Skip to main content
sharethis

สถิติ 'ค่าจ้างรายอาชีพ' ของกรมการจัดหางาน พบปี 2563 คนไทยมีค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 100,000 บาท ต่ำสุด 8,190 บาท ส่วนปี 2564 ค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 120,000 บาท ต่ำสุด 8,140 บาท


ที่มาภาพประกอบ: สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน

อัตราค่าจ้างรายอาชีพคืออะไร?

ข้อมูลอัตราค่าจ้างรายอาชีพ เป็นข้อมูลตลาดแรงงานที่มีประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย อาทิ นายจ้างอาจใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดอัตราค่าจ้างของตำแหน่งงานต่าง ๆ ผู้สมัครงานอาจใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาสมัครงาน ครูอาจารย์สามารถใช้เป็นข้อมูลในการแนะแนวการศึกษา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานสามารถใช้เป็นข้อมูลในการแนะแนวอาชีพแก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการจัดหางาน

สำหรับประเทศไทย กองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ได้ทำการวิเคราะห์และจัดทำรายงานข้อมูลอัตราค่าจ้างแรกเข้ารายอาชีพ มาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา โดยวิเคราะห์จากฐานข้อมูลการให้บริการจัดหางานในประเทศของกรมการจัดหางาน แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลอัตราค่าจ้างรายอาชีพในตลาดแรงงาน แต่ก็มีจำนวนที่มากและมีความหลากหลายพอสมควร ทั้งนี้การจัดทำข้อมูลอย่างต่อเนื่องจะแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าจ้างแรกเข้าในตลาดแรงงานได้อีกด้วย

อนึ่งในปี 2563 และ 2564 กองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางานได้รวมสถิติของทั้งสองปีไว้ในรายงานฉบับเดียวกัน (ค่าจ้างรายอาชีพปี 2563 - 2564) และเผยแพร่ในช่วงปี 2565 การจัดทำข้อมูลค่าจ้างรายอาชีพปี 2563 - 2564 ซึ่งศึกษาจากฐานข้อมูลการให้บริการจัดหางานในประเทศของกรมการจัดหางาน จึงทำให้บางสาขาอาชีพอาจไม่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ และการคำนวณอัตราค่าจ้างคิดจากค่าจ้างที่เป็นตัวเงินตามที่ได้รับแจ้งเท่านั้น สำหรับวิธีการศึกษานั้นได้รวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานว่างจากฐานข้อมูลการให้บริการจัดหางานในประเทศที่มีการรับแจ้งตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. ในปีเดียวกัน จากนั้นจึงใช้โปรแกรมสำเร็จรูปคำนวณหาอัตราค่าจ้างสูงสุด ต่ำสุด และค่าเฉลี่ยในแต่ละอาชีพของแต่ละจังหวัดและภูมิภาค ซึ่งการหาค่าเฉลี่ยของค่าจ้างจะคำนวณจากยอดรวมของค่าจ้างของตำแหน่งแล้วหารด้วยจำนวนรวมตำแหน่งนั้นๆ และนำเสนอข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบตาราง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ผลการศึกษา 'ค่าจ้างรายอาชีพปี 2563 - 2564' พบว่า

1. ค่าจ้างในภาพรวมทั่วประเทศ ปี 2563 ค่าจ้างต่อชั่วโมงสูงสุด 1,200 บาท ต่ำสุด 40 บาท ค่าจ้างต่อวันสูงสุด 1,500 บาท ต่ำสุด 313 บาท และค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 100,000 บาท ต่ำสุด 8,190 บาท 

ปี 2564 ค่าจ้างต่อชั่วโมงสูงสุด 1,200 บาท ต่ำสุด 40 บาท ค่าจ้างต่อวันสูงสุด 1,700 บาท ต่ำสุด 313 บาท และค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 120,000 บาท ต่ำสุด 8,140 บาท

2. ปี 2563 ค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 100,000 บาท ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคกลาง รองลงมาคือภาคใต้ 80,000 บาท และ 50,000 บาท ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

ปี 2564 ค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 120,000 บาท ในกรุงเทพมหานคร 70,000 บาท ในปริมณฑล 60,000 บาท ในภาคกลาง และ 50,000 บาท ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

3. ปี 2563 ค่าจ้างต่อเดือนต่ำสุด 8,190 บาท ในภาคกลางและภาคเหนือ 8,200 บาทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8,340 บาท ในภาคใต้ และ 8,500 บาท ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

ปี 2564 ค่าจ้างต่อเดือนต่ำสุด 8,140 บาท ในภาคใต้ 8,300 บาท ในภาคเหนือ 8,320 บาท ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8,450 บาท ในปริมณฑล 8,500 บาท ในกรุงเทพมหานคร และ 8,690 บาท ในภาคกลาง

4. ปี 2563 ค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ 100,000 บาทรองลงมาคือภาคเกษตร 40,000 บาท 

ปี 2564 ค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดอยู่ในภาคบริการ 120,000 บาท รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม 75,000 บาท และภาคการเกษตร 35,000 บาท

5. ปี 2563 ค่าจ้างต่อเดือนต่ำสุด 8,190 บาท ในภาคเกษตรและภาคบริการ และ 8,320 บาทในภาคอุตสาหกรรม

ปี 2564 ค่าจ้างต่อเดือนต่ำสุด 8,140 บาท ในภาคบริการ 8,320 บาท ในภาคอุตสาหกรรมและ 8,690 บาท ในภาคการเกษตร

6. ปี 2563 ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดอยู่ในหมวดอาชีพผู้บริหาร ผู้จัดการ 16,708 บาท ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ 15,670 บาท ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 12,341 บาท เสมียน เจ้าหน้าที่ 11,999 บาท ผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือในธุรกิจต่างๆ 11,447 บาท ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ 11,444 บาท พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้า และตลาด 11,046 บาท อาชีพงานพื้นฐาน 10,393 บาท และผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและประมง 10,167 บาท

ปี 2564 ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดอยู่ในหมวดอาชีพผู้บริหาร ผู้จัดการ 16,427 บาท ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ 15,230 บาท ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 12,155 บาท เสมียน เจ้าหน้าที่ 12,022 บาท ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ 11,436 บาท ผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือในธุรกิจต่างๆ 11,315 บาท ผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและประมง 11,155 บาท พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด 11,002 บาท และอาชีพงานพื้นฐาน 10,423 บาท

7. ปี 2563 อาชีพที่มีค่าจ้างต่อเดือนสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) นักบิน และผู้จัดการฝ่าย บุคคล 100,000 บาท (2) ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ และตัวแทนนายหน้าขายบริการธุรกิจ 90,000 บาท (3) ช่างเทคนิคอากาศยาน และนักบัญชี 80,000 บาท (4) ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และพนักงานขายผลิตภัณฑ์ 70,000 บาท และ (5) ผู้จัดการฝ่ายก่อสร้าง และช่างเทคนิควิศวกรรมไฟฟ้า 65,000 บาท
 
ปี 2564 อาชีพที่มีค่าจ้างต่อเดือนสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) ผู้จัดการทั่วไป 120,000 บาท (2) นักเศรษฐศาสตร์เฉพาะสาขา 100,000 บาท (3) วิศวกรอุตสาหกรรมการผลิต 70,000 บาท (4) ทนายความ, นักบัญชี และ ผู้จัดการฝ่ายผลิต 60,000 บาท และ (5) ช่างเทคนิควิศวกรรมเครื่องกล 57,000 บาท

8. ปี 2563 อาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) ผู้จัดการทั่วไป 30,000 บาท (2) เลขานุการผู้บริหาร 29,000 บาท (3) เภสัชกร 28,333 บาท (4) นักคณิตศาสตร์ประกันภัย 27,666 บาท และ (5) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 27,500 บาท

ปี 2564 อาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) ผู้จัดการทั่วไป 30,000 บาท (2) ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารข้อมูล 21,857 บาท (3) นักพัฒนาซอฟต์แวร์ 21,250 บาท (4) วิศวกรโยธา 21,000 บาท และ (5) พยาบาลวิชาชีพเฉพาะ 20,000 บาท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net