ศาลยกฟ้อง-กรณีลูกจ้างไทรอัมพ์ฯ ชุมนุมรัฐสภาปี 52 เตรียมฟ้องกลับ จนท.

<--break->
ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีคนงานไทรอัมพ์ฯ ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง สมัย รบ.อภิสิทธิ์ ชี้แม้การชุมนุมส่งผลต่อการจราจรถือเป็นวิธีที่ไม่เหมาะ คนงานมีเจตนาเพียงยืนหนังสือ จึงไม่ใช่การก่อความวุ่นวายฯ จิตรา เผย เตรียมฟ้องกลับ จนท. รอคัดคำพิพากษายื่นกรรมการสิทธิฯ ต่อ

คนงานไทรอัมพ์ฯ ชุมนุมหน้ารัฐสภาก่อนแกนนำถูกดำเนินคดี   ( 27 ส.ค.52 )
 
วันนี้ (11 ก.ค.56) ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.จิตรา คชเดช  น.ส.บุญรอด สายวงศ์ และนายสุนทร บุญยอด อดีตผู้นำแรงงาน ในความผิดฐานมั่วสุมกันก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 ว่าด้วยการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป จากกรณีที่คนงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ชุมนุมประท้วงหน้ารัฐสภา สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552 

โดยประเด็นที่ศาลพิจารณา คือโจทก์ฟ้องจำเลยว่า ชุมนุมปิดถนน ปิดประตูทำเนียบ ทางออกที่ 4 ปิดทางเข้ารัฐสภา ปิดช่องทางเดินรถหลายช่องทางไม่ให้รถผ่าน ทำให้การจราจรติดขัด ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อน ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งเป็นการก่อความไม่สงบ

จากการนำสืบ ศาลพิจารณาจากพยานโจทก์ที่เป็นตำรวจซึ่งเบิกความว่า เมื่อผู้ชุมนุมยื่นหนังสือเสร็จก็กลับ ตรงกับที่พยานโจทก์ที่เป็นตำรวจอีกราย เบิกความว่า ผู้ชุมนุมแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่แล้วว่าจะมาชุมนุม และเบิกความว่าไม่ได้มีการทำร้ายร่างกาย เมื่อยื่นหนังสือร้องเรียนเสร็จก็กลับ

กรณีที่ฟ้องว่าจำเลยปิดช่องทางจราจร ซึ่งในคดีมีการกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมได้นำแผงเหล็กมากั้นนั้น พยานโจทก์ที่เป็นตำรวจเบิกความว่า แผงเหล็กที่ถนน ตำรวจเอามาเอง ศาลพิจารณาแล้วน่าเชื่อว่าแผงเหล็กนี้เป็นของตำรวจมากกว่าของลูกจ้าง ซึ่งตำรวจเอามาเพื่อจำกัดขอบเขตการชุมนุม เพื่อรักษาความปลอดภัย

ส่วนประเด็นที่บอกว่ามีการปิดช่องทางจราจร ศาลพิจารณาจากเอกสารภาพถ่ายพบว่า ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากกว่า 300 คน การใช้ช่องทางหลายช่องทางเกิดจากการรวมตัวกันตามสภาพ และจากภาพถ่าย ผู้ชุมนุมไม่ได้ใช้ช่องทางทั้งหมด และยังมีช่องทางจราจรที่ใช้ได้

ส่วนการที่มายื่นหนังสือ แม้ว่าจะส่งผลต่อการจราจรก็ถือเป็นการใช้วิธีที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น ยังไม่ถือเป็นการก่อความวุ่นวาย และดูที่เจตนาว่ามายื่นหนังสือถึงผู้มีอำนาจให้เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา โดยก่อนหน้านี้เคยมายื่นหนังสือแล้วไม่คืบหน้า ผู้ชุมนุมเลยเดินทางมาเพื่อขอทราบความคืบหน้า และเมื่อยื่นเสร็จแล้วก็กลับ ไม่ได้มีการทำร้ายร่างกาย ไม่เป็นความผิดอาญาตามมาตรา 215 ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสาม

นายสุนทร บุญยอด(ซ้าย) น.ส.บุญรอด สายวงศ์(กลาง) และ น.ส.จิตรา คชเดช(ขวา)

สุนทร บุญยอด กล่าวว่า แม้ศาลจะยกฟ้องคดีนี้ แต่มองว่าคำตัดสินจะมีผลต่อการชุมนุมในอนาคต โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือคนที่ไม่พอใจกับการชุมนุมอาจหยิบเรื่องการปิดถนนมาใช้จัดการได้ นอกจากนี้ จากคำพิพากษา ซึ่งมีการพิจารณาถึงจำนวนผู้ชุมนุม ต่อไปหากมากันจำนวนน้อยก็เสี่ยงต่อการถูกฟ้องได้

จิตรา คชเดช กล่าวว่า คำตัดสินคดีนี้ถือเป็นการสร้างมาตรฐานว่า การชุมนุมโดยสงบ และมีข้อเรียกร้องชัดเจน ต่อไปจะไม่ถูกตำรวจนำมาแจ้งจับโดยง่าย อย่างไรก็ตาม กังวลว่า ต่อไปถ้าผู้ชุมนุมมีจำนวนน้อยอาจถูกฟ้องได้ โดยกรณีของตัวเองนั้น ผู้ชุมนุมมาจากหลายสถานประกอบการ คนจึงเยอะ แต่บางกรณีปัญหา คนอาจจะไม่เยอะเท่าไหร่ จึงอาจต้องเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุมใหม่

"เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา รัฐบาลต้องเตรียมหน่วยงานรับผิดชอบ ลงพื้นที่โดยตรง  ผู้ชุมนุมอาจไม่ได้ต้องมาที่ทำเนียบหรือรัฐสภา เพราะแค่ต้องการให้แก้ปัญหาเท่านั้น" จิตรากล่าว

จิตรา เปิดเผยด้วยว่า หลังประชุมปรึกษาหารือกับทีมทนายความ ต่อจากนี้จะดูรายละเอียดทั้งหมดและฟ้องกลับตำรวจทุกประเด็น ทั้งเรื่องการทดลองใช้เครื่องขยายเสียงระดับไกล หรือ LRAD ของเจ้าหน้าที่ต่อคนงาน เรื่องทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง การละเมิดสิทธิ ฯลฯ ทั้งนี้รอคัดคำพิพากษา แล้วจะไปยื่นให้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคงจะได้เปิดประเด็น รายงานของกรรมการสิทธิฯ ต่อกรณีนี้ พร้อมจัดเสวนาประเด็นนี้ต่อไป

บุญรอด สายวงศ์ อดีตเลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพฯ กล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า จากคำพิพากษาทำให้แรงงานจะออกมาต่อสู้สิทธิของตัวเองได้ รวมถึง ก่อนหน้านี้มีความเชื่อว่าศาลจะไม่ลงเพราะเราไม่ได้ทำผิดจริงๆ 

ทั้งนี้ปัจจุบัน บุญรอด ไม่ได้เป็นเลขาธิการสหภาพแรงงานฯ โดยบุญรอดเปิดเผยว่าต่อจากนี้ก็จะร่วมกับเพื่อนอดีตคนงานไทรอัมพ์ฯ ผลิตกางเกงชั้นในกับกลุ่มสหกรณ์คนงานธาร์ยอาร์ม ที่เป็นอดีตคนงานไทรอัมพ์ฯ ที่ถูกเลิกจ้างแล้วรวมตัวกันผลิตสินค้าต่อไป

อนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216 มีรายละเอียดว่า มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

หมายเหตุ: ประชาไทจะรายงานเพิ่มเติมต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท