Skip to main content
sharethis

ตอนจบของรายงานพิเศษขนส่งสาธารณะขอนแก่น สำรวจบทบาทภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลขนส่งสาธารณะ โดยขนส่งจังหวัดมีแผนยกเครื่องเส้นทางเดินรถสาธารณะขอนแก่น 76 เส้นทาง ส่วน อบจ.ขอนแก่นได้รับถ่ายโอนสถานีขนส่งผู้โดยสาร 4 แห่ง ได้แก่ สถานี บขส.3, ชุมแพ, บ้านไผ่ และภูเวียง โดย อบจ.ขอนแก่นยังไม่มีภารกิจเดินรถสาธารณะ แต่มีโครงการนำร่องที่ร่วมมือกับ ม.ขอนแก่น และภาคเอกชนวิจัยและออกแบบรถเมล์ด่วนพิเศษ BRT

อ่านตอนแรก

 

พงศ์ธร จันทราธิบดี ขนส่งจังหวัดขอนแก่น 

(ที่มา: นันท์พนิตา สุขิตกุลพฤทธิพร)

 

แอปพลิเคชันแสดงเส้นทางรถโดยสารขอนแก่นซิตี้บัส 

(ที่มา: แฟ้มภาพ/สมานฉันท์ พุทธจักร)

การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดขอนแก่นถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะแผนพัฒนาระบบขนส่งฉบับใหม่ที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อย่างไรก็ตามมีคำถามถึงขอบเขตอำนาจและบทบาทของแต่ละองค์กรในการจัดการระบบขนส่ง

พงศ์ธร จันทราธิบดี ขนส่งจังหวัดขอนแก่น อธิบายว่า กรมการขนส่งทางบกมีหน้าที่ดูแลหลายด้าน เช่น การควบคุมทะเบียนรถ ออกใบอนุญาตขับขี่ และดูแลบริการรถขนส่งสาธารณะ "ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะ ถือเป็นภารกิจหลักของกรมการขนส่งทางบกมาตั้งแต่ต้น"

พงศ์ธรกล่าวถึงอดีตของระบบรถโดยสารในขอนแก่นว่า ครั้งหนึ่งระบบรถโดยสารได้รับความนิยมมาก มีหลายสายให้บริการ แต่หลังโควิด-19 ประชาชนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น เนื่องจากรู้สึกว่าไม่สะดวกในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ทำให้จำนวนเที่ยวรถลดลง และการเพิ่มเที่ยวรถหรือขยายเส้นทางทำได้ยาก ปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ พงศ์ธรกล่าวว่า "คำถามคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนกลับมาใช้บริการรถขนส่งสาธารณะมากขึ้น" ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกจังหวัดต้องหาทางแก้ไข

จังหวัดขอนแก่นได้เสนอแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะใหม่ โดยมุ่งเน้นที่การปรับปรุงเส้นทางและเงื่อนไขการเดินรถให้ทันสมัยและเชื่อมโยงจุดสำคัญต่างๆ ในเมือง เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และสถานที่ราชการ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น แผนนี้ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยประชาชนสามารถร้องขอเส้นทางหรือแจ้งปัญหาผ่านทางสำนักงานขนส่งจังหวัดหรือสายด่วน 1584 เพื่อให้ขนส่งจังหวัดสามารถประสานงานกับผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกปัญหาหนึ่งของการขนส่งสาธารณะในขอนแก่นคือ ประชาชนไม่ทราบเวลาการเดินรถและต้องรอเป็นเวลานาน ต่างจากระบบการเดินทางอื่นๆ ที่มีตารางเวลาชัดเจน พงศ์ธรย้ำว่า "หากเรามีเทคโนโลยี เช่น แอปพลิเคชันตรวจสอบตำแหน่งของรถ ผมเชื่อว่าจะมีผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น" เขายกตัวอย่างรถบัสของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและขอนแก่นซิตี้บัสที่ใช้เทคโนโลยีในการติดตามเส้นทาง นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการให้บริการฟรีในจุดเชื่อมต่อสำคัญภายในเขตเทศบาล ซึ่งประชาชนสามารถจอดรถยนต์และใช้บริการขนส่งสาธารณะแทน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการมากขึ้น

ในปัจจุบัน มีการแก้กฎกระทรวงเพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถเข้ามาเป็นผู้ประกอบการขนส่งได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐส่วนกลาง ขอนแก่นขอนแก่นมีรายได้จากการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับขนส่งประมาณ 800 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาระบบขนส่ง อย่างไรก็ตาม ท้องถิ่นยังต้องจัดสรรงบประมาณนี้เพื่อดูแลด้านอื่น ๆ ของประชาชนด้วย

ในส่วนของการออกใบอนุญาตสำหรับรถโดยสารสาธารณะ หากรถหรือสายไหนไม่วิ่งตามเงื่อนไข พงศ์ธรกล่าวว่าจะถือว่าผิดเงื่อนไขการเดินรถ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการลดจำนวนเที่ยวรถในบางเส้นทางเนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการลดลง แต่เส้นทางที่รับส่งนักเรียนในช่วงเวลาเร่งด่วนยังมีผู้โดยสารหนาแน่น สะท้อนให้เห็นว่ารถโดยสารสาธารณะยังมีความจำเป็น และการควบคุมมาตรฐานการเดินรถเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารยังคงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ

เอกชนเดินรถแบกรับต้นทุนขนส่ง

 

เครื่องเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติบนรถโดยสารขอนแก่นซิตี้บัส

(ที่มา: แฟ้มภาพ/สมานฉันท์ พุทธจักร)

พิกุล มหานาม นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า ปัญหาหลักของระบบรถโดยสารคือการพัฒนาที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งผู้ประกอบการรายเดียวไม่สามารถรับภาระได้ จึงต้องเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมบริการ แต่การให้บริการในลักษณะนี้ยังมีต้นทุนสูง เช่น เจ้าของรถต้องเติมน้ำมันวันละ 500 บาท แต่ละวันอาจได้ผู้โดยสารเพียง 8 คน ค่าโดยสารต่อคนอยู่ที่ 11 บาท แต่รายได้ต่อวันเพียง 88 บาท ไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ ขณะที่ภาครัฐไม่ได้ช่วยเหลือแบกรับต้นทุนใดๆ

เมื่อเกิดโควิด-19 ระบบรถโดยสารหยุดชะงัก ผู้ประกอบการจึงไม่สามารถดำเนินกิจการได้ นอกจากนี้ การขออนุญาตเส้นทางก็มีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทุก 7 ปี โดยเฉลี่ยตกปีละ 1,000 บาท

ปัจจุบัน ขนส่งจังหวัดขอนแก่นกำลังดำเนินแผนพัฒนารถโดยสารประจำทาง หมวด 1 และ หมวด 4 แผนนี้ได้รับการนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดแล้ว เป้าหมายคือเพื่อฟื้นฟูเส้นทางที่ใช้มาแล้ว 30-40 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับผังเมืองปัจจุบัน บางเส้นทางเคยมีผู้ประกอบการขอวิ่งรถวันละ 300-400 เที่ยว แต่เมื่อไม่สามารถให้บริการได้ก็ต้องปรับลดเที่ยวรถ ส่วนเส้นทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟก็มีแผนจะเพิ่มเส้นทางให้เพียงพอ

เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระหว่างการรอแผนพัฒนา ขนส่งจังหวัดขอนแก่นได้จัดตั้ง "คลินิกขนส่ง" ให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหา รวมถึงจัดสัมมนาและอบรมประจำปีเพื่อพัฒนาความรู้ให้ผู้ประกอบการ ขนส่งยังบันทึกข้อมูลเส้นทางและเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ แม้ในโซเชียลมีเดียจะยังไม่อัปเดตมากนัก แต่ทางขนส่งก็พยายามกระจายข้อมูลในช่องทางอื่น ๆ อย่างเต็มที่

กฎหมายและอำนาจหน้าที่คุมขนส่งท้องถิ่น

ในการดำเนินงานขนส่งสาธารณะในประเทศไทย จะมีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลาง ทำหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของรถโดยสารหมวด 2 ที่ให้บริการเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงหมวด 3 ที่ให้บริการรถโดยสารระหว่างจังหวัด ขณะที่ในระดับท้องถิ่น คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดจะทำหน้าที่ดูแลการขนส่งภายในจังหวัดเอง

สำหรับจังหวัดและภูมิภาค คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดมีหน้าที่กำกับดูแลรถโดยสารหมวด 1 ซึ่งให้บริการเส้นทางภายในเขตเทศบาล สุขาภิบาล และเส้นทางต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ควบคุมรถโดยสารหมวด 4 ซึ่งครอบคลุมเส้นทางระหว่างอำเภอภายในจังหวัด

ตามที่ระบุในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก มาตรา 20 คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดได้รับอำนาจในการดำเนินงานในหลายด้าน เช่น การกำหนดเส้นทางการเดินรถ การควบคุมจำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และการกำหนดจำนวนรถที่ใช้ในการให้บริการขนส่งสาธารณะ รวมถึงมีอำนาจกำหนดอัตราค่าขนส่งและค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ คณะกรรมการยังต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก และมติของคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง

การกำกับดูแลในระดับท้องถิ่นนี้มีความสำคัญในการทำให้ระบบขนส่งสาธารณะสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่

ข้อมูลในเดือนกรกฎาคม 2567 จังหวัดขอนแก่นมีเส้นทางเดินรถโดยสารรวมทั้งหมด 147 เส้นทาง อย่างไรก็ตาม มีจำนวน 46 เส้นทางที่ไม่มีผู้ประกอบการ ในหมวด 1 ซึ่งประกอบไปด้วยเส้นทางเดินรถผ่านสถานีขนส่งขอนแก่น และเดินรถภายในเขตเทศบาล สุขาภิบาล เมือง และเส้นทางต่อเนื่อง มีเส้นทางทั้งหมด 27 เส้นทาง แต่ไม่มีผู้ประกอบการใน 6 เส้นทาง ส่วนในหมวด 2 ที่เป็นเส้นทางรถไปกรุงเทพฯ มีเพียง 1 เส้นทาง ในขณะที่หมวด 3 ซึ่งครอบคลุมรถระหว่างจังหวัด มีเส้นทางเดินรถทั้งหมด 71 เส้นทาง แต่ไม่มีผู้ประกอบการใน 26 เส้นทาง หมวด 4 ซึ่งเป็นเส้นทางรถระหว่างอำเภอ มีจำนวน 49 เส้นทาง โดยไม่มีผู้ประกอบการใน 14 เส้นทาง

การพัฒนาระบบขนส่งของขอนแก่นครอบคลุมการปรับปรุงรถโดยสารประจำทางหมวด 1 และหมวด 4 รวมทั้งหมด 76 เส้นทาง โดยแบ่งเป็นเส้นทางในหมวด 1 จำนวน 27 เส้นทาง และในหมวด 4 จำนวน 49 เส้นทาง การพัฒนาเหล่านี้มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 6 ด้าน ประการแรกคือการกำหนดมาตรการและแนวทางในการปรับปรุงรถโดยสารเพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการ ประการที่สองคือการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพในการประกอบการขนส่ง ประการที่สามมุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ ผู้ขับรถ และผู้โดยสาร

ประการที่สี่คือการปรับปรุงระบบการให้บริการข้อมูลขนส่งสาธารณะให้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น สุดท้ายคือการส่งเสริมการขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของแผนปฏิบัติการ แบ่งออกเป็น 7 ด้านที่สำคัญ โดยด้านแรกคือการปรับปรุงเส้นทางการเดินรถในหมวด 1 และหมวด 4 ด้านที่สองคือการทบทวนเงื่อนไขในการเดินรถ ด้านที่สามเน้นไปที่การปรับอัตราค่าโดยสารให้เหมาะสม ด้านที่สี่เกี่ยวกับการสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการขนส่ง ด้านที่ห้าคือการพัฒนาคุณภาพของตัวรถ ผู้ขับรถ และผู้ประจำรถ ส่วนด้านที่หกมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะกับจุดจอด จุดรับส่ง และจุดเชื่อมต่ออื่นๆ สุดท้ายด้านที่เจ็ดคือการจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบขนส่ง

สถานีขนส่งขอนแก่น ในความรับผิดชอบของ อบจ.

 

รถโดยสารขอนแก่นซิตี้บัส ณ จุดจอด บขส. ขอนแก่นแห่งที่ 3 

(ที่มา: นันท์พนิตา สุขิตกุลพฤทธิพร)

สถานีขนส่งในจังหวัดขอนแก่นที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น (อบจ.) มีทั้งหมด 4 แห่ง ประกอบไปด้วย สถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่นแห่งที่ 3 สถานีขนส่งอำเภอชุมแพ สถานีขนส่งอำเภอบ้านไผ่ และสถานีขนส่งอำเภอภูเวียง อบจ. มีหน้าที่ดูแลให้สถานีขนส่งเหล่านี้ได้มาตรฐาน สะอาด สะดวก และปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งประสานงานกับหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาระบบการขนส่ง เช่น โครงการออกแบบระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit: BRT) ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่ อบจ. ขอนแก่นร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง เคเคทีที จำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

อบจ.ขอนแก่นมีบทบาทสนับสนุนด้านการวิจัยในโครงการนี้ โดยไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานทั้งหมด แต่เข้าร่วมการประชุมในฐานะคณะกรรมการจัดระบบจราจร ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดปัญหาการจราจรในเขตเมืองและชุมชน ภาระงานหลักของอบจ. คือการดูแลสถานีขนส่งให้เป็นไปตามมาตรฐาน ในขณะที่การดำเนินโครงการ BRT จะมีเทศบาลนครขอนแก่นเป็นผู้นำหลัก

ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ที่กำลังดำเนินการโดย "5 ทหารเสือ" ซึ่งเป็นกลุ่มเทศบาลที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการนี้ อบจ. ขอนแก่นไม่ได้มีส่วนร่วมและไม่มีอำนาจในการดูแลด้านขนส่งสาธารณะเช่นเดียวกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ของกรุงเทพมหานครฯ

อบจ.ขอนแก่นยังมีข้อจำกัด แต่พร้อมเสมอถ้าถ่ายโอนงบประมาณและภารกิจ

 

สุภาพร ภูเงิน ผู้อำนวยการขนส่งจังหวัดขอนแก่น ตัวแทนนายก อบจ.ขอนแก่น

(ที่มา: นันท์พนิตา สุขิตกุลพฤทธิพร)

สุภาพร ภูเงิน ผู้อำนวยการกองกิจการขนส่ง อบจ. ขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบัน อบจ. ขอนแก่นยังไม่มีบริการขนส่งสาธารณะระหว่างอำเภอ มีเพียงรถสองแถวขนาดเล็กที่ผู้ประกอบการเอกชนให้บริการเท่านั้น หน้าที่หลักของ อบจ. ที่เกี่ยวกับขนส่งก็คือการดูแลสถานีขนส่งผู้โดยสารเพื่อเป็นจุดจอดและจุดรับส่งสำหรับรถทุกประเภท เช่น รถทัวร์ รถบัส รถแท็กซี่ และรถสองแถว สถานีขนส่งทั้ง 4 แห่งที่ อบจ. ดูแลอยู่เป็นภารกิจที่ถ่ายโอนมาจากกรมการขนส่งทางบก

สุภาพรยังระบุว่า การสร้างสถานีขนส่งใหม่ในขอนแก่นจำเป็นต้องมีการศึกษาและวิจัยความต้องการของประชาชนอย่างละเอียดเพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นสถานีร้าง แต่เนื่องจากยังไม่มีงบประมาณจากภาครัฐสำหรับการสนับสนุนการวิจัย การถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณเพิ่มเติมจะทำให้ อบจ. สามารถดำเนินการได้ทันที

สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีสถานีขนส่ง ผู้ประกอบการจะกำหนดจุดจอดเองตามเงื่อนไขของใบอนุญาต จุดจอดบางแห่งเป็นเพียงป้ายทางหลวงทั่วไป แม้กฎหมายจะกำหนดให้จอดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีขนส่ง แต่ในความเป็นจริงมีการรับส่งผู้โดยสารนอกจุดจอด ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายและส่งผลต่อรายได้ของ อบจ. ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้

อบจ. ขอนแก่นมีรายได้หลักจากการเก็บค่าจอดรถที่มาจอดในสถานีขนส่ง ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2567 ได้ปรับค่าจอดสำหรับรถขนาดใหญ่เป็น 30 บาทต่อเที่ยว ส่วนรถขนาดเล็กยังคงเสียในอัตรา 2-15 บาท การตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการเป็นความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่จาก อบจ. และขนส่งจังหวัด ในกรณีที่ผู้ประกอบการฝ่าฝืนข้อกำหนด อบจ. จะประสานงานกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

แม้ อบจ. ขอนแก่นจะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่สุภาพรย้ำว่า อบจ. พร้อมที่จะปรับปรุงการให้บริการขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่อง หากได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ ปัจจุบันสถานีขนส่งทุกแห่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้บริการ เช่น ที่นั่งพัก ห้องสุขา และการดูแลความสะอาด

ปัญหาที่พบในสถานีขนส่งคือการมีบุคคลไร้บ้านและสุนัขจรจัด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร อบจ. ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ การรักษาความสะอาดและความปลอดภัยในสถานีขนส่งเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการของประชาชน

โจทย์ขนส่งสาธารณะตอบโจทย์ผู้โดยสารและเป้าหมาย “เมืองอัจฉริยะ”

การพัฒนา "ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ" ไม่ได้หมายถึงแค่การนำเทคโนโลยีหรือโครงสร้างพื้นฐานมาใช้เท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยการจัดการงบประมาณและทรัพยากรในระดับท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ปัญหาหลักคือการที่งบประมาณยังไม่ถูกกระจายลงมาถึงท้องถิ่นอย่างเพียงพอ ทำให้จังหวัดไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริง เช่น การศึกษาวิจัย การสร้างงาน และโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ การกำหนดนโยบายจากส่วนกลางที่มักล่าช้าก็เป็นอุปสรรคสำคัญ การกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่น รวมถึงการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและเอกชน จะช่วยพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและสนับสนุนให้ขอนแก่นเติบโตเป็นเมืองอัจฉริยะที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net