Skip to main content
sharethis

รัฐบาลเดินหน้ามาตรการป้องกันการใช้แรงงานลิง กำหนดสัญลักษณ์ MFP

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลขับเคลื่อนมาตรการตรวจรับรองแปลงระบบผลิตอาหารปลอดภัย GAP (Good Agricultural Practice) MFP (GAP Monkey Free Plus) ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต รวมทั้งผลักดันการใช้เครื่องหมาย GAP MFP อย่างเป็นรูปธรรมและสากล ตอกย้ำ และยืนยันถึงขั้นตอนกระบวนการผลิตและการแปรรูปมะพร้าวของประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม ชมรม และบริษัทผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทย เดินหน้าตามมาตรการ GAP Monkey free plus เพื่อตรวจรับรองสวนมะพร้าวให้เข้าสู่ระบบผลิต GAP

รวมทั้งเพื่อตรวจรับรองว่าแปลงปลูกไม่ได้ใช้ลิงเก็บเกี่ยว โดยนอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว หน่วยงานภาครัฐยังได้วิจัยและคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกร และอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย ได้นำไปเรียนรู้ และปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ในการเก็บเกี่ยวมะพร้าวต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการตรวจประเมินการใช้แรงงานลิงในแปลงเกษตรกรที่ได้การรับรอง GAP มะพร้าวเป็นลำดับแรก และตรวจประเมินแปลงเกษตรกรในเครือข่ายของบริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวเพื่อการส่งออก โดยเชื่อมั่นว่า จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อคู่ค้า และต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในด้านการผลิตมะพร้าวในทุกขั้นตอนได้เป็นอย่างดีและยั่งยืน

ปัจจุบัน มีแปลงที่ผ่านการตรวจประเมิน GAP MFP เป็นแปลงมะพร้าวแกง 1,372 แปลง รวมพื้นที่ 13,546 ไร่ และแปลงมะพร้าวอ่อน 533 แปลง รวมพื้นที่ 6,597 ไร่ มีเป้าหมายจะตรวจให้ครอบคลุม แปลงเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP แล้วอีกประมาณ 4,526 แปลง 47,125 ไร่ และตรวจให้เกษตรกรและเกษตรกรที่ผู้ประกอบการแจ้งความประสงค์ไว้ภายในเดือนกันยายน 2566 นี้ (ณ เดือนมีนาคม 2566)

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 26/8/2566

เตือน "วีซ่าเกษตรเกาหลี" (วีซ่า E-8) ต้องผ่าน "กรมการจัดหางาน" จัดส่งเท่านั้น

"นายไพโรจน์ โชติกเสถียร" อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบายถึงกระแสข่าวมีหน่วยงานหรือองค์กร ประกาศลงทะเบียนและรับสมัครไปทำงานภาคเกษตรตามฤดูกาลที่สาธารณรัฐเกาหลี (วีซ่าเกษตรเกาหลี) โดยเก็บเงินค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจำนวนหนึ่ง พร้อมการันตีรายได้ 54,000 – 70,000 บาทต่อเดือน ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรตามฤดูกาล (Seasonal Worker) ที่เกาหลีใต้ด้วยวีซ่า E - 8 ทางการเกาหลีใต้ระบุอย่างชัดเจนให้กรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานผู้ดำเนินการเท่านั้น ห้ามหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทจัดหางานเข้าแทรกแซงและทำสัญญาซ้อนกับแรงงาน

"ขอย้ำเตือนประชาชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจไปทำงานเกษตรตามฤดูกาลเกาหลีใต้ อย่าหลงเชื่อหากมีหน่วยงาน องค์กรหรือบุคคลใดแอบอ้างว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่านี้หรือมีช่องทางพิเศษในการอำนวยความสะดวกเพื่อไปทำงานต่างประเทศได้" "นายไพโรจน์" ระบุ

ด้าน "นายรัตนะ สวามีชัย" เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดส่งคนงานไปทำงานภาคการเกษตรในต่างประเทศ ถึงหัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัด ข้อความโดยสรุปว่า การจัดส่งแรงงานไปทำงาน "วีซ่าเกษตรเกาหลี" ต้องยึดถือและปฏิบัติตามกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเท่านั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน

จึงขอให้หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแจ้งเกษตรกร หรือผู้เกี่ยวข้อง ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมจัดการงาน กระทรวงแรงงาน ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

สำหรับการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ (ถ้ามี) สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติขอเรียนยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด แต่อย่างใดทั้งสิ้น

ที่มา: คมชัดลึก, 26/8/2566

สปส. ผุดโครงการบูรณาการ “ศาลแรงงานเคลื่อนที่” หวังคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย

นายอาทิตย์ อิสโม ประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ สำนักงานประกันสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอุทธรณ์ ร่วมกับคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ (วิชาการ) สัญจร โดยมี ผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 9 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา พื้นที่ใกล้เคียง และคณะกรรมการอุทธรณ์ เข้าร่วมประชุม ที่ห้องประชุมโรงแรมคุ้มไทรงาม โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท (เกาะยอ) อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

นายอาทิตย์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ได้มีแนวคิดตรงกันที่จะผุดโครงการบูรณาการศาลแรงงานเคลื่อนที่ ระหว่าง ผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 9 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และคณะกรรมการอุทธรณ์ สำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ข้อมูลและคำปรึกษาทั้งในด้านข้อกฎหมายและอื่นๆ ก่อนฟ้อง ให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิ สวัสดิการ และข้อมูลด้านแรงงาน รวมทั้งประสานหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลืออำนวยความยุติธรรม ขยายโอกาสแก่ประชาชน คู่ความ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการด้านแรงงานได้เข้าถึงหรือได้รับการเยียวยาความเดือดร้อนด้วยความเป็นธรรม ลดภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างสะดวก รวดเร็ว ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาล สามารถบรรเทาความเดือดร้อน ได้รับการเยียวยาตามมาตรฐานที่รัฐและกฎหมายแรงงานกำหนดโดยสะดวก ประหยัด เสมอภาค เป็นธรรม และเกิดมาตรฐานเดียวกัน

“ศาลแรงงานกลางได้ขอความร่วมมือกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในการพิจารณาคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน หรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ทั้งนี้ ให้รวมถึงมูลละเมิดระหว่างลูกจ้างกับลูกจ้างที่เกิดจากการทำงานในทางการที่จ้างด้วย ข้อพิพาทแรงงานตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งคดีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน” นายอาทิตย์ กล่าว

ที่มา: เดลินิวส์, 25/8/2566

"สภานายจ้างฯ" ชง 3 ข้อเสนอ รัฐบาลใหม่ จดทะเบียน-ต่อใบอนุญาตแรงงานข้ามชาติ

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เราได้นายกฯคนใหม่ และกำลังจะได้รัฐบาลชุดใหม่ เพื่อมาบริหารประเทศ โดยในส่วนของสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ หลังจากเดือนเมษายน 2566 พบว่า มีแรงงานข้ามชาติ สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม กว่า 1.9 ล้านคน อยู่ระหว่างกระบวนการจดทะเบียน และต่อใบอนุญาตตามมติคณะรัฐมนตรี 7 กุมภาพันธ์ 2566 และต้องลงตราวีซ่าภายใน 15 พฤษภาคม 2566 ขณะนี้ยังไม่ปรากฏตัวเลขอย่างเป็นทางการว่า เหลือแรงงานจำนวนเท่าใดที่ดำเนินการได้ทันและไม่ทันตามกำหนดเวลาดังกล่าว และยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีหรือมาตรการใดๆ มารองรับเพื่อให้แรงงานที่หลุดออกจากระบบ สามารถทำงานในไทยกับนายจ้างต่อไปได้อย่างถูกต้องในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ดังนั้นสภาองค์การนายจ้างฯ ขอเสนอ 3 ข้อ ถึงรัฐบาลชุดใหม่ ให้เร่งดำเนินการทันทีเพื่อแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ

โดยประการแรก เสนอให้มีการเปิดศูนย์จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service Centers หรือ OSSCs) เพื่ออำนวยความสะดวกให้นายจ้างและแรงงานไม่ต้องเดินทางไปดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ในหลายหน่วยงาน ช่วยลดภาระเรื่องการเดินทางของทั้งนายจ้างและแรงงานในการเข้าสู่กระบวนการขอรับใบอนุญาต ในเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลา และยังจะช่วยลดขั้นตอนโดยนายจ้างและแรงงานจะสามารถดำเนินการยื่นคำร้อง ตรวจสุขภาพ ลงตราวีซ่า และรับใบอนุญาตทำงาน พร้อมกับบัตรสีชมพู ได้ในจุดเดียว และดีที่สุดคือภายในวันเดียว

2) ลดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการต่อใบอนุญาตการเปิดศูนย์ OSSCs นายจ้างและแรงงานจะสามารถลดค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางได้ทันที หากการดำเนินการทั้งหมดสามารถผ่านศูนย์ได้ที่เดียว และใช้เวลาเพียง 1 วัน โดย อัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโดยสมบูรณ์ ควรสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเรียกเก็บเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนแรงงานหนึ่งคน สำหรับการทำงาน 2 ปี หากไม่มีประกันสังคม จะอยู่ที่ 9,480 บาท โดยประมาณ หรือ 6,380 บาท เมื่อหักค่าประกันสุขภาพออกไป ในกรณีที่แรงงานเข้าประกันสังคม ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการต่อเอกสารเดินทางของแรงงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่านายหน้า ในกรณีที่ทั้งนายจ้างและแรงงานไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนอย่างครบถ้วนได้ด้วยตนเอง เมื่อเปรียบเทียบกับฐานรายได้ค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานแล้ว จึงไม่จูงใจให้แรงงานเข้าสู่ระบบ รัฐบาลควรมีแนวคิดปรับลดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติ ยังมีข้อจำกัด เรื่องค่าวีซ่าเป็นเงื่อนไขไม่ให้แรงงานปรับเปลี่ยนสถานะเข้าเมืองให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยง่าย การใช้บริการคนกลาง หรือบริษัทในการช่วยดำเนินการอาจยังเป็นทางเลือกที่มีความสำคัญ ดังนั้น จึงจำเป็นที่รัฐควรจะกำหนดเพดานการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการบริการ ในปัจจุบันการจดทะเบียนแรงงาน ไม่มีการกำกับดูแลการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม การจดทะเบียนแรงงานจึงควรได้รับการกำกับดูแลโดยพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

และ 3) ลดขั้นตอนหรือเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติยังสามารถคงสถานะเข้าเมืองและมีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบุให้แรงงานต้องรายงานตัวทุก ๆ 90 วัน หากมองว่าการได้มาซึ่งใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องยุ่งยาก การคงสถานะพำนักและทำงานในประเทศได้อย่างถูกกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่ยากพอๆ กัน ทั้งนายจ้างและแรงงานต่างมีหน้าที่แจ้งเข้าแจ้งออกการทำงานต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และในระหว่างที่แรงงานอาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องแจ้งที่พักอาศัย และคอยรายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุกๆ 90 วัน โดยผู้ให้ที่พักต่อคนต่างชาติก็มีหน้าที่ต้องแจ้งการให้ที่พักด้วย

นายเอกสิทธิ์ ยังระบุว่า การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากนี้ควรใช้กรอบการพิจารณาใหม่ ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับแรงงานประเภทอื่นๆ หรือจากชาติอื่นๆ โดยอาจเริ่มจากการผ่อนปรนเงื่อนไขการรายงานตัว 90 วัน ซึ่งได้เห็นแล้วว่ามีการผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวกับผู้ถือวีซ่าประเภท smart visa ที่ให้รายงานตัวเพียงปีละหนึ่งครั้ง ในเมื่อแรงงานจดทะเบียนภายในประเทศมีนายจ้างและมีงานทำเป็นหลักแหล่ง การบริหารคนกลุ่มนี้ควรสอดคล้องกับความเป็นจริงและไม่นำมิติความมั่นคงของรัฐมาบังคับใช้อย่างเข้มงวดหรือเทียบเท่าการเข้าเมืองประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อมีมาตรการอื่นๆ ที่จะสามารถระบุหลักแหล่งของแรงงานได้ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งที่พักอาศัยใหม่ และการแจ้งเข้าทำงาน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมองภาคเศรษฐกิจ และแนวโน้มกำลังแรงงานในระยะยาว อย่างที่ทราบกันดีกว่า ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว และในปีนี้เอง ประเทศไทยมีกลุ่มประชากรวัยเกษียณ (60-64 ปี) เป็นจำนวนมากกว่าประชากรในวัยทำงานช่วงต้น (20-24 ปี)

ทั้งนี้ หากรัฐดำเนินการทั้ง 3 ข้อ ข้างต้นนี้ จะเป็นการสร้างมิติใหม่ของการอำนวยความสะดวกที่เอาความต้องการและประโยชน์ของผู้คนเป็นที่ตั้ง โดยก้าวข้ามการเลือกปฏิบัติอันมีเหตุมาจากสัญชาติ เชื้อชาติ หรือสถานะบุคคล โจทย์ของความมั่นคงของรัฐจะกลายเป็นการบริการและคุ้มครองประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์ไปพร้อมๆ กับรัฐบาลที่มั่นคง

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 24/8/2566

CPALL ยันโครงการสะสมหุ้นพนักงาน ไม่ได้เอื้อให้ผู้บริหารแทรกแซง

นายสุพจน์ ชิตเกษรพงศ์ เลขานุการบริษัท บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติโครงการสะสมหุ้นสำหรับพนักงาน (Employee Joint Investment Program-EJIP) ครั้งที่ 4 และบริษัทได้เปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566

คณะกรรมการของบริษัทได้มีหนังสือรับรองต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 โดยรับรองว่าโครงการ EJIP ของบริษัทไม่มีลักษณะที่เอื้อให้กรรมการหรือผู้บริหารสามารถแทรกแซงการตัดสินใจในการลงทุนได้

และเป็นการลงทุนสะสมซื้อหุ้นของบริษัทเป็นรายงวดตามสมัครใจของพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อย ด้วยหลักการเฉลี่ยต้นทุน โดยบริษัทและบริษัทย่อยจะหักเงินเดือนพนักงานที่มีสิทธิและสมัครใจเข้าร่วมโครงการในอัตราร้อยละ 5 ของเงินเดือนในแต่ละเดือนจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการ

และบริษัทและบริษัทย่อยที่พนักงานสังกัดจะจ่ายสมทบเพิ่มในอัตราร้อยละ 80 ของเงินที่หักจากพนักงานทุกเดือน โดยบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำเนินโครงการจะนำเงินสะสมของพนักงานรวมกับเงินสมทบของบริษัทและบริษัทย่อยไปซื้อหุ้น CPALL ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในวันที่กำหนดของทุกเดือน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/8/2566

ธุรกิจยานยนต์พบ รมว.แรงงาน ยอดส่งออกพุ่ง จ่ายโบนัสพนักงาน 9 เท่า

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายอำพล หอมปลื้ม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด และสหภาพแรงงานเด็นโซ่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ในโอกาสเข้าพบเพื่อเยี่ยมคาวระ และเรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานในพิธีเปิดงานฉลองครบรอบ 45 ปี แห่งการก่อตั้งสหภาพเด็นโซ่ ประเทศไทย

และหารือเรื่องการดำเนินกิจกรรมของสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) พร้อมมอบดอกไม้แสดงความขอบคุณรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่มีมาตรการช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการดำเนินโครงการแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์

จนทำให้ธุรกิจส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมี นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายสุชาติกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2564 ส่งผลให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นรายได้สําคัญของประเทศได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ขณะเดียวกัน ธุรกิจภาคส่งออกที่มีภาคแรงงานกว่า 2 ล้านคน ใน 4 สาขา กลับเติบโต ได้แก่ อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งเป็นผลพวงจากการดำเนินการโครงการแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ (Factory Sandbox) ของกระทรวงแรงงานตามนโยบายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้กระทรวงแรงงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม

ดำเนินการโครงการดังกล่าวด้วยหลักการเศรษฐศาสตร์คู่กับสาธารณสุข ทั้งการเยียวยา การให้ความช่วยเหลือ การฉีดวัคซีน ตรวจคัดกรองโควิด-19 ทำให้ธุรกิจส่งออกเติบโต ในรอบ 11 ปี ช่วยเหลือสถานประกอบการจนทำให้สามารถรักษาการจ้างงาน และบางบริษัทสามารถจ่ายโบนัสได้ถึง 9 เท่า

นายอำพล หอมปลื้ม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ได้มาเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอบคุณไปยังรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไว้ให้ประชาชนโดยเฉพาะลูกหลานที่จะเติบโตในอนาคต รวมทั้งทำให้นักลงทุนได้เข้ามาลงทุนในบ้านเราเพิ่ม

“ผมอยากสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงวันนี้ผมขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี สุชาติ ชมกลิ่น ที่ช่วยเหลือภาคเอกชนจากผลกระทบโควิด-19 จากผลพวงของโครงการแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ ทำให้วันนี้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพราะช่วงโควิดนั้นต้องยอมรับว่าบริษัทแต่ละแห่งได้รับผลกระทบตาม ๆ กัน แต่ในขณะเดียวกันเราเป็นสถานประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เมื่อรัฐบาลออกมาตรการมาดูแลพนักงาน โรงงานก็ไม่หยุดการผลิต สามารถผลิตสินค้าและส่งออกได้ต่อเนื่อง

ทำให้ในปี 2566 มีรายได้จากการประกอบการรวมกว่า 74,000 ล้านบาท และที่สำคัญบริษัทได้จ่ายโบนัสพนักงานสูงถึง 8.4-9.5 เท่า เงินเดือนขึ้นสูงถึง 5.2 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ปากท้องของพี่น้องแรงงานภาคยานยนต์ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากความเข้มแข็งที่เกิดจากความร่วมมือจากภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานที่สร้างหลักประกันให้พี่น้องแรงงานมีรายได้ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/8/2566

จนท.แรงงานลำปาง รุดดูแลสิทธิประโยชน์ลูกจ้างเฟอร์นิเจอร์ ถูกเลิกจ้างลอตแรก 103 คน

22 ส.ค. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนางสุวรา พงศ์ปัญญาเนตร แรงงานจังหวัดลำปาง ว่า บริษัท ถาวร ลำปาง จำกัด ซึ่งประกอบกิจการและผลิตส่งออกเครื่องเรือนเครื่องใช้จากไม้ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งมีลูกจ้างไทยทั้งหมด 189 คน แบ่งเป็นชาย 62 คน หญิง 127 คน แต่เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและขาดทุนสะสม บริษัทฯ จึงได้เลิกจ้างลูกจ้างชุดแรก จำนวน 103 คน มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566 เป็นต้นไป และมีแผนเลิกจ้างเดือน ธ.ค. 2566 จำนวน 86 คน ตนจึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดลำปาง ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือตามภารกิจ เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์พึงได้ตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เบื้องต้น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำปาง รับคำร้องทุกข์ของลูกจ้าง จำนวน 103 คน เพื่อติดตามสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อาทิ ค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 1-18 ส.ค. 2566 และค่าชดเชยการทำงานรวมเป็นเงินประมาณ 8,000,000 บาท เป็นต้น สำนักงานประกันสังคมจังหวัดลำปาง ดำเนินการให้คำปรึกษาสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีว่างงาน การเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เพื่อรักษาสิทธิการประกันสังคม การชี้แจงขั้นตอนการลงทะเบียนว่างงานโดยมีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนว่างงาน 72 คน ขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ 20 คน ในจำนวนนี้เป็นบำนาญ 19 คน และบำเหน็จ 1 คน สมัครมาตรา 39 จำนวน 3 คน ขณะที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปาง และศูนย์บริหารข้อมูลตลาดแรงงานภาคเหนือ นำตำแหน่งงานว่างมากกว่า 500 อัตรา มารองรับ และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 ลำปาง ก็ได้แนะนำแนวทางอาชีพอิสระ มีผู้สนใจสมัครงานเบื้องต้น 4 คน

อย่างไรก็ตาม ทราบว่า นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ลงพื้นที่ติดตามการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดลำปาง และให้กำลังใจแก่ลูกจ้างในครั้งนี้ด้วย

ที่มา: เดลินิวส์, 22/8/2566

“กระทรวงแรงงาน” เปิดอบรมฟรี “สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แรงงานไทย” ถึง 31 ส.ค.นี้

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงฯได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แรงงานไทย”เพื่อพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานและประชนที่ได้รับความเดือนร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ให้มีรายได้ต่อยอดนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบของกระทรวงแรงงาน ซึ่งเปิดรับสมัครผู้เข้าอบรมจนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้

โดยจัดฝึกอบรมตามหลักสูตรที่เหมาะสมกับประชาชนในพื้นที่ 77 จังหวัด จำนวน 231 รุ่น ๆ ละ 110 คน รวมไม่น้อยกว่า 25,410 คน ระยะเวลาการฝึกอบรมหลักสูตรและรุ่นละ 12 ชั่วโมง (2 วัน) โดยแบ่งเป็นภาคทฤษฎี 6 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 6 ชั่วโมง โดยกลุ่มเป้าหมายมีสิทธิเข้ารับการฝึกอบรมได้คนละ 1 รุ่น หรือ 1 หลักสูตร เท่านั้น

ซึ่งมีหลักสูตรดังนี้

(1.1) หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น ประกอบด้วย 5 วิชา ดังนี้

(1.1.1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นเพื่อก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม

(1.1.2) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของสินค้าในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มยอดขายและรายได้

(1.1.3) การส่งเสริมการตลาดออนไลน์

(1.1.4) การพัฒนาทักษะการบริหารจัดการการเงิน

(1.1.5) ภาษีอากรเบื้องต้น และประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการภาครัฐ

(1.2) หลักสูตรการพัฒนาทักษะอาชีพงานบริการ ประกอบด้วย 5 วิชา ดังนี้

(1.2.1) การบริการอย่างไรให้ถูกใจลูกค้า

(1.2.2) การหาช่องทางทำเงินด้วยธุรกิจบริการ

(1.2.3) การเพิ่มรายได้ด้วยช่องทางการให้บริการบน Platform

(1.2.4) การพัฒนาทักษะการบริหารจัดการการเงิน

(1.2.5) ภาษีอากรเบื้องต้น และประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการภาครัฐ

ทั้งนี้คุณสมบัติผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมมีสัญชาติไทย ,อายุไม่น้อยกว่า 15 ปีเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน มีภูมิลำเนาหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่จัดฝึกอบรม และไม่เป็นนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ หรือ บุคลากรของภาครัฐ หรือ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33

โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 สิงหาคมนี้ สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมอบรมสามารถสแกน QR Code ตามที่ปรากฎในภาพ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 20/8/2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net