สุรพศ ทวีศักดิ์: ศาสนาไม่ช่วยให้มีศีลธรรมในโลกสมัยใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

มีบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร “Nature Human Behaviour” พูดถึงการสำรวจความคิดเห็นของประชากร 3,256 คน จากประเทศต่างๆ 13 ประเทศ ซึ่งมีทั้งประเทศที่เป็นรัฐโลกวิสัยและประเทศที่ศาสนายังมีอิทธิพลสูง ผลสำรวจระบุว่า คนส่วนมากมองว่า คนที่เป็นเอธีสต์ (Atheist) มีแนวโน้มจะเป็นบุคคลอันตรายและขาดศีลธรรมมากกว่าคนที่นับถือศาสนา

งานวิจัยไม่ได้บอก “ข้อเท็จจริง” ว่าเอธีสต์เป็นคนไม่มีศีลธรรม หรือมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น แต่บอกถึง “ทัศนคติ” ของคนจำนวนมากที่มองเอธีสต์เช่นนั้น

ผู้เขียนบทความดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า “แม้แนวคิดโลกวิสัย (secularism) จะทำให้ความเคร่งศาสนาในที่ต่างๆ ลดลงมาก แต่ศาสนาก็ยังคงทิ้งมาตรฐาน(ตัดสินถูก, ผิด) ไว้บนความรู้สึกทางศีลธรรมของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง” จึงทำให้คนในวงกว้างมองเอธีสต์ซึ่งเป็นคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า หรือไม่นับถือศาสนา (ที่จริง “เอธีสต์” คือ คนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า แต่คนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าก็อาจจะเป็นคนที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย หรือเป็นผู้นับถือศาสนาอเทวนิยมก็ได้) ว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นคนไม่มีศีลธรรม หรือทำผิดศีลธรรมมากกว่าคนที่นับถือศาสนา

มุมมองดังกล่าวสะท้อน “อคติแอนตี้เอธีสต์” ที่ยังคงมีอยู่ทั้งในกลุ่มคนที่นับถือศาสนา และแม้แต่ที่เป็นเอธีสต์ด้วยกันเอง ทั้งในประเทศประเทศที่ให้ความสำคัญกับศาสนาและประเทศที่เป็นรัฐโลกวิสัย

แต่อันที่จริง ศาสนาก็ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะมีพลังยับยั้งไม่ให้คนเราทำผิดศีลธรรม เพราะว่าการไม่ทำผิดศีลธรรมไม่จำเป็นต้องมาจากความกลัวการลงโทษของพระเจ้า หรือมาจากความเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ กฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วและอื่นๆ ตามคำสอนของศาสนาต่างๆ เท่านั้น

การไม่ทำผิดศีลธรรม อาจเกิดจากจิตสำนึกเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ หรือจิตสำนึกเคารพหลักสิทธิมนุษยชนเป็นต้นก็ได้

ในทางตรงข้าม ความเชื่อเรื่องความไม่เท่าเทียมของมนุษย์ ระบบชนชั้น ความไม่เท่าเทียมทางเพศ การกดขี่เพศหญิง การกีดกันเพศที่สามที่สี่ การสร้างความเกลียดชัง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่นับถือศาสนาต่างกัน ความรุนแรง การฆาตกรรม ก่อการร้าย สงคราม ก็มีสาเหตุมาจากความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ได้เช่นกัน

บางคนอาจโต้แย้งว่า การอ้างสิทธิมนุษยชนก็ทำให้ประเทศมหาอำนาจรุกราน หรือแทรกแซงการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน ซึ่งการทำเช่นนั้นย่อมเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนเสียเอง

แม้ข้อโต้แย้งดังกล่าวจะจริง แต่เมื่อว่าโดย “เนื้อหา” ของหลักสิทธิมนุษยชนเองแล้ว มันไม่อนุญาตให้ทำตามความเชื่อเรื่องความไม่เท่าเทียมของมนุษย์ ระบบชนชั้น ความไม่เท่าเทียมทางเพศ การกดขี่เพศหญิง การกีดกันเพศที่สามที่สี่ การสร้างความเกลียดชัง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่นับถือศาสนาต่างกัน (เป็นต้น) ได้ แต่ตัวเนื้อหาคำสอนศาสนาต่างๆ ดูเหมือนจะอนุญาตให้ทำสิ่งเหล่านั้นได้ ดังประวัติศาสตร์ของการกระทำสิ่งเหล่านั้นในนามศาสนาเป็นสิ่งยืนยัน และปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาบวกชาติพันธุ์ในยุคปัจจุบันก็ย่อมเป็นสิ่งยืนยันได้ชัดเจน

จริงอยู่ที่ว่า ศาสนาล้วนเสนอ “วิถีที่ควรจะเป็น” (The way it should be) สำหรับชีวิตของปัจเจกบุคคลและสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องของ “ศีลธรรม” แต่ทุกศาสนาต่างถือว่าศีลธรรมของตนเป็น “คุณค่าอมตะ” (Enduring values) หรือเป็น “อกาลิโก” ซึ่งบางเรื่องก็มีเหตุผลที่จะเชื่อเช่นนั้น

เช่น เรื่องความสงบทางใจ ความหลุดพ้น การสัมผัสนิพพาน, พระเจ้า ของปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นเรื่อง “ความเชื่อส่วนบุคคล” ที่ไม่เกี่ยวกับ “ศีลธรรมทางสังคม” เพราะรัฐไม่สามารถจะนำความเชื่อเช่นนั้นมาเป็นฐานในการกำหนดกติกาทางสังคมใช้บังคับ หรือส่งเสริมให้พลเมืองปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาเพื่อเข้าถึงนิพพานหรือพระเจ้าได้

ส่วนคำสอนศาสนาที่เคยใช้เป็นศีลธรรมทางสังคมในอดีต เช่นเป็นอุดมคติในการปกครอง การบัญญัติกฎหมายต่างๆ ก็อาจจะเหมาะกับสภาพสังคมในอดีต แต่ย่อมไม่เหมาะกับสังคมสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนและหลากหลายเสียแล้ว ยกเว้นบางประเทศที่ยังเป็น “รัฐศาสนา” ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่า เป็นรัฐที่ปฏิเสธสิทธิมนุษยชนและความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ รสนิยม และเรื่องอื่นๆ ของมนุษย์

หรือพูดตรงๆ ก็คือ รัฐศาสนาเป็นรัฐที่ปฏิเสธความเป็นมนุษย์ในความหมายสมัยใหม่ อันได้แก่ ความเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นปัจเจกบุคคล (individuality) ผู้มีสิทธิและอำนาจเป็นของตนเอง ซึ่งหมายถึง สิทธิในอิสรภาพที่จะกำหนดคุณค่า, เป้าหมายชีวิต, ศีลธรรมและเรื่องอื่นๆ ให้กับตนเอง รวมทั้งการมีสิทธิและอำนาจทางสาธารณะต่างๆ ด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ศีลธรรมศาสนาจึงไม่อาจใช้เป็นศีลธรรมทางสังคมในโลกสมัยใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ในความหมายดังกล่าว (เป็นต้น) ได้ เนื่องจากคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในยุคสมัยใหม่ยึดโยงอยู่กับกรอบคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือพูดรวมๆ คือ “สิทธิมนุษยชน” ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับพระเจ้าหรือนิพพาน (แต่ก็ไม่ได้กีดกันใครที่จะเชื่อเรื่องพระเจ้าหรือนิพพาน ตรงกันข้าม หลักสิทธิมนุษยชนรับรอง “เสรีภาพ” ที่ใครจะเชื่อเช่นนั้น) และที่สำคัญกรอบคิดและเนื้อหาของศีลธรรมศาสนาก็ไม่ครอบคลุมและเพียงพอที่จะใช้เป็นกติกาทางสังคมในยุคปัจจุบันได้เท่าหลักสิทธิมนุษยชน

โดยเฉพาะเมื่อศาสนาต่างๆ ล้วนมีความเชื่อแบบอุรักษ์นิยมเข้มข้นว่า ศีลธรรมตามคำสอนศาสนาของตนเป็น “คุณค่าอมตะ” ที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็ยิ่งไม่สอดคล้องกับความจริงของสังคมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะที่สิทธิมนุษยชนหรือศีลธรรมสมัยใหม่เป็นเรื่องของการถกเถียงต่อรองระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง (ไม่ขึ้นต่ออำนาจของพระเจ้า,ศาสดาผู้มีญาณวิเศษ หรือคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ใดๆ)  จึงอาจเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงให้ดีขึ้นสอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนไปได้เสมอ

แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะตีความหลักการทางศาสนาสนับสนุนคุณค่าสมัยใหม่ เช่นสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ขันติธรรม สันติภาพ ก็ย่อมเป็นไปได้ และมีความพยายามเช่นนั้นอยู่จริง แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้จริงในสังคมที่ให้คุณค่าสูงต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากกว่า ส่วนในสังคมศาสนาโดยทั่วไป อิทธิทางความเชื่อและวัฒนธรรมศาสนามักจะขัดแย้ง หรือเป็นอุปสรรคต่อความเจริญงอกงามของคุณค่าสมัยใหม่

ไม่ต้องพูดถึงสังคมพุทธเถรวาทอย่างศรีลังกา ที่ชาวพุทธสิงหลกับชาวฮินดูทมิฬทำสงครามยืดเยื้อถึง 26 ปี มีคนตายกว่า 100,000 คน สังคมพุทธพม่าที่ขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญาอพยพออกนอกประเทศหลายแสนคน หรือในไทยที่ความขัดแย้งในชายแดนใต้ กลายเป็นชนวนให้เกิด “โรคกลัวอิสลาม” ในชาวพุทธหลายกลุ่ม ที่สำคัญกว่า (และเป็นปัญหาที่พูดกันน้อย) คือ การบังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมศาสนาในโรงเรียน การมีองค์กรศาสนาของรัฐที่นักบวชและผู้นำศาสนามีตำแหน่งและอำนาจทางกฎหมาย ก็ย่อมขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนาอยู่แล้ว และขัดกับหลักการที่รัฐต้องเป็นกลางและรักษาความเสมอภาคในการนับถือและไม่นับถือศาสนาอยู่แล้ว

ยิ่งกว่านั้น การแสดงความเห็นทางสาธารณะและบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงและชาวพุทธบางกลุ่ม ก็มักสวนทางกับ “ความชอบธรรม” ตามระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนเสมอมา

ฉะนั้น ปัญหาระดับรากฐานจริงๆ จึงไม่ใช่เพียงว่า ความเชื่อตามหลักศาสนาไม่ได้สนับสนุนการมีศีลธรรมในสังคมสมัยใหม่เท่านั้น ที่ยากยิ่งกว่านั้นมาก คือ จะทำอย่างไรถึงจะแก้ไขให้ระบบการศึกษาของรัฐที่มุ่งปลูกฝังศีลธรรมศาสนา, สถานะและอำนาจของสถาบันศาสนา, บทบาทของนักบวช, ปัญญาชนพุทธ และการเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามพุทธศาสนา (และศาสนาอื่นๆ) เป็นไปในแนวทางทีไม่ขัดแย้ง หรือสวนทางกับคุณค่าสมัยใหม่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท