Skip to main content
sharethis

ชาวฮ่องกงถูกห้ามไม่ให้จัดงานระดมทุนให้ชาวปาเลสไตน์ผู้เผชิญความรุนแรงจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ในพื้นที่งานหนังสือฮ่องกง มีการข้อสงสัยว่าเหตุใดฮ่องกงจึงสกัดกั้นไม่ให้พวกเขาจัดงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์

 

19 ก.ย. 2567 เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2567 สื่อฮ่องกงฟรีเพรสรายงานถึงเรื่องที่ ชาวฮ่องกงจัดงานนิทรรศการที่ชื่อ "โครงการเยี่ยมเยือนปาเลสไตน์" เพื่อแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวปาเลสไตน์ในช่วงเดียวกับที่สงครามอิสราเอล-ฮามาส กำลังทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล

งานนิทรรศการดังกล่าวเป็นการจัดแสดงโปสเตอร์ติดฝาผนังในห้องเล็กๆ แห่งหนึ่ง โดยมีการขายจุลสารเกี่ยวกับนิทรรศการนี้ราคา 50 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 200 บาท) ซึ่งรายได้จากการขายเพื่อระดมทุนจะนำไปบริจาคให้กับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกาซ่า

อิสราเอลทำการโจมตีกาซ่าหลังจากที่กองกำลังติดอาวุธฮามาสก่อเหตุโจมตีในวันที่ 7 ต.ค. 2566 โดยที่อิสราเอลทำการโจมตีอย่างต่อเนื่องจนเป็นเหตุให้ผู้คนจำนวนมากเสียชีวิต วารสารการแพทย์แลนเซ็ตเคยประเมินไว้เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจริงอาจจะสูงกว่าจากที่มีระบุในรายงานคือมีโอกาสที่จะผู้เสียชีวิตจริงๆ รวมตัวเลขที่ไม่ได้รายงานจะสูงถึง 186,000 ราย นับเป็นร้อยละ 7.9 ของประชากรในฉนวนกาซ่าทั้งหมด

ในขณะที่เมืองอื่นๆ ทั่วโลกมีการจัดการประท้วงขนาดใหญ่เพื่อแสดงออกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ได้เช่น นิวยอร์ก, ลอนดอน, ปารีส, โตเกียว แต่ฮ่องกงกลับมีอิทธิพลบางอย่างที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขา ทำให้ผู้จัดงานทำได้แค่การแสดงออกในระดับเล็กๆ เท่านั้น

ก่อนหน้านี้การจัดนิทรรศการ "โครงการเยี่ยมเยือนปาเลสไตน์" ควรจะได้เป็นส่วนหนึ่งของงานหนังสือ BOOKED: Hong Kong Art Book Fair ของ Tai Kwun แต่ผู้จัดงานแจ้งเตือนกลุ่ม "จ็อกกี้คลับ" ซึ่งเป็นกลุ่มจัดนิทรรศการปาเลสไตน์ว่าจะมีการยกเลิกนิทรรศการดังกล่าวนี้โดยไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ

จ๊อกกี้คลับระบุว่าการยกเลิกจัดงานถือเป็นเรื่องน่าผิดหวัง ผู้จัดรายหนึ่งบอกว่าโปสเตอร์ที่พวกเขาต้องการจัดแสดง "ไม่ได้เป็นเรื่องทางการเมือง" แต่เป็นการช่วยเหลือผู้คน เป็นการเปิดใจผู้คนให้ได้รับรู้เรื่องปาเลสไตน์ อีกทั้งยังบอกอีกว่างานจัดแสดงของพวกเขาเป็น "รูปภาพงานศิลป์ที่สวยงามและเปี่ยมด้วยความเป็นมนุษย์"

การยกเลิกพื้นที่จัดงานในงานหนังสือทำให้พวกเขาย้ายไปจัดงานในที่อื่นแทนและเป็นสถานที่ปิดลับทำให้มีคนมารับชมไม่มากนัก มีผู้เข้าชมจำนวนมากที่สวมผ้าโพกศีรษะคัฟฟิเยห์ หรือสวมชุดสีแดง-เขียว-ขวา-ดำ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเกี่ยวกับชาวปาเลสไตน์

 

ไม่ใช่กรณีเดียวที่ถูกปิดกั้นในฮ่องกง

นิทรรศการดังกล่าวนี้ไม่ใช่กรณีเดียวที่ถูกปิดกั้นในฮ่องกง ถึงแม้ว่าทางการจีนจะสนับสนุนให้มีการหยุดยิงในกาซ่า แต่ก็มีผู้ที่ต้องการสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นปาเลสไตน์ที่เผชิญกับการปิดกั้

เช่น กรณีของ เจมส์ ฟรังเกล ศาสตราจารย์ด้านวัฒนธรรมและศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยไชนีสฮ่องกง ผู้ที่มีกำหนดการต้องพูดเรื่องปาเลสไตน์เมื่อเดือนตุลาคม 2566 แต่ก็ถูกระงับการจัดงานกะทันหันจากผู้ที่อ้างว่าเป็น "สมาชิกชุมชนชาวยิวในฮ่องกง" โดยอ้างว่าการพูดของเขาเป็น "การโฆษณาชวนเชื่อปาเลสไตน์" ซึ่งผู้จัดงานระบุว่าพวกเขายกเลิกเพราะ "เผชิญกับกระแสต่อต้านอย่างหนักจากภายนอกโดยไม่ทันตั้งตัว และเกิดสภาพการณ์บางอย่างที่ไม่ทันได้คาดคิด"

เรื่องนี้ทำให้ฟรังเกลมองว่ามีอิทธิพลจากอิสราเอลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการยับยั้งการจัดงานที่จะมีการเสนอวาทกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากวาทกรรมเรื่องเล่าแบบทางการอิสราเอล

ขณะที่ผู้จัดงานอีกส่วนหนึ่งหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการใช้วิธีการแบบที่ไม่ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในวงกว้างอย่างในโซเชียลมีเดีย แต่ใช้วิธีการเผยแพร่ให้รับรู้กันแบบปากต่อปาก เช่น การจัดระดมทุนช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์โดยนักออกแบบอาหาร Alison Tan ที่มีการออกบูธร้านอาหารซึ่งสื่อถึงอัตลักษณ์ของชาวปาเลสไตน์ เช่น น้ำมันมะกอก โดยมีการซื้อหาวัตถุดิบจากผู้ผลิตและเกษตรกรในปาเลสไตน์ รวมถึงมีชาวปาเลสไตน์เป็นผู้ปรุงอาหาร พวกเขาสามารถระดมทุนได้รวมแล้วมากกว่า 45,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 190,000 บาท)

กรมตำรวจฮ่องกงตอบคำถามของสื่อฮ่องกงฟรีเพรสที่ว่า การชุมนุมเดินขบวนในที่สาธารณะในเชิงสนับสนุนปาเลสไตน์แบบที่มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้านั้น สามารถทำได้หรือไม่ ทางตำรวจฮ่องกงตอบอ้อมๆ ว่า "สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมกับการเดินขบวนในฮ่องกงนั้นได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่" แต่เสรีภาพที่ว่านี้ก็ "ไม่ได้ไร้ขอบเขต"

 

เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจแทนการชุมนุม

แต่ก็มีชาวปาเลสไตน์ในฮ่องกงรายหนึ่งบอกว่าตำรวจดูจะเอื้ออำนวยให้กับการจัดงานของชาวปาเลสไตน์อย่างน่าแปลกใจ โมฮัมเหม็ด แอดนัน ผู้ก่อตั้งกลุ่มยูไนเต็ดฟรอนต์ฟอร์ปาเลสไตน์ประจำฮ่องกงกล่าวว่า หลังเกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่อิสราเอลและปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ก็มีตำรวจถามเขาว่าจะจัดงานอะไรหรือไม่ และเสนอจะจัดหาสถานที่ให้ถ้ากลุ่มของพวกเขาต้องการจะจัดงานแถลงข่าว

แต่แอดนันก็ยกเลิกการพูดแถลงข่าวเรื่องปาเลสไตน์ในช่วงก่อนเริ่มงานไม่นานนักหลังจากที่โซเชียลมีเดียของเขาถูกแฮ็ก แอดนันมองว่าชาวปาเลสไตน์ในต่างประเทศ "เผชิญกับการโจมตีในหลายทาง" มาโดยตลอดและการโจมตีเช่นนี้ก็เลวร้ายลงหลังเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. 2566

มีคนอีกส่วนหนึ่งที่มองว่าพวกเขาใช้วิธีการรวมกลุ่มเล็กๆ เพื่อสร้างการสนับสนุนได้ โดยเชื่อว่าวิธีการทำให้คนเรียนรู้จะสร้างการสนับสนุนปาเลสไตน์ได้ดีกว่าการจัดประท้วงที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากฝูงชน เช่น อาดา ผู้ที่จัดกลุ่มอ่านหนังสือกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ระบุตัวตน เพื่อให้ผู้คนได้มีโอกาสรวมกลุ่มกันอ่านผลงานของชาวปาเลสไตน์อย่าง เอ็ดเวิร์ด ซาอิด หรือ โมซาบ อาบู โทฮา ไปพร้อมๆ กับการเป็นพื้นที่ว่างให้กับผู้คนได้ "ใคร่ครวญต่อความเจ็บปวดหรือพูดถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลก"

ทั้งประชาคมโลก, ผู้เชี่ยวชาญ, เอ็นจีโอ, รัฐบาลหลายประเทศ รวมถึงองค์การสหประชาชาติต่างกล่าวว่าอิสราเอลได้ละเมิด อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งอิสราเอลปฏิเสธในเรื่องนี้

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ออกหมายจับต่อ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล กับ โยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอลในข้อหา "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ที่เกิดขึ้นในพื้นที่รัฐปาเลสไตน์

ICC ยังได้ออกหมายจับเหล่าผู้นำกองกำลังฮามาส ในข้อหาฆาตกรรม, ทำลายล้างพลเรือน และจับตัวประกัน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Hongkongers show solidarity with Palestine amid Israel-Hamas war, but keep efforts low-key, Hong Kong Free Press, 15-09-2024

https://hongkongfp.com/2024/09/15/hongkongers-show-solidarity-with-palestine-amid-israel-hamas-war-but-keep-efforts-low-key/

ICC seeking arrest warrants for Hamas leaders and Israel’s Netanyahu, UN, 20-05-2024

https://news.un.org/en/story/2024/05/1149966

Counting the dead in Gaza: difficult but essential, 20-06-2024

https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(24)01169-3/fulltext

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net