อภิชาต-ธร-วัชรฤทัย: ป๋วยกับสังคมเศรษฐกิจไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน

9 มี.ค. 2559 ในงานรำลึก 100 ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ณ หอประชุมศรีบูรพา มธ. ท่าพระจันทร์ มีการนำเสนอบทความ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ "ป๋วยกับสังคมไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน" ในประเด็น "ป๋วยกับสังคมเศรษฐกิจไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน" มีหัวข้อ ดังนี้

(1) “เทคโนแครตกับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจไทย: แนวทางปฏิบัตินิยมแบบ ‘แมวไม่ว่าสีอะไร ขอให้จับหนูได้ก็พอ’”
โดย อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(2) “เหลียวหลังแลหน้าการพัฒนาชนบทไทย: จากแนวทางบูรณะชนบทสู่มุมมองจาก ‘ตัวกลางในการพัฒนา’”
โดย ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(3) “การศึกษากับการสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย: พัฒนาการและความท้าทายของสังคมไทย”
โดย วัชรฤทัย บุญธินันท์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ร่วมแลกเปลี่ยนโดย อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการอภิปรายโดย ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

000000

อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นำเสนอบทความในหัวข้อ “เทคโนแครตกับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจไทย: แนวทางปฏิบัตินิยมแบบ ‘แมวไม่ว่าสีอะไร ขอให้จับหนูได้ก็พอ’” โดยกล่าวถึงบทบาทของเทคโนแครตไทยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงปัจจุบัน ตอบสองคำถามสำคัญ เทคโนแครตรุ่นใหม่ต่างจากรุ่นป๋วยตรงไหน และรุ่นใหม่ควรปรับวิธีคิดในการทำงานอย่างไร

เราอาจแบ่งเทคโนแครตเป็น 3 รุ่น นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
หนึ่ง รุ่นป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ
สอง รุ่นเสนาะ อุนากูล ฯลฯ
สาม ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ฯลฯ

ต้องเข้าใจแบคกราวน์ความแตกต่างระหว่างรุ่น รุ่นหนึ่งประสบการณ์ทำงานแตกต่างจากรุ่นสอง ทำให้รุ่นสองตั้งคำถามระหว่างเทคโนแครตกับทหารน้อยกว่ารุ่นแรก รุ่นหนึ่งรักษาระยะห่างกับผู้มีอำนาจมาก เพราะเจอการใช้อำนาจฉ้อฉลจากผู้มีอำนาจโดยตรง ไม่ว่าสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือถนอม กิตติขจร

ส่วนรุ่นสองเริ่มทำงานเมื่อสฤษดิ์ลงหลักปักฐานแล้ว ทำให้เห็นว่าระบอบสฤษดิ์เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการรับใช้ประเทศชาติ เพราะยุคเผด็จการทหารรับแนวคิดเทคโนแครตไปปรับใช้อย่างรวดเร็ว

อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ช่วงรุ่นหนึ่งเป็นช่วงก่อร่างสร้างตัวของรุ่นสอง (สิบปีแรกของทศวรรษที่ 2500) มีลักษณะปฏิบัตินิยม ให้เป้าหมายที่ตัวเองบรรลุผลคำนึงถึงวิธีการน้อยกว่าเป้าหมายเอง และมีอิทธิพลทางนโยบายสูงเมื่อการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย แต่จะมีอำนาจน้อยเมื่อการเมืองเป็นประชาธิปไตย 

แนวทางปฏิบัตินิยมถ่ายทอดมาถึงรุ่นสี่ ความเสื่อมทรามของรุ่นสามโดยเฉพาะในธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดการเปิดเสรีทางการเงินที่ผิดพลาด วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำลายภาพของเทคโนแครตภาครัฐลงสิ้น หลังทักษิณขึ้นมามีอำนาจ นักการเมืองเป็นฝ่ายกำหนดเอง เทคโนแครตกลายเป็นช่างเทคนิค วิกฤตเรษฐกิจ ปี 2540 จึงเปิดให้ทีดีอาร์ไอมีบทบาท ผ่านตัวบุคคลอย่าง เสนาะ อุนากูล ปี 2527 นักวิชาการของทีดีอาร์ไอเป็นที่ปรึกษาของพลเอกเปรม ถึง 6 คน แต่ตอนนี้มันไม่เหมือนเดิมแล้ว

ความสัมพันธ์ระหว่างทีดีอาร์ไอกับรัฐบาลหลัง 2540 ทีดีอาร์ไอวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลทักษิณเผ็ดร้อนมาก จนทักษิณหาว่ามีอคติ เป็นขาประจำ หลังรัฐประหาร 2549 ประธานทีดีอาร์ไอ ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใช้นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอเป็นทีมงาน  ณ ปี 2557 ก็ยังมีผู้ที่บอกว่าไทยยังไม่พร้อมให้พรรคการเมืองกำหนดนโยบายอย่างเต็มที่

ท่าทีแบบปฏิบัตินิยม ก่อร่างสร้างขึ้นในรุ่นสอง สืบทอดถึงรุ่นสี่ ด้วยต้องการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยบรรลุถึงเป้าหมาย จึงพร้อมทำงานกับผู้มีอำนาจโดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรมของอำนาจ

กลุ่มบุคคลที่อ้างว่าใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญนำเสนอนโยบายสาธารณะผ่านการเมืองแบบเทคโนแครตนั้น เกษียร เตชะพีระ เคยวิจารณ์ว่า เขาเหล่านี้คำนึงถึงแต่ว่าขอให้ถูกหลักวิชาและเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้นเป็นพอ

แนวทางปฏิบัติแบบนี้จะส่งผลกระทบอย่างไร

หนึ่ง เรามีความเข้าใจผิดๆ ว่าระบอบอำนาจนิยมมีประสิทธิผลกว่าระบอบประชาธิปไตยในการกำหนดนโยบายสาธารณะ เพราะเชื่อว่าอำนาจนิยมสามารถปกป้องเทคโนแครตจากการถูกกดดันทางการเมือง เทคโนแครตจำนวนหนึ่งจึงเห็นว่าช่วงรัฐประหารคือหน้าต่างผลักดันนโยบาย แต่บทเรียนที่ผ่านมาพบว่ามันไม่เคยปลอดการเมืองเลยแม้แต่น้อย มีคอร์รัปชัน มีการบิดเบือนนโยบายตลอดเวลา

สอง การเมืองแบบเทคโนแครตจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่ขัดขวางการพัฒนาทางสังคมได้ คือ ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง และความเหลื่อมล้ำ หากต้องการจะออกจากกับดักทำได้โดยการยกระดับอุตสาหกรรมผ่านการพัฒนาการศึกษาวิจัย และพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งรัฐจะต้องเป็นผู้สนับสนุนและประสานการลงทุน ต้องเป็นภาคีสามฝ่าย คือ รัฐ เอกชน แรงงาน พื้นฐานความร่วมมือคือ ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และเชื่อใจระหว่างกัน  ไม่เอาเปรียบ รัฐต้องเป็นแกนกลางประสาน คำถามคือ เราจะซื้อใจฝ่ายแรงงานได้อย่างไรว่าตนจะได้รับความยุติธรรม เพราประสบการณ์ของแรงงานพบว่า สัดส่วนค่าจ้างต่อรายได้ประชาชาติมีค่าลดลงไปอีก ขณะที่กำไรต่อรายได้ประชาชาติกลับเพิ่มขึ้น

สาม การเมืองแบบเทคโนแครตมักทนกับความเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมาไม่ได้ เพราะมันทำให้นโยบายสาธารณะที่ผลักดันแบบแมวสีอะไรก็ได้ ไม่มีความชอบธรรมอีกต่อไป ความตื่นตัวทางการเมืองของคนทุกเสื้อสีเหมือนนาฬิกาที่ไขย้อนกลับไม่ได้ เขาจะไม่ยอมให้การกำหนดนโยบายเกิดจากคนกลุ่มเดียว สังคมปัจจุบันเป็นสังคมหลังเกษตรกรรมที่ซับซ้อนมาก แตกต่างหลากหลายทั้งสังคม เศรษฐกิจ ผลประโยชน์คนก็ต่างกันด้วยเช่นกัน เราต้องยอมรับว่ามนุษยชาติยังไม่สามารถสร้างระบอบที่ดีกว่าประชาธิปไตยในการจัดการผลประโยชน์ที่หลากหลายนี้

วิธีที่จะกำหนดนโยบายสาธารณะได้มากกว่าแนวทางแบบเทคโนแครตยุคแรก คือเน้นการเคลื่อนไหวทางความคิดผ่านการสื่อสารสาธารณะอย่างที่ผอ.ทีดีอาร์ไอ ส่วนจะกลายเป็นนโยบายสาธารณะหรือไม่ก็แล้วแต่คนส่วนใหญ่ในสังคม วิธีการแบบนี้จะสอดคล้องกับจิตวิญญาณของป๋วยด้วย

000000

ความท้าทายของแนวทางบูรณะชนบท

ธร ปิติดล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นำเสนอบทความเรื่อง “เหลียวหลังแลหน้าการพัฒนาชนบทไทย: จากแนวทางบูรณะชนบทสู่มุมมองจาก ‘ตัวกลางในการพัฒนา’” โดยธรตั้งคำถามว่า การพัฒนาชนบทตามแนวทางบูรณะชนบทที่ป๋วยมีบทบาทสำคัญในการก่อร่างนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในปัจจุบัน และอีกคำถาม คือเมื่อชนบทเปลี่ยนไปแล้ว มรดกทางความคิดแบบบูรณะชนบทต้องประสบปัญหาอะไรกับความจริงใหม่ อะไรคือความท้าทายใหม่และจะเดินไปอย่างไร

ธรกล่าวว่า อาจารย์ป๋วยตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ปี 2510, สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ปี 2512, โครงการพัฒนาชนบทลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ปี 2518 โดยแรงจูงใจสำคัญคือ การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่เขาเป็นเทคโนแครตนั้นขาดการใส่ใจคนในชนบทและปัญหาความเหลื่อมล้ำ

หากดูโครงการเหล่านี้จะพบว่ามีการถ่ายทอดแนวทางสำคัญ คือ แนวทาง “ฟื้นฟูชนบท” ที่เคยดีงามกลับคืนมาอีกครั้ง คำสำคัญที่ป๋วยกล่าวกับนักศึกษาที่เข้ามาร่วม คือ “ไปสู่ อยู่ด้วย ช่วยประสาน” และเน้นว่าทางออกของชนบทคือ "การพึ่งตนเอง" ซึ่งสะท้อนบริบทการพัฒนาชนบทช่วงหลังสงครามเย็นซึ่งมีข้อจำกัดที่ต้องทำให้รัฐซึ่งกลัวภัยคอมมิวนิสต์เห็นว่าการพัฒนานี้จะไม่กระทบโครงสร้างหลัก

มันเป็นรากฐานของแนวคิดพัฒนาชุมชนในเวลาต่อมา ผ่านมา 40 ปี สภาพในชนบทเปลี่ยนแปลงไปมาก ยุคของป๋วยปัญหาหลักยังเป็นเรื่องความยากจน ปัจจุบันความยากจนไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ปัญหาหลักคือความต้องการที่จะมีที่ทางในระบบเศรษฐกิจ มีส่วนร่วมกับตลาดได้ยิ่งขึ้น เป็น “สังคมผู้ประกอบการ” ตามที่อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เคยอธิบายไว้ไม่นานนี้

ในเรื่องการเมืองนั้น ชาวชนบทเปลี่ยนแปลงมากจนไม่อาจเทียบได้กับยุคป๋วยอีกต่อไป ชนบทเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองสูงมาก แอนดรูว์ วอล์กเกอร์ บอกว่า คนชนบททุกวันนี้ถ้าจะเรียกว่าเป็นชาวนา ก็เป็น “ชาวนาการเมือง” พยายามเข้ามากำหนดนโยบายรัฐด้วย

ตัวคนที่มาร่วมพัฒนาชนบทก็เปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง สมัยอาจารย์ป๋วยคือนักศึกษา คนเมืองที่อยากเป็นอาสาสมัคร ปัจจุบันกลายเป็นเครือข่ายตัวแทนของคนในพื้นที่เอง เช่น เครือข่ายผู้นำชุมชน

ข้อสังเกตคือ แนวคิดที่อาจารย์ป๋วยเคยวางเอาไว้ เมื่อเวลาผ่านไปก็ประสบข้อจำกัดที่จะเข้าใจสภาพความเปลี่ยนแปลงของชนบทเอง มันอาจไม่เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน แนวคิดที่เคยเห็นว่าการพึ่งตนเองเป็นทางออกก็ไม่เหมาะสมที่จะใช้เข้าใจสภาพปัญหาในปัจจุบันที่ปัญหาหลักคือการแสวงหาการเข้าถึงระบบตลาดและนโยบายรัฐ ในยุคอาจารย์ป๋วยต้องพยายามไม่ทำให้การพัฒนาชนบทเป็นการเมืองมากเกินไปเพื่อเลี่ยงการขัดแย้งกับรัฐ แต่ปัจจุบันเลี่ยงไม่ได้ที่การพัฒนาจะเกี่ยวข้องกับการเมืองของชนบท เพราะปัญหาของชนบทมันแยกไม่ออกกับปัญหาการเมืองอีกต่อไป

หากเราอยากมองการพัฒนาชนบทอีกแบบ มีมุมไหนบ้างที่เติมเต็ม ขอเสนอ “มุมมองตัวกลางในการพัฒนา” มองจากคนในพื้นที่เองที่เข้าไปมีบทบาทในการเชื่อมโยงการพัฒนา ให้ความสำคัญกับตัวแทนองค์กรชุมชนที่รวมตัวกันในจังหวัด หรือชาติ เพื่อช่วยกระจายทรัพยากรและถ่ายทอดความต้องการของชนบท เราน่าจะขยับออกมาจากแนวทางแบบบูรณะชนบท เพราะแนวทางดังกล่าวพยายามมองการพัฒนาชนบทอิงอุดมการณ์ว่าอยากให้ชนบทในฝันเป็นอย่างไร ถ้าขยับออกมามองบนฐานความจริงไม่ได้ก็ยากที่จะเข้าใจว่าสิ่งที่ทำมีประสิทธิผลแค่ไหน

ดังนั้น โจทย์สำคัญไม่ใช่การพึ่งตนเอง แต่เป็น “การเชื่อมโยง” ทำให้คนได้มีประโยชน์มากขึ้นจากระบบที่เขาโยงตัวเองไว้ในระบบนั้นอยู่แล้ว 

000000

การศึกษากับการสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

วัชรฤทัย บุญธินันท์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอบทความเรื่อง “การศึกษากับการสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย: พัฒนาการและความท้าทายของสังคมไทย”

วัชรฤทัยนำเสนอเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นประเด็นที่อาจารย์ป๋วยให้ความสำคัญอย่างมาก โดยจะดูเรื่องการศึกษาที่สร้างความตื่นตัวในการเป็นพลเมือง เพื่อให้เข้าบริบทกับช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เรื่องนี้อาจไม่ใช่มิติที่อาจารย์ป๋วยพูดตรงๆ มากนัก แต่หากดูโดยรวมจะเห็นเรื่องเหล่านี้ได้ว่ามีทัศนะ การสร้างความเป็นพลเมืองในสังคมอย่างไร

โดยทฤษฎีแล้ว เป้าหมายหลักของการศึกษาที่จัดโดยรัฐ คือ การสร้างความเป็นพลเมือง ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือในการสานต่ออุดมการณ์ของรัฐ สร้างพลเมืองที่รัฐต้องการ วิชาหน้าที่พลเมืองก็เป็นวิชาสำคัญที่เกือบทุกประเทศ ทุกระบอบการปกครองต่างก็มีวิชานี้ อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีการสร้างพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยก็ยังมีข้อถกเถียงกันว่าพลเมืองแบบไหน คุณลักษณะแบบไหนที่สังคมประชาธิปไตยต้องการ

การศึกษานี้ศึกษาผ่าน "แบบเรียน" ซึ่งพบว่า แนวคิดหลักในแบบเรียนในอดีตไม่ต่างกัน โดยหลักคือการสร้างคนดี หรือ เด็กดี มีวินัย เชื่อฟัง ซื่อสัตย์ สามัคคี เสียสละ มีคุณธรรม ศีลธรรม ทุกยุคทุกสมัย หลังมีรัฐธรรมนูญ 2540 ในแบบเรียนมีการผสมผสานระหว่างรูปแบบพลเมืองแบบเดิม กับแนวคิดเรื่องสิทธิ เรียกว่าเริ่มเห็นเรื่องสิทธิในตัวแบบเรียนยุคนี้เอง

แนวคิดป๋วยที่พูดถึงพลเมืองมีสองส่วนใหญ่คือ พลเมืองที่มีส่วนร่วมมีสิทธิเสรีภาพ อีกมิติคือ มีคุณธรรมและความรับผิดชอบ และเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยและความเป็นธรรมด้วย

ในยุคปัจจุบัน มิติเหล่านี้นำมาต่อยอดแค่ไหนในยุคเปลี่ยนผ่าน เมื่อดูผ่านเนื้อหาในแบบเรียนพบว่า แบบเรียนปี 2544 และแก้ไขปรับปรุงปี 2551 พูดถึงการมีส่วนร่วมของพลเมือง การเคารพสิทธิ ปัญหาความขัดแย้งในสังคมและทางออก อีกมิติยังพูดถึงการปฏิบัติตนตามประเพณีวัฒนธรรมไทยและสถานะของบุคคล น่าสนใจว่ามีชุดความคิดสองชุด และพบความไม่ลงตัวระหว่างการเคารพหลักสากลกับวัฒนธรรมประเพณีแบบไทย

ในภาคปฏิบัติ ได้ศึกษาโรงเรียนประชาธิปไตย ซึ่งได้รับรางวัลจากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ 3 ปีซ้อน และโรงเรียนทางเลือก พบว่า โรงเรียนประชาธิปไตยเน้นการสร้างพลเมืองมีระเบียบวินัย เคารพผู้ใหญ่ เรื่องประชาธิปไตย ผ่านสภานักเรียน การเลือกตั้ง แต่มีข้อท้าทายเพราะสภานักเรียนเปิดให้มีส่วนร่วมอย่างจำกัด นอกจากนั้นสมาชิกสภานักเรียนที่แอคทีฟก็ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้ครูฝ่ายปกครอง ส่วนโรงเรียนทางเลือก เน้นปฏิสัมพันธ์แนวราบ เน้นการสร้างชุมชน กลไกแบบทางการอย่างสภานักเรียนไม่สำคัญ เพราะนักเรียนกับครูก็พูดคุยกันเปิดเผยอยู่แล้ว แต่ก็ยังพบข้อท้าทายว่ายังมีการเคารพลำดับชั้น ความอาวุโสอยู่เช่นกัน 

ในระดับอุมศึกษานั้นไม่มีวิชาที่เกี่ยวกับการสร้างความเป็นพลเมือง แต่จากการเปลี่ยนผ่านของสังคมในทศวรรษที่ผ่านมา มียุทธศาสตร์สร้างพลเมืองเกิดขึ้น กำหนดวิชาพลเมืองเป็นหลักสูตรการศึกษาทั่วไป กรณีศึกษาคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดวิชา TU100 ปี 2554 ชื่อวิชา พลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นวิชาที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งจะนำไปต่อยอด เนื้อหาเน้นเรื่องพลเมืองประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิ เคารพกติกา เคารพความแตกต่าง นักศึกษาสะท้อนว่า เรียนวิชานี้ทำให้รู้สึกเสียสละและมีสำนึกทางสังคมดีขึ้น เห็นอกเห็นใจผู้ประสบปัญหาต่างๆ ข้อสังเกตคือ มิติการเรียนรู้ยังจำกัดอยู่ในระดับปัจเจก มากกว่าการทำความเข้าใจรากเหง้าปัญหาหรือในระดับโครงสร้าง

คำถามคือ เมื่อความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยังดำรงอยู่และหนักขึ้นทุกวัน การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองในสังคมไทยควรมีความเป็นการเมือง เชื่อมโยงกับการศึกษาการเมืองมากขึ้นไหม เพื่อจะวิเคราะห์ความซับซ้อนของปัญหาที่เชื่อมโยงโครงสร้าง สถาบันทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเน้นแต่การสร้างความรับผิดชอบและมีส่วนร่วม

ดังนั้น จึงเห็นว่าวิชาเหล่านี้จึงต้องเป็นการเมืองมากขึ้น และต้องสร้างความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมในมิติความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น เพื่อเป็นการต่อยอดความคิดอาจารย์ป๋วยด้วย

โดยส่วนตัวผู้ศึกษาไม่ได้ต่อต้านเรื่องจิตอาสา การบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ แต่พลเมืองที่เราอยากจะเห็นไม่ใช่แค่มีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วม แต่ต้องมีความมุ่งมั่นในความเป็นธรรม

000000
 

ผู้วิจารณ์

อัมมาร สยามวาลา กล่าวว่า โศกนาฏกรรของไทยและอาจารย์ป๋วย คือ ป๋วยประสบความสำเร็จอย่างมากในการจรรโลกและปรับปรุงเศรษฐกิจของไทยให้มีเสถียรภาพและเจริญเติบโตในอัตราที่สูง และต่อมาก็รู้สึกว่าความสมดุลของเศรษฐกิจบิดเบี้ยวไปจงทำงานด้านชนบทและการศึกษาด้วย เป็นความพยายามแก้ความไม่สมดุลดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก หากดูด้านเศรษฐกิจ ป๋วยทำหลายสิ่งหลายอย่างมากในช่วงปี 2501-2504 ยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านการคลัง เศรษฐกิจไทยก็รุดหน้าไปอย่างมาก ต่อมาเมื่อเริ่มกังขาต่อกระบวนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเขาก็เริ่มถอยห่าง ไปทำงานในแบงก์ชาติ จนกระทั่งออกมาอยู่ มธ.

ป๋วยมีเวลาในการทำงานด้านการพัฒนาชนบทค่อนข้างน้อยและประสบความสำเร็จค่อนข้างน้อย สิ่งที่ได้คือการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ท่านให้เข้าใจชนบท นี่อาจเป็นสาเหตุที่เขาไม่ได้รับความนิยมชมชอบจากผู้มีอำนาจในขณะนั้นเท่าไร เพราะการพัฒนาชนบทเป็นการเน้นถึงความเหลื่อมล้ำ เน้นปัจจัยที่ไม่ดีหลายอย่าง นักศึกษาก็ตื่นตัวมาก การเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนหนึ่งก็เกิดจากงานอาจารย์ป๋วยด้วย มันเป็นปัญหาที่หาข้อยุติยาก ทำให้เป็นโศกนาฏกรรมต่ออาจารย์ป๋วย ทั้งที่จริงๆ แล้ว แนวพัฒนาชนบทเขาเป็นแนวเสรีนิยมพอสมควร

ขอหยิบยกปัญหาว่าจะก้าวหน้ารุดหน้าไปได้อย่างไร กระบวนการในการพัฒนาชุมชน เป็นกระบวนการที่เรายังไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด แต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในภาคชนบท เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก Washington Concensus เพราะเศรษฐกิจขยายตัว มีเสถียรภาพ ทำให้ประชาชนโดยตัวทั่วไปมีรายได้สูงขึ้น เกิดรากฐานการเจริญเติบโตของภาคต่างจังหวัด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีผลต่อสภาพการเมืองไทย การที่ภาคต่างจังหวัดรุดหน้าไปพอสมควรได้ทำให้เกิดกลุ่มผู้นำในต่างจังหวัดมากมาย เกิดเจ้าพ่อหรือผู้นำทางการเมืองในที่สุด กลายเป็นอีลีทรุ่นใหม่ การขับเคี่ยวระหว่างอีลีทรุ่นใหม่กับรุ่นเก่าก็คือ นิทานที่เราได้ยินตลอดเวลาเกี่ยวกับเสื้อเหลือง เสื้อแดง เป็นความขัดแย้งของผู้นำในต่างจังหวัดกับผู้นำกรุงเทพที่มีมาแต่ดั้งเดิม

ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวถึงบทบาทของเทคโนแครตในประเทศกำลังพัฒนาว่า ในกรอบอำนาจนิยม เทคโนแครตไม่จำเป็นต้องมีการตอบสนองกับความต้องการกับคนธรรมดาๆ อีกต่อไปแต่ตอบสนองกับความต้องการของชนชั้นนำ คณะทหารที่เป็นรัฐบาล ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ดังนั้น เราจึงพบว่ามันใช่เพียงปฏิบัตินิยม แต่บางคนเป็นเหมือนมือปืนรับจ้าง รับจ้างรัฐบาลไหนๆ ก็ได้

สมัยก่อนจุดเปลี่ยนที่เราปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่เกิดในช่วงสฤษดิ์ ซึ่งเหตุที่เป็นไปได้ต้องพิจารณาถึงโครงสร้างอำนาจ ในสมัยนั้นมีสหรัฐเป็นอำนาจนอกระบบที่มาผลักดัน ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง ในบริบทความกลัวคอมมิวนิสต์อย่างสุดขีด ขณะนี้ประเทศไทยต้องการการปฏิรูปเศรษฐกิจอีกแล้ว เพราะเราอยู่ในภาวะแผ่นเสียงติดร่องหลายปีแล้ว แต่ถามว่าถึงตรงนี้ใครจะมีอำนาจที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจ สมัยสฤษดิ์นักธุรกิจมีบทบาท ตอนนี้เป็นใคร อเมริกา ธนาคารโลก ก็หมดความสำคัญไปแล้ว ชนชั้นกลางก็ไม่มีน้ำยา แล้วใครมีอำนาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนั้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท