Skip to main content
sharethis

สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) เสนอนโยบายของชนเผ่าพื้นเมืองต่อพรรคการเมือง ขอผลักดันให้แนวคิด “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง” เกิดขึ้นจริงในทุกกลุ่มชาติพันธุ์

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) ได้ออกคำแถลงข้อเสนอเชิงนโยบายของชนเผ่าพื้นเมืองต่อพรรคการเมือง โดยระบุว่าสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) ปัจจุบันมีสมาชิกสภาที่เป็นตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง 38 กลุ่มชาติพันธุ์ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และภาคีองค์กร/เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายของชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อเสนอต่อพรรคการเมืองได้พิจารณาและนำไปจัดทำนโยบายของพรรค และสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิและการแก้ไขปัญหาชนเผ่าพื้นเมืองให้เกิดรูปธรรมต่อไป โดยมีข้อเสนอเชิงหลักการ ดังนี้

1. ให้พรรคการเมือง ผลักดันร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ.... ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และผลักดันให้รัฐบาลพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายส่งเสริมสิทธิและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง (อีก 4 ฉบับ) และผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสมาชิกรัฐสภาต่อไป

2. ให้พรรคการเมือง ผลักดันให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทบทวนนิยามผู้ทรงสิทธิที่ได้รับบริการสาธารณสุขในมาตรา 5 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยให้“บุคคลที่เป็นกลุ่มคนไทยที่กำลังรอพิสูจน์สถานะบุคคลและสัญชาติที่เคยได้รับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาก่อน และเป็นกลุ่มบุคคลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2553 มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการเฉพาะ

3. ให้มีนโยบายจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า โดยเฉพาะเงินอุดหนุนเด็กเล็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ถึง 6 ปีถ้วนหน้าทุกคน และกลุ่มเด็กชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่มีเลข 13 หลักที่ได้รับการรับรองว่าเกิดในประเทศไทย สามารถเข้าถึงสิทธิเงินอุดหนุนเด็กเล็กได้ รวมถึงให้เด็กทุกคนตั้งแต่ 6 เดือนถึง 6 ปี ได้รับสิทธิการเลี้ยงดูและเรียนรู้ในศูนย์เด็กเล็กโดยรัฐสนับสนุน

4. ให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล เป็นประเด็นวาระแห่งชาติ ด้วยการลดหลักเกณฑ์/ขั้นตอนการพิจารณาให้สถานะผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรให้แก่กลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่มีคุณสมบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และการพิจารณาให้สัญชาติไทย โดยให้นายอำเภอเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาและอนุมัติ

5. ให้พรรคการเมือง ผลักดันให้แนวคิด “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง” เกิดขึ้นจริงในทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553 เพื่อให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการปกป้องคุ้มครองและยอมรับสิทธิทางกฎหมายในฐานะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

6. ให้รัฐทบทวนและยกเลิกนโยบายและกฎหมายป่าไม้ที่ดินที่ละเมิดสิทธิของคนอยู่กับป่า และดำเนินการออกกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนอยู่กับป่าตามกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยลงนาม เช่น อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง เป็นต้น

7. ผลักดันให้รัฐบาล มีนโยบายการจัดการศึกษา ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยร่วมลงนามผูกพันไว้แล้ว เพื่อให้เด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้รับการศึกษาจนจบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิต ภาษา และวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนอย่างเท่าเทียมบนฐานสิทธิมนุษยชนสากล และให้เด็กและเยาวชนไร้สัญชาติมีสิทธิกู้ยืมเงินทางการศึกษา

8. ข้อเสนอเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมือง

8.1 เร่งติดตามสถานการณ์และปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนกรณีกะเหรี่ยงบางกลอย และเร่งรัดให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน

8.2 เร่งติดตามสถานการณ์ ปัญหา และกระบวนการแก้ปัญหาที่ดินที่ถูกนายทุนออกโฉนดทับพื้นที่สาธารณะประโยชน์และการทับซ้อนของเอกสารสิทธิ์บริเวณที่อยู่อาศัยพื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ โดยกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิทธิที่ดินของชาวเล ให้เป็นไปตามแนวทางการถือครองสิทธิในที่ดินในรูปแบบของโฉนดชุมชน และให้ชุมชนชาวเลเป็นเจ้าของร่วมกัน

8.3 ขอให้พรรคการเมือง ติดตามสถานการณ์ และปัญหาการไล่รื้อถอนที่พักและโฮมสเตย์ของชาวม้งม่อนแจ่ม ช่วยประสานให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านม่อนแจ่มทันที และเร่งดำเนินการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของชาวบ้านตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่11พฤษภาคม 2542 (เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดิน)

8.4 เร่งรัดนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายและให้ความเป็นธรรมกับคนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มฆ่าและวิสามัญฆาตกรรม เช่น กรณีนายพอละจี รักจงเจริญ นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงและกรณี นายชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งเป็นแกนนำเยาวชนนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนชาวลาหู่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net