Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้และ ICJ ออกแถลงการณ์วันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล ติงไทยให้คำมั่นสัญญาป้องกันและปราบปรามการทรมานบนเวทีนานาชาติแต่ไม่ปฏิบัติตาม พร้อมวิดีโอคลิปวงคุย พ.ร.บ. (ป้องกันและต่อต้านการทรมานฯ) ยังไม่มี ความยุติธรรมยังไม่มา.....

26 มิ.ย. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ออกแถลงการณ์ร่วม แสดงความยินดีที่ไทยให้คำมั่นสัญญาในเวทีนานาชาติว่าจะป้องกันและปราบปรามการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศ เนื่องใน "วันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล" หรือ "วันต่อต้านการทรมานสากล" ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี และในโอกาสใกล้ครบรอบ 10 ปีที่ไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ 

อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้และ ICJ พบว่าคำมั่นสัญญาต่างๆ ของทางการไทยเป็นเพียงเอกสารที่ยังไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริงแต่อย่างใด โดยเฉพาะการผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย (พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย) ซึ่งถูกทำให้ล่าช้าซ้ำแล้วซ้ำอีก
 
"ปัจจุบัน มีการใช้กฎหมายและคำสั่งต่างๆ ที่เปิดช่องให้ประชาชนถูกทหารควบคุมตัวได้โดยไม่มีคำสั่งศาล ไม่สามารถเข้าถึงทนาย ครอบครัว หรือความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้นานถึงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งข้อมูลของเราพบว่าการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐมักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว" ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผย
 
การทรมานโดยเจ้าหน้าที่ในประเทศไทยแทบจะไม่ได้รับการสอบสวนอย่างทันท่วงที อิสระ และเป็นกลางตามมาตรฐานระหว่างประเทศ มีการลอยนวบพ้นผิดมากมาย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เสียหาย ญาติของผู้เสียหาย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานยังถูกคุกคามทางกฎหมายจากการฟ้องร้องหมิ่นประมาทอีกด้วย
 
แอมเนสตี้พร้อมกับ ICJ เรียกร้องให้ทางการไทยผ่าน พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย สอบสวนการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างอิสระ โปร่งใส และเป็นกลาง นำตัวผู้กระทำผิดควรถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในศาลพลเรือน ตลอดจนกำหนดกลไกป้องกันการทรมานระดับประเทศ และอนุญาตให้คณะกรรมการต่อต้านการทรมานระหว่างประเทศเข้าตรวจเยี่ยมด้วย

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ฯ และองค์กรพันธมิตรจัดวงเสวนาหัวข้อ พ.ร.บ. (ป้องกันและต่อต้านการทรมานฯ) ยังไม่มี ความยุติธรรมยังไม่มา..... โดยสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส มูลนิธิประสานวัฒนธรรม อิสมะแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี สมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาของผู้ที่กล่าวอ้างว่าถูกทรมาน และวิลาวัล เกิดแก้ว น้องสาวของผู้ที่กล่าวอ้างว่าถูกทรมาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net