Skip to main content
sharethis

นักวิเคราะห์มองการเคลื่อนไหวของรัฐบาลทหารพม่าในช่วงที่ผ่านมา มีการขยายสถานการณ์ฉุกเฉิน เลื่อนเลือกตั้งออกไปจากเดิม หลังจากที่เคยเลื่อนมาแล้ว ในขณะเดียวกันก็ให้อภัยโทษบางส่วนแก่ ‘อองซานซูจี’ รัฐบาลทหารพม่าทำเรื่องเหล่านี้ไปเพื่อหวังผลอะไร

 

4 ส.ค. 2566 รัฐบาลกองทัพพม่าประกาศเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมาว่าจะขยายสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน รวมถึงเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากเดิมที่เคยให้สัญญาไว้หลังรัฐประหาร 2564 กลายเป็นเดือนสิงหาคม 2567

รัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 ที่ร่างโดยกองทัพพม่าเองระบุว่า ต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 6 เดือน หลังจากที่การรัฐประหารสิ้นสุดลง ก่อนหน้านี้รัฐบาลทหารพม่าเคยสัญญาว่าจะให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนสิงหาคม 2566 แต่ก็มีการประกาศเลื่อนออกไปอีกหนึ่งปี

มินอ่องหล่ายให้สัมภาษณ์ต่อสื่อยอมรับว่า กองทัพพม่ายังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ในประเทศพม่าเอาไว้ได้ทั้งหมด ยังมีการสู้รบเกิดขึ้นในภูมิภาค สะไกง์, มะกเว, พะโค, ตะนาวศรี รวมถึงในรัฐ กะเหรี่ยง, กะยา และรัฐชีน

"พวกเราต้องการเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อให้มีการเตรียมการอย่างเป็นระบบ เราไม่ควรจะรีบเร่งจัดการเลือกตั้งครั้งถัดไป" มินอ่องหล่าย กล่าวในการประชุม

 

ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลทหารพม่าสั่งขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยประกาศขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ (2566) โดยที่สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติของพม่า (NDSC) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มกองทัพแถลงในวันถัดจากนั้นว่าสถานการณ์ "ยังไม่กลับมาเป็นปกติ" อีกทั้งมินอ่องหล่ายยังได้แถลงในตอนนั้นว่าทางกองทัพยังไม่สามารถควบคุมเมือง 1 ใน 3 ของพม่าเอาไว้ได้อย่างเต็มที่

 

รัฐบาลทหารพม่ากำลังสูญเสียพื้นที่ และต้องการถ่วงเวลา

อมารา ทิฮา นักวิจัยปริญญาเอก จากสถาบันวิจัยสันติภาพออสโลกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลทหารพม่ากำลังพยายามถ่วงเวลารอให้ผลการเลือกตั้งในปี 2563 หมดวาระเมื่อถึงปี 2568 โดยที่ในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวอองซานซูจีและพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะ

ทิฮาวิเคราะห์ว่า กองทัพพม่าต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการโต้แย้งเรื่องความชอบธรรมถ้าหากมีการจัดการเลือกตั้งก่อนหน้าที่ผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจะหมดวาระ จึงเป็นไปได้ว่ารัฐบาลทหารจะหาเรื่องขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2567 การขยายสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งล่าสุดนี้จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจสำหรับทิฮา

นอกจากนี้ทิฮายังระบุอีกว่า การเตรียมการเลือกตั้งจากฝ่ายเผด็จการทหารพม่าเป็นไปอย่างเชื่องช้า และพื้นที่ส่วนใหญ่ของพม่าก็กำลังตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังฝ่ายต่อต้านกองทัพ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้พม่าอาจจะยังไม่ได้เห็นการเลือกตั้งภายในเร็วๆ นี้

 

ทำไมพม่าถึงอภัยโทษส่วนหนึ่งให้ ‘อองซานซูจี’

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสังเกตซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันคือการที่รัฐบาลทหารพม่าให้อภัยโทษบางข้อหาต่ออองซานซูจี จากเดิมที่กองทัพพม่าเคยสั่งให้มีการลงโทษจำคุกซูจีรวม 33 ปี ในตอนนี้มีการนำตัวซูจีออกจากเรือนจำกลับไปที่บ้านเพื่อทำการคุมขังภายในบ้าน

ทิฮากล่าวว่าเรื่องนี้เป็น "การเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์" ของรัฐบาลทหาร เพื่อที่จะลดแรงกดดันจากนานาชาติ เป็นเรื่องที่กองทัพพม่าทำอะไรตาม "เงื่อนไข, กำหนดเวลา และแผนการในเกมของตัวเอง"

ผู้สังเกตการณ์พม่าบางส่วนที่มองว่า พม่าให้อภัยโทษซูจีบางข้อหาเพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเอง เช่น การสูญเสียที่เกิดขึ้นกับกองทัพพม่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

มีมี วินน์ เบิร์ด ศาสตราจารย์จากศูนย์เอเชียแปซิฟิกเพื่อความมั่นคงศึกษา กล่าวว่า สาเหตุที่กองทัพพม่าไล่ทิ้งระเบิดใส่บ้านเรือนประชาชนนั้นเป็นเพราะว่าเป็นหนทางเดียวที่พวกเขาจะคุกคามผู้คนได้ กองทัพพม่าในตอนนี้ "กำลังล่มสลายและเน่าเฟะจากเนื้อใน" นอกจากนี้ยังไม่มีหลักนิติธรรมเหลืออยู่อีกแล้ว

เบิร์ดกล่าวอีกว่า รัฐบาลที่นำโดยทหารบริหารประเทศผิดพลาดทางเศรษฐกิจ เช่น การเสนอใช้ธนบัตรชนิดใหม่ใบละ 20,000 จ๊าด (ราว 330 บาท) ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง และยิ่งทำให้ประเทศที่กำลังมีการสู้รบขาดเสถียรภาพมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้กองทัพพม่ายังดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติไม่ค่อยได้ด้วย

 

"กองทัพพม่าเป็นฝ่ายสร้างความแตกแยก ทำลายเสถียรภาพ"

ก่อนหน้านี้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "อาเซียน" เคยออกฉันทมติ 5 ข้อเพื่อต้องการลดความขัดแย้งในพม่า แต่ทหารพม่าก็ไม่ทำตามข้อตกลงเหล่านี้ นอกจากนี้เบิร์ดยังมองว่า การที่รัฐบาลทหารพม่าต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปกลายเป็นการ "ทำลายความน่าเชื่อถือของอาเซียน" ด้วย

เบิร์ดมองว่าแทนที่กองทัพพม่าจะหยุดใช้ความรุนแรงในประเทศโดยทันทีตามที่ให้สัญญาไว้กับอาเซียน แต่พวกเขากลับกลายเป็น "ผู้จุดชนวนให้เกิดความรุนแรง" เสียเอง ทำให้ประชาชนที่ถูกโจมตีโดยทหารพม่ารู้สึกว่าพวกเขามีความรับผิดชอบในการต้องปกป้องชุมชนของตัวเอง เนื่องจากการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมของกองทัพ

เบิร์ดเรียกร้องให้อาเซียนอย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพพม่าที่ว่าพวกเขากำลังทำให้ประเทศเป็นปึกแผ่น แต่ควรจะปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตนี้

"ในความเป็นจริงแล้วเผด็จการทหารเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดความแตกแยกภายในประเทศขึ้น ก่อนหน้าการรัฐประหาร ไม่มีปัญหาด้านเสถียรภาพใดๆ เกิดขึ้นในประเทศเลย ... ในตอนนี้พวกเราขาดเสถียรภาพ แล้วก็ไม่ใช่แค่การขาดเสถียรภาพภายในพม่าเท่านั้น แต่มันยังรั่วไหลไปสู่ประเทศใกล้เคียงด้วย" เบิร์ด กล่าว

ทิฮากล่าวว่า ถึงแม้พม่าจะยังคงมีความขัดแย้งดำเนินต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียนจะไม่ได้ผล อยากให้ประเทศใกล้เคียงกับพม่าใช้ความพยายามมากขึ้นในการยกระดับการแก้ไขวิกฤตไม่ให้ฝังรากลึกไปมากกว่านี้

ทิฮาเสนอว่า ควรจะมีกระบวนการนำทาง โดยมีเป้าหมายหลักเป็นการลดระดับความขัดแย้งและหาทางออกในแบบที่ทำได้จริงในทางปฏิบัติเพื่อที่จะแก้ปัญหาวิกฤตในพม่า

 

 

เรียบเรียงจาก

Myanmar junta extends state of emergency, postpones election promised after 2021 coup, CNA, 31-07-2023

https://www.channelnewsasia.com/asia/myanmar-state-emergency-extend-elections-delay-3666696

Extension of Myanmar’s state of emergency ‘not surprising’, as military junta loses control on the ground, CNA, 01-08-2023

https://www.channelnewsasia.com/asia/myanmar-military-junta-extends-state-emergency-delays-promised-elections-losing-ground-min-aung-hlaing-aung-san-suu-kyi-3668886

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net