Skip to main content
sharethis

นักวิชาการแนะเร่งแก้ปัญหาวิกฤติจากเด็กนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษา เพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ "ลงทุนทรัพยากรมนุษย์" คือคำตอบของเสถียรภาพการคลังระยะยาว

2 มิ.ย. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการ นโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ฐานะการคลังเสี่ยงเพิ่มจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายมาก ความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้น จำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อใช้ในการบริหารและพัฒนาประเทศ แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม หากสามารถกำกับดูแลไม่ให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 70% ภาระหนี้ของรัฐบาลและภาระผูกพันมาตรการกึ่งการคลังสะสมไม่เกินเกณฑ์วินัยการเงินการคลัง สัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 1.42% (เพดานอยู่ที่ไม่เกิน 10%) สัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศต่อรายได้จากส่งออกสินค้าและบริการอยู่ 0.05% (ไม่เกินเพดาน 5%) และยังสามารถจัดสรรเงินงบประมาณชำระหนี้คืนต้นเงินกู้ในแต่ละปีงบประมาณรายจ่ายไม่น้อยกว่า 2.5%-4% เมื่อพิจาณาเกณฑ์เพดานกำกับบริหารหนี้สาธารณะต่างๆแล้ว ขณะนี้ ประเทศไทยยังห่างไกลความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของประเทศและความเสี่ยงนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้  

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการ นโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่ “ประเทศไทย” จะยังไม่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในอนาคตอันใกล้ หากพิจารณาจากสถานะทางการคลังการเงินของประเทศยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศยังอยู่ในระดับสูง ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินต่างประเทศต่ำมากๆ ทุนสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่านำเข้าอยู่ในระดับสูงถึง 7-8 เดือน รัฐบาลสามารถระดมทุนในประเทศได้ หนี้ภาครัฐส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวในรูปสกุลเงินบาท การถือพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ของไทยยังมีความปลอดภัย โดยล่าสุด Fitch Ratings ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) อย่างไรก็ตาม การเพิ่มการขาดดุลงบประมาณในปี 2568 ทำให้การขาดดุลงบประมาณเทียบกับจีดีพีของไทยสูงกว่าค่ากลางของประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน ขณะที่ S&P ก็ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ BBB+ และคงมุมมองในระดับมีเสถียรภาพ และ Moody’s ก็ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ Baa1 (เทียบเท่า BBB+) และคงมุมมองในระดับมีเสถียรภาพ โดย Moody’s เชื่อมั่นว่า ในระยะปานกลาง รัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และ สามารถดำเนินนโยบายการคลังแบบระมัดระวังเพิ่มขึ้นได้ (Conservative Fiscal Policy) รัฐบาลไทยยังมีสถานะในการชำระหนี้ที่แข็งแกร่ง (Strong Debt Affordability)

เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยต่ำกว่าเป้าหมายมาก ศักยภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันถดถอยในภาคส่งออก ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวไม่เพียงพอต่อการชดเชยการติดลบของภาคส่งออก การก่อหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีความสำคัญ แต่ การก่อหนี้ในภาวะเศรษฐกิจโตต่ำอันเป็นผลจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง จึงต้องก่อหนี้เพื่อลงทุปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านการลงทุนเพื่อรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นระยะยาวและระยะปานกลาง การผลักดันการเลื่อนชั้นรายได้แรงงานในระบบให้เป็นฐานภาษีเพิ่มขึ้นของรัฐเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แผนการคลังระยะปานกลางต้องให้สำคัญกับการปฏิรูปรายได้ภาครัฐด้วยการขยายฐานภาษีทรัพย์สิน การยุบหรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อลดภาระทางการคลังในกิจการที่ไม่มีความจำเป็นที่รัฐต้องให้บริการ หรือ ปล่อยให้เอกชนหรือกลไกตลาดทำงานจะดีกว่า พัฒนาและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่มีการขาดทุนสูงและขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ของภาครัฐ โดยเฉพาะ รฟท ขสมก รัฐบาลควรเพิ่มการนำกำไรส่งคลังของรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% ปีงบประมาณ 66 มีเป้าหมายส่งรายได้เข้าคลังประมาณ  1.49 แสนล้านบาทต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ในปี 67 และ 68 หรือ อย่างน้อยปีละ 1.8 แสนล้านในระยะ 5 ปีข้างหน้า การเลื่อนชั้นรายได้แรงงานให้สูงขึ้นอาจไม่เพียงพอ ต้องดำเนินการปฏิรูปรายได้ภาครัฐและสร้างฐานภาษีใหม่ในแผนการคลังระยะปานกลางด้วย การสร้างฐานภาษีใหม่นอกจากเพิ่มแหล่งรายได้ภาษีของรัฐแล้วยังต้องตั้งเป้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจอีกด้วย งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นรวมทั้งงานของ Muthitacharoen & Burong (2023) พบว่า ในช่วง ค.ศ. 2009-2019 การเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยรุนแรงขึ้น งานศึกษาของ Muthitacharoen & Burong (2023) บ่งชี้ว่า คนกลุ่ม Top 1% มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มอย่างเห็นได้ชัดจากราว 9% ในปี ค.ศ. 2009 เป็น 11% ในปี ค.ศ. 2008 ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างกลุ่มคนรายได้ปานกลางและกลุ่มฐานะยากจนไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก และ โอกาสในการเลื่อนชั้นรายได้ของกลุ่มคนยากจนและรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูงมีน้อยมาก ขณะที่ กลุ่มรายได้ปานกลางมีฐานะยากจนลง ราว 35% ของแรงงานในระบบภาษียังคงอยู่ในชั้นรายได้เดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงปี ค.ศ. 2009-2019

โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ขึ้น (Upward Mobility) ของชาวไทยทั้งหมดนั้นอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ โอกาสในการการเลื่อนชั้นรายได้สูงขึ้นของแรงงานในระบบภาษีก็ต่ำเช่นเดียวกัน การทำให้แรงงานมีความมั่นคงในงาน มีสวัสดิการดีขึ้น มีสัญญาจ้างยาวขึ้น การปรับเงินเดือนขั้นต่ำ การส่งเสริมการออมภาคบังคับและการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้แรงงานมีฐานรายได้จากการลงทุนและรายได้จากทรัพย์สินเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากรายได้จากการจ้างงาน (Earnings) รัฐบาลจะขยายฐานภาษีได้ก็ต่อเมื่อสามารถทำให้คนส่วนใหญ่สามารถเลื่อนชั้นรายได้ให้สูงขึ้น และ มีรายได้อื่นๆนอกเหนือจากรายได้จากทำงาน และสิ่งนี้กระทรวงการคลังสามารถทำพร้อมกับการเพิ่มอัตราภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้ากว่าเดิม และ มีเหตุผลในการทำได้เพราะความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างในระบบมีสาเหตุหลักมาจากผู้มีรายได้สูง 1% ของระบบ  

รศ.ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่างบประมาณที่ไม่ควรตัดลด แต่ควรจัดสรรเพิ่ม คือ งบลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของประเทศทางด้านการศึกษา วิจัยและสาธารณสุข หากไม่สามารถจัดสรรให้เพียงพอจะทำให้ศักยภาพในทุกด้านของประเทศอ่อนแอลงในที่สุด หากไม่สามารถเกลี่ยหรือปรับลดส่วนอื่นมาเพิ่มเติมทางด้านการศึกษา วิจัยและสาธารณสุขได้ ก็สามารถกู้เพิ่มได้เพราะเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่สำคัญ ขณะนี้ รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาวิกฤติจากเด็กนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษา จากการสำรวจข้อมูลและทำ Data Cleansing ล่าสุดเพื่อให้ได้ทราบข้อมูลที่แท้จริง พบว่า เรามีเด็กและเยาวชนที่มีอายุช่วง 3-18 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 1.02 ล้านคน คิดเป็น 8.41% ของเด็กและเยาวชนในช่วงวัยภาคบังคับทั้งหมด 12.2 ล้านคน ในจำนวน 1.02 ล้านคนนี้ มีมากถึง 94,244 คนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งอาจหมายถึง ไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนใดๆ อันมีการสาเหตุจากความยากจน 48.7% มาจากปัญหาครอบครัว 16.14% ออกกลางคัน 12.03% เป็นต้น ถ้าประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจนทำให้จำนวนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์ได้ (Zero Dropout) จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีงานวิจัยบางชิ้นของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มองว่า จะให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นได้เกือบ 1.7% เนื่องจากรายได้ตลอดชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นของเด็กและเยาวชนที่มีการศึกษาสูงขึ้น นอกจากนี้ การเข้าถึงการศึกษาของเด็กยากจนยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำและปัญหาทางสังคมอื่นๆ อีกด้วย เรื่องหนึ่ง ที่รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณเพิ่ม คือ งบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข  บริการสาธารณสุขของรัฐก็ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักมากๆ และ ผู้ป่วยต้องรอคิวยาวมากๆ บางคนรอไม่ไหวต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาแพง หลายครอบครัวต้องประสบปัญหาทางการเงินและเป็นหนี้จากความเจ็บป่วย การเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลและบริการสาธารณสุขเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน การลงทุนทรัพยากรมนุษย์ทางด้านการศึกษาและสุขภาพ คือ คำตอบของเสถียรภาพการคลังระยะยาว          

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net