเดียวกัน ปัญหาและอุปสรรคในสถานประกอบการโรงแรม สถานประกอบการร้านอาหารกำลังประสบปัญหาด้านแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่เคยถูกเลิกจ้าง หรือลาออกกลับภูมิลำเนาในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด 3 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ยังไม่กลับเข้าระบบการทำงานเดิม ซึ่งปัญหาสำคัญคือแรงงานส่วนใหญ่เลือกจะไม่กลับเข้ามาทำงานแล้ว เนื่องจากเริ่มประกอบอาชีพอื่น และมีค่าใช้จ่ายสูง

พร้อมกันนี้ ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านทางอากาศยานทางเครื่องบิน ทำให้การเดินทางเข้ามาเกาะสมุย ด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ไฟลต์บินเต็มทุกเที่ยวบิน และเครื่องบินยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว จึงอยากให้รัฐบาลหามาตรการเพิ่มสายการบินเดินทางมาเกาะสมุย นอกเหนือจากสายการบินของจีนที่บินอาทิตย์ละ 1 เที่ยวบิน และในอนาคตจะเพิ่มเป็นอาทิตย์ละ 3 เที่ยว

ทั้งนี้ นายเสนีย์ ภูวเศรษฐาวร กรรมการผู้จัดการโรงแรม Coral cliff beach resort Koh Samui และรองประธานหอการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงเดือนมีนาคม บรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคักมาก ซึ่งมีผลมาจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทำให้นักท่องเที่ยวอัดอั้นที่จะมาในการท่องเที่ยวในเกาะสมุย

ในส่วนของผู้ประกอบการที่ได้มีการเปิดการท่องเที่ยวมาแล้วช่วงนี้ยังถือว่าอยู่ได้เนื่องจากสถาบันการเงินไม่ได้เร่งรัดในด้านหนี้สิน และสินเชื่อต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีการเก็บส่วนต่างของดอกเบี้ย สำหรับของการชำระเงินต้นยังคงชะลอไว้ก่อน ถือว่าเป็นเรื่องดีอย่างน้อยในสถานการณ์การท่องเที่ยวที่กำลังเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการทยอยเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถนำรายได้ส่วนนี้มาฟื้นฟู และปรับปรุงในส่วนของสถานประกอบการ

รองประธานหอการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังกล่าวอีกว่า แต่ปัญหาใหญ่ที่สถานประกอบการกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ คือ เรื่องของการขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด พนักงานโรงแรมมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของอาชีพเพื่อความอยู่รอด และบางคนเมื่อประสบความสำเร็จในอาชีพปัจจุบันที่ทำอยู่ก็ไม่คิดจะหวนกลับมาในอาชีพธุรกิจโรงแรม ด้านสถานประกอบการพยายามหาแรงจูงใจให้แรงงานเหล่านี้กลับเข้ามาในอาชีพของธุรกิจโรงแรม ด้วยสถานการณ์ที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่แรงงานที่ขาดแคลนตอนนี้ทำให้สถานประกอบการไม่สามารถบริหารการจัดการในด้านงานบริการให้นักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่

และสำหรับปัญหาในการเดินทางของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน การเดินทางเข้าเกาะสมุยมีด้วยกัน 2 ทาง คือ ทางน้ำ และ ทางอากาศ สำหรับทางอากาศ คือ เส้นทางการบินไม่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้มีเพียงสายการบินบางกอกแอร์เวย์สเจ้าเดียว และ มีเที่ยวบินแค่จำกัด ซึ่งอนาคตหากมีสายการบินใหม่ขึ้นมาจะสามารถเพิ่มนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในสมุยเพิ่มมากขึ้น และการเดินทางสายการบินปัจจุบันนี้ 80 -90% จะเป็นนักท่องเที่ยวเสียส่วนใหญ่

ในด้านการเดินทางทางน้ำ เส้นทางเรือเฟอร์รี่จะมีการเพิ่มเที่ยวเรือมากขึ้น ซึ่งสามารถรองรับได้ไม่น่าจะมีอุปสรรค แต่นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเส้นทางเรือเฟอร์รี่มีเพียง 20-30% เท่านั้น สำหรับเรือเร็วลมพญาจะมีนักท่องเที่ยวใช้บริการเกือบ 100%

สำหรับการท่องเที่ยวในปี 2566 ตนมีความเชื่อมั่นว่า การท่องเที่ยวจะมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก และเนื่องจากตอนนี้ยังมีนักท่องเที่ยวชาวจีนกำลังทยอยเข้ามาในเกาะสมุยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพอีกชาติหนึ่งที่มีกำลังจ่าย และเมื่อมีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาเพิ่มขึ้น ทำให้ความเจริญเติบโตในการท่องเที่ยวของเกาะสมุยจะดีขึ้นเป็นอย่างมาก

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 16/3/2566

ก.แรงงาน จับมือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ภาคีเครือข่าย ร่วมพัฒนาเยาวชนชายแดนใต้

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมโครงการเยาวชนคนสร้างอนาคต ระยะที่ 2 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับนายแกร์ม บักเลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และคณะ เพื่อหารือร่วมกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดสงขลาและสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานสงขลา เพื่อหาแนวทางในการสนับสนุนให้เยาวชนที่ด้อยโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ได้รับการฝึกอบรมทักษะในการทำงาน ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การแนะแนวอาชีพ และการจัดหาแหล่งฝึกงานหรือตำแหน่งงานให้ โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลา ร่วมประชุมด้วย ณ ห้องประชุมสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

นายบุญชอบ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีงานทำแก่ประชาชนทุกกลุ่ม และนายสุชาติ ชมกลิ่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว ในส่วนของจังหวัดสงขลาและยะลาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการค้าการลงทุนและการจ้างงานเพิ่มขึ้น กระทรวงแรงงานมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการมีงานทำและพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อยกระดับศักยภาพกำลังแรงงานในพื้นที่ให้มีสมรรถนะที่สูงขึ้น การลงพื้นที่จังหวัดสงขลาในครั้งนี้ ผมได้กำชับให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่เร่งแก้ปัญหาการว่างงาน ขาดแคลนแรงงาน เพื่อป้อนกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากนโยบายเปิดประเทศหลังโควิดเบาบางลง

กระทรวงแรงงาน ยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนความร่วมมือกับไอแอลโอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในการร่วมกันการขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีงานทำและพัฒนาทักษะอาชีพของเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างครบวงจรและสนับสนุนเครื่องมือแนะแนวอาชีพที่ทันสมัย ซึ่งกระทรวงแรงงานมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีความพร้อมทั้งด้านหลักสูตรการฝึกและเครื่องมือที่ทันสมัย ขณะเดียวกันสำนักงานจัดหางานมีตำแหน่งงานไว้รองรับ เพื่อให้เยาวชนได้เข้าสู่ระบบตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ มีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดแรงงานในส่วนของเยาวชนไทยอายุ 15 – 29 ปี อยู่ที่ 14.7 ล้านคน โดย 8.5 ล้านคนอยู่ในกำลังแรงงาน ในส่วนของจังหวัดสงขลามีเยาวชนอายุ 15 - 29 ปี ทั้งหมด 373,677 คน โดยมีอัตราส่วนในกำลังแรงงานอยู่ที่ 53.6% อัตราการมีงานทำที่ 51.6% และอัตราการว่างงานที่ 3.8% โดยส่วนมากถูกจ้างงานในภาคการบริการ ตามด้วยภาคการผลิตและภาคการเกษตร เยาวชนมีทักษะแรงงานในระดับกลางและมีสถานภาพการทำงานเป็นลูกจ้าง ส่วนที่จังหวัดยะลามีเยาวชนอายุ 15 - 29 ปี ทั้งหมด 153,610 คน อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานอยู่ที่ 43.8 % อัตราการมีงานทำที่ 31.9% อัตราการว่างงานที่ 27.2% ส่วนมากทำงานในภาคการบริการและการเกษตรและการผลิตเป็นส่วนน้อย ระดับทักษะการประกอบอาชีพส่วนมากอยู่ในระดับกลางและประกอบอาชีพในสถานะลูกจ้างเยาวชนยะลาร้อยละ 69.2%

ด้าน นางสาวจิตติมา ศรีสุขนาม เจ้าหน้าที่บริหารโครงการประจำประเทศไทย (ILO) กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการขยายโครงการเยาวชนคนสร้างอนาคต เพื่อส่งเสริมความสามารถในการมีงานทำของเยาวชนในประเทศไทยจากเฟสแรก ซึ่งไอแอลโอได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับระบบการจ้างงานในกลุ่มแรงงานกลุ่มเปราะบาง โครงการนี้มาทำกิจกรรมที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อหารือประเด็นบริการการจัดหางาน ซึ่งไอแอลโอมองว่าจะทำยังไงที่จะทำให้ภาครัฐได้จัดหางานที่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างอย่างแท้จริง ในส่วนของการพัฒนาฝีมือแรงงาน ไอแอลโอจะพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของเยาวชนในจังหวัดเป้าหมายคือจังหวัดยะลาและสงขลา ซึ่งจะเป็นโมเดลในการพัฒนาเยาวชนให้มีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 15/3/2566

ท่องเที่ยว ‘เชียงใหม่’ ขาดแรงงาน ดันค่าจ้างเพิ่ม 30% หลังคนเทไปขายออนไลน์-ขับไรเดอร์

นายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เผยขาดแรงงานภาคบริการท่องเที่ยวว่า เชียงใหม่ได้รับผลกระทบบ้าง ส่วนใหญ่ขาดแรงงานทักษะฝีมือด้านธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะผู้ช่วยเชฟ บาร์เทนเดอร์ แม่บ้านทำความสะอาด รวมทั้งธุรกิจรถเช่า ที่เปิดรับสมัครพนักงานขับรถ แต่มีผู้มาสมัครน้อย เพราะต้องเป็นคนในพื้นที่ชำนาญเส้นทาง รู้จักแหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง ร้านอาหาร เป็นอย่างดี สามารถตอบโจทย์ลูกค้า หรือผู้ใช้บริการได้

ส่วนพนักงานบริการสปา บางส่วนขาดแคลนเพราะต้องฝึกอบรม มีทักษะบริการ ไม่ใช่นวดแผนโบราณทั่วไป ส่วนใหญ่มีค่าจ้าง หรือรายได้เฉลี่ยวันละ 500-600 บาท ส่วนพนักงานบริการท่องเที่ยวที่หายไป บางส่วนกลับบ้านไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม ขายของออนไลน์ มีรายได้วันละ 1,000-2,000 บาท บางรายเปลี่ยนอาชีพเป็นไรเดอร์ มีรายได้ 700-800 บาท/วัน ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ จึงไม่กลับมาเป็นพนักงานบริการอีก

อย่างไรก็ตาม เชียงใหม่ เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนมีนักท่องเที่ยวจองห้องพัก 60-70% เท่านั้น ทำให้มีพนักงานบริการเพียงพอ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมไปเที่ยวชายทะเลมากกว่าภูเขา โดยเฉพาะภูเก็ต ชะอำ พัทยา และระยอง ทำให้ขาดแคลนแรงงานบริการมากกว่าภาคเหนือ ส่งผลให้ค่าจ้างสูงขึ้นกว่า 20-30% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 13/3/2566

รมว.แรงงาน พบปะลูกจ้างสหภาพแรงงานอีทีเอ หนุนนายจ้าง-ลูกจ้างเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ นำพาเศรษฐกิจประเทศ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 27/2566 ของสหภาพแรงงานอีทีเอ โดยมีนางสาวสกุลรัตน์ ยศเรืองศักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานอีทีเอ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ และคณะกรรมการบริหาร และสมาชิกสหภาพแรงงานอีทีเอ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ร้านอาหารบ้านระหัดน้ำ ตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสําคัญกับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงานเพราะผู้ใช้แรงงาน ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองที่สําคัญในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคง ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้รับการชื่นชมจากหน่วยงานระดับโลก เช่น WHO (องค์การอนามัยโลก) ที่ชื่นชมกระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานที่มีความสำคัญในการนำพาประเทศฝ่าวิกฤต รวมถึง IMF ที่ได้เผยแพร่รายงานอัตราการว่างงานของประเทศไทยที่ต่ำที่สุดเพียง 1% ผลจากการแก้ปัญหาได้ตรงจุด ทั้งนี้ ด้วยความเป็นผู้นำของท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มองเห็นความสำคัญของภาคธุรกิจและภาคแรงงาน จึงให้การสนับสนุนผ่านมาตรการต่าง ๆ ของกระทรวงแรงงาน จนนำพาให้วิกฤตหลายอย่างดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน หวังว่าการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสหภาพแรงงานอีทีเอในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการประชุมของสมาชิกและเพื่อนำเสนอผลความสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงาน และแผนการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของสมาชิกในภายหน้าตามวัตถุประสงค์แล้ว จะยังเป็นกิจกรรมที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้สมาชิกและผู้ใช้แรงงาน ได้ดำเนินกิจการขององค์กรอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์อันดี มีเหตุมีผล สร้างระบบทวิภาคีให้เกิดความเข้มแข็ง โดยคำนึงถึงองค์กรและความเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางธุรกิจกับนายจ้าง ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อนายจ้าง รวมถึงการประสานประโยชน์ให้เกิดการยอมรับเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่สำคัญ บนพื้นฐานระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งที่ผ่านมา สหภาพแรงงานอี ที เอ ได้บริหารจัดการองค์กรเป็นระยะเวลา 27 ปี ถือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงบทบาทของสหภาพแรงงานฯ ที่เข้มแข็ง สามารถบริหารงานได้ประสบความสำเร็จมาเป็นระยะเวลายาวนาน อันเกิดจากความสามัคคีปรองดองของสมาชิกนำมาซึ่งความเข้มแข็ง และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่องค์กรแรงงานอื่นๆ ได้อย่างน่าชื่นชม

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือพี่น้องแรงงานและสถานประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สำคัญ ๆ เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน  มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านโควิดของกระทรวงแรงงานภาพรวม อาทิเช่น ตรวจโควิดแบบประจำจุดและตรวจเชิงรุกในโรงงาน โครงการแฟคทอรี่ แซนบ๊อก ลดเงินสมทบให้แก่ผู้ประกันตน เยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ 29 จังหวัด นายจ้าง เยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 39 มาตรา 40 เยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิงฯ เยียวยาจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ฉีดวัคซีนให้แก่คนงาน ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้พี่น้องแรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสม โดยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 354 - 328 บาท ซึ่งได้ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ในด้านส่งเสริมการมีงานทำ ยังได้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในรอบ 32 ปี กับประเทศซาอุดีอาระเบีย

การขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ เชิงรุก ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจาก 600 บาท เป็น 800 บาท ประกันเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำ 5 ปี โครงการ Re-finance บ้าน ดอกเบี้ยต่ำ โครงตรวจสุขภาพเชิงรุกเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิการรักษาและภารกิจที่กระทรวงแรงงานกำลังเร่งดำเนินการ อาทิ

เร่งผลักดันแก้ไขกฎหมายประกันสังคม 3 ขอ ขอเลือก ขอคืน ขอกู้ ผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... เงินบำนาญ 10,000 บาท ต่อเดือน บ้านแรงงาน ธนาคารแรงงาน สถาบันการแพทย์แรงงาน เพื่อพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และบุตรหลานแรงงานให้ได้ทุนการศึกษาในสาขาการแพทย์ กองทุนแรงงานนอกระบบ 30,000 ล้านบาท เพื่อวางรากฐานความมั่นคงให้แก่พี่น้องแรงงานในอนาคตอีกด้วย

“ในวันนี้เป็นโอกาสดีที่ผมได้มาพบปะกับพี่น้องชาวสหภาพแรงงานอีทีเอทุกท่าน ผมขอขอบคุณสหภาพแรงงานอีทีเอที่ได้รวมตัวกันจัดตั้งและร่วมกันบริหารจัดการองค์กรแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความสามัคคีปรองดองของสมาชิก ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อนายจ้าง รวมถึงการประสานประโยชน์ให้เกิดการยอมรับเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่สำคัญ บนพื้นฐานระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ผมขอให้ทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันเพื่อขับเคลื่อนองค์กรและประเทศชาติต่อไป” นายสุชาติ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: สยามรัฐ, 12/3/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net