Skip to main content
sharethis

30 วันนับตั้งแต่การจากไปของ ‘เนติพร’ ผู้ถูกกล่าวหามาตรา 112 เครือข่ายนักกิจกรรมและประชาชนร่วมเดินขบวน และยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวนักโทษการเมือง และแสดงจุดยืนหนุนนิรโทษกรรม มาตรา 112

 

13 มิ.ย. 2567 เว็บไซต์ มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ (13 มิ.ย.) ในวาระครบรอบ 30 วันการจากไปของเนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมการเมืองจากกลุ่มทะลุวัง หลังเจ้าตัวถูกคุมขัง และอดอาหารประท้วงให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และยุติการคุมขังผู้เห็นต่างทางการเมือง  และนับเป็นเวลากว่า 260 วันที่ อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม (สี่แยกคอกวัว) เขตพระนคร กรุงเทพฯ ‘Thumb rights’ (ทำไรท์), สหภาพคนทำงาน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF), กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, 24 มิถุนาประชาธิปไตย, เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน ฝ่ายส่งเสริมมนุษยธรรมสากลและประชาธิปไตย องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.), องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และทะลุแก๊ส ร่วมจัดงานเสวนา ‘สิทธิประกันตัวสู่ปฏิรูปยุติธรรม’

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ต่อมา เมื่อเวลา 15.00 น. ประชาชนตั้งขบวนจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ก่อนเดินไปยังสำนักประธานศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เรียกร้องสิทธิการประกันตัวและประกอบพิธีพิธีสงฆ์ ทำบุญระลึกถึงเนติพร พร้อมแถลงข่าวความคืบหน้าสอบสวนการเสียชีวิต

บรรยากาศการเดินขบวนจากอนุสรณ์ 14 ตุลาฯ ไปจนถึงศาลฎีกา

มติชนฯ รายงานว่า ระหว่างเดินขบวนมีการแจกใบปลิว “แถลงการณ์เพื่อสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน” ให้กับประชาชนที่เดินผ่าน

แถลงการณ์ เรียกร้องปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง และต้องนิรโทษกรรม ม.112

แถลงการณ์เพื่อสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม

เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน

จากกรณีเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 นั้นไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งขณะถูกคุมขังในเรือนจำ เนติพร ได้เสนอข้อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด และปฏิรูปกระบวนการ
ยุติธรรม เธอได้ยืนหยัดในแนวทางที่คิดดังกล่าว จึงอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 110 วันจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 14 พฤษภาคม 2567 แสดงให้เห็นถึงความอยุติธรรมในระบบที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องให้เกิดสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในสังคมไทย ปัจจุบันมีนักโทษการเมืองถูกคุมขัง 44 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีมากถึง 26 คน

นักโทษการเมืองในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือมาตรา 112 เหล่านี้ ไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นประชาชนที่มีความคิดเห็นต่าง พวกเขาเพียงใช้สิทธิการแสดงออกอย่างเสรีตามวิถีประชาธิปไตย ด้วยปรารถนาที่จะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มีความก้าวหน้า สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยดังเช่นประเทศที่มีความก้าวหน้า ปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยเคารพกันและกัน ไร้ซึ่งความไม่เป็นธรรม ไร้ซึ่งการกดขี่ผู้อ่อนแอไร้อำนาจ กระนั้นพวกเขากลับถูกยัดเยียดให้มีความผิด เนื่องด้วยมาตรา 112 เป็นกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และปราบปรามประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย การจับกุมขังประชาชนเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมและความล้าหลังของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

การที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือจำเลยที่คดียังไม่ถึงที่สุด ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยไม่สามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรม เท่ากับเป็นการตัดสินไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งละเมิดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง

เราจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรม ขอให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน ให้สิทธิประกันตัวและนิรโทษกรรมประชาชนในคดีมาตรา 112 เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ในความบริสุทธิ์ ความยุติธรรม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ลดความขัดแย้งที่กำลังร้อนระอุในปัจจุบัน และเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ต่อมา เวลา 15.40 น. ขบวนถึงหน้า สำนักงานประธานศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา

การจากไปของเนติพร คือความตกต่ำของกระบวนการประชาธิปไตยไทย

เพจเฟซบุ๊ก The reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (13 มิ.ย.) หน้าสำนักประธานศาลฎีกา ถนนราชดำเนิน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทนายความ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) กล่าวว่าไว้อาลัย และประวัติการต่อสู้ทางการเมือง ‘บุ้ง’ เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมการเมือง และเน้นย้ำว่าการจากไปของบุ้งนั้นไม่ควรจะเกิดในช่วงเวลาที่เราอยู่ตรงนี้

พรเพ็ญ ระบุว่า ในทางสากลนักโทษทางความคิดที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการเรียกร้องและเคลื่อนไหวทางการเมืองจะต้องไม่ถูกดำเนินคดีทางอาญาทั้งสิ้น แต่ในสังคมไทยนักโทษทางความคิดผู้แสดงออกความเห็นทางการเมืองอย่างพวกเราทุกคนตอนนี้มีสิทธิ์ถูกนำตัวเข้าสู่การขัง หรือควบคุมตัวตามคำสั่งของผู้พิพากษาไทยได้ และชี้ว่าการจากไปของเนติพร ถือเป็นความตกต่ำที่สุดของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย

"ความถดถอยสิทธิประชาธิปไตยของไทยน่าจะต่ำถึงที่สุดที่ทำให้เรามีนักกิจกรรมอายุไม่ถึง 30 ปี ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของตัวเอง และบุคคลอื่น และเพียงทะเลาะกับยามหน้าศาลแห่งหนึ่ง แต่กลับถูกพิพากษาลงโทษและขัง 1 เดือนโดยไม่มีการอุทธรณ์ฎีกาใดๆ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บุ้ง ถูกถอนการประกันตัว ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะโดนคดีอาญาตั้งแต่ต้น" พรเพ็ญ กล่าว

หลังจากนั้น พิธีกรได้เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมยืนไว่อาลัย และมีพิธีสงฆ์โดยสมณะดาวดิน และพระประนมกร เพื่อรำลึกถึงการจาไปของเนติพร

ป้ายข้อความระบุว่า "Free our friends Free all political prisoners"

สมณะดาวดิน กล่าวว่า ทั้งเขาและพระประนมกรเคยยื่นหนังสือถึงศาลฎีกาให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทางการเมือง โดยมีข้อกังวลว่าหากปล่อยช้าเกินไป อาจจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของผู้อดอาหารประท้วงในเรือนจำ ซึ่งตอนนั้นมี ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เนติพร เสน่ห์สังคม ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร และมงคล ถิระโคตร และก็เกิดความสูญเสียจริงๆ โดยเนติพรได้เสียชีวิต และยังไม่ทราบว่าใครจะรับผิดชอบ

สมณะดาวดิน ระบุต่อว่า สาเหตุการเสียชีวิตจะต้องมีการสืบสวนต่อไปว่าแท้จริงแล้วเสียชีวิตเพราะอะไร แต่ท่านขอตั้งคำถามไว้ 2 ข้อต่อโรงพยาบาลราชทัณฑ์ คือ  เหตุใดโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่สามารถรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้ และมีคำถามว่า ในกรณีที่ รพ.ราชทัณฑ์ ไม่รีบส่งตัวไปที่ๆ จะสามารถดูแลได้

มติชนฯ รายงาน บรรยากาศเวลา 16.03 น. ผู้ร่วมกิจกรรม ร่วมวางดอกไม้ แสดงความอาลัยการจากไปของเนติพร ที่หน้าสำนักประธานศาลฎีกา และร่วมร้องเพลง ‘นักสู้ธุลีดิน’

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีผู้ถูกคุมขังในคดีการเมือง ประจำวันที่ 13 มิ.ย. 2567 จำนวน 44 ราย โดยแบ่งเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 26 ราย และคดีอื่นๆ เช่น มาตรา 116 ครอบครองวัตถุระเบิด และอื่นๆ จำนวน 18 ราย
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net