Skip to main content
sharethis

วิศวกรชาวสหรัฐฯ ซึ่งตรวจสอบกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยถล่มในลาว ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขื่อนถล่มก็คือการสร้างเขื่อนบนพื้นที่หลุมยุบใต้ดิน ซึ่งไม่สามารถรับน้ำหนักในฤดูที่มีฝนตกหนักได้ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขื่อนพังจนกลายเป็นโศกนาฏกรรม

แผนที่แสดงที่ตั้งเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ทางน้ำผ่าน และจุดติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ที่มา: PNPC)

จากกรณีโศกนาฏกรรมภัยพิบัติในตอนใต้ของลาวที่เกิดจากเขื่อนแตกเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว วิศวกรชาวสหรัฐฯ ริชาร์ด มีฮาน กล่าวถึงสาเหตุว่าเกิดจากการสร้างเขื่อนในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมทางธรณีวิทยา

มีฮาน เป็นวิศวกรที่จบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และกำลังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด เขาเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการออกแบบและสร้างเขื่อนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมาก่อน มีฮานนำเสนอการวิเคราะห์ถึงกรณีการถล่มของสันเขื่อน "เซเปียน-เซน้ำน้อย" เมื่อไม่นานนี้

โดยกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยถล่มเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองสะหนามไซ แขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของลาว เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา การถล่มของสันเชื่อนส่งผลให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมและโคลนไหลบ่าเข้าท่วมที่อยู่อาศัยของประชาชนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 800 ราย รวมถึงมีการตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ลาวอาจจะพยายามปกปิดตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงซึ่งน่าจะมีมากกว่านี้เพราะกลัวว่าจะถูกบีบให้ระงับแผนการสร้างเขื่อนอื่นๆ เพิ่มเติมจากการที่พรรคคอมมิวนิสต์ลาวมีความทะเยอทะยานอยากให้ลาวเป็นแหล่งผลิตพลังงานที่มีฉายาว่า "แบตเตอร์รีแห่งเอเชียอาคเนย์"

จากกรณีโศกนาฏกรรมจากเขื่อนในครั้งนั้น มีฮานเปิดเผยว่าเขาใช้เทคโนโลยีอวกาศและการตรวจสอบข้อมูลดินในพื้นที่เพื่อสืบหาสาเหตุว่าเขื่อนล้มเหลวเพราะอะไร เขาเผยแพร่ผลการตรวจสอบไว้ที่เว็บไซต์ศูนย์วิจัยวิศวกรรมแผ่นดินไหวบลูมแห่งสแตนฟอร์ด (Stanford’s Blume Earthquake Engineering Center)

มีฮานพิจารณาเรื่องนี้จากข้อมูลชั้นดินที่ได้จากภาพถ่ายผ่านดาวเทียมและประสบการณ์ของตัวเองในการออกแบบเขื่อนสำหรับพื้นดินเขตร้อนชื้น ทำให้ระบุได้ว่าส่วนสันเขื่อนทิศตะวันตกสร้างขึ้นบนหลุมยุบซึ่งหมายถึงพื้นดินที่ส่วนมีช่องโหว่อยู่ใต้ดิน ทำให้ดินไม่สามารถรับน้ำหนักสันเขื่อนได้ในช่วงฤดูที่ฝนตกหนักในเขตที่ราบสูงโบลาเวนของลาว

มีฮานบอกว่า เมื่อแรงดันน้ำเพิ่มสูงขึ้นภายใต้การทำงานตามสเปคของโครงการแบบเดิมนานๆ ไปจะทำให้เกิดการรั่วซึมภายในแนวสันเขาหินบะซอลต์ที่คอยอุ้มเขื่อนไว้ เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีอะไรอย่างอื่นรองรับ ชั้นดินที่เปราะพรุนเบื้องล่างเขื่อนก็เริ่มทลายลงทำให้ตัวสิ่งก่อสร้างทรุดตัวลงเกิดเป็นอุทกภัยของมวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลท่วม้บานเรือนประชาชนในหมู่บ้านเล็กๆ

นอกจากนี้มีฮานยังชี้ให้เห็นว่าพื้นที่สร้างเขื่อนดังกล่าวมี "ปัจจัยเสี่ยงที่รับรู้ได้" จากภูมิศาสตร์ชั้นดินที่มีน้ำไหลอยู่ข้างใต้จำนวนมาก ลาวาที่มีโอกาสรั่วไหลสูง และช่องว่างกับส่วนแตกหัก รวมถึงดินในแบบพื้นที่ร้อนชื้น โดยคนสร้างเขื่อนจะรู้ดีว่าปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความไม่มั่นคงของเขื่อน เพราะมันจะก่อการบ่อนเซาะจากในดินได้รวมถึงเปราะบางต่อแรงดันน้ำสูงๆ

มีฮานระบุว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้เพราะรัฐบาลลาวพยายามเร่งโครงการขยายเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำมากเกินไปทำให้ไม่มีการศึกษาผลกระทบจากการกักเก็บน้ำ นอกจากนี้ยังมีปัญหามาจากเรื่องที่ว่าการพิจารณาความเหมาะสมของการก่อสร้างในกลุ่มประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื่นกลับนำแนวทางวิศวกรรมของประเทศตะวันตกกมาใช้เป็นส่วนใหญ่

สันเขื่อนลาวแตก องค์กรแม่น้ำนานาชาติชี้เป็นบทเรียนเรื่องออกแบบเขื่อนและการเตือนภัย, 24 กรกฎาคม 2561

เมื่อสื่อเอเชียไทม์สอบถามมีฮานเกี่ยวกับประเด็นนี้ มีฮานแสดงความคิดเห็นตอบกลับว่าเขาไม่เข้าใจว่าทำไมทางการลาวถึงสร้างสันเขื่อนในพื้นที่ๆ ไม่เหมาะสมทางภูมิประเทศทั้งๆ ที่มีพื้นที่เหมาะสมกว่าอยู่ใกล้ๆ และจะทำให้มีประสิทธิภาพในการกักเก็บมากกว่าด้วย เขาเสนอว่าถ้าหากจะมีการฟื้นโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย อีกก็แนะนำให้ย้ายไปในที่ปลอดภัย แต่โดยส่วนตัวแล้วเขามองว่าโครงการทั้งหมดนี้ควรจะนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

หลังเหตุโศกนาฏกรรมรัฐบาลลาวสั่งให้มีการตรวจสอบหาสาเหตุและพิจารณาด้านความปลอดภัยอีกครั้งรวมถึงระงับโครงการเขื่อนพลังงานน้ำอื่นๆ ในช่วงที่มีการตรวจสอบ แต่กว่าก็มีข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุที่เกิดขึ้นออกมาน้อยมากหลังจาก 3 เดือนผ่านไป

โครงการเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยมีการดำเนินการร่วมกันระหว่างบริษัทจากเกาหลีใต้และจากไทยโดยมีการวางสัญญาว่าไฟฟ้า 410 เมกะวัตต์ ที่ผลิตจากโครงการนี้ส่วนใหญ่จะถูกส่งออกขายต่อให้ไทย โดยที่บริษัทก่อสร้างจากเกาหลีใต้ที่ชื่อเอสเคเอนจิเนียร์ริงแอนด์คอนสตรีคชันทำการตัดทุนสร้างเขื่อนนี้ทำให้ความสูงของเขื่อนถูกปรับลดลงประมาณ 6.5 เมตร เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการถล่มของสันเขื่อน ภัยพิบัติจากสันเขื่อนพังทลายก็ส่งผลให้เกิดอุทกภัยใน 19 หมู่บ้าน มีประชาชนอย่างน้อย 5,000 รายกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยต้องพักอาศัยในเต็นท์ที่แขวงสนามไซ บริษัทพลังงานในไทยและบริษัทในเกาหลีที่มีส่วนเกี่ยวข้องบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้รัฐบาลลาวนำไปจัดการในกรณีนี้

เรียบเรียงจาก

Collapsed Lao dam ‘was built on a sinkhole’, Asia Times, 02-11-2018

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

https://prachatai.com/journal/2018/07/77976


Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, สิ่งแวดล้อม, คุณภาพชีวิต, วิทยาศาสตร์, วิศวกรรม, ภูมิศาสตร์, ธรณีวิทยา, เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, 
โรงไฟฟ้าเขื่อนพลังงานเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย, ราชบุรีโฮลดิ้ง, ไฟฟ้า, เขื่อนแตก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net