Skip to main content
sharethis

เลื่อนถกบอร์ดค่าจ้าง 400 ไม่มีกำหนด ปลัดกระทรวงแรงงานเผยรอผู้แทนฝ่ายรัฐคนใหม่

22 ก.ย. 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เปิดเผยความคืบหน้าการนัดหมายประชุมบอร์ดค่าจ้าง เพื่อพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในบางประเภทกิจการทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการปรับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี 2567 ตามนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าจะให้มีการประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ว่าการประชุมบอร์ดค่าจ้างที่ล่มถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. และ วันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากกรรมการไตรภาคี 15 คน ไม่ครบองค์ประชุม อีกทั้งเพิ่งทราบว่าคุณสมบัติของนายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเกษียณอายุงานตั้งแต่ปี 2566 ไม่สามารถเป็นตัวแทนกรรมการฝ่ายรัฐบาลได้ เนื่องจากทาง ธปท.แจ้งว่าจะไม่รับผิดชอบการกระทำใดๆ ของนายเมธี และการตัดสินใจของนายเมธี ไม่เกี่ยวกับ ธปท.แล้ว จึงไม่น่าจะมีคุณสมบัติในการเป็นบอร์ดค่าจ้าง ชุดที่ 22

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรรมการค่าจ้างที่ยังเหลืออีก 14 คน สามารถจัดการประชุมไปก่อนได้หรือไม่ หรือตามระเบียบจะต้องรอให้มีรายชื่อกรรมการครบทั้ง 15 คน ก่อนหรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า การประชุมบอร์ดค่าจ้างที่คาดว่าจะมีการนัดหมายในวันที่ 24 ก.ย. นี้ ต้องเลื่อนออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนด เพราะต้องรอให้คณะกรรมการมาครบองค์ประชุมไตรภาคี 15 คน และต้องให้ได้เสียง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุม

“แต่กรณีของนายเมธี เราไม่สามารถสรุปได้ว่า เขาเป็นกรรมการบอร์ดค่าจ้างได้หรือไม่ เมื่อต้นสังกัด คือ ธปท. ไม่รับรอง ตอนนี้ก็อยู่ที่นายเมธีจะลาออกหรือไม่ลาออกจากตำแหน่งกรรมการค่าจ้าง อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปจะต้องสรรหาและแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายภาครัฐบาลคนใหม่ให้เร็วที่สุด หากนายเมธีลาออกอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจจะใช้เวลาแต่งตั้งไม่เกิน 2 สัปดาห์ และหลังจากนี้จึงจะประชุมบอร์ดค่าจ้างรอบใหม่” นายไพโรจน์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่หลังจากนายไพโรจน์เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. นี้ จะเป็นปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ ทำหน้าเป็นประธานการประชุมบอร์ค่าจ้างเลยได้หรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า การประชุมบอร์ดค่าจ้างรอบถัดไป คาดว่าคงจะต้องเกิดขึ้นภายในเดือน ต.ค. นี้

“ผมจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ก็ถือว่าพ้นจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการไตรภาคีแล้ว จะเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่มานั่งเป็นประธานต่อ วันนี้ชื่อปลัดฯคนใหม่มาแล้ว กำลังรอการโปรดเกล้าฯเพียงอย่างเดียว ที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้แทนผม” นายไพโรจน์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 22/9/2567

ปลัดฯ แรงงานแจงปม ‘ถกขึ้นค่าจ้าง 400’ ล่ม 2 รอบ นัดใหม่ส่อแววเลื่อนอีก

21 ก.ย. 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ครั้งที่ 9/2567 เพื่อพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นรอบที่ 3 ของปี 2567

นายไพโรจน์กล่าวว่า ตามที่การประชุมเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้แจ้งเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 24 ก.ย. นี้ เนื่องจากองค์ประชุมไตรภาคี จากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ไม่ครบ 15 คน โดยฝ่ายลูกจ้างขาด 2 คน และฝ่ายรัฐบาลขาดไป 4 คน นั้น จากการตรวจสอบทราบว่าเนื่องจากกรรมการที่ขาดประชุมส่วนใหญ่ติดภารกิจและลาล่วงหน้า แต่มี 1 ในกรรมการฝ่ายรัฐบาลคือ นายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้เกษียณอายุงานแล้ว

“ทางเราจึงได้โทรศัพท์ประสานไปทาง ธปท. โดยทาง ธปท.ระบุว่า นายเมธี สุภาพงษ์ ได้เกษียณอายุไปแล้ว ไม่ได้เป็นตัวแทน ธปท.และไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบแล้ว นี่คือประเด็นที่เราอาจจะต้องเลื่อนประชุมบอร์ดค่าจ้างในครั้งถัดไป จากเดิมวันที่ 24 ก.ย. นี้ อาจจะต้องเลื่อนออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจน” นายไพโรจน์ กล่าว

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า นายเมธีได้เกษียณอายุจาก ธปท. เมื่อปี 2566

“ตอนที่เกษียณใหม่ๆ ทาง ธปท. ยังรับรองให้เป็นตัวแทนของ ธปท. อยู่ แต่เมื่อวาน (20 ก.ย. 2567) ธปท.ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรมาว่า นายเมธีไม่ได้เป็นผู้แทน ธปท.แล้ว เพราะฉะนั้น จะติดตรงคุณสมบัติของนายเมธีว่า จะมีสถานการณ์เป็นบอร์ดค่าจ้างได้หรือไม่ เมื่อ ธปท. ไม่รับรองแล้ว จึงไม่ควรเข้าประชุม ควรเลือกคนใหม่มาแทนมากกว่า ซึ่งต้องใช้เวลาและรวมเวลาที่ต้องเสนอชื่อเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่เกิน 15 วัน” นายไพโรจน์เผย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวหากมีการโหวตเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา ฝ่ายที่จะชนะคือ นายจ้าง ที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้าง 400 บาท ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา จึงทำให้กรรมการฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายลูกจ้างบางคนไม่เข้าประชุม เพื่อให้โหวตไม่ได้จริงหรือไม่

นายไพโรจน์กล่าวว่า ไม่จริง บางครั้งมันมีประเด็นหลายๆ เรื่อง ต้องมองเป็นในแง่บวกก่อนว่า เมื่อวาน (20 ก.ย. 2567) ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมนั้นติดภารกิจจริงๆ การประชุมก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน และคาดว่าในภาพรวมอาจจะไม่ทันประกาศใช้ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ โดยทางอาจจะต้องรอวันประกาศขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ด้าน นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง ในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 กล่าวว่า ฝ่ายอื่นเป็นอย่างไรไม่อาจทราบได้ แต่ฝ่ายนายจ้างไม่เคยเบี้ยวการประชุม เพียงแต่การประชุมบอร์ดค่าจ้าง ชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นการเลือกวันที่ฝ่ายนายจ้างว่างไม่ตรงกัน นำไปสู่เงื่อนไขในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน มาตราที่ 82 ถ้าไม่ได้องค์ประชุม ต้องให้จัดให้มีการประชุมอีกครั้งหนึ่งภายใน 15 วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก

“พอมาประชุมบอร์ดค่าจ้างวันที่ 20 ก.ย. ฝ่ายนายจ้างก็มาครบ และก็พร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุมในวันที่ 24 ก.ย. นี้แน่นอน หากองค์ประชุมครบก็สามารถโหวตได้ ซึ่งฝ่ายนายจ้างเองก็รับผิดชอบและทำหน้าที่ตามที่ได้มอบหมายอย่างดีที่สุดแล้ว” นายอรรถยุทธกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 21/9/2567

ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ล่มรอบ 2 - ปลัดแรงงานยันไร้นัยทางการเมือง

20 ก.ย. 2567 ที่กระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 9/2567 เพื่อพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ว่าการประชุมครั้งนี้ไม่เรียกว่าล่ม แต่ไม่ครบองค์ประชุม โดยมีตัวแทนราชการไม่เข้าประชุม 4 คน และลูกจ้างไม่เข้า 2 คน จึงทำให้ไม่ครบองค์ประชุม 2 ใน 3 ที่จะต้องมีผู้เข้าประชุม 10 คนขึ้นไป

วันนี้จึงเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลสภาพการจ้างงานของลูกจ้างให้ที่ประชุมได้ทราบว่าปัจจุบันมีธุรกิจที่มีการจ้างลูกจ้างที่จ่ายค่าจ้าง 400 บาทจำนวนเท่าไหร่ มีผลกระทบแรงงานไทยอย่างไร และกระทบด้านใดบ้าง หากดูข้อมูลจากประกันสังคม หากมีการปรับขึ้นค่าแรงในธุรกิจที่มี 200 คนขึ้นไป จะมีแรงงานต่างด้าวได้รับประโยชน์จากการขึ้นค่าแรง 400 บาทประมาณ 1,000,000 คน และแรงงานไทยเกือบ 4,000,000 คน

ทั้งนี้จึงทำให้วันนี้ไม่สามารถลงมติได้ ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ นายไพโรจน์บอกว่า ที่ประชุมมีมติให้ประชุมใหม่อีกครั้งในช่วงเช้าของวันที่ 24 ก.ย. 2567 กรณีหากองค์ประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 อีกครั้ง ก็จะมีการเลื่อนประชุมออกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ

อย่างไรก็ตาม นายไพโรจน์ระบุว่า ได้มีการสอบถามถึงสาเหตุของการไม่เข้าร่วมประชุมของฝ่ายภาครัฐและลูกจ้างจากฝ่ายเลขาฯ แล้ว แจ้งว่า สำหรับฝ่ายลูกจ้างที่ขาดไป 2 คนแจ้งว่าติดภารกิจและป่วย ส่วนฝ่ายภาครัฐ 4 คน แจ้งว่าติดภารกิจด่วน คาดว่าอยู่ในช่วงปิดงบประมาณรายจ่ายฯ จึงมีภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ทำให้ไม่สามารถมาเข้าร่วมประชุมได้ ซึ่งบางรายมีการแจ้งลาด่วนเมื่อช่วงเช้าวันนี้

นายไพโรจน์ยืนยันว่า สาเหตุที่ตัวแทนฝ่ายภาครัฐและลูกจ้างไม่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ไม่ได้มีนัยทางการเมือง ซึ่งหากวันที่ 24 กันยายนนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุม และมีมติ 2 ใน 3 ก็จะนำผลเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 1 ต.ค. 2567 เพื่อให้พิจารณาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ แต่หากไม่ทันวันที่ 1 ต.ค. 2567 ก็จะมีการเลื่อนออกไปจนกว่าองค์ประชุมจะครบและจะมีมติออกมาจากไตรภาคี

นายไพโรจน์กล่าวย้ำว่า ขอให้คณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่เข้าร่วมประชุม เพราะการส่งตัวแทนทำให้ไม่สามารถลงมติได้ และไม่สามารถเดินหน้าปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ยืนยันว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยากให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่ตนเองจะเกษียณ ซึ่งยังเหลือระยะเวลาอีกประมาณ 6 วันเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บอร์ดฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 คน คือ น.ส.ศุภานัน ปลอดเหตุ นายณัฏฐกิตติ์ เขตตระการ นายอรรถยุทธ ลียะวณิช นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นายชัยยันต์ เจริญโชคทวี ได้นั่งรอประชุมจนเวลานัดประชุมไป 30 นาที จึงมีกรรมการฝ่ายลูกจ้างทยอยมาประชุม 3 คน ขาดไป 2 คน แต่รอจนแล้วจนเล่าก็ยังไร้เงาบอร์ดฝ่ายรัฐบาลทั้ง 4 คน คือ นางโสภา เกียรตินิรชา จากกระทรวงแรงงาน น.ส.วรวรรณ พลิคามิน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายเมธี สุภาพงษ์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย และนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ จากกระทรวงพาณิชย์ โดยปลัดกระทรวงแรงงานได้แจ้งในที่ประชุมว่ากรรมการไม่มาประชุมหลายคนทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ไม่สามารถพิจารณาค่าจ้างได้ และได้สอบถามถึงการขาดประชุมพบว่ากรรมการฝ่ายรัฐบาลทั้งหมดติดภารกิจ บางคนอยู่ต่างจังหวัด บางคนลาประชุมล่วงหน้า บางคนเพิ่งจะแจ้งลาประชุมในช่วงเช้า ที่ประชุมจึงให้หารือข้อมูลด้านอื่นแทน ซึ่งกรรมการฝ่ายลูกจ้างได้เสนอให้หาทางแก้ไขกับดักองค์ประชุมไม่ครบเนื่องจากทำล่มมาแล้ว 2 ครั้ง และถ้ายังเป็นแบบนี้การประชุมครั้งต่อไปก็จะยังไม่สามารถเคาะปรับค่าจ้างได้

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 20/9/2567

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ชี้ขึ้นค่าแรง 400 บาท ผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กระทบมาก

ตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในบางประเภทกิจการทั่วประเทศ ที่จะให้มีผลในวันที่ 1 ต.ค. 2567 นี้นั้น นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องค่าแรงจะแทรกอยู่ในทุกอณูของการก่อสร้างซึ่งมีการคำนวณกันว่า ค่าแรงจะถือเป็น 40% ของมูลค่าการก่อสร้างบ้านหนึ่งหลังโดยไม่รวมมูลค่าที่ดิน หมายความว่า ถ้าบ้านหนึ่งหลังมีค่าใช้จ่ายค่าแรงและอุปกรณ์ก่อสร้าง รวม 1 ล้านบาท ค่าแรงก่อสร้างจะอยู่ที่ 400,000 บาทเป็นต้นซึ่งการขึ้นค่าแรงจาก 300 บาทเป็น 400 บาท จะเพิ่มขึ้นอีก 30% จะกระทบต้นทุนก่อสร้าง ค่าขนส่งที่แพงขึ้น โดยส่วนตัวมองว่าจะกระทบกับผู้ประกอบการรายย่อยที่ทุนน้อย ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่จะไม่กระทบมากเพราะมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในงานก่อสร้าง ส่วนแรงงานมีฝีมือของไทยขณะนี้มีค่าแรงอยู่ที่วันละ 600-700 บาทจะไม่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มแรงงานที่จะได้ประโยชน์คือแรงงานต่างด้าวเพราะจะต้องมีการปรับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจาก 300 บาทเป็น 400 บาท

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 19/9/2567

รมว.แรงงาน เรียกร้องนายจ้างเห็นใจลูกจ้างขึ้นค่าแรง 400 บาท วอนเข้าร่วมประชุมไตรภาคี

19 ก.ย. 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขึ้นค่าแรง 400 บาทว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.67) เวลา 13.30 น.ท่านปลัดกระทรวงแรงงาน ได้มีการเชิญกรรมการไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง และตัวแทนฝ่ายราชการ ฝ่ายละ 5 คน รวมทั้งสิ้น 15 คน มาประชุมที่กระทรวงแรงงาน ผมเองก็ขอความกรุณากรรมการทั้ง 3 ฝ่ายว่า อย่างไรก็แล้วแต่ ท่านจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ก็ขอให้ท่านได้เข้ามาประชุมในวัน เวลา ดังกล่าว ตามที่กระทรวงแรงงานได้มีหนังสือเชิญไป ซึ่งผลการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำในวันพรุ่งนี้ที่กระทรวงแรงงาน จะเป็นอย่างไรจะได้ประกาศให้ทุกท่านได้ทราบ

“อย่างไรก็ผมขอฝากกรรมการทั้ง 15 ท่าน ขอความกรุณาเถอะครับ ประเทศไทยเราต้องการขับเคลื่อนไปให้ได้ และผมก็ขอความกรุณาทุกท่านว่า ขอให้เห็นใจลูกจ้างบ้าง ส่วนนายจ้างตัวผมเอง เห็นใจเป็นอย่างสูงอยู่แล้ว แต่ขอให้เห็นใจลูกจ้างบ้างว่า ขณะนี้ลูกจ้างก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน เศรษฐกิจไม่ดีทุกคนก็กระทบหมด ท่านจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ก็ขอเชิญเข้าห้องมาประชุมกัน เพื่อท่านปลัดจะได้ชี้แจงว่าสิ่งที่เราจะขึ้นค่าแรงมีอะไรบ้าง เราจะมีการชี้แจงข้อมูลทางวิชาการเปรียบเทียบให้ท่านดู รวมทั้งการนำมาตรการบรรเทาผลกระทบจากกระทรวงการคลัง ซึ่งแน่นอนว่าขณะนี้กระทรวงการคลังได้ตอบรับมาบ้างแล้วสำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบ โดยมาตรส่วนใหญ่เราจะล้อมาจากปี 2555 ที่เคยเป็นมาตรการจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และอาจจะมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาด้วย” นายพิพัฒน์ กล่าว

ที่มา: ไทยโพสต์, 19/9/2567

แจงดราม่า จี้รัฐดึงแรงงานเมียนมาใต้ดิน เข้าสู่ระบบ แก้ทุจริตคอร์รัปชั่น

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์กรณีโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์ ติดแฮชแท็กพรรคประชาชนพม่า จนขึ้นเทรนด์ในทวิตเตอร์ สืบเนื่องจากสส.พรรคประชาชนได้อภิปรายการให้สิทธิแรงงานเมียนมา ซึ่งผู้ที่วิจารณ์ก็เป็นคนที่สนับสนุนพรรค

โดยนายพริษฐ์ กล่าวว่า ทางพรรคประชาชนยินดีชี้แจง เพราะเป็นประเด็นละเอียดอ่อน อาจจะกระทบต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชนจำนวนไม่น้อย ยืนยันว่าแนวทางของพรรคประชาชน มองว่าอะไรก็ตามที่เป็นปัญหาต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จะต้องหยิบขึ้นมาพูดคุยกันตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะมีความละเอียดอ่อนแค่ไหน

ปัจจุบันไทยมีแรงงานเมียนมาอยู่ประมาณ 6 ล้านกว่าคน แต่เกินครึ่งไม่ได้อยู่ในระบบที่ถูกต้องตามกระบวนการกฎหมาย ซึ่งเกิดจากการสมรู้ร่วมคิดจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือความท้าทายในการบริหารจัดการปัญหาที่จะตามมา

เมื่อเข้ามาไม่ถูกตามกฎหมายก็จะเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น และภาครัฐไม่มีฐานข้อมูลในการบริหารจัดการ ซึ่งอาจจะเกิดความท้าทายเรื่องปัญหาสังคมที่รัฐกำกับดูแลยากขึ้น รัฐไม่มีฐานข้อมูลว่าแรงงานเมียนมาเข้ามาประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมใดบ้าง

ถ้าต้องการบริหารจัดการปัญหานี้อย่างตรงจุด เพื่อป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและปัญหาอาชญากรรมที่ตามมา รวมถึงการจัดหาแรงงานเมียนมาให้สอดคล้องกับผู้ประกอบการไทยอย่างเป็นระบบ สิ่งสำคัญคือต้องดึงแรงงานเมียนมานอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้มีฐานข้อมูลจัดระเบียบทำให้ปัญหาต่างๆ ถูกแก้ไขและเป็นประโยชน์กับประชาชนคนไทย

เมื่อถามถึงข้อกังวลที่คนเมียนมาจะเข้ามาใช้สิทธิเทียบเท่ากับคนไทยนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้ารัฐจะเข้ามาบริหารจัดการเรื่องนี้ รัฐจะต้องรู้ก่อนว่า ปัจจุบันแรงงานเมียนมาประกอบอาชีพด้านใดบ้าง แต่รัฐไม่มีฐานข้อมูลเหล่านี้ และย้ำว่ารัฐจะต้องนำแรงงานเมียนมาเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อคลี่คลายข้อกังวลของคนไทย ซึ่งรายได้ของแรงงานเมียนมาจะเข้าสู่ระบบภาษี ส่งผลให้รัฐจัดการปัญหาให้เป็นระบบมากขึ้น

เมื่อถามว่านอกจากการอภิปรายของสส. จะมีรูปธรรมอย่างอื่นที่จะนำเสนอ เช่น กฎหมายที่เตรียมเสนอหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังเป็นขั้นตอนการเสนอแนะนโยบายต่อรัฐบาล เพราะหลายมาตรการเป็นมาตรการของฝ่ายบริหาร อาจจะมีการคาบเกี่ยวหลายกระทรวง ดังนั้น จึงมีสส.อภิปรายเรื่องดังกล่าวในการแถลงนโยบายเป็นหลัก

ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด, 18/9/2567

เรียกสอบทุกฝ่าย แรงงานสาวป่วยไม่กล้าลางาน ฝืนทำงานจนตาย

ความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของแรงงานสาว ป่วยหนักไม่กล้าลาหยุดจนเสียชีวิต ล่าสุดวันนี้ (17 ก.ย.67) ร่างของน้องเมย์ พนักงานสาวโรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมฯ สมุทรปราการ เคลื่อนมาถึงวัดวาลุการาม อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย โดยครอบครัวได้ บรรจุร่างว้ในโลงเย็น นำข้าวอาหารน้ำดื่มไปตั้งที่ข้างโลงศพ เตรียมประกอบพิธีสวดพระอภิธรรม ซึ่งแม่ของน้องเมย์ซึ่งยังอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจ ต่อการจากไปของลูกสาวที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ในแต่ละเดือนน้องเมย์จะส่งเงินมาให้ 2,000 -3,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของแม่กับลูกอีก 2 คน หากไม่มีน้องเมย์ ภาระการเลี้ยงดูก็จะตกอยู่ที่ตนเพียงคนเดียว เบื้องต้น ครอบครัวจะทำพิธีฌาปนกิจศพน้องเมย์ ในวันที่ 19 ก.ย.67 เวลา 14.00 น. ที่ เมรุวัดวาลุการาม

ทางด้านเพื่อนสนิทของน้องเมย์ ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้น้องเมย์ไม่มีประวัติการลางาน กระทั่งวันที่ 5 ก.ย.67 น้องเมย์ไม่สบาย ได้ไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ รักษาตามสิทธิประกันสังคม ทราบว่าป่วยเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ นอนรักษาใน รพ. ตั้งแต่วันที่ 5-9 ก.ย.67 เมื่อออกจาก รพ. อาการไม่ดีขึ้น จึงก็ขอลางานต่ออีก 3 วัน จะขอลางานต่อในวันที่ 13 ก.ย.67 ทางหัวหน้างานก็ขอใบรับรองแพทย์เพราะลาหยุดเกิน 3 วัน น้องเมย์จึงตัดสินใจมาทำงานวันที่ 13 ก.ย.67 แต่ทำงานได้แค่ 20 นาที ก็ต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลด่วน ซึ่งทางโรงพยาบาลผ่าตัดพบลำไส้เน่าขาดเลือด และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 ก.ย.67

ทางด้าน น.ส.กาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ฝ่ายนายจ้างรายงานข้อมูล ว่าผู้เสียชีวิตใช้สิทธิลาป่วยตามปกติ โดยลาป่วยตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน รักษาอาการปวดท้อง เมื่อออกจากโรงพยาบาลอาการดีขึ้น จึงกลับมาทำงาน โดยยื่นใบรับรองแพทย์ตามปกติ เพราะลาเกิน 3 วัน เมื่อกลับมาทำงานได้เข้าเวรกะกลางคืน แต่จู่ ๆ ผู้เสียชีวิตอาการกำเริบ เพื่อนร่วมงานจึงพาไปห้องพยาบาล และพาไปโรงพยาบาล ก่อนจะมาเสียชีวิต หลังจากนี้ ทางกรมฯ จะเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม รวมถึงการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการป่วย ประวัติการรักษากับทางโรงพยาบาล

สำหรับการลาป่วย ลูกจ้างมีสิทธิลาได้เท่าที่ป่วยจริง หากลาตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์หรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ ซึ่งลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี ซึ่งการลาป่วยตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไปลูกจ้าง จะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง

ที่มา: ข่าวออนไลน์7HD, 17/9/2567

‘รมว.แรงงาน’ ลั่นเดินหน้าประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท 1 ต.ค.นี้แน่นอน

วานนี้  16 ก.ย.2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่ตัวแทนฝ่ายนายจ้างติดภารกิจ ไม่เข้าร่วมประชุมว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (16 ก.ย.) ปลัดกระทรวงแรงงานได้มีการประชุมกับผู้แทนส่วนของลูกจ้าง และผู้แทนส่วนของภาคราชการ คณะกรรมการมาพบกันทั้ง 10 คน โดยตัวแทนฝ่ายนายจ้างทราบว่าติดภารกิจไม่สามารถมาเข้าร่วมประชุมในวันนี้ได้ ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงแรงงานจะได้ทำหนังสือเชิญไปยังกรรมการฝ่ายนายจ้างอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้มีการประชุมในวันศุกร์ที่ 20ก.ย.นี้

“ผมขอความกรุณากรรมการฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 ท่าน อย่างไรก็ตามท่านก็ควรมาใช้สิทธิของท่านในฐานะที่ท่านเป็นกรรมการไตรภาคีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งแน่นอนว่าถ้ากรรมการฝ่ายลูกจ้างมาครบ กรรมการฝ่ายราชการมาครบ แต่ถ้าหากท่านไม่มาประชุม ท่านปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานบอร์ดไตรภาคีก็คงมีมาตรการในการที่จะเดินหน้าในการประชุม เพราะด้วยระเบียบและกฎเกณฑ์ของการเรียกประชุม เพราะเรามีกฎเกณฑ์ของเราอยู่แล้ว ผมก็อยากเชิญกรรมการฝ่ายนายจ้างขอให้เข้ามาหารือในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ที่กระทรวงแรงงาน” นายพิพัฒน์ กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ตนได้รับหนังสือจากสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และหอการค้าจังหวัดเกือบทุกจังหวัด รวมถึงสภาอุตสาหกรรมจังหวัดด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่พร้อมที่จะขึ้นค่าแรง การที่จะพร้อมหรือไม่พร้อมผมขอให้มองถึงมิติว่า ในวันนี้ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันได้ขึ้นราคาไปล่วงหน้าแล้ว หากรัฐบาลยังไม่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผมคิดว่าเพื่อนๆ ผู้ใช้แรงงานคงรับไม่ไหว ซึ่งต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเราในขณะนี้ไม่ค่อยดี ยังไม่ฟื้นตัว ก็หวังว่าหลังจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีแพรทองธาร ชินวัตร ได้เข้ามาบริหารประเทศก็น่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการแจกเงินให้กับผู้ด้อยโอกาส หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12 ล้านคน และบัตรคนพิการอีกประมาณ 2 ล้านคนเศษ รวมแล้วประมาณ 14.5 ล้านคน งบประมาณ 145,000 ล้านบาท เมื่อเงินก้อนนี้เข้าสู่ระบบก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนที่ดีขึ้น เศรษฐกิจของเราก็จะค่อยๆ ทยอยดีขึ้น แต่ก่อนที่จะมีเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบนั้น ขณะนี้งบประมาณในปี 2567 เรากำลังใช้อย่างเต็มที่และมีความมั่นใจว่างบประมาณของปี 2567 ถึงแม้ว่าจะมาช้าแต่เราในฐานะที่เป็นกระทรวงแรงงานรวมถึงกระทรวงอื่นๆ ได้มีการเร่งทำการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ทันในการสิ้นสุดปีงบประมาณ

"นี่คืออีกส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนและหมุนเวียนได้เร็วขึ้น และหวังว่าในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้งบประมาณจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งเราจะได้เห็นเศรษฐกิจของประเทศไทยเราเจริญเติบโต สอดคล้องกับการที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตไม่น้อยกว่า 2.4 - 2.6 ของจีดีพี ซึ่งผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อเงินเข้าสู่ระบบแล้วขอให้พวกเราช่วยกันเอามาใช้ทำให้เกิดการหมุนเวียนมาก ทำอย่างไรก็ได้ให้ปีปฏิทิน 2567 กระเตื้องให้ได้ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าปีนี้เราทำได้ 3 เปอร์เซ็นต์ ปีหน้าก็มั่นใจว่าเราน่าจะมีโอกาสที่จะเจริญเติบโตของจีดีพีสูงกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ "นายพิพัฒน์ กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ประการหนึ่งเราคงจะเห็นว่าวันนี้ตลาดหลักทรัพย์ก่อนที่ท่านนายกรัฐมนตรีท่านแพทองธาร จะเข้ามาแถลงนโยบาย สิ้นสุดรัฐบาลท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน ตลาดหลักทรัพย์เราอยู่ที่ประมาณ 1200 กว่าจุด เมื่อมีการประกาศมีการโหวตนายกรัฐมนตรี ราคาหรืออินเด็กซ์ของเซตในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยเราขยับจาก 1200 กว่าจุด ปัจจุบันนี้ก็ประมาณใกล้เคียง 1440 กว่าจุด ณ ขณะนี้ ซึ่งมั่นใจว่าตลาดหลักทรัพย์เข้ามาก็แสดงว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อหุ้นในประเทศไทย เมื่อเงินที่ไหลออกไปก็มีกลับเข้ามาใหม่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ เศรษฐกิจเราจะดีขึ้น แต่มีข้อไม่ดีอย่างนึงก่อนหน้านี้ เงินไหลออก ค่าเงินบาทอ่อนผู้ส่งออกก็จะประสบความสําเร็จ ซึ่งตรงนี้ก็ได้รับ เมื่อขายเป็นยูเอสดอลล่าโอนกลับมาเราได้บาทต่อเหรียญ แต่ขณะนี้เงินนอกเข้ามาสู่ประเทศไทยบาทจะแข็ง ผู้ส่งออกก็จะเสียโอกาสก็คือจาก 36 บาทเหลือ 33 บาทกว่า เพราะฉะนั้นส่งออกเงินบาทแข็ง คู่ค้าที่ส่งออกกําไรน้อยลงแต่ในทางกลับกันบริษัทที่นําเข้าบาทแข็ง เขาก็จะมีต้นทุนที่ถูกลงเพราะฉะนั้นในส่วนนี้ทั้งบริษัทนําเข้าและส่งออกก็จะอยู่ในสถานที่สมดุลกัน ซึ่งเมื่อสมดุลกัน ผมก็จะเอาปัจจัยของความสมดุลของตลาด

นายพิพัฒน์ กล้าวด้วยว่า เราคงจะต้องเดินหน้าตามเป้าหมาย คือ ต้องประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท ในวันที่ 1ต.ค.นี้ อย่างแน่นอน การที่กรรมการที่เป็นฝ่ายนายจ้างท่านไม่มาประชุม ท่านปลัดกระทรวงแรงงานก็คงจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เมื่อครั้งที่ 2 ไม่มาประชุมอีก เราจะใช้กรรมการที่มีอยู่ในห้องประชุมแต่ต้องมีไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เป็นการโหวต เมื่อโหวตตรงนั้นท่านไม่มาใช้สิทธิ์ของท่าน เราถือว่าท่านสละสิทธิ์ เราก็จะต้องโหวตและเดินหน้าไปตามนโยบาย

“สิ่งต่างๆ ผมที่กล่าวในสภาก็หมายความว่า พวกเราชาวกระทรวงแรงงาน เราอยู่ตรงกลางเรา เพราะฉะนั้นเราจะต้องทําอย่างไรให้อยู่ในจุดสมดุลที่ดีที่สุด ตัวผมเอง ท่านปลัด ท่านอธิบดี หรือผู้บริหารในกระทรวงแรงงาน ทุกกรมพวกเราต้องพยายามหาจุดสมดุลให้ดีที่สุด เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กันให้ได้ ส่วนกรณีที่จะต้องมีการเยียวยาจากกระทรวงการคลัง ผมเองได้หารือกับท่านปลัดแล้ว และท่านปลัดได้เดินทางไปเจรจากับทางกระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งทางสภาพัฒน์เองก็มีข้อยุติในระดับนึง ส่วนมาตรการของกระทรวงแรงงาน ในเรื่องของประกันสังคม เรามีข้อยุติเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นก่อนที่จะประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท ในการประชุมในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ เมื่อประชุมเสร็จเราก็จะสรุปและนํามาตรการต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ามีมาตรการอะไรที่จะไปช่วยเหลือให้กับนายจ้างบ้าง ซึ่งแน่นอนในปี 2555 เรามีประสบการณ์นี้ไปแล้ว เราก็จะล้อประสบการณ์จากปี 2555 มาใช้ให้ได้มากที่สุดสําหรับปี 2567 เช่นกัน” รมว.แรงงาน กล่าว

ที่มา: TV5HD Online, 17/9/2567

เยาวชนไทยคว้าเหรียญทอง WorldSkills เหรียญแรกในประวัติศาสตร์ สาขา Health and Social Care

16 ก.ย. 2567 มูลนิธิเอสซีจี แจ้งข่าวว่าเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในโลกยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ได้ร่วมสนับสนุนการแข่งขันฝีมือแรงงานระดับนานาชาติ 3 สาขา คือสาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย สาขาการประกอบอาหาร และสาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม โดยทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดส่งผู้แทนเยาวชนไทยจำนวนทั้งสิ้น 22 คนไปร่วมแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานนานาชาติ 19 ทักษะฝีมือในการแข่งขัน WorldSkills Lyon 2024 ณ เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10-15 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมานั้น ผลปรากฎว่า นางสาวอริยพร ลิ้มกมลทิพย์  หรือน้องแก้ม พยาบาลวิชาชีพจากโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้เข้าแข่งขันในสาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย (Health and Social Care) สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) เหรียญเดียวของไทยปีนี้ และรางวัล Best of Nation หลังจากทำคะแนนรวมได้เป็นลำดับที่ 1 ของโลกจาก 19 ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน

พร้อมกันนี้ นางสาวกนกวรรณ อินทะ นักศึกษาชั้นปี 3 วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี ผู้เข้าแข่งขันสาขาการประกอบอาหาร ได้รับรางวัลเหรียญฝีมือยอดเยี่ยม และ นายธนกร ช่วงรัตนาวรรณ นักศึกษาชั้นปี 2 วิทยาลัยดุสิตธานี ผู้เข้าแข่งขันสาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับรางวัลเหรียญความทุ่มเทเสียสละ ซึ่งทั้งหมดนี้คือความภูมิใจของมูลนิธิเอสซีจี และประเทศไทย

นอกจากที่ มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนเยาวชนทั้ง 3 สาขา ในการเก็บตัวฝึกซ้อม ดูแลจิตใจของน้องๆ โดยผู้เชี่ยวชาญ พร้อมมอบทุนการศึกษาจนจบปริญญาตรี มูลค่ารวม 3,000,000 บาท ไปแล้วนั้น ยังมีการพิจารณาจัดมอบเงินรางวัลพิเศษ จำนวน 100,000 บาท แก่ผู้ที่ได้รับเหรียญทอง เงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท แก่ผู้ได้รับเหรียญฝีมือยอดเยี่ยม และเงินจำนวน 5,000 บาท แก่ผู้ที่ได้รับเหรียญความทุ่มเทเสียสละ กลับมาในครั้งนี้อีกด้วย

นอกจากการสนับสนุนทุนการศึกษาและการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมแล้ว มูลนิธิเอสซีจี ยังมุ่งสร้างโอกาสและมุ่งแสวงหาเวทีให้เด็กและเยาวชนไทยได้มีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นทักษะเชิง Hard Skill หรือ Soft Skill ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการสั่งสมความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ตามแนวคิด LEARN TO EARN เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด นำมาพัฒนาทักษะของตนเองให้ดียิ่งขึ้นเพื่อต่อยอดสู่ความเป็นเลิศในสายวิชาชีพต่อไป

ที่มา: TCIJ, 16/9/2567 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net