Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางการปั่นข้อกล่าวหาเรื่องการเคลื่อนไหวแบ่งแยกประเทศในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการเชื่อมโยงชื่อของกลุ่ม “สปป.ล้านนา” ที่ชื่อเต็มคือ “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยล้านนา” ว่าเป็นชื่อของ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชาชนล้านนา” แต่หากย้อนกลับไปจะพบจุดเริ่มต้นของกระแสข่าวดังกล่าวว่าเริ่มต้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่มีผู้สนับสนุนเดินทางไปให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศูนย์จัดแสดงสินค้าโอท็อป อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และในบรรดาผู้ไปให้กำลังใจดังกล่าวได้คาดผ้าสีขาวที่ศีรษะ เขียนข้อความว่า “สปป.ลานนา”

โดยในรายงานของ เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ ระบุว่า สปป.ล้านนา หมายถึง “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนล้านนา” โดยระบุว่ามาจากการสอบถามกับคนที่มาร่วมขบวนดังกล่าว อย่างไรก็ตามไม่มีการเปิดเผยแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจนแต่อย่างใด

จากนั้น กลุ่มสื่อมวลชนบางฉบับได้ร่วมกันตีข่าวดังกล่าว เชื่อมโยงกับการขึ้นป้ายผ้าขอแยกประเทศล้านนา ที่ จ.เชียงราย จ.พะเยา และ จ.พิษณุโลก ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน และในวันที่ 1 มีนาคม รายงานใน หนังสือพิมพ์คมชัดลึก อ้างว่าได้สัมภาษณ์เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล แกนนำ นปช. กลุ่ม "รักเชียงใหม่ 51" ในรายงานอ้างว่าเพชรวรรตได้ระบุว่า มีการหารือเรื่องการแยกประเทศล้านนามาแล้ว 6 เดือน

ทั้งหมดนี้ นำไปสู่การขยายผลนำไปใช้โจมตีทางการเมือง เช่น การปราศรัยบนเวทีชุมนุมของ กปปส. การขึ้นป้ายคัดค้านการแยกประเทศในหลายจังหวัด และกระทั่งทางกองทัพได้เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแจ้งความเอาผิดทางกฎหมาย ในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน กับนายเพชรวรรต และกลุ่มที่ใช้ชื่อว่าสปป.ล้านนา

จนนำไปสู่การออกมาชี้แจงของ "สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย" หรือ สปป. ส่วนกลาง ว่าชื่อย่อ “สปป.ล้านนา” นั้นย่อมาจาก “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยล้านนา” มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนแนวทางของ สปป. คือสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2556 ไม่มีนโยบายแบ่งแยกดินแดนใดๆ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาเพชรวรรตได้แถลงข่าวปฏิเสธว่านำเสนอข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนไปจากที่ให้สัมภาษณ์ และยืนยันว่าไม่มีแนวคิดแบ่งแยกประเทศ และไม่ใช่แกนนำกลุ่ม สปป.ล้านนา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

หากแต่ภายใต้กระแสข่าวดังกล่าว แทบไม่มีสื่อฉบับใดย้อนกลับไปตรวจสอบ หรือหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จากมุมมองของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวและโพกผ้าสีขาว “สปป.ลานนา” ในเหตุการณ์ที่สันกำแพง อันเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงกลายเป็นประเด็นเรื่องการแยกประเทศ

ล่าสุด ประชาไทมีโอกาสพูดคุยกับหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยล้านนา สันกำแพง” หรือ “สปป.ล้านนาสันกำแพง” สอบถามว่าด้วยที่มาที่ไปของกลุ่ม แนวคิดในการเคลื่อนไหว และเหตุการณ์ที่นำไปสู่ข้อกล่าวหาเรื่องการแบ่งแยกดินแดน

000

สปป.ล้านนา เริ่มจากให้กำลังใจนักวิชาการ สปป. ส่วนกลาง
และจัดกิจกรรมสนับสนุนการเลือกตั้งในพื้นที่

สิงห์ ก้างออนตา พื้นเพจากชาวนา ปัจจุบันประกอบอาชีพช่างทำกระดาษสา และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของกลุ่มว่าตั้งขึ้นครั้งแรกจากที่สมาชิกในอำเภอสันกำแพง 4-5 คน ได้ไปร่วมเวทีเสวนาเกี่ยวกับการเลือกตั้งและประชาธิปไตย ที่มีนักวิชาการจาก “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย” หรือ สปป.ส่วนกลาง มาอภิปรายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556 จากการเห็นด้วยกับหลักการของกลุ่มนักวิชาการดังกล่าว จึงได้มีการประกาศตั้งเป็นกลุ่ม สปป.ล้านนา ร่วมกันกับกลุ่มที่มาจากทางลำพูน และได้แจ้งทางนักวิชาการ สปป.ส่วนกลาง ถึงการตั้งกลุ่มในพื้นที่ด้วย

แต่ในตอนแรกนั้นทางสันกำแพงยังไม่ได้มีมวลชนร่วม จึงได้มีชักชวนคนและทำการแถลงก่อตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการอีกครั้งบริเวณวัดป่าตาล ในพื้นที่อำเภอสันกำแพง เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2557 โดยมีการตั้งโต๊ะรับสมัครสมาชิกในระหว่างแถลงก่อตั้งกลุ่ม รวมทั้งยังมีการปรับไปใช้ชื่อย่อเป็น “สปล.” สลับไปมากับ “สปป.ล้านนา” ด้วย

(บน) ภาพการแถลงก่อตั้งกลุ่มสปป.ล้านนา สันกำแพง เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2557 จะเห็นว่ามีการใช้ชื่อย่อทั้ง สปป.ล้านนา และ สปล. และ (ล่าง) ภาพสัญลักษณ์ของกลุ่มที่ใช้ในเพจเฟซบุ๊ค (ที่มา: เพจสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยลานนา สันกำแพง)

 

ต่อมากลุ่มยังได้มีการจัดกิจกรรมแรลลี่รถจักรยานยนต์ เพื่อไปมอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.อ.สันกำแพง หรือจัดกิจกรรมปล่อยโคมพันดวงสนับสนุนประชาธิปไตย พร้อมกับจัดเสวนารณรงค์การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งครั้งนั้นเตรียมเชิญนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล มาร่วมเสวนาด้วย แต่นายเพชรวรรตไม่ได้มาร่วม

ก่อนการเลือกตั้งยังได้จัดกิจกรรม “เผาข้าวหลาม กิ๋นข้าวงาย แล้วไปปกป้องประชาธิปไตย” โดยสมาชิกร่วมกันเผาข้าวหลามและกินข้าวเช้าร่วมกัน ก่อนแยกย้ายกันไปประจำตามเขตเลือกตั้งในพื้นที่ เพื่อสังเกตการณ์การทุจริตในการเลือกตั้งและป้องกันการก่อเหตุร้ายในระหว่างการเลือกตั้งด้วย

สิงห์กล่าวว่าทางกลุ่ม สปป.ล้านนาสันกำแพงมีแต่อุดมการณ์ ไม่ได้มีเงินมาจากทางใด และมีแนวทางไม่ยุ่งเกี่ยวกับนักการเมือง ในการทำกิจกรรมมีแต่ “การฮอม” หรือระดมค่าใช้จ่ายต่างๆ กันเอง หรือไปไหนก็เติมน้ำมันกันเองของใครของมัน และไม่มีการจ้างคนไปร่วมหรือไปทำกิจกรรมใดๆ

ทั้งนี้ทางกลุ่มใช้วิธีให้ทุกคนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ว่ากลุ่มเป็นของคนใดคนหนึ่ง โดยมีแกนนำหรือผู้ประสานงานที่ประชุมกันหลักๆ ราว 20 คน และกระจายสมาชิกไปยังหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ประกอบอาชีพผู้รับเหมา ทำธุรกิจส่วนตัว ทำผ้า ชาวไร่ชาวนา หรือรับจ้างต่างๆ

ส่วนทางด้านกลุ่มสปป.ล้านนาที่จังหวัดลำพูน ซึ่งถูกตั้งมาพร้อมกันนั้น ก็มีการดำเนินกิจกรรมของตนเองไป โดยไม่ได้มีการชี้นำกัน และมีลักษณะเป็นอิสระต่อกัน ในลักษณะต่างคนต่างทำ (ดูบทสัมภาษณ์สมาชิกกลุ่ม สปป.ล้านนาในพื้นที่อื่นที่ตีพิมพ์ในมติชนออนไลน์)

 

ชุมพล เจษฎาพร พ่อค้าขายอาหารสัตว์ และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการก่อตั้งกลุ่ม สปป.ล้านนา เกิดจากการที่รับฟังทางนักวิชาการส่วนกลางพูดและนำเสนอ จึงคิดว่าสามารถอาศัยส่วนนี้เป็นความคิดและมันสมองได้ ส่วนกลุ่มในพื้นที่ก็มาแปรรูปความคิดสู่การเคลื่อนไหวประชาชนในหมู่บ้าน โดยเน้นแนวทางสันติวิธี ไม่ใช่ฮาร์ดคอร์ เน้นการแสดงตัวและเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ตำบลหมู่บ้านที่อยู่ ไม่เน้นเคลื่อนไหวออกนอกพื้นที่ ส่วนคนที่มารวมกลุ่มมีทั้งคนที่เป็นเสื้อแดง และกลุ่มที่ไม่เคยร่วมกับเสื้อแดงมาก่อนเลย การรวมกลุ่มจึงไม่ได้เน้นเรื่องสีเสื้อแต่อย่างใด คนสีเสื้อใดก็เข้ามาในพื้นที่ได้

ภาพกิจกรรมช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557
(ที่มา: เพจสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยลานนา สันกำแพง)

000

ความคิดทางการเมือง: ไม่เน้นตัวบุคคล เน้นนโยบาย

สิงห์ ก้างออนตา ยืนยันว่าตนไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงมาก่อนเลย และแม้แต่ในเสื้อแดงเอง เท่าที่สัมผัสก็มีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ขึ้นกับพรรคการเมือง หรือมีผลประโยชน์ต่างๆ และกลุ่มที่ “เลือกข้าง แต่ไม่เข้าข้าง” คือเมื่อพรรคหรือแกนนำทำผิด เราก็ไม่เอาคุณ ต้องวิพากษ์วิจารณ์ด้วยได้

“เราจะไม่เน้นที่ตัวบุคคล ไม่ใช่ว่าเอาทักษิณ หรือยิ่งลักษณ์ แต่เราเน้นที่นโยบาย และการอยู่ในระบบประชาธิปไตย จะเป็นพรรคอะไรก็ได้ ถ้าทำดีกว่านี้และอยู่ในระบบประชาธิปไตย ตรวจสอบได้ 4 ปี เราเลือก ไม่ได้ยึดติดที่บุคคล แต่ส่วนที่เห็นจากเพื่อไทยคือนโยบาย เราได้ประโยชน์จริง เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน หรือสวัสดิการสูงอายุ...แล้วผมเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องมีอยู่ ไม่ใช่ว่าไปสู้จนพรรคประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ ถ้าไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีถ่วงดุล เราก็ไม่มีความหมายอะไร คิดว่าการถ่วงดุลต้องมี”

สิงห์กล่าวว่าสิ่งที่ตนอยากเห็นจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ คือการสร้างระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย คนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน มีความโปร่งใส่ตรวจสอบได้ อย่างในกรณีศาลหรือกองทัพก็ต้องถูกตรวจสอบ

“ผมเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยมันเป็นระบบการเรียนรู้ของประชาชน เรียนรู้แล้วพัฒนา เหมือนอย่างเรื่องทักษิณ ตอนแรกเราอาจจะเลือกอยู่ แต่ถ้าไปเรื่อยๆ เราก็รับรู้ สรุปบทเรียนว่า อ้อ ถ้าคนนี้มันไม่ดีแล้ว เราก็จะไล่เอง เราจะไม่เลือกเอง โดยมันไม่ต้องมาเสียเลือดเสียเนื้อ แต่ไล่ด้วยวิธีในระบบ”

ด้าน ชุมพล เจษฎาพร เห็นว่าแนวคิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มในขณะนี้ไม่ควรแข็งตัวเกินไป เช่น แยกพวกมึง-พวกกูจนเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวของทางนปช. ชุมพลเห็นว่านปช.มีลักษณะที่ใหญ่เกินไป และมีลักษณะที่ลงมาจากข้างบน ทำให้ไม่เกิดบรรยากาศประชาธิปไตย และกลุ่มต่างจังหวัดไม่ได้รับการขยายบทบาทมาก อีกทั้งตนก็เห็นด้วยกับเสื้อเหลืองในบางส่วนอีกด้วย

“เราเห็นด้วยกับฝ่ายเสื้อเหลืองหลายข้อ อย่างเช่นการปฏิรูปนักการเมืองน้ำเน่า เราเห็นด้วย ก็เห็นๆ ว่าส.ส.มันไม่สู้เลย แล้วให้มวลชนสู้แบบนี้ เราก็เห็นอยู่ พวกมาแอบกินผลประโยชน์จากประชาชน เราจึงเห็นด้วยกับการปฏิรูปนักการเมือง เพียงแต่เราไม่เห็นด้วยกับการนำไปสู่การทำลายระบบประชาธิปไตย”

000

ความเข้าใจผิดและการชี้แจงต่อข้อกล่าวหา

สิงห์ ก้างออนตา เล่าว่ากิจกรรมล่าสุดของกลุ่มที่โด่งดังจนกลายมาเป็นกระแสข่าว คือกรณีที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางมาเปิดศูนย์โอท็อปบริเวณข่วงสันกำแพงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ทางกลุ่มได้มีการจัดกิจกรรมแรลลี่รถจักรยานยนต์ไปให้กำลังใจ แต่ถูกทางนักข่าวจับไปเป็นประเด็นข่าวเรื่องชื่อกลุ่มอย่างบิดเบือน ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่รู้ว่าข่าวที่ลงนั้นเป็นการไปพูดคุยกับใคร โดยหลายคนพอได้ยินข้อกล่าวหาเรื่องการแยกดินแดนก็ตกอกตกใจ และบางคนถึงขนาดนอนไม่หลับ

“แยกดินแดนไม่มีหรอก ใครเอาไปคิดก็คิดบ้าๆ คิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ข้อกล่าวหานี้มันไม่จริง ใส่ร้ายป้ายสี หลายคนก็แค้น คุณอยากจะให้มันเป็นหรือ คุณสร้างแล้วคุณก็กลัวมัน เหมือนสร้างคอมมิวนิสต์ ผลสุดท้ายคุณก็กลัวคอมมิวนิสต์” สิงห์กล่าว

ภาพกิจกรรมแรลลี่รถจักรยานยนต์ให้กำลังนายกรัฐมนตรี โดยกลุ่ม สปป.ล้านนาสันกำแพงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ต่อมาถูกกล่าวหาว่าคำว่า “สปป.ล้านนา” หมายถึง “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนล้านนา”
(ที่มา: เพจสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยลานนา สันกำแพง)

 

วันชัย จอมทัน อดีตข้าราชการครู และเป็นผู้แถลงเปิดตัวกลุ่ม สปป.ล้านนาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556 กล่าวต่อว่า การออกข่าวโดยสื่อมวลชนและกองทัพบกขณะนี้ เป็นการบิดเบือนชื่อกลุ่ม สปป.ล้านนา ทั้งที่จริงคือ “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยล้านนา” ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนทาง สปป.ส่วนกลาง

ส่วนเรื่องการแบ่งแยกดินแดนไม่เคยมีการคิดหรือคุยเรื่องนี้กันมาก่อนในกลุ่ม โดยกลุ่มมีเป้าหมายในการเน้นเรื่องการปกป้องระบอบประชาธิปไตย ปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และคัดค้านการใช้อำนาจนอกระบบ เป็นไปได้ว่าอาจจะมีคนที่ไปโพสต์เรื่องทำนองนี้ลงในอินเทอร์เน็ท หรือมีกลุ่มที่ไปติดป้ายผ้า ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่เห็นว่าความคิดแบบนี้มีที่มาจากความรู้สึกที่ไม่ได้รับความยุติธรรม การถูกเอารัดเอาเปรียบ ก็เลยมีการคิดไปต่างๆ นานา และเป็นการระบายความอัดอั้นมากกว่า

ชุมพล เจษฎาพร ชี้แจงเพิ่มเติมว่าวันที่จัดกิจกรรมแรลลี่ให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี มีการเล่นขบวนรถและคนให้มีสีสัน โดยมีผ้าคาดศีรษะสีขาว มีธงสีแดงและสีขาวประดับ

“คนที่ไปด้วยกันมันเห็นกันหมด ไม่ได้พูดกันเรื่องแยกดินแดน แต่เรารู้ข่าวว่านายกรัฐมนตรี จะมา ก็ประชุมกันว่าพรุ่งนี้ลองไปให้กำลังใจหน่อยราวๆ 50 คันรถจักรยานยนต์ แล้วไปเขาก็ไม่ใช่ต้อนรับเราดีเท่าไรนะ เราไม่ได้อยู่ด้านหน้า ที่อยู่ด้านหน้าก็เป็นพวกคุณหญิงคุณนาย เราอยู่ข้างๆ คนเขาก็มาจ้อง แล้วสื่อมวลชนที่น้ำเน่าคอยปั้นข่าวโจมตี เป็นเรื่องที่เจ็บปวดนะ แต่เราก็ไม่อยากให้มวลชนไปเคียดแค้นกับสิ่งนี้ แต่ควรจะแผ่บุญแผ่กุศลไปให้เขา”

ชุมพลกล่าวว่าสื่อมวลชนยังบิดเบือนโดยการเอากลุ่ม สปป.ล้านนา ไปโยงกับป้ายผ้าที่มีการติดข้อความเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งทางกลุ่มไม่เคยเกี่ยวข้องด้วยและไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำ ส่วนป้ายที่กลุ่มเคยติดตั้งในอำเภอนั้น มีแต่ป้ายเรื่องรณรงค์การเลือกตั้ง และป้ายคัดค้านแนวทางของ กปปส. ซึ่งก็ทำจากเงินที่ระดมกันมาเอง

รวมทั้งกลุ่ม สปป.ล้านนายังไม่ได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับเพชรวรรต หรือกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 โดยกรณีนี้เป็นไปได้ว่านักข่าวอาจจะไปถามเพชรวรรตว่าคิดอย่างไรกับการแบ่งแยกดินแดน แล้วมีการเอาไปตัดแปะกับเรื่องชื่อ สปป. ที่เข้าใจผิดกันอยู่แล้ว

ป้ายที่จัดทำโดยกลุ่ม สปป.ล้านนาสันกำแพง ติดตั้งบริเวณริมถนนในอำเภอสันกำแพง


ส่วนกรณีที่ทางกองทัพขยายเรื่องและดำเนินการแจ้งความเอาผิดนั้น ชุมพลคิดว่าอาจจะเป็นเกมของทหารที่ต้องการจะรุกไล่ฝ่ายประชาธิปไตย และสร้างเงื่อนไขของการรัฐประหารหรือสงครามกลางเมือง เหมือนเมื่อก่อนที่มีการเอาข้อหาคอมมิวนิสต์มาใช้ มาอีกสมัยก็กล่าวหาเรื่องล้มเจ้า เพื่อทำลายภาพพจน์หรือปลุกกระแสคลั่งชาติขึ้นมา ตนคิดว่าเขาก็ไม่คิดว่าเราจะแยกประเทศหรอก แต่ก็หาเรื่องมาโจมตีสักอย่างหนึ่ง

“เราชัดเจนว่าเรื่องนี้ไม่ได้ทำอะไรผิด การตอบโต้นอกจากการชี้แจงแล้ว เราคิดว่าเราจะทำบุญที่วัด เพื่อปลดปล่อยอโหสิกับการกล่าวร้าย และเคลียร์ว่าเป็นการใส่ร้ายป้ายสี ไม่ต้องไปตอบโต้ด้วยความรุนแรง เขาอาจจะคิดได้บ้างว่าเราก็ล้างเคราะห์ให้เขาด้วย อภัยให้เขา”

ทางกลุ่ม สปป.ล้านนาสันกำแพง ได้แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่าในวันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคมนี้ทางกลุ่มจะจัดแถลงข่าวชี้แจงเรื่องข้อกล่าวหาเรื่องแบ่งแยกดินแดน และความเข้าใจผิดต่างๆ ต่อกลุ่ม สปป.ล้านนาอย่างเป็นทางการ บริเวณข่วงอำเภอสันกำแพง เวลาประมาณ 13.00 น. พร้อมกับจะมีการจัดกิจกรรมทำบุญล้างเคราะห์จากเหตุการณ์คราวนี้ ในวันเวลาที่จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net