Skip to main content
sharethis

สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เสนอ 3 ข้อ ถึงรัฐบาลชุดใหม่ เร่งแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติทันที

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากสถิติในเดือนเม.ย. 2566 เผยให้เห็นว่า มีแรงงานข้ามชาติสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม กว่า 1.9 ล้านคน อยู่ระหว่างกระบวนการจดทะเบียนและต่อใบอนุญาตตามมติคณะรัฐมนตรี 7 ก.พ. 2566 และต้องลงตราวีซ่าภายใน 15 พ.ค. 2566 ขณะนี้ยังไม่ปรากฏตัวเลขอย่างเป็นทางการ ว่า เหลือแรงงานจำนวนเท่าใดที่ดำเนินการได้ทันและไม่ทันตามกำหนดเวลาดังกล่าว และยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีหรือมาตรการใดๆ มารองรับ เพื่อให้แรงงานที่หลุดออกจากระบบสามารถทำงานในไทยกับนายจ้างต่อไปได้อย่างถูกต้องในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ดังนั้นสภาองค์การนายจ้างฯขอเสนอ 3 ข้อถึงรัฐบาลชุดใหม่ ให้เร่งดำเนินการทันทีเพื่อแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ

1) การเปิดให้มีศูนย์จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service Centers หรือ OSSCs) เพื่ออำนวยความสะดวกให้นายจ้างและแรงงานไม่ต้องเดินทางไปดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ในหลายหน่วยงาน เช่นเดียวกับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งการมีศูนย์ OSSCs จะช่วยลดภาระเรื่องการเดินทางของทั้งนายจ้างและแรงงานในการเข้าสู่กระบวนการขอรับใบอนุญาต ในเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลา และยังจะช่วยลดขั้นตอนโดยนายจ้างและแรงงานจะสามารถดำเนินการยื่นคำร้อง ตรวจสุขภาพ ลงตราวีซ่า และรับใบอนุญาตทำงาน พร้อมกับบัตรสีชมพู ได้ในจุดเดียว และดีที่สุดคือภายในวันเดียว 2) ลดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการต่อใบอนุญาตการเปิดศูนย์ OSSCs นายจ้างและแรงงานจะสามารถลดค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางได้ทันที หากการดำเนินการทั้งหมดสามารถผ่านศูนย์ได้ที่เดียว และใช้เวลาเพียง 1 วัน โดย อัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโดยสมบูรณ์ควรสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเรียกเก็บเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนแรงงานหนึ่งคน สำหรับการทำงาน 2 ปี หากไม่มีประกันสังคม จะอยู่ที่ 9,480 บาท โดยประมาณ หรือ 6,380 บาท เมื่อหักค่าประกันสุขภาพออกไป ในกรณีที่แรงงานเข้าประกันสังคม ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการต่อเอกสารเดินทางของแรงงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่านายหน้า ในกรณีที่ทั้งนายจ้างและแรงงานไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนอย่างครบถ้วนได้ด้วยตนเอง เมื่อเปรียบเทียบกับฐานรายได้ค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานแล้ว จึงไม่จูงใจให้แรงงานเข้าสู่ระบบ รัฐบาลควรมีแนวคิดปรับลดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาติ ยังมีข้อจำกัดในการได้รับบริการจากกระทรวงแรงงาน เช่น ไม่สามารถเข้าถึงโครงการอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน หรือขอรับบริการจัดหางานในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง เป็นต้น และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรควรที่จะทำให้แรงงานรู้สึกมั่นคงปลอดภัย แต่ค่าวีซ่ากลับกลายเป็นเงื่อนไขไม่ให้แรงงานปรับเปลี่ยนสถานะเข้าเมืองให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยง่าย การใช้บริการคนกลาง หรือบริษัทในการช่วยดำเนินการอาจยังเป็นทางเลือกที่มีความสำคัญ ดังนั้น จึงจำเป็นที่รัฐควรจะกำหนดเพดานการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการบริการ ในปัจจุบันการจดทะเบียนแรงงาน ไม่มีการกำกับดูแลการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และบางครั้งมีค่าธรรมเนียมที่สูงและไม่สมเหตุสมเหตุ หากกระบวนการจดทะเบียนเป็นกระบวนการที่ทำให้แรงงานสามารถเข้าทำงานได้อย่างถูกต้อง

และ 3) ลดขั้นตอนหรือเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติยังสามารถคงสถานะเข้าเมืองและมีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบุให้แรงงานต้องรายงานตัวทุกๆ 90 วัน หากมองว่าการได้มาซึ่งใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องยุ่งยาก การคงสถานะพำนักและทำงานในประเทศได้อย่างถูกกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่ยากพอ ๆ กัน ทั้งนายจ้างและแรงงานต่างมีหน้าที่แจ้งเข้าแจ้งออกการทำงานต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และในระหว่างที่แรงงานอาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องแจ้งที่พักอาศัย และคอยรายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุกๆ 90 วัน โดยผู้ให้ที่พักต่อคนต่างชาติก็มีหน้าที่ต้องแจ้งการให้ที่พักด้วย

นายเอกสิทธิ์ ระบุว่า การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากนี้ควรใช้กรอบการพิจารณาใหม่ ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับแรงงานประเภทอื่น ๆ หรือจากชาติอื่น ๆ โดยอาจเริ่มจากการผ่อนปรนเงื่อนไขการรายงานตัว 90 วัน ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่ามีการผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวกับผู้ถือวีซ่าประเภท smart visa ที่ให้รายงานตัวเพียงปีละหนึ่งครั้ง ในเมื่อแรงงานจดทะเบียนภายในประเทศมีนายจ้างและมีงานทำเป็นหลักแหล่ง การบริหารคนกลุ่มนี้ควรสอดคล้องกับความเป็นจริงและไม่นำมิติความมั่นคงของรัฐมาบังคับใช้อย่างเข้มงวดหรือเทียบเท่าการเข้าเมืองประเภทอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีมาตรการอื่นๆ ที่จะสามารถระบุหลักแหล่งของแรงงานได้ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งที่พักอาศัยใหม่ และการแจ้งเข้าทำงาน

หากรัฐดำเนินการทั้ง 3 ข้อข้างต้นนี้ จะเป็นการสร้างมิติใหม่ของการอำนวยความสะดวกที่เอาความต้องการและประโยชน์ของผู้คนเป็นที่ตั้ง โดยก้าวข้ามการเลือกปฏิบัติอันมีเหตุมาจากสัญชาติ เชื้อชาติ หรือสถานะบุคคล โจทย์ของความมั่นคงของรัฐจะกลายเป็นการบริการและคุ้มครองประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์ไปพร้อมๆ กับรัฐบาลที่มั่นคง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 26/5/2566

รมว.แรงงาน ห่วงใยลูกจ้างถูกนายจ้างในจังหวัดชลบุรีเลิกจ้าง 66 คน สั่ง กสร. หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการช่วยเหลือตามหน้าที่

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีสื่อมวลชนเสนอข่าว ลูกจ้างเกือบร้อยชีวิตถูกเลิกจ้างไม่รู้ตัว โรงงานปิดโดยไม่บอกล่วงหน้า พร้อมค้างค่าจ้าง 7 เดือน ว่า ผมขอส่งความห่วงใยไปยังลูกจ้างกลุ่มนี้ และไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด เร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เบื้องต้นได้รับรายงานจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ว่า พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบกลุ่มลูกจ้างของบริษัทแห่งหนึ่งประกอบกิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้และเหล็ก สำนักงานใหญ่อยู่แถวบรรทัดทอง กรุงเทพฯ มีสาขาอยู่อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี นายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง จำนวน 66 คน พนักงานตรวจแรงงาน สสค.ชลบุรี ได้ดำเนินการรับคำร้อง (คร.7) ลูกจ้าง จำนวน 64 คน กรณีนายจ้างเลิกจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี พร้อมดอกเบี้ย และลูกจ้าง จำนวน 2 คน กรณีนายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุเกษียณอายุได้รับค่าชดเชยไม่ครบถ้วน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,702,921.67 บาท

ทั้งนี้ ได้สั่งให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันชี้แจงสิทธิ หน้าที่ สิทธิตามกฎหมายแก่ลูกจ้างตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ การให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย สิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้าง การใช้สิทธิประกันการว่างงาน การหาตำแหน่งงานว่างรองรับ การฝึกทักษะทางด้านอาชีพตามความต้องการ และการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม เป็นต้น

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ได้มีหนังสือเชิญนายจ้างมาพบเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นี้ และให้เร่งดำเนินการมีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ผมขอย้ำไปยังนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหากับทั้งสองฝ่าย หากนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการ ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป มีข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานสามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่ หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 25/5/2566

'ศิริกัญญา' ย้ำขึ้นค่าแรง 450 บาท เล็งเยียวยาภาคธุรกิจ แจกเงินดิจิทัลยังไม่แน่

25 พ.ค. 2566 ที่พรรคก้าวไกล ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ตอบคำถามสื่อมวลชนในการแถลงข่าวประเด็นความคืบหน้าในการหารือกับพรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลว่าอยู่ระหว่างหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลในการจัดทำนโยบายของรัฐบาล

สำหรับนโยบาย 100 วันแรกของพรรคก้าวไกล เรื่องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท หลายบริษัทอาจกังวลต้นทุนที่จะเพิ่มสูงขึ้น หรือกังวลว่าการช่วยเหลือจากภาครัฐอาจไม่เพียงพอ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพูดคุยทำความเข้าใจ และหารือกับพรรคร่วม

“ทุกนโยบายรวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเริ่มเดินหน้าได้หลังมีรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทย ก็ให้สัญญาณทางบวกว่าไม่ขัดข้องเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ศิริกัญญา กล่าว

ห้วหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่ายังมีหลายนโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องพูดคุยกัน ต้องพูดคุยกัน เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาท ให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้น ต้องมีการหารือกับพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง รวมถึงนโยบายอื่นของพรรคร่วม เพราะถ้าหากยึดเพียงแต่นโยบายของพรรคก้าวไกล อาจเป็นการไม่ให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ศริกัญญายังได้กล่าวในงานดีเบตนโยบายพรรคการเมืองจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆนี้ว่า นโยบายที่ประชาชนให้ความสำคัญเร่งด่วนคือ การเพิ่มรายได้ การลดค่าใช้จ่าย และเรื่องของความมั่นคง นโยบายในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับประชาชนโดยการเพิ่มเป็น 450 บาทต่อวันถือว่ามีความเหมาะสมและทำได้ทันที

หัวใจคือการขึ้นอัตโนมัติทุกปีโดยดูจากค่าครองชีพ และการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นการขยับราคาค่าจ้างที่เหมาะสมเมื่อคิดจากช่วงที่ผ่านมาที่มีการปรับน้อยมาก

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 25/5/2566

สภาองค์การนายจ้างฯ หวั่นขึ้นค่าแรง 450 บาท/วันดันธุรกิจแห่ย้ายหนี-สินค้าพุ่งระลอกใหม่

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า สภาองค์การฯ ต้องการให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณาอย่างเป็นขั้นตอนและรอบคอบในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะหากขึ้นแบบกระชากไปสู่ระดับ 450 บาท/วันทันทีจะเกิดภาพที่ซ้ำรอยในอดีตของสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศปี 2556 นั่นคือ การย้ายฐานการผลิตในไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านครั้งใหญ่ และการลงทุนใหม่ที่เน้นการใช้แรงงานจะไม่เกิดขึ้น

“สมัยที่ขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันเราเห็นการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งสิ่งทอ รองเท้า โรงงานปลากระป๋อง และชิ้นส่วนบางประเภท ย้ายฐานไปเพื่อนบ้านหมดโดยเฉพาะเวียดนามเพราะอย่าลืมว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างการผลิต ห้องแถวที่เคยรับจ้างเย็บเสื้อกีฬาแบรนด์ดังๆ หายไปหมด รอบนี้เราก็จะเกิดซ้ำรอยอีกเช่นกันเพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมบ้านเราส่วนใหญ่ยังคงเน้นใช้แรงงานเรายังไม่ได้ก้าวข้ามไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทคแต่อย่างใด” นายธนิตกล่าว

การปรับขึ้นค่าแรงที่สูงในช่วงที่ผ่านมามีผลทำให้ปัจจุบันการส่งออกของไทยที่เคยเป็นผู้นำในภูมิภาค รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จนทำให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพิงการส่งออกสูง นี่คือเหตุผลว่าทำไมการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยในระยะ 10 ปีจึงลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าแรงสภาฯ ไม่ได้คัดค้านหากแต่ต้องทำแบบมีขั้นตอนและต้องไม่มองข้ามในเรื่องของผลิตภาพแรงงานด้วย

“เราต้องไม่ลืมอีกข้อที่สำคัญ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของค่าแรงแรกเข้า ดูแลคนเปราะบางซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่คนไทยได้รับเกิน เมื่อค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มจะทำให้แรงงานเดิมที่ได้รับ 450 บาท/วันอยู่แล้วนายจ้างก็ต้องปรับขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมไทย 90% เป็นขนาดกลางและย่อม (SMEs) เขารับไม่ไหวหรอกเพราะค่าแรงจะขึ้นเป็นทอดๆ ไป สุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนกลับไปยังราคาสินค้าเพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นประชาชนเดือดร้อนแรงงานก็เช่นกัน แต่เศรษฐกิจจะแย่กว่าเพราะต้นทุนที่เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในการส่งออกยิ่งลดลง ขณะที่เวียดนามมีแต้มต่อในเรื่องของสิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ มากกว่าไทย” นายธนิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีที่รัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือผลกระทบ เช่น การลดหย่อนภาษีฯให้ SMEs คิดว่าประเด็นดังกล่าวไม่น่าจะใช่คำตอบ เพราะหากธุรกิจมีกำไรก็ควรจะเก็บภาษีฯ แต่ทุกวันนี้ SMEs ส่วนใหญ่จะขาดทุนเมื่อไปเพิ่มค่าแรงเท่ากับเพิ่มต้นทุนเขาก็จะยิ่งขาดทุนมากขึ้น ปัญหาคือต้องทำอย่างไร

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/5/2566

'พิธา' ก้าวไกล เตรียมเดินสายพบเครือข่ายแรงงาน พูดคุย รับฟัง ไขข้อข้องใจ ยืนยันคำมั่นสัญญา ใน ‘นโยบายปีกแรงงาน’ นำเสนอ ว่าที่ฝ่ายบริหารประเทศ

นายเซีย จำปาทอง ว่าที่ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลำดับที่ 4 ด้านแรงงาน โพสต์เฟซบุ๊ก ภาพพร้อมข้อความถึงกำหนดการของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล เตรียมเดินสายพบปะพี่น้องเครือข่ายแรงงานที่จังหวัดสมุทรปราการ ในวันศุกร์ที่ 26 พ.ค. 2566 นี้ โดยระบุข้อความว่า

“ก่อนการเลือกตั้งพวกเรา เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน พรรคก้าวไกล ไปรับฟังและนำเสนอนโยบาย แนวทางการทำงาน ให้กับกลุ่มแรงงาน สหภาพแรงงานหลายแห่ง วันนี้การเลือกตั้งผ่านไปแล้วได้เวลามา ยืนยัน ทบทวน สิ่งที่พวกเรานำเสนอไป มาร่วมกันส่งเสียงของชนชั้นแรงงานให้ว่าที่ฝ่ายบริหารประเทศกันครับ”

ทั้งนี้ รายละเอียดการเข้าพบเครือข่ายแรงงาน นายพิธาจะร่วมพูดคุย ไขข้อข้องใจ และยืนยันคำมั่นสัญญาใน 'นโยบายปีกแรงงาน' บริเวณด้านนอกหอประชุมเทศบาล ต.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เวลา 18.00-19.00 น. ของวันที่ 26 พ.ค. 2566

ที่มา: คมชัดลึก, 24/5/2566

ตร.แถลงปิดคดี "ครูยุ่น" แจ้ง 8 ข้อหา ทำร้ายร่างกาย-ใช้แรงงานเด็ก

จากกรณีเมื่อช่วยปลายเดือน ต.ค.2565 ที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ นายมนตรี สินทวิชัย หรือ ครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ที่กำลังลงโทษเด็กในมูลนิธิและให้เด็กไปทำงานภายในรีสอร์ต จนมีผู้ปกครองและเด็กออกมาร้องทุกข์กับหน่วยงานและขอให้ตำรวจเข้าไปช่วยเหลือ และขยายผลดำเนินคดี

24 พ.ค.2566 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบ.ตร. เปิดเผยว่า จากการสอบปากคำพยานกว่า 100 ปาก ทั้งผู้ปกครอง เด็ก และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อมูลว่า ภายในมูลนิธิดังกล่าวมีเด็กในการดูแลทั้งหมด 58 คน แต่มีเด็กจำนวน 33 คน ที่ถูกครูยุ่นลงโทษ ด้วยการทุบตีโดยการใช้เหล็ก ไม้ไผ่ เข้าที่ศีรษะหลายครั้ง รวมถึงมีการบีบคอและลากเด็กไปกดน้ำที่อ่านจนสำลักน้ำ รวมถึงยังมีการบังคับเด็กไปทำงานที่รีสอร์ต โดยให้ค่าจ้างเพียงแค่ 40 - 60 บาทต่อวัน และหากไม่ทำก็จะถูกหักเงินค่าขนมในแต่ละวันนั้น

ทางพนักงานสอบสวน สภ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้แจ้งข้อหา ครูยุ่น 8 ข้อหา เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายเด็ก และความผิดตาม พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ คือ บังคับใช้แรงงานเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และใช้แรงงานเด็กอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำรวมถึงคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเป็นภรรยา และพนักงานในมูลนิธิ ซึ่งได้สรุปสำนวนทั้งหมดส่งให้สำนักอัยการไปแล้ว

ส่วนการการเปิดมูลนิธิคุ้มครองเด็กดังกล่าวตำรวจได้ดำเนินคดีกับนายแก้วสรร ฐานะประธานกรรมการของมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ในความผิดฐานเป็นพูดได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานสงเคราะห์ ไม่ยื่นขอแต่งตั้งผู้ปกครองสวัสดิกภาพเด็กแต่ยังกระทำการเป็นผู้ปกครองสวัสดิภาพ ซึ่งเป็นการขัดต่อกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ขัดต่อศีลธรรมอันดี ทอดทิ้งไม่ดูแลเด็กเล็ก เป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน

ก่อนหน้านี้ทาง จ.สมุทรสงคราม ได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน สั่งปิดชั่วคราวไปแล้ว แต่ทางกระทรวงมหาดไทย เตรียมทำหนังสือยื่นขอปิดมูลนิธิถาวร ให้กับอัยการ ส่งศาลพิจารณาอีกครั้ง โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เผยอีกว่า การเปิดมูลนิธิในลักษณะนี้ต้องเสนอให้มีการปิดทั้งหมดเพื่อความสงบสุขและเป็นการดูแลเด็กเล็ก และเพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้แก่สถานสงเคราะห์อื่น ๆ หากทำผิดกฎหมายต้องยกเลิก และดำเนินการให้ถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังพบความเกี่ยวกับนำตู้บริจาคที่พบว่าไปเรี่ยไรเงินกว่า 300 จุด ทั่วประเทศ ของมูลนิธิคุ้มครองเด็กดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.เรี่ยไรเงิน เพราะเป็นการตั้งตู้บริจาคโดยมิได้รับอนุญาต และส่งเส้นทางการเงินให้ทางสรรพากรตรวจสอบแล้ว ซึ่งหากตรวจสอบแล้วไม่เข้าข่ายเงินบริจาคก็ต้องเสียภาษี และหากนำไปใช้ส่วนตัวก็ต้องดูว่าจะเข้าความผิดฐานใด

ที่มา: Thai PBS, 24/5/2566

ว่าที่ ส.ส.ก้าวไกล ด้านแรงงาน สวน 'พิธา' ย้ำ นโยบายค่าแรง 450 บาท ขึ้นทันทีภายใน 100 วันแรกของรัฐบาล ลั่น ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง

ภายหลัง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) พร้อมทีมเศรษฐกิจพรรค ก.ก. เข้าพบนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยกล่าวถึงการาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า พรรค ก.ก.ยังคงไว้ที่ 450 บาท และต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีกรอบตัวเลขที่ต่างกัน รวมถึงหารือสภาแรงงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยืนยันจะไม่ปรับขึ้นแบบกระชากระบบ

นายเซีย จำปาทอง นักกิจกรรมด้านแรงงาน และว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เซีย จำปาทอง - Sia Jampathong ระบุว่าเริ่มมีการปั่นกระแสข่าวออนไลน์ว่า #ก้าวไกล จะไม่ขึ้นค่าแรง ขอยืนยัน แบบชัดเจนตรงไปตรงมา ว่า นโยบายค่าแรง 450 บาท ขึ้นทันที ภายใน 100 วันแรกของรัฐบาลก้าวไกล! พวกเราแรงงานปรับตัวทนอยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบกดค่าแรงให้ต่ำ บริษัทสามารถเลิกจ้างได้ง่ายดาย มานานแล้ว ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง!

ภายหลังนายเซีย โพสต์ข้อความดังกล่าว มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมากว่า ใหญกว่าหัวหน้าพรรคหรือ ได้ถามคุณพิธาหรือยังว่าจะขึ้น 450 บาท ภายใน 100 วัน ขณะที่บางคนก็ให้กำลังใจให้ทำได้จริง

ที่มา: ไทยโพสต์, 24/5/2566

'พิธา' รับปาก สอท. ไม่ขึ้นค่าแรง 450 บาทแบบกระชาก มั่นใจลดค่าไฟได้ หลังก๊าซถูกลง

23 พ.ค. 2566 ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังนำทีมพรรคก้าวไกล หารือรวมกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ว่าสัปดาห์นี้จะเน้นเรื่องเศรษฐกิจ โดยได้พูดคุยเรื่องนโยบายอุตสาหกรรมยุคใหม่ เอกชนสอบถามเรื่องนโยบายพรรคร่วมรัฐบาล พลังงาน กฎหมายที่อาจล้นเกิน การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็น ซึ่งต่อไปจะได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิด เจาะลงไปในรายเซ็กเตอร์ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี พร้อมสนับสนุนหนุนเอสเอ็มอี เพื่อให้มีแต้มต่อ สู้กับเศรษฐกิจโลก

สำหรับเรื่องค่าแรง ได้คุยกันในภาพรวม เรื่องการขาดแคลนแรง เรื่องไม่สอดคล้องในอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมต้องการคนมาทำงาน แต่หาคนไม่ได้ ขณะเดียวกันพบว่ามีคนเรียนจบมาแต่ไม่มีงานทำ นิยามคำว่า “อัตราการว่าง” ที่ไม่ตรงกัน รวมถึงทักษะของแรงงาน การพูดถึงค่าแรงที่เหมาะสม

ทางพรรคได้อธิบายให้ ส.อ.ท.สบายใจว่า ไม่ได้มองเหรียญเพียงด้านเดียว เพราะต้องมีการช่วยผู้ประกอบการด้วย อาทิ การลดภาษีให้ธุรกิจเอสเอ็มอี การให้ธุรกิจหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นาน 2 ปี และมาตรการที่สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เคยทำ คือ เพิ่มสภาพคล่องให้เอกชน

ส่วนกรอบตัวเลขนั้น พรรคก้าวไกลยังคงไว้ที่ 450 บาท และต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีกรอบตัวเลขที่ต่างกัน รวมถึงหารือสภาแรงงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยืนยันจะไม่ปรับขึ้นแบบกระชากระบบ โดยเห็นตรงกันว่า ต้องขึ้นตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ประสิทธิภาพของแรงงาน

เพราะในช่วง 8-9 ปี พบว่าการปรับขึ้นค่าแรงขึ้น 1% จีดีพีโตได้ 2% ประสิทธิภาพแรงงานขึ้น 3% จึงไม่อยากเห็นตัวเลขแบบนั้นอีก ทั้งนี้จะใช้กลไก คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีในการพิจารณา แต่ต้องภายหลังการจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรแล้วเสร็จ และได้เข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับค่าไฟที่ ส.อ.ท.เคยเสนอมาว่าไม่ควรเกิน 4.72 บาทต่อหน่วยนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ ดูจากแนวโน้มราคาพลังงาน ก๊าซธรรมชาติ และทิศทางการเปลี่ยนสูตรโครงสร้างราคาใหม่

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ได้ขอให้รัฐบาลกิโยตีนกฎหมายที่ล้าสมัย ทำกฎหมายใหม่ให้อุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น ต่อไปจะมีคณะทำงานร่วมกันระหว่าง ส.อ.ท. กับรัฐบาลแยกรายกลุ่มอุตสาหกรรม เสริมกับการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ. ซึ่งเป็นภาพใหญ่ ยอมรับว่าที่เคยกังวลกับนโยบายการขึ้นค่าแรงของพรรคร่วมรัฐบาล ก็เบาใจลง เพราะนายพิธารับฟังและจะนำไปหารือ เพราะนายพิธาเองก็เคยเป็นสมาชิก ส.อ.ท. จึงเข้าใจผู้ประกอบการเป็นอย่างดี

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/5/2566

'พิธา' นำทีมเศรษฐกิจพบ 'สภาอุตสาหกรรม' ภาคเอกชนเชื่อมั่นนโยบายพรรคก้าวไกลสามารถนำพาประเทศไปสู่อนาคตได้

วันที่ 23 พ.ค. 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล เช่น ศิริกัญญา ตันสกุล, วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร และ สุพันธุ์ มงคลสุธี ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย พบสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายจากภาคอุตสาหกรรมพร้อมทั้งรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อกังวลของตัวแทนภาคอุตสาหกรรม

บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี ข้อเสนอแนะส่วนใหญ่ตรงกับนโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะไปบรรจุในนโยบายรัฐบาล เช่น เรื่องราคาพลังงาน การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เป็นต้น ภาคเอกชนเชื่อมั่นว่าภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง ดำเนินการด้วยความโปร่งใสรอบคอบ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและนำพาเศรษฐกิจประเทศไปสู่อนาคตได้

พิธา กล่าวว่า ตนมีโอกาสทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมครั้งแรกตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ในวันนั้นประเทศไทยคุยกันเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ผ่านยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรมคลัสเตอร์พลัส แต่เวลาผ่านไปเห็นได้ว่าหลายเรื่องที่คุยกันค้างไว้ไม่ได้มีการทำต่อ พรรคก้าวไกลจึงต้องการเข้ามาผลักดันอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ใหม่ๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น blockchain มาใช้ การสร้างยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมใหม่โดยเฉพาะการเปลี่ยนจาก Made in Thailand เป็น Made with Thailand ที่ประเทศไทยไม่ใช่แค่รับจ้างผลิต แต่ต้องทำให้อุตสาหกรรมไทยเข้าไปอยู่ใน Value Chain ของอุตสาหกรรมโลก

อุตสาหกรรมไทยในอนาคตจำเป็นต้องมี 3F หนึ่งคือ Firm Foundation หรือพื้นฐานที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็น แรงงานที่มีทักษะสูง เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานที่ดี สองคือ Fair หรือความเป็นธรรม เพราะ 40 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไทยเติบโตจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สิ่งที่ตามมาคือความเหลื่อมล้ำ ในการพาประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูงจำเป็นที่จะต้องคิดเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำด้วย และสุดท้าย คือ Fast Growing Industry ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการผลักดันการวิจัยและพัฒนา (R&D) และส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ประเทศไทยถึงแม้ไม่มีทรัพยากรเช่นโคบอลต์ นิกเกิล ที่จำเป็นในการผลิตแบตเตอรี่แบบต่างประเทศ แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องหาช่องว่างในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ยังมีคู่แข่งน้อย เช่น การผลิตชิป ซิลิคอนคาร์ไบด์ นี่เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน

“ประเทศไทยในอนาคตต้องเติบโตด้วยการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเพิ่มการใช้เทคโนโลยี ให้ผลิตสิ่งที่มีมูลค่าสูง ไม่ใช่เติบโตด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำและกดความสามารถในการแข่งขันให้ต่ำ” พิธา กล่าว

ส่วนหนึ่งที่จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้ คือการเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป ให้สำเร็จ ซึ่งพิธากล่าวว่าการทำ MOU จัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นคือความสำเร็จของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสันติ ภายหลังจากที่ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว เชื่อว่าการเจรจา FTA ไทย-อียู จะเสร็จสิ้นได้โดยเร็ว แต่ในขณะเดียวกันเมื่อดูอัตราการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี (FTA Utilization) ก็จะเห็นว่าการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ภายใต้รัฐบาลใหม่การใช้ประโยชน์จาก FTA นี้จะต้องเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำงานต่อไป

ทั้งนี้ ในการพูดคุย สภาอุตสาหกรรมฯ ได้เสนอนโยบายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Next-GEN Industries, นโยบายด้านพลังงาน, นโยบายด้านแรงงาน, นโยบายด้าน SME ส่วนใหญ่เห็นตรงกันกับนโยบายของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะนโยบายด้านราคาพลังงานที่มีความเป็นธรรม ซึ่งศิริกัญญากล่าวว่ามีสัญญาณที่ดีจากคณะกรรมการกำกับดูแลพลังงานที่พร้อมเปลี่ยนสูตรการจัดสรรก๊าซธรรมชาติ สามารถทำได้ทันทีที่มีรัฐบาลใหม่ จะเห็นผลในบิลค่าไฟที่ลดลงภายในเดือนมกราคม 2567

ส่วนความกังวลในการปรับขึ้นค่าแรงนั้น พิธาให้คำมั่นว่าการเพิ่มผลิตภาพแรงงานต้องทำไปพร้อมกับการดูแลปากท้องของพี่น้องแรงงาน ถ้าท้องไม่อิ่มก็ไม่สามารถคิดเรื่องการเพิ่มทักษะได้ แต่นโยบายพรรคก้าวไกลเป็นการขึ้นค่าแรงพร้อมกับมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชน การเสริมทักษะแรงงาน และมีระบบในการปรับขึ้นค่าแรงทุกปีตามสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เพื่อให้ผลิตภาพและรายได้ของประชาชนเป็นสิ่งที่เติบโตไปด้วยกัน

สุดท้าย พิธากล่าวกับสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ ว่าความท้าทายของโลกยุคปัจจุบันคือภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำของโลก (global minimum tax) ที่จะทำให้การดึงดูดการลงทุนด้วยการใช้มาตรการทางภาษีแบบเดิม เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป การดึงดูดการลงทุนในอนาคต ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องการจูงใจทางภาษี แต่เป็นเรื่องความง่ายในการทำธุรกิจ การกิโยตินกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น การปราบคอร์รัปชัน การที่ไทยมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นอันดับ 5-6 ของอาเซียน แย่กว่าฟิลิปปินส์ แย่กว่าอินโดนีเซีย เป็นเรื่องที่มีความท้าทายพอสมควร ตอนนี้เรื่องของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และความท้าทายทางสังคมอื่นๆ เป็นเรื่องเดียวกัน

ส่วนในขั้นต่อไปที่ตนและพรรคก้าวไกล อยากทำงานต่อกับสภาอุตสาหกรรมฯ คือการตั้งคณะทำงานรายคลัสเตอร์ โดยเอาโจทย์ของแต่ละอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกันมาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย เทคโนโลยี เงินทุน แรงงาน เพื่อทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต

ที่มา: Voice online, 23/5/2566

พรรคก้าวไกล เดินหน้าช่วยแรงงาน 411 ชีวิตในอยุธยา ถูกนายจ้างบริษัทชื่อดังระดับโลกลอยแพ

22 พ.ค. 2566 นายทวิวงศ์  โตทวิวงศ์ ว่าที่ ส.ส.เขต1 อยุธยา จากพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นานสุเทพ อู่อ้น ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (ภาคแรงงาน) ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนลูกจ้าง และนายจ้าง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา จากประเด็นปัญหาของพี่น้องแรงงานกว่า 411 ชีวิตที่ถูกบริษัทชื่อดังระดับโลก บริษัท ไพโอเนียร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด  ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา บอกเลิกจ้างกระทันหัน

โดยฝ่ายแรงงานอ้างว่า ทางบริษัทให้พนักงานเซ็น เอกสารสละสิทธิ์อย่างไม่เต็มใจ เนื่องจากมีการใช้สถานการณ์ในการบีบบังคับ ขู่เข็ญ ให้ต้องยอมเซ็นเอกสารสละสิทธิ์และการเยียวยาพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม และไม่เพียงพอสำหรับพนักงาน ที่หลังจากนี้จะสูญเสียรายได้ที่ใช้เลี้ยงดูครอบครัว ไปอย่างกะทันหัน แต่รายจ่ายยังคงเหมือนเดิม และนี้คือความทุกข์ของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน

นาย ทวิวงศ์  เปิดเผยว่า อยากเสนอแนะให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกันสังคม สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด เร่งเข้าช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องแรงงานโดยด่วนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทวงสิทธิ์การเยียวยาจากบริษัท และการเยียวยาจากรัฐ การเร่งจัดหางานใหม่ เพื่อให้พี่น้องแรงงานได้สามารถใช้ชีวิตเพื่อดูแลครอบครัวต่อไปได้

“ในช่วงเย็นผมและ คุณ สุเทพ อู่อ้น ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สัดส่วนปีกแรงงาน และเป็นอดีตผู้ใช้แรงงาน ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานผมจึงคิดว่าหลังจากนี้ เราจะต้องเสนอให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงาน เพื่อป้องกันการถูกเลิกจ้างกะทันหันและบีบบังคับ ขู่เข็ญ ให้ผู้ใช้แรงงานเซ็นเอกสารที่ไม่เป็นธรรม และไม่มีการเยียวยาผู้ใช้แรงงาน อย่างจริงจัง”นายทวิวงศ์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/5/2566

สธ.ชงของบกลาง 3,000 ล้านบาทจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด

22 พ.ค. 2566 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวถึงความคืบหน้าการขอรับการสนับสนุนค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้บุค ลากรที่ปฏิบัติงานในช่วงโควิด-19 ว่า ที่ผ่านมาสธ.ได้หารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบกลางกว่า 3,000 ล้านบาท มาจัดสรรเป็นค่าเสี่ยงภัยโควิด-19 ให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในสังกัด และนอกสังกัดสธ.ทุกสายงานแต่มีข้อติดขัดเรื่องเอกสารหลักฐานในการเบิกจ่ายของหน่วยงานนอกสังกัดสธ.ยังไม่ครบถ้วน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา สธ.ได้ทำหนังสือถึงผอ.สำนักงบประมาณ เรื่องรายละเอียดประกอบการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ของสธ.ในการจัดสรรเป็นค่าเสี่ยงภัยลำดับแรก โดยมี 3 แนวทาง ดังนี้

จัดสรรให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานระหว่างเดือนก.ค.2564 -ก.ย.2565 หรือถึงช่วงสิ้นสุดการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของประเทศไทย  6,745 ล้านบาท

จัดสรรให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานระหว่างเดือนก.ค.2564 -มิ.ย.2565 หรือจนถึงช่วงที่ประเทศไทยประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 ก.ค. 2565 จำนวน 3,180 ล้านบาท

จัดสรรภายในกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานระหว่างก.ค.2564 -พ.ค.2565 จำนวน 2,816 ล้านบาท และเดือน มิ.ย.2565 เป็นระยะเวลา 15 วัน 183 ล้านบาท

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ อยู่ที่สำนักงบประมาณในการพิจารณาว่าจะเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายงบกลางตามแนวทางใด และนำเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการให้ความเห็นชอบต่อไป

ซึ่งหากพิจารณาให้จ่ายภายใต้กรอบวงเงิน 3,000 ล้านบาท ที่จะจ่ายได้ถึงช่วงเดือนมิ.ย.2565 เป็นเวลา 15 วัน ในส่วนที่เหลือจนถึงเดือน ก.ย.2565 จะต้องรอรัฐบาลใหม่ จึงจะดำเนินการอีกครั้ง

ที่มา: Thai PBS, 22/5/2566

สภาพัฒน์ เผยภาวะสังคมไตรมาส 1/2566 อัตราการว่างงานดีขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 1.05% ปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ แรงงานได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/66 พบว่า สถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงานปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ แรงงานมีการทำงานล่วงเวลามากขึ้น และได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น

สำหรับการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัว 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1.6% จากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2.7% จากการจ้างงานสาขาการค้าส่งและค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่วนการจ้างงานสาขาการผลิตขยายตัวได้เล็กน้อย

ขณะที่สาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาก่อสร้าง ที่หดตัวถึง 7.2% และ 1.6% ตามลำดับ ในส่วนของชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวม และชั่วโมงการทำงานเอกชนอยู่ที่ 41.4 และ 44.3 ตามลำดับ เช่นเดียวกับผู้ทำงานล่วงเวลาที่มีจำนวนกว่า 6.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.4% ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานลดลงกว่า 11.3% อัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ 1.05% โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.2 แสนคน

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่

1. การขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลและไอที จากการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ในแต่ละปีมีความต้องการแรงงานสายงานไอทีประมาณ 2-3 หมื่นตำแหน่ง แต่กลับมีผู้จบการศึกษาในด้านนี้ไม่เพียงพอ

“อุตสาหกรรมที่มีความต้องการในอนาคตคืออุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งจะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ในการปรับหลักสูตรให้สามารถรองรับความต้องการในภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวกับดาต้า ซอฟต์แวร์ และโปรแกรมเมอร์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ก็จะทำให้มีความต้องการตำแหน่งด้านดิจิทัลมากขึ้นด้วย ซึ่งต้องมาวางแผนทำโรดแมปให้ชัดเจนระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อผลิตบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการในอนาคต” นายดนุชา กล่าว

2. รายได้และการจ้างงานของแรงงานภาคเกษตรกรรม จากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลต่อการเพาะปลูกและผลผลิตของเกษตรกร

3. พฤติกรรมการเลือกงานโดยคำนึงถึงค่าตอบแทนที่สูงและสมดุลในชีวิตของคนรุ่นใหม่

ในส่วนของการเพิ่มค่าแรง ตามนโยบายการหาเสียงในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งเชิงบวกและลบ โดยเชิงบวกคือ แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนเชิงลบ คือ ภาคธุรกิจมีต้นทุนเพิ่ม ซึ่งจะมีการส่งผ่านต้นทุนไปสู่ราคาสินค้า ดังนั้น ต้องมีการพิจารณาให้ดีจากสถานการณ์ เนื่องจากจะเกี่ยวพันกับเรื่องการตัดสินใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งก็ต้องมีการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วย

“ที่ผ่านมา ไทยใช้พัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้ได้รายได้เพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่แล้วมีรายงานการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ วิธีการเป็นอย่างไร แต่ละประเทศทำอย่างไร ดังนั้น ต้องดูสถานการณ์ของประเทศให้ดี ขณะเดียวกันต้องดูภาระของภาคเอกชน และเรื่องเกี่ยวพันกับการตัดสินใจลงทุนต่างๆ ด้วย” นายดนุชา กล่าว

นายดนุชา กล่าวว่า ที่สำคัญถ้ามีการปรับเพิ่มเงินเดือนของผู้จบปริญญาตรี จะส่งผลทั้งภาครัฐและเอกชนได้รับผลกระทบ รัฐต้องปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ ซึ่งส่งผลต่อภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง ถ้าแรงงานเงินไม่พอใช้ต้องกลับมาดูทักษะแรงงาน และค่าครองชีพแต่ละพื้นที่ ซึ่งมองว่าค่าแรงไม่ควรเท่ากันหมดทั้งประเทศ เพราะค่าครองชีพต่างกัน จะปรับขึ้นหรือไม่ ต้องไปพูดคุยกับคณะกรรมการไตรภาคี

สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 4/65 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมทรงตัว แต่ต้องติดตามสินเชื่อเพื่อยานยนต์ที่มีสินเชื่อเสี่ยงเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น และบัญชีหนี้เสียในสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเพิ่มขึ้น

ในไตรมาส 4/65 หนี้สินครัวเรือน มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% ชะลอตัวจาก 4.0% ของไตรมาสที่ผ่านมา แต่เมื่อปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้น 1.1% จากไตรมาสก่อน และมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 86.9% ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนทรงตัว โดยสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.62% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้ยังมีความเสี่ยงในสินเชื่อรถยนต์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SMLs) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีมูลค่าสูงและมีบัญชีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการเร่งรัดแก้ไขปัญหา

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1/66 เป็นเรื่องที่ยังมีความกังวล และเป็นระเบิดเวลา แม้ที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขปัญหาต่อเนื่องจากทั้งฝ่ายรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่หนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นมาแล้ว ยากที่จะทำให้ลดลงในเวลาอันสั้น ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาไทยประสบภาวะโควิด-19 ด้วย ทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่งค่อนข้างสูง

ดังนั้น จึงต้องมีการแก้ปัญหาต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับตัวบุคคล ที่จะต้องมีความเข้าใจเรื่องกำลังการใช้จ่ายของตนเอง ถึงความเข้าใจในการซื้อสินค้าบางประการที่ไม่จำเป็น เพื่อจัดการหนี้เดิมและไม่สร้างหนี้ใหม่ ขณะเดียวกัน เรื่องการตลาดของภาคธุรกิจ เช่น การผ่อน 0% ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงในช่วงที่ผ่านมาด้วย

“ในไตรมาส 4/65 หนี้เสียยังทรงตัว แสดงให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระดับบุคคลและระดับธุรกิจเป็นไปได้ดี ซึ่งต้องดำเนินต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นความท้าทายของทุกรัฐบาล ส่วนโอกาสในการระเบิด หากดูเรื่องการจ้างงานที่ไปได้ และเศรษฐกิจที่เติบโตได้ ก็คงไม่ระเบิด แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโต เพราะเกี่ยวพันกับเรื่องการใช้จ่าย ดังนั้น การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องจำเป็น และต้องให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับการสร้างวินัยทางการเงิน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งสองฝ่าย” นายดนุชา กล่าว

ในส่วนของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย มีวัตุประสงค์เพื่อแก้ปัญหานโยบายทางการเงินเรื่องการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ดูอย่างรอบคอบในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ขึ้นลักษณะเดียวกับที่ต่างประเทศทำ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกส่งผ่านไปยังผู้ที่มีหนี้สิน ซึ่งต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ชัดเจน และจริงจังอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อในช่วงถัดไป มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทั้งปี 66 น่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายของธปท. ที่ไม่เกิน 3% เนื่องจากขณะนี้ราคาพลังงานต่างๆ ปรับลดลงมาก โดยเฉพาะแก๊ส LNG ที่ลงมาอยู่ที่ประมาณ 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู (MMbtu) จะทำให้ค่าไฟฟ้าในรอบหน้ามีแนวโน้มปรับลดลง ดังนั้น การปรับอัตราดอกเบี้ยยังต้องทำต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูง

ส่วนเรื่องนโยบายรัฐสวัสดิการ เนื่องจากไทยมีข้อจำกัดเรื่องการหารายได้ ในต่างประเทศการจัดสวัสดิการพื้นฐานมาจากรายได้ภาษีที่ค่อนข้างสูงมาก แต่ของไทยฐานภาษีค่อนข้างแคบ แม้จะมีผู้ยื่นแบบเสียภาษีถึง 10-11 ล้านคน แต่ผู้ที่เสียภาษีจริงมีไม่เกิน 4 ล้านคนเท่านั้น

ดังนั้น รัฐต้องทำนโยบายพุ่งเป้า ชัดเจนว่าจะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มใด แบบใด โดยมองว่าการช่วยแบบถ้วนหน้าจะมีความเสี่ยงต่อฐานะการเงินการคลังในระยะยาว ขณะเดียวกัน ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อนำส่วนหนึ่งมาใช้ในสวัสดิการ และอีกส่วนเพื่อลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศด้วย

สำหรับคุณสมบัติของผู้จะเข้ามาดูแลทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลต่อไปนั้น นายดนุชา เชื่อว่าคนที่จะเข้ามาต้องมีความสามารถอยู่แล้ว ประชาชนถึงได้เลือกเข้ามา ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดที่มีความรับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจ ก็ต้องเดินหน้าต่อในนโยบายหลายอย่าง เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 22/5/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net