Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนออกแถลงการณ์ เรียกร้องยกเลิกการออกหมายเรียกบุคคลที่ใช้เสรีภาพเรียกร้องโดยสงบ กรณี ‘วันเฉลิม’ หน้าสถานทูตกัมพูชา เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างจริงจัง

ภาพนักกิจกรรมชุมนุมที่หน้าสถานทูตกัมพูชา เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชามีความกระตือรือร้นในการสืบสวนกรณีการหายตัวไปของ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ เมื่อ 8 มิ.ย. 63 | แฟ้มภาพ: Banrasdr Photo

15 มิ.ย.2563  จากกรณีเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มประชาชน เอ็นจีโอและนักศึกษาเดินทางไปสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ถนนประชาอุทิศ เพื่อเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาติดตามตัว วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทย ที่ถูกกลุ่มชายพร้อมอาวุธนำตัวขึ้นรถสีดำออกไปจากบริเวณหน้าที่พักภายในประเทศกัมพูชาเมือช่วงเย็นของวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ต่อมากลุ่มที่เดินทางไปเรียกร้องทั้ง 2 กลุ่มคือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข และพวกรวม 6 คน และ ณัฐวุฒิ อุปปะและพวกรวม 4 คน ถูกตำรวจนครบาลวังทองหลางออกหมายเรียก ในข้อหาร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรม หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยที่ได้กระทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อการประทำของกลุ่มดังกล่าวว่า มิใช่เป็นการมั่วสุมหรือการ “ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” หากแต่เป็นการดำเนินการที่ชอบธรรม โดยสงบ และอยู่ในกรอบของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defender) ดังนั้น การตั้งข้อหาและออกหมายเรียกเพื่อดำเนินคดีกับผู้ยื่นหนังสือเช่นนี้ อาจถูกมองได้ว่าเป็นการใช้อำนาจจากพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ไม่ชอบธรรม เพื่อกลั่นแกล้งและลิดรอนสิทธิผู้ที่มีความเห็นทางการเมือง

มูลนิธิฯ จึงขอเรียกร้องรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้ 1. ขอให้ยุติการดำเนินคดีทั้งหมดโดยทันที เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย ในการแสดงออกทางความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม 2.รัฐบาลจะต้องไม่ฉวยโอกาสใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กลั่นแกล้งทางการเมืองต่อฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการตาม พ.ร.ก. ควรอยู่บนเจตนารมณ์ที่รัฐบาลประกาศไว้ว่าเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งอยู่บนหลักความเสมอภาคในกฎหมาย และภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม

3. ขอให้ดำเนินการแก้ไข พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการมีอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมากขึ้น ทำให้การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และป้องกันไม่ให้รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อประโยชน์ในทางการเมืองของตน และ 4. ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเต็มใจและจริงจังให้มีการสืบสวนสอบสวนการถูกบังคับให้สูญหายของวันเฉลิม โดยประสานงานกับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อให้ข้อเท็จจริงในกรณีของวันเฉลิมเป็นที่ประจักษ์ และนำมาซึ่งความยุติธรรมต่อนายวันเฉลิมและครอบครัว

เช่นเดียวกับ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยกเลิกการออกหมายเรียกบุคคลที่ใช้เสรีภาพเรียกร้องโดยสงบ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างจริงจัง

รายละเอียดแถลงการณ์ 2 องค์กรมีดังนี้

แถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ยุติการใช้กฎหมายเพื่อปิดกั้นการใช้เสรีภาพเรียกร้องโดยสงบหน้าสถานทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย

ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางได้ออกหมายเรียกนายสมยศ  พฤกษาเกษมสุขกับพวกรวม 6 คน และนายณัฐวุฒิ อุปปะกับพวกรวม 4 คน ในข้อหาได้ร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรม หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยที่ได้กระทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) เห็นว่าการออกหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่มุ่งป้องกันและแก้ไขโรคระบาดไวรัสโควิด 19 เท่านั้น ข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่อาจใช้บังคับกับการไปเรียกร้องหน้าสถานทูตประเทศกัมพูชาเพื่อให้รัฐบาลกัมพูชาเร่งสืบสวนสอบสวนการถูกอุ้มหายของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบตามรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องสิทธิในชีวิตและร่างกายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ที่พลเมืองไทยถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐหรือรัฐบาลไทยไม่เพียงแต่ไม่บังควรปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพของกลุ่มประชาชนดังกล่าว หากยังต้องคุ้มครองการใช้เสรีภาพของกลุ่มประชาชนดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งถือเป็นพันธหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งรัฐไทยต้องมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง” และ “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์ อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก”

ดังนั้น สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) จึงขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยกเลิกการออกหมายเรียกบุคคลที่ใช้เสรีภาพเรียกร้องโดยสงบ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างจริงจัง

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)

15 มิถุนายน 2563

 

แถลงการณ์ เรื่อง ยุติการดําเนินคดีผู้ยื่นหนังสือเรียกร้อง กรณี ‘วันเฉลิม’ ที่หน้าสถานทูตกัมพูชา

 

วันที่ 11 มิถุนายน 2563 ตำรวจนครบาลวังทองหลางออกหมายเรียก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และพวกรวม 6 คน และนายณัฐวุฒิ อุปปะและพวกรวม 4 คน ในข้อหาร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรม หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยที่ได้กระทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จากการที่บุคคลดังกล่าวได้เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาทำหน้าที่ของตนตามพันธกรณีระหว่างประเทศและตามกฎหมายของกัมพูชา ในการสืบสวนสอบสวนการบังคับนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ให้สูญหายไป รวมถึงจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูป้ายเรียกร้องความเป็นธรรม บริเวณหน้าสถานทูตกัมพูชา ในวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา

การชุมนุมดังกล่าวเป็นการรวมกลุ่มกันอย่างสงบเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์การหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีพยานหลักฐานว่า เขาได้ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์บังคับเอาตัวขึ้นรถยนต์หายไปจากที่พักกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา หลังจากลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศไทยในปีพ.ศ.2557

แม้จะมีกระแสเรียกร้องจากประชาชน สื่อมวลชน รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) ให้มีการดำเนินการเพื่อสืบสาวหาข้อเท็จจริง แต่ทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชายังคงเพิกเฉยต่อกรณีดังกล่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า มิใช่เป็นการมั่วสุมหรือการ “ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” หากแต่เป็นการดำเนินการที่ชอบธรรม โดยสงบ และอยู่ในกรอบของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defender) ดังนั้น การตั้งข้อหาและออกหมายเรียกเพื่อดำเนินคดีกับผู้ยื่นหนังสือเช่นนี้ อาจถูกมองได้ว่าเป็นการใช้อำนาจจากพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ไม่ชอบธรรม เพื่อกลั่นแกล้งและลิดรอนสิทธิผู้ที่มีความเห็นทางการเมือง

ทางมูลนิธิฯ จึงขอเรียกร้องรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้

1.            ขอให้ยุติการดำเนินคดีต่อนายสมยศ พฤกษาเกษมสุขกับพวก ทั้งหมดโดยทันที เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย ในการแสดงออกทางความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม

2.            รัฐบาลจะต้องไม่ฉวยโอกาสใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กลั่นแกล้งทางการเมืองต่อฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการตาม พ.ร.ก. ควรอยู่บนเจตนารมณ์ที่รัฐบาลประกาศไว้ว่าเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งอยู่บนหลักความเสมอภาคในกฎหมาย และภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม

3.            ขอให้ดำเนินการแก้ไข พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการมีอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมากขึ้น ทำให้การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และป้องกันไม่ให้รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อประโยชน์ในทางการเมืองของตน

4.            ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเต็มใจและจริงจังให้มีการสืบสวนสอบสวนการถูกบังคับให้สูญหายของวันเฉลิม โดยประสานงานกับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อให้ข้อเท็จจริงในกรณีของวันเฉลิมเป็นที่ประจักษ์ และนำมาซึ่งความยุติธรรมต่อนายวันเฉลิมและครอบครัว

แถลงการณ์ ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2563

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

กรุงเทพมหานคร

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net