Skip to main content
sharethis

112 WATCH สนทนากับฐิติพล ภักดีวาณิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในประเด็นเรื่องการยุบพรรคก้าวไกลและผลกระทบของการยุบพรรคต่อการรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา112 

มีความคิดเห็นอย่างไรต่อกรณีการยุบพรรคก้าวไกล ?

การยุบพรรคก้าวไกลสะท้อนถึงสภาวะสิ้นไร้ไม้ตอกของชนชั้นนำเก่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต้องการจะรักษาอำนาจของตัวเองอย่างเดียว แทนที่จะปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์ทางการเมืองและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

หลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือ การที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่การขึ้นสู่อำนาจของทักษิณ ชินวัตร จากชัยชนะถล่มทลายของพรรคไทยรักไทย ในปี 2544 จนถึงการยุบพรรคไทยรักไทยในปี 2550 สิ่งนี้สะท้อนถึงภาวการณ์เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยครั้งสำคัญ  การที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมค่อยๆ พึ่งพาเครื่องมือทางกฎหมายมากขึ้นเพื่อความชอบธรรมในการครองอำนาจ สิ่งนี้ยิ่งมีแนวโน้มทำลายการสนับสนุนของสาธารณชนและยิ่งไปทำให้พรรคฝั่งตรงข้ามอย่างพรรคก้าวไกลแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็ปรากฏตัวในนามของพรรคประชาชน

คิดอย่างไรต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลเทียบเท่ากับการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ?

การตีความของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ไปไกลกว่าข้อเท็จจริงมาก และยังเป็นการทำลายทั้งสถาบันกษัตริย์และพัฒนาการประชาธิปไตยของประเทศไทย

คำตัดสินของศาลจะมีผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทยเป็นอย่างมาก เพราะมันคือการจำกัดเสรีภาพในการเสนอและถกเถียงถึงการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ และเป็นการแปะป้ายว่าการถกเถียงเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ สิ่งนี้ไปลดทอนหลักการอำนาจอธิปไตยของรัฐสภา ซึ่งถือว่าทรงอำนาจสูงสุดในการผ่าน, แก้ไข, ยกเลิกกฎหมายทุกชนิด เพราะว่ารัฐสภาเป็นตัวแทนของเจตจำนงของประชาชน ไม่ควรมีสถาบันใดข้ามผ่านหลักการประชาธิปไตยนี้

ดังนั้น การรณรงค์ทางสาธารณะหรือการรณรงค์ทางการเมืองใดๆ ที่ต้องการจะแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับคุณค่าในสังคมปัจจุบันและปกป้องผลประโยชน์ของพลเมืองไทยไม่ควรถูกตัดสินว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือพิจารณาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ

ในกรณีของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ถูกศาลตัดสินในพ้นจากตำแหน่ง สิ่งนี้บอกอะไรกับเราเกี่ยวกับบรรยากาศทางการเมืองในประเทศไทย ?

ดูเหมือนว่านายกเศรษฐา ทวีสิน ถูกแต่งตั้งให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวจนกว่าจะให้คนในตระกูลชินวัตรขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ตอนนี้เราเห็นว่าแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นลูกสาวของทักษิณชินวัตรที่ลี้ภัยและได้กลับในปี 2566 ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สิ่งนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่าฝ่ายอำนาจเก่าอนุรักษ์นิยม ซึ่งแต่เดิมต่อต้านตระกูลชินวัตรเกือบ 20 ปี ขณะนี้ได้สนับสนุนการฟื้นคืนอำนาจของตระกูลชินวัตรอีกครั้ง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นมาได้ เพราะการมาของพลังฝ่ายก้าวหน้าที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูสำคัญของรูปแบบการปกครองประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ในปัจจุบัน ตระกูลชินวัตรสามารถควบคุมอำนาจได้อย่างมั่นใจภายใต้รัฐบาลแพทองธาร ทว่า ความท้าทายที่สำคัญคือ ภาวะแตกแยกระหว่างตระกูลการเมืองแต่ละจังหวัดในพรรคเพื่อไทยและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง แม้ว่าแพทองธารอาจจะดูเหมือนว่ายังใหม่ในการเป็นนายกรัฐมนตรี จากการที่เธอเป็นคนนอกจากการเมืองไทยมาตลอด ทว่า เธอก็เติบโตมาในครอบครัวผู้มีอิทธิพลในการเมืองไทย แต่เบื้องหลังทางการเมืองและมรดกตกทอดทางการเมืองของเธอก็ยังทำไม่สามารถแก้ข้อสงสัยที่ว่า เธอจะก้าวข้ามเงาของพ่อและบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพได้หรือไม่ สิ่งนี้ยังเป็นความท้าที่สำคัญและเป็นความไม่แน่นอนที่กำลังเกิดขึ้น

ทักษิณกำลังถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ คดีของทักษิณมีแนวโน้มจะถูกตัดสินอย่างไรและสิ่งนั้นจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของทักษิณอย่างไร ?

ณ จุดนี้ คดีของทักษิณในอนาคตจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับศักยภาพของรัฐบาลที่นำโดยลูกสาวของเขา และรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพี่อไทย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับทักษิณก็ไม่ต่างกับคดีอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจทางการเมืองว่าจะตัดสินออกมาอย่างไร ดังนั้น มันอาจจะเป็นผลดีต่อพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อป้องกันการนำมากลั่นแกล้งทางการเมืองจากกลุ่มทางการเมืองต่างๆ เพราะการกระทำแบบนี้อาจจะไปทำลายพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์

การยุบพรคก้าวไกลจะนำไปสู่การเลิกถกเถียงเกี่ยวประเด็นปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ และประชาชนควรทำอย่างไรเพื่อทำให้การถกเถียงเรื่องมาตรา 112 ยังคงอยู่ต่อไป ?

คำตัดสินของยุบพรรคก้าวไกลมีผลในการจำกัดพื้นที่ในการเถียงเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างมีนัยยะสำคัญ สิ่งนี้เป็นการขีดเส้นว่าประเด็นใดบ้างที่สามารถถกเถียงเกี่ยวกับกฎหมายนี้ได้บ้าง ยิ่งไปกว่านั้น การตีความของศาลที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ยังขาดหลักฐานที่ชัดเจน เช่น ศาลบอกว่าการที่พรรคก้าวไกลรณรงค์เพื่อแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งปี 2566 ทั้งที่การหาเสียงของพรรคก้าวไกลในปีเดียวกันโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเน้นที่การปฏิรูปกองทัพและการจัดสรรงบประมาณใหม่ เยาวชนหลายคนสนับสนุนพรรคก้าวไกลเพราะประเด็นเหล่านี้ ไม่ได้สนับสนุนเพียงแค่เพราะประเด็นกฎหมายอาญามาตรา 112

มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะรักษาพื้นที่สาธารณะในการถกเถียงเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายนี้ถูกใช้รังแกหรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคู่ขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งอาจจะทำลายพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ได้ หากมองถึงความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ต่อปวงชนชาวไทย มาตรา 112 ก็ควรถูกบังคับใช้อย่างมีเหตุผลเพื่อปกป้องสถาบันกษัตรินย์ ไม่ใช่มีเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ที่มา :

112WATCH Speaks with Titipol Phakdeewanich on the Dissolution of the Move Forward Party 

======

112 WATCH เป็นการรวมตัวของผู้คนและองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย โครงการนี้ริเริ่มโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ศาสตราจารย์จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เมื่อราวปลายปี 2564 โดยจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรในการทำงานสื่อสารเพื่อหยุดยั้งการใช้มาตรา 112 ผ่านช่องทางหลักคือ https://112watch.org/

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net