Skip to main content
sharethis

ศาล รธน. มีมติ 6 ต่อ 3 รับคำร้อง 40 สว. พิจารณาคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ปมตั้ง 'พิชิต' เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ แต่ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ด้าน 'เศรษฐา' มั่นใจชี้แจงได้ มองเป็นเรื่องปกติของการเมืองระบอบ ปชต.

 

23 พ.ค. 2567 เว็บไซต์ บีบีซีไทย รายงานวันนี้ (23 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 12.15 น. เป็นต้นมา ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมประจำสัปดาห์ โดยได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง หลังประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พิชิต ชื่นบาน ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ ก่อนมีมติ ดังนี้

  • มติ 6 ต่อ 3 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยให้ผู้ถูกร้อง (เศรษฐา) ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
     
  • มติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้อง (เศรษฐา) หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย

มติของศาลรัฐธรรมนูญได้รับการเผยแพร่ผ่านเอกสารข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญช่วงเที่ยงวันนี้ (23 พ.ค.) โดยไม่มีการเปิดแถลงข่าวแต่อย่างใด

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าไม่ควรรับคำร้องไว้พิจารณา ได้แก่ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อุดม รัฐอมฤต และ สุเมธ รอยกุลเจริญ

ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยที่เห็นว่า เศรษฐา ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย ปัญญา อุดชาชน อุดม สิทธิวิรัชธรรม วิรุฬห์ แสงเทียน และ จิรนิติ หะวานนท์

มั่นใจชี้แจงได้

เพจเฟซบุ๊ก The Reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (23 พ.ค.) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องแต่งตั้ง พิชิต เป็น รมต.ว่า ตอนนี้มีเวลาชี้แจง 15 วัน และต้องมีการปรึกษาทีมกฎหมายเพื่อดูว่าจะชี้แจงอย่างไร แต่อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย เมื่อเข้าสู่วงการการเมืองต้องถูกตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่ยังมั่นใจสามารถชี้แจงได้ อย่าไปกดดันศาลรัฐธรรมนูญ

เศรษฐา กล่าวด้วยว่า ไม่ทราบว่ามีเรื่องต่อรองอะไร ว่าไปตามกฎหมาย ถ้าเขามีสิทธิเสนอ ก็มีสิทธิเสนออยู่ เพราะว่ากฎหมายมันชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการต่อรองอะไร ไม่อยากมองลึกไปขนาดนั้น คิดว่าทุกท่านมีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติและอยากให้การบริหารแผ่นดินโปร่งใส และเป็นธรรม

"ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่เมื่อเราเข้าสู่การเมือง มันต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ เราทราบดีอยู่แล้วตรงนี้ และมีองค์กรอิสระที่เข้ามากำกับตรวจสอบดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยความชอบธรรม อย่าไปบอกว่ามีใครอยู่เบื้องหลังเบื้องหน้า ผมคิดว่ามันต้องให้ความกระจ่าง" เศรษฐา กล่าว และยืนยันว่าไม่ได้ท้อถอยอะไร และมองเป็นเรื่องธรรมดา

ปัจจุบัน เศรษฐา อยู่ระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าพบกับนักลงทุนเอกชนของญี่ปุ่นหลายราย และจะมีการเข้าร่วมและกล่าวปาฐกถาในการประชุม 'นิเคอิฟอรัม' (Nikkei Forum Future of Asia) ครั้งที่ 29 ซึ่งหัวข้อหลักในปีนี้ คือ "Asian Leadership in an Uncertain World" ระหว่าง 23-24 พ.ค. 2567 ขณะที่ก่อนหน้านี้ เศรษฐา ได้เดินทางเยือนต่างประเทศ ทั้งฝรั่งเศส และอิตาลี 

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา สมาชิกวุฒิสภากว่า 40 รายยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา เนื่องจากเห็นว่าอาศัยอำนาจหน้าที่ความเป็นนายกรัฐมนตรี “กระทำการโดยอาจมีเจตนาไม่สุจริต” กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยรับโทษจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 และต่อมาสภาทนายความมีมติลงโทษให้ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ จึงถือเป็นบุคคลที่มีการกระทำการอันเป็นการไม่ซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ 2 วัน หรือเมื่อ 21 พ.ค. 2567 พิชิต ชื่นบาน อายุ 65 ปี ได้ขอลาออกจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้มีผลทันที 21 พ.ค. 2567

"โดยหนังสือฉบับนี้ให้ถือเป็นเจตนาของข้าพเจ้าที่มีต่อนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้า ขอลาออกจากการดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีเดินหน้าบริหารประเทศต่อไปได้ โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 21 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป" หนังสือลาออกตอนหนึ่งของพิชิต ระบุ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพิชิต ลาออกจากตำแหน่ง รมต. แล้วก็ตาม แต่ไม่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญยุติการพิจารณาคดีนี้

ทั้งนี้ ในกรณีของพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้มีคำร้องลงวันที่ 23 พ.ค. แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ได้ลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 (พิชิต) สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2) กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไป แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของ พิชิต ไว้พิจารณา โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยเพียง 1 เดียวคือ อุดม สิทธิวิรัชธรรม

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net