Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงาน แจง พ.ร.บ.งบ 68 ขับเคลื่อน แก้ปัญหาผู้ใช้แรงงานเต็มที่ แก้ปัญหาว่างงาน ส่งแรงงานไทยไป ตปท. 1 แสนคน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2568 ถึงข้อกังวลเรื่องรถยนต์ที่ใช้ระบบไฟฟ้าจะเข้ามาทดแทนถยนต์ระบบสันดาป ที่คาดการณ์ว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าจะมีพนักงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แบบสันดาปประมาณ 200,000 คน ถูกปลดออก โดยขณะนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้มีการลงนามร่วมงานกับกระทรวงอว. กระทรวงศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน มุ่งเน้นการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง และพัฒนาระบบ "เครดิตแบงก์" เทียบทักษะประสบการณ์เป็นหน่วยกิตเพื่อต่อยอดการศึกษา นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย สนับสนุนโครงการ "หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งช่างไฟฟ้า" รองรับในอนาคตหากมีคนตกงาน และเพื่อสร้างโอกาสประกอบอาชีพอิสระในท้องถิ่น

นายพิพัฒน์ ยังกล่าวข้อกังวลเรื่องกองทุนประกันสังคมคาดการณ์ว่าจะแตะ 5 ล้านล้านบาทในปี 2578 แต่หลังจากนั้นหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร กองทุนจะเหลือศูนย์บาทในปี 2597 เพราะสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีคนเสียชีวิตมากกว่าคนเกิดใหม่ กระทรวงแรงงานเร่งหาแนวทางแก้ไข โดยเชิญทุกพรรคการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน นักบัญชี จัดเสวนาระดมสมองไปแล้วเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และจะมีกาาระดมสมองอีกครั้งในกลางเดือนตุลาคมนี้ มุ่งหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุน เพื่อให้กองทุนประกันสังคมอยู่รอดอย่างยั่งยืน เพราะนี่เป็นปัญหาของทุกคน ของทุกพรรคการเมือง

รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ขอฝากถึงกรรมาธิการิวิสามัญเรื่องงบประมาณ ว่าปีงบประมาณ 2568 กพร. แม้ได้งบฯ เพิ่ม แต่ไม่เพียงพอสำหรับรองรับการดำเนินงานเพื่อการมีงานทำ มีคนจบใหม่เตรียมเข้าสู่การทำงานปีละ 5 แสน ส่วนคนเกษียณปีละ 1.5 แสนคน ยังมีช่องว่าง 3.5 แสนคน จึงเป็นหน้าที่กระทรวงแรงงานในการหาตำแหน่งงานตรงนี้มารองรับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานมีเป้าหมายส่งแรงงานไทยไปทำงานยังประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิสราเอล ตะวันออกกลาง และยุโรปบางประเทศ คาดการณ์ว่าปี 2567 นี้ จะส่งแรงงานได้เกิน 100,000 คน และพยายามส่งเสริมให้แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศส่งเงินกลับประเทศมากขึ้น พร้อมมุ่งแก้ไขปัญหาการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในประเทศ เพื่อลดการสูญเสียดุลย์ทางเศรษฐกิจ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/6/2567

รมว.แรงงาน เผยขยายเพดานยกเว้นภาษีค่าชดเชย จาก 3 แสน เป็น 6 แสนบาท เพื่อช่วยลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ใช้บังคับย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566

21 มิ.ย. 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เผยผลการดำเนินการตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติสำเร็จ ผลักดันกฎหมายช่วยลูกจ้างเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้าง ให้ขยายเพดานค่าชดเชยที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก 300,000 บาท เป็น 600,000 บาท หลัง ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566

นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคารที่ 18 มิ.ย.2567 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรหรือการปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง โดยได้กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างจาก 300 วันสุดท้าย เป็น 400 วันสุดท้าย

เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และขยับเพดานของค่าชดเชยที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก 300,000 บาท เป็น 600,000 บาท ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอต่อกระทรวงการคลัง และเป็นไปตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างหลังถูกนายจ้างเลิกจ้างให้ได้รับเงินก้อนสุดท้ายเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยมีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 เป็นต้นไป

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นเกี่ยวกับการขอยกเว้นภาษีเงินก้อนสุดท้ายที่ลูกจ้างได้รับ หรือค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างนั้น กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ปี 2556 ปี 2557 ปี 2558 ปี 2559 ปี 2563 และปี 2564

ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มิได้นิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนของลูกจ้าง ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยและการงดจ่ายภาษี กรณีได้รับเงินเนื่องจากออกจากงานเพื่อศึกษารายละเอียดและผลกระทบของการดำเนินการ ตลอดจนผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ

โดยคณะทำงานฯ เห็นว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 217 ได้บังคับใช้มาเป็นเวลานานประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้มีการแก้ไขอัตราการจ่ายค่าชดเชย จากจำนวน 5 อัตรา เป็นจำนวน 6 อัตรา จากลูกจ้างทำงานครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็นลูกจ้างที่ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 300 วัน และลูกจ้างที่ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและอัตราค่าจ้างในปัจจุบัน

จึงเห็นควรเสนอเพื่อขอให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 217 รวมทั้งขอให้ครอบคลุมถึงกรณีการเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างด้วย ทั้งนี้ หากนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 กด 3 สายด่วน 1546 หรือช่องทางออนไลน์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกช่องทาง

ที่มา: Thai PBS, 21/6/2567

ส.อ.ท.เผย 5 เดือนแรกของปีนี้ มีโรงงานปิดกิจการกว่า 500 โรงงาน แรงงานตกงานมากกว่า 15,000 คน ห่วงกระทบศักยภาพการผลิตของประเทศ

นายนาวา  จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.67) โรงงานปิดกิจการไปแล้ว  567 แห่ง เฉลี่ย 113 โรงงานต่อเดือน มีแรงงานตกงานกว่า 15,000 คน อุตสาหกรรมที่ปิดกิจการมากที่สุดคือ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ และกลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ ขณะที่ข้อมูลปี66 มีโรงงานที่ปิดกิจการ 1,337 แห่ง เฉลี่ย 111 โรงงาน  ทำให้สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ตัดสินใจปิดโรงงาน มาจากปัญหาต้นทุนการผลิตทั้งราคาพลังงาน วัตถุดิบ ค่าขนส่ง ที่ปรับสูงขึ้น บางโรงงานถูกสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดก็มี

นายนาวา ระบุด้วยว่าแม้การเปิดกิจการใหม่จะมีมากกว่าโรงงานที่ปิดกิจการ แต่พบว่าตัวเลขห่างกันเพียงหลัก 10 โรงงานเท่านั้น จากเดิมที่ต่างกันหลักร้อยถึงสองร้อยโรงงาน ซึ่งแนวโน้มโรงงานที่ปิดมีมากขึ้น ทำให้ศักยภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมถดถอยลง

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ระดับ 88.5 จาก 90.3 โดยลดลงทั้งยอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต ต้นทุนและผลประกอบการ

ปัจจัยหลักมาจากกำลังซื้อในประเทศเปราะบาง เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน หนี้เสียภาคครัวเรือน รวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้น กระทบต้นทุน และสินค้าบางประเภท และยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูก จากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขัน นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังกังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศด้วย ส่วนคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า ยังคงปรับลดลงเช่นกัน

ที่มา: PPTV, 19/6/2567

หอการค้าต่างประเทศ แนะไทยพัฒนาทักษะแรงงานดึงนักลงทุนต่างชาติ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับ นางวีเบ็คก้า ลิสซานด์ เลียร์วาก (Mrs. Vibeke Lyssand Leirvag) ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย(Jonit Foreign Chamber of Commerce in Thailand :JFCCT) และคณะร่วม 32 ราย  ว่า รัฐบาลไทยถือเอกชนเป็นทัพหน้าของการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ซึ่ง JFCCT ถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญ โดยนายกฯได้สั่งการไว้ว่าหากมีอะไรที่เป็นอุปสรรคทางการค้าเรายินดีแก้ไข เพื่อร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิรัฐศาสตร์ เหมาะแก่การลงทุนและกระจายสินค้า ด้านทรัพย์สินทางปัญญาเราเป็นที่ยอมรับมากขึ้นและให้ความสำคัญกับการดูแลทรัพย์สินทางปัญญาของต่างชาติและคนไทย และรัฐบาลเห็นความสำคัญของการศึกษารวมไปถึงระดับอาชีวศึกษาซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทักษะเพื่อรองรับผู้ประกอบการ และพร้อมปรับปรุงให้ทันกับกติกาการค้าต่างๆในโลกใหม่

กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่จะช่วยตอบโจทย์การค้าที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน 8 นโยบาย อาทิ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก SME การทำงานเชิงรุก แก้ไขข้อจำกัดทางกฎหมาย เร่งรัดการส่งออก ผลักดันการใช้ประโยชน์ จาก FTA  และยังมีโครงการ Digital Wallet ของรัฐบาลที่ยืนยันว่าจะทำให้สำเร็จ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 500,000 ล้านบาท ให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อ คาดว่าไม่เกินสิ้นปีนี้จะสำเร็จ และรัฐบาลต่อต้านการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ

“เป็นทิศทางของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ที่กำลังดำเนินการ จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่จะมาลงทุนและทำการค้ากับประเทศไทย เราพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย” นายภูมิธรรมกล่าว

ด้านนางวีเบ็คก้า ลิสซานด์ เลียร์วาก ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวว่า JFCCT มีสมาชิกมากกว่า 9,000 บริษัท เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ ตั้งใจที่จะส่งเสริมการค้าและการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยจะทำงานร่วมกันในการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน

ทั้งนี้ขอชื่นชมรัฐบาลไทยล่าสุด จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศประจำปี 2567 (IMD World Competitiveness Yearbook 2024) ของ International Institute for Management Development (IMD) ไทยอยู่ในอันดับที่ 25 ขยับดีขึ้นถึง 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 ในปี 66 และทางหอการค้าได้หารือถึงการเพิ่มศักยภาพของแรงงาน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งสถานประกอบการในไทยได้ เน้นในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โรงแรม การเกษตร ยานยนต์และดิจิทัล เป็นต้น เพื่อยกระดับทักษะเดิมและสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ทางหอการค้ายินดีที่จะช่วยสนับสนุนการเจรจา FTA ของไทย และขอชื่นชมกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ที่จะมีแพลตฟอร์มช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้มากขึ้นด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 20/6/2567

ขยายเวลาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ผู้ประกันตน ม.33-ม.39 ถึงสิ้นปี 2567

17 มิ.ย. 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-1 มิ.ย.นี้ มีรายงานผู้ป่วย 139,326 คน อัตราป่วย 214.64 ต่อประชากรแสนคน

โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 10 คน แบ่งเป็น จ.นครราชสีมา 5 คน นครศรีธรรมราช 2 คน ชัยภูมิ สุราษฎร์ธานี และกทม.จังหวัดละ 1 คน อัตราป่วยตาย 0.007 โดยมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A 9 คน และชนิด B 1 คน

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปี 2566 คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเริ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ และจะพบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนส.ค.-พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูฝน เนื่องจากในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่ เป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่

นายคารม กล่าวว่า นอกจากกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มเสี่ยงแล้ว รัฐบาล โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานเชิญชวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลประจำปี 2567 ณ สถานพยาบาลตามสิทธิของผู้ประกันตนได้ฟรี ซึ่งในปี 2567 นี้ ได้ขยายการให้บริการฉีดวัคซีนออกไปถึง 31 ธ.ค.นี้

เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิของผู้ประกันตนได้อย่างทั่วถึง โดยแนะนำให้ติดต่อนัดหมายการฉีดวัคซีนกับสถานพยาบาลตามสิทธิก่อนเข้ารับบริการ

สำหรับผู้มีโรคประจำตัว หรือมีประวัติการแพ้วัคซีนควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเข้ารับบริการ หากประชาชนต้องการรับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประกันสังคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th  หรือหากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่ง หรือที่สายด่วน 1506

ทั้งนี้แนะนำประชาชนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์การระบาดทุกปี โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี

ในช่วงก่อนฤดูกาลระบาดเพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้ สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ที่มา: Thai PBS, 17/6/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net