Skip to main content
sharethis

เผย รมว.แรงงาน เตรียมไปอิสราเอล เจรจาดูแลแรงงานไทย

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ว่า กระทรวงแรงงานได้จ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการเยียวยา 50,000 บาท ให้แก่ผู้มีสิทธิและทายาทแล้ว 9,309 คน จากจำนวนผู้ที่ยื่นขอรับเงินทั้งหมด 9,384 คน หรือคิดเป็น 99.34% รวมเป็นเงิน 465,450,000 บาท และจ่ายเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศแล้ว 9,892 คน จากผู้ยื่นขอรับเงิน 11,101 คน หรือคิดเป็น 97.93% รวมเป็นเงิน 144,270,000 บาท

ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการด้านเอกสารและรออนุมัติ นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินช่วยเหลือจากสถาบันประกันภัยแห่งชาติอิสราเอลอีกด้วย สำหรับตัวเลขล่าสุดมีแรงงานไทยเสียชีวิต 41 คน และยังมีตัวประกันที่ถูกจับตัวอยู่อีก 6 คน โดยรายที่เสียชีวิตและมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคมจำนวน 35 ราย ทางสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ทายาทแล้ว 1,367,860.70 บาท

ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงานได้กำชับให้ทุกหน่วยเร่งดำเนินการจ่ายเงินหรือประสานผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ทุกอย่างเรียบร้อยภายในเดือน มิ.ย.นี้

โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รมว.แรงงานและคณะ จะเดินทางไปอิสราเอลในระหว่างวันที่ 26 – 29 พ.ค.นี้ ตามคำเชิญของเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย เพื่อไปติดตามสถานการณ์ โดยจะขอให้อิสราเอลดูแลความปลอดภัยแรงงานไทยให้ทำงานในพื้นที่สีเขียวเท่านั้นและช่วยเร่งรัดการจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายหรือเงินปิซูอิมให้แก่แรงงานไทยที่ครบกำหนดสัญญาการทำงานและที่เดินทางกลับประเทศไทยจากภาวะสงคราม การเพิ่มโควต้าแรงงานไทยในภาคเกษตรและการจัดตั้ง Deposit Fund

เพื่อสร้างหลักประกันให้กับแรงงานภาคเกษตรที่สิ้นสุดสัญญาจ้าง รวมทั้งขอโอกาสในการจัดส่งแรงงานก่อสร้างไปทำงานในอิสราเอลด้วย โดยทางคณะจะได้พบหารือกับ รมว.มหาดไทย รมว.แรงงาน รมว.เกษตรและพัฒนาชนบทของอิสราเอล ผู้แทนสำนักงานประชากรและตรวจคนเข้าเมืองอิสราเอล และบริษัทนายจ้างของอิสราเอลอีกด้วย

“เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกระทรวงแรงงานได้ประกาศยกเลิกการชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐอิสราเอลแล้ว เพราะทางการอิสราเอลให้ความเชื่อมั่นกับไทยและมีความต้องการแรงงานไทยมากถึงกว่า 20,000 อัตรา ส่วนแรงงานไทยก็มีความประสงค์จะไปทำงานในอิสราเอลเช่นกัน ซึ่งการเดินทางไปอิสราเอลของ รมว.รง. ครั้งนี้ จะเป็นการยืนยันและสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องคนไทยได้เป็นอย่างดี โดยหากมีความไม่ปลอดภัยหรือมีข้อติดขัดอะไรก็จะต้องรีบแก้ไข เพื่อคุ้มครองดูแลแรงงานไทยให้ดีที่สุด”

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 26/5/2567

"ไรเดอร์" ตัดพ้อ เป็นแรงงานที่ถูกเอาเปรียบ เกิดอุบัติเหตุขาดรายได้ ไร้นายจ้างเหลียวแล

พรรคประชาธิปัตย์จัดเสวนาในหัวข้อ โครงการหาทางออก แก้ปัญหา “ไรเดอร์” แรงงานที่ถูกเอาเปรียบ โดยมี นางสาวรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท นางสาวรัชดา ธนาดิเรก เป็นผู้ดำเนินการเสวนา นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้รวบรวมความเห็นฝ่ายนายจ้าง นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย นางสาวอภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย และ นางสาวประภาพร ผลอินทร์ ผู้ประสานงานกลุ่มไรเดอร์ฝั่งธน

นางสาวรัชฎาภรณ์ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนแห่งวันกรรมกรสากลหรือวันแรงงานแห่งชาติ สถานการณ์ด้านแรงงาน การจ้างงาน การทำงานของแรงงานในสังคมไทย (ยังมีปัญหาในการปฏิบัติตามพรบ. แรงงานสัมพันธ์ พรบ, คุ้มครองแรงงาน ทั้งค่าแรงจากการทำงาน การดูแลสวัสดิการทั้งระบบ มีรูปแบบที่หลากหลาย ซับซ้อน ตามสภาพสังคมที่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไป พรรคประชาธิปัตย์

ซึ่งเคยเป็นพรรครัฐบาลดูแลบริหารกระทรวงแรงงานหลายสมัย พบปัญหาในการดูแลแรงงาน ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีอยู่อย่างหลากหลาย แม้แรงงานได้รวมตัวกัน ตั้งเป็นสหภาพแรงงาน ตามพรบ.แรงงานสัมพันธ์ พรบ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดสิทธิประโยชน์ ระบบการทำงาน คุ้มครองการทำงาน กระบวนการทำงาน สิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ

และมอบให้กระทรวงแรงงานบริหารดูแล ให้แรงงานทุกรูปแบบทั้งในระบบในสถานประกอบการให้ได้รับความเป็นธรรม ความปลอดภัย และมีศักดิ์ศรี และให้แรงงานทุกระดับ ทุกประเภท มีสิทธิรวมกลุ่มกัน ตั้งเป็นสหภาพแรงงาน ดูแลสิทธิประโยชน์ ของแรงงาน ไม่ให้ถูกนายจ้างเอาเปรียบด้วยวิธีการต่างๆ

หลังจากสถานการณ์โควิดการดำเนินชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไปมาก การอยู่บ้านไม่ออกไปนอกเคหะสถานโดยไม่จำเป็น จึงได้มีกลุ่มคนที่มีอาชีพบริการส่งอาหารส่งของตามผู้บริโภคสั่ง ซึ่งเรียกว่าไรเดอร์ เริ่มแรกเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่ละคนทำเป็นอาชีพรับจ้างส่งอาหาร ส่งของตามที่ร้านมอบหมาย (จ้าง ให้ไปส่งตามสถานที่ (ไม่มีนายจ้างที่แน่นอน) ต่างคนต่างทำ นานเข้าของต้องส่งมากขึ้น รายได้ก็มากขึ้น

คนทำงานก็มากขึ้น การแข่งขันแก่งแย่งมากขึ้นทำให้ร้านค้า เริ่มจัดระบบเพื่อให้ตนมีกำไรมากขึ้น ไรเดอร์จึงถูกเอาเปรียบได้

ปัจจุบันไรเดอร์ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานขึ้นมาเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ ของสมาชิกโดยมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งช่วยเหลือให้คำแนะนำ

นางสาวรัชฎาภรณ์ กล่าวต่อว่า เพื่อประโยชน์ของแรงงานไรเดอร์พรรคประชาธิปัตย์จึงเห็นความสำคัญ มองเห็นว่าปริมาณสมาชิกจะมากขึ้น สมาชิกต้องจัดตั้งและรวมตัวกันร่วมใจกันรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องไรเดอร์ ทั้งหญิง ทั้งชายไม่ให้ถูกนายจ้างเอาเปรียบ และไมให้เอาเปรียบกันเอง ดำเนินการให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องต่อไป พรรคประชาธิปัตย์จึงได้จัดการเสวนานี้ขึ้นเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆเพื่อศึกษา

ขณะเดียวกัน ด้านตัวแทนไรเดอร์ เผยว่า อาชีพไรเดอร์เป็นอาชีพอิสระอาชีพหนึ่ง เป็นอาชีพที่ถ้าเราขยัน เราจะต้องตื่นเช้ากว่าคนอื่น ถ้าเราอยากได้เงินก่อนเขา ถ้าเกิดว่าเราตื่นสายก็ค่อนข้างที่จะได้เงินช้าและน้อย

ตัวแทนไรเดอร์ ยังกล่าวต่อว่า อาชีพไรเดอร์เป็นแรงงานที่ไม่ได้สวัสดิการ ออฟฟิศอยู่บนท้องถนนเช้าออกมาส่งอาหารตอนเย็นก็ไม่รู้จะได้กลับบ้านหรือไม่ ค่าของชีพที่สูงไม่สมดุลกับรายได้ที่น้อยลง ตนจึงอยากมีสวัสดิการอย่างเช่น ค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากไรเดอร์ต้องวิ่งงาน 24 ชั่วโมง บางคนก็วิ่งเป็นเวลา แต่ด้วยหน้าที่ของงานแล้ว ส่งผลให้เรามีความเครียดกับค่ารอบที่ต่ำลง แล้วก็ยังส่งผลต่อเรื่องสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ

ตัวแทนไรเดอร์ ระบุว่า อย่างเรื่องอุบัติเหตุ เราไม่รู้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุ จากการเร่งรีบหรือเกิดอุบัติเหตุอะไรก็แล้วแต่ ด้วยกดดันจากลูกค้า ร้านค้าที่ทำอาหารช้า หรืองานพ่วง(งานซ้อน) บ้าง จึงทำให้ต้องรีบในการขับขี่ อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาได้ ส่วนเรื่องค่าชดเชยเราก็อยากมีค่าชดเชยเหมือนบริษัทเอกชนทั่วไป เราเป็นแรงงานอิสระอยู่แล้ว เป็นฟรีแลนซ์แต่อยากให้มีหน่วยงานกองทุนทดแทนเงินชดเชยรายได้เข้ามาช่วยเหลือ

“เพราะถ้าอย่างถ้าเกิดอุบัติเหตุ ก็ไม่มีรายได้ เพราะรายได้ ได้วันต่อวัน ค่อนข้างลำบาก และเรื่องของไรเดอร์ผู้หญิงก็ค่อนข้างที่จะลำบาก อาจจะเสี่ยงต่อการโดนคุกคามได้”

นางสาวสุภัทรา กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ของไรเดอร์ เราได้รับตัวเลขจากกระทรวงแรงงาน ณ วันนี้คนที่ประกอบอาชีพเป็นไรเดอร์ไม่ใช่หลักแสนแต่เป็น 1,920,000 คน เพราะฉะนั้นตนมองว่าขนาดของปัญหาไม่เล็กเลย และแนวโน้มก็อาจจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีก และที่สำคัญตรงกับที่ผู้แทนไรเดอร์กล่าวข้างต้น อาจจะมีผู้หญิงเข้าสู่อาชีพนี้เพิ่มขึ้น

“ความเป็นผู้หญิงก็จะมีความเปราะบาง บางอย่าง เช่นผู้หญิงเอาลูกซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปส่งของ ฝนก็ตกแดดก็ออกก็ความเป็นอันตรายที่จะประสบอุบัติเหตุกับเด็กด้วยหรือบางครั้งที่ต้องไปส่งของตอนกลางคืนลูกค้าก็มีหลายประเภทผู้ชายอาจจะเมาก็มีความเสี่ยงค่อนข้างมากในหลายหลายเรื่อง”นางสาวสุภัทรา กล่าว และกล่าวต่อว่า เราน่าจะต้องเห็นประเด็นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน

ตัวแทนไรเดอร์ กล่าวว่า อยากขอประกันอุบัติเหตุที่ไม่จำเป็นต้องสำรองจ่าย ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุ ก็สามารถรักษาได้เลย ไม่ต้องสำรองจ่ายหรือต้องรอเบิก เพราะเราก็ไม่รู้ว่านายจ้างของเราเป็นใครส่วนตัวแทนไรเดอร์อีกคน ระบุว่า อยากให้ทางร้านทำอาหารเสร็จแล้วค่อยกดเรียกไรเดอร์ไปรับอาหารเพราะบางแพลตฟอร์มไม่ได้ค่ารออาหารที่เป็นชั่วโมง ซึ่งตนมองว่ามันเปลืองเวลาที่ตนต้องไปนั่งรอเป็นชั่วโมง และไม่ได้เงินเพิ่มขึ้น และเราอยากให้มีประกันรถ ซึ่งอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ตนคิดว่าต้องมีประกันไว้น่าจะดีกว่า เพราะวิ่งงานวันละ 500-1000 บาท ถ้าสมมุติเกิดอุบัติเหตุมา ก็อาจจะเสียเป็นหมื่น ตนมองว่าไม่คุ้ม ถ้าเกิดมีประกันรถอุบัติเหตุก็น่าจะดีกว่า

ที่มา: Sanook, 25/5/2567

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยืนยันเงินเดือนเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าออกแน่สัปดาห์หน้า

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรณีเงินเดือนค่าตอบแทนในเดือนเมษายน 2567 ของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าออกล่าช้า นั้น เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ประกาศมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2567 ประกอบกับมีการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน

นอกจากนั้นแล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงรหัสงบประมาณที่ใช้ในการเบิกจ่ายของระบบการบริหารงานการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Government Fiscal Management Information) หรือ GFMIS ทั้งนี้ เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 แจ้งมายังกรมอุทยานแห่งชาติฯแล้ว จะดำเนินการตามขั้นตอนการออกแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 แล้วจัดสรรเงินงบประมาณในระบบ New GFMIS Thai แต่ละกิจกรรมตามลำดับต่อไป

“ได้กำชับและเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2567 และขอยืนยันว่าภายในสัปดาห์หน้าเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในหมวดของพนักงานจ้างเหมาและบุคคลภายนอกช่วยปฏิบัติงานกรมอุทยานฯ จะได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนของเดือนเมษายนพร้อมกันทั้งหมด สำหรับเงินเดือนของเดือนพฤษภาคม 2567 ก็จะทยอยออกต่อเนื่องกันไป”อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าว

ที่มา: NBT Connext, 25/5/2567

“พิธา” ถกผู้นำสหภาพแรงงานเกาหลี สิทธิพัฒนาประเทศ ฝากดูแรงงานไทย-นำบทเรียนพัฒนานโยบาย

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เดินทางเข้าพบสหพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (Korean Confederation of Trade Unions) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนการเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการของแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ โดยมี Yang Kyeung-soo ประธานของ KCTU และเป็นอดีตประธานของสหพันธ์แรงงานของบริษัท KIA Motors ให้การต้อนรับ

นายพิธา ได้แลกเปลี่ยนกับ KCTU ว่า สิทธิแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคก้าวไกล ที่ผ่านมา พรรคได้ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานที่ครอบคลุมมิติต่างๆ เข้าสู่สภา ถึง 6 ฉบับ และพรรคก้าวไกล เป็นพรรคที่มี ส.ส. มาจากปีกแรงงานอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ สะท้อนว่า เป็นพรรคที่ให้ความสำคัญและให้บทบาทปีกแรงงานอย่างแท้จริง

นายพิธา ได้สอบถามสถานการณ์และพัฒนาการของสิทธิแรงงานในเกาหลีใต้ เพื่อนำมาเป็นบทเรียนในการพัฒนานโยบายของพรรคก้าวไกล พร้อมกับฝากให้ประธาน Yang Kyeung-soo ช่วยดูแลสิทธิของแรงงานไทยในเกาหลีใต้อีกด้วย

ด้าน Yang Kyeung-soo ได้เล่าถึงความสำคัญและบทบาทของแรงงานในการสร้างชาติเกาหลี รวมถึงพัฒนาการด้านประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ โดยชี้ให้เห็นว่า มี 3 สิ่งที่สำคัญมากต่อความสำเร็จของกลุ่มแรงงานในเกาหลีใต้ในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ นั่นคือ 1) การสั่งสมพลังของประชาชนในการเปลี่ยนแปลง 2) การมีผู้นำทางการเมืองที่เข้าใจสิทธิของกลุ่มแรงงาน และมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะสร้างการพัฒนาร่วมกันของกลุ่มทุนกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และ 3) การจัดการและความเป็นระบบในการเรียกร้อง

นายพิธา ยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับ KTCU เรื่อง การเข้ามามีบทบาทของหุ่นยนต์ (Robotics) และ Generative AI ในภาคอุตสาหกรรม และการหาจุดร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีกับแรงงาน ซึ่งหากรัฐมีการจัดการที่ดี Robotics และ Generative AI เหล่านี้จะทำให้เวลาทำงาน (working hours) ของมนุษย์ลดลง และความปลอดภัย (safety) ในโรงงานมีมากขึ้น จึงมีโอกาสที่จะทำให้สวัสดิภาพ (well-being) และผลิตภาพ (productivity) ของแรงงานเพิ่มขึ้น และทำให้ GDP เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ต้องมีแนวทางพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ดีที่สุด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/5/2567

กยศ. ยืนยันมีเงินเพียงพอสำหรับผู้กู้ยืมทุกรายเตรียมให้กู้ในวงเงิน 48,344 ล้านบาท สำหรับผู้กู้ยืม 769,009 ราย แม้ว่ามีอัตราการชำระหนี้ลดลง 7.57%

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยืนยันมีเงินเพียงพอสำหรับผู้กู้ยืมทุกรายที่ประสงค์จะกู้ยืมเงินสามารถให้กู้ยืมเงินได้ตามกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ 48,344 ล้านบาท สำหรับผู้กู้ยืม 769,009 ราย แม้ว่ามีอัตราการชำระหนี้ลดลง 7.57% จากปีก่อน

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “จากผลการรับชำระหนี้ในปีงบประมาณที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ากองทุนฯมีอัตราการชำระหนี้ลดลง 7.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามในส่วนของการให้กู้ยืมเงินนั้น กองทุนฯได้เตรียมวงเงินกู้จำนวน 48,344 ล้านบาท สำหรับผู้กู้ยืม 769,009 ราย และได้เปิดระบบการให้กู้ยืมเงินปีการศึกษา 2567 แล้ว โดยปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษาได้ยื่นความประสงค์ขอกู้ยืมเงิน จำนวน 204,059 ราย เป็นเงินที่ขอกู้ยืมแล้วจำนวน 10,885 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2567) ซึ่งนักเรียน นักศึกษาสามารถยื่นขอกู้ยืมและทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยแอปพลิเคชัน “กยศ.Connect”

ปัจจุบัน กองทุนฯได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 6,809,621 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 770,284 ล้านบาท ประกอบด้วย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ปลอดหนี้ 1,368,162 ราย ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,866,818 ราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,501,600 ราย และผู้กู้เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 73,041 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2567)  ทั้งนี้ กองทุนฯขอยืนยันว่ามีเงินเพียงพอสำหรับผู้กู้ยืมทุกรายที่ประสงค์จะกู้ยืมเงิน และจะเป็นหลักประกันให้ทุกครอบครัวว่าน้องๆที่ขาดแคลนสามารถกู้เงินได้ทุกคน เพื่อให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา”

ที่มา: กระทรวงการคลัง, 24/5/2567

5 เดือน ส่งคนไทยทำงานต่างประเทศต่อเนื่องกว่า 6 หมื่นคน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา ภายในปี 2567 เพื่อส่งเสริมให้พี่น้องแรงงานไทย มีรายได้มั่นคง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ความคืบหน้าล่าสุด ได้ส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศแล้ว 60,769 คน หรือร้อยละ 60.7 ใน 139 ประเทศ ซึ่ง 5 อันดับแรกที่มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหรัฐอเมริกา สำหรับวันนี้มีแรงงานไทยที่เตรียมตัวเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เดินทางมาเข้ารับการอบรมก่อนเดินทาง จำนวน 126 คน ในจำนวนนี้จะเดินทางไปทำงานในไต้หวัน 119 คน ตำแหน่งพนักงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และคนงานก่อสร้าง อัตราเงินเดือน 31,041 บาท และญี่ปุ่น 7 คน ในตำแหน่งพนักงานการเกษตร และพนักงานซักรีด อัตราเงินเดือน 44,146 - 45,191 บาท ซึ่งทั้งหมดจะเดินทางด้วยวิธีบริษัทจัดหางานจัดส่ง

ในการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบโอวาทแก่คนหางาน ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า ขอให้ทุกคนตั้งใจทำงานและรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ปฏิบัติตนตามกฎหมายและวัฒนธรรมของประเทศปลายทาง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สิ่งมึนเมา และการพนันทุกชนิด ที่สำคัญคือต้องวางแผนการออมเงิน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ กลับมาต่อยอดการทำงานในประเทศไทย หลังจากเสร็จสิ้นสัญญาจ้าง และขอให้การทำงานในต่างประเทศเป็นไปด้วยความสำเร็จ ราบรื่น มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง และเดินทางโดยสวัสดิภาพ

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะต้องผ่านการอบรมคนหางาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทยได้มีความรู้เข้าใจขั้นตอนการไปทำงานในต่างประเทศและปฏิบัติได้ถูกต้อง ทราบเงื่อนไขตามสัญญาจ้างงาน สภาพการจ้าง และขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี มีความพร้อมในการทำงานและเกิดความมั่นใจ รู้ช่องทางขอความช่วยเหลือ ทราบสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองคนหางานตามกฎหมาย รวมทั้งแนะนำการสมัครสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ  เพื่อรับความคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนด หากเกิดเหตุไม่คาดคิด หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะเป็นสมาชิกกองทุนฯ อาทิ กรณีถูกทอดทิ้งในต่างประเทศ กรณีประสบอันตรายก่อนไปทำงานหรือขณะทำงานในต่างประเทศ กรณีถูกเลิกจ้างจากสาเหตุประสบอันตราย กรณีประสบอันตรายจนพิการ กรณีถูกส่งกลับเนื่องจากเป็นโรคต้องห้าม และกรณีประสบปัญหาจากภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารการประกาศรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: พรรคภูมิใจไทย, 24/5/2567

เผยมีผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติ 1.43 ล้านคนแล้ว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวการรับรองปฏิญญาร่วมแรงงานว่าด้วยการเคลื่อนย้ายสิทธิประกันสังคมแรงงานข้ามชาติในกลุ่มประเทศ CLMTV (กลุ่มอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง) ในการประชุมระดับรัฐมนตรีแรงงาน ครั้งที่ 4 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน และการประชุมผ่านระบบทางไกล

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า หัวข้อในปีนี้มุ่งเน้นการเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ ในกลุ่มประเทศ CLMTV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย) เมื่อกล่าวถึงประเด็นการเคลื่อนย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ ทั้งแรงงานที่เดินทาง ออกจากประเทศต้นทาง และแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศปลายทาง อาจส่งผลให้แรงงานขาดการเข้าถึงความคุ้มครองจากระบบประกันสังคม เนื่องจากข้อจำกัดที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ

ประเทศไทย โดยกระทรวงแรงงาน ให้ความคุ้มครองด้านการประกันสังคม สำหรับแรงงานข้ามชาติทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ อย่างเช่น ในเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาเราได้ให้วัคซีนแก่แรงงานข้ามชาติทุกคน และการคุ้มครองที่เท่าเทียมกัน ปัจจุบันมีผู้ประกันตนข้ามชาติ 1.43 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศ CLMV จำนวน 1.31 ล้านคน

“ผมเห็นด้วยในหลักการ ต่อร่างปฏิญญารัฐมนตรีแรงงาน ว่าด้วยการเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติในกลุ่มประเทศ CLMTV ที่จะส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติ เข้าถึงสิทธิประกันสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการดำเนินงานของไทย เพื่อรับรองปฏิญญาระหว่างประเทศ จำเป็นต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบก่อน ซึ่งหากเราได้ร่วมกันพิจารณาร่างปฏิญญาฯ อย่างถี่ถ้วนเรียบร้อยแล้ว ผมยินดีที่จะผลักดันร่างปฏิญญาฉบับนี้อย่างเต็มที่ นอกเหนือจากนี้ ประเทศไทยยินดีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CLMTV ในครั้งต่อไป”

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน แสดงความเห็นว่า การแสดงเจตจำนงร่วมกันของรัฐมนตรีแรงงานในกลุ่มประเทศ CLMTV จะเป็นก้าวสำคัญที่จะหาแนวทางความเป็นไปได้สำหรับความร่วมมือ และการประสานงานด้านการเชื่อมโยงสิทธิประโยชน์ประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติระหว่างกันต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/5/2567

ครม. มีมติรับทราบรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องการพัฒนาระบบการแรงงาน ของคณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบการแรงงาน : การจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน ของคณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ

คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ได้ศึกษาแนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน โดยรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 13 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 47 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 พระราชบัญญิแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 มาปรับปรุงเรียบเรียงใหม่ไว้ในฉบับเดียวกัน และคงหลักการสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ตามเดิม เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1.ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน

1.1 รัฐบาลควรผลักดันให้มีการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานเพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นระบบ และนำบัญชีท้ายพระราชบัญญัติตามกฎหมายเดิมมาจัดทำเป็นบัญชีท้ายประมวลกฎหมายแรงงานให้ครบถ้วน รวมถึงดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนในทางนิติบัญญัติต่อไป โดยรัฐบาลให้ความสำคัญ รวมทั้งเร่งรัดการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

1.2 ควรมีการทบทวนการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับความผิดที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานที่เหลืออยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เหมาะสมได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่วางหลักการสำหรับการตรากฎหมายของรัฐว่า ให้ถึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงเท่านั้น

1.3 ควรมีการทบทวนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานว่ามีส่วนใดของกฎหมายที่ต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแรงงานที่จะจัดทำขึ้นใหม่หรือมีประเด็นใดที่ควรแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เป็นต้น

2.ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแรงาน พ.ศ. ...

2.1 บทบัญญัติในส่วนวันบังคับใช้กฎหมายของประมวลกฎหมายแรงงาน ควรกำหนดใน

รูปแบบให้ผ่านช่วงเวลาหนึ่งไปก่อนจึงให้ประมวลกฎหมายแรงงานมีผลบังคับใช้ เพื่อให้ส่วนราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาหลักกฎหมายและเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานตามโครงสร้างใหม่ของประมวลกฎหมายแรงงาน

2.2 ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานจำนวน 13 ฉบับ ดังกล่าวข้างต้น

2.3 กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อเชื่อมโยงการทำงานในช่วงเปลี่ยนผ่านการบังคับใช้กฎหมายเก่าไปสู่การบังคับใช้ประมวลกฎหมายแรงงาน

2.4 หลักการอื่น ๆ ตามที่ฝ่ายบริหารเห็นว่าจำเป็นและสมควรระบุไว้ในร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแรงงาน พ.ศ. ... ตามรูปแบบของการ่างกฎหมายต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/5/2567

‘สำนักงบฯ’ จัดสรรงบปรับเงินเดือนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าพร้อมกันทั่วประเทศ

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณ ได้จัดสรรงบประมาณในการปรับขึ้นเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานฯ ตำแหน่งพิทักษ์ป่า จาก 9,000 บาท เป็น 11,000 บาท ทุกอัตราพร้อมกันทั่วประเทศ จึงเป็นเรื่องที่สร้างความปิติยินดีให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคน ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจอย่างดียิ่ง ในการปกป้องทรัพยากรป่าไม้ของชาติ

นอกเหนือจากการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนในครั้งนี้แล้ว ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการเพิ่มสวัสดิภาพสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยการอนุมัติเงินอุทยานแห่งชาติ และเงินเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพื่อให้สามารถนำเงินในส่วนนี้มาใช้จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้มีการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ไปแล้วเป็นจำนวนมาก

ด้านพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้แสดงความห่วงใยต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เนื่องจากภารกิจในการลาดตระเวนคุ้มครองดูแลรักษาพื้นที่ป่า เป็นภารกิจที่ยากลำบากอีกทั้งยังเสี่ยงต่ออันตราย จึงได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันรักษาป่าไว้ว่า ภารกิจในเชิงรุกคือการฟื้นฟูและการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาบริหารจัดการ จะทำให้การทำงานในเชิงป้องปราม และการอนุรักษ์ทำได้ง่ายขึ้น จะทำให้เจ้าหน้าที่ของเราทำงานได้ด้วยความถูกต้อง ลดข้อขัดแย้งไม่สบายใจในการทำงานมากขึ้น

ที่มา: NBT Connext, 20/5/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net